ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 4. วิธีดำเนินการกลับทางห้องเรียน


ครูต้องไม่หลงเข้าใจผิดว่า ส่วนสำคัญที่สุดในการเรียนแบบกลับทางห้องเรียนอยู่ที่วิดีทัศน์ ตรงกันข้าม เวลาสำคัญที่สุดของการเรียนแบบนี้อยู่ที่เวลาเรียนในห้องเรียน ครูจะต้องประเมินคุณค่าของเวลาช่วงนี้ และออกแบบแล้วปรับปรุงเล่า เพื่อให้เป็นเวลาที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้สูงสุดของเด็ก คือเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง มากกว่าการเรียนแบบเดิม

ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง  : 4. วิธีดำเนินการกลับทางห้องเรียน

หนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day บทที่ ๔ บอกวิธีดำเนินการกลับทางห้องเรียน

เริ่มจากคำแนะนำว่า ก่อนจะคิดใช้วิดีทัศน์ ในการเรียนที่บ้านของนักเรียน ให้ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนว่าจะเป็นประโยชน์   อย่ากระโจนเข้าใส่เทคโนโลยีโดยไม่คิดให้รอบคอบ   จะกลายเป็นใช้เทคโนโลยีเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเก่งเทคโนโลยี

และเมื่อตัดสินใจใช้วิดีทัศน์ ก็ต้องคิดต่อ ว่าจะใช้ของคนอื่นที่มีอยู่แล้ว  นำมาใช้ได้   หรือคิดจะทำขึ้นใช้เอง   ทั้ง ๒ แนวทางต่างก็มีข้อดีข้อเสีย   และแม้จะทำขึ้นใช้เอง ก็ควรส่งเสริมให้นักเรียนค้นทาง อินเทอร์เน็ต หาบทเรียนของครูคนอื่นมาศึกษาประกอบได้ด้วย   คือไม่ควรห้ามนักเรียนดูวิดีทัศน์จากแหล่งอื่น

การทำวิดีทัศน์บทเรียนไม่ยากและไม่แพง   โดยที่ในหนังสือมีรายละเอียดทางเทคนิคมาก   ผมจะสรุปมาเพียงย่อๆ   ว่ามี ชอฟท์แวร์ สำเร็จรูป ทั้งที่เป็นฟรีแวร์ และที่มีขาย   สำหรับทำวิดีทัศน์จากจอคอมพิวเตอร์ เรียก ซอฟท์แวร์ กลุ่มนี้ว่า screencasting software   โดยที่คอมพิวเตอร์ต้องมีกล้องวิดีโอ (เว็บแคม) และไมโครโฟน   เครื่องมือจำเป็นอีกตัวหนึ่งคือ USB pen tablet สำหรับเขียนที่จอคอมพิวเตอร์   ซึ่งใช้ชนิดราคาถูกก็ได้ ราคาประมาณ ๒ พันบาท   อาจซื้อไมโครโฟนชนิดมีสานหรือไร้สายมาใช้ก็ได้ มีทั้งชนิดราคาไม่สูง และที่คุณภาพเสียงดีราคาสูง   เลือกใช้ได้ตวามความเหมาะสม

การทำวิดีทัศน์ต้องมีการวางแผนบทเรียน  แล้วจึงถ่ายทำ  ตามด้วยการตกแต่งแก้ไข   แล้วจึงนำวิดีทัศน์ออกเผยแพร่ให้นักเรียนเข้าดูได้   โดยอาจเอาขึ้นเว็บ  YouTube  หรืออาจต้อง burn DVD แจกนักเรียนที่ที่บ้านเข้าเน็ตไม่ได้   ในหนังสือบอกรายละเอียดมากมาย ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ วิดีทัศน์ต้องไม่ยาว   คือควรยาวเพียง ๑๐ - ๑๕ นาทีเท่านั้น สำหรับเด็กชั้นประถมและมัธยมต้น

ผู้เขียนทั้งสองเตือนว่า ครูต้องไม่หลงเข้าใจผิดว่า ส่วนสำคัญที่สุดในการเรียนแบบกลับทางห้องเรียนอยู่ที่วิดีทัศน์   ตรงกันข้าม   เวลาสำคัญที่สุดของการเรียนแบบนี้อยู่ที่เวลาเรียนในห้องเรียน   ครูจะต้องประเมินคุณค่าของเวลาช่วงนี้ และออกแบบแล้วปรับปรุงเล่า เพื่อให้เป็นเวลาที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้สูงสุดของเด็ก   คือเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง มากกว่าการเรียนแบบเดิม

เขายกเรื่องเล่าของครูที่เอาวิธีนี้ไปใช้สอนภาษาต่างประเทศ (ภาษาสเปน)  โดยทำวิดีทัศน์สอนไวยากรณ์ และเริ่มต้นการสนทนา    แล้วใช้เวลาในห้องเรียนในการสนทนา  อ่านข้อเขียน หรือเขียนเรียงความ   โดยที่ตลอดเวลาในห้องเรียน ใช้ภาษาสเปนทั้งหมด 

ชั้นเรียนคณิตศาสตร์  เรียนทฤษฎีจากวิดีทัศน์ที่บ้าน   แล้วใ้เวลาในชั้นเรียน “ทำ lab” ด้านวิธีคิดเชิงคำนวณ   การตั้งคำถามเชิงคำนวณ   และความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์ กับ STE คือ วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  และวิศวกรรมศาสตร์   ซึ่งถือเป็นกลุ่มวิชาเดียวกันใน STEM (science, technology, engineering, mathematics)

ห้องเรียนวิทยาศาสตร์แบบกลับทาง ช่วยส่งเสริมการเรียนแบบ inquiry-based หรือเรียนแบบตั้งข้อสงสัย หรือตั้งคำถาม   รวมทั้งการใช้เวลาในห้องเรียนกับภาคปฏิบัติหรือการทดลอง   ในวิชาเคมี เขาแนะนำ POGIL (Process Oriented Guided Inquiry Learning)    ผู้เขียนบอกว่า หากใช้วิธีของ POGIL นักเรียนอาจไม่ต้องดูวิดีโอของครูก็ได้

ห้องเรียนวิชาด้านสังคมศาสตร์  ภาษา  ศิลปะ  และมนุษยศาสตร์   การเรียนสาระหรือเนื้อหาวิชาจากวิดีทัศน์ที่บ้าน   เปิดโอกาสให้ได้ใช้เวลาในห้องเรียนเชื่อมโรงทฤษฎีหรือความรู้เหล่านั้นเข้ากับสถานการณ์จริงของโลก หรือสถานการณ์ในบ้านเมือง หรือในชุมชนใกล้ตัว   นักเรียนอาจได้ฝึกโต้วาที   กล่าวสุนทรพจน์  หรือเขียนเรียงความ

วิชาพละศึกษา   เป็นวิชาที่ใช้วิธีกลับทางห้องเรียนแล้วครูและนักเรียนชอบมากที่สุด   เพราะมีเวลาให้นักเรียนฝึกปฏิบัติมากขึ้น   และครูก็ช่วยโค้ชให้นักเรียนปฏิบัติได้ถูกวิธียิ่งขึ้น 

การกลับทางห้องเรียน ช่วยให้การเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning) ทำได้สะดวกขึ้น   เพราะสามารถใช้เวลาในชั้นเรียนทำโครงงาน และครูมีเวลาช่วยแนะนำ หรือทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ได้มากขึ้น

ความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของการกลับทางห้องเรียนคือ ให้นักเรียนนั่นเองเป็นผู้สร้างเนื้อหาสำหรับทำวิดีทัศน์   หรือสำหรับเอาไปลงในช่องทางการสื่อเนื้อหาต่างๆ เช่น ใน บล็อก  podcast   กระบวนการเช่นนี้เรียกว่า Student-Created Content   เท่ากับเป็นช่องทางให้นักเรียนสอนผู้อื่น   ซึ่งถือเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่ดีที่สุดตามที่ระบุใน learning pyramid

วิจารณ์ พานิช

๒ ก.ย. ๕๕

                

หมายเลขบันทึก: 501659เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2012 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2020 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

-  STE คือ วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  และวิศวกรรมศาสตร์   ซึ่งถือเป็นกลุ่มวิชาเดียวกันใน STEM (science, technology, engineering, mathematics)


-  Process Oriented Guided Inquiry Learning;    ผู้เขียนบอกว่า หากใช้วิธีของ POGIL นักเรียนอาจไม่ต้องดูวิดีโอของครูก็ได้


PBL (Project-Based Learning) ทำได้สะดวกขึ้น   เพราะสามารถใช้เวลาในชั้นเรียนทำโครงงาน และครูมีเวลาช่วยแนะนำ หรือทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ได้มากขึ้น


แต่ละวิธี...ก็แตกต่างกันนะคะ ท่าน อจ.ค่ะ

การนำไปใช้หรือการปฏิบัติจริงน่าจะไปแบบควบคู่กันไปตามสภาพเหตุการณ์ปัจจุบัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท