หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : (สาขาการจัดการ) ...ธนาคารข้าว


โครงการดังกล่าวถึงแม้จะมุ่งเน้นการยกระดับ “กองทุนข้าว” สู่การเป็น “ธนาคารข้าว” ในหมู่บ้านก็ตาม แต่กลับเห็นกระบวนการ (Process) หรือกิจกรรม (Activity) ระหว่างทางอย่างหลากหลาย และกิจกรรมต่างๆ ล้วนร้อยรัดอย่างแน่นเหนียวกับความเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” อย่างมหัศจรรย์

 

โครงการ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ไม่เพียงมีจุดเด่นเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning)  หรือการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการลงมือทำ (learning by doing)  ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนเท่านั้น  แต่ยังหมายรวมถึงแนวทางการดำเนินงานในลักษณะเครือข่าย(network)  ด้วยเช่นกัน

กรณีดังกล่าวปรากฏชัดเจนในโครงการ “การบริหารจัดการธนาคารข้าวเพื่อชุมชนบ้านหินปูน” (ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม)  ของสาขาการจัดการ คณะการบัญชีและการจัดการ  ซึ่งมี ดร.นวลละออง อรรถรังสรรค์  เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

 

 

 

 

ปลาร้าแลกข้าว :
ภาพสะท้อนสายใยการพึ่งพาของคนในสังคม >>>



โครงการดังกล่าวประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญๆ คือ (1) ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  (2) เป็นศูนย์กลางในการบริหารธนาคารข้าว (3) เป็นแหล่งบริการและการเรียนรู้ร่วมกันของนิสิต อาจารย์ บุคลากรและชุมชน 

ซึ่งชุมชนบ้านหินปูน เป็นชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง จึงขาดแคลนข้าวที่จะใช้บริโภค รวมถึงขาดแคลนพันธุ์ข้าวสำหรับการเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มภายในชุมชนขึ้นมา  ด้วยการนำปลาและปลาร้าไปแลกข้าวจากชุมชนอื่นๆ 

เมื่อได้ข้าวมาแล้ว  ส่วนหนึ่งได้นำกลับไปบริโภคในครัวเรือน อีกส่วนหนึ่งได้แบ่งมาจัดเก็บเป็นพันธุ์ข้าวไว้ในกองทุนข้าวของชุมชน  เพื่อบริหารจัดการร่วมกัน 

  • โดยล่าสุดชุมชนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เพื่อยกฐานะกองทุนข้าวขึ้นสู่การเป็นธนาคารข้าวบ้านหินปูน

 

 

จากปากคำสำคัญๆ ของชาวบ้านหลายคนทำให้ทราบว่า

        “...ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2555  ชาวบ้านหินปูนได้รวบรวมปลาร้าในชุมชนได้จำนวนทั้งสิ้น 900 กิโลกรัม เพื่อนำไปแลกข้าวเปลือก หรือพันธุ์ข้าวกับชาวบ้านชุมชนวังแสง ต.วังแสง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม  ซึ่งได้ข้าวกลับมาในราวๆ 2.2  ตัน  โดยข้าวทั้งหมดที่ได้มา  ถูกนำเข้าสู่ระบบกองทุนข้าวในหมู่บ้าน  ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เข้ามาช่วยประสานขอความอนุเคราะห์พันธุ์ข้าวเพิ่มเติมจาก ธกส. ก็ได้เพิ่มมาอีก 2 ตันเศษๆ...”

หากแต่ปัจจุบันกองทุนข้าวได้ถูกบริหารจัดการไปจนเกลี้ยงยุ้งฉางแล้ว  เนื่องเพราะสมาชิกในกองทุนได้มาหยิบยืมไปบริโภคและใช้เป็นพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะหว่านในวิถีของการเกษตรกรรมของตนเอง

 

 

 

โดยส่วนตัวผมชื่นชอบกระบวนการ “ปลาร้าแลกข้าว” เช่นนี้อย่างมหาศาล  เพราะสะท้อนถึงวัฒนธรรมแห่งมิตรภาพและความรักของผู้คนที่มีต่อกัน คล้ายๆ กับ “ไม่ใช่ญาติ ก็เหมือนญาติขาดไม่ได้”  


และภาพที่เกิดขึ้น ยังยืนยันได้ว่า “..นี่คือปรากฏการณ์ในเชิงเครือข่ายทางสังคม..”  ที่ควรค่าต่อการสืบสานอย่างยิ่งยวด  ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่  และหลงลืมโครงสร้างสายใยการพึ่งพาของชุมชนไปอย่างน่าใจหาย

 

 

 

ธนาคารข้าว :
การเรียนรู้ที่ร้อยรัดกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และการขับเคลื่อนที่หลากหลายเครือข่าย
>>>

เป็นที่น่าสังเกตว่า  โครงการดังกล่าวถึงแม้จะมุ่งเน้นการยกระดับ “กองทุนข้าว” สู่การเป็น “ธนาคารข้าว” ในหมู่บ้านก็ตาม  แต่กลับเห็นกระบวนการ (Process)  หรือกิจกรรม (Activity)  ระหว่างทางอย่างหลากหลาย 

  • และกิจกรรมต่างๆ  ล้วนร้อยรัดอย่างแน่นเหนียวกับความเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” อย่างมหัศจรรย์  ดังจะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำนา-ปลูกข้าวแบบอินทรีย์  รวมถึงประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพระแม่โพสพ 

 

 

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวโยงอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและเป็นขั้นเป็นตอน เช่น การจัดอบรมเรื่อง “ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว”  ประกอบด้วยเรื่องหลักๆ คือการเตรียมการเพาะปลูก วิธีการปลูก การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ตลอดจนการผลิตจุลินทรีย์จาก “จาวปลวก” เพื่อย่อมสลายฟางข้าว  วิธีการขยายเชื้อโนมูเรียสำหรับปราบหนอน  เทคนิคการหมักปุ๋ยจากมูลสัตว์แบบซุปเปอร์ วิธีการผลิตสารหมักสมุนไพรรสขมสำหรับป้องกันแมลง  วิธีการผลิตฮอร์โมนบำรุงพืช จากพืชผักผลไม้ ไข่ ปลา หอยเชอรี่ และรกสัตว์   

  • สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรกรรมเป็นที่สุด เพราะเป็นทั้งเรื่องทุนทางสังคม  (Social Capital)  ในวิถีภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ที่นำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน

 

 

กระบวนการทั้งปวงนั้น ถูกออกแบบในลักษณะของการเชื่อมประสานเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชนมา “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” (ลปรร.) ร่วมกับผู้คนในชุมชนเป็นหัวใจหลัก  เช่น 

  • การเรียนเชิญอาจารย์จักรภฤต บรรเจิดกิจ  ปราชญ์ชาวบ้านผู้โด่งดังจากโรงเรียนชาวนาจังหวัดพิจิตร อาจารย์สาธิต รัชตเสรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น มาบอกเล่าเก้าสิบ เพื่อ “ติดอาวุธทางปัญญา” ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับ “ข้าว” และเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ให้กับชาวบ้าน
  • โดยยึดมั่นในแนวทางของการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (learning by doing)  อย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

 

อย่างไรก็ดี  เมื่อวิทยากรเดินทางกลับไปแล้ว  ชาวบ้านในกลุ่มที่จัดตั้ง “ธนาคารข้าว”  ก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง  เนื่องจากมีการรวมกลุ่มจัดทำน้ำหมักชีวภาพ  หรือปุ๋ยชีวภาพในรูปแบบต่างๆ  เพื่อหนุนเสริมระบบการปลูกข้าวและเพาะเห็ดในวิถีเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรในชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการของการจัดการความรู้ (knowledge management)  ทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่มองค์กรอย่างไม่หยุดนิ่ง

ก่อเกิดการลดต้นทุนการผลิต ลด-ละ-เลิกปุ๋ยเคมี  และคืนลมหายใจให้กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมไปในตัว

  • ซึ่งกระบวนการเช่นนี้จะช่วยก่อให้เกิดการเป็นชุมชนนักปฏิบัติ (community of practice) ไปโดยปริยาย

 

 

 

 

บทสรุป >>
 

ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่า โครงการ “การบริหารจัดการธนาคารข้าวเพื่อชุมชนบ้านหินปูน” เป็นโครงการที่มีความน่าสนใจในเชิงของการออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ไม่ใช่พุ่งเป้าไปสู่ประเด็นหลักในเรื่องการจัดตั้งองค์กร  การบริหารองค์กร หรือแม้แต่การบันทึกข้อมูลบัญชีธนาคารข้าวอย่างเดียวโดดๆ  โดยไม่ให้ความสำคัญต่อบริบทเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

 

หากแต่โครงการดังกล่าวนี้ฯ  กลับขยายมิติของ “ข้าว”  ไปสู่การเรียนรู้ที่หลากรูปแบบ  ชวนให้คนในชุมชนได้หันกลับไปมองอดีตอันเป็น “ทุนทางสังคม” ของตนเอง  โดยมีวิทยากร หรือ “เครือข่าย” จากภาคส่วนภายนอกมาเป็น “ต้นแบบ” และช่วย “หนุนเสริม” ให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนชีวิตและสังคมร่วมกันอย่างเป็นระบบและมีวัฒนธรรมของการพึ่งพากันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

 

 


ดร.นวลละออง อรรถรังสรรค์ 

 

ไฟล์ภาพเพิ่มเติม

http://www.facebook.com/media/set/?id=100001474700948&tid=358481417507439&skipClustering=false&qn=1342962202&success=44&failure=0&set=oa.446379815384265

 

 

หมายเลขบันทึก: 496537เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นการเชื่อมประสานทางปัญญาที่เกิดมรรคผลทางปฏิบัติที่ยั่งยืน และต่อยอดขยายผลได้อย่างมีพลังค่ะ

  • "ปลาร้าแลกข้าว" เป็นแนวคิดการแลกเปลี่ยนดั้งเดิมของเราที่ไม่ต้องใช้เงินตรา ชอบมากค่ะ โหยหาวัฒนธรรม ภูมิปัญญาเก่า ๆ อยากให้มีแบบนี้ทุกแห่ง
  • จริง ๆ แล้วหากตัวแทนชุมชนแต่ละแห่งมีเวทีแลกเปลี่ยนกระบวนการได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากนะคะ
  • สิ่งสำคัญที่สุดคือแม้วิทยากรจะไปแล้ว แม้ไม่มีใครช่วยประคับประคอง แต่พวกเขาก็อยู่ได้ด้วยตัวเอง ชุมชนพึ่งพาตัวเองเป็นแบบอย่างชุมชนที่ดีมากค่ะ

คุรแผ่นดินค่ะ..น่าชื่ีนชมค่ะ....เป็นวิถีการทำงานที่ทุ่มเท ลงแรง เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนักศึกษาและชุมชน ...".ปลาร้าแลกข้าว : ภาพสะท้อนสายใยการพึ่งพาของคนในสังคม" ...เป็นต้นทุนทางสังคม บ่งชี้ความมั่นคงของขีวิตบนฐานทรัพยากร ...เป็นนิเวศวัฒนธรรม ที่คล้ายกันกับภาคใต้ตอนล่าง " เอาบูดู ไปแลกข้าว" ..วิถีและวัฒนธรรมใน เขตต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ...ใต้กับอีสานในวิถีไทยๆ :-))

ครับพี่ใหญ่- นงนาท สนธิสุวรรณ

ถือเป็นอีกหนึ่งในโครงการฯ ของ 1 หลักสูตร 1 ชุมชนที่น่าสนใจ มีการบูรณาการกิจกรรมที่หลากหลาย เชื่อมโยงกลับสู่ต้นน้ำของกระบวนการที่เกี่ยวข้อง และยึดโยงถึงการเสริมพลังผ่านกลไกของเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จ  เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ทรงพลัง และมีแรงบันดาลใจในการที่จะขับเคลื่อนอย่างมีเป้าหมาย

ขอบคุณครับ

ครับพี่ศิลา-Sila Phu-Chaya

ในอนาคตอันใกล้นี้  จะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในแต่ละภาคส่วนครับ...
ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน จะมีเวที ลปรร.ร่วมกัน รวมถึงอาจารยืและนิสิต ก็จะได้เรียนรู้ร่วมกัน  จากนั้นก็กลับไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนในห้วงที่เหลือ

เมื่อเสร็จสิ้นในระยะแรก จะมีการประเมินผล  นำพากลับมาสู่การเป็นมหกรรมฯ ร่วมกันอีกรอบ  และนำไปสู่การต่อยอดชุมชน "ต้นแบบ" โครงการ "ต้นแบบ" อีกครั้ง..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับพี่ kwancha

พยายามมากมายเลยครับกลับการเสริมหนุนให้มีการหวนกลับไปสู่การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมในมิติต่างๆ พอดีผมได้ฟังเรื่องเล่าการเอา "ปลาร้าแลกข้าว"  ก็เลยเห็นว่านี่ยังเป็นบริบทวัฒนธรรม เป็นมรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า เหมือน "หมอลำขอข้าว (แลกข้าว)"  นั่นเอง...

สิ่งเหล่านี้ สะท้อนความละเอียดอ่อน -ความงดงามของจิตใจคนเรา  ไม่มีใครดูดายชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ นี่คือสัญชาตญาณ หรือจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท