ตอนที่ ๑๖


ลูกชาย : ทำไมถึงเรียก 'สำนักคลาสสิก' ครับ

พ่อดี : สำนักคลาสสิกนี้ ถูกเรียกโดย จอห์น เมนาร์ด เคนส์ แห่ง 'สำนักเคนส์เซี่ยน' ซึ่งได้เรียกกลุ่มที่มีแนวคิดที่มีความเชื่อ กลไกตลาดเป็นสรณะว่า สำนักคลาสสิก

ลูกชาย : แสดงว่าปรัชญาหลักของสำนักนี้มุ่งเน้นในการเปิดเสรีโดยยกเอากลไกตลาดเป็นเครื่องมืออย่างนั้นหรือครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก ก็อย่างที่บอกสำนักนี้มีแนวความคิดต่อยอดมาจากลัทธิพาณิชย์นิยมที่มุ่งเน้นแสวงหาความมั่งคั่งจากการค้า แต่จะแตกต่างกันตรงวิธีการ โดยสำนักคลาสสิกนี้ก็มีปรัชญาในเชิงที่ต้องการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นของภาคเอกชนเพราะจะทำให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงแล้วจะทำให้เกิดการบิดเบือนของกลไกตลาดและส่งผลให้เป็นแรงเสียดทานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจไม่ไหลลื่น โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญ คือ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ(economic freedom) ความสนใจในผลประโยชน์ของตนเอง (self interest) การแข่งขัน (competition) และ การดำเนินการโดยเสรี (laissez faire)

ลูกชาย : แล้วถ้าอย่างนั้นภาครัฐมีหน้าที่อะไรหรือครับพ่อ

พ่อดี : หน้าที่หลักของภาครัฐในด้านเศรษฐกิจ คือ คอยส่งเสริมและสนับสนุนและเอื้อความสะดวกในด้านกฎเกณฑ์ที่สนับสนุนทางด้านการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน เพราะปรัชญาของสำนักนี้มองว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพได้ด้วยตัวของมันเอง โดย (invisible hand) ซึ่งก็คือ กลไกตลาดที่มีระดับราคาเป็นเครื่องมือนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจและเครื่องมือที่สำคัญของสำนักนี้

ลูกชาย : ในช่วงที่สำนักคลาสสิกรุ่งเรืองไม่เคยมีปัญหาเศรษฐกิจเลยหรือครับ ผมหมายถึง วัฏจักรธุรกิจ ครับ                                                                                         

พ่อดี : ถ้าพูดถึงวัฏจักรธุรกิจ เกี่ยวกับในแง่เศรษฐศาสตร์โดยตรง คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery)  และภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง (Expansion) ในยุคที่สำนักนี้รุ่งเรืองภาพดังกล่าวไม่ปรากฏชัดเจนนัก แต่ถ้าพูดถึงความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจในบางช่วงนั้นก็มีให้เห็นเหมือนกัน ซึ่งมันก็ไปตรงกับแนวความคิดของสำนักนี้พอดีในแง่ที่ว่า สำนักคลาสสิกมองว่าการผันผวนของเศรษฐกิจหรือแม้กระทั่งการเกิดวัฏจักรธุรกิจก็ดีจะมีในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นช่วงของการปรับตัวหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อกลไกตลาดทำให้กลไกตลาดทำงานไม่ปกติ แต่ท้ายที่สุดแล้วในระยะยาวกลไกตลาดก็จะกลับมาทำงานเป็นปกติโดย มือที่มองไม่เห็นเหมือนเดิม และทำให้เกิดดุลยภาพทางเศรษฐกิจที่ระดับการจ้างงานเต็มที่เหมือนเดิม

ลูกชาย : เป็นไปได้ไหมครับที่สมัยนั้นความผันผวนของเศรษฐกิจมีน้อยอาจจะเนื่องมาจาก เครื่องมือหรือกลไกทางเศรษฐกิจในสมัยก่อนไม่ซับซ้อนเหมือนปัจจุบัน ทำให้แนวความคิดของสำนักคลาสสิกมีอิทธิพลมากในช่วงนั้น                                                                                                                                                         

พ่อดี : นั่นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่เกื้อหนุนความคิดของสำนักคลาสสิกในช่วงนั้น แต่ยังมีอีกหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางด้านจำนวนประชากร ปัจจัยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ที่สำคัญเป็นทางเลือกที่ตอบสนอง (โดนใจ) ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์โดยส่วนมาก

ลูกชาย : โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ต้องการมีสิทธิ์ เสรีภาพในเรื่องต่าง ๆ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก จำได้ไหมที่พ่อเคยบอกเกี่ยวว่าภูมิปัญญาของชาวตะวันตก

ลูกชาย : เกี่ยวกับแนวความคิดที่สุดโต่งแบบขั้วใดขั้วหนึ่งถ้าไม่ขาวก็ดำใช่ไหมครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก ซึ่งแนวความคิดของสำนักคลาสสิกก็มีรากเง้ามาจากภูมิปัญญานี้ด้วยเหมือนกัน โดยแต่ก่อนนั้นความเชื่อของชาวหมู่บ้านตะวันตกเกี่ยวกับมนุษย์รวมถึงวิถีชีวิตมนุษย์แบ่งเป็น ๒ ขั้ว ชัดเจน คือกลุ่มที่เห็นว่ามนุษย์ไม่มีเหตุผลนำโดย เพลโต และกลุ่มที่เห็นว่ามนุษย์เกิดมาย่อมมีเหตุผลในตัวเองเสมอนำโดย อริสโตเติล (ศิษย์ของเพลโต)  ซึ่งต้องยอมรับว่ากลุ่มหลังมีอิทธิพลมากกว่าเนื่องจากไปตอบสนองกับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์พอดีทั้งในด้านของ สิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ อย่างที่พ่อเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว

ลูกชาย : แต่ผมก็มองว่าการที่คนเรามีสิทธิ์ เสรีภาพในด้านต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีนี่ครับ

พ่อดี : เป็นสิ่งที่ดีนะลูก แต่ว่าต้องอยู่ในกรอบกติกาของสังคมรวมถึงตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรม จารีตประเพณี ที่ดีงามด้วย นี่คือหัวใจที่พ่อถือว่าสำคัญที่สุด                     

ลูกชาย : ผมว่าสิ่งที่พ่อพูด มันเป็นสังคมในอุดมคติ มันจะเกิดขึ้นจริงหรือครับ

พ่อดี : ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าทุกคนมีพื้นฐานของการเห็นแก่ตัวทุกคน ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้น และการถูกปลูกฝังในเรื่องของความคิดก็สำคัญ ดังนั้นมนุษย์ก็จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองจนบางครั้งลืมคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมส่วนรวม

ลูกชาย : เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ความต้องการของคนไม่มีที่สิ้นสุด

พ่อดี : นี่แหละคือสิ่งที่อันตรายถ้าถูกนำมาใช้โดยการถูกครอบงำหรือหลงในตัวกิเลสนี้แล้ว ดังนั้น ควรต้องใช้ ปัญญาควบคู่ไปด้วย

ลูกชาย : ที่พ่อเคยบอกถึงความแตกต่างระหว่างการใช้ความฉลาดกับการใช้ปัญญาใช่ไหมครับ

พ่อดี : ถูกแล้วลูกเพราะว่า ปัญญารู้จักเรียงลำดับสำคัญในการใช้เหตุผลและที่สำคัญจะมีคุณธรรมกำกับอย่างเข้มข้น ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจด้วย ซึ่งจะนำพาให้ก่อเกิดแต่สิ่งที่ดีงาม ต่างจากความฉลาดซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งสองทางทั้งดีและไม่ดี ซึ่งทุกวันนี้คนฉลาดมีมากมาย แต่คนที่มีปัญญามีน้อยมาก

ลูกชาย : ผมว่าแนวความคิดของสำนักคลาสสิกก็มีแง่มุมที่ดีในด้านการทำให้เกิดพัฒนาการทางความคิดด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดการแข่งขัน ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พ่อดี : แน่นอนลูกโดยเงื่อนไขที่พูดมาเป็นสิ่งที่ดูดี แต่ว่าลูกต้องวิเคราะห์ให้ดี ๆ ว่าในด้านที่บอกว่าดีนั้นดีกับกลุ่มไหน ดีกับส่วนรวมหรือเปล่าและที่สำคัญในระยะยาวสิ่งเหล่านั้นเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเปล่า

ลูกชาย : การพัฒนาที่ยั่งยืนคำนี้ฟังง่ายแต่เข้าใจความหมายยากนะครับ

พ่อดี : การที่จะเข้าใจความหมายของคำนี้มันต้องอาศัยปัญญา เพราะบางครั้งมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากต้องอาศัยระยะเวลา ไม่เหมือนกับรูปแบบการพัฒนาแบบลัทธิบริโภคนิยมซึ่งจับต้องและสัมผัสได้ง่ายกว่า ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงเห็นว่านี่หละคือแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องเพราะเห็นเป็นรูปธรรมกว่าสามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ตามหลักของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสตะวันตก

ลูกชาย : แต่ผมว่าการที่มีดัชนีชี้วัดที่เป็นตัวเลขก็ทำให้เห็นภาพชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่มีอำนาจและผู้บริหารนำไปใช้เป็นแนวทางประกอบกับการกำหนดนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหลักเศรษฐศาสตร์

พ่อดี : จริง ๆ แล้วถ้าเรายอมรับตรงกันอย่างหนึ่งว่า เศรษฐศาสตร์เป็นการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจว่าเป็นการศึกษาทางสังคมศาสตร์แล้ว เราก็จะเข้าใจว่าการศึกษาถึงพฤติกรรมมนุษย์เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ไม่เหมือนกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ได้ตามต้องการ แต่เศรษฐศาสตร์เป็นสิ่งที่ควบคุมตัวแปรทางด้านพฤติกรรมของคนไม่ได้เลย เดี๋ยวเรื่องนี้พ่อจะพูดให้ฟังในตอนที่เปรียบเทียบระหว่างเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (ตะวันตก) กับเศรษฐศาสตร์กระแสรอง (ตะวันออกหรือพุทธเศรษฐศาสตร์) เมื่อกี้เราพูดถึงไหนแล้วนะ

ลูกชาย : อ๋อ เกี่ยวกับแนวความคิดของสำนักคลาสสิกครับ เออแล้วทำไมแนวความคิดนี้จึงเริ่มเสื่อมความนิยมครับพ่อ

พ่อดี : แนวความคิดสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกครอบงำวงวิชาการเศรษฐศาสตร์จนเรียกได้ว่าเป็นกระแสหลัก ซึ่งไม่ว่าเศรษฐกิจจะเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร ไม่ว่าจะเป็นโรคเงินเฟ้อ โรคเงินฝืด หรือโรคการว่างงาน ก็จะมียาชุด (ยาสามัญประจำบ้าน) ในการรักษาอาการอยู่แล้วคือ “กลไกตลาด” ซึ่งมีเครื่องมือที่สำคัญคือระดับราคา ซึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของลัทธิทุนนิยม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรไม่เคยขาดแต่ท้ายที่สุดก็ปรับตัวได้เองตามกลไกของตลาดจากการกระทำของ มือที่มองไม่เห็น แต่แล้วภาวะเศรษฐกิจได้ตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ ๒๔๗๐ ซึ่งได้สร้างความฉงนงุนงงให้แก่สำนักคลาสสิกเป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุให้มีคนว่างงานหลายล้านคน แต่บางคนยังกล่าวโทษรัฐบาลว่าไม่ปล่อยให้กลไกราคาทำงานอย่างเต็มที่เป็นผลให้กลไกตลาดบิดเบือนความจริง

ลูกชาย : ทำไมเขาไม่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปซักระยะเผื่อจะปรับตัวดีขึ้นเองในระยะยาวตามความเชื่อหล่ะครับ     

พ่อดี : การตกต่ำของเศรษฐกิจตอนนั้นถือว่ารุนแรงมากและยิ่งปล่อยนานเท่าไหร่ปัญหาการว่างานยิ่งทวีความรุนแรงมากเพราะปัญหาการว่างงานเริ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งสำนักคลาสสิกก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้ได้ว่าปัญหาจะยุติเมื่อไหร่ มันก็เปรียบเหมือนคนไข้ที่ดื้อยา จำเป็นต้องหายาขนานอื่นมารักษา ดีกว่าทนรอโดยไม่รู้ชะตากรรมว่าจะหายเมื่อไหร่หรือบางครั้งอาจจะไม่หายเลยด้วยซ้ำ                                    

ลูกชาย : เปรียบเสมือนกับคนเราย่อมแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าอยู่เสมอแม้ว่าในภาวะปกติ แต่ยิ่งถ้าเกิดภาวะที่ไม่ปกติด้วยแล้วก็ยิ่งต้องดิ้นรนเพิ่มมากขึ้นอีกอย่างนั้นหรือเปล่าครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกลุ่มคลาสสิกที่เชื่อและศรัทธากลไกตลาดโดยการขับเคลื่อนของระดับราคาเป็นที่ตั้งก็ยังยึดมั่นเหมือนเดิม แต่มีนักเศรษฐศาสตร์อีกท่าน คือ จอห์น เมย์นาร์ เคนส์ มองเห็นว่าปัญหามันอยู่ที่การให้ภาคเอกชนมีส่วนกับกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจมากเกินไปส่วนภาครัฐมีส่วนร่วมน้อยมาก รวมถึงปัจจัยทางสถาบันมีส่วนในการทำให้เครื่องมือซึ่งก็คือราคาไม่อาจปรับตัวได้อย่างเต็มที่ทำให้กลไกตลาดทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเคนส์เห็นแตกต่างกับคลาสสิกในเรื่องของการปรับตัวของอัตราค่าจ้าง รวมถึงดุลยภาพของเศรษฐกิจ โดยสำนักคลาสสิกเชื่อว่าเมื่อมีการว่างงาน อัตราค่าจ้างย่อมตกต่ำลง (เกิดอุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน)  และเนื่องจากคนว่างงานบางส่วนยินดีที่จะทำงานโดยรับค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง มีผลทำให้เกิดการปรับตัวของอัตราค่าจ้างจะช่วยขจัดให้การว่างงานหมดไป  กลไกการปรับตัวของค่าจ้างจึงทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ดุลยภาพอีกครั้งที่ระดับการจ้างงานเต็มที่

ลูกชาย : แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ตรงข้ามคือ เกิดอุปสงค์ส่วนเกินในตลาดแรงงาน (มีจำนวนแรงงานน้อยกว่าความต้องการจ้างงาน) กลไกการทำงานของค่าจ้างจะปรับให้เศรษฐกิจเข้าสู่ดุลภาพอีกครั้งเหมือนกันหรือเปล่าครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก นั่นคือปรัชญาหรือความเชื่อของสำนักคลาสสิก แต่เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงดังกล่าวแล้ว เคนส์กลับเห็นว่า เมื่อค่าจ้างตกต่ำจนถึงระดับหนึ่งแล้ว จะไม่สามารถปรับลดต่ำลงได้อีก ซึ่งเรียกว่า ความไม่ยืดหยุ่นของอัตราค่าจ้างในการปรับตัวลดลง (Downward Wage Inflexibility) เพราะคนมองว่าค่าจ้างนั้นต่ำเกินไปยินดีที่จะว่างงานดีกว่า ทำให้แนวความคิดของเคนส์เชื่อว่า ดุลยภาพของเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องเป็นดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มอัตราเสมอไป ทั้งนี้ดุลยภาพอาจจะเป็นดุลยภาพที่มีปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเงินฝืด หรือปัญหาการว่างงานก็ได้ แท้จริงแล้ว ภาวะที่มีการจ้างงานเต็มอัตราเป็นสภาวการณ์พิเศษ

ลูกชาย : การที่แนวคิดของเคนส์เป็นที่ยอมรับนอกจากเหตุผลนี้แล้วยังมีเหตุผลอื่นอีกไหมครับ

 

********************************************************************************************************************

 

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ#ลูกชาย
หมายเลขบันทึก: 502549เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2012 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • พ่อกับลูกคุยกัน
  • คนอื่นๆได้เรียนรู้ไปด้วย
  • ชอบใจการนำเสนอครับ
  • ขอบคุณมากๆครับ

ตอนที่เขียน บันทึกนี้ P'Ple ประชุม อยู่ที่เชียงราย นะคะ วันที่ 18-20 กย. 555 ตามมาให้กำลังใจ ตามมาอ่าน บทความการนำเสนอ เทคนิก ... ดีจังเลยนะคะ

ขอบคุณนะคะ

ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ขจิต มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดดี ๆ อยู่เสมอ...

ขอบพระคุณ อาจารย์P'Ple มากครับ ที่ตามมาให้กำลังใจ...และมีข้อคิดดี ๆ มาฝากอยู่เสมอ...

ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มอบผ่านดอกไม้จากทุกท่านครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท