ตอนที่ ๑๕


ลูกชาย : แนวคิดหลักของลัทธิพาณิชย์นิยมเป็นอย่างไรบ้างครับ

พ่อดี : เนื่องจากแนวคิดของลัทธินี้มีเป้าหมายมุ่งที่จะแสวงหาความมั่งคั่งและสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน จึงใช้อำนาจรัฐเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งมีแนวความคิดที่เป็นสาระสำคัญคือ ประการแรก โลหะมีค่าเป็นทรัพย์สินที่จะก่อให้เกิดความเจริญมั่งคั่งแก่หมู่บ้าน ดังนั้น จึงเป็นทรัพย์สินที่พึงปรารถนาที่สุดของหมู่บ้าน  ประการที่สอง ถ้าหากในหมู่บ้านไม่มีทรัพยากรของโลหะมีค่าเหล่านั้นอยู่เอง วิธีสำคัญที่จะให้ได้มาซึ่งโลหะมีค่าก็โดยการค้า  ประการที่สาม ในการที่หมู่บ้านจะสะสมโลหะมีค่านี้ ดุลการค้าของหมู่บ้านจะต้องอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ คือ สินค้าออกจะต้องมากกว่าสินค้าเข้า  ประการที่สี่  หมู่บ้านอาณานิคมมีประโยชน์ทั้งในแง่ที่เป็นตลาดให้แก่สินค้าออกของหมู่บ้านที่ปกครอง และเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ รวมทั้งโลหะมีค่าให้แก่หมู่บ้านที่ปกครอง และประการสุดท้าย หมู่บ้านที่เป็นอาณานิคมเป็นเพียงแหล่งป้อนวัตถุดิบให้แก่หมู่บ้านที่ปกครองเท่านั้น ห้ามหมู่บ้านอาณานิคมทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตเพราะอาจจะเกิดผลเสียหายต่อตลาดในหมู่บ้านที่ปกครอง รวมถึงอาจทำให้อุปทาน (ปริมาณ) ของวัตถุดิบหมดไปอย่างรวดเร็ว การค้าของหมู่บ้านอาณานิคมอยู่ในอำนาจผูกขาดของหมู่บ้านที่ปกครองแต่เพียงผู้เดียว

ลูกชาย : ฟังดูสาระสำคัญของแนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยมแล้ว ผมอดที่จะคิดถึงภาวะในปัจจุบันไม่ได้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์และวิธีการจะต่างกัน ในการกระทำของหมู่บ้านที่พัฒนา (ในด้านวัตถุ) ที่มีต่อกลุ่มหมู่บ้านที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา (ในด้านวัตถุ) แต่เมื่อดูแนวความคิดและแนวทางแล้วล้วนเพื่อให้ได้บรรลุเป้าหมายอย่างเดียวกันนั่นคือ ความมั่งคั่งของหมู่บ้านมหาอำนาจ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก แนวความคิดของหมู่บ้านมหาอำนาจในขณะนี้มีเป้าหมายที่เหมือนกับลัทธิพาณิชย์นิยมในตอนนั้น แต่อาจจะแตกต่างในด้านของกระบวนการและวิธีการในการได้มาซึ่งเป้าหมายนั้น คือ ในสมัยของลัทธิพาณิชย์นิยมใช้อำนาจรัฐของหมู่บ้านโดยตรงเป็นเครื่องมือ แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านมหาอำนาจใช้อำนาจรัฐทางอ้อมโดยผ่านองค์กรของนานาหมู่บ้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารนานาหมู่บ้าน องค์กรการค้านานาหมู่บ้าน รวมถึง กองทุนการเงินระหว่างหมู่บ้าน เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรม (จอมปลอม) บังหน้า ปล้นเอาทรัพยากรของหมู่บ้านที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งของหมู่บ้านมหาอำนาจเหล่านั้น

ลูกชาย : แนวความคิดของลัทธิพาณิชย์นิยมมีอิทธิพลนานหรือเปล่าครับ

พ่อดี : แนวความคิดของลัทธิพาณิชย์นิยมเริ่มตั้งแต่ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ หรืออยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๖๑๓- ๑๗๗๖ ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์และการวางนโยบายทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านต่าง ๆ ในตะวันตก โดยเฉพาะในหมู่บ้านสิงโต โดยที่ลัทธิพาณิชย์นิยมจะส่งเสริมนโยบายใด ๆ ก็ตามที่ทำให้หมู่บ้านของตนเองได้มาซึ่งความมั่งคั่ง นั่นก็คือ ดุลการค้าต้องได้เปรียบ (เกินดุล) โดยลัทธิพาณิชย์นิยมเน้นในเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเข้าดำเนินการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องภาษี (มุ่งเน้นให้เก็บภาษีสินค้าเข้าในอัตราที่สูง แต่เก็บภาษีสินค้าออกในอัตราที่ต่ำ) เพื่อให้หมู่บ้านบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ ความมั่งคั่ง

ลูกชาย : การที่ลัทธิพาณิชย์นิยมมุ่งเน้นให้ภาครัฐบาลเข้ามาควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แล้วจะถือได้ว่าเป็นรากฐานของ ระบบทุนนิยม อย่างไรครับ เพราะระบบทุนนิยมมุ่งเน้นที่การเปิดเสรีนี่ครับพ่อ

พ่อดี : ในภาวการณ์และปัจจัยเหตุที่แตกต่างกัน บางครั้งแนวความคิดและวิธีการก็ปรับเปลี่ยนได้เสมอแต่ที่สำคัญ เป้าหมายของการดำเนินการไม่เปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยของพาณิชย์นิยมนั้นองค์ประกอบทางด้านสังคมรวมถึงวิวัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจยังไม่ซับซ้อนมากนัก กอร์ปกับการใช้อำนาจของรัฐในการแสวงหาอาณานิคมทางด้านเศรษฐกิจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายมากนักในยุคนั้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ดังนั้นการดำเนินการเพื่อที่จะให้ไปถึงยังเป้าหมาย คือ ความมั่งคั่ง ได้รวดเร็วที่สุด คือ การใช้อำนาจของรัฐเข้ามาควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าหากเทียบกับปัจจุบันถ้าหากกระทำในลักษณะดังกล่าวก็จะถูกมองว่าใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ไม่เป็นที่ยอมรับของสากล ดังนั้นในแต่ละยุคสมัยจึงมีเครื่องมือที่แสวงหาเป้าหมายที่เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงวิธีการ แต่ถึงแม้ว่านักพาณิชย์นิยมส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลควรเข้าแทรกแซงและควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีนักปรัชญาบางคนที่มีความเห็นต่างด้วยเหมือนกัน

ลูกชาย : เห็นต่างในด้านการควบคุมของภาครัฐเหรอครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก โดย จอห์น ลอค (ค.ศ. ๑๖๓๒-๑๗๐๔) นักปรัชญาถึงแม้ว่าจะเห็นจะเห็นด้วยกับกับหลักการด้านอื่น ๆ ของนักพาณิชย์นิยม แต่กลับไม่เห็นด้วยในเรื่องบทบาทของรัฐบาล โดยลอคมองว่า การก่อตั้งรัฐบาลนั้นเป็น “สัญญาทางสังคม” (social contract) ที่ทำขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลโดยประชาชนยินดีที่จะสละเสรีภาพบางอย่างเพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่ในการให้ความคุมครองแก่ประชาชนและได้รับผลตอบแทนจากแรงงานของประชาชน ดังนั้นรัฐบาลควรให้หลักประกันแก่ประชาชนในการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจในการผลิต ซึ่งถ้าหากรัฐบาลมุ่งเรียกร้องกอบโกยผลประโยชน์จากประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากแรงงานของเขามากเกินไป ประชาชนเหล่านั้นก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ ซึ่งในแนวความคิดของลอคนั้นเชื่อว่าบทบาทของรัฐบาลในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นควรอยู่ในขอบเขตที่จำกัด จึงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของหมู่บ้าน

ลูกชาย : เป็นเหมือนแนวความคิดเชิงปรัชญาทางการเมืองด้วยนะครับซึ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เพราะต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน

พ่อดี : ถ้ามองกันจริง ๆ แล้วก็อย่างที่พ่อเคยบอกนั่นแหละว่า แนวความคิดปรัชญาต่าง ๆ เป็นบ่อเกิดของศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แทบที่จะไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย เพราะมันก็คือความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันเองและระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แต่อาจแตกต่างกันในด้านของเงื่อนไขของความสัมพันธ์เท่านั้นเอง

ลูกชาย : นอกจากจอห์ ลอค แล้วยังมีท่านอื่นอีกไหมครับ ที่มีความเห็นแย้งเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของภาครัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนักพาณิชย์นิยม

พ่อดี : ก็มีหลายท่านเหมือนกัน แต่ก็ขาดความชัดเจนในการโต้แย้งและการนำเสนอที่ดีกว่า ทำให้อิทธิพลทางความคิดของนักพาณิชย์นิยมยังมีอยู่ จนกระทั่งถูกความคิดของนักพาณิชย์นิยมถูกสั่นคลอนโดย เดวิด ฮูม (ค.ศ. ๑๗๑๑-๑๗๗๖) เขาเป็นนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ชาวสก๊อต ซึ่งเชื่อในในปรัชญาของการค้าเสรีและเชื่อมั่นว่ากลไกทางเศรษฐกิจซึ่งทำงานโดยอัตโนมัติจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีการดำเนินไปที่ราบรื่นมากกว่าการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซง โดยสนับสนุนให้มีการค้าต่างหมู่บ้านโดยเสรี แต่ไม่เห็นด้วยกับนักพาณิชย์นิยมกลุ่มที่ว่าดุลการค้าที่ได้เปรียบ (เกินดุล) จะเป็นผลดีต่อหมู่บ้านเสมอไป และในแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของภาษีและแรงจูงใจในการทำงานนั้น ฮูมไม่เห็นด้วยกับนักพาณิชย์นิยมหลายประการ ประการแรก ไม่เห็นด้วยกับนักพาณิชย์นิยมที่เห็นว่าการเพิ่มอัตราภาษีจะกระตุ้นความพยายามในการทำงานและก่อให้เกิดความสามารถที่จะแบกรับภาษีได้เสมอไป เขาเชื่อว่าในบางกรณีเท่านั้นที่การเพิ่มอัตราภาษีอาจกระตุ้นความพยายามในการทำงาน (คือการเพิ่มภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป ภาษีไม่สูงเกินไปมากนัก และไม่ใช่ภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าจำเป็นแก่การดำรงชีวิต) ประการที่สอง แรงจูงใจในการทำงานในด้านบวกมีความสำคัญ  ประการที่สาม ความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอัตราภาษีกับรายรับภาษี โดยฮูมเห็นว่า ในบางกรณีการเพิ่มอัตราภาษีอาจนำไปสู่รายรับที่ลดลงของภาษี เนื่องจากภาษีที่สูงจะก่อให้เกิดผลเสียต่อผลผลิต เขาแนะนำให้เน้นการขยายฐานภาษีมากกว่าการเพิ่มอัตราภาษี  ซึ่งแนวความคิดของฮูมนี้มีอิทธิพลต่อแนวความคิดของ อดัม สมิท ในเวลาต่อมา

ลูกชาย : แสดงว่าเดวิด ฮูมได้วางรากฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวความคิดเศรษฐกิจที่เสรีและการจำกัดบทบาทของภาครัฐในการมีส่วนร่วมทางกิจกรรมของเศรษฐกิจ แล้วแนวความคิดของฮูม มีอิทธิต่อแนวความคิดของอดัม สมิท มากไหมครับ

พ่อดี : มากที่เดียวเลย เนื่องจากว่าอดัม สมิท มีความเห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีเป็นบ่อเกิดแห่งความมั่งคั่ง (wealth) ของหมู่บ้าน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของรัฐบาลเหมือนกับฮูม และที่สำคัญทั้งเดวิด ฮูม และ อดัม สมิท เป็นเพื่อนที่ชอบพอและสนิทกันอย่างมาก และอดัม สมิท ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานที่สำคัญให้แก่เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก โดยได้วางรากฐานแนวความคิดไว้อย่างมากในหนังสือชื่อว่า An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations ในปี ค.ศ. ๑๗๗๖ โดยเนื้อหาหลักได้โต้แย้งแนวความคิดของนักพาณิชย์นิยมที่มองว่าการสะสมโลหะมีค่าเป็นบ่อเกิดแห่งความมั่งคั่งของหมู่บ้าน ดังนั้นรัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางในการที่จะได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้น คือการเข้าควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้หมู่บ้านของตัวเองได้เปรียบดุลการค่าเสมอ แต่สมิทโต้แย้งว่า อันที่จริงแล้วหมู่บ้านจะบรรลุจุดสูงสุดของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้ จะต้องมีลักษณะสำคัญ ๒ ประการคือ การที่บุคคลแต่ละคนมีความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองและการมีระบบตลาดเสรี ซึ่งสมิทเห็นว่าหมู่บ้านจะเจริญมั่งคั่งไม่ได้อยู่ที่การมีอำนาจและการมีโลหะมีค่ามาก ๆ แต่อยู่ที่การมีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ออกมาและเสนอขายโดยผ่านตลาดเสรี

ลูกชาย : ทำไมถึงเรียก สำนักคลาสสิก ครับ

 

********************************************************************************************************************

 

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ#ลูกชาย
หมายเลขบันทึก: 501412เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2012 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • พ่อกับลูก
  • คุยแต่เรื่องดีๆทั้งนั้นเลย
  • ชอบๆๆ

      ขอบคุณ คุณแสงแห่งความดี มากครับสำหรับภาพสวยงามที่นำมาฝาก

      ขอบคุณ อาจารย์ขจิต มากครับสำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอ

      ขอบคุณ ทุก ๆ ท่านที่มอบดอกไม้ให้ครับ

                    ขอบพระคุณมากครับ

น่าสนใจมากค่ะ

ระบบทุนนิยมกลายเป็นเครื่องมือรัฐที่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแนบเนียนไปเสียแล้ว หากว่ามุ่งที่การผลิตสินค้าและบริการที่มีประโยชน์แทนที่จะหวังผูกขาดอำนาจและใช้ทรัพยากรอย่างไม่ปราณี ก็คงจะทำให้นักคิดที่มีชื่อเสียงหลายท่านจากไปอย่างมีความสุขหมดห่วงนะคะ

บางทีแนวคิดดี ๆ ของนักปราชญ์สมัยโบราณ ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบแต่ดูชอบธรรมเสียเยอะเลยค่ะ น่าเสียดายนะคะ

ขอบคุณมากค่ะที่กรุณาเชื่อมโยงนักคิดและแนวคิดสำคัญต่างๆ ผ่านบทสนทนาน่ารัก ๆ ระหว่างคุณพ่อกับคุณลูกผู้ใฝ่เรียนรู้ค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจและข้อคิดดี ๆ จาก อาจารย์ Sila มากครับ

และขอบพระคุณดอกไม้ที่ให้กำลังใจจากทุกท่านมากครับ... :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท