โอกาสต่อยอดการเรียนรู้สู่ PBL ของนักเรียน


สสค. ควรจัด workshop ฝึกทักษะ PBL coaching ให้แก่ครูในเทศบาลที่มีกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้เพื่อสัมมาชีพ ตามแนวที่เทศบาลปลายพระยา และนาหมอม้า ดำเนินการ ฝึกให้มีครูจำนวนหนึ่งทำหน้าที่วิทยากรฝึกเพื่อนครูในพื้นที่ ต่อๆ กันไปได้ โดยหากจะจัด ควรไปจัดในพื้นที่ เพื่อฝึกในสภาพจริง

โอกาสต่อยอดการเรียนรู้สู่ PBL ของนักเรียน

วันที่ ๗ ส.ค. ๕๕ มีการประชุม เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ ๗/๒๕๕๕  เรื่อง การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อสัมมาชีพ   ผมได้รู้จักเทศบาลตำบล ๒ แห่ง ที่ทำงานเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในเขตเทศบาลของตน โดยเน้นที่การมีอาชีพที่ดี  และการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน    คือเทศบาลตำบลปลายพระยา  จ. กระบี่    และเทศบาลตำบลนาหมอม้า  จ. อำนาจเจริญ

กิจกรรมของเทศบาลทั้ง ๒ แห่ง เป็นกิจกรรมรูปธรรม   ที่ครูน่าจะถือโอกาสใช้ออกแบบเป็นโครงการ PBL ของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตจริงในชุมชนของตน    มองมุมหนึ่ง กิจกรรมของเทศบาลทั้ง ๒ คือ “ทรัพยากรการเรียนรู้” ที่มีอยู่ในพื้นที่    สำหรับให้โรงเรียนและครูหยิบมาใช้จัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ที่เมื่อนักเรียนทำโครงงาน PBL แล้วเกิดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยง    เกิด 21st Century Skills ตามวัยของตน  

และที่สำคัญ เด็กจะได้ฝึกหัดการทำมาหากิน มีรายได้ตั้งแต่เด็ก    ซึ่งก็คือการฝึกทักษะชีวิตหลากหลายด้านตามวัยหรือวุฒิภาวะนั่นเอง

จึงขอเสนอแนะต่อ สสค. และ อปท. รวมทั้งโรงเรียน/ครู ทั้งหลาย   ให้ร่วมกันต่อยอดทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชนเข้าสู่ห้องเรียนในโรงเรียน   เพื่อดึงครูและนักเรียนออกจากห้องเรียนสู่ชีวิตจริง   เกิดการเรียนรู้แบบ Learning by Doing    และ Teach less. Learn more   เกิดการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่เป็นการเรียนจากการลงมือทำ จนเกิดเป็นทักษะ   โดยครูเปลี่ยนจากผู้บอกวิชาความรู้ (teach)   มาเป็นผู้กระตุ้นกำลังใจ แรงบันดาลใจ ในการเรียนรู้ ว่ามีคุณค่าต่อชีวิตในอนาคตของศิษย์   จะช่วยสนองความใฝ่ฝันของศิษย์ ได้อย่างไร   รวมทั้งคอยแนะนำวิธีเรียน เพื่อฝึกฝนตนเองแก่ศิษย์ (coach) ให้เป็นการเรียนที่ศิษย์เกิดทักษะที่สำคัญต่อชีวิตอนาคต (ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑) ได้จริง

ผมมองว่า สสค. ควรจัด workshop  ฝึกทักษะ PBL coaching ให้แก่ครูในเทศบาลที่มีกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้เพื่อสัมมาชีพ ตามแนวที่เทศบาลปลายพระยา และนาหมอม้า ดำเนินการ   ฝึกให้มีครูจำนวนหนึ่งทำหน้าที่วิทยากรฝึกเพื่อนครูในพื้นที่ ต่อๆ กันไปได้   โดยหากจะจัด ควรไปจัดในพื้นที่ เพื่อฝึกในสภาพจริง

จะเป็นการร่วมมือกับ อปท. เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ของตน   เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในมิติชีวิตจริง และเชื่อมโยงกับการทำมาหากินของผู้คน

วิจารณ์ พานิช

๘ ส.ค. ๕๕ 

หมายเลขบันทึก: 497605เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 05:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2012 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท