ยัญขอสวรรค์ถึงนิพพาน


สมศิริทราบว่าจะมีการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นพุทธบูชา จึงตั้งใจว่าจะสร้างกุศลในครั้งนี้ด้วย เธอประจงบรรจุปัจจัยใส่ซอง ยกขึ้นจบเหนือศีรษะแล้วอธิษฐาน

ขอให้การงานสำเร็จ อุดมด้วยลาภยศ ทรัพย์ศฤงคาร ให้ได้เกิดบนสวรรค์ เกษมชั่วกาลนาน จนกว่าจะบรรลุนิพพานนั้นเทอญ

เพราะมีคนเคยบอกเธอว่า แม้เราจะหวังนิพพานในที่สุด แต่เวลาทำบุญ สร้างกุศล ให้อธิษฐานขอ มนุษย์สมบัติบ้าง (เช่น ให้ร่ำรวย สวยงาม ประสบความสำเร็จ) ขอสวรรค์สมบัติบ้าง (เช่น ขอให้ได้เกิดในสวรรค์) เพราะนิพพานนั้นยังอีกไกล ก่อนที่จะบรรลุนิพพานได้ ก็ขอให้ชีวิตเต็มเปี่ยม เพียบพร้อม ไม่ลำบาก จนกว่าจะถึงเวลานั้น

คุณว่าที่เธอขอนั้น มีอะไรผิดแปลกไปในคำขอหรือเปล่า และเธอจะได้ทั้งหมดตามที่ขอหรือไม่

มองว่ามีเรื่องผิดแปลกไปอยู่ 2 เรื่อง ดังนี้ค่ะ

หนึ่งคือการมองว่านิพพานยังอยู่อีกไกล เป็นการมองการเกิดตามแบบปฏิจจสมุปบาทแบบคร่อม 3 ชาติ เพียงอย่างเดียว (คือมีชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า) ไม่ได้มองว่าปฏิจจสมุปบาทสามารถเกิดในขณะจิตด้วยก็ได้ ดังที่ท่านพุทธทาสให้ความหมายอย่างง่ายๆว่า สงบเย็น เป็นนิพพาน

อีกประการ การบูชาแล้วอธิษฐานขอนั่นนี่ แม้จะเป็นสัมมาทิฏฐิ (เพราะเชื่อว่ายัญที่บูชาแล้วมีผล การบูชาที่บูชาแล้วมีผล) แต่ก็เป็นสัมมาทิฏฐิแบบโลกิยะ

หากทำการสละบางสิ่งเพื่อบูชาแล้วอธิษฐานขอสิ่งที่ต้องการก็เท่ากับไม่ได้สละ ไม่ได้ละ แต่ทำโดยการแลก คือแลกสิ่งที่ต้องการหรือจำเป็นต่อชีวิตน้อยกว่าในขณะนี้ เพื่อสิ่งที่ต้องการมากกว่าในภายหน้า

ทั้งยังเท่ากับเป็นการยึดมั่นว่าผลของการบูชานั้นเป็น ของตน เป็นการกระทำที่จะส่งผลตอบแทน ตน จึงทำให้ต้องมี ตัวตน วนเกิดเพื่อรับผลต่อไป

ขอยกคำตรัสของพระพุทธองค์ที่พระสารีบุตรได้อธิบายเพิ่มเติมตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกภาษาไทย (จูฬนิเทส) มาบันทึกไว้ดังนี้ค่ะ

ในพุทธกาล พราหมณ์พาวรี ส่งศิษย์ 16 คน ไปถามปัญหาต่อพระพุทธองค์ ศิษย์เมื่อถามปัญหาของอาจารย์แล้ว จึงถามปัญหาของตนบ้าง ศิษย์ผู้หนึ่งคือ ปุณณมาณพ ได้ถามพระพุทธองค์ว่า

ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์

ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล

ฤาษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้

อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

อย่าเพิ่งคิดว่า เราไม่ได้บูชายัญ และ ยัญไม่เกี่ยวกับเรา นะคะ เพราะพระสารีบุตรได้อธิบายความหมายของ ยัญ ว่า หมายถึง ไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องประทีป เรียกว่ายัญ

มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากท่านพุทธทาสที่ชวนให้พิจารณาว่า ที่เราบูชาพระอยู่ทุกวัน ใช่บูชายัญหรือไม่

ในพุทธนั้น บูชายัญ ไม่ได้หมายอย่างฆ่าคน ฆ่าสัตว์; แต่บูชายัญ บวงสรวงไปตามพิธีของพุทธบริษัท เช่น ถวายข้าว ถวายน้ำ ถวายเครื่องสักการบูชา. นี้ถือว่า มีความหมายว่า เป็นการกระทำชนิดนั้น แล้วก็มีผลเป็นการกระทำชนิดนั้น (มหิดลธรรม หน้า 270)

ส่วนเทวดาทั้งหลายนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงเทวดาตามที่เราเข้าใจกันเท่านั้นค่ะ พระสารีบุตรได้อธิบายว่าหมายรวมอย่างกว้างขวาง เช่น

พวกอาชีวก เป็นเทวดาของสาวกของอาชีวก

พวกนิครนห์ เป็นเทวดาของสาวกของนิครนห์

ช้าง เป็นเทวดาของพวกประพฤติหัตถีพรต

ม้า เป็นเทวดาของพวกประพฤติอัศวพฤต

พรหม เป็นเทวดาของผู้ประพฤติพรหมพรต

คน สัตว์ และสิ่งเหล่าใด ผู้ควรแก่ทักษิณาของชนเหล่าใด คน สัตว์ สิ่งเหล่านั้น เป็นเทวดาของชนเหล่านั้น

เหล่านี้เป็นต้น

ส่วนคำว่า จึงพากันบูชายัญ พระสารีบุตรก็ได้อธิบายความหมายไว้ถึงคน 3 ประเภทค่ะ คือหมายถึง คนที่เสาะแสวงหายัญ (คือ จีวร บิณฑบาต ....) คนที่สละ บริจาค (จีวร บิณฑบาต....) และคนที่ปรุงแต่งยัญ (คือ จีวร บิณฑบาต ....) เหล่านั้น

ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

ฤษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้

จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้

อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ

ในคำว่า ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้ พระสารีบุตรได้อธิบายว่าหมายถึง คำว่า หวัง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังการได้รูป การได้เสียง การได้กลิ่น การได้โผฏฐัพพะ การได้บุตร การได้ทรัพย์ การได้ยศ การได้ความเป็นใหญ่ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล การได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา ... ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ... ในหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี การได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง

และเมื่อปุณณกะมานพถามต่อว่า

ฤาษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้

จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์

ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ

ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบดังนี้ค่ะ

ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ

เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม

เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ

เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้

สำหรับคำว่า ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ พระสารีบุตรได้อธิบายว่าหมายถึง ข้ามไปไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้ คือไม่ออก ไม่สลัดออก ก้าวไม่พ้น หมุนวนอยู่ภายในชาติชราและมรณะ ภายในหนทางแห่งสงสาร

เมื่อสมศิริอธิษฐาน ขอตั้งแต่สวรรค์ถึงนิพพานอย่างนี้ คุณว่าเธอจะมีโอกาสได้อะไรบ้างคะ

.................................................................................

อ้างอิง

พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่มที่30 (สุตตันต.22 ขุททกนิกาย จูฬนิเทส) ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุราชรังสฤษฏิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

พุทธทาสภิกขุ มหิดลธรรม ธรรมสภา 1 /4-5 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ กรุงเทพ 10170

หมายเลขบันทึก: 379577เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2010 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

น่าสนใจมากค่ะ ถึงผลของคำอธิษฐาน...ตามที่เข้าใจ..มนุษย์เกิดแต่กรรมและอาสวกิเลส...คำอธิษฐานหากเป็นไปเพราะเหตุแห่ง รัก โลภ โกรธ หลง ย่อมนำไปสู่การเกิดตามวัฏสงสาร...ส่วนนิพพานตามแนวของพระพุทธองค์ คือวิถีพุทธปฏิบัติสู่การหลุดพ้นจากทุกข์แห่งการเกิดนั้นๆ...ตัดอาสวกิเลสที่จะก่อชาติภพอีก..

คำอธิษฐานของสมสิริสู่ภาวะนิพพาน หากอยู่บนฐานของความเข้าใจข้างต้นนี้...และมุ่งบำเพ็ญเพียรตามพุทธวิถี ..ผลของคำอธิษฐานย่อมเป็นไปตามกระแสความเพียรแต่ละขั้นตอน...

         

สวัสดีค่ะ

          ขอบคุณมากค่ะได้ทราบความมากมาย โดยเฉพาะ คำว่า ยัญ

         ชา กุหลาบมอญ ที่บ้านมาฝากค่ะ

  • มาขอบคุณด้วยน้ำกุหลาบครับ
  • ตอบแทนที่เข้าไปทักทายกัน
  • ขอบคุณมาก ๆ
  • แวะมาชื่นชมผู้หญิงเก่ง
  • ที่เข้าใจในเรื่องธรรมและพุทธประวัติ
  • ขอให้มีความสุขในสิ่งที่ทำ

@ เป็นธรรมอีกมิติหนึ่งที่คนส่วนมากยังไม่รู้

@ ให้ข้อคิดว่าการทำบุญนั้นแท้จริงคืออะไร

@ อยากได้ข้อคิดในการครองตนบ้าง..จังเลย ครับ

@ ขอบคุณครับ

คุณณัฐรดาครับ ลึกซึ้งจังครับ พยายามอ่านและทำความเข้าใจตามไปด้วยอย่างช้าๆ แล้วก็พบว่า ผมต้องเรียนรู้ด้านนี้อีกมากโข

ผมจะโหวตให้ช่วยลิงค์ไปให้ผมด้วย

มาชื่นชมความงามค่ะ ทั้งคนทั้งภาพเลย..

ขอบพระคุณมากครับ..

เป็นบทความกระชากความคิด...ให้กลั่นกรองปัญญา...

อนุโทนาครับ..

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดามาเยี่ยมอ่านเรื่องราวที่มีสาระน่าสนใจมากค่ะ พร้อมกับความงามของภาพวาดสวยทุกภาพค่ะ ชอบค่ะ

มาชม

ดีแล้ว ๆ พากเพียรเขียนธรรมะเผยแผ่ต่อไปให้แพร่หลายนะครับผม...

ดีจังเลย...ได้อ่านแล้วได้ความรู้ใหม่จากที่เคยเข้าใจอยู่แล้ว

แต่...ต้องค่อยๆอ่าน ค่อยๆทำความเข้าใจ

ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท