ดำนา


การทำนามี 4 แบบ คือ นาหว่าน นาดำ นาโยน และนาหยอด

เรื่องเล่าจากบ้านแม่ตาด :

ดำนา

 

 

 

 

 

               ช่วงนี้เป็นฤดูกาลแห่งการทำนา  ซึ่งที่บ้านแม่ตาดเองชาวบ้านที่มีอาชีพทำนาก็กำลังลงมือกันอย่างขะมักเขม้นเลยทีเดียว

                ที่บ้านแม่ตาด มีการทำนาอยู่ 4 แบบ ด้วยกัน  ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบและความสะดวกของเจ้าของนา คือ

                1.  นาหว่าน   คือ การทำนาโดยการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปในนาที่ไถและคราดไว้เรียบร้อยแล้ว และปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ  โดยการหว่านนั้น มีทั้งการหว่านด้วยมือและการใช้เครื่องพ่นข้าวให้กระจายออกไปทั่วพื้นที่นาตามที่ต้องการ

                ปัจจุบันการทำนาหวานกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากเหนื่อยน้อยและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างเยอะ  สามารถทำคนเดียวก็ได้

               

                2.  นาดำ  คือ  การทำนาโดยการหว่านเพาะต้นกล้าเอาไว้ในแปลง เมื่อกล้าข้าวโตได้ที่ ก็นำไปปลูกในนาที่ได้ทำการไถและคราดไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการทำนาแบบนี้เป็นการทำนาแบบดั้งเดิม

                การทำนาดำ มีข้อดีคือกอข้าวจะใหญ่และให้ผลผลิตมาก  แต่ข้อเสียคือใช้เวลานาน ใช้แรงเยอะ และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องจ้างคนมาช่วยด้วย

 

               3.  นาโยน   คือ การทำนารูปแบบใหม่ โดยการเพาะกล้าข้าวเอาไว้ในกระบะพลาสติก เมื่อกล้าโตได้ที่แล้วก็แกะต้นกล้าออกจากกระบะพลาสติก แล้วก็นำไปโยนลงในนาที่เตรียมดินไว้เรียบร้อยแล้ว โดยโยนให้ได้ระยะที่กำลังพอดีๆ ไม่ถี่หรือห่างจนเกินไปนัก

                การทำนารูปแบบใหม่นี้ มีข้อดีคือ ประหยัดแรง และประหยัดค่าใช้จ่าย  สามารถทำคนเดียวก็ได้


               4.  นาหยอด  คือ  การทำนาโดยการใช้ปลายไม้แหลมจิ้มลงในท้องนาให้เป็นหลุมเล็กๆ  แล้วก็หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไป หลุมละประมาณ 5-6 เมล็ด  โดยจะมีการแบ่งหน้าที่เป็น 2 แผนก คือ แผนกจิ้มหลุม กับแผนกหยอดเมล็ด

                รูปแบบการทำนาหยอดนี้  เดิมทีใช้สำหรับการปลูกข้าวไร่หรือทำนาดอนเท่านั้น  แต่ปัจจุบันนี้มีการนำมาประยุกต์ใช้กับนาลุ่มด้วย โดยมีข้อดีก็คือ ข้าวจะกอใหญ่และให้ผลผลิตดีพอๆ กับนาดำ

 

                ไหนๆ ก็ไหนๆ  วันนี้ผมก็เลยนำเอารูปชาวบ้านแม่ตาดกำลังดำนามาให้เพื่อนๆ ได้ชมกันนะครับ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้





ต้นกล้าที่หว่านไว้ในแปลง

มัดไว้เป็นกำ แล้วก็ตัดปลายออกเล็กน้อย

หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินจริงๆ

การลงแขกยังมีให้เห็นอยู่ที่บ้านแม่ตาด

เหนื่อย...แต่ก็ยังยิ้มได้

แถวใครแถวมัน

ยิ้มอย่างมีความสุข


อีกไม่นานนาผืนนี้ก็จะเขียวขจี

เป็นแถวเป็นแนว....ของใครของมัน

ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติจริงๆ

นาผืนนี้ปลูกข้าวแบบ "นาหยอด"

ข้าวนาหยอดจะขึ้นเป็นกลุ่มๆ อย่างที่เห็น

อันนี้เป็นข้าวแบบนาหว่าน

ท้องทุ่งที่เขียวขจีของบ้านแม่ตาด





เพลง   "บ้านนายังคอย"

ศิลปิน   "เอกชัย   ศรีวิชัย"




หมายเลขบันทึก: 497075เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ภาพเขียว ๆ ของท้องนา...ทำให้สดชื่นสบายตาค่ะ

เคยไปร่วมทำนาโยน... สนุกมากๆๆๆๆค่ะ

การทำนา มีหลากหลายวิธี หลายรูปแบบ นะคะ เมืองไทย ผลิิตข้าวได้มากที่สุด แต่ชาวนาก็ยังยากจน มีหนี้สิ้น ต่างกับ ชาวนาเช่น ญี่ปุ่น ชาวนาเขารร่ำรวยมาก เพราะ รัฐบาล เห็นความสำคัญของชาวนาเท่าที่ควร

ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

สวัสดีครับ คุณ หยั่งราก ฝากใบ

 

ผมเคยลองทำทั้ง 4 แบบนะครับ แต่แบบที่สนุกมากๆ ก็คือ นาโยน นะครับ

ส่วนแบบที่เหนื่อยและเจ็บหลังมากที่สุดก็คือ นาดำ ครับ ลองดำชั่วโมงเดียว แต่ปวดหลังเป็นอาทิตย์เลยล่ะ 555

สวัสดีครับ คุณ Somsri

 

ชาวนาชาวไร่ของเมืองไทยน่าสงสารมากที่สุดนะครับ

เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว นอกจากรัฐบาลจะไม่เหลียวแลแล้ว

พ่อค้าคนกลางก็ยังเอารัดเอาเปรียบอีกต่างหาก

คุณภาพชีวิตของชาวไร่ชาวนาไทยก็เลยยังแย่อยู่เหมือนเดิมตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

น่าเศร้ามากๆ เลยนะครับ

ใจตรงกันจังค่ะคุณอักขญิช

วันนี้ได้อ่านบันทึกคุณหมออ้อ (ธิรัมภา) แล้วนึกอยากเขียนประสบการณ์ในวัยเด็ก เคยช่วยแม่ทำนาค่ะ.. แต่มาเจอบันทึกนี้ ได้ทั้งการเรียนรู้ และภาพประกอบ ถือว่า kunrapee ได้ย้อนกลับไปเมื่อวัยเด็กแล้วค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

 

สวัสดีครับ คุณ kunrapee

 

* ขอบคุณมากๆ นะครับ ที่กรุณาเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ผม 555

** สมัยเด็กผมเคยเป็นลูกชาวนา เคยทำนา และเคยเป็นเด็กเลี้ยงควายมาก่อน

พอถึงตอนนี้มีโอกาสได้มาใช้ชีวิตอยู่ตามท้องทุ่งนาอีกครั้ง

รู้สึกมีความสุขมากๆ เลยครับ

 

*** อดีตมีไว้สำหรับให้คนเราระลึกถึงนะครับ

ไม่ได้ดำนาเองมาหลายปีแล้ว

ไม่เด็กนะคะ เรียนคณะทันตฯ แล้ว พ่อยังพาลูกทุกคนลงนา ช่วยกันดำนาอยู่เลย...ไม่ให้ลืมทักษะ การเป็นลูกหลานชาวนา (อันนี้คิดเอง พ่อไม่ได้บอกตรง ๆ)

ลูกเขยพ่อบางคนทำนาไม่เป็น ยังต้องมาหัดดำนาด้วยกัน

ขอบคุณบันทึกน่าชื่นชมนี้นะคะ

การทำนา...คือ สิ่งบ่งบอกลมหายใจของผืนแผ่นดินโดยแท้เลยครับ

สวัสดีครับ คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา

 

* ผมเคยทำนาสมัยที่ยังเป็นเด็กอยู่ที่ศรีสะเกษบ้านเกิด ทั้งไถนาและดำนา จนกระทั่งถึงตอนที่ได้ไปบวชเรียน เดี๋ยวนี้พอระลึกถึงช่วงเวลานั้นทีไร ก็รู้สึกมีความสุขใจทุกทีนะครับ

** ดีใจมากๆ ครับ ที่ทราบว่าคุณหมอเองก็เคยมีประสบการณ์อันมีค่าแบบนี้มาเช่นกัน

สวัสดีครับ อาจารย์ แผ่นดิน

 

สิ่งที่บ่งบอกให้ทราบถึงวิถีชีวิตแบบไทยๆ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การดำนา นะครับ

เป็นมรดกอันล้ำค่าที่มีการถ่ายทอดต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

เป็นลมหายใจของผืนแผ่นดินอย่างที่อาจารย์กล่าวมาจริงๆ แหละครับ

  • ครอบครัวแฟนเป็นชาวนาที่สุรินทร์ค่ะ ทุกวันนี้ทานข้าวฟรี เพราะคุณแม่แฟนเอาข้าวหอมมะลิมาฝากเป็นประจำ 
  • การทำนาเป็นงานหนักที่น่าชื่นชมมากค่ะ  ช่วยให้คนในครอบครัวรักสามัคคีกันเพราะเป็นงานที่ต้องทำกันทั้งบ้านเลย บ้านไหนมีนาทำ บ้านนั้นไม่มีวันอด อยู่ได้สบาย ๆ
  • ภูมิใจที่ทานข้าวในนาที่ญาติพี่น้องเราช่วยกันทำค่ะ

  • เมื่อตอนเด็ก ๆ แถวบ้านคุณมะเดื่อมีทุ่งนาข้าวเขียวขจี
  • ต่อมา....กลายเป็นนากุ้ง
  • อีกไม่นาน คงกลายเป็น " นาเกลือ"  
  • ไม่มีกุ้ง  กุ้งเป็นโ่รคตาย  คนเลี้่ยงก็เลิกเลี้ยงเพราะหมดตัว
  • นากุ้ง ดินเค็ม ปลูกอะไรก็คงไม่รอด...จึงกลายเป็น  " นาเกลือ" 
  • แต่...เป็นเกลือ...ที่เอามากินไม่ได้อีกด้วย

จากนี้ไปเราจะเห็น การดำนา หรือเปล่า ...เพราะนาโยน จะเป็นที่นิยม..กลัวนาดำ จะหาย เหมือน ลานตีข้าว ไม่มีแล้ว เพราะ มีเครื่อจักรแทน...สวัสดีครับ

สวยใบข้าวเขียวงามจับจิตจริงครับ

ปีนี้ที่บ้าน นาดำ หายากแล้วค่ะ

จะเหลือนาหว่านอย่่างเดียวแล้วสิ

แม่เคยเล่าให้ฟังว่า พี่ชายดำนาเร็วตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก

เรียนรู้จากพ่อ... เด็กชายฟังเสียงจ๋อมๆๆจากต้นข้าวในมือของพ่อที่ปักลงในท้องนา

และแล้ว...เด็กชายก็ดำนา มีเสียงจ๋อมๆๆ ขยับถอยหลัง เคียงไปกับพ่อจนสุดท้องนา

แต่ทว่า... พอเงยหน้าขึ้น ข้างหน้าเด็กชาย...ไร้ต้นข้าว!

เขาเรียนรู้ ฝึกเทคนิคขั้นต้น(ด้วยตนเอง) จิ้มเพียงมือลงท้องนาให้ทันพ่อก่อน :)

แล้วย้อนกลับมาดำนา แบบมีต้นกล้าจริงๆตามหลัง :)))

และดำได้...เร็วจริงๆ เหมือนดำมือเปล่าๆเลยเชียวหละ ๕๕๕


บ้านแม่ตาด ยังมีการทำนาครบทุกแบบอยู่ เพิ่มนาโยนมาด้วยดีจัง

ขอบคุณมากค่ะ ที่นำภาพสดๆมาให้ชม

สวัสดีครับ คุณ Sila Phu-Chaya

 

ข้าวหอมมะลิของสุรินทร์เป็นข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของประเทศเลยนะครับ

ดีใจแทนด้วยจริงๆ ครับ ที่ได้บริโภคข้าวคุณภาพดีโดยไม่ต้องเสียสตังค์ซื้อเลย

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

 

*อ่านข้อความที่บอกมา ทำให้นึกถึงเพลง "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ "ขึ้นมาทันทีเลยครับ 555

** ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นของธรรมดานะครับ....สายน้ำไม่มีวันไหลกลับด้วยครับ

สวัสดีครับ คุณแว่นธรรมทอง

 

ไม่ใช่นาดำอย่างเดียวหรอกนะครับที่จะหายไป

นานๆ เข้าทั้งนาหยอดและนาโยนก็คงจะหายไปด้วย

แล้วเหลือไว้เพียงนาหว่านเพียงอย่างเดียว

อ้อ! การดำนาโดยใช้รถ ก็เริ่มเข้ามาแล้วนะครับ

สุดท้ายวิถีชีวิตการทำนาแบบเดิมๆ คงถูกเครื่องจักรทำแทนหมดนะครับ

สวัสดีครับ คุณ พ.แจ่มจำรัส

 

สีเขียวคือสีที่เห็นแล้วสบายตาและมีความสุขมากที่สุดนะครับ

โดยเฉพาะสีเขียวของต้นข้าว เห็นแล้วเย็นตาจริงๆ ครับ

สวัสดีครับ คุณ Tawandin

 

* บ้านแม่ตาดยังมีครบทั้ง 4 แบบ นะครับ แต่ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะยังอยู่ได้อีกนานสักแค่ไหน เพราะโลกเราหมุนเร็วเหลือเกิน

** ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณานำประสบการณ์อันล้ำค่ามาแบ่งปันเพิ่มเติมด้วย

นาโยน กับ นาหยอด ที่บ้านไม่ค่อยเจอเลยครับ....ชาวบ้านจะดีใจที่ได้ดำนาครับ...เป็นความสุขจริงๆ ครับ

สวัสดีครับ คุณหมออดิเรก(ทิมดาบ)

 

* ทางอีสานใช้รูปแบบ "นาหยอด" กับนาไร่หรือนาโคกนะครับ ซึ่งหลายแห่งยังใช้วิธีนี้อยู่

** ชาวนาทุกคนก็มีความสุขตามวิถีชีวตของตนเองนะครับ และจะมีความสุขมากยิ่งๆ ขึ้น ถ้าหากได้ผลผลิตมากและข้าวราคาดี

ที่บ้านผม...นาโยน คร๊าบ เห็นภาพแล้ว...นึกถึงประโยคเด็ด... หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน... อยากฟังเพลง..สาวนาสั่งแฟน..น่ะ ของ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ครับ

สวัสดีค่ะ...เลือดสุรินทร์ฉีดแรงเลย ที่มีข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุด นุ่ม เคี้ยวหนึบหนับ แต่ตอนนี้ชาวนาสุรินทร์กำลังเผชิญความแห้งแล้ง ชาวนาส่วนใหญ่อาศัยเทวดาเมตตาให้ฝนมา ไม่มีชลประทานที่สามารถบริหารจัดระบบการทำนา ทำการเกษตรได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง นึกถึงสมัยเด็กนั่งล้อมวงกินข้าวข้างเถียงนาน้อย กับข้าวง่าย ๆ แต่ทำไมมันอร่อยมากที่สุดก็ไม่ทราบ ส้มตำก็ไม่ต้องมีครก มะนาวไม่ต้องใส่เอามดแดงนี่นล่ะแทน กินหมดเกลี้ยงเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท