เภสัชวิทยาของ "การสื่อสารเพื่อการเยียวยา" (ตอน 1)


เภสัชวิทยาของ "การสื่อสาร"

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเครื่องมือสำคัญในการเกิด "สังคม" ก็คือการสื่อสารซึ่งมีทั้งการสื่อสารระหว่างปัจเจกต่อปัจเจก ระหว่างปัจเจกต่อชุมชนและชุมชนต่อปัจเจก และชุมชนต่อชุมชน เมื่อชุมชนอาศัยใน "นิเวศ" ก็จะเกิดการสื่อสารระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้นๆเกิดเป็น "ระบบนิเวศ" ขึ้น ในการคงอยู่ อยู่ร่วม และเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งทุกอย่างในระบบนิเวศ จะต้องมีการส่งต่อข่าวสารการรับรู้ ความรู้สึก ความหมาย ฯลฯ ระหว่างหน่วยต่างๆอยู่ตลอดเวลา และมี "ทิศทาง" การเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อข่าวสารเหล่านี้ในเวลาที่เหมาะสม และอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะนำไปสู่สมดุลของระบบ ไม่เพียงเฉพาะทางกายภาพเท่านั้น แต่เนื่องจากมีสิ่งมีชีวิตในระบบด้วย สมดุลในที่นี้จึงรวมไปถึง การอยู่รอด การอยู่ร่วม และการอยู่อย่างมีความหมาย (ของ sentient beings) ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน

การสื่อสารเป็นตัวกลางที่ทำให้ข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นถูกส่งต่อ ถูกรับ ดูดซึมย่อมสลาย และแปรรูปไปเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์บ้าง สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์บ้าง สิ่งที่เหลือทิ้ง และสิ่งที่ตกค้างอาจจะเป็นพิษต้องขับถ่ายและกลายเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรต่อเนื่องไป ข้อมูลข่าวสารจึงมีปฏิกิริยาหลายอย่าง ทั้งที่เป็นปฏิกิริยาของข้อมูลต่อปัจเจก และปฏิกิริยาของปัจเจกต่อตัวข้อมูลนั้นๆ เกิดเป็นพฤติกรรม หน้าที่ และการดำเนินไปของชีวิต

ประโยชน์ที่อยากจะพูดถึงในมิติหนึ่งของการสื่อสารก็คือ "การสื่อสารกับการเยียวยา" 

เนื่องจากว่ามนุษย์มีการบริโภค ดูดซึม ย่อยสลาย และนำไปแปรรูป ของทั้งอาหารและของทั้งข้อมูลอื่นๆ ในขั้นตอนเหล่านี้ ร่างกายและชีวิตมีการสึกหรอเกิดขึ้นตลอดเวลา และเรามีระบบซ่อมแซมอันทรงพลังเกินจินตนาการ จนส่วนใหญ่แล้วของชีวิต เราซ่อมสิ่งต่างๆในร่างกายด้วยตัวเราเองได้ จนกระทั่งเหนือบ่ากว่าแรงที่เราเสียสมดุลและเกิดเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย และต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก นั่นก็คือที่เราเรียกว่า "การแพทย์ (Medicine)" นั่นเอง

จะเห็นว่า "การแพทย์" นั้น ไม่ได้เป็นทั้งหมดของสุขภาวะ แต่เป็นศาสตร์ที่เอื้อจากภายนอกเข้าไปในยามที่สมดุลปกติไม่สามารถจะรักษาตัวเองได้ดีพอ อย่างไรก็ดี หน้าที่อื่นๆที่ร่างกาย (หรือ "ชีวิต") รักษาสมดุลให้พอนั้น ยังคงความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะรับประโยชน์จากการช่วยเหลือภายนอกเหล่านั้นจาก "การแพทย์" และดำรงคงอยู่ต่อไปในสมดุล (เดิม หรือสมดุลใหม่)

ในขณะที่ร่างกายใช้อวัยวะต่างๆช่วยกันรักษาสมดุล ด้วยภาษาของสารเคมี ปฏิกิริยาพลังงาน และจลนศาสตร์ของสสารและพลังงานหลากหลายรูปแบบ แต่การรับรู้ ให้ความหมาย และความรู้สึก/อารมณ์ โดยรวมของมนุษย์ ก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องราวภายนอกอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เพ่งเฉพาะแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายเท่านั้น (จะว่าไป เราเพ่งเล็งสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายน้อยมาก จนกว่ามันจะ "ตะโกน" ออกมาดังพอในภาษาที่เราเริ่มเข้าใจ นั่นคือ อาการและอาการแสดงนั่นเอง) มนุษย์จึงใช้ "ข้อมูล" ทีเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงร่างกาย (และระบบภายใน) กับสิ่งต่างๆที่มีความหมาย มีความสำคัญกับการมีชีวิต และทำให้เกิด "สมดุล" ทั้งภายในและภายนอก และเมื่อร่างกายเจ็บป่วย และมีผลต่อความหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนกับสิ่งแวดล้อม "ข้อมูล (information)" จึงเพิ่มบทบาทโดยตรงในการ "จัดการให้เกิดสมดุล--- AKA "เยียวยา (healing)" นั่นเอง

นั่นคือ "การสื่อสาร ก็คือ โอสถอีกประเภทหนึ่ง" เมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นเอง

ความรู้เรื่องของโอสถ หรือยา มีสองเรื่องใหญ่ที่น่าสนใจและจะพูดถึง ก็คือ เภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinesis) และเภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamic) ซึ่งช่วยทำงานประสานกันในการบริหารโอสถ และการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ

  • เภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinesis) ก็คือ ร่างกายทำอะไรกับยา ได้แก่ การบริโภค ดูดซึม แพร่กระจาย/แปรเปลี่ยน และขับถ่ายยาหรือส่วนที่เหลืออยู่ออกจากร่างกาย

  • เภสัชพลศาสตร์ (pharmacodynamic) ก็คือ ยาทำอะไรกับร่างกาย ได้แก่ การออกฤทธิ์ของยาต่ออวัยวะต่างๆ ระบบต่างๆ ของร่างกาย และสุดท้ายก็กลายเป็นการรับรู้ในระดับความรู้สึก อาการ และอาการแสดง

ในเรื่องของการสื่อสาร ก็มีทั้ง pharmacokinesis และ pharmacodynamic ของข้อมูลข่าวสารด้วย และสิ่งทีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น "ตัวตน" ของเราจัดการกับข้อมูลอย่างไร หรือไม่ว่าจะเป็นข้อมูลนั้นๆจะ "ออกฤทธิ์" อย่างไรบ้างกับตัวตนเรา ผลสุดท้ายก็คือประสิทธิภาพของการเยียวยา (หรือไม่เยียวยา) ที่เกิดขึ้นต่อตัวเรานั่นเอง เราสามารถจะนำเอาความรู้ทางเภสัชวิทยาของข้อมูลข่าวสารนี้ ไปพัฒนาต่อยอดในการใช้การสื่อสารเพื่อการเยียวยาได้หลายวิธี

Pharmacokinesis of Information (เภสัชจลนศาสตร์ของข้อมูลข่าวสาร)

ได้แก่ ข้อมูลเข้าสู่ร่างกาย (administration) ถูกดูดซึม/ย่อย (absorption/digestion) แปรเปลี่ยน (matabolism) และแพร่กระจาย (distribution) และสุดท้ายก็ขับถ่าย (excretion)

  • เรามีการบริหาร (administration) ยาได้หลายช่องทางในการนำเอาเข้าสู่ร่างกาย เช่น ทางกิน ทางเข้าเส้นเลือดดำ ทางเข้าเส้นเลือดแดง ทางลมหายใจ ทางผิวหนัง ฯลฯ ข้อมูลข่าวสารก็เช่นกัน เข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง ทางเสียงหรือคำพูด (voice, noise, verbal) ทางภาพ ทางการสัมผัส และทางอารมณ์ความรู้สึก/ความคิด ในการเลือกวิธีการให้ข่าวสาร ความยากอยู่ที่ ไม่เหมือนการบริหารยาที่เราเป็นคนเลือก และควบคุมการบริหารยาเอง ว่าจะให้ทางปาก ทางหลอดเลือดดำ ฯลฯ แต่เรื่องข้อมูลข่าวสารนั้น แม้ว่าเราเลือกได้บ้าง และผู้รับ ยังคงรับข้อมูลข่าวสารได้ทุกรูปแบบอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราอาจจะเตรียม "คำพูด หรือเนื้อหา" มาแล้ว แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่ผู้รับช่องทางเดียว ภาพที่เกิดขึ้น เสียงใน background การสัมผัสรับรู้ทางผิวหนังร่างกาย และสภาพร่างกายทั้งหมด มีบทบาทต่อการรับโอสถขนานนี้ไปด้วยเสมอ
    • ดังนั้น การที่เราจะ "จ่ายข้อมูล" ให้ดีนั้น ทางที่ดี เราจะต้องทราบว่าคนไข้หรือผู้รับ (อาจจะรวมทั้งญาติๆคนไข้ด้วย) เขาใช้ "ทั้งหมด" ของเขาในการรับรู้ การแจ้งข้อมูลในที่ส่วนตัว หรือกลางสาธารณะ การบอกข่าวในที่ที่มีเสียงอึกทึก หรือเงียบสงบ สีหน้าท่าทางแววตา ความเชื่อมั่นอารมณ์ความรู้สึกของหมอ ของคนในบริเวณ มีผลต่อ "คุณภารพข้อมูล" ทั้งหมด
    • บริบทอื่นๆก็มีความสำคัญ ยาบางตัวเราจ่ายก่อน หลังอาหาร หรือก่อนนอน หรือจ่ายตอนเช้า ตอนเย็น ก็มีเหตุผล ในการจ่ายข้อมูลข่าวสารก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เช่นกัน ว่า "ช่วงเวลาใด" ที่ยาหรือข้อมูลของเราจะ "เข้า" สู่คนไข้ได้ดีที่สุด อาทิ บอกข่าวตอนกำลังปวดมากๆ ก็คงจะไม่รับได้ดีเท่าไหร่ หรือตอนกำลังเศร้ามากๆ ตอนกำลังกังวลมากๆ เรียกว่าผู้รับกำลังบกพร่อง อาจจะไม่สามารถ "ทนขนาดยา" ตอนนั้น หรือไม่สามารถจะรับได้ดีหรือรับได้ทั้งหมด
    • บริบทพิเศษที่ข้อมูลแตกต่างจากยาก็คือ ข้อมูลนั้นสามารถ "ช่วยกันรับได้" การพิจารณาว่าจะบอกข้อมูลกับคนไข้คนเดียว หรือมีญาติอยู่ด้วย หรือใครอยู่ด้วย สามารถได้ผลที่แตกต่างกัน ทั้งความเข้าใจ ความสบายใจ และความคงอยู่ ถูกต้องของข้อมูล
    • "จังหวะที่ยาหลายชนิดเข้าก่อนหลัง" นั้นก็มีความสำคัญ จากข้อบ่งชี้ จากข้อเร่งด่วน อาทิ บางที อาจจะต้องบริหารยาแก้อาการไปพลางๆ ก่อนที่จะให้ยารักษา เพราะอาการตอนนั้นมันเหลือทนทาน กว่ายารักษาตรงจะออกฤทธิ์ สงสัยคนไข้จะทนทรมานไม่ไหว ข้อมูลข่าวสารก็เช่นกัน มีลำดับความสำคัญ ก่อน/หลัง และรวมไปถึงแม้แต่การ "ยั้งไม่บอก" ไว้ชั่วคราวในบางกรณี จะต้องมีการประเมินและใคร่ครวญให้ดี บริหารการให้ข้อมูลแบบ "พอดีคำ" ย่อยได้ทัน โดยไม่ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาเจียนออกมาเสียก่อน
  • การรับรู้ซึบซับข้อมูล (absorption/digestion) มนุษย์เรามีศูนย์รับรู้ที่ซับซ้อนมาก จากผัสสะทั้งห้า สฬายตนะทั้งหก และเราใช้ทุกประการนี้ร่วมรับรู้อะไรบางอย่างตลอดเวลา เรื่องนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะมีลักษณะแตกต่างกับการบริหารยา ที่เราควบคุมได้ว่าจะเข้าทางไหน ในอัตราเท่าไหร่ รูปแบบไหน แต่การรับรู้ของคนนั้น ขณะที่เราพูด เขาไม่ได้ฟังอย่างเดียว ยังคงเห็น ได้กลิ่น ได้รับสัมผัส และคิดใคร่ครวญประกอบไปด้วยตลอดเวลา และอวจนภาษามากมายที่อาจจะมีผลต่อการรับรู้มากไปกว่าวจนภาษาเสียอีก สีหน้าท่าทางความมั่นใจแววตา ของผู้ให้ข้อมูล บางทีก็บอกอะไรได้มากมายกว่าคำพูดทั้งหมดด้วยซ้ำไป เพราะผู้รับ จะมีแนวโน้มที่ "เติมคำในช่องว่าง อ่านระหว่างคำพูด (read between the line) หรือฟังสิ่งที่ไม่ได้พูด แต่ซ่อนเร้นความหมายอยู่ด้วย ตรงนี้เราสามารถนำมาใช้ได้ทั้งแง่บวก และแง่ลบ 
    • warning shot การส่งสัญญานเตือน เป็นการเตรียมตัวผู้รับ ที่จริงขณะที่เรากำลังสื่อสารกันนั้น ผู้รับเปิดตัวรับสัญญานเต็มที่อยู่แล้ว เพื่อที่จะได้เพิ่มศักยภาพในการรับเต็มที่ ถ้าเราเตรียมตรงนี้ให้ดี คนรับก็จะสามารถรับ ดูดซึม ย่อย ได้อย่างไม่เกินไป พอดิบพอดี อาทิ การบอกข่าวร้ายนั้น หากข้อมูลค่อยๆชัดปรากฏขึ้นทีละน้อย ผู้รับจะมีเวลาพอที่จะสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" ขึ้นมาไปพลางๆขณะที่เรื่องราวชัดขึ้น และหากความจริงทั้งหมดที่เป็นเรื่องไม่ดี ถล่มลงมาในพริบตา เหมือนเขื่อนแตก น้ำก็ท่วม ไม่ได้เป็นแบบการค่อยๆปล่อยน้ำแบบควบคุมปริมาณ
    • บางอย่างดูดซึมยาก บางอย่างดูดซึมง่าย เรื่องราวแต่ละเรื่อง มีอัตราความสามารถในการเข้าใจได้แตกต่างกัน การให้ข้อมูลนั้นไม่ได้เป็นเพียงการอ่านสคริปต์ให้ฟัง แต่ทว่า เราต้องคำนึงถึง "เป้าหมาย" คือคนรับรับได้ และเข้าใจข้อเท็จจริง (หรือความเห็น) ที่เราต้องการจะสื่อ การเลือกใช้คำให้ถูกต้อง และชัดเจน อาจจะสำคัญกว่าการพูดอย่างเป็นทางการ อย่างสุภาพ อย่างเป็นพิธีรีตรอง บางทีการระมัดระวังจนเกร็งเกินไป ก็กลายเป็นอุปสรรคไปได้ เช่น หมอบอก "คุณเป็นเนื้อร้ายครับ" คนไข้ "อ้อ.. โล่งอกไปที นึกว่าเป็นมะเร็ง" เป็นต้น 
    • อวจนภาษาสื่อได้เยอะแล้ว ท่าทีและท่าทางของคนสื่อนั้น ถูกอ่านอยู่ตลอดเวลา และกลายเป็นความหมายต่างๆนานาได้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สีหน้าท่าทางของแพทย์ขณะอ่านผลตรวจ อ่านฟิล์มเอกซเรย์ ฯลฯ จะถูกสังเกตโดยคนไข้และญาติตลอดเวลา ดังนั้น หากสีหน้าหมอไม่สู้ดี ก็จะถูกตีความไปแบบหนึ่ง หากสีหน้ายิ้มระรื่นก็จะตีความได้อีกแบบหนึ่ง ทั้งๆทีบางทีสีหน้าของหมออาจจะไม่ตรงกับเนื้อหา เพราะดันไปคิดเรื่องอื่นๆอยู่ ไมไ่ด้อยู่กับคนข้างหน้า ไม่ได้รับรู้หรือเป็นห่วงความรู้สึกของคนเบื้องหน้า เมื่ออวจนภาษาของคนสื่อไม่ไปด้วยกันกับเนื้อหาข้อเท็จจริง ก็จะเป็นการลดทอนประสิทธิภาพในการสื่อสารลงไปได้อย่างมาก
    • บางอย่างต้องย่อยนาน เพราะมีนัยยะซ่อนเร้นลึก เรื่องราวที่เราสื่อกันในการเยียวยาผู้ป่วย มักจะมี "มิติด้านลึก" ซ่อนอยู่ที่ในการฟังครั้งแรกสุด ความหมายนัยยะเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกรับรู้ อาทิ "กระดูกสันหลังคุณกดเส้นประสาทมานานมาก" คนทั่วๆไปยังไม่ได้ทราบ "นัยยะ" แต่ความหมายทีแท้จริงอาจจะเป็นไปได้ตั้งแต่ "อาการคุณจะเป็นแค่ชั่วคราว อีกระยะหนึ่งก็บรรเทา ทุเลาหายขาด" ไปจนถึง "คุณกำลังเป็นอัมพาต ขยับขาไม่ได้ทั้งสองข้างตลอดไป ไม่สามารถจะมีเพศสัมพันธ์ได้อีกตลอดชีวิต ไม่สามารถจะควบคุมการขับถ่ายทั้งอุจจาระปัสสาวะด้วยตนเองได้อีกเลย" นัยยะก็คือ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่มี impact กระทบต่อความหมายของชีวิตนั้น จะค่อยๆชัดขึ้นเมื่อความชัดเจนเหล่านี้ถูกอธิบาย หรือเกิดขึ้นจริง การขอให้คนไข้หรือผู้รับข่าวตัดสินใจอะไรในขณะที่ข่าวสารกำลังถูกย่อย ก็จะแปรเปลี่ยนได้ตามรายละเอียดของนัยยะเหล่านี้ ประเด็นนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะเวลาที่เราแจ้งข่าวร้าย เรามักจะเผลอรีบๆแจ้ง รีบๆบอกให้เสร็จๆไป นึกว่านี่คือ "mission breaking the bad news" จริงๆแล้วมันคือ "mission of healing the person receiving bad news" ต่างหาก
  • การแปรรูป/แพร่กระจาย (Metabolism and Distribution) โอสถที่เข้าไปในร่างกาย จะ "เปลี่ยนรูป" ขั้นตอนการย่อยเป็นเพียงแค่ลดขนาดเท่านั้น แต่การเปลี่ยนรูป จะเป็นตัวต่อเนื่องที่เกิด pharmacodynamic หรือการทำงานของยาอย่างแท้จริง เมื่อเอามาพิจารณาในแง่ของข่าวสาร การสื่อสาร เราจะเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นอีก
    • ฤาษีแปลงสาร ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการแปรรูป เมื่อคนเรารับข่าวสาร เราจะไม่ได้รับทื่อๆแบบให้อะไรไปก็รับแบบนั้น มนุษย์เรามีภูมิคุ้มกันในร่างกายหลายรูปแบบ และการรับสิ่งแปลกปลอมคือข่าวสารนั้น มนุษย์ก็มีภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกัน คือ ไม่เพียงเราจะ "เลือกรับ" แต่เรายัง "เลือกที่จะแปล" อีกด้วย โดยเฉพาะการแปลให้เรา "พอจะรับได้ พออยู่ต่อไปได้" นั้นเป็นกลไกออโตเมติกที่สำคัญ แต่บางครั้ง ก็จะทำให้การสื่อสารบิดเบี้ยว เปลี่ยนความหมายไปได้
    • ความหมายโดยนัยยะ มนุษย์เราใช้สัญญลักษณ์เยอะมากในการสื่อสาร และทำให้เราเข้าใจอะไรได้หลายๆสิ่งโดย "ไม่ต้องพูดออกมา" ก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ ผลกระทบในวงกว้างของข้อความที่สื่อนั้น นี่คือประเด็นสำคัญที่สุด ข่าวสารนี้มีผลอย่างไรต่อชีวิต ต่อความฝัน ต่อความหมายของตัวตนของผู้รับ อาทิ มือพิการสำหรับนักเปียโนมืออาชีพ การผ่าตัดเต้านมสำหรับ hotel receptionist การผ่าตัดเปิดลำไส้ทางหน้าท้องสำหรับนักว่ายน้ำ ฯลฯ เมื่อความหมายโดยนัยยะเกิดขึ้น เราถึงจะพอมองเห็นผลกระทบที่แท้จริงจากการสื่อสารนั้นๆ เพราะในทันทีทันใด เราอาจจะใช้มารยาททางสังคมมากลบเกลื่อนความรู้สึกที่แท้จริง ฉันไม่เป็นไร ฉันยัง OK แต่ต่อเมื่อกลับไปไตร่ตรองและเริ่มมองเห็นว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น อารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงจึงค่อยผุดกำเนิดขึ้นมา

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ เภสัชจลนศาสตร์ หรือ "ร่างกายทำอะไรกับโอสถ" ในที่นี้คือร่างกายทำอะไรกับข่าวสารบ้าง จะเห็นว่าถ้าเราสามารถพิจารณาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด อย่างมีสติที่เราจะพอออกแบบการสื่อสารโดยมีความหมายรู้ ว่าเราจะช่วยเหลือคนข้างหน้าได้อย่างไร  เราจะออกแบบการสื่อสารอย่างไร จึงจะเป็นการบริหาร "ข่าวสาร" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพันธกิจของเรามิใช่เพียงแค่ "สื่อสารเท่านั้น" จริงๆแล้ว พันธกิจของเราก็คือ "สื่อสารเพื่อการเยียวยา" ความรู้สึก หรือสุขภาวะของผู้รับ จะต้องเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดในการสื่อสารด้วย มิใช่แค่ความถูกต้อง หรือการได้สื่อเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 500523เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความเห็นครับอาจารย์

ในแง่ของผู้ให้ข่าวสาร ก่อนการให้ข่าวสารควรรู้ตัวว่า ใจเราเป็นอย่างไร ถ้าใจเราเป็นปกติอยู่ นั่นเป็นภาวะที่เหมาะในการให้ข่าวสารและขณะเีดียวกันก็พร้อมที่จะเป็นผู้รับสาร

ในแง่ของผู้รับสาร ถ้าปราศจากเครื่องกางกั้นแล้ว เขาจะรับสารได้เต็มที่

ทักษะเหล่านี้จำเป็นต้องฝึกฝน เพราะส่วนใหญ่จะเคยชินที่จะตอบสนองต่อสิ่งที่กระทบไปตามความเคยชิน

ขอบคุณครับโกเมศวร์

ผมอยากจะเพิ่มอีกสักกระตี๊ดสำหรับผู้สื่อ ไม่เพียงแต่ใจเป็น "ปกติ" แต่ใจเราควรจะตั้ง "เมตตา" คือจิตปราถนาเพื่อจะเยียวยาเป็นสรณะไว้ด้วย เรื่องนี้สำคัญเพราะเรื่องที่เราจะสื่อ อาจจะปกติสำหรับเรา แต่มักจะ "ไม่ปกติ" สำหรับคนรับ ถ้าเราปกติเกินไป มันจะไม่สอดประสานกับสิ่งที่คนรับกำลังรู้สึกได้ อาจจะเรียบเรียงใหม่เป็น "ให้ใจเราเป็นปกติ และมีรู้สติว่าเรากำลังสื่อสารเรื่องที่ไม่ปกติเอามากๆกับคนที่อยู่เบื้องหน้า"

ส่วนผู้รับสารนั้น คิดว่าจะเปิดรับแค่ไหน ขึ้นกับว่าเขาเป็นคนอย่างไรกับข่าวร้ายกระมังครับ เป็นการสะสมมาทั้งชีวิต ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตรงนี้เราทำอะไรมากไมไ่ด้ แต่เราอาจจะสามารถ explore สักนิด ก่อนจะสื่อสาร พอให้ได้ profile ว่าเขาจะรับแบบไหน เท่าไหร่ จะรับหรือยัง ฯลฯ

ใจที่รู้จักภาวะปกติและเป็นปกติอยู่นั้น มีพร้อมทั้งศีล สมาธิและปัญญา

ถ้าเขาไม่รู้ ก็เรียกว่าไม่มีสติ

สภาวะใจปกติของแต่ละคนเหมือนกัน แต่ถ้าไม่เหมือนกัน แสดงว่า ต้องมีใครสักคนผิดปกติ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ

อา.. อันนี้เป็นเรื่องของนิยามไปแล้ว ดีที่มีการ clarify ครับ

เพราะผมดันไปคิด "ปกติ" คือ norm ซึ่ง norm นี่ไม่ได้เป็นสัมบูรณ์ เป็นอิงบริบท และ norm ของแต่ละปัจเจกไม่เหมือนกัน แต่ที่ว่า ใจปกติ คือใจที่ถึงพร้อมซึ่งศีล สมาธิ และปัญญา อันนี้น่าสนใจมากครับ รวมทั้งสภาวะที่ใจปกติของแต่ละคนเหมือนกันด้วย ขอนำไปครุ่นคิดใคร่ครวญต่อครับ

ขอบคุณมากครับ

 

ภาวะ "ใจปกติ" ที่คุณโกเมศวร์กล่าวว่า "ของแต่ละคนเหมือนกัน แต่ถ้าไม่เหมือนกันแสดงว่าต้องมีใครสักคนผิดปกติ" นี้มีนัยยะเวลาจะนำไปใช้ ต้องระมัดระวังให้ดี

เพราะกรณีนี้ ใจปกติเป็นปรมัตถะ เป็นสัมบูรณ์ นั่นคือ ต้องมี "ปกติ" อยู่ version เดียว จะเกิดปัญหามาทันทีว่า "ปกติของใครที่ปกติ ปกติของใครที่ผิดปกติ" และใครจะเป็นผู้ตัดสิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากเรามั่นใจว่า "ของเรานั้นปกติ" ก็จะแปลว่า "ของใครก็ตามที่ไม่เหมือนเรานั้นผิดปกติ" หรือไม่?

ในขอบเขตของการสื่อสารที่ผมตั้งใจจะใช้ น่าจะเป็นปกติอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้เป็น absolute คือไม่ได้เป็นสัมบูรณ์ เป็นปกติคือ norm ซึ่ง norm นั้นแตกต่างกันได้ norm ของเราเป็นแบบหนึ่ง ในขณะเดียวกันของคนอื่นอีกแบบหนึ่ง และทั้งสองคนสามารถที่จะ "ไม่ผิดปกติ" ในเวลาเดียวกันได้

แต่ถ้าในกรณีที่เราจะทำสมาธิภาวนาเพื่อให้ "ใจปกติ" คือถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้เป็นกิจกรรมอันเป็นสิริมงคล และเป็นหนทางที่น่าเดิน น่าดำเนินไปอย่างยิ่ง และหากทำให้ใจปกติขนาดนี้เป็น norm ไปด้วย คือกลมกลืนกับวิถีชีวิต ก็จะยิ่งดีงาม

คิดว่าประเด็นนี้น่าจะนำไปภาวนาต่อ น่าจะดีเป็นแน่แท้ครับ

นอกจากได้ความคิดและสติปัญญามากมายแล้วก็อ่านสนุกมากครับอาจารย์ ทำให้ผมนึกถึงวิธีมองเรื่องการสื่อสารด้วยทฤษฎีระบาดวิทยา แล้วใช้อธิบายการแพร่ระบาดและการติดต่อกันของปรากฏการณ์ทางสังคมสุขภาพ ผ่านกระบวนการทางข่าวสาร ความรู้ และการสื่อสาร เช่น อธิบายพฤติกรรมการบริโภค รสนิยมและการใช้ชีวิต ที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อ ในสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแบบแผนเดียวกัน ว่าอุบัติการณ์และการระบาดที่เกิดขึ้น  ก็ในเมื่อไม่ใช่โรคที่สามารถติดต่อกันได้ แล้วทำไมหลายแห่งในโลกสามารถเป็นตามๆกันได้เหมือนโรคติดต่ออีกเล่า อะไรจะเป็นตัวอธิบายได้บ้าง (เหมือนกังนัมสไตล์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้เลย) ซึ่งก็มีพลังในการอธิบายได้ดีมากทีเดียว ผมนึกชื่อหนังสือและผู้เขียนที่เป็นตัวอย่างของงานเขียนแนวนี้ในตอนนี้ไม่ออก 

สวัสดีครับ อ.วิรัตน์

กังนัมสไตล์เป็นปรากฏการณ์ social media อย่างนึงแน่นอนครับ  จาก concept มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการแสวงหาหรือการ participate social event เพื่อแสดง existence ของแต่ละคนอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ 

การสื่อสารที่อาจจะมองเป็นแค่มีการส่งต่อข้อมูล แต่รับประกันได้ว่ามีนัยยะที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก ที่ผมยกตัวอย่างการสื่อสารเพื่อการเยียวยาเป็นเพียง theme หนึ่งเท่านั้น ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันกับระบบวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น อาหาร

หมอมักจะมองอาหารเป็นเพียง nutrition คือมีสารให้พลังงาน ให้เกลือแร่วิตามิน ให้น้ำ จบ แต่ที่จริงอาหารเป็นทั้ง social tool, aesthetic (สุนทรียะ ทั้งรูป รส กลิ่น class รสนิยม ชนชั้น ฯลฯ), spirituality (ทุกชาติ ทุกภาษาจะมี "อาหารเฉพาะเทศกาล" ทั้งสิ้น), cultural aspect การแสดงความเป็นเผ่าพันธุ์ มีที่มา มีรากเหง้า มีเครือข่าย ฯลฯ การมีรสชาติอาหารอยู่ในปากไม่สามารถจะทดแทนด้วยการใส่สายจมูกลงไปในกระเพาะ และอัดอาหารเหลวลงไปเท่าไหร่ก็ได้ เพราะ nutritional adequate นั้นคนละเรื่องกับ quality of life หรือ sense of well-being

ตอนนี้ YouTube หรือ FB หรือ social media tool อื่นๆได้ให้อะไรบางอย่างที่เป็น common-value theme นั้นคือ ความมี "ตัวตน" มีคนเห็น มีคนฟัง มีคนพูดคุยด้วย เป็น spirituality อีกรูปแบบ แบบฟาสต์ฟูด แบบ superficial แต่ก็คล้ายๆ buffet คือ เติมได้ไม่จำกัด

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ถ้ามีความรู้สึกว่า "เราปกติ เขาไม่ปกติ" อันนี้ยังเรียกว่า ไม่ปกติครับ

ในความปกตินั้น เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของความเป็นอย่างนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าผิดแผกแตกต่างเป็นอัจฉริยะเหนือคนอื่น

ในความปกตินั้น เราเขาเป็นอย่างเดียวกัน เราจึงเข้าใจเขาได้ แม้เขาไม่ได้พูดอะไร แต่เรารู้สึกได้ มองหาทางออกให้เขาได้ตามสมควร

ทุกคนมีความปกตินี้อยู่ แต่เพราะเคยชินที่จะทำให้มันผิดปกติไป จึงไม่รู้จักมันครับ

อืม.. มันมีความเหมือน และความต่างกันอยู่ในที ระหว่างปกติที่ผมเข้าใจกับที่ผมเข้าใจกับที่คุณโกเมศวร์กำลังสื่อ อาจจะเป็นกำแพงภาษา

ผมยังไม่ทะลุคำว่า "ในความปกตินั้น เราเขาเป็นอย่างเดียวกัน" นี้หมายถึงเราเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันหรือว่าอย่างไร และในส่วนต้นนั้น ที่คุณโกเมศวร์บอกว่า "หากพบว่าสภาวะใจปกติไม่เหมือนกัน จะต้องมีของคนหนึ่งผิดปกติ" ตรงนั้นกับตรงนี้ทำให้ผมยังไม่ทะลุอีกเช่นกันครับ และหากเรา aware ว่าของเราปกติและในเวลาเดียวกันนั้น ด้วยเหตุแห่ง dualism เราก็จะ aware ในเวลาเดียวกันว่าของผู้อื่นที่ไม่เหมือนเรานั้นผิดปกติรึเปล่า? 

เป็นไปได้หรือไม่ หาก "สภาวะใจปกติไม่เหมือนกัน" ในขณะที่เราเข้าใจเขาได้ รู้สึกได้ และพยายามหาทางออกให้กับเขานั้น เขาเองก็อาจจะกำลังลังเข้าใจเรา รู้สึกเรา และพยายามหาทางออกให้กับเราเหมือนกัน? โดยที่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้พูดอะไรกัน

และที่เชื่อมโยงไปถึง "เราเข้าใจเขาได้" 

เพราะส่วนใหญ่ ที่ผมพอจะทำได้คือ "ยอมรับ" แต่ถึงขั้น "เข้าใจ" นี่บางครั้งผมไม่แน่ใจครับว่า เราจะมีฌานบารมีเพียงพอที่จะเข้าใจใครได้อย่างถ่องแท้ แต่ถ้าพูดถึงการที่เรายอมรับเขา อันนี้ไม่ยากมากนัก ฝึกได้ ทำได้ เคยเข้าใจได้บ้างเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะลงเอยไปที่ "คิดว่าเข้าใจ" หรือที่ใกล้เคียงมากๆก็คือ พอเข้าใจเพราะมีประสบการณ์เก่าที่ใกล้เคียง แต่ก็เชื่ออยู่ว่าไม่น่าจะเหมือนกัน

และสุดท้ายก็คือเรื่องของ "ความเคยชิน" นั้นฟังดูจะเป็นอุปสรรคในการมี "ใจปกติ" รึเปล่านะครับ? หรือหมายถึงเหตุปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดความเคยชินนั้นๆ จะว่าไป ตอนแรกคำความเคยชินมันฟังเป็นกลาง เกือบจะใกล้เคียงกับคำว่า "นิจศีล" แต่ตอนนี้ความเคยชินดูจะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่แล้ว หรือว่าจะมีบริบทอื่นเข้ามาประกอบกับความเคยชิน จึงจะเป็นความเคยชินที่เป็นอุปสรรคต่อ "จิตปกติ"?

ดีจังเลย มีคำถามต่อเนื่องเต็มไปหมด ขอบพระคุณมากครับ

ไม่ได้มีเจตนาจะกวนให้ใจขุ่น แต่ด้วยข้อจำกัดของภาษาและปัจจัยบางอย่าง ทำให้สารที่ต้องการสื่อนั้นคลาดเคลื่อนได้ครับ

ตัวเรา ตัวเขา ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้นั้น มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่เหมาะสม ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แล้วกลับคืนสู่ธรรมชาติ นั้นส่วนนึงครับ

ความรู้สึกว่าเรา ว่าเขา ซึ่งเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้แต่รู้สึกได้ถ้าหัดสังเกต นั่นคือสิ่งที่ผมตั้งใจกล่าวถึง ความรู้สึกที่ว่านี้ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แล้วก็กลับสู่ธรรมชาติเช่นกันครับ ตัวอย่างเช่น เราอยู่ในที่ทำงาน มีคนให้ความเคารพ พอเราออกไปสถานที่อื่น สมมติเดินไปกระแทกใครเข้า ซึ่งเขาไม่เคยรู้จักเรา เขาอาจจะไม่พอใจและกระทำอะไรบางอย่าง จังหวะนั้นตัวตนปลอมๆของเราอาจจะออกมาอาละวาด กัดกับตัวตนปลอมๆของอีกคน โดยผ่านทางรูปกายภายนอกก็ได้ ขอให้ลองสังเกตดูครับ

ในจังหวะที่ไม่มีตัวตนปลอมๆที่เป็นนามธรรมนั้นอยู่ มันไ่ม่มีตัวตนเราเขา ใจในสภาวะนั้นเหมาะที่จะรับรู้สรรพสิ่งตามที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่ตามที่เราคิดและให้ความหมาย ส่วนเขาจะเข้าใจเราหรือไม่ อันนี้ไม่สามารถคาดหวังได้ครับ

ความเคยชินที่เป็นปัญหาก็คือความเคยชินที่เข้าไปให้ความหมาย ต่อสิ่งที่เกิดจากการกระทบ จนเกิดตัวเราตัวเขาปลอมๆนั้นขึ้นมา ให้ใจที่เคยปกติผิดไปจากปกติ ซึ่งความเคยชินชนิดนี้ มันเป็นมานานมากตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ จึงยากที่จะยอมรับว่า เราเป็นอย่างนั้น

ทางแก้คือ สร้างความเคยชินอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่เผลอ(มีสติ) ไปให้ความหมายต่อสิ่งที่เกิดจากการกระทบมากจนเกิดเป็นตัวตนเราเขาปลอมๆลวงๆนั้น

ถ้าการให้ความหมายอยู่ในระดับพอเหมาะพอสม แค่รู้ว่าเป็นอะไร ก็จะไม่มีปัญหาครับ อย่าให้เลยเถิดไปกว่านี้

ทุกคนเคยมีประสบการณ์ที่เจอกับภาวะปกตินี้ครับ แต่ไม่รู้จัก จนกว่าจะมาฝึกทำความรู้จัก ก็จะรู้จักครับ

ความกระหายใคร่จะรู้ ที่กำลังเกิดนี้แหล่ะครับ เป็นความผิดปกติ สังเกตดูสักพักมันจะซาลงๆจนหายไป แต่ถ้ามีอะไรมากระตุ้น มันก็เป็นขึ้นมาใหม่อีก วนไปวนมาอยู่อย่างนี้ ความไม่ปกตินี้คือ ทุกข์

ขอบพระคุณครับ

ต้องขอเรียนว่ามิได้เกิดความขุ่นอะไรเลย เป็นความคุ้นชินเดิมของผมเองที่เมื่อยังไม่กระจ่าง หรือยังไม่แน่ใจ ก็จะหาทาง หาคำอธิบายให้มันกระจ่างขึ้นเท่านั้นเอง หากแสดงอะไรออกไปทำให้นึกว่าขุ่นมัว ต้องขออภัยด้วยเช่นกันครับ

และยอมรับว่าเรื่องแบบนี้ ด้วยภาษาที่เราใช้ มันมีโอกาสหลุดเลื่อนเคลื่อนคลาดไปได้เยอะ จนทางที่ดี อาจจะต้องพึ่งพาภาวนามยปัญญาจะดีที่สุด

ในบริบทของการเยียวยา (ตามหัวข้อบทความ) แทบจะเรียกได้ว่าคนเบื้องหน้านั้นจิตกำลังถูกกระทบจากฐานกายเปราะบางทรุดโทรม ส่วนจะกระทบมากหรือน้อย คงแล้วแต่บารมีที่สั่งสมไว้ แล้วแต่ต้นทุนที่สั่งสมไว้ อันที่จริงทุกข์ก็ปกติ สุขก็ปกติ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ปกติ เพราะมันเป็นเช่นนั้น ปัญหามันจะเริ่มต้นตอนที่เราไป label กากบาทว่าอันไหน เยี่ยงไรปกติ เพราะพอกาลงไปปุ๊บ มันก็จะมีตำแหน่งที่เราไม่ได้กาทันที

ทีนี้ในการเกิด empathy นั้น การ "รับรู้" หรือการ "รู้สึกรู้สม" ของผู้เยียวยาผมคิดว่ามีความสำคัญ อาจจะบางทีในระดับมนุษย์ปุถุชนธรรมดากระมัง ที่หากเราก็ทุกข์เป็น สุขเป็น เราจะเห็นว่าพ้นทุกข์ หรือสุขสงบนั้นมันดียังไง ส่วนระดับมองทุกอย่างเป็น ตถตา เป็นปฏิจจสมุปบาท คงจะเป็นอริยชนอีกกลุ่มหนึ่ง เดินๆปะปนอยู่ท่ามกลางเราๆนี่ก็เป็นได้

ก็ขอให้การมองเห็นเป็นปกติ เป็นคนละเรื่องกับการชาเย็น หรือการไม่ synchronize ความรู้สึกของผู้เยียวยากับผู้ถูกเยียวยา ภาษาที่ใช้ (ทั้งวจนภาษาและอวจนภาษา) จะได้สำแดงว่ามิได้อยู่กันคนละโลกเดียวกัน จนบางที ผมว่าหมอๆ พยาบาลๆ จะเปราะบางบ้างก็ได้ จะมีน้ำตาบ้างก็ได้ จะหัวเราะ จะร้องไห้ ก็ไม่แปลกอะไร ขั้นตอนของการเห็นอย่างลึกซึ้งคงจะไม่ต้องเร่งรัดหรือ set goal เอาไว้

เพราะบางทีการมีอารมณ์ร่วมกับคนข้างหน้า มันทำให้เราเห็นความงามของมนุษย์ได้ชัดเจนจากประสบการณ์ตรงได้มากทีเดียว

ขอบพระคุณอีกครั้งครับ เป็นการสนทนาที่น่าสนใจมากครับ

การกลับสู่ใจที่ปกติ เป็นการเยียวยาตนเอง เป็นต้นทุนที่มีทุกคน เป็นการห้อยแขวนความคิด

แล้วเอาใจที่ปกติ ที่มีพลังตามธรรมชาตินั้น ไปเยียวยาผู้ที่เผชิญทุกข์อยู่ต่อหน้า

ขอบพระคุณอาจารย์เช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท