เครือข่ายครูพัฒนาการเรียนรู้บูรณาการภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน หนองบัว นครสวรรค์


ผมเพิ่งกลับจากไปเป็นวิทยากรจัดกระบวนการเวทีเพื่อพัฒนาเครือข่าย ให้กับเครือข่ายครูโรงเรียนในฝันของหนองบัวและจังหวัดนครสวรรค์  ทางด้านการพัฒนาการเรียนรู้บูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นอิงถิ่นฐาน ซึ่งโรงเรียนหนองบัว โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอหนองบัว เป็นศูนย์ประสานงานและศูนย์การเรียนรู้ทางด้านนี้ให้กับเครือข่ายครูและเครือข่ายโรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นเมื่อ ๑๔-๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕  ณ ห้องประชุมของโรงเรียนหนองบัว ผู้เข้าร่วมประมาณ ๔๐ คน

คณะวิทยากรและผู้เข้าร่วมเวทีพัฒนาเครือข่าย เครือข่ายครูพัฒนาการเรียนรู้บูรณาการภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน ครั้งที่ ๒ ณ โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ๑๔-๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕

การเสริมพลังกัน

การจัดกระบวนการเพื่อพัฒนาเครือข่ายครูพัฒนาการเรียนรู้บูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นอิงถิ่นฐานที่ดำเนินการขึ้นของโรงเรียนหนองบัว และในฐานะของการเป็นศูนย์การเรียนรู้ของเครือข่ายโรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์นี้ มีพื้นฐานความเป็นมาที่สั่งสมจากประสบการณ์และความริเริ่มของคนทำงานในพื้นที่มาพอสมควร ก่อนที่ต่อมา จะค่อยๆยกระดับ กระทั่งผสมผสานเข้ากับงานเชิงนโยบายการศึกษา ซึ่งได้สนับสนุนให้ดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐาน จัดเวทีพัฒนาเครือข่ายครูและโรงเรียนดังที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ แล้วนี้ขึ้น ส่วนหนึ่งของการช่วยกันริเริ่มและสร้างปัจจัยสั่งสมกันไว้มาก่อนหน้านั้นอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญก็คือ การก่อเกิดเวทีคนหนองบัว โดยคนหนองบัวและเครือข่ายการเรียนรู้ในสังคมออนไลน์ GotoKnow นับแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปี ๒๕๕๕ และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้โดยกระบวนการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของยุววิจัย ซึ่งดำเนินการขึ้นในบทบาทของโรงเรียนและริเริ่มขึ้นมาโดยได้รับการสนุบสนุนจาก สกว

กระบวนการก่อนหน้านี้เหล่านี้ ทำให้ชุมชนอำเภอหนองบัวมีข้อมูล สื่อ และทรัพยากรการเรียนรู้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและเรื่องราวอิงถิ่นฐานของคนหนองบัวหลายด้าน ทำให้เป็นแหล่งทรัพยากรทางความรู้ สื่อการเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมทางปัญญาเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐานอยู่บ้างแล้ว  

ต้นุทนเดิมที่พอมีอยู่ดัลก่าว ทำให้สามารถนำมาคิดและออกแบบกระบวนการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านต่างๆ รวมทั้งเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งส่วนหนึ่ง ก็ได้แก่การพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบบูรณาการอิงถิ่นฐานนี้นั่นเอง

การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบบูรณาการอิงถิ่นฐาน

การจัดการศึกษาในปัจจุบัน โดยมากแล้วเป็นการศึกษาที่รวมศูนย์ อิงอยู่กับโลกภายนอกจนไม่สมดุลกับการอิงถิ่นฐานถิ่นอาศัย แยกส่วนมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ห่างไกลจากความเป็นจริงของสังคม ซึ่งทำให้กระบวนการทางการศึกษาต่างๆ เป็นการจัดการศึกษาที่ขาดปฏิสัมพันธ์และความเชื่อมโยงอย่างมีความหมายกับวิถีชีวิตและการอยู่อาศัยร่วมกันของมนุษย์บนถิ่นฐานและถิ่นอาศัยต่างๆ มุ่งผลิตแรงงาน สร้างความรู้ พัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ สนองตอบต่อการมุ่งความมั่งคั่งทางวัตถุและสิ่งภายนอก มากกว่ามุ่งพัฒนาคุณภาพแห่งชีวิต สุขภาวะสังคม การอยู่อาศัยร่วมกันในถิ่นฐานและถิ่นอาศัยต่างๆอย่างมีความสมดุล ทั้งทางด้านวัฒนธรรมทางวัตถุและจิตใจ มนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งเชื่อกันว่าการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้นั่นเอง ที่มีส่วนมากในการกระตุ้นให้เกิดภาวะกดดันทางสังคม ผลักดันคนออกจากชุมชน และดึงดูดให้ไหลรวมไปสู่การพัฒนาอย่างกระจุกในทุกสาขาการพัฒนา ทำให้การศึกษาล้มเหลวที่จะเป็นกระบวนการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้กระจายออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสาขาต่างๆให้กับประชาชนคนส่วนใหญ่ของชุมชนระดับต่างๆได้อย่างทั่วถึง และสามารถสนองตอบต่อความจำเป็นของสังคมได้อย่างแท้จริง ทั้งของสังคมไทยและทุกสังคมทั่วโลก

รวมทั้งทำให้ผู้คนที่อยู่อาศัยร่วมกันในชุมชนและถิ่นอาศัยต่างๆ ขาดกระบวนการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองและการเรียนรู้เกี่ยวกับถิ่นฐานและถิ่นอาศัย ดังนั้น แม้จะสร้างคนให้มีทักษะแรงงานและสร้างปัจเจกให้มีความสามารถแข่งขันกันแบบตัวใครตัวมันได้ แต่ก็จะทำให้หน่วยชีวิตความเป็นชุมชนอ่อนแอและขาดภูมิปัญญาในการจัดการความเป็นส่วนรวมต่างๆที่สอดคล้องกลมกลืนกับสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในถิ่นฐาน ทำให้สุขภาวะของการพัฒนาทางด้านต่างๆขาดความยั่งยืน ประชากรและพลเมืองของสังคมขาดความมีสำนึกร่วมกันและความมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะที่ดี  สำหรับสร้างสุขภาวะการอยู่อาศัยและดูแลสุขภาวะของสาธารณะร่วมกันในถิ่นฐานและถิ่นอาศัยต่างๆ ซึ่งขยายความเป็นเมืองและมีพัฒนาการที่หลากหลายซับซ้อนมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การบูรณาการการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอิงถิ่นฐาน จึงเป็นแนวทางหนึ่ง ในอันที่จะยกระดับเป้าหมายทางการศึกษา ให้ก้าวข้ามการมีจุดหมายเพียงเพื่อสร้างคนป้อนตลาดแรงงานในโลกภายนอกและสร้างคนให้เป็นเพียงกลไกขับเคลื่อนกระบวนการผลิตวัฒนธรรมทางวัตถุที่มีประสิทธิภาพ ไปสู่การมุ่งสร้างสุขภาวะสังคมและความมีภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตและอยู่อาศัยร่วมกันอย่างสอดคล้องสมดุลกับสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในถิ่นฐาน 

คุณครูจากโรงเรียนบ้านทุ่งทอง อำเภอหนองบัว กำลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการเป็นครูอยู่ในโรงเรียนที่กำลังประจำอยู่ในปัจจุบันมากว่า ๒๐ ปี 

บนความคืบหน้าและต่อเนื่อง

คณะครูและทีมวิทยากร ตลอดจนเครือข่ายวิชาการและเครือข่ายชุมชน ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายครูเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐานนี้ มีการทำงานเชิงสังคมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องเหนื่องแล้วระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือการร่วมกันเขียนความรู้และสื่อสารเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชุมชนหนองบัวในบล๊อกเวทีคนหนองบัวใน GotoKnow

จากนั้นก็ร่วมกันจัดนิทรรศการและเวทีเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมของหนองบัวในงานเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์หนองบัว ซึ่งเป็นงานประจำปีของชาวหนองบัว รวมทั้งในงานส่วนรวมต่างๆของอำเภอ ทำให้เกิดกลุ่มคนทำงานความรู้และร่วมกันสร้างภูมิปัญญาอิงถิ่นฐานหนองบัว สั่งสมเพิ่มพูนมากขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งสามารถทำเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่แก่สาธารณะได้หลากหลายช่องทาง รวมทั้งผลิตสื่อ บทความเผยแพร่องค์ความรู้ หนังสือและสิ่งตีพิมพ์ เพื่อใช้เผยแพร่ในโอกาสต่างๆทั้งของชุมชน หน่วยงานราชการ และสถานศึกษาต่างๆในพื้นที่ จัดว่าเป็นปัจจัยที่ร่วมกันสั่งสมและเป็นบทเรียนจากประสบการณ์ ในอันที่จะพัฒนาการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนากระบวนการทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนลูกหลาน ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้เกิดความสมดุลพอเพียง เท่าทันโลกภายนอก และทัดเทียมกับความจำเป็นของการพัฒนาในท่ามกลางความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับมีภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตและสำนึกความเป็นพลเมืองต่อถิ่นฐานและถิ่นอาศัย เป็นพลังในการร่วมสร้างสุขภาวะสังคมดังที่พึงประสงค์ต่อๆไป

เวทีพัฒนาเครือข่ายครั้งที่สอง ปี ๒๕๕๕ นี้

เวทีพัฒนาเครือข่ายของปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งแรกนั้นดำเนินการขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เน้นกระบวนการถอดบทเรียน สร้างความรู้จากชุมชนและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายชุมชนของโรงเรียนตามพื้นที่ต่างๆ  เก็บรวบรวมข้อมูล การบันทึกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ และการนำไปใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนเพื่อพัฒนาเครือข่ายการบริหารจัดการอย่างมีสวนร่วมของโรงเรียนกับชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีแหล่งประสบการณ์ชีวิตรอบด้านที่เชื่อมโยงกับถิ่นฐาน เป็นคนเก่งคนดีของโรงเรียน ของครอบครัว และของสังคม   

สำหรับเวทีพัฒนาเครือข่ายในครั้งที่ ๒ เน้นการเรียนรู้ประสบการณ์ของโรงเรียนหนองบัวและคนหนองบัว แล้วใช้เป็นแนวนั่งสนทนาพูดคุยถอดบทเรียนประสบการณ์ตนเองเพื่อพัฒนากระบวนการคิดอย่างเชื่อมโยงและการพัฒนาแนวคิดสำหรับพัฒนาการเรียนรู้บูรณาการอิงถิ่นฐานให้แยบคาย พร้อมกับได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างเพื่อน เพื่อเห็นโอกาสและเกิดความคิดในใจในอันที่จะแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือกันต่อๆไปในอนาคต  

คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ อดีตครูอัตราจ้างโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส ผู้ร่วมเขียนความรู้เวทีคนหนองบัว ปัจจุบันได้มาเป็นครูที่โรงเรียนหนองบัว กำลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานผ่านการอนุรักษ์หนัง

การบูรณาการเชิงประเด็นนโยบาย

กระบวนการเวที ได้นำเอาประเด็นเชิงนโยบาย ที่จะมีการดำเนินการโดยสถานศึกษาต่างๆมาคิดให้ผสมผสานไปด้วยกัน คือ การพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน การจัดการศึกษาเพื่อมุ่งสู่การเปิดสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน และการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นสากล พูดคุยและใช้เวที เป็นกระบวนการทำงานความคิดเพื่อกลับไปทำงานให้อยู่บนความจำเป็นและสอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของตนเองของโรงเรียนและชุมชนให้ดีที่สุด

 

ผู้เขียน อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ และครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ มอบถวายหนังสือที่ระลึก ๘๙ ปีโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) แด่ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ซึ่งได้เดินทางมาร่วมเวทีในวันที่สอง

เครือข่ายคนจากต้นทุนเดิม

กลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีบางส่วนเป็นเครือข่ายครูที่ร่วมเวทีครั้งที่ ๑ ของปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถกลับไปใช้บล๊อกทำสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ และบางส่วน ได้ไปพัฒนาเครือข่ายศึกษาและอนุรักษ์หนังที่มีความเชื่อมโยงกับการเรียนรู้พัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของหนองบัวในอดีตกระทั่งปัจจุบัน

เครือข่ายที่เข้ามาสู่เวทีเพิ่มขึ้น

เครือข่ายครูที่เข้ามาร่วมเวทีครั้งที่ ๒ มีประสบการณ์ที่หลากหลายและเข้มข้นทั้งในชีวิตความเป็นครูและการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในแนวทางต่างๆในโรงเรียน ครูจากโรงเรียนเขาแม่แก่มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ชุมชนโดยการดำเนินชีวิตอยู่กับวิถีชาวบ้าน ๓๐-๔๐ ปี ครูจากปากดงมีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้การประกอบอาชีพและการระดมทุนเพื่อพึ่งตนเองในการพัฒนาโรงเรียนของชุมชน ครูจากโรงเรียนหนองบัวหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีประสบการณ์พัฒนาการเรียนรู้อย่างบูรณาการในหลายลักษณะ เป็นเครือข่ายครูที่มีประสบการณ์สั่งสมอยู่กับการปฏิบัติหลายระดับและหลายรุ่นวัย มีทั้งผู้อาวุโสใกล้เกษียณอายุราชการและผู้ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ชีวิตความเป็นครู

บรรยากาศนั่งเรียนรู้และสนทนากัน แวดล้อมด้วยสื่อและตัวอย่างการพัฒนาการเรียนรู้ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐานของโรงเรียนหนองบัว เวทีคนหนองบัวในสื่อออนไลน์ กับเครือข่ายคนหนองบัว

บรรยากาศของเวที

บรรยากาศของเวทีเป็นบรรยากาศแบบพี่ๆน้องๆ แม้จะยังพูดคุยกันได้ไม่มากนัก เพราะระยะเวลาที่จัดต้องเสียไปกับการเดินทางไปกลับ เนื่องด้วยผู้เข้าร่วมเวทีบางส่วนเท่านั้นที่อยู่ในตัวเมืองอำเภอหนองบัว นอกนั้นเป็นผู้ที่มาจากพื้นที่รอบนอก อยู่ห่างไกลและเข้าออกชุมชนลำบาก 

การจัดห้อง ได้ปรับเปลี่ยนห้องประชุมที่แต่เดิมเป็นแบบให้ผู้เข้าผู้ร่วมประชุมถูกจัดเรียงอยู่ในตำแหน่งผู้นั่งรับฟังแบบโรงหนัง ให้เป็นแบบวงกลมหันหน้าเข้าหากัน อยากจะขยับขยายและดัดแปลง จะเพิ่มหรือลดจำนวนที่นั่งอย่างวไร ก็หารือแล้วก็ลุกขึ้นช่วยกันทำทั้งทีมวิทยากร ผู้บริหารและคณะครูของโรงเรียนเจ้าภาพ และคณะครูผู้เข้าร่วมประชุม

กระบวนการยืดหยุ่นและมุ่งสร้างเพื่อนในแวดวงเครือข่ายการทำงาน 

วงจรของกระบวนการเวที ออกแบบให้กิจกรรมต่างๆ เป็นกระบวนการเรียนรู้และเป็นกระบวนการสังคมผสมผสานไปด้วยกันเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้พัฒนาเครือข่ายและได้สิ่งต่างๆกลับไปทำงาน คือ พัฒนาวิธีคิดและกระบวนการคิดที่แยบคาย  => การตั้งประเด็นสังเกตและคำถามเชิงการเรียนรู้ที่มีความหมาย => การสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากมิติสังคม  เข้าหาคน พูด ฟัง คิด เขียน => การใช้อย่างมียุทธศาสตร์ ทักษะปฏิบัติ ทักษะสื่อ และเทคโนโลยีการศึกษา => วงจรย้อนกลับ ดังแผนภาพข้างล่าง

การมีกรอบเชิงกระบวนการวางไว้ในลักษณะนี้ ทำให้กิจกรรมของเวทีสามารถยืดหยุ่นไปตามสภาพความเป็นจริงในการทำงานของครูและโรงเรียน โดยสามารถดำเนินการเวทีพร้อมไปกับสามารถติดตามทำงานอย่างอื่นที่กำลังดำเนินการคู่ขนานกันไป มิให้เกิดผลกระทบต่อกันมากนัก ทำให้สามารถเพิ่มและปรับลดจำนวนกิจกรรมโดยยังคงรักษาวงจรของกระบวนการดังที่ต้องการไว้

เด็กนักเรียน ครูสมเกียรติ เอมใจ คณะครู และผู้บริหารของโรงเรียนหนองบัว และคณะครูผู้เข้าร่วมเวที มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณื และช่วยกันบริหารจัดการสิ่งต่างๆของเวที

การมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียน
(Student Learning Through Active Participation)

คณะผู้จัดออกแบบกระบวนการเวทีให้เป็นโอกาสสำหรับเด็กในอันที่จะได้พัฒนาการแสดงออกและได้มีส่วนร่วมเพื่อเกิดประสบการณ์สร้างความรอบด้านต่อชีวิตและโลกกว้าง โดยได้ให้เด็กนักเรียนได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมและร่วมเวทีหลายกิจกรรม นับแต่การฟ้อนรำประกอบเพลงถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน อุปมาอุปมัยเป็นต้นไม้และรากของต้นไม้ การศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน เปรียบเสมือนต้นไม้และรากของต้นไม้ เมื่อโดนลมแรงก็ทำให้ต้นไม้ยืนต้นและยากที่จะหักโค่น  จากนั้นก็ให้กลุ่มนักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมเวที พร้อมกับช่วยคุณครูเป็นเจ้าภาพคอยดูแลการประชุมเชิงปฏิบัติการ 

การมีส่วนร่วมของผู้นำทางจิตวิญญาณ  

ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) เจ้าอาวาสวัดศรีโสภณ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ท่านพระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พร้อมกับพระคุณเจ้าพระนักพัฒนาอีก ๒ รูป ซึ่งเป็นเครือข่ายเรียนรู้ของคนหนองบัว และแต่เดิม ก็จะร่วมเป็นทีมวิทยากรกระบวนการให้กับเวทีครั้งนี้เหมือนกับครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ติดกิจของสงฆ์ ทำให้ไม่สามารถรับนิมนต์และมาร่วมตั้งแต่ต้นได้ ก็ได้มาร่วมเวทีในช่วงบ่ายของวันที่สอง

ท่านพระอธิการโชคชัยนั้น ได้นำเอาวิทยานิพนธ์ซึ่งท่านได้ทำเพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มามอบให้แก่ผมและเวทีคนหนองบัวด้วย งานวิจัยวิทยานิพนธ์ของท่านได้ใช้เวทีคนหนองบัวและประสบการณ์ของชุมชนคนหนองบัวเป็นกรณีศึกษา  

ริมขวากำลังพูด : คุณครูต้นเทียน สุนนันทา แข็งแรง ครูโรงเรียนหนองบัว คณะทำงานของการจัดเวทีพัฒนาเครือข่ายในครั้งนี้ 

ริมซ้ายต่อจากเด็กนักเรียน : คุณครูขวัญใจ เสิงขุนทด ครูโรงเรียนหนองบัว คณะทำงาน ผู้ประสานงานวิชาการ และดำเนินการจัดเวทีพัฒนาเครือข่ายในครั้งนี้ 

การสร้างผู้นำการประสานงานวิชาการของเครือข่าย

การดำเนินโครงการในครั้งนี้ หัวหน้าโครงการเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาของโรงเรียนหนองบัว คือคุณครูสมัคร รอดเขียน ซึ่งได้มอบให้ทีมคนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของและเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ทั้งตั้งเรื่องขอนุมัติโครงการ ติดต่อประสานงานกับทีมวิทยากร ประกาศเชิญชวนและระบุเชิญผู้เข้าร่วมเวทีตามแนวคิดที่ต้องการ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการเวทีและกำกับกิจกรรมต่างๆตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นโครงการ ทำให้เป็นเวทีเรียนรู้จากของจริงสำหรับสร้างครูรุ่นใหม่ให้เป็นเครือข่ายการทำงานกับกลุ่มครูผู้มีประสบการณ์หลากหลายของอำเภอหนองบัวและของจังหวัดนครสวรรค์ ด้วยการเรียนรู้ผ่านการทำงานซึ่งต้องใช้ภาวะผู้นำและทักษะการประสานงานทางวิชาการที่ดีในการปฏิบัติจากของจริง

คุณครูสุชาติ จากโรงเรียนปากดง กำลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐานที่ดำเนินการขึ้นหลายโครงการ บางโครงการประสบความสำเร็จได้เป็นตัวอย่างของจังหวัด และบางโครงการต้องบุกเบิกริเริ่มทุกด้านด้วยตนเอง

คุณครูสมชาย จากโรงเรียนเขาแม่แก่ ห่างไกลจากอำเภอหนองบัวไปหลายกิโลเมตร กำลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐานของโรงเรียนในพื้นที่กันดารห่างไกล

การเรียนรู้และฟังบทเรียนสั่งสมจากชีวิตครู

กระบวนการเวที ให้กรอบและวิธีคิดสำหรับการพัฒนาเครือข่ายผ่านการนำเอาประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์จากการทำงานมาพูดคุยกัน เน้นการพูดคุยและทำงานด้านในตนเอง ให้ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตและการงานในกรอบใหม่ๆ คุยให้เกิดปัญญาและความคิดที่แยบคายขึ้นภายในตนเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างความรู้และแสดงปัญญา ถ่ายทอดไปสู่ผู้ร่วมเวที

วิธีดังกล่าว ทำให้เกิดกระบวนการทางปัญญาขึ้นบนเวทีหลายมิติ ที่สำคัญคือ ได้สำรวจทุนประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวคนและในสถานศึกษาต่างๆ ผ่านการได้ปฏิสัมพันธ์พันธ์กันบนเวที ซึ่งในอนาคตก็จะเป็นข้อมูลแหล่งการเรียนรู้และทุนทรัพยากรของพื้นที่ ทำให้มีโอกาสคิดริเริ่มและแสวงหาความร่วมมือกันได้มากขึ้น ได้เห็นแนวคิดและบทเรียนจากการปฏิบัติ ที่เครือข่ายครูผู้เข้าร่วมเวทีได้สั่งสมมาจากการปฏิบัติและฟันฝ่าอุปสรรคที่เผชิญในโลกความเป็นจริงมากมาย ทำให้ได้ปัญญาที่ผ่านการตรวจสอบด้วยการปฏิบัติและการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงอิงถิ่นฐาน ซึ่งหลายคนต้องผ่านห้วงเวลาในชีวิต ๓๐-๔๐ ปี จึงนับว่าเป็นเวทีพัฒนาเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงกับปัญญาปฏิบัติที่สั่งสมเป็นทุนชีวิต ถ่ายทอดระหว่างรุ่นคน ที่มีความหมายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพื้นที่มาก

คุณครูจากบ้านคลองลาน สนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

เด็กๆร่วมเวทีและชื่นชมผลงานของคุณครูและนักเรียน

การผลิตและใช้สื่อ และทรัพยากรการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐาน  

การจัดเวที ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ประสบการณ์ของโรงเรียนหนองบัวและคนหนองบัว พร้อมกับใช้ถอดบทเรียนตนเองและใช้เป็นกรอบมองกลับไปยังชุมชนในพื้นที่ทำงานของแต่ละคน รวมทั้งมองกลับไปยังสถานการณ์สังคมและสภาพแวดล้อมที่ผ่านเข้ามาสู่การทำงาน ให้รายล้อมไปด้วยสื่อและตัวอย่างของการทำงานความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน  ทำให้การผลิตและใช้สื่อ มีบทบาทต่อการนำมาใช้สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการศึกษาและเข้าถึงประสบการณ์ให้ยืดหยุ่นไปตามความสนใจอันหลากหลาย

ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเดินเข้าออกทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องราวต่างๆที่ต้องการนำกลับไปใช้ทำงานได้ตามความสนใจของตนเองได้ตามอัธยาศัย โดยระวังเพียงไม่ให้รบกวนผู้อื่นเท่านั้น 

บทสรุป การเรียนรู้ และการได้แนวคิด

การสร้างความรู้ท้องถิ่นและสั่งสมภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน จากบทเรียนของชุมชนอำเภอหนองบัว มีพื้นฐานอยู่กับการดำเนินชีวิตและวิถีทำมาหากินของชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชุมชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยร่วมกันมีความผสมผสานระหว่างชาวไทยจีนซึ่งกลุ่มหลักดั้งเดิมนั้นเป็นกลุ่มที่ขยายตัวมาจากอำเภอชุมแสงและปากน้ำโพ นครสวรรค์ กลุ่มไทย-ลาวสระบุรี ไทยโคราช ไทย-ลาวอีสาน ไทยทรงดำ ลาวโซ่ง เหล่านี้เป็นต้น

กระบวนการเรียนรู้และหล่อหลอมกล่อมเกลาทางสังคม ที่ทำให้คนในท้องถิ่นอยู่ร่วมกันในถิ่นฐานอย่างผสมกลมกลืน พบว่าเกิดขึ้นจากสถาบันทางสังคมและกระบวนการทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปด้วยหลายแหล่งด้วยกัน

ที่สำคัญคือ สถาบันครอบครัว สถาบันผู้สูงอายุ และประเพณีกินดอง วัดหลวงพ่อเดิม หลวงพ่ออ๋อย และพระเทพนิภากรณ์ เจ้าอาวาสวัดหนองกลับรูปปัจจุบัน งานเทศกาลประจำปี ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์หนองบัว ซึ่งจัดว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของชาวไทยจีนและคนหนองบัวทุกกลุ่มวัฒนธรรม งานประเพณีบวชนาคหมู่ของวัดหนองกลับ การเล่นเพลงพวงมาลัย เหล่านี้เป็นต้น กระบวนการเรียนรู้อิงถิ่นฐานและสืบทอดสิ่งต่างๆของคนหนองบัวในยุคใหม่ ที่สำคัญคือ บทบาทของโรงเรียน สถานศึกษา และวัด รวมทั้งหน่วยงานอำเภอและหน่วยงานราชการในท้องถิ่น

บทบาทของโรงเรียน สถานศึกษา และวัด ได้สร้างคนหนองบัวรุ่นใหม่ให้มีการศึกษาและออกไปเป็นพลเมืองของสังคม ทำการงานหลายสาขาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รวมทั้งวัดได้สร้างพระสงฆ์ลูกหลานคนหนองบัวให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หน่วยงานอำเภอและราชการในท้องถิ่นได้สร้างนายอำเภอนักพัฒนา ตลอดจนนักพัฒนาชุมชน ผู้บริหารและนักปกครอง ที่นำชุมชนเรียนรู้แก้ปัญหาและเกิดปัญญาปฏิบัติแบบบูรณาการอิงถิ่นฐาน

ขณะเดียวกัน ก็ได้กลับมาร่วมกันริเริ่มสร้างความรู้ สืบทอดและสั่งสมภูมิปัญญาอิงถิ่นฐานของอำเภอหนองบัวในหลายด้าน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายผ่านสื่อออนไลน์ชื่อ เวทีคนหนองบัว ใน  GotoKnow ซึ่งเริ่มสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ เขียนสั่งสมความรู้และรวบรวมข้อมูลทุกด้านของอำเภอหนองบัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งทำให้ชุมชนอำเภอหนองบัวมีสื่อออนไลน์แบบอาสาช่วยกันทำเป็นแหล่งสร้างการเรียนรู้ทางสังคมร่วมกันอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี ๒๕๔๙ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปสู่การสร้างพื้นที่ทางปัญญาและพื้นที่การเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมอิงถิ่นฐานของหนองบัว แพร่หลายอออกไปในหลายลักษณะ เช่น การร่วมจัดนิทรรศการให้ความหมายในอีกมิติหนึ่งของสังคมวัฒนธรรมต่างๆในหนองบัวในเทศกาลและงานสำคัญต่างๆของอำเภอ การสื่อสารและสร้างความเคลื่อนไหวทางข่าวสารและความรู้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคนทำงานในพื้นที่ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพชุมชน การพัฒนาชุมชน การพัฒนาบทบาทใหม่ๆขององค์กรท้องถิ่น การริเริ่มสิ่งต่างๆของคนหนองบัวโดยภาคประชาชน พ่อค้า และนักธุรกิจเอกชนในท้องถิ่น 

รวมทั้งต่อมา เครือข่ายความร่วมมือที่ค่อยๆก่อเกิดบนสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดและถิ่นอาศัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายครู ชุมชน กลุ่มคนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่าของโรงเรียนในอำเภอ เครือข่ายศิษยานุศิษย์หลวงพ่ออ๋อยและหลวงพ่อเดิม และเครือข่ายเรียนรู้ของผู้สนใจชุมชนหนองบัว ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน ได้เริ่มเชื่อมโยงเข้ากับการพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนและสถานศึกษาทั้งการศึกษาในระดับประถมและมัธยมของอำเภอ นำมาสู่การพัฒนาเครือข่ายครูจัดการเรียนรู้บูรณาการอิงถิ่นฐาน โดยโรงเรียนหนองบัว ได้เป็นศูนย์การเรียนรู้และเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาเครือข่ายทางด้านนี้ให้กับเครือข่ายครูและเครือข่ายโรงเรียนในฝันของจังหวัดนครสวรรค์และอำเภอต่างๆ ๑๗ อำเภอของนครสวรรค์

กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่าย ใช้วิธีถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นบนวิถีชีวิตและกระบวนการทำงาน และพัฒนาแนวคิดในการกลับสู่วงจรปฏิบัติ เพื่อสร้างผู้นำการปฏิบัติที่มีการเรียนรู้และสั่งสมปัญญาปฏิบัติ ให้ดำเนินไปอย่างสมดุลและพอเพียงกับสิ่งที่มีอยู่เป็นต้นทุนชีวิตของตนเอง ทั้งการเป็นครูด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ และความเป็นพลเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการสร้างสุขภาวะชุมชนของถิ่นฐานและแหล่งอาศัย กระบวนการถอดบทเรียน มุ่งสร้างเครือข่ายครูให้มีความลุ่มลึกบนการปฏิบัติ สร้างวิธีคิดและเข้าสู่การอธิบายความเป็นจริงเพื่อพัฒนาการปฏิบัติด้วยกระบวนการคิด เชื่อมโยงภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน และอ้างอิงการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เห็นแนวทางการพัฒนาเครือข่าย สร้างความรู้ พัฒนาสื่อ แหล่งการเรียนรู้ การสื่อสารออนไลน์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนการสอน บูรณาการภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน รวมทั้งนำไปใช้ให้สอดคล้องกับการทำงานบนเงื่อนไขแวดล้อมของแต่ละโรงเรียนต่อไป

เวทีพัฒนาเครือข่ายนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เป็นความเคลื่อนไหวในพื้นที่การศึกษาอำเภอหนองบัวและจังหวัดนครสวรรค์ ที่เชื่อมโยงเครือข่ายครูและเครือข่ายโรงเรียนในฝันให้เป็นเครือข่ายเรียนรู้เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาสุขภาวะสังคมในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆของสังคมไทยและสังคมโลก รวมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้และเสริมพลังการพัฒนาให้กันของโรงเรียนกับภูมิปัญญาอิงถิ่นฐานของสังคมอย่างใกล้ชิดมากยิ่งๆขึ้น

..................................................................................................................................................................................

กิติกรรมประกาศ :

ขอกราบนมัสการ อนุโมทนา ขอบพระคุณ เครือข่ายการเรียนรู้ แหล่งวิทยาการบุคคล และวิทยากรร่วมดำเนินการเวที
(๑) ท่านพระมหาแล อาสโย (ขำสุข) เจ้าอาวาสวัดศรีโสภณ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
(๒) ท่านพระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
(๓) อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ
(๔) คุณครูวิกานดา บุญเอก คุณครูขวัญใจ เสิงขุนทด และ คุณครูต้นเทียน สุนันทา แข็งแรง โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

หมายเลขบันทึก: 499107เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2012 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

มาเยี่ยมอาจารย์ด้วยความระลึกภึงคTบ

ขอบคุณคุณแสงแห่งความดีครับ
คุณแสงแห่งความดีสบายดีนะครับ สัปดาห์หน้านี้ผมจะได้ล่องใต้อีกครั้งแล้วครับ คราวนี้จะไปนครศรีธรรมราชกับสุราษฎร์ธานีแน่ะ 

ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนกันในเวทีคนหนองบัวนี้ครับ
ผอ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์, อ.นุ, คุณณัฐรดา
อาจารย์ ดร.ขจิต และคุณแสงแห่งความดี

  • ยินดีกับเวทีคนหนองบัวด้วยค่ะ มองเห็นพัฒนาการเพื่อการขยายผล และเป็นต้นแบบของรูปแบบสำหรับเวทีเรียนรู้อื่นๆ ได้เป็นอย่างดีค่ะ เช่น เวทีคนพรหมพิราม เวทีคนนาบ่อ (ใช่มั๊ยคะ) เป็นต้น
  • เกิดเครือข่าย เกิดการเรียนรู้อย่างเห็นได้ชัด และช่วยสนับสนุนให้คุณครูหรือผู้ที่สนใจพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อการพัฒนารูปแบบให้การเรียนรู้อิงถิ่นฐานอย่างบูรณาการได้ เพราะเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะคุณครูแล้วน่าส่งเสริมต่อไปค่ะ

เรียนอาจารย์ ที่เคารพ เเละคิดถึงท่านมากๆครับ

ผมมีโอกาสไปที่ หนองบัว ไปทำหน้าที่ วิทยากรกระบวนการไม่นานมานี้ครับ เห็นศักยภาพที่มากมายของภาคประชาชนที่นั่น คิดถึงอาจารย์ตลอดเวลา

ส่วนหนึ่งผมนำเอาบล็อกของอาจารย์เป็นพื้นฐานข้อมูลให้ชาวบ้านที่นั่นได้เรียนรู้ด้วย เป็นที่ฮือฮาทีเดียวครับ เป็นคุณูปการที่อาจารย์ทำให้ท้องถิ่นที่นี่เป็นอย่างมาก ในบทบาทการจัดการความรู้

ผมคิดถึง ปายบ้านผม...จริงๆปายมีประวัติศาสตร์ เเละไม่มีใครเลยที่จะฟื้นประวัติศาสตร์นั้นจริงจัง ผมคิดเลยเถิดไปเรื่องการทำ disertation ไปเลย อย่างน้อยเราคนท้องถิ่นหากจะตอบเเทนที่เกิด ก็คงต้องทำบทบาทนี้ ปายในฐานะ UTOPIA เเต่ต้องเป็น UTOPIA ด้านความหลาหลาย วัฒนธรรมเเละการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้

เขียนมายาว...ผมสนใจประเด็นการพัฒนาศักยภาพครูครับ

ตอนนี้ผมทำประเด็น 21st Century Skils อยู่ครับ ทั้ง PBL และ PLC เป็นเครื่องมือ การพัฒนาครู FAcilitator

กระบวนการที่อาจารย์กำลังทำอยู่นี้น่าสนใจมาก หากมีโอกาสผมอยากตามอาจารย์ไปเรียนรู้ อาจารย์กรุณาเเจ้งผมด้วยนะครับ

ครูท่านนี้ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ ครูจ.ยะลา นับถือ ครับ ผมได้กราบท่านวันไหว้ครู

ผมรู้สึกว่า ความเป็นครูนั้นยิ่งใหญ่มาก ทั้งศักดิ์ศรี เเละวิชาชีพ

หากมีโอกาสในการร่วมพัฒนาครูในศักยภาพที่มี

เป็นสิ่งที่ผมคาดหวังไว้ครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

ค่อยๆทำ แล้วก็นำเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้น มาถอดบทเรียน อย่างนี้ เพื่อให้ชีวิตและการงานของครูและคนทำงานมีความลุ่มลึก เติบโตงอกงามไปกับความมีประสบการณ์ พึ่งตนเองในการพัฒนา อยู่กับชุมชนและมีชีวิตจิตวิญญาณเป็นครูที่ยืนยาว ก็ดีมากเลยนะครับ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสภาพชุมชนแบบดั้งเดิมของชนบทอยู่

ขอร่วมขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์นะครับ ที่ได้ไปร่วมให้การสนับสนุนน้องๆและหมู่มิตรชาวหนองบัว จัดกระบวนการเวทีในครั้งนี้กันขึ้นให้สำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี 

สวัสดีครับคุณเอก จตุพร

คงต้องได้ชวนเอกไปเยือนหนองบัวอีกน่าจะมากกว่า ๑ ครั้งเป็นแน่นะครับ เกริ่นไว้ก่อนล่วงหน้าไปเรื่อยๆก่อนนะครับ ระหว่างนี้ก็จะทำให้หนองบัวและเครือข่ายเรียนรู้ของคนหนองบัวมีการเรียนรู้และเตรียมตนเองทางด้านต่างๆให้ดีที่สุดกันไปก่อน จากนั้น ก็อยากจะให้หนองบัวได้มีโอกาสเป็นเวทีวิชาการ ถอดบทเรียน และสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ที่นำเอาเรื่องสำคัญๆของสังคมไปเปิดประเด็นคุยกันให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ทำและก่อเกิดขึ้นได้ในหนองบัว ซึ่งเมื่อหนองบัวทำได้ อีกหลายแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศก็จะมีตัวอย่างอ้างอิงให้มีความเชื่อมมั่นที่จะริเริ่มและทำกันได้แน่ๆ เพราะหนองบัวขาดหลายอย่างมากกว่าหลายแห่งของประเทศ คนหนองบัวจะได้เรียนรู้เพื่อทำสิ่งต่างๆอย่างมีพลัง และเครือข่ายเรียนรู้ที่ทำงานกันในแนวทางนี้ ก็จะได้ตกผลึกประสบการณ์และสร้างความเชื่อมโยงในการทำงานกันให้ก่อเกิดประโยชน์แก่สังคมร่วมกันได้มากยิ่งๆขึ้น

มีความสุขและมีพลังใจเสมอๆครับ

ปีนี้มีเวลาน้อยมาก
แค่ไปเยี่ยมเวทีจริงๆ
ไปถึงโรงเรียนก็เพล
ฉันภัตตาหารเพลที่ทางโรงเรียนจัดถวายแล้ว

จากก็มีเวลาพบปะกันอีกเล็กน้อย
ก็จะถึงกำหนดปิดประชุมบ่ายสองโมง
ก็ประทับใจที่คณะครูโรงเรียนหนองบัว
ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานด้วยความมุ่งมั่น

อ่านจากบันทึกอาจารย์
ที่บอกเล่าถึงการทำงานชุมชน
ของครูสมชายโรงเรียนบ้านเขาแม่แก่

ทำให้นึกถึงบทบาทครูรุ่นเก่าในชุมชนบ้านนอก
ที่ทำหน้าที่หลายบทบาทเหลือเกิน
บทบาทสำคัญเช่นนี้ เป็นงานหนัก
แต่ก็น่ายกย่องชมเชยและภูมิใจแทน
ที่ช่วยสร้างคนตลอดมา

เวลาน้อยและต้องร่นกิจกรรมหลายอย่างอยู่ตลอดเวลาเลยครับ แต่ก็ไม่เป็นไร มันเป็นสภาพจริงของการทำงาน กลับดีเสียอีกที่จะได้มีโอกาสสัมผัสกับรูปแบบการจัดกระบวนการเวทีอย่างไม่ต้องเป็นทางการ สามารถยืดหยุ่นและดำเนินไปอย่างสบายๆให้กลมกลืนกับการทำงานปรกติไปด้วยอย่างนี้

ผมและคณะครูผู้จัดซาบซึ้งและประทับใจพระคุณเจ้ากับท่านพระอธิการโชคชัยและพระคุณเจ้าอีกสองรูปกับโยมพ่อของพระที่ใช้รถตนเองและขับรถไปให้ในครั้งนี้มากครับ โดยเฉพาะตอนกลับ ก็ยังได้เห็นพระคุณเจ้าต้องออกมานั่งที่กระบะเปิดหลังคา

หลังจากแยกย้ายกันกลับแล้ว ก็ให้นึกเสียดายที่ไม่ทันได้นึกและนิมนต์พระคุณเจ้าให้ได้อยู่ร่วมด้วยอีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดหมายกันไว้ก่อน คือผมและอาจารย์ณัฐพัชร์กับคณะคุณครู ได้นั่งคุยกันเพื่อพักให้หายเหนื่อย แล้วก็เกิดเป็นความสนใจ ระดมความคิดพัฒนาโครงการกันขึ้น เพื่อให้กลุ่มครูกลุ่มเล็กๆที่เป็นกลุ่มหลักในการพัฒนาเครือข่ายครู ได้ลองนำเสนอโครงการกับ GotoKnow ด้วย โดยใช้เรื่องพริกเกลือของชาวหนองบัวและความมั่นคงทางอาหารเป็นแกน เลยนั่งระดมสมองกันต่ออีกเป็นชั่วโมงครับ

สำหรับครูในท้องถิ่นกันดาร ครูบ้านนอก ครูในชนบท รวมทั้งในพื้นที่ที่ขาดโอกาสต่างๆแล้วละก็ การมีเวทีถอดบทเรียนแล้วทำให้ผู้ที่มีประสบการณ์อยู่กับตนเองสามารถจัดระบบข้อมูลและภูมิปัญญาปฏิบัติ ทั้งในเรื่องการงาน การดำเนินชีวิต การเป็นที่พึ่งของชุมชน และการบุกเบิกฟันฝ่าอีกหลายอย่าง แล้วถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นระบบด้วยการพูดบอกเล่าหรือการถ่ายทอดด้วยรูปแบบต่างๆได้ในลักษณะอย่างนี้ จะมีความหมายมากครับ หากเป็นวิธีอื่นจะทำให้น้ำหนักของเรื่องราวต่างๆไปอยู่ที่เอกสารและไกลออกจากสิ่งที่มีอยู่ในตัวคน วิธีอย่างนี้จะทำให้ครู รวมทั้งกลุ่มคนผู้ปฏิบัติในสาขาการทำงานต่างๆ มีเวทีสังเคราะห์บทเรียนและสั่งสมความลึกซึ้งทางวิชาการไปกับการปฏิบัติ ทำให้สามารถดำเนินชีวิตไปบนวิถีแห่งการเรียนรู้และมุ่งอยู่กับชีวิตทางปัญญาด้วยการปฏิบัติได้ 

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนเป็นกำลังใจกันให้กับเครือข่ายครูของหนองบัวและโรงเรียนต่างๆของนครสวรรค์ครับ ผอ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์ คุณณัฐรดา อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณเอกจตุพร คุณแสงแห่งความดี อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง ท่านพระอาจารย์มหาแล และอ.นุครับ

อ.มาสุราษฎร์วันไหนคับหากเป้นสัปดาห์นีผมอยากพบอ.จังคับ

@25-31สต55ผมอยู่กรุงเทพคับ@
อ.ทิ้งเบอร์ไว้ได้มั้ยครับ

ด้วยความเคารพรัก

จะไปและอยู่ที่สุราษฎ์ ๒๒-๒๔ สิงหาคมนี้ครับ พักอยู่ในตัวเมืองเลยละครับ
ไม่รู้ว่าคุณแสงแห่งความดีอยู่ในพื้นที่ทำงานและเป็นเครือข่ายวิชาการให้กับชุมชนกับ อปท ในโครงการนี้อยู่ด้วยอยู่แล้วหรือเปล่านะครับ เป็นเครือข่ายโครงการถอดบทเรียนเพื่อวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วมด้วยยุทธศาสตร์ ๓ ก เพื่อขับเคลื่อนงานสุขภาพชุมชนอย่างบูรณาการ ทั้งการสร้างสุขภาวะชุมชนในแนวประชาคมของภาคประชาชน การยกระดับงานสาธารณสุขมูลฐานสู่งานในระบบสุขภาพปฐมภูมิ และงานสุขภาพชุมชนที่ใช้หลักบูรณาการเชิงพื้นที่น่ะครับ หากเป็นเครือข่ายของพื้นที่อยู่แล้วละก็เยี่ยมไปเลย จะได้ทำงานไปด้วยกันน่ะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท