ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คในการกำหนดความรับผิดทางอาญา


พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534, พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542

ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คในการกำหนดความรับผิดทางอาญา[1]

 

ณัฐกานต์  กุลวงศ์[2]

บทนำ

ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คถูกกำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ซึ่งมีวัตถุประสงค์และหลักการเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 และตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196  เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มีผลสืบเนื่องจากการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497และของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ปัจจุบันพบว่ามีปัญหามากมายภายหลังที่กฎหมายมีผลใช้บังคับใช้แล้ว

ในการพิจารณากฎหมายในเรื่องดังกล่าวนี้ว่ามีความสมควรที่จะบังคับใช้ต่อไปหรือไม่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่า วัตถุประสงค์และเป้าหมายของภารกิจของกฎหมายว่ามี วัตถุประสงค์และเป้าหมายของภารกิจนั้นคืออะไรมีความจำเป็นต้องทำภารกิจนั้นเพียงใด ที่จะบัญญัติกฎหมายเพื่อที่ใช้แก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่องและ มาตรการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของภารกิจคืออะไร  มีทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่และ ภารกิจนั้นจะแก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่องนั้นได้เพียงใด

                เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ที่มีเหตุผลในการประกาศใช้เนื่องจากธุรกิจการค้าของประเทศไทยได้เจริญขึ้นเป็นอันมากจึงสมควรที่จะหาวิธีการสนับสนุนให้มีการใช้เช็คอย่างแพร่หลายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การประกอบธุรกิจการค้ากฎหมายจึงได้กำหนดโทษผู้ที่คิดทุจริตใช้เช็คโดยไม่มีเงินที่จะพึงชำระตามจำนวนที่สั่งจ่ายเพื่อแก้ปัญหา

จะเห็นว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อสนับสนุนการใช้เช็ค และลงโทษกับผู้ที่ทุจริตใช้เช็คโดยไม่มีเงิน ที่จะพึงชำระตามจำนวนที่สั่งจ่ายและตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ได้เห็นพ้องด้วยในเจตนารมณ์เดิมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 แต่ได้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องการใช้เช็คในการใช้เพื่อบีบบังคับชำระหนี้และต่อมาพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ วัตถุประสงค์ของการออกกฎหมาย เพื่อปรับปรุงกฎหมายเดิมให้มีบทบัญญัติชัดแจ้งว่า การออกเช็คที่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อให้มีผลผูกพันและบังคับชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเท่านั้น และได้กำหนดให้มีระวางโทษปรับเพียงไม่เกินหกหมื่นบาทเพื่อให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ทั้งให้การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยจะกระทำโดยไม่มีหลักประกันก็ได้ แต่ถ้าจะให้มีหลักประกัน หลักประกันนั้นจะต้องไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็ค นอกจากนี้สมควรกำหนดให้การฟ้องคดีแพ่งตามเช็คที่มีจำนวนเงินไม่เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวสามารถฟ้องรวมไปกับคดีส่วนอาญา

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเมื่อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คดังกล่าวข้างต้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้เช็คแพร่หลายและใช้มาตรการในเรื่องการกำหนดความรับผิดทางอาญาและการกำหนดโทษเป็นเครื่องมือ มีความจำเป็นต้องการแก้ไขจุดอ่อนกฎหมายอันเกิดจากการใช้เช็คที่มีอยู่แล้ว  คือมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่เช็คอันเป็นตราสาร ทางการเงินที่มีความสำคัญในทางธุรกิจการค้าของประเทศ และได้มีการกำหนดความรับผิดทางอาญาเอาไว้เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ใช้บังคับมานานนับจากพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497ถึงปัจจุบัน(23 มิถุนายน 2555) เป็นเวลา 58 ปีแล้ว  พบว่ามีปัญหาทางกฎหมายเกิดขึ้นและเกิดต้นทุนของสังคมที่ผู้เกี่ยวข้องกับคดี ใช้งบประมาณของประเทศในดำเนินการเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาความอาญาโดยรวมใช้เงิน  909 – 1,351 ล้านบาทต่อปี[3] ซึ่งไม่คุ้มแก่การที่ประชาชนจะต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเพราะไม่ชำระหนี้ทางแพ่งเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่เอกชนกลุ่มหนึ่งได้รับชำระหนี้ โดยนำเงินภาษีและบุคลากรไปบังคับชำระหนี้ให้เอกชน ซึ่งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายสามารถที่จะใช้มาตรการอื่นแทนการทำให้เช็คเกิดความมั่นคง ทั้งไม่เป็นไปตามสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ไม่เป็นไปตามหลักการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญา และยังแก้ไขปัญหาความน่าเชื่อถือของการใช้เช็คเป็นเครื่องมือในการชำระหนี้ไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งต่อมาเป็นปัญหาในทางกฎหมายหลายประการดังจะกล่าวดังต่อไปนี้

ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดความรับผิดทางอาญาไว้ในการกระทำอย่างใดในการใช้เช็คว่าเป็นไปตามหลักสิทธิพลเมืองระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีหรือไม่นั้น จากทฤษฎีทวินิยม (Dualism)ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบบกฎหมายของประเทศไทยยอมรับกัน เมื่อสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างประเทศจะมีผลใช้บังคับทำนองเดียวกับกฎหมายภายในนั้นจะต้องมีการผ่านขั้นตอนการตราเป็นกฎหมายภายในซึ่งเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนง ของรัฐว่าต้องการที่จะให้กฎหมายระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งเรียกว่า “การแปลง”(Transformation) หรือ “การยอมรับ” (Adoption) กฎหมายระหว่างประเทศให้เป็นกฎหมายภายในของรัฐซึ่งจะมีผลให้การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ เป็นไปตามกฎหมายภายใน เมื่อกฎหมายระหว่างประเทศได้แปลงหรือยอมรับเป็นกฎหมายภายในของรัฐศาลมีอำนาจที่จะนำเอากฎหมายที่มีการอนุวัติการแล้วมาปรับใช้แก่คดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาต่อศาลและสามารถใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีภายในรัฐได้

 ในการบัญญัติกฎหมายในประเทศไทยจึงได้คำนึงถึงสิ่งที่รัฐกำหนดในรัฐธรรมนูญ สิทธิพลเมืองเป็นเรื่องที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังได้คำนึงถึงแนวความคิดจากกติกาสากลที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี ทำให้การร่างกฎหมายจะต้องนำข้อตกลงและหลักการสากลที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณา แต่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ได้มีการบัญญัติไว้ก่อนที่จะมีการตกลงเข้าเป็นภาคีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งในส่วนของ ข้อ 11 ที่ระบุว่าบุคคลจะต้องรับโทษจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่อาจปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาหาได้ไม่ (No one shall be imprisoned merely on the ground of inability to fulfill a contractual obligation) ในการร่างกฎหมายความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจึงไม่มีการนำหลักการตามกติกาสากลดังกล่าวมาพิจารณาในขณะนั้น

เมื่อประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงโดยเฉพาะในข้อ 11 ภายหลังเมื่อความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมีผลบังคับ และในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 82  ได้รับรองสิทธิของพลเมืองไว้ว่ารัฐต้องทำตามกติการะหว่างประเทศซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายด้านการต่างประเทศให้รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศและพึงปฏิบัติกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ

แต่ปรากฏว่า ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534  กำหนดให้การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

 1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

 2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

 3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

  4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้ ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด

ตามหลักกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการอนุวัตร กฎหมายให้เป็นไปตามกติกาสากล จึงเห็นว่าเป็นการกำหนดความรับผิดทางอาญาให้การกระทำที่ไม่อาจชำระหนี้ทางแพ่งเป็นความผิดและต้องถูกลงโทษ ทำให้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ไม่เป็นไปตามกติกาสากล แม้ในกฎหมายในเรื่องความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คของประเทศ ฝรั่งเศสที่เป็นกฎหมายต้นแบบที่ประเทศไทยได้นำมาเป็นต้นร่างกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 นอกจากจะถือว่าการกระทำอันเกิดจากการใช้เช็คดังมาตรา 4 เป็นความผิดแล้วจะต้องเข้าองค์ประกอบเกี่ยวกับความผิดฐานฉ้อโกงด้วย ซึ่งต่างจากองค์ประกอบความผิด

การที่รัฐบาลประเทศไทยยังไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีถือเป็นการที่รัฐกำหนดความรับผิดทางอาญาให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญาเนื่องจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 4 ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไว้นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติความรับผิดและโทษไว้ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 11 ย่อมเป็นการกระทบสิทธิของพลเมืองหรือประชาชน และการที่รัฐไม่บัญญัติกฎหมายหรือไม่แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คให้สอดคล้องตามสนธิสัญญาตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 11 ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิไว้ ในที่นี้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญยังมีความหมายถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายกฎ ข้อบังคับ กระบวนการทางกฎหมาย หรือการกระทำทางกฎหมายละเมิดต่อรัฐธรรมนูญที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อันได้แก่สิทธิในทางลบ เป็นสิทธิที่รัฐกระทำมิได้ หากรัฐเข้ากระทำ ย่อมเป็นการมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสิทธิในทางบวก เป็นสิทธิที่รัฐต้องกระทำ หากรัฐไม่กระทำ ย่อมเป็นการมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งรวมถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาบทบัญญัติที่บัญญัติในรัฐสภาและบรรดากฎหมาย กฎข้อบังคับลำดับรองลงมาจากรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย

                ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาเพราะ เมื่อพิจารณาฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาและการกำหนดโทษแล้ว การลงโทษจำคุกหรือโทษปรับที่กฎหมายกำหนดไว้มีความไม่เหมาะสมแก่จำเลยหรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการลงโทษซึ่ง การกำหนดความรับผิดทางอาญาเป็นเรื่องการกำหนดความผิดของบุคคล เนื่องจากการฝ่าฝืนกฎหมายที่รัฐกำหนดขึ้น เป็นความผิดที่ไม่ใช่ความผิดที่เป็นอาชญากร ไม่ใช่ความผิดที่เกิดจากการกระทำที่เป็นความผิดในตัว (Mala inse) ไม่เป็นความผิดที่ควรจะลงโทษทางอาญาแก่ผู้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็คอันเป็นการรุนแรง โดยมิได้แยกว่าผู้ออกเช็คคนใดมีเจตนาทุจริต หรือผู้ออกเช็คคนใดมีเจตนาสุจริต เป็นลักษณะของกฎหมายไม่ดี ขัดกับหลักการกำหนดความผิดอาญาที่มุ่งลงโทษกับผู้ที่มีความชั่วที่ ต้องการใช้เช็คเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ฉ้อฉล ฉ้อโกง ซึ่งมีลักษณะของอาชญากร ที่ควรต้องถูกลงโทษ ส่วนผู้สั่งจ่ายเช็คที่กระทำการโดยสุจริตไม่มีเจตนาใช้เช็คเป็นเครื่องมือประกอบอาชญากรรม ควรรับผิดแต่เพียงทางแพ่งในฐานะของผู้ผิดสัญญาเท่านั้น

การที่กฎหมายกำหนดให้การกระทำตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ให้รับผิดทางอาญาอย่างเด็ดขาดย่อมเป็นการไม่ถูกต้องตามหลักการดำเนินกระบวนยุติธรรมอาญาเพราะวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการกำหนดความรับผิดทางอาญาและโทษว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้เช็คแพร่หลายเมื่อใช้ความรับผิดทางอาญาและโทษเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของการใช้เช็คคือผู้สั่งจ่ายโดยไม่มีเงินที่จะพอจ่ายตามเช็ค ผู้ประกอบธุรกิจการค้าไม่ยอมรับเช็ค ควบคุมผู้ออกเช็ค รักษาระบบเศรษฐกิจทางด้านการเงินอย่างเป็นระบบ แต่เมื่อกฎหมายใช้บังคับกลับมีความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คก็ยังเพิ่มขึ้น และมีการบีบบังคับชำระหนี้กับผู้สั่งจ่ายโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ทั้งเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องใช้หน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่สั่งจ่ายเช็คที่กระทำโดยสุจริตซึ่งเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง เป็นการเพิ่มงานให้พนักงานตำรวจ อัยการ ทำให้คดีรกศาล

สิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญาเพราะเหตุที่ไม่ชำระหนี้ทางแพ่งถูกกระทบ

ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายอาญาแนวใหม่ที่เน้นควรปรับปรุงวิธีการลงโทษให้เกิดความยุติธรรมและเหมาะสมในการความผิดที่ได้กระทำไป แต่การออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็คเมื่อเข้าเงื่อนไขกฎหมายจะต้องรับผิดทางอาญาและถูกดำเนินคดี โดยไม่ดูว่าผู้กระทำไม่ได้มีเจตนาทุจริต ไม่ได้ฉ้อโกง ไม่ได้มีเจตนาหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพียงแต่เกิดวางแผนทางธุรกิจผิดพลาด มีเหตุแทรกแซงทางธุรกิจ ทำให้ไม่อาจมีเงินในบัญชีพอที่จะชำระได้ตามเช็ค ทั้งความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ไม่เป็นความผิดทางอาญาที่มีผลกระทบต่อสังคมที่รุนแรงการกำหนดความรับผิดเอาไว้จึงเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินจำเป็น ทั้งการสั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเงินชำระหนี้ทางแพ่งไม่เป็นอาชญากรที่สมควรที่จะลงโทษจำคุก

ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดโทษทางอาญาในความผิดอันเกิดจากการใช้ใช้เช็คเอาไว้โดยมีผู้เสียหายเป็นสาระสำคัญของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนำโทษทางอาญาที่กำหนดไว้มาบีบบังคับให้ผู้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทางแพ่งเพราะความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 5 ระบุให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ในด้านของผู้สั่งจ่ายเองก็สามารถที่จะใช้ช่องของกฎหมายที่จะก่อประโยชน์แห่งแก่ผู้สั่งจ่ายได้โดยอาศัยช่วงเวลาที่ผู้ทรงเช็คดำเนินคดีกับผู้สั่งจ่าย ประวิงเวลาการชำระหนี้ได้ด้วยเหตุผล ที่กระบวนการพิจารณาคดีทางอาญาใช้ระยะเวลานาน

ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ขัดกับหลักนิติปรัชญา (Legal Philosophy)ตามแนวความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติเพราะพระราชบัญญัตินี้ มีแนวความคิดในการกำหนดโทษและได้บทบัญญัติกฎหมายไว้ โดยไม่ได้เกิดจากด้านศีลธรรมแต่เป็นการกำหนดมาจากความจำเป็นของรัฐที่จะมุ่งคุ้มครองตราสารแห่งหนี้ให้มีความน่าเชื่อถือและให้เช็คใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งยังไม่เป็นไปตาม แนวคิดของสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical Law)  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายไม่เป็นไปตามเหตุการณ์และตามกาลเวลาจากข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ของแต่ละชนชาติหรือแต่ละรัฐ การที่ประเทศไทยนำกฎหมายเรื่องความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คที่ประเทศฝรั่งเศสบังคับใช้มาใช้บังคบในประเทศไทยซึ่งองค์ประกอบของความผิดที่จะต้องรับผิดทางอาญาในประเทศฝรั่งเศสได้จะต้องเข้าลักษณะความผิดฐานฉ้อโกงรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยโดยไม่ดูจารีตประเพณีหรือความเหมาะสมของสภาพทางสังคม เศรษฐกิจและระบบการเมือง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดหลักเกณฑ์ หรือประวัติศาสตร์ทางกฎหมายของประเทศไทย มีในประเทศไทยหรือไม่ ทำให้เกิดปัญหามามากมาย เมื่อสังคมไทยรับรู้ว่าการสั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเงินเป็นสิ่งไม่ถูกต้องและสังคมไทยรับรู้แล้ว ควรยกเลิกความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เมื่อไม่ยกเลิกก็ย่อมไม่เป็นไปตาม แนวความคิดสำนักกฎหมายสังคมนิยม (Socialist Law) ที่ถือว่ากฎหมายเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นสิ่งที่สะท้อนจากเศรษฐกิจและการเมือง กฎหมายเป็นตัวสะท้อนออกมา แต่กฎหมายไม่ใช่สิ่งจำเป็นตลอดไป แต่มีความสำคัญและจำเป็นในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือขณะหนึ่ง เพื่อเป็นการจัดระเบียบและกลไกให้แก่สังคมให้เกิดความเรียบร้อยปกติสุข เมื่อคนในสังคมรับรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องอยู่ร่วมกัน กฎหมายจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

                ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดความรับผิดและโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ดังกล่าวจึงสมควรที่จะทบทวนยกเลิกความรับผิดทางอาญาและโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คและเมื่อมีการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ควรมีมาตรการอื่นมาบังคับแทน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของธนาคารในการพิจารณาให้บุคคลใดใช้เช็ค หรือมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารที่จะระงับการให้ใช้เช็คเมื่อเกิดปัญหาในการจ่ายเงินตามเช็คหรือใช้ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานฉ้อโกงมาใช้ และ ควรใช้มาตรการทางปกครองแทนการกำหนดความรับผิดทางอาญา เช่นบันทึกข้อมูลของบุคคลที่สั่งจ่ายเช็คแล้วไม่มีเงิน โดยประกาศในหนังสือพิมพ์หนังสือเครดิตหรือการเงิน เพื่อให้บุคคลทั่วไปจะตรวจสอบจากหนังสือหรือประกาศนี้ก่อนตัดสินใจรับเช็คจากผู้สั่งจ่ายหรือลูกค้า เป็นต้นนอกจากนี้ในการพิจารณาคดีในศาลควรหาเครื่องมือให้ศาลหาทางออกโดยให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาในการออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้กระทำเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน หรือมีคำสั่งให้หยุดการสั่งจ่าย ให้ธนาคารมีหนังสือเตือนไปยังผู้เปิดบัญชีเงินฝากโดยแจ้งจำนวนเงินการให้กำหนดเวลาแก่ผู้ทรงเช็คที่จะนำเช็คไปขึ้นเงินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลงในเช็คเมื่อเช็คที่สั่งจ่ายออกไปเรียกเก็บเงินไม่ได้

กรณีหากไม่สามารถยกเลิกโทษทางอาญาได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลและรัฐธรรมนูญที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชน ก็ควรที่จะแก้ไของค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534  ที่ให้การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

 1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

 2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

 3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

  4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้ ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด

โดยควรแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยให้ถือว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 4 จะเป็นความผิดได้ต้องมีองค์ประกอบความผิดที่มีลักษณะเป็นการเจตนาฉ้อโกงด้วย ทั้งต้องกำหนดโทษให้มีความรุนแรง ขึ้นเพราะจะทำให้เกิดความหวาดกลัวและนอกจากนี้ก็ควรที่จะแก้ไขมาตรา 5 ที่ให้ถือว่าความผิดตามมาตรา 4 เป็นความผิดที่ยอมความได้เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดใช้ช่องว่างของกฎหมายในการบีบบังคับชำระหนี้และถือประโยชน์จาก คดีอาญาในความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คในทางที่ไม่ชอบเช่นเอาคดีอาญาเป็นข้อต่อรองในการชำระหนี้กับการแลกที่จะไม่ถูกดำเนินคดี

ในเรื่อง การกำหนดโทษปรับต้องคำนึงถึงจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็คเป็นหลัก โดยกำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์ที่แน่นอนว่าควรปรับกรณีใดและไม่ปรับกรณีใดเพื่อเป็นแนวปฏิบัติไม่ให้เกิดการไม่เสมอภาคกัน

เนื่องจากความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำที่เป็นอาชญากร ไม่มีลักษณะที่เป็นการกระทำที่รุนแรง ควรที่จะ เปลี่ยนแนวทางการลงโทษจำคุกใหม่ โดยใช้โทษจำคุกเฉพาะความผิดร้ายแรง และนำโทษกักขังมาใช้กับความผิดไม่ร้ายแรง โดยการกักขังผู้กระทำความผิดไว้ในบ้านของผู้กระทำความผิดเอง (House Arrest) หรือในสถานที่ที่กำหนด และติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์เพื่อป้องกันผู้กระทำความผิดหลบหนี การเปลี่ยนแนวทางการลงโทษจำคุกนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่เกี่ยวกับการจำคุกได้เป็นจำนวนมาก และเป็นการป้องกันมิให้ผู้ที่กระทำความผิดไม่ร้ายแรงเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงอันเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้การกระทำ

จากหลักกฎหมายความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คที่ใช้มานานและเกิดหลักสากลที่ต้องการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและจะต้องปฏิบัติตาม ทำให้การกำหนดความรับผิดทางอาญาเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คที่กำหนดไว้มีความไม่เหมาะสมต่อสภาวการณ์และจากระยะเวลาที่บังคับใช้กฎหมายมานานภาพสะท้อนออกมากลับไม่สามารถที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายได้เท่าที่ควร จึงสมควรแล้วที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและหามาตรการทางเลือกมาใช้จะเกิดประโยชน์มากกว่า


เอกสารอ้างอิง

คณิต ณ นคร. กฎหมายอาญาภาคทั่วไป.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร:บริษัทสำนักพิมพ์วิญญชน จำกัด, 2543.

คมกริช  วัฒนเสถียร. เช็คมหาภัย.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บัณฑิตไทย, 2524.

จุมพล  สายสุนทร,กฎหมายระหว่างประเทศเล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2552.

ประเทือง  ธนิยผล,อาชญาวิทยา และทัณฑวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ แสงจันทร์การพิมพ์, 2538.

ประภาศน์  อวยชัย.ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คใหม่ฉบับแก้ไขปรับปรุงฉบับแก้ไขปรับปรุงสมบูรณ์ทันต่อยุคปัจจุบัน.กรุงเทพมหานคร: บริษัทกรุงสยาม พริ้นติ้งกรุ๊พจำกัด, 2539.

สง่า ดวงอัมพร.กฎหมายเกี่ยวกับเช็ค การสอบสวน และการดำเนินคดี.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์แม่บ้านการเรือน,2519.

บทความในวารสาร

ก่อพล ฐานะวุฑฒ์.“สภาพปัญหาอันเกิดจากการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค.” บทบัณฑิตย์ 2547เล่มที่ 60 ตอน 3(กันยายน 2547): 169.

วุฒิชัย จิตตานุ, “ระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของโลก (ตอนหนึ่ง)TheSystem of the World Constitutional Review” วารสารศาลยุติธรรมปริทัศน์ 5, 4 (เมษายน-พฤษภาคม 2554): 45-46.

สาคร ตั้งวรรณวิบูลย์. “ความแตกต่างของความผิดเกี่ยวกับเช็คตามกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่.” ดุลพาห, เล่มที่ 4 ปีที่ 40 (กรกฎาคม – สิงหาคม 2536):25.

 

รายงานวิจัย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์,อิสร์กุล และคนอื่นๆ. รายงานวิจัยเรื่องนิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย

กฎหมายเช็ค.กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2554.

 

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พุทธศักราช 2497.

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พุทธศักราช 2534.

พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา.

 



[1] บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาอิสระเรื่อง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค:ศึกษากรณีความรับผิดทางอาญา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือรองศาสตราจารย์ ประเสริฐ  ตัณศิริ และคณะกรรมการสอบ คือรองศาสตราจารย์มยุรี พันแสงดาว รองศาสตร์จารย์นิมิต ชิณเครือ

[2] นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

[3] สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์,อิสร์กุล อุณหเกตุและ ทรงพล  สงวนจิตร,รายงานวิจัย เรื่องนิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายเช็ค, (กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ,2554),หน้า 20.

หมายเลขบันทึก: 497077เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท