ทางแพร่งของสังคมบนฐานความรู้


สังคมบนฐานความรู้

ปัจจุบันมนุษยชาติมีนโยบายร่วมกันอย่างพร้อมเพียง ไม่ได้ถูกบีบบังคับหรือถูกชี้นำอย่างเผด็จการในการสร้างสังคมที่มุ่งเน้นการ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยมีความเชื่อในอุดมคติ (ideology) อย่างหนึ่งถึงการพัฒนาสู่สังคมฐานความรู้ (Knowledge based society) ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากแนวคิดที่ว่า “ความรู้คืออำนาจ : Knowledge is power” การยึดมั่นในแนวคิดความรู้คืออำนาจได้นำพาปัญหาต่างๆ มาอย่างมากมายในยุคอาณานิคมและยุคอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ของมนุษย์ชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำไปสู่การพัฒนาสังคมในทุกๆ ด้านเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ข้อมูลจำนวนมากกว่าที่ได้มาเร็วกว่าคือสูตรของความสำเร็จในปัจจุบัน อัตราการเปลี่ยนแปลงทั้งของการคิดและการกระทำก็ดูจะเหมือนกับการเปลี่ยนกระ บวนทรรศน์ของแต่ละยุคสมัย คำจำกัดความที่ถูกต้องก็คือ สังคมข้อมูลข่าวสารคือสังคมหนึ่งที่ให้ความพึงพอใจที่ดีที่สุดตามความต้องการของมนุษย์ มนุษยชาติจึงได้เห็นพ้องต้องกันที่จะส่งเสริมสังคมข้อมูลข่าวสารและพัฒนาไปสู่สังคมบนฐานความรู้ในที่สุด

การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศมี 2 ทาง ทางแรกคือการลงทุนในโครงสร้างระบบสารสนเทศ ทางที่สอง คือการการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อมุ่งหวังในประชาชนได้รับการอบรมและสามารถ ที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเท่าที่เป็นไปได้ และประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้ความรู้

ดังนั้นเพื่อให้เกิดสังคมข้อมูลข่าวสาร จึงได้มีการพัฒนาการศึกษาเป็นลำดับแรกโดยจัดให้แก่ทุกคน เช่น ความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและสามารถใช้งานได้ แต่การพัฒนาข้อมูลไปเป็นความรู้จะต้องผ่านกระบวนการที่สำคัญของการศึกษาซึ่ง ต้องมุ่งเน้นให้แต่ละคนพัฒนาตนเอง มีสมรรถนะคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thought) และสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นจะต้องปูพื้นเหล่านี้ให้ดีก่อนที่จะให้คนทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์

การพัฒนาสังคมสารสนเทศอย่างรวดเร็วนี้ได้กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขึ้นของภาวะไร้การศึกษา แต่เป็นในประเด็นการไม่รู้คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำลายไม่เพียงแต่ประเด็นการประเมินการไม่รู้หนังสือ แต่จะมุ่งไปยังรูปแบบของการกีดกันทางสังคมอีกด้วย ดังนั้นการรู้หนังสือจึงปรับมุมมองมาเป็นการรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องการให้ทุกคนในสังคมได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันกับกระบวนทรรศน์ทาง วัฒนธรรมใหม่นี้ นั่นคือมนุษย์ไม่สามารถหนีไปจากสังคมข้อมูลข่าวสารนี้ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากภาวะโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดเป็นแนวล้อมที่ไม่อาจชนะได้ (insurmountable barrier) และการไม่รู้คอมพิวเตอร์ (computer illiteracy) ระหว่างคนรวยและคนจน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมข้อมูลข่าวสารใหม่นี้จะก่อให้เกิดรูปแบบทางสังคมใหม่ เช่น รูปแบบความรุนแรง การครอบงำ และการแปลกแยกจากสังคม

สังคมไทยเองก็หลงเห่อไปกับความทันสมัย และผลิตภัณฑ์จากความทันสมัยต่างๆ เหล่านี้โดยเห็นว่าเป็นเครื่องแสดงเศรษฐานะ แย่งกันซื้อ แย่งกันครอบครองโดยขาดการไตร่ตรองและวิจารณญาณถึงอรรถประโยชน์แท้จริง และไม่ได้มีกระบวนทรรศน์ร่วมที่จะสร้างสังคมข้อมูลข่าวสารขึ้นในสังคมไทย ดังนั้นจึงเกิดการหลงอยู่กับวัตถุทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาทางสังคมต่างๆ เกิดมากขึ้นและขยายวงรอบของปัญหากว้างขึ้น โดยขาดผู้รู้ที่จะชี้นำสังคมและแสดงข้อเท็จจริงต่างๆ ขาดวงเสวนาที่เปิดอกพูดกันอย่างตรงไปตรงมา และการแก้ไขปัญหาด้วยองค์ความรู้แท้

แก่นปัญหาของสังคมข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่สังคมบนฐานความรู้สำหรับสังคมไทยที่ชวนให้คิดก็ คือ สังคมไทยเป็นสังคมที่ทับซ้อนทางความคิดและการกระทำ นั่นคือ ไม่ว่าสังคมไทยนำตนเองสู่ยุคใดก็ตาม สังคมไทยยังคงเอกลักษณ์คือการประนีประนอมของตนเองไว้ได้

หนทางแก้ไข ปัญหาในสังคมไทยอันหนึ่งที่ควรส่งเสริมคือการสอนกระบวนทรรศน์ทางปรัชญาและ ญาณปรัชญาเพื่อให้คนไทยเกิดความเข้าใจในความนึกคิดพื้นฐานของมนุษย์ในกระบวนทรรศน์ต่างๆ และมาตรการความจริงที่คนๆ นั้นยึดถือ เพื่อให้เข้าใจการตีความสังคมบนฐานความรู้ที่เป็นกระแสสังคมในปัจจุบันได้ อย่างแท้จริง ทั้งยังต้องส่งเสริมให้เกิดการยอมรับความหลากหลายในเอกภาพ การยอมรับระบบเครือข่ายความรู้เฉพาะตนซึ่งกันและกัน บทความในคอลัมน์หนังสือพิมพ์และวารสารทั้งในระบบสิ่งพิมพ์และระบบดิจิตอลจะ ต้องช่วยนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง และชี้ชวนให้สงสัยใฝ่รู้ว่าความจริงเป็นเช่นไร และชี้นำถึงการใช้มาตรการความจริงในการพิสูจน์ความจริงนั้น เพื่อให้คนไทยและสังคมไทยได้รู้ข้อเท็จจริง และเรียนรู้ที่จะพัฒนาข้อมูลข่าวสารไปเป็นความรู้ ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long education)

ข้อมูลต้องผ่านกระบวนการคิดทางปัญญา และกลายเป็นความรู้ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามาช่วยให้เกิดการจัดเก็บ และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงให้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงความรู้ที่จำเป็นสำหรับตนได้ สังคมฐานความรู้ก็จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยโดยไม่ทำให้วัฒนธรรมไทยหายไป

บรรณานุกรม

1.Morkunien J (2004). The Information Society as Knowledge Based Society, in Social Philosophy, Paradigm of Contemporary Thinking. Cultural heritage and contemporary change series IVA, Eastern and Central Europe ; Vol.23 :196-207 http://www.crvp.org/book/Series04/IVA-23/contents.htm

คำสำคัญ (Tags): #kbs#knowledge#social problems
หมายเลขบันทึก: 496534เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท