ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 5. สี่มิติเพิ่มเติมเกี่ยวกับ student engagement


นักเรียนต้องได้ทำความเข้าใจการเรียนรู้ว่ามีหลายระดับ การเรียนเพียงเพื่อให้สอบผ่านเป็นการเรียนรู้ระดับต่ำ (mediocre) หากนักเรียนต้องการเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง (excellence) นักเรียนต้องพร้อมที่จะเผชิญความท้าทายที่ยาก แต่ครูก็พร้อมที่จะยืนเคียงข้างและคอยช่วยเหลือ นักเรียนจะต้องได้เรียนรู้ว่า การเรียนแบบที่มีคุณภาพสูง และต้องใช้ความพยายามนั้น มีคุณต่อชีวิตในอนาคตของตนเอย่างไร

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 5. สี่มิติเพิ่มเติมเกี่ยวกับ student engagement

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๕ นี้ ได้จากบทที่ ๕ ชื่อ Additional Facets to Consider

ความรู้เรื่อง student engagement เป็นเรื่องที่ไม่หยุดนิ่ง    มีการพัฒนาเคลื่อนไหวต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง    และเป็นเรื่องที่มีมิติต่างๆ ซับซ้อนมาก    ในบทนี้ ศ. เอลิซาเบธ บาร์คลี่ เพิ่มคำอธิบายอีก ๔ มิติ

 

student engagement เป็นเรื่องที่แตกต่างกันในนักเรียนแต่ละคน

ไทยเราเรียกว่า “ลางเนื้อชอบลางยา”    คือวิธีการสร้างความน่าสนใจในการเรียนแนวทางหนึ่งอาจใช้ได้ผลกับนักเรียนส่วนใหญ่ แต่จะไม่มีผลต่อนักเรียนบางคน   เพราะว่ากลไกการเรียนรู้คือ ผู้เรียนต้องเชื่อมโยงสิ่งใหม่เข้ากับพื้นความรู้ (schema) ที่มีอยู่แล้ว    และนักเรียนแต่ละคนมีพื้นความรู้ไม่เท่ากัน   นอกจากนั้นพื้นอารมณ์ความรู้สึก สถานะทางสังคมใน “ชุมชนเรียนรู้” ในห้องเรียน ของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน

ครูเพื่อศิษย์พึงตระหนักในความแตกต่างและความซับซ้อนนี้

 

student engagement เป็นหุ้นส่วนของความสัมพันธ์หลายทาง

แม้ครูจะใช้ความพยายามสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้น่าสนใจเรียนเพียงใด   แต่ความสนใจเรียนก็เป็นเรื่องส่วนตัวของนักเรียน   ไม่มีใครบังคับได้   ต้องไม่ลืมว่ายังมีปัจจัยต่างๆ อีกมากมายที่ครูไม่มีทางควบคุม ที่มีผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ต่อความสนใจเรียนของเด็ก

ความสนใจเรียนเป็นหุ้นส่วนระหว่างนักเรียนกับครู    หากความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูดี    โอกาสที่ความสนใจเรียนของนักเรียนจะดีก็มีสูง    เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์นี้มีรายละเอียดมาก   ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า ความสัมพันธ์ที่ดีอย่างหนึ่งคือ การเป็นสมาชิกร่วมกันของชุมชนเรียนรู้ในห้องเรียน   โดยครูเน้นทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (learning facilitator) ของศิษย์   ทำหน้าที่ empower  ศิษย์ ให้เป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ของตนเอง  และอำนวยการการเรียนรู้ในชั้นเรียนร่วมกับเพื่อนนักเรียน และร่วมกับครู 

นักเรียนต้องได้ทำความเข้าใจการเรียนรู้ว่ามีหลายระดับ    การเรียนเพียงเพื่อให้สอบผ่านเป็นการเรียนรู้ระดับต่ำ (mediocre)    หากนักเรียนต้องการเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง (excellence) นักเรียนต้องพร้อมที่จะเผชิญความท้าทายที่ยาก   แต่ครูก็พร้อมที่จะยืนเคียงข้างและคอยช่วยเหลือ   นักเรียนจะต้องได้เรียนรู้ว่า การเรียนแบบที่มีคุณภาพสูง และต้องใช้ความพยายามนั้น มีคุณต่อชีวิตในอนาคตของตนเอย่างไร

ครูต้องเข้าใจว่า ไม่มีใครบังคับนักเรียนได้ เพื่อให้เลือกการเรียนเพื่อ excellence  ไม่หยุดอยู่แค่ mediocre    แต่ครูสามารถสร้างบรรยากาศและกิจกรรมต่างๆ ที่ชักจูงให้นักเรียนเดินในเส้นทาง excellence ได้   เส้นทางนั้นคือเส้นทาง student engagement

National Survey of Student Engagement (NSSE) ระบุว่า student engagement คือแบบแผนของการที่นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ที่หลากหลาย ทั้งในชั้นเรียน และนอกชั้นเรียน  ตลอดช่วงของหลักสูตรการศึกษา    โดย NSSE เน้นการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเข้าร่วม   โดยเน้นการดำเนินการ ๕ กลุ่ม

  1. ระดับของความท้าทายเชิงวิชาการ
  2. การเรียนแบบลงมือทำ และร่วมมือกัน
  3. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู
  4. ส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้หลากหลายแบบ
  5. บรรยากาศในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย ที่ส่งเสริมการเรียนรู้

จะเห็นว่า ปัจจัยส่งเสริมความสนใจในการเรียนของเด็กไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในห้องเรียนเท่านั้น

 

student engagement เกิดจากการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวม

จุดสำคัญคือ ต้องไม่คิดเรื่องการสร้างความสนใจเรียนเป็นรายวิชา (ซึ่งเป็นการคิดและดำเนินการระดับ micro) เท่านั้น   ต้องคิดและดำเนินการในระดับ macro หรือระดับภาพรวมด้วย   และต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ    แม้คิดเฉพาะในชั้นเรียน ก็ต้องคิดอย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวม  

ศ. เอลิซาเบธ ระบุว่า ต้องใช้หลักการของการสอนที่ดี เช่น กำหนดเป้าหมายการเรียนที่ชัดเจนและมีความหมาย   สร้างความคาดหวังที่สูงให้แก่นักเรียน   และให้ feedback แก่นักเรียนในทันที   รวมทั้งต้องมีสิ่งที่ลึกกว่านั้น และมีความไม่ค่อยชัดเจน   เช่นการมีเป้าหมายให้การเรียนการสอนเป็นการยกย่องให้เกียรตินักเรียน โดยการเชื่อมโยงกับมิติด้านสปิริต ประสบการณ์ และโลกทัศน์ ของนักเรียน

ผมเรียกวิธีคิดและดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบนี้ว่า “การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยคำนึงถึงมิติของความเป็นมนุษย์”   และเคารพความเป็นมนุษย์ของนักเรียน/นักศึกษา

 

ส่งเสริม student engagement ด้วยการประเมิน

การประเมินเพื่อเป็น feedback ให้ครูปรับการเรียนการสอน   และให้นักเรียนปรับการเรียนรู้ของตนเอง เป็นสิ่งมีค่ายิ่ง    นั่นคือต้องใช้การประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment)   ไม่ใช่เพื่อการตรวจสอบ   หรือเพื่อบอกได้-ตก (summative evaluation)

ที่จริง NSSE มีเป้าหมายที่แท้จริงเพื่อช่วยเป็นข้อมูล feedback ช่วยการปรับปรุง student engagement    แต่ลงท้ายมันกลับมีธรรมชาติเอียงไปทาง summative evaluation ต่อ student engagement ในระดับสถาบัน/โรงเรียน   ไม่ช่วย formative assessment ต่อ student engagement ในห้องเรียน   จึงมีผู้คิด Classroom Survey of Student Engagement (CLASSE)   สำหรับให้ครูใช้   ซึ่งผมมองว่า ครูไทยน่าจะช่วยกันสร้าง Thai CLASSE สำหรับใช้ประเมินคุณภาพของ student engagement ของห้องเรียนของตน   สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงพัฒนา student engagement ในชั้นเรียนของตน

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ย. ๕๕

    

หมายเลขบันทึก: 503083เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2012 06:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2012 06:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท