สอนอย่างไรให้ลูก(หลาน)ศิษย์ อ่านหนังสือได้ 3 ชาตรี สำราญ


การสอนวิธีการอ่าน การเขียนและการคิดมีความสำคัญต่อผู้เรียนมาก เพราะถ้าผู้เรียนได้วิธีการไปแล้ว ผู้เรียนจะสามารถเป็นครูของตนเองได้

สอนอย่างไร ให้ลูก(หลาน)ศิษย์

อ่านหนังสือได้ (3)

 

            ผมเริ่มบทเรียน  โดยการเขียนบนกระดานดำ  เด็กหญิงผึ้งน้อยยืมยิ้มอยู่ใกล้ๆ  ทำท่าบินอยู่กับที่แล้วขยับบินไปมารอบห้อง  ผมก็เขียนต่อไปว่า

                                    ผึ้ง        บิน

ผึ้ง        บิน       ดู          ผีเสื้อ    ดู          ปลา

ผึ้ง        บิน       ดู          ผีเสื้อ    กับ       ดู          ปลา

ผีเสื้อ    บิน       ดู          ผึ้ง        บิน       ดู          ปลา

ผีเสื้อ    บิน    ดู                ผึ้ง   บิน   ดู    ดอกไม้   กับ     ดู      ปลา

 

            เด็กหญิงชมชนก  สำราญ  หรือน้องผึ้ง  หยุดบินแล้วมายืนอ่านเรื่องอยู่ใกล้ๆ ผม

            บทเรียนบทนี้เป็นการทบทวนคำที่เรียนผ่านมา  เพื่อที่ผมจะป้อนคำใหม่ให้อีก  เมื่อเห็นว่าผึ้งอ่านได้คล่อง  คือ  ไม่หยุดคิดอย่างอ่านไม่ออก  ผมก็เริ่มบทเรียนบทใหม่ทันที

ชมชนก

            ผึ้งยิ้มชี้มือมาที่ผมแล้วพูดว่า  “หนูรู้แล้ว”  ผมจึงถามว่า  “อ่านว่าไง”  แน่นอนผึ้งต้องอ่านได้เพราะเป็นชื่อของผึ้งเอง

            การนำชื่อผู้เรียนมาเป็นตัวละคร  เป็นเทคนิคย่อยของการสอนของผม  อย่างน้อยเด็กที่อ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้  อย่างน้อยเขาย่อมที่จะอ่านชื่อตัวเองออก  เขียนชื่อของตนเองได้  นี่คือความสำเร็จอย่างหนึ่งของผู้เรียน

ชมชนก

                        ชมชนก           มา        ดู          ดอกไม้

                        ชมชนก           มา        ดู          ปลา

                        ชมชนก           มา        ดู          ผีเสื้อ

                        ชมชนก           มา        ดู          ผึ้ง

 

            ผมเขียนประโยคที่ใช้คำซ้ำกันให้เป็นเรื่องที่อ่านง่ายๆ  ผึ้งยืนอ่าน  แต่พอถึงคำว่า  “มา”  เด็กน้อยหยุด  แสดงว่าอ่านไม่ออก  เพราะผมไม่เคยสอน  ผมเคยฉวยโอกาสสอนทันที  “มา”  ผมอ่านดังๆ  ผึ้งอ่านตามและอ่านประโยคในบรรทัดต่อไปได้  ใช่ครับ  “มา”  เป็นคำพื้นฐานที่ทุกคนใช้อยู่ตลอดเวลา  จึงง่ายที่เด็กเริ่มอ่านจะอ่านได้

 

ผึ้ง        มา        ดู          ชมชนก           ดู          ผีเสื้อบิน

ผึ้ง        มา        ดู          ชมชนก           ดู          ดอกไม้

ผึ้ง        มา        ดู          ผีเสื้อ    บิน       ดู          ดอกไม้

ผึ้ง    บิน    มา     ดู       ผีเสื้อ    ดู    ดอกไม้   กับ   ดู    ปลา

ชมชนก  ดู  ผึ้ง  บิน  ดู  ผีเสื้อ  บิน  ดู  ดอกไม้  กับ  ดู  ปลา

 

            แน่นอนเด็กหญิงตัวน้อยๆ ค่อยๆ อ่านประโยคที่ยาวขึ้นเรื่อยๆ  อย่างสนุก  ที่สนุกเพราะผึ้งอ่านออกแล้วทุกคำนั่นเอง

            มาถึงตรงนี้ผึ้งสามารถอ่านคำได้ถึง  9  คำ  แต่ทั้ง  9  คำนั้นเมื่อนำมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราว  เป็นประโยคที่มีความต่อเนื่องกันจะมีความยาวมาก  ตรงนี้ผู้สอนต้องดูให้ดี  เพราะถ้าเรื่องราวที่อ่านมีความยาวจนเกินไป  แม้เด็กผู้อ่านจะอ่านได้ก็ตาม  แต่เชื่อเถอะว่าเด็กจะเบื่อเหมือนกัน  พวกเขากินขนมอย่างเดียว  แต่มีจำนวนมากเกินจะทำให้อิ่มเร็วและอิ่มมากจนไม่อยากกินอีกต่อไป  อีกทั้งจะสังเกตได้ว่า  “ความ”  ที่มาจากการนำคำมาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวนั้น  มีความซับซ้อนขึ้นและอาจจะยากเกินไปสำหรับเด็กตัวน้อยๆ ครับ  ผมใช้คำว่า  “อาจจะ”  เพราะมีบางคำสำหรับเด็กบางคนที่ผมเคยสอนเขาเข้าใจความหมายของเรื่องราวที่อ่านได้  ตรงนี้คือข้อที่ครูพึงระวังและพึงสังเกต

            ผมจะหยุดเรื่องราวของคำ  9  คำไว้เพียงแค่นี้  เรียกว่าจบบทเรียนที่หนึ่ง  แน่นอนบทเรียนที่สองย่อมเกิดขึ้น  นั่นหมายถึงว่า  ผมต้องตั้งเรื่องใหม่โดยใช้คำ  9  คำนำมาใช้เช่นเดิม  แต่สถานการณ์ของคำนำต้องใช้ต่างกันออกไป  เรื่องราวต้องต่างกันออกไปและคำใหม่ย่อมเพิ่มเข้ามา

            ก่อนจะเริ่มคำใหม่เรื่องใหม่  ผมหยิบกระดาษวาดเขียนขึ้นมา  หยิบสีขึ้นมาชวนเพื่อนเขียนรูป  ผมใช้คำว่าเขียนรูปเพราะผมมุ่งฝึกทักษะการเขียนเส้นตรงโค้งในรูปแบบต่างๆ  เพื่อนำสู่การเขียนตัวอักษรที่ผึ้งเขียนโย้ไปเย้มาในวันก่อน  เราช่วยกันลากลายเส้นขึ้นๆ  ลงๆ  โค้งๆ  งอๆ  กันอย่างสนุก  กระดาษแผ่นใหม่เต็มไปด้วยเส้นสีต่างๆ  มากมาย  จนได้เวลาอาบน้ำรับประทานอาหารเราจึงหยุดการเขียน

อาบน้ำ

            ชมชนก           อาบน้ำ

            ปู่                     อาบน้ำ

            ปลา     มา        ดู          ปู่         อาบน้ำ

            ผีเสื้อ    มา        ดู          ชมชนก           อาบน้ำ

            ผึ้ง        มา        ดู          ชมชนก           อาบน้ำ

 

            มาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นคำว่า  “ผึ้ง”  นอกจากชื่อของตนแล้ว  เจ้าผึ้งหลานสาวยอมรับว่า  ผึ้ง  คือคำเรียกชื่อสัตว์ตัวน้อยๆ  ตัวหนึ่งเช่นกัน  เรานั่งดูรูปผึ้งจากหนังสือเรื่องสัตว์  แล้วก็เดินออกไปที่สวนดอกไม้  ไม่นานนักผึ้งก็เห็นผึ้งตัวหนึ่งบินอยู่ที่ดอกไม้  เด็กน้อยจึงชี้มือให้ปู่ดูผึ้ง  แล้วบทเรียนบทใหม่ก็เกิดขึ้นมาในเวลานั้นเอง

            ชมชนก           ดู          ผึ้ง        บิน

            ผึ้ง        บิน       มา        ที่         ดอกไม้

            ชมชนก           มา        ที่         ดอกไม้

            ชมชนก    ดู     ผึ้ง        บิน       มา        ที่         ดอกไม้

 

            ครับ  คำใหม่ที่เป็นคำนำใช้ประจำ  เราสามารถสอดแทรกเข้าไปในบทเรียนได้  แต่ต้องเป็นคำง่ายๆ  ที่เราใช้พูดกันอยู่เป็นประจำ  เมื่อเขียนแล้วอ่านนำไม่กี่ครั้งเด็กก็จะอ่านได้

            ถึงตรงนี้อย่าลืมว่าครูต้องมีกระดาษแผ่นหนึ่งเขียนคำใหม่ไว้เพื่อใช้ทบทวนการอ่านคำ  และเป็นบัญชีคำใหม่  สำหรับผู้อ่านจะได้รู้ว่าสอนคำใดแล้วบ้าง

            ปลา                 ผีเสื้อ    ผึ้ง        ดู          บิน

            ดอกไม้                        สวย     มา        ที่         ชมชนก

 

            คำใหม่ที่บันทึกไว้ต่างหากนี้  ผู้เรียนจะอ่านทบทวนได้บ่อยครั้ง  และเมื่อผู้เรียนอ่านติดขัดคำใดเพราะลืม  ผู้สอนอย่าบอก  รีบจูงมือมาชี้ให้อ่านคำนั้นจากกระดาษบัญชีคำใหม่ทันที  เด็กผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิธีอ่าน

            การเรียนรู้วิธีอ่าน วิธีเขียน  คือ  การเรียนรู้วิธีการเรียนรู้  นี่คือหัวใจสำคัญของการสอน

            ผมไม่เคยเห็นว่า  เด็กที่อ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้คือคนโง่  แต่ผมคิดว่าเด็กที่อ่านไม่ออกเพราะเขาไม่รู้วิธีอ่าน  เด็กที่เขียนไม่ได้เพราะเขาไม่รู้วิธีเขียน  ถ้าเด็กรู้วิธีการอ่านการเขียนแล้วเขาย่อมจะอ่านออกเขียนได้  เพราะฉะนั้นผมจึงต้องใส่ใจต่อวิธีการเรียนของเด็กควบคู่กับความรู้ที่เด็กได้มา  ทั้งสองอย่างนั้นเด็กจะแสดงออกมาให้เราเห็นตลอดเวลา

            การสอนวิธีการอ่าน การเขียนและการคิดมีความสำคัญต่อผู้เรียนมาก  เพราะถ้าผู้เรียนได้วิธีการไปแล้ว  ผู้เรียนจะสามารถเป็นครูของตนเองได้  ลองสังเกตดูว่าเด็กที่รู้วิธีการอ่านสะกดคำอ่านผันคำได้  เขาก็จะอ่านสะกดคำและอ่านผันคำเวลาเขาอ่านคำๆ นั้นไม่ออก

            ผมสอนคำใหม่ให้ผึ้งหลานสาวของผมอ่านเป็นคำๆ  เวลาเขาอ่านคำที่นำมาเขียนเป็นเรื่องไม่ได้  ผมก็ให้ผึ้งย้อนกลับมาอ่านคำใหม่ที่เขียนไว้ในแผ่นบัญชีคำอีกแผ่นหนึ่ง  ถ้าผึ้งอ่านไม่ได้อีกก็แสดงว่า  เด็กน้อยลืมคำอ่านคำนั้น  ถ้าเป็นเช่นนี้ผมจะต้องสอน  เพราะผมถือว่าผึ้งยังอ่านไม่ได้  พร้อมกันนั้นผมจะต้องบันทึกไว้ว่า  คำใดที่ผมสอนซ้ำบ่อยๆ  บ้าง  เพราะนั่นคือคำยากของผึ้ง  ซึ่งผมจะต้องศึกษาสังเกตวิเคราะห์ให้ได้ว่า  ทำไมคำนี้จึงยากสำหรับเด็กคนนี้

            คำว่า  “คำยาก”  นั้น  เป็นคำยากของคนหรือของผู้เรียนเป็นรายบุคคล  ไม่ใช่ว่าเป็นคำยากของคนทุกๆ คน  เพราะยากสำหรับเขา  แต่คนหนึ่งอ่านได้  สอนได้  ทำได้  เพราะง่ายสำหรับเขา

            คำยากของเด็กๆ  มักจะเป็นคำใหม่ของเขา  เพราะฉะนั้นครูต้องพึงสังเกตว่าเด็กๆ  ใช้คำใดบ่อยๆ  ในการพูดจาสนทนากัน  ถ้ามาเขียนให้อ่านจะอ่านได้เร็ว  เพราะอย่างน้อยเด็กก็เคยนำไปใช้พูดจากันในแต่ละวัน

            มาถึงตรงนี้จะสังเกตได้ว่าผมไม่เน้นการเขียนแล้วว่าจะเขียนอย่างไร  ครับผมค่อยเล่าให้ฟัง

 

 

รวบรวมจากหนังสือวารสาร สานปฏิรูป

 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 498846เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท