สันติสนทนา….ตามแนวพุทธ


การสนทนาเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสิ่งที่มีความสนใจร่วมกันและสร้างความพึงพอใจให้เกิดแก่บุคคลอื่น ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการสนทนาจึงเป็นไปเพื่อสร้างและกระชับมิตรภาพ มิใช่เพื่อเอาชนะหรือเพื่อแสดงความเด่นเหนือบุคคลอื่นผู้ที่ชอบแสดงตนโอ้อวดบุคคลอื่น ในที่สุดย่อมหาคู่สนทนาได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ

สันติสนทนา….ตามแนวพุทธ

          ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางการเมืองมากที่สุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อนจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและตลอดถึงการศึกษา จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในสังคมนี้เกิดการแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นสีเสื้อต่าง ๆ จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่มีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เสนอแนวคิดและทางออกของความขัดแย้งของนักการเมืองและผู้คนในสังคมให้ยุติหรือบรรเทาลง โดยเสนอแนวคิดในการสนทนาแบบสันติ คือ การพูดคุยกันแบบสันติวิธีคือวิธีการแบบความสงบหรือแบบสร้างสรรค์

          คำว่า สนทนา หมายถึง การพูดคุยกัน เอกฉัท จารุเมธีชน กล่าวว่า [1]การสนทนา คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ในสิ่งที่มีความสนใจร่วมกัน เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์ช่วยให้มีมนุษย์สัมพันธ์ได้ดี รัญจิตร แก้วจำปา กล่าวว่า การสนทนา หมายถึง[2] การพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ส่วนคำว่า สันติหรือสันติภาพ หมายถึง[3] ความสงบ  เพราะฉะนั้นคำว่า สันติสนทนา จึงหมายถึง การพูดคุยกันแบบมีสติมีเหตุมีผล ยอมรับฟังเหตุผลและแนวความคิดของบุคคลอื่นได้ ไม่ควรใช้อารมณ์ในการตัดสินในขณะที่พูดคุยกัน การสนทนาเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสิ่งที่มีความสนใจร่วมกันและสร้างความพึงพอใจให้เกิดแก่บุคคลอื่น ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการสนทนาจึงเป็นไปเพื่อสร้างและกระชับมิตรภาพ มิใช่เพื่อเอาชนะหรือเพื่อแสดงความเด่นเหนือบุคคลอื่นผู้ที่ชอบแสดงตนโอ้อวดบุคคลอื่น ในที่สุดย่อมหาคู่สนทนาได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ

          เพราะฉะนั้น การสนทนาจึงเป็นเครื่องมือในการสร้างมนุษยสัมพันธ์และช่วยให้เกิดความเข้าใจระหว่างคู่สนทนาที่ดี คุณสมบัติของการเป็นนักสนทนาหรือนักฟังที่ดีตามแนวทางพระพุทธศาสนา ต้องประกอบไปด้วยองค์ 5 ประการคือ

1. สัจจะ ได้แก่ เรื่องที่จะเสนอต่อวงสนทนานั้น ต้องเป็นเรื่องจริง เสนอหรือพูดคุยกันตามความเป็นจริง ไม่บิดเบือน

2.  ตถตา ได้แก่ เรื่องแท้ เรื่องที่เสนอหรือพูดคุยกันนั้นต้องเป็นเรื่องแท้ นำเสนอตามสภาพที่แท้จริงไม่คาดเดา ไม่แต่งแต้มใส่สี ใส่ไข่

3. กาละ ได้แก่ เรื่องที่นำเสนอนั้นต้องเหมาะสมกับกาลเวลา

4. ปิยะ ได้แก่เรื่องที่เสนอนั้นเป็นเรื่องที่คู่สนทนาชื่นชอบ หรือนำเสนอโดยไม่ใช้คำพูดที่ก้าวร้าว พูดคุยในสิ่งที่สร้างสรรค์เท่านั้น

5. อัตถะ ได้แก่ เรื่องที่นำเสนอในวงสนทนานั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในบางครั้งบางสถานการณ์ ผู้สนทนาอาจต้องต้องพิจารณาด้วยปัญญาว่า บางเรื่องอาจไม่เหมาะสมกับเวลา อาจจะไม่เป็นที่ชอบใจของคนบางกลุ่มบางคน แต่เมื่อเสนอเรื่องนั้นไปแล้วเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม  อาจจะต้องกระทำ หรือควรกระทำ

 สิ่งที่คู่สนทนาควรละเว้น ไม่ควรนำมาปฏิบัติในขณะที่กำลังสนทนากันนั้น จะต้องประกอบไปด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาดังนี้

1.ละมุสา คือเว้นการพูดเท็จรวมถึงสัจจวาจา พูดคำจริง

2.ละปิสุณาวาจา คือ เว้นการพูดส่อเสียด รวมถึงพูดคำสมานสามัคคี

3.ละผรุสวาจา คือ เว้นการพูดคำหยาบ รวมถึงพูดคำอ่อนหวานสุภาพ

4.ละสัมผัปปลาปะ คือ เว้นการพูดเพ้อเจ้อ รวมถึงพูดคำที่มีประโยชน์

กล่าวโดยสรุป คู่สนทนาที่ดีควรจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ การเป็นนักฟังที่ดี มีความรู้รอบตัวและมีปฏิภาณไหวพริบ มีความจริงใจและไม่ควรพูดให้คู่สนทนาสะเทือนใจ มีมารยาทที่ดี มีความสุภาพอ่อนโยนที่แสดงออกทั้งคำพูดและกิริยามารยาท ดังนั้นถ้านักการเมือง นักวิชาการและกลุ่มสีเสื้อต่าง ๆ ทำหรือปฏิบัติได้ในประเด็นที่นำเสนอมาดังกล่าว การสนทนาหรือการพูดคุยกัน  ในประเด็นทางการเมืองก็จะนำไปสู่การให้อภัยซึ่งกันและกัน ที่จะไปสู่ความปองดอง ความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนในชาติต่อไป.

 

 



[1] เอกฉัท จารุเมธีชน,การใช้ภาษาไทย,(กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ โอ.เอส. พริ้นติ้ง,เฮาส์, 2539) หน้า 83.

[2] รัญจิตร แก้วจำปา, ภาษาไทย  01-310-101,(กรุงเทพฯ พิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรืองแสงการพิมพ์,2544), หน้า 35.

[3] พระธรรมปิฎก,(ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ 9, 2543, หน้า 325.

หมายเลขบันทึก: 501411เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2012 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเรียนรู้สันติสนทนาค่ะ

  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • ชอบเรื่องสันติวิธี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท