เที่ยวสวนทุเรียนกัน


เกียดพวกพ่อค้าคนกลาง ที่เอาเปรียบค้ากำไรอย่างที่สุด เกษตรกรเขาลงทุนลงแรงมากมาย กว่าจะได้ผลผลิตออกมา บ้างทีก็เสียหาย ขายได้ก็กำไรก็ไม่มาก แต่พ่อค้าลงทุนค่าขนส่งไม่เท่าไร เอามาค้ากำไรหลายเท่าตัว ถามว่าการลงทุนของพ่อค้าแม่ค้าคนกลางนั้น มันเหนื่อยยากเท่าเกษตรกรไหมถึงไปเอากำไรมากมายเป็นเท่าๆตัวแบบนั้น

ฝนตกติดๆกันมาหลายวันแล้ว ทีแรกก็ชุ่มฉ่ำหัวใจ ตอนนี้ชักเซ็งๆแล้ว ไปไหนลำบาก เลยชวนเพื่อนๆไปเที่ยวสวนทุกเรียนกันดีกว่าครับ ก็ไม่ได้ไปวันนี้หรอก ไปมาตั้งแต่เดือนพฤษภาแล้วครับ ถ้าไปตอนนี้ก็คงไม่มีทุเรียนเหลือให้ทานแล้วล่ะ

หลายๆคนคงค้านผมว่า ก็ยังเห็นทุเรียนวางขายกันเต็มตลาด ทำไมผมว่าไม่เหลือแล้ว ผมหมายถึงทุเรียนในสวนที่พิษณุโลกนะครับ ปกติทุเรียนภาคเหนือจะออกเร็วกว่าที่อื่น ก็หมายถึงมันนจะวายก่อนด้วย ซึ่งแหล่งผลิตทุเรียนในภาคเหนือก็เห็นจะมีที่ัลับแล(อุตรดิตถ์)เป็นแหล่งใหญ่ แต่ทุเรียนที่พิษณุโลกนั้นออกผลก่อนที่อุตรดิตถ์เสียอีก ฉะนั้นถ้าไปสวนทุเรียนที่พิษณุโลกช่วงนี้คือเดือนสิงหาคม ก็จะไม่เหลือทุเรียนให้ทานกันแล้ว ส่วนทุเรียนที่เห็นยังวางขายกันอยู่จะเป็นทุเรียนภาคใต้และตะวันออก

การไปสวนทุเรียนของผมกลายเป็นภารกิจที่ต้องไปให้ได้ทุกปีแล้วครับ เพราะว่าเป็นคนชอบทุเรียนมากๆ ก็เลยต้องแสวงหาของอร่อยเป็นเลิศและที่สำคัญราคาถูกมาทานให้ได้ และการจะทานทุเรียนถูกๆนั้น ก็ต้องมาให้ถึงสวน ซื้อกันที่สวนเลย รับรองครับว่าถูกคุ้มค่าน้ำมันรถแน่นอน ปีก่อนผมซื้อทุเรียนได้โลละ 30 บาท แต่ปีนี้อากาศร้อนจัดมากผลผลิตน้อยมากอย่างที่ทราบๆกัน เลยขึ้นราคามาโลกละ 50 บาท แต่ถ้าซื้อในเมืองก็ตกโลละ 150-250 บาทเลยทีเดียว ฉะนั้นซื้อกลับบ้านไม่กี่ลูกก็คุ้มแล้วล่ะครับ

สวนทุเรียนที่ผมไปเที่ยว เป็นสวนบนเขาที่บ้านรักไทย อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกครับ สามารถเดินทางไปได้สองทาง คือเข้าทางตำบลท่าหมื่นราม เส้นทางนี้ใกล้ที่สุดหากออกจากตัวเมืองพิษณุโลก แต่ว่า...ทางขึ้นก็ชันใช้ได้เลยทีเดียว อีกทางคือเข้าทางธารทองรีสอร์ทแถวๆวังนกแอ่นครับ เส้นทางนี้มีถนนดินเละๆหลายช่วง แต่ไม่มีทางชันให้หวาดเสียวเลย แต่ทั้งสองเส้นทางนี้ หากฝนลงเมื่อไร แนะนำว่าอย่าเข้าไปเลย เพราะรถจะติดหล่มเอาง่ายๆ ช่วงที่ผมแนะนำคือตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนไปจนถึงก่อนที่ฝนจะเริ่มเทลงมานะครับ เป็นช่วงที่สมควรไปเที่ยวสวน ซึ่งนอกจากจะเดินทางปลอดภัยแล้ว ทุเรียนที่อร่อยที่สุดก็ช่วงก่อนฝนมานี่แหละ เพราะว่าเนื้อเขาจะแห้งและเนียนมากๆ แถมเวลาชั่งก็ได้น้ำหนักเบา(เลยถูก)ด้วยครับ ถ้าฝนตกลงมาทุเรียนจะฉ่ำน้ำทานไม่อร่อย เหตุนี้เองทุเรียนภาคเหนือที่ออกก่อนฝนจึงอร่อยถูกใจคอทุเรียนนักแล

ที่บ้านรักไทยมีสวนทุเรียนหลายสวนครับ ทุเรียนก็วางขายกันหน้าสวนเลย หรือจะเดินชมก็ไม่ว่า(ถ้าเจ้าของสวนอนุญาต และพาชมเอง) ทุเรียนที่นิยมปลูกที่นี่จะเป็นหมอนทอง หลงลับแล และหลินลับแล แต่ที่ขึ้นชื่อลือชาก็คือหลงลับแลครับ ทุเรียนพันธุ์นี้เป็นทุเรียนสวนของป้าหลงที่ประกวดชนะเลิศในงานเกษตรของจังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นก็ถูกนำมาขยายพันธุ์อย่างมากมาย(จริงบ้างปลอมบ้าง) ความโดดเด่นของทุเรียนหลงคือเนื้อที่แห้ง เมล็ดลีบเล็ก และรสชาดที่เป็นเลิศอย่างที่สุด แต่ข้อเสียก็คือผลที่มีขนาดเล็ก แต่ผมว่าผลขนาดหลงลับแลนั้นเหมาะสมในการทำตลาดในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

คนไทยนั้นติดกับผลไม้ขนาดใหญ่ เพราะว่าครอบครัวไทยนั้นอยู่กันหลายคน จึงชอบของใหญ่กัน แต่ปัจจุบันครอบครัวหดเล็กลง ผลไม้ลูกโตๆจึงไม่เหมาะสมกับการทานอีกต่อไป มะละกอสายพันธุ์ใหม่ๆอย่างฮอลแลนด์หรือฮาวายที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกจึงถูกพัฒนาให้มีผลขนาดเล็กยังไงครับ ผมว่าไม่แน่อีกหน่อยหลงลับแลอาจขึ้นแท่นทุเรียนส่งออกแทนที่หมอนทองเพราะลูกเล็กกว่าก็เป็นได้

ความพิเศษของทุเรียนหลงลับแลที่บ้านรักไทยก็คือ ผลที่มีขนาดใหญ่กว่าต้นฉบับที่อุตรดิตถ์มากเลย อาจเพราะว่าสวนที่นี่ปลูกระยะห่าง จึงได้รับแสงแดดเต็มที่ และปลูกในที่ราบทำให้สามารถให้ปุ๋ยได้ดีกว่า ไม่เหมือนสวนที่อุตรดิตถ์ที่ปลูกแบบสวนป่า และมักปลูกตามที่ลาดชายเขา ชาวสวนที่นี่จึงอยากจะเรียกทุเรียนพิเศษนี้ว่า "หลงรักไทย" ซึ่งทุเรียนที่พิษณุโลกนี้คนพิษณุโลกไม่ค่อยได้ทานหลอกครับ แม่ค้าจากอุตรดิตถ์มาซื้อไปเกือบหมดแล้วขายในชื่อทุเรียนหลงจากอุตรดิตถ์ เพราะของเค้าขึ้นชื่อขายได้ราคาดีกว่า แต่ของบ้านเราคุณภาพดีกว่าครับผมยืนยัน

ส่วนทุเรียนภาคเหนืออีกชนิดหนึ่งที่กำเนิดมาจากอุตรดิตถ์ ที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือ "หลินลับแล" ครับ เป็นทุเรียนชนะการประกวดปีถัดจากหลงลับแล ซึ่งมีราคาแสนแพง แพงกว่าหลงลับแลเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว แต่ว่า... เชื่อผมนะ หลินลับแลสวยแต่รูปครับ เค้ามีผลที่มีรูปทรงสวยได้รูปมาก ผลก็โตกว่าหลงลับแล แต่รสชาดนั้นผมว่าหลงอร่อยกว่า ที่หลินนั้นแพงมากก็เพราะว่าเค้าออกลูกยาก ปลูกก็ยากกว่า ก็เท่านั้นหล่ะ ถ้าจะกินเอาอร่อยต้องหลงลับแลครับ

หลงลับแลเป็นทุเรียนที่กลายพันธุ์หรือผสมข้ามพันธุ์จากหมอนทองด้วยการเพาะเมล็ดในหุบเขาภาคเหนือ จึงเป็นทุเรียนที่ทนแล้งและอาการเย็นได้ดีกว่าพันธุ์ทุเรียนใต้ ฉะนั้นใครอยู่ภาคเหนือแล้วอยากปลูกทุเรียนทานแบบให้ได้ผลโดยไม่ต้องให้ยาเคมี ก็ต้องปลูกพันธุ์นี้เลยครับ

ไปสวนคราวนี้ไปทำงานครับ ไปอำเภอเนินมะปรางแล้วต้องไปต่อที่นครไทย จึงใช้ทางลัดผ่านบ้านรักไทยก็เลยถือโอกาสแวะสวนซะเลย ไปแบบราชการหน่อยเจ้าของสวนก็เลยพาชมสวนซะทั่วเลย ได้ความรู้การปลูกดูแลทุเรียนมากมาย ได้เห็นต้นทุเรียนหลายๆชนิด ซึ่งผมเอารูปมาดูก็สารภาพเลยว่าจำไม่ได้แล้วล่ะครับว่าพันธุ์อะไร

คุยๆไปเจ้าของสวนก็คว้าหลินลับแลลูกโตๆราคาตลาดโลละ 200 อัพ ฉีกๆให้ชิมกันถึงสองลูกเลยทีเดียว แค่ชิมนะนี่ แถมกำชับพวกผมให้ทานให้หมดด้วย เพราะว่าคนที่สวนไม่มีใครทานทุเรียน(กินกันจนเอียน)

นิกลัวน้อยหน้าฉีกหลงลับแลลูกที่แก่จนแตกให้ชิมอีกสองลูก ขอบอกว่าอร่อยเด็ดจริงๆ ท่องไว้ได้เลยครับสำหรับคอทุเรียน หลงลับแลที่แก่จนผลแตกออกเองนั้นอร่อยเป็นที่สุดเลยครับ และหาทานยากมากด้วยล่ะ เพราะชาวสวนจะตัดทุเรียนที่แก่ไม่เต็มที่เพื่อว่าจะได้ไม่แก่จนแตกก่อนถึงมือผู้บริโภค มันเลยไม่อร่อยเด็ดแบบที่นิเกะให้ทาน และกลิ่นไม่เป็นปลาร้าด้วยนะครับ เนื้อเหนียวเนียนแห้งสุดๆ ต่างจากหมอนทองซึ่งถ้าแก่จนแตกแล้วล่ะก็ มันจะเละไม่อร่อยเลย

งานนี้ซื้อกันกระจายครับ มิชั่งไม่หยุดเลย

เข่งเนี้ยของผมคนเดียว ทั้งเข่งนี่รู้สึกจะ 800 บาทเองมั้ง แบบลดแลกแจกแถมและชิมไม่อั้นสุดๆ แต่ไม่ได้กินทั้งหมดหรอกครับ เค้าฝากซื้อด้วย

ผ่านไปผ่านมาแถวนั้น หน้าทุเรียนอย่าลืมแวะบ้านรักไทยด้วยนะครับ ซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง ผมชอบแบบนี้หล่ะ เพราะเกียดพวกพ่อค้าคนกลาง ที่เอาเปรียบค้ากำไรอย่างที่สุด เกษตรกรเขาลงทุนลงแรงมากมาย กว่าจะได้ผลผลิตออกมา บ้างทีก็เสียหาย ขายได้ก็กำไรก็ไม่มาก แต่พ่อค้าลงทุนค่าขนส่งไม่เท่าไร เอามาค้ากำไรหลายเท่าตัว ถามว่าการลงทุนของพ่อค้าแม่ค้าคนกลางนั้น มันเหนื่อยยากเท่าเกษตรกรไหมถึงไปเอากำไรมากมายเป็นเท่าๆตัวแบบนั้น ฉะนั้นการที่รัฐบาลประกันราคาสินค้าเกษตรหรือรับจำนำในราคาที่เหมาะสมแล้วคิดว่าเราจะเสียโอกาสมากมายมันไม่จริงทั้งหมดหรอกครับ เพราะเขาจะบีบให้พ่อค้าคนกลางเหล่านี้ยอมลดสัดส่วนของผลกำไรของตนเองลง เพื่อปันส่วนให้กับเกษตรกรมากขึ้นก็เท่านั้นเอง ก็ดูง่ายๆอย่างทุเรียนโลละ 30 50 บาทจากเกษตรกรนี่ละกันครับ พอถึงมือแม่ค้าในตลาดเขาขายกัน 150-250 บาท มันยุติธรรมกับเกษตรกรแล้วหรือ แต่อย่างว่าครับ ถ้าชาวสวนรวมตัวกันขึ้นราคา ไอ้พวกพ่อค้าคนกลางมันก็มาขึ้นราคาขายปลีกอีก ผู้บริโภคก็เดือดร้อน แทนที่มันจะยอมลดสัดส่วนกำไรของมันลงมา ปัญหานี้ก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะแก้ไขกันอย่างไรดี ประเทศของเรามีสัดส่วนประชากรทำการเกษตรมากที่สุด ถ้าเกษตกรรวย ประเทศจะเจริญรุดหน้าขนาดไหน ก็ลองนึกภาพดูนะครับ แต่อะไรคือปัญหาแท้จริงที่ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศถูกกดขี่แล้วไม่ได้รับความยุติธรรมเช่นนี้....

หมายเลขบันทึก: 498034เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ไม่ทราบมาก่อนว่าสามารถปลูกทุเรียนที่พิษณุโลกได้ค่ะ วันก่อนเห็นท่านอาจารย์วิรัตน์ ปลูกที่เชียงใหม่ยังขอท่านอาจารย์ให้ช่วยนำภาพมาแบ่งปันเมื่อออกลูก เพราะบ้านอยู่เชียงใหม่จะได้ปลูกบ้าง แสดงว่าคงได้จริงๆ เพราะเชียงใหม่กะพิษณุโลกไม่ไกลกันเท่าใด

น่าทานมากค่ะ ทุเรียนบ้านเราหอมหวานอร่อยกว่าทุเรียนมาเลย์เยอะ

ขอบคุณค่ะ

..สวัสดี..ค่ะ คุณ นกขมิ้น..อย่า.."เกลียด"..คนกลาง..ไปเลย"..เพราะ คนเหล่านี้..ต้อง..ใช้เวลา..พัฒนา..เงิน..ที่ลงทุนไป..เหมือน..เวลาคน"เกียด"เบียนเบียด กัน...นะ.."ทุเรียนที่กลิ่นแรง..เขา..กลั่นเป็นหัวน้ำหอม..ราคาแพง"..จากเหม็น..ๆๆ.กลายเป็น..หอมๆๆ..อิอิ.ชอบเพลงนี้..จ้ะ..ขอบพระคุณ(.ยายธี)

ที่พิษณุโลกมีทุเรียนด้วยเหรอนี่ ดีจัง ว่าแต่ ได้กลิ่นทุเรียนทีไร เวียนหัวทุกที มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่เค้าซื้อมาฝาก ด้วยความเกรงใจ กลัวเค้าเสียใจ เลยต้องฝืนลองชิม พอชิมเท่านั้นหละ ต้องทำเป็นเนียนว่า ขอตัวเข้าห้องน้ำก่อนนะ 55555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท