ทรรศนะต่าง ๆ ของท่านนาคารชุน เกี่ยวกับเรื่องศูนยตา / ศุนยวาท / ความว่าง / สุญญตา


ทรรศนะต่าง ๆ ของท่านนาคารชุน เกี่ยวกับเรื่องศูนยตา / ศุนยวาท / ความว่าง / สุญญตา

ทรรศนะเกี่ยวกับโลกของท่านนาคารชุน

     ท่านแสดงว่า  โลกเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม  เป็นปฏิจจสมุปบาท   คืออาศัยกันเกิดขึ้น  ไม่มีสวลักษณะ (สวลักษณะ คือมีอยู่โดยตัวเอง)  เพราะฉะนั้นโลกจึงเป็นสุญญตา   สุญญตาหรือปฏิจจสมุปบาทเป็นอันเดียวกันกับมัชฌิมาปฏิปทา  ทางสายกลาง  ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง   

 

     ปฏิจจสมุปปันนธรรม  และ ปฏิจจสมุปบาท สองคำนี้ ท่านนาคารชุนบอกว่าไม่เหมือนกัน  มีความหมายดังนี้

ปฏิจจสมุปบาท แปลว่าการอาศัยกันเกิดขึ้น หมายถึง  ตัวกฎ 

ส่วนปฏิจจสมุปปันนธรรม  แปลว่า  สิ่งที่อาศัยกฎคือปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้น  หมายถึงปรากฏการณ์  เช่นเราเห็นฝนตกฟ้าร้อง  นี้เป็นปรากฏการณ์  เบื้องหลังแห่งปรากฏการณ์ ย่อมมี่ตัวกฏอันเป็นเหตุให้ปรากฏการณ์เกิดขึ้น  ฝนตกฟ้าร้องเพราะอะไร พอมีกฎอย่างนั้นๆ  เกิดขึ้น  ปรากฏการณ์คือฝนตกฟ้าร้องก็เกิดขึ้น  พระพุทธเจ้าจึงทรงสรุปปฏิจจสมุปบาทกับปฏิจจสมุปปันนธรรมของพระองค์ไว้โดยย่อว่า   “เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี  เมื่อสิ่งนี้ไม่มี  สิ่งนี้จึงไม่มี”

ทรรศนะต่อสวลักษณะ

     ท่านนาคารชุนแสดงว่า  ไม่มีสิ่งใดเป็นสวลักษณะ  ทุกอย่างอาศัยกันเกิดขึ้น  อาศัยกันตั้งอยู่ และดับไป  ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว  เพราะถ้าสิ่งใดมีสวลักษณะ  สิ่งนั้นจะต้องเทียงยั่งยืน  ไม่เปลี่ยนแปลง  แต่สิ่งที่เทียง  ยั่งยืน  ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีในโลกนี้  เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงไม่มีสวลักษณะ

 

ทรรศนะต่อ  สุญญตา  ปฏิจจสมุปบาท  มัชฌิมาปฏิปทา

     ท่านแสดงว่าทั้งสามนี้ เป็นอันเดียวกัน คือมัชฌิมาปฏิปทาเข้ากลางระหว่างอัตถิตา  กับนัตถิตา  สุญญตา  คือความไม่มีสวลักษณะ  สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย  สิ่งใดปรากฏขึ้นหรือมีอยู่ก็เพราะมีเหตุปัจจัย  เมื่อดับไปหรือไม่มีก็เพราะสิ้นเหตุปัจจัย   ปฏิจจสมุปบาทเล่าก็คือสภาพที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นหรือตั้งอยู่   เป็นไปตามเหตุปัจจัย  (ยถา  ปจฺจยํ  ปวตฺตนฺติ)  เพราะฉะนั้น  ทั้งสามอย่างจึงเป็นอันเดียวกัน   ต่างก็เพียงชื่อเท่านั้น   อนึ่งสิ่งทั้งปวงชื่อว่า  “ไม่มีสวลักษณะ”   เพราะคุณลักษณะการมีอยู่ของมันมีได้โดยการเปรียบเทียบเท่านั้น เช่นมีเพราะเปรียบเทียบกับจน   คนมีมากเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีมากกว่า   ก็กลายเป็นคนมีน้อยไป   เรื่องสูง  ต่ำ  ดำ  ขาว  ก็นัยเดียวกันมีได้เพราะเปรียบเทียบทั้งสิ้น

ทรรศนะต่อโลกกับนิพพานไม่ใช่เป็นหนึ่งและไม่ใช่เป็นสอง  ไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน  และไม่ใช่แยกจากกัน  เพียงแต่นิพพานพ้นจากความมีและความไม่มี 

       เปรียบเหมือน  คลื่นไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับน้ำ  แต่ก็ไม่ใช่แยกจากกัน     เราแยกคลื่นออกจากน้ำไม่ได้  แต่น้ำไม่จำเป็นต้องมีคลื่นเสมอไป  เมื่อไม่มีความสำพันธ์กับลม  น้ำก็ไม่เป็นคลื่น  แต่คลื่นจะมีอยู่โดยไม่มีน้ำไม่ได้  เมื่อเห็นคลื่นในทะเล  เราจะตักแต่คลื่นโดยไม่ให้ติดน้ำมาด้วยไม่ได้  เพราะฉะนั้น    โลกเทียบกับคลื่น  นิพพานเทียบกับน้ำ  เราแยกน้ำออกจากคลื่นได้โดยตัดความสัมพันธ์ระหว่างน้ำและลมออกเสีย  แต่เราจะตัดคลื่นออกจากน้ำไม่ได้  ที่ใดมีคลื่นที่นั่นต้องมีน้ำ   แต่ที่ใดมีน้ำไม่จำเป็นว่าที่นั่นต้องมีคลื่นเสมอไป

 

       เพราะฉะนั้นโลกกับนิพพานจึงมิใช่เป็นสิ่งหนึ่งและมิใช่เป็นสิ่งสอง  ไม่เป็นอันเดียวกัน  แต่ไม่แยกจากกัน  คืออยู่ด้วยกันนั่นเอง  แต่คนละลักษณะ   เช่นเราพูดว่า   ห้องนี้ร้อน  พอฝนตกลงมาสักครู่หนึ่ง  ความร้อนก็ลดลง  ความเย็นก็ปรากฏขึ้น  ความทุกข์ความสุขก็อยู่ที่เดียวกันคือใจของเรา  พอทุกข์ดับ  สุขก็ปรากฏขึ้นฉะนั้น

ทรรศนะต่อรูปเปรียบเหมือนฟองน้ำ  วิญญาณเหมือนนักเล่นกล

                รูปเหมือนฟองน้ำ ในความหมายที่ว่า  เกิดขึ้นแล้ว  แตกดับไปเร็ว  ไม่เที่ยง  ไม่ยั่งยืน

 

                เวทนาเหมือนต่อมน้ำเล็กๆ  ตั้งขึ้นครู่เดียวแล้วแตกดับไป  มนุษย์เราวันๆหนึ่งเสวยอารมณ์ที่หลากหลายสุขเกิดขึ้นครู่หนึ่งแล้วก็ดับไป  แปรเปลี่ยนเป็นทุกข์  ทุกข์ก็ทำนองเดียวกัน

 

                สัญญาเหมือนพยับแดด  ปรากฏเป็นตัวตนแต่ไกลเหมือนจะจับฉวยได้  แต่พอเข้าใกล้ก็หายไป  ความจำได้หมายรู้ของคนเราเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแห่งสมมติบัญญัติ   เพิกถอนสมมติบัญญัติเสียได้  ความจำได้หมายรู้ก็ไม่มีประโยชน์อันใด  เพราะมันอยู่ได้ก็มีการเทียบเคียงสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง  ถ้าไม่มีการเปรียบเทียบกันแล้ว  ความจำได้หมายรู้ก็ไม่มีประโยชน์อันใด  เหมือนพูดคำเดียวซ้ำๆฉะนั้น  เมื่อเอาเข้าจริงแล้วไม่มีอะไรเหมือนกับพยับแดดฉะนั้น


                สังขารเหมือนต้นกล้วย  เราหาแก่นจากต้นกล้วยไม่ได้ฉันใด  เราก็หาแก่นสารอะไรจากสังขารนี้ไม่ได้ฉันนั้น  มันเป็นเพียงความคิดปรุงแต่ง  หลอกล่อให้คนดีใจเสียใจไปได้ชั่วครู่ชั่วยามแล้วดับหายไปประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้ายก็เพราะการปรุงของสังขาร เหมือนคนบ้าหาความคงที่ไม่ได้ฉะนั้น

                วิญญาณเหมือนนักเล่นกล  นักเล่นกลหลอกล่อให้คนเห็นสิ่งที่ตัวเล่นเป็นจริงเป็นจัง  ปรากฏเสมือนว่าเป็นจริง   แต่ก็ไม่จริง   อาศัยตากระทบรูป   จักษุวิญญาณเกิดขึ้นแล้วดับไป   อาศัยหูกระทบเสียง   โสตวิญญาณเกิดขึ้นแล้วดับไป  ผู้ที่ยึดถือเอาเป็นจริงเป็นจัง  เป็นที่ตั้งแห่งความรัก  โลภ  โกรธ  หลง  ริษยา   พยาบาท  เอาเข้าจริงมันเป็นอนัตตา หาสาระแก่นสารไม่ได้

ทรรศนะต่อ  นัตถิกทิฏฐิ  และอุจเฉททิฏฐิ

                นัตถิกทิฏฐิ  เช่นเห็นว่า  การให้ทานไม่มีผล  การบูชาต่างๆไม่มีผล  หรือไม่มีความหมายอะไรผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี

                อุจเฉททิฏฐิ   ความเห็นว่าขาดสูญ  สัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็เป็นอันตายไม่เกิดอีก  ทุกคนเกิดมาเพียงชาติเดียว  เมื่อตายแล้วก็เป็นอันขาดสูญ

                เมื่อสิ่งทั้งปวงเป็นมายาแล้ว  บุญและบาปจะมีได้อย่างไร  ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว  บุญ-บาป  ดี-ชั่วมีอยู่สองแบบ  คือแบบที่เป็นอัตตนัย  และแบบที่เป็นปรนัย  แต่ในระดับสูงแล้วท่านสอนให้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น  ไม่เพลิดเพลิน

 

                ทั้งผู้รู้  ทั้งสิ่งที่ถูกรู้  ทั้งความรู้  เป็นสิ่งที่พึ่งพาอาศัยกัน ดำรงอยู่อย่างอิสระ  เนื่องจากปรัชญาสุญญวาทถือว่าจักรวาลทั้งสิ้นเป็นสุญญตาว่างเปล่าจากความจริง  ทั้งจิตและมิใช่จิตล้วนเป็นมายาทั้งสิ้น

 

                ท่านนาคารชุน   ไม่ได้ปฏิเสธความจริงทั้งหมด เพียงแต่ปฏิเสธโลกแห่งปรากฏการที่เรารับรู้อยู่เท่านั้น  เบื้องหลังแห่งโลกปรากฏการนี้มีความจริงอยู่ซึ่งอธิบายไม่ได้ด้วยลักษณะใดๆ  เพราะท่านแบ่งโลกเป็น  ๒   คือโลกแห่งปรากฏการณ์   (Phenominal  World) และโลกแห่งความเป็นจริง  (The  word  of  Reality)   โลกแห่งปรากฏการณ์คือสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาสามัญรับรู้ได้เช่น  สิ่งที่ปรากฏแก่ตนด้วย  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมี   สิ่งที่อยู่เบื้องหลังแห่งปรากฏการณ์   คือ   โลกแห่งความเป็นจริงอธิบายได้ยาก เช่นจะถามว่าไฟฟ้าคืออะไรก็ตอบได้ยากเช่นกัน

                ท่านนาคารชุน  ได้อธิบายความจริงที่สูงที่สุด  ในด้านปฏิเสธเท่านั้น  กล่าวคือเป็นเพียงการอธิบายสิ่งที่ไม่เป็นเพราะเป็นสิ่งที่บุคคลพึงรู้ได้เฉพาะตน

                ธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆนั้น  เราไม่สามารถจะพบได้ด้วยสติปัญญาเชิงตรรกะ  (intellect)   ดังนั้นจึงไม่สามารถจะอธิบายได้  คือสติปัญญาในระดับการหาเหตุผลเชิงอนุมานคือจินตามยปัญญา  ไม่ใช่สติปัญญาที่เกิดจากประสบการตรงคือภาวนามยปัญญา

                ท่านนาคารชุนยังแสดงต่อไปอีกว่า    มีความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฎการณ์ซึ่งไม่มีเหตุปัจจัย  และพ้นจากความเปลี่ยนแปลง หมายถึงความจริงในตัวเอง คือมันจริงอย่างนั้น (ตถตา)  ไม่เป็นอย่างอื่น (อนัญญตา)  เช่น  ความตายของสัตว์ทั้งหลายเป็นปรากฏการณ์ที่เราพบเจอได้แม้จะเป็นจริงตายตัวเด็ดขาดก็ตาม  แต่มันเป็นเพียงความจริงชั้นนอก แต่ความจริงที่ชั้นในที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์มีอยู่อีก  เป็นกฎที่เฉียบขาดกว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  แน่นอนเด็ดเดี่ยว นั้นคือกฎของสภาวธรรมอันทำให้สัตว์ที่เกิดแล้วต้องแก่ต้องตาย  ที่ว่าก็  คือ  ความไม่เที่ยง  ความเป็นทุกข์  และความเป็นอนัตตา

 

                ท่านแสดงต่อไปอีกว่า   จะต้องมีความเป็นจริงที่เป็นโลกุตตระอยู่เบื้องหลังความจริงที่เป็นปรากฏการณ์

                ท่านแสดงว่ามีความจริงอยู่   ๒  อย่าง  ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งพุทธธรรมคือ

๑.      สมมติสัจจะ  หมายถึง  ความจริงระดับสมมติที่คนธรรมดาสามัญทั่วไปรู้จักและยอมรับกันอยู่  เช่นความเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ  ยศศักดิ์ฐานันดร  ฝ่ายสังฆมณฑล  เช่นสมณศักดิ์เป็นพระครู  หรือเจ้าคุณชั้นต่างๆเป็นต้น  ล้วนเป็นสมมติสัจจะทั้งนั้น

๒.    ปรมัตถสัจจะ    หมายถึงการมองในเชิงลึกลงไปอีกว่าแท้จริงแล้ว   ส่วนที่เรายึดติดอยู่มองได้ด้วยตา รับรู้ได้ด้วยอารมณ์ต่างๆนั้น  มันเป็นเพียงมายาที่ปรากฏมันเป็นสุญญตา

      ถ้าต้องการแสดงตามหลักการความจริงปรมัตถ์จะมีค่าเท่ากับความจริงสมมติ  ถ้ามองในกรอบของผู้หลุดพ้นแล้ว  ความจริงปรมัตถ์จะมีเนื้อหาเดียวกับความจริงสมมติ  แต่ถ้ามองในกรอบของโลกิยชน  ความจริงปรมัตถ์จะเป็นก้าวต่อของความจริงสมมติ   ตามหลักการดังนี้ 

                หลักการมองในมุมของผู้หลุดพ้นแล้ว  ความจริงสมมติ  =  ความจริงปรมัตถ์

                วิธีการมองในมุมของปุถุชน  ความจริงสมมติ  >  ความจริงปรมัตถ์

               

 บรรณานุกรม

 ที.อาร์.วี.มูรติ  .  (๒๕๐๙)  ปรัชญามาธยมิก.   กรุงเทพฯ:   โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย  

สุมาลี   มหณรงค์ชัย.  (๒๕๔๘).  พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง.  กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์สยาม

วศิน  อินทสระ.  (๒๕๕๐).  สาระสำคัญแห่งพุทธปรัชญามหายาน  พิมพ์ครั้งที่  ๒.  กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ธรรมดา

หมายเลขบันทึก: 500422เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทั้งผู้รู้  ทั้งสิ่งที่ถูกรู้  ทั้งความรู้  เป็นสิ่งที่พึ่งพาอาศัยกัน ดำรงอยู่อย่างอิสระ  เนื่องจากปรัชญาสุญญวาท...ถือว่าจักรวาลทั้งสิ้น...เป็นสุญญตาว่างเปล่าจากความจริง  ทั้งจิตและมิใช่จิต....ล้วนเป็นมายาทั้งสิ้น....ชอบมากค่ะตรงนี้

ความจริงอยู่   ๒  อย่าง  ซึ่งเป็น...ที่ตั้งแห่งพุทธธรรมคือ

๑. สมมติสัจจะ หมายถึง  ความจริงระดับสมมติ...ที่คนธรรมดาสามัญทั่วไปรู้จักและยอมรับกันอยู่  เช่น ความเป็นนั่น เป็นนี่ต่างๆ  ยศศักดิ์ฐานันดร  ฝ่ายสังฆมณฑล  เช่น สมณศักดิ์เป็นพระครู  หรือ เจ้าคุณชั้นต่างๆเป็นต้น  ล้วนเป็นสมมติสัจจะทั้งนั้น

๒. ปรมัตถสัจจะ หมายถึง การมองในเชิงลึกลงไปอีก...ว่าแท้จริงแล้ว   ส่วนที่เรายึดติดอยู่มองได้ด้วยตา รับรู้ได้ด้วยอารมณ์ต่างๆ นั้น  มันเป็นเพียงมายาที่ปรากฏมันเป็นสุญญตา


P'Ple....ชอบคำสอนตรงนี้มากค่ะ ขอบคุณมากๆ ที่นำมาให้พี่อ่านนะคะ.... ทั้งหมดที่ท่าน สอน & อธิบาย....คือ  ข้อเท็จจริง (Fact) ...ที่มนุษย์...ไม่ว่าชนชาติใดๆ ก็ต้องพบ อย่างแน่นอนนะคะ  ขอบคุณน้อง นะคะ




ขอบคุณทุกท่านที่มามอบดอกไม้นะครับ

และ Comment ดี ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท