หมออนามัย แห เครื่องมือจับปลา


 แห เครื่องมือจับปลา

หมออนามัย นายอานนท์ ภาคมาลี

 

แห เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ถักเป็นตาข่ายใช้ทอดแผ่ลงในน้ำ แล้วต้องดึงขึ้นมา เพื่อการยังชีพ หรือเพื่อประกอบอาชีพของคนชั้นล่างของสังคมที่กล่าวเช่นนี้ เพราะยังไม่เคยเห็นคนชั้นสูงหรือคนชั้นกลางใช้แหเพื่อหาปลาเป็นอาหาร หรือหาปลาเพื่อการจำหน่ายเป็นประจำ แต่จะเป็นครั้งคราวของบุคคลชั้นดังกล่าว เพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลินในยามว่างหรืออาจจะมีบ้างที่บางคน อดีตเคยเป็นชาวบ้านธรรมดาอยู่ตามชนบท ตอนหลังอพยพเข้าสู่ตัวเมืองและเปลี่ยนอาชีพในสังคมเมือง ฐานะดีขึ้น จึงอยากระลึกถึงอดีตของตัวเองเท่านั้นเอง ดังนั้น แหจึงถือเป็นเครื่องมือเพื่อการยังชีพ หมายถึงใช้จับปลาเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันและใช้ประกอบอาชีพ คือใช้จับปลาเพื่อการจำหน่าย ของชาวบ้านในชนบทซึ่งเป็นฐานะทางสังคม แหถือเป็น ภูมิปัญญา ของชาวบ้านที่แท้จริง เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิต ให้ชีวิตมีห่วงโซ่เรื่องอาหาร และรายได้ในชีวิตประจำวัน แหจึงได้รับการพัฒนาและเอาใจใส่ เริ่มจากการได้รับการถ่ายทอดเบื้องต้นจากบรรพบุรุษ แล้วลองผิดลิงถูกจนเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์เฉพาะตัวของบุคคล ความแตกต่างของความเชื่อ เรื่องแห ทั้งโครงสร้าง ขนาด วิธีทอด วิธีย้อม และวิธีต่างๆ ที่ดีแล้วคล้ายๆกัน แต่ลึกๆแล้วมีหลายอย่างที่แตกต่างกัน ซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อจากวิธีปฏิบัติจริงๆ และได้ผลที่ต่างกันของบุคคล จนกลายเป็นประสบการณ์และภูมิปัญญาของตนเองในที่สุด นี่เองที่นักวิชาการเพิ่งเห็นความจำเป็น เข้าใจและเลือกใช้คำว่า ภูมิปัญญา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ข้าพเจ้านายอานนท์ ภาคมาลีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2517 เดินทางมาเรียนหมออนามัย (พนักงานอนามัยจัตวา) ศูนย์ฝึกอบรมอนามัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอแก่น อยู่ประมาณ 6 เดือน และไปฝึกปฏิบัติงานที่ศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบทหนองหาน อำเภอหนองหานจังหวัดอุดรราชธานี ประมาณ 2 เดือน และไปฝึกปฏิบัติงานที่บ้านดอนช้าง ตำบลบ้านเหล่านาดี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ประมาณ 6 เดือน ในช่วงที่อยู่ ได้รับการถ่ายทอดในการใช้แหหาปลา หรือตึกปลา จากคุณพ่อสามารถ แสนโคตร ผู้มีพระคุณ ทุกๆวันนี้ยามว่างจะออกไปหาปลาเป็นประจำ มีแหไว้ในครอบครอง 12 ปาก ตั้งแต่ตาเล็กไปหาตาใหญ่ ท่านสอนให้ผมปักเบ็ด ตกเบ็ด ดักลอบ ดักไซ ดักกุ้ง จับกบหาเขียด หาแมงกะชอน จิ้งหรีด และวิธีการสังเกตทางธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกๆปี เกี่ยวกับการหาปลาและการจับสัตว์น้ำต่างๆ

ความจริง แห เขาใช้ทอด  เหวี่ยง (ภาคกลาง) หรือตึก (ภาคอิสาน) เพื่อหาปลาในนาเท่านั้น บ่อยครั้งที่แหใช้ทอดบนบก ก็มีในบางกรณี บางโอกาส เช่น ใช้ทอดหรือตึกเพื่อจับไก่ เพื่อจับงู เพื่อจับหมา จับกบ ต่างกรรมต่างวาระ ดังกล่าว มาจากการไล่จับจนหมดแรงแล้ว จึงต้องทุนแรงโดยการพึ่งแห ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายอย่างไรก็ตาม บทความนี้ ก็คงให้รายละเอียดในบางเรื่อง บางประเด็นที่ที่เกี่ยวกับแหเป็นมุมมองเชิงมนุษย์วิทยาวัฒนธรรม ให้ผู้อ่านที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่า แห คืออะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มีความยาก ง่าย เกี่ยวกับวิธีสาน ความเชื่อที่เกี่ยวกับแห และหน้าที่เฉพาะของแห เพื่อเสริมแต่งความรู้ แก่ผู้สนใจให้เข้าใจและบันทึกองค์ความรู้หนังสือ แม้จะไม่สมบูรณ์นัก

แห เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งสำหรับใช้จับปลา ซึ่งนิยมกันมากของคนทั่วไป เพราะโดยทั่วไปทุกๆคนจะมีแหล่งน้ำขนาดเล็กมากมาย สวนหนอง บึง ลำคลอง หรือแม้นาขนาดใหญ่จะมีน้อยมากและไม่สามารถเก็บน้ำได้ตลอดปี วิธีจับปลาที่ได้ผลเร็วและสะดวกที่สุดของคนทุกภาค ก็คือการใช้แหแทนเท่านั้น ดังนั้น แหของคนทุกภาค จึงมีหลายขนาด หลายชนิด ด้วยความจำเป็นเพื่อการยังชีพในอดีตแทบทุกครัวเรือน ดังนั้นชาวบ้าน จึงมีแหไว้จับปลา และถ่ายทอดภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับแห ไว้อย่างต่อเนื่อง คงความเชื่อโบราณหรือเป็นวิถีชีวิตปกติ าทุบให้เ้นๆแล้วนำแผ่นเหล

การสานแห ต่างท้องถิ่น แห และวิธีการถักต่างกันไปบ้าง ถักแบบมัดหัวแมลงวันถักสองครั้ง ถักแบบรัดก้อย ส่วนที่น่าจะเหมือนกันคือ จอมแข กับแข จอมแห คือ จุดศูนย์กลางของแห เอาไว้เป็นจุดดึงหรือรวบก็ได้ เป็นตัวกำหนดที่ค่าก็ใช้ แต่ละคนจะโชว์การขึ้น (ถักจอม) จอมแหด้วยลายถักต่างๆกันไป บางคนทำสวยมาก คนไหนถักเก่งๆก็จะโดนรบกวนให้ขึ้นจอมแหเป็นประจำ อุปกรณ์ในการสานแห คือ กีม หรือ จีม ปาน เชือก ด้าย ลูกเหล็ก หรือตะกั่ว

กีม หรือ จีม คือ ไม้ไผ่มาเหลาให้แบนหนาประมาณ 3 –4 มิลลิเมตรกว้าง1 นิ้วยาว8 นิ้วหัวแหลมมน ประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของความยาว (ปัจจุบันใช้ไม้พลาสติกสำเร็จรูป มีให้เลือกๆหลายๆขนาด

ปาน เหลาไม้ไผ่ให้แบนคล้ายไม้บรรทัดยาว 5 – 6 นิ้วหนาประมาณ 2 –3 มิลลิเมตรความกว้าง ขึ้นอยู่กับตาแหที่ต้องการ

วิธีการสาน เริ่มจากส่วนจอมแห ลักษณะทำจอมมีบ่วง ไว้สำหรับห้อยแขวนระหว่างสานโดยใช้ไม้แบบ ปานแห และ กิ่ม หรือจีม สานโดยการถักห่วงเป็นจอมแห เรียกว่าแขแห ถ้าเริ่มด้วย 16 ห่วงเรียกว่า แขแห16 จากแขแหชุดแรก สองรอบแรกต้องแข 16 จะเป็นหลักของชุดต่อไปจนถึงปากแห แขแห 16 นี้ และรอบที่สาม จะแขแหทุกระยะเว้น 2 ตาแห หรือเมื่อสานได้ 2 รอบ แขแหมีประโยชน์เพื่อจะช่วยให้แหบานแผ่กว้างขึ้นเรื่อยๆ รอบๆ จอมแห (แข คือ ส่วนที่จะไปช่วยเพิ่มจำนวน ปริมาณตาของแห เพิ่มความกว้างของแห ขยายออกเรื่อยๆตามหรือสัมผัสกับความยาวของแห ตามที่คนเคยถักแหมา ก็จะ 2 ตา ติดแขครั้งหนึ่ง ตาแหก็จะเท่ากับ 16   ทุกๆ 2 ตา ด้านยาว ตาที่ติดแข จะยืดตาที่เริ่มจากจอมเป็นหลัก ไล่ลงมาจนจรดที่ตีนแห ตะกั่วถ่วงแห/ลูกเหล็กถ่วงแห/ลูกแห ลองสังเกตดู แต่แหที่ถักเครื่องอุตสาหกรรม ไม่มีแข ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มตาแหคราวละ 11 ตาหรือ 16 ตาดังกล่าว อันจะทำให้แหแผ่เป็นวงกลมได้รูปไม่เป็นแผ่นตึง หรือเป็นถุงหย่อนยานจนเกินไป ซึ่งโดยปกติแล้ว แขแห 16 เพราะการเพิ่มตาแหความถี่สูง แบบตาเว้นสองตา ความยาวของแห วัดด้วยศอกของผู้ถักหรือสาน แต่ต้องนับจากจอมแห อันเป็นความเชื่อที่โบราณสอนไว้ ถ้าจะใช้จับปลาได้น้อย หรือไม่เป็นมงคล ความยาวตามที่ต้องการแล้ว จึงเมื่อจะถึงจุดที่หยุดทำแขแหอีกต่อไป ถ้าตึกถูกดีก็จะหยุดสาน นับจากแขชุดสุดท้าย สานต่อไปอีกประมาณ 20 ตา หรือ 23 รอบ จะถึงรอบที่จะต้องทำ ดามแห ซึ่งเป็นที่หมายในการผูก แห่งแหปกติดามแห จะมีระยะห่างกันประมาณ 9 ตาแห ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของแห เมื่อทำตามแหโดยรอบแล้ว จึงถึงขึ้นสุดท้ายของการสาน ด้วยการสานเพาแห ส่วนนี้จะสานต่อโดยไม่มีแขแห ประมาณ 9  ตาแห  เมื่อหมดขั้นตอนของการสานแล้ว จึงถึงขั้นตอนติดลูก เรียกว่า ซูแห การติดลูกแหซึ่งมีลักษณะเป็นห่วงโซ่เหล็ก หรือตะกั่ว จะต้องใช้เชือกหรือด้ายที่มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของเชือกหรือด้ายสานแหปกติ เมื่อซูแหเสร็จจึงถึงขั้นตอนผูก แห่งแห ที่ลูกแหกับดามแหที่ทำไว้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสานแห

การซูแหหรือการใส่ลูกแห ถ้าเป็นแหขนาด 7 ศอก จะใช้ลูกแหทั้งหมด 1,300 ลูก ถ้าเป็นแห 9 ศอกต้องใช้ลูกแห 1,500 ลูก ลูกแหที่นิยมกันคือลูกเหล็ก เพราะมีน้ำหนักดี เวลาที่จะติดลูกแห จะต้องดูก่อนว่าตาแหถี่ หรือห่าง ถ้าตาแหห่าง จะนอน 5 สลับนอน 7 ถ้าเป็นแหถี่จะนอน 3 ล้วนๆ หากเป็นแหห่างซึ่งตาแหจะใหญ่จะใช้นอน 5 สลับกัน ที่นอน 7 เพราะว่าถ้านอน 7 ล้วนๆ ตาแหจะแบนออกเวลาผูกเพาตึงลูกแหจะหย่อนทำให้ปลามีช่องโหว่และหนีได้

การย้อมแห ก่อนจะนำแหไปหาปลา จะต้องย้อมแหโดยวิธีธรรมชาติที่ชาวบ้านนิยมย้อมกันมาก ก็คือ ย้อมด้วยเลือดวัว เลือดควาย ผสมกับใบไม้เช่น ใช้ใบบก ใบกะบาก เปลือกต้นมะม่วงน้อย เปลือกประดู่ ลูกตะโกดิบ โดยการโขลกหรือตำใบดังกล่าว อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยครกหินหรือครกไม้ขนาดใหญ่แล้วคลุกกับเลือดวัวหรือเลือดควาย ในกาละมัง ขนาดใหญ่ โดยนำแห ลงคลุกกับส่วนผสมที่เตรียมไว้ ใช้มือบีบคน คลุกจนได้ที่แล้ว จึงนำแหนี้ไปนึ่ง ด้วยหวดประมาณครึ่งชั่วโมง (เลือดสีกัดแล้ว) ก็นำแหไปตากหรือผึ่งแดด จุดประสงค์ของการย้อมแห ก็คือนอกจากเลือดและยางใบไม้ที่เหนี่ยวจะช่วยเคลือบเนื้อไนล่อนหรือปมขมวดที่สานกันของแหให้กลมกลืน น้ำซึมเข้าไม่ได้ แล้วยังทำให้เนื้อแห มีความลื่น จมน้ำได้เร็ว และสีของเปลือกไม้กับเลือด เมื่อนึ่งสุกแล้วจะทำให้แห มีสีดำ และมีความโปร่ง ง่ายต่อการสาวแห และง่ายต่อการเก็บปลา

การถวงแห หลังจากตากแห แห้งดีแล้วปราชญ์ชาวบ้านบางท่านกล่าวว่า แหก็ยังนำไปทอดหรือตึกไม่ได้ จะต้องนำแห มาถ่วงโดยการใช้ไหบรรจุน้ำจนเต็ม ด้วยการนำไหใส่ในตัวแหแล้วมัดตีนแหให้จอมมัดกับขอหรือกิ่งไม้ ทิ้งไว้ข้ามคืนโดยประมาณ จุดประสงค์เพื่อให้แหมีความกระชับและอยู่ตัว หลังจากนั้น แหก็ใช้ทอดหรือตึกได้เลย การเหวี่ยงแห (ทอดแห ตึกแห) ถือเป็นศาสตร์เฉพาะตัวจะต้องใช้ความรู้ ความสามารถเฉพาะตัวมาก

การตากแห  หลังจากที่ใช้แหจับปลาเสร็จแล้ว ควรจะนำมากตากให้แห้ง สลัดเอาเศษไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ หรือเศษปลาเล็กออกให้หมด เพื่อไม่ให้กลิ่นคาวของปลา ซึ่งแมลงสาบ หรือหนู หรือจิ้งจกและมดชอบ จะทำให้แหขาด ดังนั้นจึงต้องนำแหมาผูกกับเชือก แขวนไว้หรือห้อยไว้กับต้นไม้ หรือที่สูงๆ โดยใช้เชือกมัดที่จอมแหแขวนไว้ และใช้ไม้ไผ่คาดตัวแห เพื่อให้แหแห้งเร็ว และทำความสะอาดได้ง่าย หลังจากนั้นนำมามัดแบบก้นจก แล้วเก็บไว้ในกระสอบแขวนไว้ในที่สูง หรือในตู้เก็บของ

ข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับแห

แหถี่(ตาเล็ก) มีตาเล็กกว่า1 นิ้ว    แหห่าง (ตาใหญ่) มีตาใหญ่กว่า 1 นิ้วขึ้นไป

ถ้าแบ่งตามลักษณะของแห ลงน้ำที่นำแหไปใช้ คือ ทุกพื้นที่ ที่มีน้ำขัง จะใช้แหขนาดยาว 9 ศอก โดยการเหวี่ยงหรือหว่านแห จากเรือหาปลา สวนแหห้วย แหหนอง จะยาว 5 - 6 ศอก โดยการเหวี่ยงแหจากฝังหรือลุยน้ำเหวี่ยงแหในห้วย ในหนอง ถ้าแบ่งตามขนาดของแห นิยมใช้นิ้วมือเป็นเครื่องวัด คือแหชี้ (ขนาดตาแหนิ้วชี้) แหโป (ขนาดตาแหเท่าหัวแม่มือ) แหสอง (ขนาดตาแหเท่าสองนิ้ว) แหสาม แหสี่ แหห้า แหหก แหเจ็ด แหแปด (ใช้นิ้วมือเป็นมาตรฐานขนาดของตาแห)

สำหรับชาวบ้านชาวชนบทแล้ว แหคือความห่วงโซ่เรื่องอาหารและรายได้ เพื่อการยังชีพ ตราบใดที่แหล่งน้ำธรรมชาติยังมีอยู่ นั้นหมายถึงที่นั้นย่อมมีปลาและอาหารธรรมชาติ ดังนั้นวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับแห ยังคงโยงใยกับชีวิตชาวบ้านของชนบท ทุกภาคตลอดไป เพราะวิถีชีวิตได้ถูกกำหนดและถ่ายทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน แม้วัฒนธรรมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่แห ยังผูกพันกับปวงชนของบุคคลระดับกลางของสังคมชนบท เพราะธรรมชาติกำหนดให้เขาและสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ร่วมกันมิใช่หรือ

ผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ นายสังวาล หินซ้อน 135 หมู่ 9 บ้านถนนโค้ง ตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระยุรี

หมายเลขบันทึก: 500298เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาหาร รายได้ แหล่งน้ำ มี...... ห่วงโซ่ อาหาร ....ของคน ในชนบท นะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท