เมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาภาษาสันสกฤต



ภาพจาก http://www.numtan.com/story_2/view.php?id=118


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสนพระทัยด้านอักษรศาสตร์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ นอกจากภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันแล้ว ยังสนพระทัยศึกษาภาษาจีน และภาษาบาลีสันสกฤตอีกด้วย ได้ทรงศึกษาภาษาต่างๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาเขมร ภาษาบาลี ภาษาปรากฤต และภาษาสันสกฤต) ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย

               ในประชุมสันสกฤตนานาชาติว่าด้วยภาษาสันสกฤตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ปัจจัยผสมผสานทางวัฒนธรรม (International Sanskrit Conference on Sanskrit in Southeast Asia: The Harmonizing Factor of Cultures) ที่ศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2544  สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าถึงแรงบันดาลใจ และการศึกษาภาษาบาลีสันสกฤตของพระองค์เอาไว้น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง Sanskrit: My Personal Treasure

 

            สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าว่า “My parents have a theory in bringing up their children with books. One who read can look after themselves. They will not get bored and will not be lonely. They do not need much attention from others.” (เสด็จพ่อและเสด็จแม่ทรงมีแนวคิดในการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ เพราะผู้ที่อ่านหนังสือได้ จะดูแลตัวเองได้ ไม่รู้สึกเบื่อ และไม่ว้าเหว่า ไม่ต้องการความเอาใจใส่จากคนอื่นมากนัก) ด้วยเหตุนี้จึงทรงอ่านหนังสือออกตั้งแต่ยังเล็กๆ เพราะการอ่านทำให้ได้ความรู้ ความคิดใหม่ๆ และความเพลิดเพลิน

               พระอาจารย์ที่สอนภาษาไทยคือ ครูกำชัย ทองหล่อ ท่านเป็นนักวิชาการภาษาบาลี และยังรู้ภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดูสตานีด้วย ทั้งยังสอนเรื่องความแตกต่างระหว่างภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต และความหมายของคำยืมจากภาษาสันสกฤตด้วย ภายหลังอาจารย์กำชัยได้ถวายพระอักษรวิชาไวยากรณ์ภาษาบาลีเบื้องต้น

 

สมเด็จย่า ผู้เป็นแรงบันดาลใจ

            สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าไว้ในวาระดังกล่าวว่า ทรงเริ่มสนพระทัยภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต เมื่อได้เห็นสมเด็จย่าอ่านหนังสือภาษาเหล่านี้ เนื่องจากสมเด็จย่าเคยศึกษาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ กับศาสตราจารย์ Regamey สมเด็จย่าเคยแปลหนังสือภาษาบาลี ได้แก่ มิลินทปัญหา และหนังสือสันสกฤต ได้แก่ นโลปาขยาน (เรื่องพระนล) อภิชญานศกุนตลา (ศกุนตลา) และหิโตปเทศ เป็นต้น และยังพยายามจัดทำพจนานุกรมภาษาบาลี-ไทย  แต่ด้วยพระภารกิจมากมาย จึงไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงตามพระราชประสงค์ได้

            อันที่จริง สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระญาติผู้ใหญ่ที่มีพระปรีชาสามารถด้านบาลีสันสกฤตอีกพระองค์หนึ่ง นั่นคือ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ (เสด็จทวดของสมเด็จพระเทพฯ, คือเสด็จปู่ของสมเด็จพระราชินี) ผู้ศึกษาภาษาบาลีและสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และได้รับพระราชทานพัดเปรียญ 5 ประโยค แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญภาษาบาลีถึงขั้นสอนประโยค 9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดได้ และยังทรงเรียบเรียบพจนานุกรม ภาษาบาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต โดยอาศัยพจนานุกรมของชิลเดอร์ ผลงานชิ้นนี้สำเร็จตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7

               สมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาภาษาบาลีตั้งแต่ 14-15 พระชันษากับครูกำชัย ซึ่งเป็นพื้นฐานอย่างดีสำหรับการศึกษาภาษาสันสกฤตในเวลาต่อมา และเมื่อถึงปีสุดท้ายของชั้นมัธยมศึกษา ครูอังกาบ บุณยัษฐิติ ก็แนะนำให้สมเด็จพระเทพฯ ไปเรียนภาษาสันสกฤตกับศาสตราจารย์จิรายุ นพวงศ์ในช่วงปิดภาคเรียน โดยทรงใช้เวลาศึกษาวันละ 4 ชั่วโมง ในเวลานั้นท่านจิรายุอายุ 60 ปีเศษแล้ว แต่ก็ถวายพระอักษรอย่างขยันขันแข็ง ทรงเล่าว่าการเรียนภาษาสันสกฤตนั้นยากพอสมควร เพราะต้องจดจำตัวอักษรเทวนาครี และชวนให้ท้อ แต่พระอาจารย์ก็คอยให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา

 

ตำราและอาจารย์

               อาจารย์จิรายุใช้หนังสือ Sanskrit Primer ของ E.D. Perry สำหรับสอนไวยากรณ์ หนังสือ Sanskrit Reader ของ C.R. Lanman ซึ่งมีตัวอย่างบางตอนจากเรื่องพระนล หิโตปเทศ กถาสริตสาคร มานวธรรมศาสตร์ ฤคเวท ไมตรยานิ พราหมณะ และคฤหยสูตร สมเด็จพระเทพฯ ทรงจดคำอธิบายไว้ในหนังสือ เมื่อไม่มีที่พอให้เขียน ก็ทรงหากระดาษมาแปะกาวติดลงไปแล้วเขียนต่อ ทรงเล่าเกร็ดขำๆ ว่า เมื่อเวลาผ่านไป ทรงกลับมาบันทึกลายพระหัตถ์เองในภายหลัง กลับอ่านไม่ออก จึงให้ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ช่วยอ่านแล้วบันทึกใหม่ ภายหลังได้นำสองเรื่องแรกในหนังสือของ Lanman คือพระนล (นโลปาขยานัม) และหิโตปเทศที่ทรงแปลไว้มาตีพิมพ์เผยแพร่

               สมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กับอาจารย์หลายท่าน ทรงกล่าวถึงพระอาจารย์ทุกท่าน ได้แก่ ศ.วิสุทธิ์ บุษยกุล ศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ศ.ฉลวย วุธาทิตย์ อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง ผศ.ฐานิสร์ ชาครัตพงศ์ ผศ.ดร.ปราณี ฬาพานิช รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง ผศ.ทัศนีย์ สินสกุล และ ศ.ดร.สัตยพรต ศาสตรี

             (ดร.สัตยพรต ศาสตรีเป็นชาวอินเดีย เป็นอาจารย์พิเศษที่มาสอนภาษาสันสกฤตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาศิลปากรระยะหนึ่ง ท่านมีผลงานการศึกษาวิจัยด้านภาษาสันสกฤตเป็นอย่างมาก)

 

สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

จากมหาวิทยาลัยศิลปากร แด่ ศ.ดร.สัตยพรต ศาสตรี เมื่อ พ.ศ. 2536

ภาพจาก http://www.satyavrat-shastri.net/awards.html


วิชาภาษาสันสกฤต

               สมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาตำราภาษาสันสกฤตที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากวรรณคดีประเภทกาวยะ  ยังมีมหากาวยะ และขัณฑกาวะ รวมทั้งบทร้อยกรองและบทละครด้วย นอกจากนี้ยังศึกษาภาษาสันสกฤตในพุทธศาสนา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากภาษาสันสกฤตแบบแผน โดยอาศัยตำราของ Edgerton (ปราชญ์ผู้ศึกษาวิจัยด้านภาษาสันสกฤตในพุทธศาสนามาช้านาน) ทั้งยังทรงอ่านมหากาพย์พุทธจริตของมหากวีอัศวโฆษด้วย

               นอกเหนือจากภาษาสันสกฤต สมเด็จพระเทพฯ ยังได้ศึกษาภาษาปรากฤต ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลเดียวกับบาลีและสันสกฤต แต่ก็มีความแตกต่างกัน นิยมใช้ในคัมภีร์ของเชน และบางส่วนในบทละครสันสกฤต ทรงเล่าว่าความรู้เกี่ยวกับภาษาตระกูลโรมันซ์ช่วยให้เข้าใจพัฒนาการจากภาษาสันสกฤตไปสู่ภาษาปรากฤตได้เป็นอย่างดี

            เมื่อสำเร็จปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมเด็จพระเทพฯ ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ภาษาบาลีและสันสกฤตที่จุฬาฯ และจารึกภาษาตะวันออก ที่ศิลปากร พร้อมๆ กัน

               ที่ศิลปากร สมเด็จพระเทพฯ ได้ศึกษากับอาจารย์หลายท่าน ในเวลานั้น อาจารย์ผู้สอนภาษาสันสกฤตเป็นหลักสองท่าน คือ รศ.ดร.จำลอง สารพัดนึก และ ผศ.ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา สมเด็จพระเทพฯ เล่าว่าอาจารย์จิรพัฒน์ได้ถวายคำปรึกษาเรื่องภาษาสันสกฤตมาจวบจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมี อ.ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร ซึ่งสอนวิชาจารึกภาษาสันสกฤตในประเทศไทย ศ.ดร.อุไรศรี วรศะริน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และสอนอ่านจารึกภาษาไทยและภาษาสันสกฤต ศ.โคลด ชาร์ค ได้ถวายคำปรึกษาในระหว่างที่ทรงทำวิทยานิพนธ์

 

ทรงเห็นความสำคัญของภาษาสันสกฤต

               สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าว่า เมื่ออายุได้ 11 ชันษา ทรงต่อรองกับสมเด็จพระบิดา ว่าจะขอพักเรียนเปียโนเพื่อจะได้ใช้เวลาเรียนภาษาฝรั่งเศส ซึ่งสมเด็จพระบิดาก็ทรงอนุญาต แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องเรียนภาษาละตินอย่างน้อย 1 ปีก่อน สมเด็จพระเทพฯ จึงเรียนภาษาละตินต่อเนื่องไปสองสามปี ภายหลังก็งดไปเนื่องจากมีภารกิจมาก สมเด็จพระบิดาจึงให้พักเรียนภาษาละติน เพราะตอนนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาภาษาบาลีและสันสกฤตได้พอสมควรแล้ว

               สมเด็จพระบิดาได้ทรงอธิบายว่า ภาษาละตินนั้นมีส่วนช่วยในการเรียนภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาตระกูลโรมันซ์ ส่วนการเรียนภาษาละติน ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาที่มีการแจกรูปนาม กริยา และกฎไวยากรณ์ที่ซับซ้อนนั้นช่วยให้เราคิดอย่างเป็นระบบ เป็นแบบฝึกหัดสมองได้ดีพอๆ กับการเรียนคณิตศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ในอดีตไม่นานมานี้เด็กๆ ในประเทศตะวันตกในจึงต้องเรียนภาษากรีกและละติน

               สมเด็จพระเทพฯ เล่าว่าการศึกษาภาษาสันสกฤตนับเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจคำศัพท์ที่เขียนในตำราภาษาไทย ส่วนการสร้างคำใหม่ การตั้งชื่อคนและสถานที่ การรู้ภาษาสันสกฤตนับว่ามีประโยชน์ เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง การอ่านหรือการแต่งฉันท์ก็สามารถนำความรู้ด้านฉันทลักษณ์ภาษาสันสกฤตมาใช้เพื่อให้เข้าใจความงดงามของร้อยกรองได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

               ในการศึกษาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงใช้วิธีการทั้งแบบตะวันตก และวิธีแบบเดิมของไทยและอินเดีย วิธีต่างๆ นี้ช่วยส่งเสริมกัน ทำให้ทรงเข้าใจภาษาเหล่านี้ได้ดีขึ้น

               ในปาฐกถาเรื่องครั้ง สมเด็จพระเทพฯ ทรงทิ้งท้ายโดยรำลึกถึงพระคุณของอาจารย์ภาษาสันสกฤตทุกท่าน และทรงกล่าวว่าภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง มีความงดงาม ทรงได้ประโยชน์มากมายในชีวิตจากภาษาสันสกฤตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และทรงหวังว่าจะได้นำไปใช้ในชีวิตข้างหน้าต่อไป

 

Large_pra01150952p1

ทรงฉลองพระองค์ครุยวิทยฐานะ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต

ภาพจาก http://www.moe.go.th/moe/upload/news11/htmlfiles/12490-5627.html


ฟังจากพระอาจารย์

                ช่วงที่ผมเข้าไปมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พบกับอาจารย์หลายท่านที่เคยถวายพระอักษร อาจารย์จำลอง (ศ.ดร.จำลอง สารพัดนึก) เคยเล่าให้ฟังว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงขยันมาก หากไม่ได้มาเรียน ก็จะมีเจ้าหน้าที่นำเทปบันทึกเสียงมาอัด มีอยู่คราวหนึ่ง นักศึกษาเกเรไม่ยอมส่งงานหรืออะไรสักอย่าง อาจารย์จึงเอ็ดไป (ใครที่เคยเรียนกับอาจารย์จำลอง คงจะทราบว่าถ้าอาจารย์เอ็ดใครสักคน จะเป็นอย่างไร) อาจารย์เล่าว่าวันนั้นเทปอัดไม่ติด ในที่สุด จึงต้องอัดเทปเสียงการบรรยายซ้ำอีกครั้ง แบบไม่มีนักศึกษาอยู่ในห้องเช่นปกติ

                อีกคราวหนึ่ง อาจารย์จำลองนำนิทาน(จำไม่ได้ว่าภาษาบาลีหรือภาษามอญ หรือฮินดี หรือสันสกฤต อาจารย์จำลองท่านเก่งหลายภาษา) มาสอน เรื่องลิงกับจระเข้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงชอบ และได้ทำเสื้อมีรูปลิงมาแจกพระสหายร่วมห้องเรียนด้วย อาจารย์ยังเล่าอีกว่าในช่วงที่ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปากร สมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงเมตตา อุปถัมภ์นักศึกษาคนหนึ่งโดยพระราชทานทุนทรัพย์ช่วยเหลือ แต่ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก

                 รศ.ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร ก็เล่าไว้ในบทความ เรื่อง “มหาวิทยาลัยศิลปากรในความรู้สึกของข้าพเจ้า” (2552) ว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงขยันและเอาพระทัยใส่ คอยบันทึกและซักถาม ซึ่งต่างจากนักศึกษาคนอื่นๆ แม้เวลาจะผ่านมานานอาจารย์ยังจำได้ดีว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงเคยถามในห้องเรียนว่า นิโรธ มาจากธาตุอะไร อาจารย์ก็ตอบพร้อมอธิบาย สมเด็จพระเทพฯ ทรงยิ้มและจดโดยละเอียด

                  จากการศึกษาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต และจารึกภาษาตะวันออก สมเด็จพระเทพฯ ทรงทำวิทยานิพนธ์ดังนี้ เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” (2521) สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร และ “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” (พ.ศ. 2524) สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความสนพระทัยและพระปรีชาสามารถด้านภาษาบาลี สันสกฤต และการอ่านจารึกได้อย่างชัดเจน.

 

อ้างอิง

H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn. “Sanskrit: My Personal Treasure ,” Proceeding of Papers, International Sanskrit Conference on Sanskrit in Southeast Asia: The Harmonizing Factor of Cultures. Sanskrit Studies Centre and Department of Oriental Languages, Silpakorn University, Thailand. May 21-23, 2001. ISBN: 974-641-045-8.

คำสำคัญ (Tags): #สมเด็จพระเทพฯ
หมายเลขบันทึก: 499115เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2012 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ทรงมีพระปรีชาสามารถมาก

 

ขอบคุณค่ะอาจารย์ที่นำเรื่องดี ๆ มาบันทึก

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ สำหรับข้อมูลนี้ กำลังอ่าน "ทศบารมี" อยุ่พอดีเลยค่ะ

ท่านมีพระอัจฉริยะเหลือเกินครับ อาจารย์ ;)...

 

อ่านแล้วทำให้มีกำลังใจศึกษาภาษาสันสกฤตเยอะเลยคะ ^^ ขอบพระคุณอาจารย์หมูสำหรับบทความดีๆ

เห็นเพื่อนๆเล่าให้ฟังว่าเคยเห็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพฯ แต่หนูไม่รู้ว่าจะไปหาดูได้จากที่ไหน อิอิ

- ผมได้เคยอ่านผลงานบทประพันธ์ท่านอาจารย์ ศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ด้วยครับ..

- จึงรู้สึกรักภาษาสันสกฤตมากเช่นกันครับ

ชยพร   แอคะรัจน์

สวัสดีค่ะคุณครู

เป็นบันทึกยาวที่อ่านเพลินและอ่านได้จนจบในครั้งเดียว

น่าจะเป็นหนึ่งในบทความเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่หลายหน่วยงานพิมพ์เผยแพร่นะคะ

อ่านแล้วชอบ ขอบคุณค่ะ

อ่านเรื่องของพระองค์ท่านทำให้เพิ่มความเพียรสร้างความอยากเรียนสันสกฤต และบาลีให้ได้ อยากรู้ภาษาปรากฤต ละติน กรีก ด้วยเลย ทำให้อยากอ่านจารึกโบราณให้ได้ด้วย ขอให้ได้ครูดี ตำราดี มีความเพียร เรียนรู้ไว้แม่นยำ ทรงจำดี มีศิลปด้านภาษาศาสตร์ปราชญ์เปรื่องยิ่งๆ ขึ้นไปทุกท่านเทอญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท