ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยสู่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอาเซียน


จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยสู่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอาเซียน: อะไร และอย่างไร
โดย
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

 

บทนำ

       ในช่วงเวลากว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา อาเซียน (ASEAN) หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) ได้ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการสร้างบรรยากาศของสันติภาพและการอยู่ร่วมกันโดยสันติของประเทศในภูมิภาค การช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชา  และการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน

       ปัจจุบันนี้ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงทำให้อาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ มากมาย เช่น โรคระบาด การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พิบัติภัยธรรมชาติ เช่น คลื่นยักษ์สึนามิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ความเสี่ยงที่อาเซียนอาจจะไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน เกาหลี และอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด  อาเซียนจึงต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมาก และมีภูมิคุ้มกันมากยิ่งขึ้นเพื่อความอยู่รอดของมวลประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียน

       ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี ๒ เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน โดยมีจุดมุ่งหมายให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี ๒๕๖๓ แต่ต่อมาได้มีฉันทามติร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี ๒๕๕๘

       ในขณะที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ นั้น คำถามที่สำคัญต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบันคือ “จะจัดวางสถานะ บทบาท และท่าทีอย่างไร? จึงจะสอดรับกับความเป็นไปในวิถีแห่งอาเซียน และนอกเหนือจากการวางสถานะให้สอดรับแล้ว คำถามต่อไปคือ จะเข้าไปช่วยส่งเสริมบทบาท แนวทางในการพัฒนาประชาคมอาเซียนใน ๓  เสาหลักได้อย่างไร จึงจะทำให้มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนา “พลเมืองอาเซียน” ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความหลากของศาสนา ภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์

       ในประเด็นดังกล่าวนี้ รศ.ดร.วิเชียร ชิวพิมาย ในฐานะกรรมการประธานการกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ให้ข้อเสนอแนะที่ควรพัฒนาเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “มหาวิทยาลัยควรกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เพิ่มเติม โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ตามบริบทของมหาวิทยาลัย วิทยาเขต เพื่อก้าวสู่ความเป็นอาเซียน” จากข้อเสนอแนะดังกล่าว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นผู้บริหารระดับสูง ได้แสดงบทบาทการนำโดยการกระตุ้นเตือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเวทีต่างๆ ผ่านการสัมมนา การบรรยาย การแสดงปาฐกถาธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเวทีระดับนานาชาติผ่านการจัดงานวิสาขบูชาโลกจำนวน ๙ ครั้ง การดำเนินการเชิงรุกให้มหาวิทยาลัยเป็นสำนักงานเลขาธิการสมาคมวิสาขบูชาโลก และสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ

       ข้อสังเกตของคณะกรรมการตรวจประเมินได้กระตุ้นให้มหาวิทยาลัยได้พัฒนาตัวเองไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางแห่งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในระดับอาเซียน” (Hub of ASEAN Buddhist Universities) นอกเหนือจากความมุ่งหวังที่จะไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ”   ดังนั้น บทความนี้ มุ่งหวังที่จะตั้งข้อสังเกตว่า “การที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งอาเซียน” นั้น ควรที่จะพัฒนาตัวแปรองค์ประกอบใดบ้าง และองค์ประกอบแต่ละข้อนั้น ควรจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

แนวทางการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอาเซียน

       ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์ดำรงตนอย่างน้อยใน ๒ บทบาทใหญ่ๆ คือ (๑) การเป็นหน่วยงานจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยปี ๒๕๔๐ ซึ่งมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยมีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  และ (๒) บทบาทในฐานะเป็นองค์กรทางศาสนาที่ทำหน้าที่ในการสนองงานของคณะสงฆ์ไทยภายใต้การดำเนินการของมหาเถรสมาคม  จะเห็นว่า บทบาทในอดีตที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ทั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เข้าไปทำหน้าที่ในนามรัฐบาลไทย และมหาเถรสมาคมทั้งการจัดกิจกรรมนานาชาติ การพัฒนาและฝึกอบรมพระสังฆาธิการทั่วประเทศ และการสนองงานในต่างประเทศโดยการพัฒนาพระธรรมทูต และนิมนต์ไปเผยแผ่นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

       การที่จะตอบคำถามที่ว่า “มหาวิทยาลัยสงฆ์ควรจัดวางสถานะของตัวเองให้สอดคล้องบทบริบทของมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอาเซียน” นั้น  แม้จะทราบดีว่า คำตอบที่ได้มาอาจจะตื้นเขิน เพราะผู้เขียนไม่ได้มีโอกาสดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และครอบคลุมในทุกมิติ  แต่จะอาศัยมุมมองในเชิงปัจเจกนำเสนอแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยสงฆ์สู่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอาเซียนภายไต้กรอบของ ๓ เสาหลักในการพัฒนาอาเซียน กล่าวคือ เสาประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน   เสาที่ ๑ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community-ASC) ในเสานี้กฎบัตรอาเซียนได้ชี้ชัดว่า มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้ง ระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูป แบบใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง  

       ผู้เขียนเห็นว่า แม้ในกฎบัตรอาเซียนในหมวดที่ ๘ ว่าด้วยการระงับข้อพิพาท ตั้งแต่ข้อที่ ๒๒ ถึง ๒๖ จะร่วมกันกำหนดแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยการใช้สันติวิธีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือของประชาชนในแต่ละประเทศ แต่ถึงกระนั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ ในปัจจุบันนี้ ประชาคมอาเซียนกำลังเผชิญหน้ากับข้อพิพาทระหว่างกันเกี่ยวกับหมู่เกาะต่างๆ รอบๆ อาเซียนทั้งในประเทศอาเซียนด้วยกันเอง และในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม รวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับประเด็นเขาพระวิหารระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย จากข้อพิพาทดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถามว่า “ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็นคู่กรณีได้ใช้กฎบัตรอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการระดับข้อพิพาทเข้ามาเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งมากน้อยเพียงใด” และหากสามารถดำเนินการแก้ไขได้จริง เพราะเหตุใด ประเทศคู่ขัดแย้งบางประเทศจึงนำข้อพิพาทเข้าสู่การตัดสินของศาลโลกโดยไม่ใช้กลไกตามที่ปรากฏอยู่ในกฎบัตรอาเซียนที่มวลสมาชิกได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นหลักปฏิบัติร่วมกัน

       จากประเด็นข้อพิพาทที่กำลังมีและปรากฏอยู่ในประชาคมอาเซียนดังกล่าว แม้ว่า ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะเปิดหลักสูตรหลักสูตรสันติศึกษาเพื่อนำเสนอทางเลือกในการศึกษา เรียนรู้ และวิจัย เพื่อร่วมสร้าง และรักษาสันติภาพ ในขณะที่สถาบันการศึกษาทางโลกได้เข้ามาร่วมนำเสนอทางเลือกต่อการสร้างสันติภาพแก่สังคม เช่น สำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล  สถาบันพระปกเกล้า  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาขอนแก่น ถึงกระนั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งมีจุดแข็งด้านการด้านสันติภาพควรเร่งจัดตั้ง “สถาบันสันติภาพเพื่อประชาคมอาเซียน” (ASEAN Centre for Peace)  ขึ้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยทางโลกเหล่านั้น เพื่อให้สถาบันดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอต่อการสร้างทางเลือกที่สำคัญในการ (๑) เป็นศูนย์กลางพัฒนา และฝึกอบรมนักสันติวิธี ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้มีทักษะ และความสามารถในการทำหน้าสนับสนุนกระบวนการรักษาสันสันติภาพ และสร้างสร้างสันติภาพ (๒) เป็นแหล่งศึกษา และวิจัยองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ ความขัดแย้ง ความรุนแรง พหุวัฒนธรรม (Multi-Culture) ชาติพันธุ์ และการสื่อสารในประชาคมอาเซียน และทั่วโลก รวมไปถึงหลักการที่โดดเด่นในศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขันติธรรมทางศาสนา (Religious Tolerance) เพื่อช่วยสนับสนุนกระบวนการรับฟังอย่างใจกว้าง และยอมรับความแตกต่างอย่างมีสติมากยิ่งขึ้น (๓) การเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่ายกับองค์กรสันติภาพอื่นๆ ทั่วอาเซียน และทั่วโลกให้เข้ามาร่วมมือในการส่งเสริมกระบวนการสันติสนทนา (Peace Talk) และร่วมกันหาทางออกอย่างสันติ โดยการสร้างแผนที่ความขัดแย้ง (Conflict Map) และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหาทางออกโดยใช้พลังศาสนาเข้าไปเป็นแรงขับเคลื่อนทางสังคมอาเซียน

       เสาที่ ๒ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) ในเสานี้กฎบัตรอาเซียนได้วางแนวทางเอาไว้ว่า มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน ผู้เขียนมองว่า ในขณะที่สังคมโลกทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปกำลังพากันสงสัย และตั้งคำถามต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมว่าจะพาโลกไปสู่ความหายนะหรือรุ่งเรือง ดังจะเห็นได้จากกรณีการยึดครองตลาดวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street) เพื่อประท้วงผู้บริหารบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยกล่าวหาว่าบริษัทเหล่านั้นปั่นหุ้น และดำเนินธุรกิจไร้ธรรมาภิบาลจนทำให้ตลาดทุนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อสภาพทางเศรษฐกิจโดยรัฐนำงบประมาณที่เก็บรายได้จากภาษีประชาชนจำนวนมากเข้าไปสนับสนุน และก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน และปัญหาทางสังคมตามมา

       อีกทั้ง ปัญหาสถานการณ์ทางการเงิน และสภาพหนี้ที่กำลังคุกคามประเทศหมู ๔ ตัว (PIGS) ประกอบด้วยประเทศโปรตุเกส ไอซ์แลนด์ กรีซ และสเปน จนทำให้บางประเทศดังเช่นกรีซต้องเข้าสู่มาตรการรัดเข็มขัด หยุดพักชำระหนี้ และขอรับการสนับสนุนจากไอเอ็มเอฟ และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป การปลดพนักงาน ลดการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงอย่างต่อเนื่องและเผาอาคารสถานที่ทางราชการ การปล้นร้านค้า และบางกลุ่มได้เรียกร้องให้มีการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเพื่อกลับมากำหนดค่าเงิน และจัดวางฐานการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่

       จากตัวอย่างวิกฤติการณ์และคำถามที่เกิดขึ้นกับระบบทุนนิยมในลักษณะดังกล่าว มหาวิทยาลัยสงฆ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหา “ทางเลือกที่เหมาะสมของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ” โดยการออกแบบหลักการและเครื่องมือที่วางอยู่บนฐานของสภาพปัญหาของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมว่า ในขณะที่การพัฒนาแบบทุนนิยมได้ก่อให้เกิดการทำลายโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางเศรษฐกิจ วิกฤติการณ์ทางสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การสู่สงคราม และความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม คำถามคือ รูปแบบที่พึ่งประสงค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนที่เหมาะกับสังคมโลกยุคปัจจุบันควรมีหลักการและแนวทางที่เหมาะสมอย่างไร  อีกทั้งควรมีมาตรการในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร จึงจะทำให้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน หรือเศรษฐศาสตร์สีขาวที่เน้นการพัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุนแบบสายกลาง ไม่นำไปสู่การเบียนเบียน และเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน จนทำให้โครงสร้างต่างๆ ผิดรูปบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงดังที่ปรากฏในสังคมโลกยุคปัจจุบัน

       คำถามต่อมาคือ แม้ว่าอาเซียนจะรวมเป็นตลาดเดียว (Single Market) ฐานการผลิตเดียว (Production Ba'lack Eieise)  มหาวิทยาลัยสงฆ์จะนำเสนอให้ประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียนได้เข้ามาทำหน้าที่ในการใส่ใจ และแบ่งปัน (Caring and Sharing) ผลประโยชน์และความต้องการระหว่างกันและกันอย่างไร จึงจะทำให้อาเซียนเกิดความสมดุลในแง่ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีกำลังทางด้านทุนมากกว่า เช่น มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาประเทศที่กำลังเข้าสู่การพัฒนาได้อย่างไรจึงจะเกิดความยั่งยืน และไม่เอารัดเอาเปรียบประเทศที่มีกำลังน้อยกว่า โดยเข้าไปช่วยเหลือทั้งการบริหาร เทคโนโลยี การศึกษา สาธารณสุข หรือระบบขนส่งภายในประเทศ  การมองประเด็นเหล่านี้ ให้เชื่อมโยงกับแนวทาง หรือหลักการทางศาสนาจะทำให้เห็นภาพทั้งการพัฒนาทางวัตถุ และการพัฒนามิติด้านคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างมีดุลภาพ และตระหนักรู้ในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของแต่ละประเทศ

       เสาที่ ๓ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC) ในเสานี้ กฎบัตรอาเซียนได้กำหนดกรอบเอาไว้ว่า “มุ่งหวังเพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้อ อาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม”  ในเสานี้ แม้กฎบัตรจะกล่าวถึงประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน ถึงกระนั้น แง่มุมทั้งสองนี้เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันกับการพัฒนาด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอาเซียน  ดังนั้น ผู้เขียนขอเสนอประเด็นที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ควรเข้าไปดำเนินการในประเด็นดังต่อไปนี้

       (๑) การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอาเซียน  จะเห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เมื่อกล่าวถึงคำว่า “เชื่อมโยง” เรามักจะพุ่งเป้าไปให้ความใส่ใจการจัดวางเรื่องโลจิสติกส์ ซึ่งหมายถึงการขนส่ง หรือการเดินทางในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้าและการบริการ หรือการเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่าในประเทศต่างๆ แต่ความเชื่อมโยงที่จะกล่าวถึง เป็นความเชื่อมโยงด้านการการบริการด้านการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ รวมไปถึงพระพุทธศาสนา

       ในขณะที่มหาวิทยาลัยสงฆ์มีอัตลักษณ์ในแง่ของการเป็นมหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนา ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งเปิดตลาดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนากับประเทศซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาทั้งนิกายมหายาน และเถรวาท กล่าวคือ ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ประเทศเวียดนาม รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ดำเนินการอยู่แล้ว คือ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย  การเปิดตลาดด้านการศึกษาพระพุทธศาสนานั้น คณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบันได้ให้ข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ วางกลยุทธ์ และโครงการกิจกรรมต่างๆ ให้ชัดเจน และครอบคลุม ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งแนวทางเหล่านี้ แม้ว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เข้าไปสร้างความร่วมมือ และเครือข่ายมาอย่างเนื่องและยาวนาน

       หากได้กำหนดทิศทางต่างๆ ทั้งแผนการในการรับ การเดินทางไปเชิญชวน (Road Show) การสำรวจสถานศึกษา การสำรวจหลักสูตรที่สอดรับกับข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย การออกข้อระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการตัดสินใจเข้ารับการศึกษา ซึ่งหากสามารถกำหนดแนวทางได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน จะทำให้ง่ายต่อการจัดวางสถานะและบทบาทของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งอาเซียนทั้งในแง่ของการรับรู้ และการปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินเข้ารับการศึกษาของพระสงฆ์และคฤหัสถ์ในประชาคมอาเซียน

       ความเชื่อมโยงดังกล่าวนั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้กำหนดให้วิทยาเขตหนองคายเชื่อมโยงกับวิทยาสงฆ์องค์ตื้อในเวียงจันทร์  วิทยาเขตสุรินทร์เชื่อมกับมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในกัมพูชา วิทยาเขตพะเยา วิทยาเขตเชียงใหม่ หรือวิทยาเขตแพร่ไปเชื่อมกับพม่า ไทยใหญ่ หรือแม้กระทั่งประเทศลาวตอนเหนือ และให้วิทยาเขตนครศรีธรรมราชเชื่อมกับประเทศมาเลเซีย แต่ข้อห่วงใยจากคณะกรรมการประเมินคือ วิทยาเขตต่างๆ จะจัดวางยุทธศาสตร์ หรือกำหนดเป็นแผนเพื่อเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศเหล่านั้นอย่างไร จึงจะพัฒนาวิทยาเขตให้กลายเป็นประตูสู่ประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

       (๒) การสร้างวัฒนธรรมร่วม (Co-Culture Building)  จุดเด่นที่สำคัญประการหนึ่งในประชาคมอาเซียนคือ “ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท” จะเห็นว่า เมื่อกล่าวถึงประเด็นนี้ ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศลาว และประเทศกัมพูชามีวัฒนธรรมร่วมฐานะที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ด้วยเหตุนี้ ประเทศเหล่านี้ จึงมี “แนวคิดแบบเถรวาท” เป็นแกนกลางสำคัญในการเชื่อมโยงวิถีชีวิต ทั้งการคิด การแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แง่มุมทางศาสนาได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มประเทศในลุ่มน้ำโขง ทั้งประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระธง ผ้าซิ่นลุนตยากับผ้าซิ่นตีนจก ประวัติและพัฒนาการเกี่ยวกับรอยพระบาท ใบเสมา และสิม โดยเฉพาะอย่าง “ภาษาทางศาสนา” ที่สะท้อนผ่านการยิ้มแย้มแจ่มใส การให้ ความรัก และเอื้ออาทรระหว่างกันและกันในสังคม ดังนั้น ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดกระบวนการสร้างกิจกรรมร่วมทางพระพุทธศาสนาเถรวาท  โดยการนำแง่มุมนี้มานำเสนอให้เกิดการเชื่อมโยงผ่านกิจกรรม กาแสดงศิลปวัฒนธรรม และการละเล่น  

       (๓) การส่งเสริมการวิจัยข้ามวัฒนธรรม (Cross Cultural Research) ในการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงวิชาการ และการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกนั้น ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงฆ์มักจะมุ่งเน้นการวิจัยเชิงตำราหรือคัมภีร์ (Textual Buddhism) งานวิจัยการตีความคัมภีร์ (Intellectual Buddhism)  งานวิจัยเกี่ยวกับการปฏิบัติ (Practical Buddhism) และงานวิจัยที่เน้นเชิงสังคม (Engaged Buddhism) ถึงกระนั้น สิ่งที่ควรให้ความสำคัญเพิ่มเติมคือการให้ความใส่ใจต่อการวิจัยเชิงภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ที่ไปสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างรอยพระบาทในพม่า ไทย ลาว และกัมพูชา ผ้าซิ่นลุนตยาของพม่ากับผ้าซิ่นตีนจกของเชียงใหม่ สิมระหว่างภาคอีสานกับประเทศลาว ภาษาธรรมกับภาษาลาว ใบเสมาระหว่างไทยกับลาว สังข์ศิปล์ชัยระหว่างลาวกับไทย การศึกษาพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศในลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับการเมืองด้วย  การศึกษาวิจัยข้ามประเทศดังกล่าวนี้ ประเทศตะวันตกได้เข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า ๑๐ ศตวรรษแล้ว แต่การนำเสนอมุมมองดังกล่าวนั้น เป็นการมองในมิติของนักคิดตะวันตก แต่คำถามคือ นักวิชาการศาสนาในกลุ่มอาเซียนมีท่าทีต่อประเด็นดังกล่าวอย่างไร

       (๔) การจัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำโขง (Mea Khong Centre for Buddhist Studies: MCBS) แนวทางดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรวมกับสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติได้ร่วมก่อตั้งศูนย์ดังกล่าวมากว่า ๕ ปีแล้ว โดยได้เชิญมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ คือ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ประเทศละ ๒ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนามาร่วมลงนามความร่วมมือ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้อาศัยช่องทางดังกล่าวไปศึกษาดูงานในมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะยกบทบาท และสถานะของศูนย์แห่งนี้ขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อให้ความคล่องตัวในการทำหน้าที่สำคัญทั้งในการวิจัยร่วมกัน หรือทำโครงการต่างๆ ทั้งการศึกษา การแลกเปลี่ยนครู และนักศึกษา รวมไปถึงให้ทุนในการสนับสนุนและส่งเสริมระหว่างมหาวิทยาลัยต่อมหาวิทยาลัย หรือองค์กรสงฆ์ต่อองค์การสงฆ์

       (๕) การจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียน  จากการสอบถามในเบื้องต้นกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียน ไม่ปรากฏชัดว่า มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งใดได้ริเริ่มจัดหลักสูตรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียน หรือพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำโขง  แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงฆ์บางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้ร่วมจัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำโขง และมีสถาบันสมทบในประเทศสิงคโปร์ ๒ แห่ง  อาจจะอาศัยศักยภาพดังกล่าวในการจัดหลักสูตรในระดับปริญญาโท หรืออาจจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาเป็นวิชาเลือก ๓ หน่วยกิตเพื่อให้นิสิตทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกได้ร่วมศึกษาและเรียนรู้ประวัติและพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษา และวิจัยในมิติและแง่มุมต่างๆ เพื่อนำมาจัดวางบทบาท และสถานะที่พึ่งประสงค์ต่อประเทศของพลเมืองไทยที่จะก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนในปี ๒๕๕๘

       นอกเหนือจากนี้ หลักสูตรที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ “หลักสูตรพัฒนาพลเมืองไทยสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน และพลเมืองโลก” คำถามที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยสงฆ์จะสามารถออกแบบหลักสูตรเพื่อนำไปสู่การพัฒนา “คนดี” ให้กลายเป็น “พลเมืองที่ดี” ได้อย่างไร  จึงจะทำให้คนดีสามารถกลายเป็นเมืองที่ดีที่มีความสำนึกรับผิดชอบ มีจิตสำนึกสาธารณะ ใช้หลักสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา เคารพ และรักษากฎกติกาต่างๆ ที่กำหนดใช้ร่วมกันในสังคม ดังนั้น อาจจะปรับเนื้อหาวิชามนุษย์กับสังคมที่เป็นวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ให้สอดรับกับแนวทางดังกล่าว หรืออาจจะพัฒนาให้กลายเป็นวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองที่ดีก็ได้

       (๖) การพัฒนาภาษาอาเซียน  แม้ว่ากฎบัตรอาเซียนข้อที่ ๓๔ จะชี้ว่า “ภาษาที่ใช้เป็นภาษากลางเพื่อทำงาน คือ ภาษาอังกฤษ” (The working language of ASEAN shall be English) ถึงกระนั้น มิได้หมายความว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์จะเน้นพัฒนาเฉพาะภาษาอังกฤษให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตเท่านั้น ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาและฝึกอบรมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถเรียนรู้และเข้าใจภาษาอื่นๆ ในอาเซียนด้วย เช่น หากเราสามารถเข้าใจภาษาบาฮาซาร์ เราย่อมสามารถสื่อสารได้กับพลเมืองอาเซียนในประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน และประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่นิสิตจากประเทศในอาเซียนเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมบุคลากรในห้องสมุด ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ รวมไปถึงฝ่ายการเงินให้สามารถเข้าใจ และสื่อสารทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน และเอกสารของมหาวิทยาลัย เช่น ใบสมัคร ข้อบังคับ กฎระเบียบต่างๆ หรือใบลงทะเบียน อาจจะแปลคำหลักๆ เอาไว้ด้วยเช่นกัน  ภาระหน้าที่เหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนและส่งเสริมสถาบันภาษา หรือศูนย์ภาษาให้เข้ามาทำหน้าที่รองรับภารกิจดังกล่าว ทั้งบุคลากร งบประมาณ ห้องสมุด และอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อรองรับการพัฒนาและฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อการใช้งานได้จริง

       อย่างไรก็ตาม การที่จะเข้าใจภาษาต่างๆ ของอาเซียนได้ดีและครอบคลุมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจวัฒนธรรมพื้นฐานที่เป็นวิถีชีวิตของพลเมืองของประเทศต่างๆ ในอาเซียนด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมเรื่อง ความเชื่อ ประเพณี บทเพลง กีฬา รวมไปถึงแนวคิดพื้นฐานของความเชื่อ นั่นคือ ศาสนา ฉะนั้น การพัฒนาภาษาของบุคลากรในมหาวิทยาลัยสงฆ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปสัมพันธ์และเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้  การศึกษาควรจำลองสถานการณ์จริงทั้งการใช้ภาษา และวัฒนธรรมให้ประสานสอดคล้อง อีกทั้งควรสร้างความมือด้านนี้โดยการแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งผู้สอน ห้องสมุด นักเรียน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยประมาณทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาภาษาดังกล่าว

มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอาเซียน: พัฒนาอย่างไรจึงจะยั่งยืน

       แม้ว่าคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอกระดับสถาบันที่เข้า ตรวจเยี่ยมและประเมินมหาวิทยาลัยในปี ๒๕๕๘ และได้เสนอว่า “มหาวิทยาลัยควรกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เพิ่มเติม โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ตามบริบทของมหาวิทยาลัย วิทยาเขต เพื่อก้าวสู่ความเป็นอาเซียน” นั้น แต่ในความเป็นจริง พบว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้พัฒนา และสร้างความเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทั้งแนวทางในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่พระพิมลธรรม (อาจ อาสภะมหาเถระ) ได้ส่งพระสงฆ์ไทยไปเรียนแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานจากประเทศพม่าก่อน ปี พ.ศ. ๒,๕๐๐ การที่พระสงฆ์กัมพูชา และลาวได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนาจากประเทศไทย และมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในประเทศสิงคโปร์สองแห่งได้ขอเป็นสถาบันสมทบของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตัวอย่างของความสัมพันธ์เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อมองในมิติของความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้น ประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องกับประเทศต่างในอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานแล้ว

       อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอของคณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับสถาบันนั้น ได้ทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์เหล่านั้น แต่อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์จะกำหนดยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งอาเซียนอย่างไร จึงจะสอดรับกับบริบทของมหาวิทยาลัย วิทยาเขต วิทยาสงฆ์ หน่วยวิทยบริการ หรือห้องเรียนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้สามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ที่มีพื้นที่ติดกันในเชิงภูมิศาสตร์ และร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ประสานสอดคล้องกับบริบท วัฒนธรรม ความเชื่อ ชาติพันธุ์ และภาษา การที่จะดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผลนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ศักยภาพของหน่วยงานตามที่ปรากฏอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ว่าแต่ละแห่งมีจุดอ่อน และจุดแข็งอย่างไร เพื่อให้สามารถพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ของตนเองได้อย่างมีทิศทาง และมีเป้าหมาย อีกทั้งสามารถกำหนดตัวบ่งชี้ และประเมินผลได้อย่างชัดเจน

       ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้พยายามที่จะนำเสนอประเด็นกว้างๆ ที่อาจจะ/สามารถนำไปแลกเปลี่ยนและพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหน่วยงานต่อไป ทั้งนี้ ผู้เขียนได้นำกรอบของสามเสาหลักของอาเซียน กล่าวคือ เสาประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนมาเป็นฐานในการวิเคราะห์ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ควรจะเน้นประเด็นใดบ้าง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของหน่วยงานจัดการศึกษาแต่ละแห่งว่ามีศักยภาพ และมีจุดเด่นในด้านใดบ้างที่เอื้อต่อการพัฒนาเป็นแผนยุทธศาสตร์ต่อไป

       ถึงกระนั้น การพัฒนาหน่วยงานหรือองค์กรไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนเพื่อร่วมพัฒนาหน่วยงานของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอาเซียนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาฐานข้อมูลรองรับอย่างเป็นระบบ และและบริหารจัดการโดยใช้ “ข้อมูล” ที่เป็นจริง (Fact) ที่ผ่านกระบวนการศึกษา วิจัย และวิเคราะห์ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคม (Public Participation) โดยไม่ใช้ “ความรู้สึก” (Feeling) หรือการอนุมาน มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ  และเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารประการหนึ่งคือ “การประกันคุณภาพ” เพราะการประกันคุณภาพจะเป็นกระจกเงาในการสะท้อนแง่มุมในการบริหารและการบริการของหน่วยงานต่างๆ ว่า

หมายเลขบันทึก: 502911เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2012 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาติดตามครับ พระอาจารย์

นมัสการเจ้าค่ะ

"ศูนย์กลางแห่งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในระดับอาเซียน” (Hub of ASEAN Buddhist Universities) นอกเหนือจากความมุ่งหวังที่จะไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ"

"โดยเฉพาะอย่าง “ภาษาทางศาสนา” ที่สะท้อนผ่านการยิ้มแย้มแจ่มใส การให้ ความรัก และเอื้ออาทรระหว่างกันและกันในสังคม"

อ่านแล้วอิ่มใจจังเจ้าค่ะ

อนุโมทนาขอบใจทั้งสองท่านที่เห็นความสำคัญ และเข้ามาแลกเปลี่ยน:-)

พระมหาวุฒิ ญาณิสฺสโร

อนุโมทนาต่อทัศนะ ขอนำไปลงหนังสือประจำปีของวัดนะครับ

ขออนุโมทนาคับต่อทัศนะของท่านคับ ขออนุญาตินำไปเขียนรายนะคับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท