UKM ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช


UKM ประสบการณ์ใหม่ด้วยหัวใจเปี่ยมพลัง

ประสบการณ์การเข้าร่วม UKM ครั้งที่ 22 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

          ราวกลางเดือนกรกฎาคม 2555 ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่กองพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งว่าท่านผู้อำนวยการ (ผอ.นภามาศ นวพันธุ์พิพัฒน์) ให้ทาบทามเพื่อเชิญเข้าร่วมเสวนาเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (University Knowledge Management: UKM) ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2555 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นเจ้าภาพ บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะเป็นผู้แทนเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 10 คน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ได้รับเชิญ 2 คน คือ อ.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร และผู้เขียน (แต่สุดท้าย อ.สัญชัย ไปไม่ได้เนื่องจากติดภารกิจ) เมื่อได้ทราบว่าจะมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สุดท้ายคือเจ้าภาพมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย ความตื่นเต้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะปลายสายกำชับต่อว่าพี่อย่าลืมเตรียมเครื่องมือการจัดการความรู้ขององค์กรไปเล่าให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟังด้วยนะ ซึ่งก็ได้ตอบไปอย่างมั่นใจว่าจะนำเรื่อง บันทึกขุมความรู้ ที่ชาวสิ่งแวดล้อมได้ช่วยกันลงแรงเขียนทั้ง 2 เล่มไปเล่าให้ฟัง ก่อนจบการสนทนาผู้เขียนได้แจ้งกับทางกองพัฒนาคุณภาพทราบเพื่อให้ทบทวนการประสานงานในครั้งนี้ว่า ขณะนี้ตนเองไม่ได้ดูแลหน่วยพัฒนาคุณภาพแล้ว แต่ทางผู้ประสานงานแจ้งว่าที่เชิญเนื่องจากเคยผ่านการอบรมคุณอำนวย (Facilitator) จากมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามได้ขอให้ทางกองพัฒนาคุณภาพทำหนังสือขออนุมัติตัวอย่างเป็นทางการมายังคณะอีกครั้งหนึ่ง

          เช้ามืด ราวตีสองครึ่ง  ของวันที่ 23 สิงหาคม 2555 เสียงเตือนปลุกจากโทรศัพท์มือถือดังขึ้นท่ามกลางความเงียบสงัด  ทำให้ต้องสลัดความง่วงออกไป แล้วรีบอาบน้ำแต่งตัวอย่างรวดเร็ว ขับรถออกจากบ้านประมาณตีสาม บนถนนเพชรเกษมเชื่อมต่อถนนบรมราชชนนี ไม่ได้เงียบสงบดั่งใจคิด เพราะรถสิบล้อสิบแปดล้อวิ่งกันเต็มพื้นที่ ไม่ต้องเกรงกลัวตำรวจทางหลวงดั่งที่เคยปรากฎกายอยู่บนท้องถนน หรือข้างทางเพื่อเรียกตรวจอีกต่อไป  ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีก็มาถึงศาลายา ก่อนเวลาตีสี่ตามที่นัดหมายกันไว้ สมาชิกที่ร่วมเดินทางโดยรถตู้ซึ่งมหาวิทยาลัยจัดให้มี 4 คน คือ  คุณชาตรี  ลุนดำ คณะเทคนิคการแพทย์   คุณเริงวิชญ์   นิลโคตร สถาบันสุขภาพอาเซียน  คุณสุภัทร์ษา แพรทอง ผู้ประสานงานของกองพัฒนาคุณภาพ และผู้เขียน มุ่งหน้าสู่สนามบินดอนเมืองอย่างรีบเร่งเพราะเครื่องออกตอนหกโมงเช้า ใช้เวลาไม่นานนักก็มาถึงสนามบิน มีสมาชิกมาสมทบอีกหลายท่าน ได้แก่   รศ.ปรียานุช  แย้มวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ อ.กฤตยา  อกนิษฐ์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย อ.ศุภลักษณ์  เข็มทอง คณะกายภาพบำบัด ผู้อำนวยการกองพัฒนาคุณภาพ คุณตนัย  พรพาณิชย์พันธุ์ กองเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วน อ.จิราวัฒน์  ปรัตถกรกุล วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา เดินทางล่วงหน้าไปก่อน 1 วัน  พวกเราผ่านขั้นตอนการตรวจของสนามบินและสายการบินเรียบร้อย จนกระทั่งนักบินกำลังจะนำเครื่องบินเหินสู่ท้องฟ้าด้วยความเร็วสูง แต่คงพบว่ามีอะไรผิดปกติจึงลดความเร็วลงและเลี้ยวกลับมายังลานจอดที่เดิม แจ้งให้ผู้โดยสารรอประมาณ 10 นาทีเพื่อตรวจสอบ นั่งอยู่บนเครื่องจนเกือบหลับก็มีเสียงประกาศดังขึ้นอีกครั้งว่าให้ลงจากเครื่องบินโดยนำสัมภาระไปด้วย ระหว่างรอบนที่พักผู้โดยสาร ทางสายการบินก็ใจดีให้ไปรับประทานอาหารว่างเพื่อชดเชยเวลา  ประมาณเกือบแปดโมง จึงได้เดินทางออกจากดอนเมือง แม้ว่าจะล่าช้าแต่ก็ต้องถือว่านักบินทำถูกต้องแล้ว เพราะเขาต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารเป็นร้อยคน ระบบความปลอดภัยและการป้องกันความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

          เกือบๆ เก้าโมงเครื่องลงอย่างปลอดภัยที่สนามบินนครศรีธรรมราช ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดรถตู้มารอรับเพื่อเดินทางต่อไปที่โรงแรมราชาคีรี รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอขนอม ใช้เวลาเดินทางราวชั่วโมงครึ่ง อยู่ริมทะเล สวยมาก ที่ประชุมยังคงรอคณะพวกเราและกลุ่มจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย เนื่องจากมาเที่ยวบินเดียวกัน ทำให้ล่าช้าไปประมาณ 2 ชั่วโมง เริ่มการประชุมโดย ดร.กีร์รัตน์  สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวเปิดการเสวนาเครือข่าย และทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายจัดการความรู้ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2555-2558) โดยผู้แทนทั้ง 6 มหาวิทยาลัย จากนั้นเป็นการนำเสนอเครื่องมือการจัดการความรู้และการประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาองค์กร โดยสถาบันที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรม (IKI-SEA) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นการนำเสนอเครื่องมือที่ชื่อว่า MASK II

          ภาคบ่ายเป็นการนำเครื่องมือการจัดการความรู้ที่แต่ละมหาวิทยาลัยนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรมาแลกเปลี่ยนกัน โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเสนอว่ามีการนำเรื่องการจัดการความรู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอเรื่องปัญหาจากการจัดงาน Book Fair ของสำนักหอสมุด เป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษามีส่วนร่วมในเสนอรายชื่อหนังสือที่ต้องการผ่านทางคูปอง และแบบฟอร์มเสนอรายชื่อหนังสือ นำไปสู่กระบวนการได้มาซึ่งหนังสืออย่างรวดเร็วทันต่อการใช้งาน มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอเรื่องการจัดกิจกรรมบำบัดให้กับเด็กที่มีพัฒนาการช้าในพื้นที่ร่วมกับผู้ปกครองและนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พูดถึงแนวทางการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กร จากการดำเนินงานของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือสร้างความผูกพันระหว่างผู้บริหารและบุคลากรในสายงานต่างๆ  เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ ชุมชนแห่งการแบ่งปัน (Community of Sharing: COS) และสุนทรียสนทนา (Dialogue) ส่วนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอเรื่อง องค์กรเปี่ยมสุข สมรรถนะสูง แนวความคิดมาจากการทำปัจจัยแวดล้อมให้ดี (Happy Work Place) จะส่งผลย้อนกลับไปถึงระดับปัจเจกบุคคล  ใช้เครื่องมือในการจัดการความรู้หลากหลายรูปแบบได้แก่ ชุมชนนักปฏิบัติ (CoPs) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Show & Share) สุนทรียสนทนา (Dialogue) เพื่อนช่วยเพื่อน (peer Assist) เตรียมความพร้อม (BAR) ทบทวน/สรุปหลังทำกิจกรรม (AAR) สำหรับมื้อค่ำมีงานเลี้ยงรับรองอย่างอบอุ่นจากเจ้าภาพพร้อมการแสดงมโนราห์ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของภาคใต้

          เช้าวันที่ 24 สิงหาคม 2555  ผู้จัดกำหนดให้แบ่งกลุ่มออกเป็น 6 กลุ่มย่อย ซึ่งความจริงมีการกำหนดไว้แล้วด้วยการใช้ป้ายชื่อแยกสีเป็นสัญลักษณ์ กิจกรรมกลุ่มย่อยเป็นลักษณะของการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ชนิดหนึ่ง ชื่อว่าเรื่องเล่าเร้าพลัง (Story Telling) ผู้เขียนอยู่กลุ่มที่ 5 มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ขอนำมายกเป็นตัวอย่างเช่น ชุมชนคนหลังไมล์ เป็นเรื่องจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ส่วนประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกิดจากความต้องการพัฒนากลุ่มคนที่ทำหน้าที่พิธีกร จากระดับหน่วยงาน ขยายเครือข่ายออกสู่ระดับมหาวิทยาลัย และเพิ่มความแข็งแกร่งของเครือข่ายมากขึ้นจนถึงระดับจังหวัด นำพลังหรือกลุ่มคนที่ได้ไปใช้ประโยชน์สำหรับงานพิธีการต่างๆ  ตลอดจนมีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่โรงเรียน และท้องถิ่น  นอกจากนี้ผู้แทนจากส่วนกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เล่าให้ฟังว่างานกิจการนักศึกษามีการประชุมเจ้าหน้าที่ทุกวันอังคาร ซึ่งลักษณะเป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการมีการถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน การพูดคุยเชื่อมต่อไปถึงเรื่องความสุขในการทำงานด้วย ตัวอย่างการดำเนินงานเช่น ก่อนเปิดภาคการศึกษาจะมีการทำ BAR (Before Action Review) นำเอาข้อเสนอแนะจากผลการดำเนินงานในภาคการศึกษาที่แล้ว (After Action Review) มาพิจารณาประกอบการวางแผนการทำงาน แนวทางทำงานนี้ได้ถูกนำไปใช้กับการประชุมร่วมกับนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษาเกิดกระบวนการเรียนรู้อีกทางหนึ่ง  ในส่วนการเงินและบัญชี ของมหาวิทยาลัยเดียวกันก็มีเทคนิควิธีการทำงานที่ช่วยให้ผู้รับบริการเปลี่ยนมุมมอง จากที่เคยเห็นว่าการทำธุรกรรมด้านการเงินเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ด้วยการพยายามเปิดช่องทางสื่อสารให้ข้อมูล ระเบียบปฏิบัติ แบบฟอร์มแก่ผู้รับบริการ สร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่การโทรศัพท์ไปสอบถามกรณีมีเหตุผิดพลาดด้วยความเป็นกัลยาณมิตร เจ้าหน้าที่มีการสลับเปลี่ยนหน้าที่ทุก 3 ปี โดยผู้ปฏิบัติงานต้องมีการจัดทำคู่มือการส่งมอบงาน  สำหรับผู้เขียนอย่างที่ได้เกริ่นไว้แต่ต้นว่าจะนำเรื่องบันทึกขุมความรู้ไปแลกเปลี่ยน ก็ได้นำตัวอย่างหนังสือทั้ง 2 เล่มไปด้วย ซึ่งได้รับความสนใจและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเผยแพร่หนังสือจากสมาชิกในกลุ่มเป็นอย่างมาก

          ภาคบ่ายของวันสุดท้าย เป็นการนำเสนอจากตัวแทนกลุ่ม และโดยที่ไม่มีการนัดหมาย บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้นำเสนอถึง 4 คน จาก 6 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้เขียนด้วย ที่ประชุมให้เวลานำเสนอกลุ่มละ 8 นาที ขอหยิบยกบางเรื่องมาเล่า ดังนี้ กลุ่มแรกเป็นการนำเสนอโดย      อ.จิราวัฒน์  ปรัตถกรกุล เป็นเรื่องชุมชนนักปฏิบัติ (CoPs) เพื่อนครู มีลักษณะเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือกันระหว่างผู้สอน มีการเข้าไปร่วมนั่งฟังการบรรยายในชั้นเรียนและช่วยประเมินการสอนของเพื่อนครู นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกๆ เดือน อ.ศุภลักษณ์  เข็มทอง ตั้งชื่อเรื่องที่นำเสนอว่าเป็นการใช้เครื่องมือจัดการความรู้แบบอสงไข เพราะไม่สามารถระบุรูปแบบที่ตายตัว และไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุณเริงวิชญ์  นิลโคตร นำเสนอแนวคิดที่ว่าการดำเนินการเรื่องการจัดการความรู้ต้องทำให้เนียนไปกับงานประจำ เพื่อไม่ทำให้เป็นภาระในการทำงาน ส่วนผู้เขียนเล่าเรื่อง บันทึกขุมความรู้ให้ที่ประชุมฟัง บอกถึงแนวคิดของคณะสิ่งแวดล้อมฯ ที่ทำให้เกิดบันทึกขุมความรู้ทั้ง 2 เล่มขึ้น ภายใต้ความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรในฐานะที่เป็นกลุ่มงาน หรือการเขียนโดยศิลปินเดี่ยวก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่เกิดจากความสมัครใจ เนื้อหามาจากแรงบันดาลใจบนงานประจำที่ทุกคนเผชิญอยู่หน้างาน เป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน ช่วงสุดท้ายของการเสวนาเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประยุกต์ใช้เครื่องมือ GotoKnow โดย ผศ.จันทวรรณ  ปิยะวัฒน์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ Gotoknow.org และรศ.นพ.จิตเจริญ  ไชยคำ ผู้ที่อยู่ในวงการการจัดการความรู้มาอย่างยาวนาน และใช้ เว็บไซต์ GotoKnow เป็นเครื่องมือในการสื่อสารความรู้ออกไปสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง จากนั้นเจ้าภาพทำ AAR การเสวนาครั้งนี้อย่างเรียบง่าย ด้วยการให้ผู้แทนของมหาวิทยาลัยต่างๆ พูดถึงความรู้สึก และสิ่งที่ได้รับจากการร่วมงานในครั้งนี้  พร้อมทั้งให้ทุกคนช่วยให้ข้อมูลย้อนกลับด้วยแบบสอบถาม

      จากการเข้าร่วมงานเสวนาเครือข่ายในครั้งนี้ ผู้เขียนได้รับความรู้และประสบการณ์มากมาย นอกเหนือจากได้เพื่อนต่างมหาวิทยาลัยแล้ว สำหรับเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกันก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเดิมต่างคนต่างอยู่ คนละสายงานไม่เคยมีโอกาสทำงานด้วยกัน พอได้มาเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย ทำให้มีเป้าหมายร่วมกันคือ ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด  ช่วงใกล้เสร็จสิ้นการประชุมฝนยังคงตกหนักมาก โปรแกรมที่วางไว้อย่างสวยหรูว่าจะพาพวกเราไปทัศนศึกษาเมืองลิกอร์ยามเย็น(เมืองนครศรีธรรมราช) กลับต้องถูกยกเลิกเพราะผู้จัดเกรงว่าจะไปขึ้นเครื่องไม่ทัน โชคดีที่ระหว่างเดินทางฝนหยุดตกคณะของเราเลยมีโอกาสแวะไปกราบนมัสการพระมหาธาตุ แม้ว่าโบสถ์จะปิดแล้ว แต่ก็เข้าไปกราบองค์พระธาตุในกำแพงด้านนอก ซึ่งก็ถือว่ามาถึงเมืองนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตามความเป็นเครือข่ายความร่วมมือกันด้านการจัดการความรู้ของทั้ง 6 มหาวิทยาลัยยังคงดำเนินต่อไปพบกันอีกครั้งหน้าเดือนมกราคม 2556  ที่จังหวัดขอนแก่นโดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ ในวันนั้นผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะสิ่งแวดล้อม จะมีผู้แทนไปร่วมประชุมอีกครั้ง เพื่อเล่าประสบการณ์ดีๆ ที่คณะเราทำอยู่ให้สังคมภายนอกได้รับรู้ในวงกว้าง ขากลับเนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวยจึงทำให้เที่ยวบินต้องล่าช้า พอมาถึงกรุงเทพก็เผชิญรถติดบนเส้นทางกลับมายังมหาวิทยาลัยอีกพอสมควร กว่าจะถึงบ้านประมาณห้าทุ่ม ขอตัวนอนก่อนนะครับ ราตรีสวัสดิ์ KM

หมายเลขบันทึก: 501410เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2012 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีปีใหม่ครับ ยินดีที่ได้ร่วมเดินทางด้วยใน UKM 55

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท