ประชานิยมปนเปื้อน : เมนูนโยบายที่ทำลายหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


การบริหารจัดการประเทศภายใต้การขับเคลื่อนของเมนูนโยบายประชานิยมที่ปนเปื้อนด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ยังได้สร้างตราบาปและทำลายหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามวิถีของการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม...

คนไทยคุ้นชินกับคำว่า “ประชานิยม” Populism มากขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจากรัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบายชุดใหม่ในด้านการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนในช่วงเดือนมกราคมปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการต่อยอดมาจากเมนูนโยบายชุดเดิม เช่น กองทุนหมู่บ้าน  ๓๐ บาทรักษาทุกโรค  การพักชำระหนี้เกษตรกร รวมถึงโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ เป็นต้น โดยถือได้ว่าเป็นเมนูนโยบายที่โดนใจประชาชน (ต่างจังหวัด) มากที่สุด จนทำให้ได้รับฉันทมติความไว้วางใจจากประชาชนโดยส่วนใหญ่ให้ได้รับเลือกตั้งนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน ซึ่งหลังจากนั้นในทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็มองว่าประชานิยมเป็นสินค้าจำเป็นที่ขาดไม่ได้สำหรับประชาชน...จึงบรรจุเมนูนโยบายประชานิยมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการหาเสียงเรื่อยมา...

 

          เมนูนโยบายประชานิยมดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงถึงความสมเหตุสมผลของการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มหภาคว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้เครื่องมือเพื่อตอบสนองกับเมนูนโยบายประชานิยมที่หาเสียงทางการเมืองเพียงเท่านั้น เพราะแต่ละโครงการต้องใช้เม็ดเงินเป็นจำนวนมาก โดยการใช้นโยบายการคลังผ่านทางการจัดสรรรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน บางโครงการต้องใช้เงินกู้ซึ่งถือว่าเป็นภาระผูกพันของงบประมาณ และในส่วนของนโยบายการเงินโดยการผ่านทางเครื่องมือการปล่อยสินเชื่อจากการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำผ่านทางสถาบันการเงินของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดถ้าหากมีปัญหาทางด้านการชำระคืนก็จะกระทบต่อรัฐบาลเพราะถือว่าเป็นหนี้ของภาครัฐ (หนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ คือ ๔,๖๖๘,๐๙๙.๕๔ ล้านบาท)

 

           ประเทศที่นำนโยบายประชานิยมมาใช้แล้วประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ได้แก่ ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเริ่มต้นจากประธานาธิบดีอิริโกเยน และต่อเนื่องถึงประธานาธิบดีฮวน เปโรน ซึ่งเป็นการใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นการใช้นโยบายเพื่อผลทางการเมืองเท่านั้น เช่น

               -  การช่วยเหลือทางด้านเงินทุน การลดอัตราดอกเบี้ย และการให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอัตราพิเศษ

               - ตั้งรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นและสนับสนุนให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรและข้าราชการ

               - ตั้งองค์กรเพื่อสวัสดิการทางสังคมขึ้น เพื่อแจกเงินและสิ่งของแก่คนจนในนามของภรรยาประธานาธิบดี

               - จัดตั้งหน่วยประชาสัมพันธ์ขึ้นพิเศษหรือที่เรียกว่าหน่วยโฆษณาชวนเชื่อเพื่อกระจายข่าวความสำเร็จของรัฐบาลและสร้างภาพลักษณ์ให้กับประธานาธิบดี  

 

          ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวดังเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อนำมาใช้ปรากฏว่าเห็นผลทันตา เศรษฐกิจขยายตัวได้ในอัตราต่อเนื่อง จากปัจจัยที่กระตุ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินจำนวนมากของภาครัฐผ่ายทางงบประมาณรายจ่าย การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากการเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร แรงงานและข้าราชการ นำไปสู่การขาดดุลการค้าในระดับที่สูง เนื่องจากผู้ผลิตต้องนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อรองรับการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ และรัฐบาลปิดการขาดดุลนั้นด้วยใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เมื่อตอนประธานาธิบดีฮวน เปโรน เข้ารับตำแหน่งอาร์เจนตินามีเงินสำรองในรูปของเงินตราต่างประเทศสูงถึง ๒.๕ เท่าของการนำเข้าต่อปีในขณะนั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าเป็นเป็นประมาณ ร้อยละ ๗๐ ของเงินสำรองของประเทศละตินอเมริกาทั้งหมด เพียงปีกว่า ๆ รัฐบาลของประธานาธิบดีฮวน เปโรน ก็ใช้เงินสำรองระหว่างประเทศไปจำนวนมากจนหมดสิ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของการนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจประเทศ

            สำหรับประเทศไทยอย่างที่ทราบกันนโยบายประชานิยมที่ทำคลอดในยุครัฐบาลของอดีตนายกทักษิณ (และก็มีต่อเนื่องมาในทุกรัฐบาล) จนได้รับฉายาว่าเป็น “สินค้าทักษิโณมิกส์”  ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ เมนูนโยบายประชานิยม (people-centered policy menu) อันประกอบไปด้วย เงินกู้ยืมของกองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้เกษตรกร ธนาคารประชาชน สินเชื่อเอสเอ็มอี นโยบายกองทุนเอสเอ็มแอล โครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การสงเคราะห์คนยากจนโดยให้ขึ้นทะเบียน เป็นต้น ซึ่งเมนูนโยบายเหล่านี้โดยหลักการแล้วไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายทั้งหมด แต่เมื่อเจือปนกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องของรัฐบาลแล้ว เมนูนโยบายประชานิยมเหล่านี้ไม่ได้มองในมิติของความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ มองเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว

   

           ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) หรือบางคนเรียกว่า พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) นั้นมุ่งเน้นให้ประชาชนส่วนใหญ่ยึดหลักในประเด็นของการอยู่พอดีกินพอดีหรือยึดทางสายกลางและพึ่งพาตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นการพึ่งพาตัวเองแบบสุดโต่งอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ ในการที่จะให้ทุกครัวเรือนผลิตทุกสิ่งทุกอย่างเองทั้งหมด ที่สำคัญเป็นการชี้ให้เห็นถึงการลำดับความสำคัญและความจำเป็นของการดำเนินชีวิตไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของลัทธิการบริโภคนิยม (กิเลส) และที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำเสนอเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่นี้พระองค์ท่านได้นำเสนอมานาน และครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดทอนความเสี่ยงอันเกิดจากความแปรปรวนทางธรรมชาติและความผันผวนทางเศรษฐกิจ และในอีกวาระหนึ่งคือในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ภายหลังจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ (วิกฤติการเงินหรือวิกฤติต้มยำกุ้ง) ที่พระองค์ท่านได้ทรงนำเสนอปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้ง ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนและสังคมเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างไร เศรษฐกิจแบบพอเพียงก็สามารถขับเคลื่อนฝ่าวิกฤติไปได้ เนื่องมาจากว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือพุทธเศรษฐศาสตร์นั้นถือได้ว่าเป็นหลักที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและวิถีของมนุษย์ในการดำเนินชีวิตและสอดประสานกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมอย่างได้ลงตัวในแง่ของความสมดุล

            ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่มีลักษณะอกาลิโก (ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย) คือ สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ เพราะเป็นหลักแห่งความเป็นจริงเสมอ โดยมุ่งเน้นพัฒนาไปสู่ “ความยั่งยืน” ของทุกมิติทางสังคม โดยหลักแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกคนและทุกองค์กร เนื่องจาก “ความพอเพียง” มีคุณลักษณะ ที่สำคัญคือ

            ประการแรก ความพอประมาณ คือ เป็นความพอดีที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรือ ไม่สุดโต่งทั้งสองด้าน และที่สำคัญในความพอดีที่มีอยู่หรือได้มานั้นต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น เป็นความพอดีที่ตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรมและคุณธรรมเป็นสำคัญ

            ประการที่สอง ความสมเหตุสมผล ประกอบไปด้วย

               - ความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ เป็นการจัดลำดับความสำคัญในการตัดสินใจของทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในประเด็นที่มองถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมี ผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

              - ความสมเหตุสมผลในกระบวนการดำเนินการ เป็นการคำนึงถึงความเหมาะสมของวิธีการและขั้นตอนของการดำเนินการต้องโปร่งใส ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเองและที่สำคัญต้องยึดหลัก ธรรมาภิบาล  

              - ความสมเหตุสมผลในด้านผลกระทบหรือต้นทุนทางสังคม เป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักของความสมดุลและดุลยภาพโดยรวมของมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง

           ประการที่สาม ความสมดุลของความสัมพันธ์ในมิติด้านต่าง ๆ คือ เป็นความสมดุลทางหลักความคิด ความสมดุลทางหลักการพูด ความสมดุลทางหลักการปฏิบัติ รวมถึงความสมดุลในมิติอื่น ๆ ซึ่งเมื่อความพอเพียงเป็นการไม่ไปเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น รวมทั้งการไม่ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุดหนุน ส่งเสริม เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการดำเนินความสัมพันธ์ที่แสวงหาประโยชน์ส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อนำไปสู่จุดสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แทนการนำไปสู่จุดวิกฤติ 

           ประการที่สี่ การสร้างภูมิคุ้มกัน คือ ความสามารถในการรองรับหรือรับมือกับสภาวการณ์ ความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ความพอเพียง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จึงได้รับผลกระทบไม่มาก และสามารถกลับสู่จุดสมดุลได้อย่างรวดเร็ว

              เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความพอประมาณทำอะไรไม่เกินตัว กินพอดี อยู่พอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นรวมทั้งไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ใช้หลักความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ วิธีการ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ จากการดำเนินเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

 

           เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ จะมองเพียงมิติที่สามารถนำไปใช้ได้กับเศรษฐกิจฐานล่าง คือ การเกษตร เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทฤษฎีใหม่หรือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นสามารถนำไปใช้ได้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทั้งองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน หรือไม่ว่าจะเป็นทั้งในทางเศรษฐกิจจุลภาคหรือเศรษฐกิจมหภาค ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่มุ่งเน้นสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติที่อาศัยเครื่องมือทางด้าน “คุณธรรมและจริยธรรม” เป็นตัวเชื่อมทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในปัจจุบัน ซึ่งองค์ประกอบของความพอเพียงทั้ง ๔ ประการ คือ ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และภูมิคุ้มกัน นั้น เป็นหลักสำคัญที่ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีคุณธรรมนำไปสู่ความศานติสุขของสังคม

          จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เปรียบเสมือนรากฐานอันแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสังคมไทยเพราะประกอบไปด้วย หลักของความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเสมือนเสาหลักที่คอยค้ำจุนและรองรับภาวะความผันผวนของกระแสเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกทักษิณนอกจากจะไม่สานต่อและส่งเสริมการบริหารจัดการเศรษฐกิจโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรมแล้ว กลับขับเคลื่อนเมนูนโยบายประชานิยมที่เจือปนไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังเพียงเพื่ออำนาจเอื้อผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่อ้างคุณภาพเกรดเอ ผนึกกำลังกับการทำการตลาดที่ยอดเยี่ยม ภายใต้แนวความคิดที่ว่า “ สินค้าดี & การตลาดดี” มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อเวลาผ่านไปจากสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) ที่อ้างว่ามีคุณภาพดี กลับกลายไปเป็นสินค้าที่ด้อยคุณภาพ และเป็นสินค้าที่ใช้ต้นทุนของสังคมที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากเป็นการใช้เม็ดเงินผ่านงบประมาณแผ่นดินและก่อภาระหนี้ผูกพันในอนาคตมากมาย เพื่อไปหล่อเลี้ยงโครงการในเมนูนโยบายประชานิยมดังกล่าว และท้ายที่สุดสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) ที่สร้างความเข้าใจผิดแบบจงใจให้กับประชาชนรากหญ้าว่า เป็นทรัพย์สินที่รัฐบาลประเคนให้ แต่ที่จริงสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นภาระหนี้สินที่ประชาชนต้องจ่ายคืนทั้งนั้น และถึงแม้ไม่จ่ายคืน หนี้เหล่านั้นก็จะกลับกลายเป็นการผลักภาระต้นทุนในการดำเนินชีวิตให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคตในทางอ้อมผ่านการใช้หนี้ทางงบประมาณแผ่นดิน แทนที่จะนำภาระการชำระหนี้ดังกล่าวมาเป็นงบลงทุนเพื่อพัฒนาคนและประเทศชาติ นับว่าเป็นต้นทุนของคนในอนาคตที่ต้องจ่ายแพงจริง ๆ

               การบริหารจัดการประเทศภายใต้การขับเคลื่อนของเมนูนโยบายประชานิยมที่ปนเปื้อนด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ยังได้สร้างตราบาปและทำลายหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามวิถีของการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม กล่าวคือ

               ประการที่หนึ่ง เมนูนโยบายประชานิยมกำจัดความพอประมาณของคนในสังคมออกไปจากสาระบบ เนื่องจากเมนูนโยบายประชานิยม ได้สร้างวัฒนธรรมในการใช้จ่ายที่เกินตัว ผ่านทางตัวเชื่อมที่ง่ายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (ก่อหนี้) ซึ่งถ้ามองผิวเผินแล้วก็เป็นการดีเนื่องจากเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนในสังคม แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ เนื่องจากเมนูนโยบายประชานิยมดังกล่าวได้ถูกเจือปนไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังอำนาจผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ทำให้เมนูนโยบายขาดความรอบคอบ และไม่สร้างหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดและมีวินัยเพียงพอในการส่งผ่านเม็ดเงินในโครงการต่าง ๆ (เนื่องจากกลัวว่าจะเสียคะแนนนิยม)  ให้กับประชาชนรากหญ้า จึงเท่ากับไปสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายของภาคประชาชนอย่างเกินตัว เนื่องจากประชาชนรากหญ้าโดยส่วนใหญ่ถูกครอบงำทางความคิดแบบจงใจของนักการเมือง ว่าเป็นเงินที่ได้เปล่า เมื่อใช้หมดเดี๋ยวรัฐบาลก็นำมาแจกอีก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสร้างค่านิยมและบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดให้กับประชาชน

              ประการที่สอง เมนูนโยบายประชานิยมหย่อนยานวินัยในด้านของการวิเคราะห์ตรรกะของความสมเหตุสมผล การที่เมนูนโยบายประชานิยม ถูกปนเปื้อนด้วยสารที่มีอุดมการณ์ที่มุ่งหวังผลทางการเมืองเป็นเป้าหมายหลัก ทำให้ละเลยความรัดกุมและความรอบคอบในการผลิตสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) ออกสู่สาธารณชน ไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญของการผลิตสินค้า และไม่ใส่ใจในกระบวนการของการผลิต ตลอดจนไม่สังเคราะห์ถึงผลกระทบและผลข้างเคียงที่จะตามมาหลังจากสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) ถูกส่งถือมือผู้บริโภค (ประชาชนในสังคม) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักขององค์ประกอบที่สำคัญในการวิเคราะห์ถึงความสมเหตุสมผลทางเมนูนโยบายเศรษฐกิจที่ภาครัฐพึงมีต่อภาคประชาชนในสังคม

              ประการที่สาม เมนูนโยบายประชานิยมทำให้ความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมโคจรออกห่างจากจุดดุลยภาพของความสัมพันธ์ดังกล่าวออกไปเรื่อย ๆ  ความสัมพันธ์ดังกล่าวในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่มุ่งเน้นสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติที่อาศัยเครื่องมือทางด้าน “คุณธรรมและจริยธรรม” เป็นตัวเชื่อมทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดความเกื้อกูลช่วยเหลือพึ่งพากันและกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์และความศานติสุขของสังคมโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ในขณะที่เมนูนโยบายประชานิยมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนที่อาศัย “ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง” เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนในสังคมต่างฉกฉวยโอกาสและความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบจากผลผลิตของเมนูนโยบายประชานิยม รวมทั้งช่วยต่อยอดและเสริมสร้างพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวและเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมเพิ่มมากขึ้น เป็นผลทำให้ดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โคจรออกจากจุดสมดุลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

             ประการที่สี่  เมนูนโยบายประชานิยมทำลายกำแพงของภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของภาคประชาชน วิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักที่มีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล และการบริหารจัดการความสมดุล ได้อย่างลงตัว ทำให้มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง(เปรียบเสมือน การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายตัวเอง ที่ต้องมีการออกกำลังกาย การพักผ่อน และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์) แต่องค์ประกอบเหล่านี้ต้องมีปริมาณที่พอเพียง สมเหตุสมผล และสมดุล จึงจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งถ้าหากองค์ประกอบเหล่านี้ (การออกกำลังกาย การพักผ่อน และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์) มีมากไปหรือน้อยไป ก็ส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย เฉกเช่นเมนูนโยบายประชานิยมที่มุ่งเน้นทำให้ประชาชนใช้จ่ายเกินตัว ใช้จ่ายอย่างไม่สมเหตุสมผล และมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจนละเลยความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันเอง จนทำให้ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงจากการถูกแทรกแซงและครอบงำโดยเมนูนโยบายประชานิยมที่เจือปนไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังอำนาจเพื่อนำไปสู่การจัดสรรผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องเพื่อต่อยอดอำนาจของตนเองให้นานที่สุด

 

********************************************************************************************************************

       

       เศรษกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) พระองค์ทรงย้ำว่า Sufficiency Economy ไม่ใช่  Self - Sufficiency Economy ซึ่งเป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเอง ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ ตอนหนึ่งว่า...

 

“…เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Sufficiency Economy โดยเขียนเป็นตัวหนาในหนังสือ เสร็จแล้ว เขาก็มาบอกว่า คำว่า Sufficiency Economy ไม่มีในตำรา เศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่ เป็นตำราใหม่ ถ้ามีอยู่ในตำราก็หมายความว่าเราก๊อปปี้มา เราลอกเขามา เราไม่ได้ลอก ไม่อยู่ในตำราเศรษฐกิจ เป็นเกียรติที่เขาพูดอย่างที่เขาพูดอย่างนี้ว่า Sufficiency Economy นั้นไม่มีในตำรา การที่พูดว่าไม่มีในตำรานี่ ที่ว่าเป็นเกียรตินั้นก็หมายความว่า เรามีความคิดใหม่ โดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่า เราก็สามารถที่จะคิดอะไรได้ จะถูก จะผิดก็ช่างแต่ว่าเขาสนใจ แล้วก็ถ้าเขาสนใจ เขาก็สามารถที่จะไปปรับปรุงหรือไปใช้หลักการ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศ และของโลกพัฒนาดีขึ้น...” 

 

    ที่พระอค์ทรงย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือ Sufficiency Economy เพราะมีชาวต่างชาติหรือแม้กระทั่งคนไทยบางกลุ่มนำไปสื่อสารผิดเป็น Self - Sufficiency Economy ซึ่งจะกลายเป็นว่า เศรษฐกิจที่สุดโต่งไปในทางพึ่งตนเองหรือปฏิเสธเทคโนโลยี...แท้ที่จริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะอยู่กึ่งกลางระหว่างเศรษฐกิจพึ่งตนเองและทุนนิยมหรือที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” นั่นเอง

    ทฤษฎีใหม่ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) มีความหมายและนัยที่กว้างกว่า Self - sufficiency Economy (เศรษฐกิจพึ่งตัวเอง) ในมิติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระบวนการในระบบเศรษฐกิจ เปรียบเสมือน Self - sufficiency Economy (เศรษฐกิจพึ่งตัวเอง) เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ ทฤษฎีใหม่ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่ช่วยเติมเต็มให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความสมดุลระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และมนุษย์กับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเสมือน ศูนย์กลาง ของความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจทุนนิยม (capitalism)  กับ เศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเอง (Self - sufficiency Economy) โดยทำงานผ่านกลไกของ ความพอประมาณ   ความสมเหตุสมผล   ความสมดุล  และ  ภูมิคุ้มกัน  ที่ขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีมนุษย์และธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาร่วมกัน

 

       http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php/th/interesting-article/tips/44-2010-10-08-04-48-06

 

        ๒. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบไปด้วย ๓ คุณลักษณะ  ๒ เงื่อนไข คือ

            คุณลักษณะ ประกอบด้วย   ๑. ความพอประมาณ   ๒. ความมีเหตุผล และ ๓. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว               

             เงื่อนไข ประกอบด้วย ๑. เงื่อนไขความรู้ และ ๒. เงื่อนไขความมีคุณธรรม

           โดย ๓ คุณลักษณะ และ ๒ เงื่อนไข นั้นนำไปสู่ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

     การที่ผู้เขียนนำ “ความสมดุล” ไปอธิบายไว้ใน “ความพอเพียง” ด้วยนั้นเพื่อต้องการอธิบายในภาพรวมทั้งหมดซึ่งความสมดุลเป็นสิ่งสำคัญที่คอยประสาน กำกับ ในคุณลักษณะและเงื่อนไขดังกล่าวให้ขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติของสังคม   

 

หมายเลขบันทึก: 502247เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2012 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เมนูนโยบายที่... "ทำลาย" ...หลักปรัชญา... เศรษฐกิจพอเพียง .... ชอบประโยคนี้ม๊าก มากค่ะ 

 

ขอบคุณมากค่ะ

 

 

เรื่องนี้ สามารถมองได้หลายมิตินะครับ

คนที่ต้องการก็บอกว่าดีและพอใจ คนที่ไม่ต้องการก็บอกว่าสิ้นเปลื้อง ไม่มีประโยชน์

(ผมคิดว่าคล้าย ๆ กับคนที่เลี้ยงหมาและเเมวนะครับ)

ก็จะหาข้ออ้างหรือสิ่งที่ตนเองพูดแล้ว ตัวเองรู้สึกดีและถูกเสมอมาพูดในการที่จะทำอะไรต่าง ๆ

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมเห็นทุกรัฐบาล ทุกองค์กรก็นำชื่อมาใช้ในการประกาศชื่อโครงการ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่มีคนรู้เรื่องนี้จริง ๆ สักคน หรือปฏิบัติได้อย่างจริงจังสักองค์กร

เป็นเพียงการนำหลักคิดและหลักการมากล่าวไว้ว่า เป็นอย่างนี้ หรือ แบบนี้ แต่ถ้าถามท่านเองว่าท่านทำหรือยัง ท่านก็ต้องว่าทำแล้ว (ทำให้ตัวเองดูดี) ทำอะไร ก็บอกว่าใช้จ่ายอย่างพอเพียงไง สิ่งไหนไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อ ซึ่งเป็นการถูกน้อยมาก แต่เราก็มักจะนำมาพูดให้ตัวเองดูดีเสมอ หรือว่าอาจเป็นเรื่องอื่น ๆ

หัวข้อบทความแบบนี้ผมว่าเป็นการเมืองมากไปนะครับ

น่าจะนำเสนอ ว่า ประชานิยมที่ดีหรือไม่ดี มีอะไร 1 2 3 4 อย่างเป็นระบบ

ส่วนหลักเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นอย่างไร 1 2 3 4 และถ้าจะทำให้คนไทยรู้จักหลักการนี้และทำให้มากขึ้น 1 2 3 4

น่าจะเป็นมิติที่สวยกงามกว่านะครับ เพราะว่าหลักการต้องตรงกัน ส่วนหลักคิดอาจไม่ตรงกันได้ ในมุมของแต่ละท่านนะครับ

ขอบพระคุณ อาจารย์ P'Ple มากครับที่แวะมาให้กำลังใจอยู่เสมอ...และนำภาพมาฝาก...เป็นภาพที่ผมดูแล้วมีความสุขมากครับ...

         ขอบคุณมากครับ คุณลูกสายลม สำหรับมิติความคิดและมุมมองที่เฉียบแหลม (ชื่นชมด้วยความจริงใจ) เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทุกรัฐบาลหรือทุกองค์กรนำชื่อไปแปะไว้เสมือนหนึ่งเป็นตราประทับรับรอง (ให้ดูดี) แต่การปฏิบัติหรือการขับเคลื่อนแทบจะไม่มีเลยครับหรือมีก็อย่างที่คุณลูกสายลมวิเคราะห์นั่นหละครับ หลักการที่ตรงกัน?...แต่ส่วนใหญ่จะมองที่หลักความต้องการมากกว่า…

             ตามทัศนะที่ผมมองนะครับการขับเคลื่อนจากบนลงล่างเป็นไปได้ยากหรือแทบจะไม่ได้เลย เกี่ยวเนื่องจาก... “กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย” ซึ่งท่าน ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (ขออนุญาตอ้างอิงหนังสือท่านนะครับ) ท่านได้ทำงานวิจัยโดยมีข้อสรุปสาระสำคัญไว้ว่ากระบวนการกำหนดเมนูนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง อุปสงค์ (Demand) กับอุปทาน (Supply) ของนโยบาย ซึ่งบริบทของหนังสือดังกล่าวมีข้อสมมติว่า การก่อเกิดของเมนูนโยบายเศรษฐกิจนโยบายหนึ่งนโยบายใดเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มปัจจัยเหตุที่สำคัญ ๔ กลุ่ม ด้วยกันคือ

 

       ๑. ระบบทุนนิยมโลก (World Capitalism) เหตุปัจจัยในกลุ่มนี้ประกอบด้วย ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (international economic order) ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ บทบาทขององค์การระหว่างประเทศ และบทบาทของบรรษัทนานาชาติ

       ๒. โครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ (Super – Structure) เหตุปัจจัยที่สำคัญในกลุ่มนี้ประกอบด้วย ระบอบการเมืองการปกครอง จารีตธรรมเนียมและวัฒนธรรมทางการเมือง ระบบความสัมพันธ์ในสังคม เป็นต้น

       ๓. อุปทานของนโยบาย ตัวละคร (actors) ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนออุปทานของเมนูนโยบายเศรษฐกิจประกอบด้วย กลุ่มบุคคลและสถาบันอย่างน้อย ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มขุนนางนักวิชาการ (technocrats) กลุ่มผู้ทรงอำนาจหรือชนชั้นนำทางอำนาจ (power elites) พรรคการเมืองและรัฐสภา  

        ๔. อุปสงค์ของนโยบาย ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องและผลักดันเมนูนโยบายประกอบด้วยกลุ่มบุคคล ๔ กลุ่ม คือ ประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สื่อมวลชน และนักเศรษฐศาสตร์

          นี่คือสมมติฐานบางส่วนที่เป็นตัวแปรนำมาวิเคราะห์...เฉพาะตัวแปรแรกก็หนักหนาแล้วครับ...ระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบันถูกลากจูงด้วยหัวจักรบริโภคนิยม...หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งประกาศนโยบายที่ไปขัดกับ (ประโยชน์) ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ก็...เฮ้อ พูดง่าย ๆ ก็คือถึงแม้ว่าประเทศเราจะมีอธิปไตยในการกำหนดเมนูนโยบายเศรษฐกิจ...แต่มือที่มองไม่เห็นคอยจ้องดูอยู่ครับ...

 

              คุณลูกสายลมครับผมเคยคิดเล่น ๆ นะครับว่า เรามีหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถูกบรรจุเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ที่ผมเฝ้ารอคอยมาและมีคำถามตลอดเวลาว่าประเด็นของ ความชัดเจนและแนวทางปฏิบัติ จะเป็นอย่างไร? จากมาตรา ๘๓ “รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งผมมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบทำความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ คือ

                ๑. รัฐต้องส่งเสริม คือจะส่งเสริมอย่างไร?

                ๒. รัฐต้องสนับสนุน คือจะสนับสนุนอย่างไร?

                ๓. ที่สำคัญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามนัยของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กับภาคเอกชน มีองค์ความรู้และเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่?

                ๔. ถ้าหากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งหน่วยงานของภาครัฐรวมทั้งภาคประชาชนมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกันในบริบทของสาระสำคัญ แล้วการปฏิบัติที่จะนำไป ส่งเสริม และสนับสนุน จะเป็นไปในทิศทางใด?

                 ๕.ถ้าหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม และที่สำคัญหากภาครัฐกลับมีเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการไปทำลายล้างแนวทางแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนจะทำอย่างไร?

 

                 นี่เป็นเพียงความกังวลบางส่วนที่ผมลองตั้งคำถามกับตัวเองเล่น ๆ นะครับ ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควรรีบทำความเข้าใจ รวมทั้งกำหนดกรอบให้ชัดเจนในการบริหารจัดการประเทศ ตามวิถีของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างองค์ความรู้ ที่ถูกต้องในทิศทางเดียวกัน ให้กับสังคมอย่างเป็นจริงเป็นจังซักที เพราะไม่อย่างนั้นก็เท่ากับเป็นการงดใช้และทำลายมาตรา ๘๓ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือเปล่า...? อืม...วกไปเรื่องการเมืองอีกแล้ว... :)

 

    แต่ถึงยังไงในใจลึก ๆ ผมเชื่อว่าพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรมเริ่มจากตัวเราเองก่อนครับแล้วค่อย ๆ ขยายไปเรื่อย ๆ จากล่างขึ้นบน...ซึ่งเรื่องที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันดังกล่าวผมเขียนไว้ใน

 

               http://www.gotoknow.org/blogs/posts/501506

 

              http://www.gotoknow.org/blogs/posts/501747

 

              http://www.gotoknow.org/blogs/posts/501861

 

              http://www.gotoknow.org/blogs/posts/499828

 

             http://www.gotoknow.org/blogs/posts/497336

 

         ถ้ายังไงหาก คุณลูกสายลม มีความคิดเห็นหรือข้อเสนอ...แนะนำได้เลยนะครับและยินดีมากครับ... :) 

 

ขอบพระคุณมากครับท่านอาจารย์ขจิต

      ลิงค์ ที่ให้มามีประโยชน์กับผมมากครับ...ขอบพระคุณอีกครั้งครับ... :)

บทบันทึกสท้อนถึงความคิดของคนเขียนเป็นคนคิดดี

แต่ในปัจจุบันคนที่คิดได้แบบคุณมีไม่มาก

ดีมากครับบันทึกนี้

ขอบพระคุณท่าน อาจารย์ prathan มากครับ ที่แวะมาให้กำลังใจเสมอมา...และขอบพระคุณสำหรับภาพงดงามที่นำมาฝากครับ

 

ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจที่ส่งผ่านมาให้ทางดอกไม้ของทุก ๆ ท่าน ครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

อ่านบทความนี้แล้วคิดถามตัวเองว่าจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลางเช่นใดดี (แน่นอนว่าก่อนหน้านี้เอียงไปข้างอาจารย์แล้ว)

ก็บังเอิญนึกถึงคำพูดของท่านเจ้าคุณที่เคยอ่าน

"มนุษย์มีความแตกต่างกันในหลายระดับ

เราต้องเห็นไปตามความเป็นจริงว่าคนต่างกันหลากหลาย มีการพัฒนาหลายระดับ เราควรพัฒนาระบบสังคม เริ่มต้นด้วยระบบเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมับคนหลากหลายระดับในแต่ละระดับ

แม้แต่ในเรื่องความสุข คนทุกคนแตกต่างกัน คนหลายคนหรือคนจำนวนมากเป็นพวกที่มีความสุขจากการพึ่งพา คือต้องอาศัยสิ่งภายนอก แต่พวกเขาไม่ควรหยุดแค่นั้น เขาควรพัฒนาตัวเองให้มีความสุขที่ประณีตละเอียดอ่อนมากขึ้น"

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) จากหนังสือ พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ บทสนทนาระหว่าง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับนายลอเรนส์ แวน เดน มิวเซนเบิร์ก

หากมองในแง่นี้ โครงการต่างๆ ก็เป็นประโยชน์สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ผู้บริหารต้องไม่หยุดแค่นั้น โครงการต่างๆ ต้องมีที่มาที่ไปของงบประมาณที่ชัดเจนและไม่ใช่การให้เปล่า เพราะนั่นคือการเบียดเบียนชาติและตัวเอง และจากนั้นเมื่อความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น งานต่อยอดคือการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต เข้าสู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่วางฐานไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังไม่สายค่ะ

ขอบคุณบทความคุณภาพจากท่านอาจารย์อีกครั้ง อีกครั้ง อีกครั้ง ;)

สุข สงบในบ่ายวันนี้ค่ะ

         ขอบคุณสำหรับความเห็นที่เป็นประโยชน์จาก คุณปริม มากครับ

         หากมองในแง่นี้ โครงการต่างๆ ก็เป็นประโยชน์สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ผู้บริหารต้องไม่หยุดแค่นั้น โครงการต่างๆ ต้องมีที่มาที่ไปของงบประมาณที่ชัดเจนและไม่ใช่การให้เปล่า เพราะนั่นคือการเบียดเบียนชาติและตัวเอง และจากนั้นเมื่อความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น งานต่อยอดคือการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต เข้าสู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่วางฐานไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังไม่สายค่ะ  

        เห็นด้วยครับ...สิ่งสำคัญคือการวางรากฐานในการพัฒนาคนเพื่อให้เกิดปัญญา...คุณปริมวางโจทย์ใหญ่ให้กับทุกรัฐบาลคิดเลยนะครับ... :)

       แต่สำหรับคุณปริม...สบายแล้วเพราะกำลังเดินอยู่บนเส้นทางแห่งปัญญา... :)        

ชอบมากครับ คงต้องเปรียบให้ชัดระหว่าง ประชานิยมกับเศรษฐกิจพอเพียง ผมก็ทำสารนิพนธ์เปรียบเทียบประชานิยมกับธนานุปทานครับ

     ขอบคุณมากครับ อาจารย์ณัฏฐวัฒน์ ที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดที่ดี ๆ...

             ผมก็ทำสารนิพนธ์เปรียบเทียบประชานิยมกับธนานุปทานครับ

     หัวข้อนี้น่าสนใจมากครับ...

  ๕.ถ้าหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม และที่สำคัญหากภาครัฐกลับมีเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการไปทำลายล้างแนวทางแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนจะทำอย่างไร?

 

 แต่ถึงยังไงในใจลึก ๆ ผมเชื่อว่าพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรมเริ่มจากตัวเราเองก่อนครับแล้วค่อย ๆ ขยายไปเรื่อย ๆ จากล่างขึ้นบน...

....

ใช้เวลาอ่านบันทึกนี้หลายครั้งแล้วค่ะ ไม่คุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์การเมือง จึงต้องคิดนาน ๆ หน่อย :-)

ข้อความที่ยกลงมาเพราะอยากแลกเปลี่ยนว่า รัฐบาลควรเป็นคนเริ่มต้นอย่างจริงจังก่อน ขณะเดียวกันเราทุกคนและเด็กซึ่งจะเป็นคนรุ่นใหม่ต่อไปก็ควรได้รับการเรียนรู้ ส่งเสริม ควรทำจริงจังเป็นนโยบายของประเทศชาติ

 

ซึ่งทุกอย่างก็ขึ้นกับการเมือง

โดยเฉพาะระบบการศึกษา 

ขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องการคมนาคมสื่อสาร ถ้ารัฐบาลทำเรื่องนี้ให้เป็นแบบพอเพียง 

หนึ่ง จัดการระบบขนส่งมวลชนให้ดีเป็นมาตรฐาน

ผล ลดการนำเข้ารถยนต์ ลดการบริโภคน้ำมัน ลดการเสียดุลการค้า ลดภาวะมลพิษทางอากาศ ลดภาวะคนไข้จากมลภาวะมลพิษฯ ประชาชนเดินมากขึ้น ประชาชนมีเงินออมเหลือเก็บ ประชาชนแข็งแรง...

 

พี่ขอลองคิดแค่เรื่องเดียวก่อน

ไทยทำได้มั้ย นายกฯหรือนักการเมือง รวมไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ทำเป็นตัวอย่างก่อน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว..

 

คิดหนักเลยนะคะ เพราะ ไทยไม่มีการเตรียมการเลยแม้สักข้อเดียว

อืม ลองเอาชีวิตประจำวันของคนที่นี่เป็นตัวอย่างน่ะค่ะ นายกรัฐมนตรีเอย โปรเฟสเซอร์เอย นักเรียน คนทั่วไป เดิน เดินและใช้รถไฟฟ้ากันเป็นเรื่องธรรมดา..ถนนเขาจึงโล่ง การใช้เงินออกนอกประเทศคงน้อยกว่าบ้านเรามาก

วันนี้ขอคิดแค่นี้ก่อน มาคุยอีกค่ะ

ลืมคุยฝากไว้อีกข้อ 

ควรเป็นการเริ่มต้นแบบสองทาง โดยภาคมหภาพ รัฐบาลคงเป็นคนเริ่ม แล้วตามด้วยประชาชน ระหว่างนั้นก็ต้องเป็น dynamic คือ จากบนลงล่าง ล่างขึ้นบน ไประนาบด้านข้าง ไปทุกทิศทุกทาง และตลอดเวลา

อธิบายไม่ค่อยถูกค่ะ 

 

เรื่องที่สองที่ฝาก(อีกแล้ว) คือเรื่อง โทรศัพท์มือถือ..

ขอบพระคุณ อาจารย์พี่ภูสุภา (ขออนุญาตเรียกพี่นะครับ) มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและได้ให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ไว้ครับ...

          เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งครับ...ต้องทำทั้งสองทาง...และกระจายไปตามหน่วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ...

         โดยหลักการที่เริ่มต้นจากตัวเอง...ที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ก็คือ...เมื่อใดที่รู้สึกมีความ พอเพียง ด้านจิตวิสัย (จิตใจ) เมื่อนั้นกระบวนการส่งผ่านไปสู่วัตถุวิสัย (ภายนอก) ก็จะเกิดความ เพียงพอ โดยอัตโนมัติ...

        (เพราะ)...พอเพียง จึง (มี)...เพียงพอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท