Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 8)


หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เริ่มปรากฏชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้นไม้สื่อสารได้ มีความจำ หรือแม้แต่อาจจะมี "ปัญญา" เลยนะครับ

ตอนเด็กๆสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมมักจะได้รับรู้อยู่เรื่อยๆ ว่า พฤกษศาสตร์ในประเทศไทยนี้ช่างเป็นเรื่องที่ไม่น่าเรียนเอาเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยไหน หลักสูตรพฤกษศาสตร์ก็ไม่มีเด็กอยากเข้าไปเรียน เวลามองเข้าไปในภาควิชาพฤกษศาสตร์ ก็จะเห็นกระถางต้นไม้รกรก จัดได้น่าเบื่อมาก ......

 

นั่นเป็นเรื่องของอดีตไปแล้วครับ นับวัน นับวัน ศาสตร์ทางด้านนี้จะน่าศึกษา และน่าค้นหามากขึ้นเรื่อยๆ เลยครับ ต้นไม้มีอะไรที่น่าสนใจ น่าค้นหา ศาสตร์อื่นๆ เริ่มจะข้ามเข้ามาขอศึกษาต้นไม้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ประสาทวิทยา (Neuroscience) วิทยาศาสตร์การรับรู้ (Cognitive Science) หุ่นยนต์ศาสตร์ (Robotics) นาโนศาสตร์ (Nanoscience) ชีววิทยาโมเลกุล (Molecular Biology) จีโนมศาสตร์ (Genomics) ชีวกลศาสตร์ (Bionics) และอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ตอนนี้ พฤกษศาสตร์เนื้อหอมมากๆ

 

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เริ่มปรากฏชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้นไม้สื่อสารได้ มีความจำ หรือแม้แต่อาจจะมี "ปัญญา" เลยนะครับ มีรายงานในวารสาร Ecology Letters (รายละเอียดเต็มเพื่อการอ้างอิงคือ Richard Karban and Kaori Shiojiri, "Self-recognition affects plant communication and defense", Ecology Letters (2009) vol. 12, pp. 502-506) โดยศาสตราจารย์ ริชาร์ด คาร์บาน (Richard Karban) แห่งภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ได้ศึกษาพืชชนิดหนึ่งชื่อฝรั่งว่า Sagebrush (เป็นพืชพวกเดียวกับ โกฐจุฬาลัมพา) พืชตัวนี้มีความสามารถในการคุยกัน มันจะพยายามปกป้องพวกญาติๆ ของมันจากภัยอันตรายรอบตัว ด้วยการปล่อยสารระเหยบางชนิดออกมาเพื่อเตือนญาติๆ ของมันเมื่อแมลงมาบุกโจมตี นอกจากนี้มันยังปล่อยสารเคมีออกมาเพื่อป้องกันตัวด้วย เพื่อทำให้แมลงไม่อยากกินมันเป็นอาหาร ศาสตราจารย์คาร์บานได้ทดลองตัดกิ่งของมัน ซึ่งพบว่ามันจะปล่อยสารระเหยออกมา สารนี้จะทำให้ต้นอื่นๆ รอบๆตัวมันปล่อยเคมีบางชนิดเพื่อปกป้องตัวเองล่วงหน้า เป็นผลทำให้ต้นไม้บริเวณรอบๆ ไม่ค่อยมีแมลงเข้ามากินเท่าไหร่

 

 ความเข้าใจในเรื่องการสื่อสารที่ดูเงียบๆ ซ่อนเร้นของพืชนี้ จะมีประโยชน์ในการออกแบบหุ่นยนต์ ที่สามารถสื่อสาร และปฏิบัติงาน โดยอาศัยและพรางตัวในสภาพแวดล้อม โดยสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานได้เอง ...... เอาไว้มาคุยเรื่องนี้กันต่อครับ ..............

หมายเลขบันทึก: 499945เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2012 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2012 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ต้นไม้ไม่ได้โง่...

ต้นไม้... ฟังเพลงได้...นะคะ

ต้นไม้... มีความสุขได้ (ออกดองสวยงาม)

ต้นไม้....หิวน้ำ + หิวข้าว..นะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

 

  • Sagebrush !! อะไรกันนี่ มีอย่างอย่างนี้ด้วยเหรอ 555555 อ่านแล้วก็อดขำไม่ได้ ให้ตายตายสิ ชอบมากๆเลย น่าสนใจ แล้วที่ใครๆว่า พืช ไม่มีความรู้สึก ไม่มีจิตวิญาณ มันก็คงจะไม่ใช่อย่างที่เข้าใจกัน อย่างนั้นหรือ.........สงสัยมานานเหมือนกันเกี่ยวกับพืช ว่าในปาจิตตีย์กัณฑ์ ห้ามพระพรากของเขียว (ตัดต้นไม้) ไม่งั้นอาบัติ ผิดวินัยสงฆ์ ถามใครว่า ทำไมผิดในเมื่อพืชไม่มีความรู้สึก หรือจิตวิญาณ เค้าก็บอกไม่รู้ ที่สงสัยคือว่า เคยอ่านประวัติ สมเด็จพระกัสสปะสัมมาลัมพุทธเจ้า ครั้งเป็นภิกษุหนุ่มบำเพ็ญสมณธรรมจนชรา นานถึงสองหมื่นปี วันหนึ่งลงนาวาจะข้ามนทีไปสู่ฝั่งอื่น เมื่อจะลงนาวาได้ ยื่นมือไปจับใบตะไคร้นำ ที่ริมฝั่ง ครั้นนาวาแล่นไปก็เผลอมิได้ ปล่อย ใบตะไคร่น้ำขาดติดมือไป ครั้นถึงฝั่งที่ตนปรารถนาแล้วก็เลยลืม มิได้แสดงอาบัติ ตั้งหน้าไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าต่อไป ครั้นล่วงอายุขัย เมื่อใกล้จะถึงแก่มรณภาพ นอนอยู่บนเตียงเป็นที่ตาย เกิดนึกขึ้นได้ จะหาภิกษุองค์ใดที่จะแสดงอาบัติด้วยก็มิได้มี ภิกษุนั้นให้เกิด ความเดือดร้อนด้วยโทษผิดพุทธบัญญัติอันเล็กน้อยนี้ ครั้นสิ้นชีวิตก็ไปเกิดใน กำเนิดเดรัจฉาน เป็นพญูานาคราชใหญ่ ภายหลังได้แปลงเพศเป็นมาณพมาเฝ้า สมเด็จพระพุทธเจ้าสมณโคดมบรมครูของเราทั้งหลาย ได้ฟังธรรมแล้ว ก็หาได้บรรลุมรรคผลคุณวิเศษแต่ประการใดไม่ เพราะว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน
  • เป็นไปได้ไหมว่าพระพุทธเจ้ารู้ว่า พืช มันก็มีหัวจิตหัวใจ นะ ฉะนั้น ห้ามฆ่า (พรากของเขียว)

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นนะครับ เมื่อตอนพระพุทธองค์จะเสด็จสู่มหาปรินิพพาน ทรงเลือกมณฑลตรัสรู้ระหว่างต้นสาละคู่ ใกล้เมืองกุสินารา พระอานนนท์ทรงอัญเชิญพระพุทธองค์ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ เช่น สาวัตถี หรือ ราชคฤห์ เพื่อให้เหมาะแก่ฐานะของพระสัมมาสัมพุทธพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงห้าม ด้วยเหตุผลว่า

(1) พระพุทธองค์ทรงเป็นชีวิตแบบอย่าง เมื่ออุบัติขึ้นแล้ว ก็ประสูติในป่า เมื่อตรัสรู้ก็ในป่า เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรม ก็ในป่า ดังนั้นทรงต้องปรินิพพานในป่า (2) เมืองกุสินารานี้ แม้เป็นเมืองเล็ก แต่ในอดีตกาลเคยเป็นเมืองใหญ่ แต่ได้ล่มสลาย ซึ่งเป็นเรื่องอนิจจัง หนีำไม่พ้นกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในที่สุด

เมื่อทรงประทับที่ระหว่างต้นสาละนั้นเอง ต้นสาละได้แสดงสักการะด้วยการออกดอกบานสะพรั่งเต็มต้น โปรยดอกตก ต้องพุทธสรีระเป็นอันมาก ทั้งที่ไม่ใช่ฤดูกาล (วันเพ็ญเดือน 6 ก็ประมาณเดือน พฤษภา อ่ะครับ แต่จริง สาละจะออกดอกช่วงเดือนแถวๆ ก.ค.-ส.ค. ครับ) พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อน อานนท์ เราสรรเสริญการบูชาเช่นนี้ แต่ไม่ถือว่าเป็นการบูชาอันประเสริฐ เป็นการดีถ้าหากพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยให้สมควรแก่ธรรมที่เราได้ตรัสไว้แล้วนั้น เราสรรเสริญว่า เป็นการบูชาที่ประเสริฐสุด"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท