หลุมพราง PBL ครู : หลงที่ “ชิ้นงาน” มากกว่า “ทักษะศิษย์”


หลายคนพยายามทำให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมที่ดี แต่หลงลืมสร้างกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกทักษะ แม้แต่การประกวดโครงงาน ก็ให้คะแนนรางวัลไปที่ "ชิ้นงานที่เลอเลิศ" มากกว่า "ทักษะที่เด็กได้เรียนรู้"

       หลังจากที่ตัวเองและทีมเพื่อนๆ วิทยากร เข้ามารับอาสา อ.วิจารณ์ พานิช และคุณหมอเลขาธิการสองท่าน (นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  และ นพ.สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์ ที่มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)ทำโครงการ “สร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ และครูสอนดี”  มาปีกว่า   ด้วยเป้าหมายใหญ่ที่เคยเขียนไว้ในบันทึกที่แล้ว คือ  “สร้างชุมชนการเรียนรู้ครู (PLC : Professional Learning Community)  เพื่อพัฒนาการออกแบบจัดกระบวนการเรียนรู้ (PBL : Projected-Based Learning)  นำศิษย์สู่ทักษะในอนาคตใหม่ (21st Century Skills)”

 

          สิ่งที่เราพบเห็นและเกิดความสงสัยอยู่ตลอดเวลา  คือ   เหล่าคุณครู บอกพวกเราว่ารู้จักและมีประสบการณ์ในการทำ PBL หรือทำโครงงาน มาแล้วหลายปี  ทั้งอบรม และทำตามขั้นตอน PBL หมดแล้ว   บ้างมีการนำผลงาน หรือชิ้นงาน PBL ที่เคยให้ลูกศิษย์ทำมาให้เราดู + พร้อมรางวัลที่ได้จากการประกวดโครงงาน 

 แล้วทำไมเด็กไทยถึงยังไม่ได้ฝึกทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ?

 

          ด้วยความสงสัยที่ติดอยู่ในใจนี้   เมื่อเราได้ฟังเรื่องเล่าการทำ PBL จำนวนมากมาย  ได้มีโอกาสดูแผนการสอน PBL บ้าง จึงได้เห็นหลุมพราง PBL สำคัญตัวหนึ่ง ที่ทำให้เหล่าคุณครูในภาคการศึกษาไม่สามารถพาศิษย์ไปสู่ทักษะในอนาคตใหม่ได้   นั่นคือ  เราไปหลงติดที่ “ชิ้นงาน/นวัตกรรม” ที่ได้จากโครงงาน หรือ PBL มากกว่ามุ่งไปที่ออกแบบ PBL ให้พัฒนา “ทักษะศิษย์”   ครูหลายคนพยายามทำให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมที่ดี  แต่ลืมสร้างกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกทักษะ  และแม้แต่การประกวดโครงงานทั่วๆ ไป  ก็ให้คะแนนรางวัลไปที่ “ชิ้นงานที่เลอเลิศ” มากกว่า “ทักษะที่เด็กได้เรียนรู้”

 

               นี่เองที่ทำให้ครูหลงกล  นึกว่าความสำเร็จของ PBL คือ ชิ้นงานนวัตกรรม  หารู้ไม่ว่าแม้ชิ้นงานจะไม่สำเร็จ  แต่ถ้าเด็กได้ฝึกทักษะต่างๆ  นั่นคือความสำเร็จที่แท้จริงของ PBL ทั้งทักษะการเรียนรู้และแก้ปัญหา, การคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์, ทักษะชีวิตและอาชีพ, การทำงานเป็นทีมและการยืดหยุ่นปรับตัว, การใช้ ICT อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

 

              หนึ่งหลุมพรางเรื่อง PBL ที่ทำให้เหล่าคุณครูหลงทาง   แต่น่าจะยังมีอีกมากกว่านั้น......??

          

คำสำคัญ (Tags): #21 century skills#pbl#project-based learning
หมายเลขบันทึก: 500880เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2012 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นั่นเป็นปกติครับ คุณ วรรณา เลิศวิจิตรจรัส ... เวลาทำผลงานวิชาการ คนเราชอบมองสิ่งที่เป็น "รูปธรรม" มากกว่า ส่วน "ผลการเรียนรู้" นั้น เป็นสิ่งแอบแฝง

นั่นแหละคือ สิ่งที่ ศธ.ควรปฏิรูปวิธีการขอผลงานใหม่ ตามที่ได้ยินมาหลายครั้งว่าจะทำ

ไม่งั้นคงไม่ต่างจากงานวิจัยที่ทำเพื่อ "ขึ้นหิ้ง" แต่ไ่ม่เคยนำมาใช้จริงสักกะที ;)...

  • เห็นด้วยกับท่าน Blank จ้ะ 
  • น้อยคนนักที่จะคำนึงถึง " กระบวนการสร้างและพัฒนา" 
  • จึงทำให้ชิ้นงานต่าง ๆ ที่ดูดี หรู แต่ขาดคุณค่าในการนำไปปฏิบัติ
  • ถูกมองว่าดูดีมีสาระ
  • การศึกษาไทยจึงหยุดอยู่ " บนหิ้ง" อย่างที่ท่านอาจารย์ ว่าจ้ะ

เห็นด้วยกับ ครูมะเดื่อ ครับ

ประมาณว่า ครูเรามักมองไปที่เป้าหมาย ทำได้ หรือ มี คือ สำเร็จ

แท้จริงคือ กระบวนการ และ ทักษะที่ต้อง คิด ฝึกฝน ต่างหากที่สำคัญกว่า

คือ สอนให้เขารู้จักวิธีการหาปลา...เลี้ยงไก่ ดีกว่า สอนให้เขาซื้อปลาซื้อไก่

ทุกวันนี้ที่โรงเรียน มุ่งกิจกรรมทำจริง เด็กปฏิบัติ....มากกว่าทำกระดาษเป็นปึกปึก

ยิ่งหลายปึก ยิ่งโง่มาก.....แล้วท่านอื่นล่ะ คิดอย่างไร

ยิ่งช่วงนี้ซะด้วยสิครับ เร่งปั้มผลงานกันใหญ่..... ก็แบบว่า สองขั้นๆ .......

ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ จึงต้องช่วยกันชี้ "หลุมพราง" ให้เพื่อนครูได้เห็น และพากันโดดออกจากหลุมพลางนี้ไปสู่การออกแบบให้เด็กได้ "ฝึกทักษะและเรียนรู้" มากกว่ามายาคติที่พาครูออกจากเด็กค่ะ

เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ คุณอ้อ ทักษะที่จำเป็นที่ครูยังไม่มี เพื่อการแยกแยะระหว่าง "ชื้นงาน" กับ "กระบวนการเรียนรู้" ที่สำคัญมีดังนี้ครับ

  1. การฟัง (ปัญหาคือมักจมเข้าไปในเรื่องราวและคิดดักหน้าตัดสินด้วยประสบการณ์ของตน แนะนำด้วยความหวังดีทันทีที่มีโอกาส)
  2. การเล่าเรื่อง (การยึดติดรูปแบบจนเคยชิน จนเรื่องเล่าง่ายๆ เหมือนที่ตายยายเล่านิทานให้ฟัง กลายไปเป็นบทเรียน วิธีการ ขั้นตอน ทฤษฏีไปหมด ห่างไกลข้อมูลดิบเพื่อเป็นเหตุให้ผู้ฟังได้พิจารณาวิเคระาห์สังเคราะห์เอง)
  3. การอ่าน .... ผมเองก็ไม่ค่อยชอบอ่าน .... แต่ผมแก้ไขด้วยการ "ชอบฟัง"
  4. การคิดแบบซื่อๆ ง่ายๆ และสื่อความหมายสิ่งที่เกิดหรือสิ่งที่เห็นจากการ "สังเกต" ของตนเองจริงๆ  ข้อนี้รวมถึงทักษะในการตั้งคำถามด้วยครับที่ยังต้องพัฒนาต่อไ
  5. ยังขาดความมั่นใจในตนเอง..... ว่าเราคือคนที่รู้ซึ้งถึงปัญหา "หน้างาน" มากที่สุด เราคือคนที่จะสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ ..... แก้ได้ด้วยความภูมิใจ ซึ่งหากใจเรียนรู้จักตนเองมากขึ้น ทุกอย่างจะพัฒนามาเป็นลำดับ

ขอแสดงความคิดเห็นประมาณนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท