สุขภาวะชุมชน


สุขภาวะชุมชน
แผนสุขภาวะ เครืองมือสู่การสร้างสุขระดับท้องถิ่น
แผนสุขภาวะเครื่องมือสู่การสร้างสุขระดับท้องถิ่น :หลักวิชาและความเป็นจริง
                                                                                                                                                       ประสิทธิ์ชัย   หนูนวล        เครือข่าย อสม. โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้
 
แผนสุขภาวะชุมชนเป็นคำซึ่งหมายถึง      แผนงานในการสร้างสุขของชุมชน    ที่มีนัยยะของการสร้างสุขทั้งทางกาย ใจและสังคม แผนสุขภาวะอาจมีนัยยะที่คล้ายคลึงกับแผนชุมชนที่รู้จักกันทั่วประเทศ แต่แผนสุขภาวะมุ่งเน้นที่ภาวะของความสุขเป็นหลักและที่น่าสนใจก็คือแผนสุขภาวะค้นพบหน่วยที่เหมาะสมสำหรับการสร้างแผนสุขภาวะรวมทั้งรูปแบบวิธีการในการก่อเกิดและขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ สิ่งสำคัญที่จะพูดถึงเรื่องแผนสุขภาวะในบทความนี้มีอย่างน้อย ๓ ประเด็น คือ การก่อเกิดของแผนสุขภาวะ หน่วยที่เหมาะสมในการมีแผนสุขภาวะและการขยายผลแผนสุขภาวะ   ซึ่งทั้งสามประเด็น    เป็นบทเรียนจากการทำงานในบางพื้นที่ของชุมชนภาคใต้
 
เท่าที่ผ่านมา    มีการจัดทำแผนชุมชนกันเกือบทั่วทั้งประเทศ ซึ่งวิธีการก็คือการใช้เวทีหรือแบบสำรวจเป็นเครื่องมือหลักในการทำให้ได้มาซึ่งแผนชุมชน และมีชุมชนจำนวนมากที่ได้แผนมาแล้วแต่ไม่สามารถนำแผนเหล่านั้นไปสู่ภาคปฏิบัติได้ ซึ่งไม่ต้องพูดถึงมิติของการขยายผลแต่อย่างใด ปรากฏการณ์แผนชุมชนจึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง น่าสนใจตรงที่ว่าการมีแผนในการพัฒนาในระดับชุมชนนั้นมิอาจใช้รูปแบบการปูพรมหรือมีวิธีการที่รวบรัดเพื่อให้ได้มาซึ่งแผนงาน และที่สำคัญกว่านั้นก็คือการเกิดขึ้นของแผนเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติการจริงนั้นจำเป็นต้องสอดคล้องกับบริบทของความเป็นชุมชนท้องถิ่น บทเรียนที่สำคัญของแผนชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การขบคิดเกี่ยวกับเครื่องมือประเภทแผนต่อก็คือ จะทำให้แผนนี้มีผลจริงต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างไร ซึ่งจากบทเรียนของแผนสุขภาวะชุมชนทำให้มีประเด็นที่ชวนขบคิดอย่างยิ่งดังนี้
 ๑.   การเกิดขึ้นของแผนสุขภาวะชุมชน       หัวใจสำคัญของการเกิดแผนก็คือ   การมีกิจกรรมที่ทำจริงของชุมชน  ซึ่งเป็นไปได้ว่ากิจกรรมอาจเกิดขึ้นแล้วก่อนการทำแผน   หรือเกิดขึ้นหลังจากการทำแผน แต่การเกิดขึ้นของกิจกรรมหลังการทำแผนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการเรียนรู้ควบคู่กับการทำแผนจนชุมชนนั้นเห็นความสำคัญของแผนจนเป็นแรงผลักดันไปสู่การทำกิจกรรมจริงได้ จากบทเรียนของบางชุมชนในภาคใต้พบว่าแผนชุมชนนั้นเกิดอาการตายนึ่ง คือแผนไม่สามารถเคลื่อนไปได้ตามที่แผนงานเขียนเอาไว้ทั้งนี้เพราะกระบวนการเกิดขึ้นของแผนงานไม่มีกระบวนการเรียนรู้กำกับที่เข้มข้นมากพอ  บทเรียนของชุมชนควนกุฎิ  ชุมชนฝาละมีใน จ.พัทลุงพบว่า การเกิดขึ้นได้จริงของแผนสุขภาวะนั้นกฎเกณฑ์สำคัญอยู่ที่ “การเลือก” คือเลือกทำในสิ่งที่พร้อมหรือเห็นว่าสำคัญก่อนแล้วจึงค่อยๆเคลื่อนไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ระยะเวลาของการเคลื่อนไปสู่สิ่งอื่นๆอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีก็แล้วแต่สภาพของชุมชน ทั้งนี้เพราะชุมชนไม่สามารถดำเนินงานตามแผนพร้อมๆกันหลายเรื่องพร้อมๆกันได้ แผนสุขภาวะที่มีชีวิตจึงเกิดขึ้นได้ด้วยการเลือกทำบางกิจกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นให้ได้แล้วจึงค่อยๆเคลื่อนไปสู่สิ่งอื่นๆ โดยสรุปแล้วการเกิดขึ้นของแผนสุขภาวะสามารถเป็นไปได้ทั้งสองแนวทางก็คือ หนึ่ง มีกระบวนการเกิดขึ้นของแผนงานแล้วจึงเลือกทำกิจกรรม สองคือเกิดกิจกรรมอยู่ก่อนแล้วเพียงแต่ทำให้กิจกรรมนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผน  ทั้งนี้การที่แผนจะกลายเป็นจริงได้เงื่อนไขก็คือต้องมีกิจกรรมเกิดขึ้นให้ได้  ว่ากันโดยลำดับความสำคัญแล้วกระบวนการเกิดขึ้นของแผนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะจะเป็นจุดชี้ว่าแผนจะสามารถแปลตัวข้อมูลไปสู่ปฏิบัติการจริงได้หรือไม่  กระบวนการเกิดขึ้นของแผนจึงต้องให้เวลาสำหรับการเพาะบ่มจนสุกงอมพอ  ถ้าเป็นเพียงกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลก็ไร้ประโยชน์ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป
๒.   หน่วยที่พอเหมาะสำหรับการเกิดขึ้นของแผนสุขภาวะชุมชน    ความสำคัญของหน่วยในการเกิดขึ้นของแผนสุขภาวะนั้นมีความสำคัญยิ่งตรงที่จะบ่งบอกว่า ศักยภาพที่จะทำให้แผนสามารถเกิดขึ้นได้จริงนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งหลายที่ไม่ซับซ้อนมาก นั่นหมายถึงว่าถ้าหน่วยในการสร้างสุขภาวะได้จริงตามแผนงานมีขนาดที่กว้างเกินไป อาจทำให้การดำเนินงานไม่สามารถสำเร็จตามที่หวังได้ บทเรียนจากเครือข่ายสร้างสุข อสม. ในแถบจังหวัด พัทลุง พบว่าหน่วยที่มีความเป็นไปได้จริงของการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุแผนสุขภาวะชุมชนก็คือหน่วยระดับชุมชนหมู่บ้าน ทั้งนี้หน่วยระดับหมู่บ้านนั้นปัจจัยยังไม่ซับซ้อนมากจนกลายเป็นอุปสรรคของการทำงาน สามารถออกแบบให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมในเชิงคุณภาพได้  กล่าวคือสามารถก่อให้เกิดกลุ่มกิจกรรมที่สามารถพบปะเรียนรู้ระหว่างกันได้และร่วมกันสร้างสรรกิจกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้น อย่างไรก็ตามหากออกแบบกิจกรรมเชิงคุณภาพในระดับตำบลอาจไม่สามารถดำเนินการได้จริงเนื่องจากเป็นหน่วยที่ใหญ่เกินไปทั้งมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนที่อาจจะไม่มีความใกล้ชิดกันเพียงพอ ทำให้ไม่สามารดำเนินการกิจกรรมนั้นๆได้  แต่มีบางกิจกรรมที่เหมาะสำหรับการดำเนินการระดับตำบล เช่น การจัดการกับการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชนซึ่งเป็นการใช้ร่วมกันทั้งตำบล เพราะฉะนั้นหน่วยในการสร้างสุขจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งเพราะว่าจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่
 หน่วยระดับตำบลเป็นหน่วยซึ่งได้รับการพูดถึงมากที่สุดในการจัดทำแผนซึ่งเราจะคุ้นกับชื่อที่เรียกว่าแผนชุมชน ซึ่งมักจะถูกออกแบบให้มีการจัดทำแผนระดับตำบล  หน่วยระดับตำบลถูกให้ความสำคัญมากขึ้นนับตั้งแต่การเกิดขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย อบต.กลายเป็นองค์กรที่มีความสำคัญมาก เพราะมีทั้งกำลังคน งบประมาณและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ทำให้แผนที่เกิดขึ้นอาจถูกล้อไปตามกลไกดังกล่าว ซึ่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในหลายชุมชนนั้นแผนชุมชนกลายเป็นเอกสารเก็บข้อมูลเพียงเท่านั้น ไม่สามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นจริงได้
 ๓.ผู้นำในการขับเคลื่อนแผนงานสุขภาวะ   ปัจจัยเรื่องคนที่หมายถึงกลุ่มผู้นำนั้นกลับพบว่ามีความสำคัญยิ่งเช่นกันเนื่องจากว่า การที่จะสามารถแปลข้อมูลไปสู่การปฏิบัติได้นั้นคนต้องเกิดการเรียนรู้ที่จะทำก่อน การเรียนรู้ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องยากพอสมควร และจะมีคนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเรียนรู้ได้ก่อน คนกลุ่มดังกล่าวก็จะกลายเป็นกลุ่มผู้นำ ที่ต้องนำตัวเองให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นและในอีกจังหวะหนึ่งก็จะต้องช่วยในการนำคนอื่นๆให้เกิดการเรียนรู้ด้วย บทเรียนประการหนึ่งที่พบสำหรับการทำงานของกลุ่มผู้นำก็คือ กลุ่มผู้นำในความเป็นจริงแล้วสามารถนำได้ในพื้นที่หรือขอบเขตระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น เป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับในระดับหมู่บ้านแต่พอให้ผู้นำเหล่านี้ไปเคลื่อนงานในระดับตำบลก็จะพบว่ามีปัญหาเรื่องการทำงาน ทั้งการยอมรับและมีปัจจัยที่ซับซ้อนมากขึ้นเกินกว่าที่กลุ่มผู้นำเหล่านี้จะสามารถขับเคลื่อนงานตามที่มุ่งหวังไว้ได้ เพราะฉะนั้นการทำงานของกลุ่มผู้นำจึงมีความสัมพันธ์อยู่กับขนาดของหน่วยในการสร้างสุขด้วย เพราะฉะนั้นการสร้างผู้นำในการขับเคลื่อนงานจึงต้องคำนึงถึงขนาดของงานและรูปแบบของงานด้วย  ผู้นำบางคนอาจเหมาะกับการทำให้เห็นอยู่ให้เป็นตัวอย่างและไม่ถนัดกับการขับเคลื่อนงานกับหน่วยขนาดใหญ่เช่นระดับตำบล ในบางพื้นที่จึงมีอาการของผู้นำที่เกิดอาการแบบเคลื่อนงานไม่ออก ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาไม่มีความสามารถแต่เป็นเพราะว่าขอบเขตของงานนั้นไม่เหมาะสม
 ๔. การขยายผลแผนสุขภาวะชุมชน  สำหรับประเด็นการขยายผลแผนสุขภาวะชุมชนนั้นมีบทเรียนว่าในบางครั้งเราไม่อาจตั้งขอบเขตของพื้นที่เพื่อขยายงานให้เต็มในพื้นที่นั้นๆ เช่นกำหนดขอบเขตว่าเป็นแผนสุขภาวะระดับตำบล จึงต้องดำเนินการให้เต็มในตำบลนั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปได้ยากเนื่องจากลักษณะของแต่ละหมู่บ้านนั้นยังมีความแตกต่างกันอยู่ เพียงปัจจัยของกลุ่มผู้นำก็มีผลต่อการขยายงานในระดับหมู่บ้านอยู่แล้วนี่ยังไม่รวมถึงปัจจัยด้านความพร้อม ทรัพยากร การขยายผลให้เกิดแผนสุขภาวะจึงเป็นการขยายผลตามความพร้อมของชุมชน ซึ่งอาจอยู่คนละตำบล คนละอำเภอก็เป็นได้    ทั้งนี้ก็เพราะว่าความเป็นชุมชนที่แท้จริงซึ่งหมายความว่าคนที่มีความสัมพันธ์กันนั้นอยู่ในระดับหมู่บ้านมากกว่า การขยายผลจึงต้องคำนึงถึงสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งกล่าวแล้วในเบื้องต้นก็คือ หน่วยที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสุขภาวะ ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงหรือมีคำตอบตายตัวว่าควรจะเป็นหน่วยขนาดไหนแต่ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน  ความเข้าใจในลักษณะและความเหมาะสมของการขยายผลจึงมีความสำคัญด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะติดกับดักของคำว่าการขยายผล
 แผนสุขภาวะชุมชน  เป็นเครื่องมือที่สำคัญของการแก้ปัญหาชุมชนในเชิงระบบเพราะแผนชุมชนสามารถกลายเป็นแผนที่ทางความคิดของชุมชนที่จะแสดงว่าชุมชนมีสภาพเป็นอย่างไร มีทุกข์ตรงไหน มีศักยภาพตรงไหน เพียงแต่การเริ่มทำให้แผนชุมชนเกิดเป็นความจริงนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงกิจกรรมที่มีพลังก่อนภายใต้หน่วยการทำกิจกรรมที่เหมาะสม   โดยมีปัจจัยชี้ขาดก็คือเกิดผู้นำที่สามารถนำและสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆได้หรือไม่   หากขาดเสียซึ่งหลักปฏิบัติแล้วแผนสุขภาวะชุมชนก็จะกลายเป็นเพียงหลักคิดเท่านั้นไม่สามารถก้าวไปสู่การมีหลักวิชาและหลักปฏิบัติที่จะทำให้แผนสุขภาวะชุมชนเกิดผลได้
 
 
 
 
 
 
คำสำคัญ (Tags): #สุขภาวะชุมชน
หมายเลขบันทึก: 500419เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เก็บไว้อ่าน เอาไว้เป็นตัวอย่างค่ะ

สุขภาวะชุมชน....ต้องร่วมสร้าง..... "โดยชุมชน...ของชุมน...เพื่อชุมชน นะคะ"


ขอบคุณนะึคะ

 

    ลดอ้วน....ลอพุง...ลดโรค

 

ห่วงยางหน้าท้อง ยิ่งรังเกียจยิ่งมานะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท