คัมภีร์อุปนิษัท


อยากรู้เรื่องอาตมัน หรือ อัตตา ต้องเรียนรู้จากอุปนิษัท

คัมภีร์อุปนิษัท  

 

          นับว่าเป็นวรรณกรรมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดมาจากคำบอกเล่าของฤาษีทั้งหลายในสมัยอดีต   มีทั้งสมัยก่อนพระพุทธเจ้าและสมัยหลังพระพุทธเจ้า   อันเป็นผลของการเพ่งพินิจจากญาณทรรศนะของท่านผู้เป็นนักคิดที่ปรารถนาจักเห็นแจ้งซึ่งสัจจะที่เป็นสาระและรากฐานที่มาของสรรพสิ่ง   คัมภีร์อุปนิษัทก็ได้แสดงออกถึงความไม่สงบภายในจิตใจมนุษย์  ที่ปราศจากความรู้แท้จริง   และยังมุ่งหมายจะให้มนุษย์ทั้งหลายรู้ว่า    ธาตุแท้ของมนุษย์แต่ละคนนั้นคือ อาตมัน  ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธาตุแท้   หรือเนื้อแท้ของจักรวาล  คือ   พรหมัน  หรือปรมาตมัน 

 

           อาตมันในตัวคนแต่ละคนกับวิญญาณซึ่งอยู่เบื้องหลังจักรวาลและเป็นผู้ให้กำเนิดจักรวาลคือสิ่งเดียวกัน  และโดยเนื้อแท้แล้ว  คนทุกคนก็เป็นอันเดียวกัน  ฤาษีผู้ถ่ายทอดความรู้นี้แก่อนุชนมุ่งหมายให้เรารู้ว่าความเกี่ยวกับอาตมัน  และพรหมันนั้นเป็นความรู้ที่จะนำไปสู่อิสรภาพหรือความหลุดพ้นจากวัฏฏะแห่งการเกิดการตาย  จะนำไปสู่ความเกษมสุขและอมตภาพ  

 

            คัมภีร์อุปนิษัทมีอีกชื่อหนึ่งว่า  “เวทานตะ”  แปลว่า ที่สุดของคัมภีร์พระเวท (เวท + อนฺต = เวทานฺต)  ตามศัพท์   อุปนิษัท  แปลว่า  นั่งใกล้  หมายความว่า  ศิษย์นั่งใกล้อาจารย์ และได้รับความรู้นี้จากอาจารย์  โดยทั่วไปแล้วถือกันว่า  อุปนิษัทเป็น “รหัสยะ”  คือเป็นคำสอนลึกลับที่ศิษย์ผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้นพึงได้รับจากอาจารย์

 

           คำว่า อุปนิษัท  มาจาก  อุป  อุปสรรค แปลว่า “ใกล้”  นิ อุปสรรค แปลว่า “ลง”  และ  สทฺ  ธาตุ  แปลว่า  “นั่ง”  รวมคำทั้ง ๓ เข้าด้วยกัน แปลว่า  นั่งใกล้อย่างตั้งอกตั้งใจ  หมายความว่า  ศิษย์ทั้งหลายเข้าไปนั่งใกล้อาจารย์เพื่อเรียนคำสอนที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างตั้งอกตั้งใจ  เพราะอุปนิษัทประกอบด้วยความหมายที่ลึกซึ้งของพยางค์  โอม  และการอธิบายคำที่ลึกลับ  เช่น  ตัชชลาน  (ตชฺชลานฺ)  เป็นที่บรรจุทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่เหนือโลก  ดังนั้น  คำว่าอุปนิษัทจึงกลายเป็นชื่อของเรื่องที่ลึกลับ (รหัสยะ)

 

            คัมภีร์อุปนิษัทมีอีกชื่อหนึ่งว่า  “พรหมวิทยา”  คือ  เป็นวิทยาหรือความรู้ที่นำเราไปสู่  “พรหม”   คำว่า   “พรหม”    มีความหมายเช่นเดียวกันกับคำว่า  “ปรมาตมัน”  ทั้งสองคำนี้แปลว่า  “พระเจ้า” 

 

          คัมภีร์อุปนิษัทที่สำคัญมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดประมาณ  ๑๕๐  อุปนิษัท  แต่ที่รับรองกันทั่วไป มี  ๑๐๘   อุปนิษัท มีความยาวและสั้นต่างกัน ในมุกติกะอุปนิษัท   ปรากฏชื่อของอุปนิษัททั้งหมดไว้   ๑๐๘  นี้ ซึ่งเป็นส่วนของยชุรเวท   แต่โดยทั่วไปแล้ว   อุปนิษัทที่เป็นงานสำคัญก็มีเพียง  ๑๐  อุปนิษัทเท่านั้น    

           แต่ศังกราจารย์ได้เขียนภาษยะอธิบายอุปนิษัทไว้ว่ามี  ๑๑  อุปนิษัท    คือ อีศา  เกนะ   กฐะ   ปรัศนะ   มุณฑกะ  มาณฑูกยะ   ไตตติรียะ   ไอตเรยะ     ฉานโทคยะ   พฤหทารัณยกะ  และเศวตาศวตระอุปนิษัท ทั้งหมดนี้อาจารย์รุ่นหลัง ๆ  ทั้งหลายถือเป็นแบบฉบับในการแปลความหมายของอุปนิษัทตั้งแต่นั้นตลอดมาเวลาในการแต่งอุปนิษัทนั้นไม่สามารถที่จะบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าแต่งขึ้นเมื่อไร   แต่อุปนิษัทที่เก่าแก่ที่สุดมีอยู่  ๘  อุปนิษัท  คือ  ไอตเรยะ  เกาษีตกี   ฉานโทคย   เกนะ  ไตตติรียะ  พฤหทารัณยกะ   อีศาและกฐะอุปนิษัท  แต่งขึ้นในศตวรรษที่  ๘  และที่  ๗ ก่อนคริสตศักราช  และก่อนพุทธกาล   ส่วนอุปนิษัทอื่น ๆ   ศังกราจารย์อธิบายว่าน่าจะแต่งขึ้น  ประมาณ  ๔๐๐ ปี  ถึง  ๓๐๐ ปี  ก่อนคริสตศักราช   

 

           และที่ว่าคัมภีร์อุปนิษัทซึ่งเป็นส่วนท้ายสุดของพระเวทนั้น   หมายถึงทุกพระเวท  ซึ่งแบ่งออกได้  ๔  หมวด  คือ  ฤคเวท   ยชุรเวท   สามเวท  และอาถรรพเวท   ดังนั้น  อุปนิษัทเมื่อแบ่งลงในพระเวทเหล่านั้นแล้ว  ก็สามารถแบ่งออกได้  ดังต่อไปนี้

๑)      ไอตเรยะอุปนิษัท  และเกาษีตกีอุปนิษัท   จัดเป็นส่วนหนึ่งของฤคเวท

๒)     ไตตติรียะอุปนิษัท   กฐะอุปนิษัท  เศวตาศวตระอุปนิษัท  และไมตรียะอุปนิษัท   จัดเป็นส่วนหนึ่งของกฤษณะยชุรเวท  (ยชุรเวทดำ)   พฤหทารัณยกะอุปนิษัท และ อีศาอุปนิษัท  จัดเป็นส่วนหนึ่งของศุกละยชุรเวท (ยชุรเวทขาว)

๓)     ฉานโทคยะอุปนิษัท  และเกนะอุปนิษัท   จัดเป็นส่วนหนึ่งของสามเวท

๔)     ปรัศนะอุปนิษัท   มุณฑกะอุปนิษัท  และมาณฑูกยะอุปนิษัท  จัดเป็นส่วนหนึ่งของอาถรรพเวท

 

บรรณานุกรม

S.Radhakrishnan, The  Principal  Upanisads  (Delhi : Gopsons Papers,  1994)

              

                     

หมายเลขบันทึก: 500418เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ธาตุแท้ของมนุษย์...แต่ละคนนั้นคือ อาตมัน  ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธาตุแท้หรือเนื้อแท้ของจักรวาล  คือ   พรหมัน  หรือปรมาตมัน แลชอบ 

 หมายความว่า  ...ศิษย์นั่งใกล้อาจารย์ และได้รับความรู้นี้จากอาจารย์  โดยทั่วไปแล้วถือกันว่า  อุปนิษัทเป็น “รหัสยะ”  คือ..เป็นคำสอนลึกลับ...ที่ศิษย์ผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น...พึงได้รับจากอาจารย์...อ้อ...เป็นเช่นนี้ นี้เอง

ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท