กรรมทีปนี ของท่านเจ้าคุณวิลาส


เนื้อหาของหนังสือเรื่อง  “กรรมทีปนี”   เป็นการแสดงถึงเรื่องของกรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งได้นำมาจากหลักฐานตามหนังสือพระไตรปิฎกและหนังสืออรรถกถา ฎีกา  ของพระอรรถกถาจารย์   ถ้าจะว่าโดยเรื่องทั้งหมดนั้น   ถือได้ว่าเป็นหนังสือที่มีความยาวมากที่ศึกษามาก็มีประมาณถึงหนึ่งพันกว่าหน้ากระดาษ  ภายในเนื้อหานั้นท่านก็ได้โยงไปถึงการทำกรรมและไปรับใช้ผลกรรมที่ทำไว้ในชาติต่อไปตามกรรมที่ตนได้กระทำในขณะที่มีชีวิต  และท่านได้โยงไปถึงภพทั้งสาม การจะไปเกิดในภพภูมิไหนทำกรรมอะไรไว้  เช่น

ถ้าทำกุศลกรรมไว้ ก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ   ถ้าทำอกุศลกรรมไว้ก็จะไปเกิดในทุคติภูมิ   และในตอนแรกท่านได้เขียนถึงกรรมอันเกิดจากมิจฉาทิฏฐิ และก็ยกตัวอย่างทิฏฐิของครูทั้ง ๖ แต่ยกมาเพียง ๓ ท่าน   คือ

๑. ปูรณกัสสปะ    มีทิฏฐิเป็นอกิริยทิฏฐิ คือเห็นว่า บุญที่ทำก็ไม่เป็นอันทำบาปที่ทำก็ไม่เป็นอันทำจะทำบุญหรือบาปหาได้รับผลไม่

๒. มักขลิโคศาล    มีทิฏฐิเป็น อเหตุกทิฏฐิ คือมีความเห็นว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเพื่อความเศร้าหมองและความบริสุทธิแห่งสัตว์ทั้งหลาย   ทำมีการกระทำของตนเอง  ของบุรุษ  ของผู้อื่น ไม่มีกำลังแห่งความเพียรกรรมต่าง ๆ  จะให้ผลโดยบังเอิญไม่มีเหตุปัจจัย

๓. อชิตเกสกัมพล   มีทิฏฐิเป็นนัตถิกทิฏฐิ คือเห็นว่า ทานไม่มีผล  การบูชาไม่มีผล  การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี  โลกนี้ไม่มี  โลกหน้าไม่มี  บิดามารดาไม่มี  สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบไม่มี   คนเราก็มีเพียงธาตุทั้ง ๔  เมื่อตายไปก็เสื่อมไปไม่มีอะไร

เมื่อผู้มีความผิดอย่าง ครูทั้ง ๓ ท่านนี้ย่อมจะต้องพากันไปเกิดในอบายภูมิเมื่อตายไปแล้วอย่างแน่นอน

ประเภทของกรรมในทางพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๓  อย่าง คือ

๑. กิจจจตุกกะ

๒. ปากทานปริยายจตุกกะ

๓. ปากกาลจตุกกะ

 

ภาคที่ ๑  ประเภทแห่งกรรม

กรรมประเภทที่ ๑   ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า กิจจจตุกกะ คือ ประเภทของกรรมที่ว่าโดยหน้าที่นั้นมีอยู่ด้วยกัน ๔ ประการ ดังนี้

๑. ชนกกกรรม

๒. อุปัตถัมภกกรรม

๓. อุปปีฬกกรรม

๔. อุปฆาตกกรรม

กรรมประเภที่ ๒   ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า ปากทานปริยายจตุกกะ คือ ประเภทแห่งกรรมที่ว่าโดยลำดับการให้ผลนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๔ ประการ  ดังนี้

๑. ครุกรรม

๒. อาสันนกรรม

๓. อาจิณณกรรม

๔. กตัตตากรรม

กรรมประเภทที่ ๓  ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า ปากกาลจตุกกะ  คือ ประเภทแห่งกรรมที่ว่าโดยเวลาที่ให้ผลนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๔ ประการ ดังนี้

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

๒. อุปปุชชเวทนียกรรม

๓. อปราปริยเวทนียกรรม

๔. อโหสิกรรม

ประเภทแห่งกรรมตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีอยู่  ๓ ประเภท   แบ่งออกเป็นประเภทละ  ๔ ประการ  รวมเป็นกรรมทั้งสิ้นจำนวน  ๑๒ ประการ คือ

๑. ชนกกรรม   กรรมมีหน้าที่ยังวิบากให้เกิดขึ้น หมายความว่า การที่สัตว์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาได้ในวัฏฏภูมิ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดียรฉาน  มนุษย์  เทวดา  หรือจะเกิดเป็นอะไรก็ตามที  ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งชนกกรรมทั้งสิ้น

๒. อุปถัมภกกรรม   กรรมมีหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูกรรมอื่น หมายความว่าหน้าที่ของกรรมนี้ได้แก่การเข้าไปอุปถัมภ์ค้ำชูกรรมของสัตว์ที่เกิดแล้ว  จริงอยู่เมื่อสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจชนกกรรมชักนำปฏิสนธิให้แล้ว  อุปถัมภกกรรมก็เข้าทำหน้าช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูให้ได้รับความทุกข์หรือความสุขตามสมควรแก่กรรม คือถ้าเป็นอุปถัมภกกรรมฝ่ายอกุศล ก็ย่อมทำหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูกรรมที่เป็นอกุศลให้มีพลังมากยิ่ง ๆ ขึ้น  เพื่อให้สัตว์ที่เกิดซึ่งเป็นเจ้าของกรรมได้รับความทุกข์นาน ๆ  ถ้าเป็นอุปถัมภกกรรมฝ่ายกุศล ก็ย่อมทำหน้าที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ เข้าทำหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูกรรมที่เป็นกุศลให้มีพลังมากยิ่งขึ้น  เพื่อให้สัตว์ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเจ้าของกรรมได้รับความสุขนาน ๆ

๓. อุปปีฬกกรรม  กรรมมีหน้าที่เบียดเบียนกรรมอื่น  หมายความว่า หน้าที่ของกรรมนี้  ได้แก่การเข้าไปเบียดเบียนทำร้ายกรรมที่มีสภาพตรงกันข้ามกับตน คือ ถ้าเป็นอุปปีฬกกรรมฝ่ายอกุศล  ก็ย่อมทำหน้าเบียดเบียนทำร้ายกุศลกรรมความดีงามซึ่งให้ผลเป็นความสุขความเจริญแก่เจ้าของกรรม  แล้วบันดาลให้เจ้าของกรรมได้รับความทุกข์ ความเสื่อม  ถ้าเป็นอุปปีฬกกรรมฝ่ายกุศล ก็ย่อมทำหน้าที่เบียดเบียนทำร้าย อกุศลกรรม  ความชั่วที่ให้ผลเป็นความทุกข์ความเสื่อมแก่เจ้าของกรรม แล้วบันดาลให้เจ้าของกรรมนั้นได้รับความสุข ความเจริญ

๔. อุปฆาตกกรรม  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุปัจเฉทกกรรม  กรรมที่มีหน้าเข้าไปฆ่าหรือเข้าไปตัดรอนกรรมอื่น หมายความว่า เข้าไปฆ่าเข้าไปตัดรอนกรรมที่มีสภาพตรงกันข้ามกับตนเป็นปัจจุบันทันด่วนยิ่งกว่าอุปปีฬกกรรม

๕. ครุกรรม  กรรมหนักซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นลำดับ ๑ คือ ถ้าเป็นครุกรรมฝ่ายอกุศล ก็จะชักนำบุคคลผู้เป็นเจ้าของกรรมไปปฏิสนธิในนิรยภูมิทันทีหลังจากที่เขาตายไปจากชาตินี้แล้ว   ถ้าเป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ก็จะให้ผลชักนำให้ผู้เป็นเจ้าของกรรมไปปฏิสนธิในพรหมภูมิทันทีหลังจากเขาตายแล้ว

๖. อาสันนกรรม  กรรมที่กระทำในเวลาใกล้จะตาย มีอำนาจให้ผลเป็นลำดับ ๒ รองจากครุกรรม

๗. อาจิณณกรรมหรือพหุลกรรม  กรรมที่กระทำบ่อย ๆ ซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นลำดับที่ ๓ รองจากครุกรรมและอาสันนกรรม คือถ้าก่อนตายกรรมทั้งสองไม่มี อาสันนกรรมก็จะเข้าทำหน้าที่

๘. กตัตตากรรม  กรรมที่สักแต่ว่ากระทำ คือทำโดยไม่มีเจตนาอย่างเต็มที่  เป็นกรรมซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นลำดับที่ ๔

๙. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม   กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันคือในชาตินี้ เช่น การถวายอาหารพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธสมาบัติ  เป็นต้น

๑๐. อุปปัชชเวทนียกรรม  กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า คือเป็นกรรมที่ให้ผลรองเป็นลำดับ ๒ จากทิฏฐธรรมเวทนียกรรม   จะให้ผลในชาติที่ติดต่อกับชาติปัจจุบันคือชาติที่สองนั้นเอง

๑๑. อปราปริยเวทนียกรรม  กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป คือให้ผลช้ารองจากทิฏฐธรรมเวทนียกรรมและอุปปัชชเวทนียกรรม  ให้ผลในชาติที่ ๓ ไปนั้นเอง

๑๒. อโหสิกรรม  กรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผล หมายความว่ากรรมนั้นมีพลังน้อยก่วากรรมอื่นจึงถูกกรรมอื่นชิงให้ผลก่อน  กรรมนั้นก็กลายเป็นหมันไปคือไม่มีโอกาสให้ผล เช่นผู้ทำกรรม  ทำทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ๒ อย่าง ถ้าอย่างไหนมีพลังมากกว่า  อย่างนั้นก็จะให้ผลไป และกรรมที่มีพลังน้อยจึงกลายเป็นอโหสิกรรมไป

อธิบายว่าธรรมดาจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์หรือคิดอ่านในอารมณ์ และมีสภาพไม่แน่นอนเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นนิตย์ และวิถีจิตมี ๗ ชวนะ คือ

เจตนาที่ประกอบอยู่ในชวนะดวงที่ ๑ เป็นตัว ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

เจตนาที่ประกอบอยู่ในชวนะดวงที่ ๗ เป็นตัวอุปปัชชเวทนียกรรม

เจตนาที่ประกอบอยู่ในชวนะระหว่างกลาง ๕ ดวง ซึ่งได้แก่ ชวนะดวงที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ เป็นตัวอปราปริยเวทนียกรรม

ในการเขียนบรรยายความในกรรมที่ได้กล่าวมาก็ได้มีการยกตัวอย่างบุคคลผู้ได้รับผลของกรรมทั้งที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศลมาเป็นตัวอย่างด้วย  ในที่นี้จะขอนำเอาความย่อของบุคคลผู้ได้รับผลของกรรมมาแสดงพอเป็นตัวอย่างตามที่ได้อธิบายไว้ ดังต่อไปนี้

สำหรับผู้ที่ได้รับผลของครุกรรมนั้น ก็คือพระเทวทัต ได้กระทำกรรมอันหนักอันเป็นอนันตริยกรรมทั้ง ๒ ประการ คือ ๑. ทำพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ  ๒. ทำสงฆ์ให้แตกกันจึงทำให้พระเทวทัตได้รับผลของครุกรรมอันเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม  คือได้รับผลในปัจจุบันชาติเลย   และเรื่องของสาวงาม ที่ได้รับผลของ อปราปริยเวทนียกรรม  ที่ตนเคยทำไว้  เรื่องมีอยู่ว่า  ชาวประชาชนเป็นจำนวนมากได้ลงเรือใหญ่ไปเที่ยวในมหาสมุทร  เมื่อเรือใหญ่เดินทางมาถึงกลางมหาสมุทรเรือเกิดหยุดเอาเฉย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ  แม้หัวหน้าผู้คุมเรือจะพยายามให้ลูกน้องทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะเคลื่อนเรือได้  จนเวลาล่วงเลยมานาน นายเรือจึงมีความคิดว่า ภายในเรือนี้อาจจะมีคนกาลกิณี อยู่ก็ได้   จึงได้ทำฉลากให้ผู้ที่เดินทางมาด้วยทั้งหมดจับเพื่อหาตัวกาลกิณี  ให้จับหมดทุกคนแม้แต่ภรรยาสาวของหัวหน้าเรือก็ให้จับด้วย   แต่เป็นที่แปลกมากเพราะฉลากที่สั้นอันเป็นกาลกิณีนั้นภรรยาสาวของหัวหน้าเรือเป็นผู้จับได้    แม้จะทำการจับในรอบที่ ๒ หรือ รอบที่  ๓  ฉลากอันเป็นกาลกิณีก็ยังมาปรากฏอยู่ที่มือของภรรยานายเรือตลอด  นายเรือถึงจะมีความรักแสนรักในภรรยาจำต้องตัดใจเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของผู้โดยสารทั้งหมด  จึงได้มีคำสั่งให้ลูกเรือจับภรรยาของตนเอาเชือกมัดที่คอผูกติดกับก้อนหิน แล้วสั่งให้โยนลงไปในทะเล   หลังจากนั้นจึงสามารถเคลื่อนเรือออกจากกลางมหาสมุทรได้   นี้เกิดจากอปราปริยเวทนียกรรมของสาวงามที่เป็นภรรยาของนายเรือที่เคยทำไว้เมื่อสองชาติหรือหลายชาติกว่าสองชาติที่ผ่านมา เพราะอปราปริยเวทนียกรรมนั้นจะให้ผลในชาติที่ ๓ ถัดจากชาติปัจจุบันไป และกรรมเมื่อชาติก่อนของสาวงามนั้นก็คือ

นางได้เคยฆ่าสุนัขอย่างทารุณ คือ นางได้นำสุนัขผู้ ตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้  จนสุนัขนั้นโตขึ้น  นางจะไปไหนสุนัขก็จะคอยวิ่งตาม  จนทำให้ชาวบ้านล้อเลียนทำให้นางเกิดอับอายจึงไล่ตีสุนัขให้ไม่วิ่งตามตนอีก  แต่ด้วยสัญชาตญาณของสัตว์ผู้จงรักภักดีต่อเจ้านายเพราะสุนัขนั้นเคยเป็นสามีนางเมื่อชาติก่อนโน้น  สุนัขก็ไม่ย่อท้อก็ยังวิ่งตามอยู่เหมือนเดิม  นางจึงวางแผนฆ่าสุนัข คือนางได้นำเชือกติดตัวไปที่ท่าน้ำใหญ่แห่งหนึ่งอันมีฝั่งชันและน้ำลึก  เมื่อไปถึงเห็นสุนัขวิ่งมาตามก็แกล้งทำเป็นดีด้วย แล้วก็เรียกสุนัขมาหาเมื่อจับสุนัขได้แล้ว  ก็มัดที่คอสุนัขด้วยเชือกแล้วนำเชือกข้างหนึ่งผูกติดกับก้อนหินใหญ่ให้อยู่ใกล้กับคอสุนัข เพื่อหวังจะให้ก้อนหินใหญ่นั้นนำร่างสุนัขจมลงไปในน้ำ    หลังจากนั้นก็ได้ผลักสุนัขและก้อนหินที่ผูกติดคอสุนัขลงในที่ท่าน้ำอันลึก  ก้อนหินก็ได้ดึงร่างสุนัขตัวน่าสงสารลงไปสู่ใต้พื้นน้ำกับมันก็ทำให้สุนัขซึ่งเป็นอดีตสามีในชาติก่อนของหญิงสาวนั้นสิ้นชีวิตไป

เมื่อหญิงนั้นตายไปแล้วหลังจากนั้นอีก ๒ ชาติ ก็ได้มาเกิดเป็น ภรรยาของนายเรือจึงต้องมารับใช้กรรมด้วยการถูกนายเรือสั่งลูกน้องจับมัดคอติดกับหินแล้วโยนลงในมหาสมุทร  ซึ่งเป็นการรับผลของ อปราปริยเวทนียกรรม ของนางเอง

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมอันเป็นฝ่ายกุศลที่ให้ผลก็มีเรื่องนาย สุมนะมาลาการ ที่ถวายดอกมะลิ ๘ ทะนานกับพระพุทธเจ้า แล้วก็ได้เป็นเศรษฐีภายในวันนั้น โดยพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้

คำสำคัญ (Tags): #กรรม 12#กรรมทีปนี
หมายเลขบันทึก: 500293เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โอ้....กรรมยังมีหลายประเภท นะคะ "กรรมคือ การกระทำของตน กรรม..........อีกมาก

ขอบคุณ บทความดีดีนี้นะคะ

ขอบคุณพี่ Somsri นะครับที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น

กรรมทีปนีที่เจ้าคุณวิลาส อตีดเจ้าอาวาสวัดยานาวา ได้เขียนไว้นั้น เป็นหลักกรรมที่ถูกต้อง และครบถ้วนแล้วครับในทางพระพุทธศาสนา ส่วนเรื่องกรรมที่พี่พูดนะครับ ว่ามีอีกมากมายนั้น เป็นสิ่งที่เป็นข้อย่อยของหัวข้อเหล่านั้น ซึ่งผมไม่ได้นำมาอธิบายไว้ เพราะยาวมากนะครับ และเป็นหนังสือดีที่คนไทยควรอ่านอีกหนึ่งเล่นนะครับ การที่เราจะอ่านเรื่องกรรมได้ แบบไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย ควรมี ตถาคตโพธิสัททา (คือมีความเชื่อในตัวพระตถาคต) เสียก่อนนะครับ เวลาอ่านจะได้ไม่เกินข้อสงสัยมากมาย

(มีที่ร้านดอกหญ้าที่จำหน่ายนะครับ มี สองเล่ม แต่ผมแนะนำว่าซื้อเพียงเล่มหนึ่งก็พอครับ เล่มสอง เป็นเรื่องไกลเกินตัวไป เรื่องภพภูมินะครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท