๐ ๑ ๙ ตัวเลขแห่งการหลุดพ้น


"บทเรียนที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ (นพลักษณ์) คือการบูรณาการศาสตร์นพลักษณ์กับการจัดการความไม่รู้ในโลกภายใน"โดยใช้ธรรมะมาอธิบายอย่างเข้าใจง่าย ละมุนละม่อม แต่ละลักษณ์มองเห็นตนเอง มองเห็นจุดที่ต้องพัฒนา จุดที่ต้องก้าวข้ามให้พ้น มองเห็นการนำจุดแข็งของลักษณ์อื่นมาเสริมจุดอ่อนของลักษณ์ตนเพื่อนำไปสู่การสร้างสมดุลย์ของชีวิตให้มีความสุขจากการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์"

อ่านหลังปกหนังสือ "วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑" โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี รู้สึกประทับใจกับตัวเลขมหัศจรรย์  ๐ ๑ ๙

ขอเปิดพื้นที่ให้ท่านผู้มาเยี่ยมเยือนพินิจใคร่ครวญตัวเลขดังกล่าวนี้โดยอิสระ  สาเหตุที่ยกตัวเลขนี้ขึ้นมาเพื่อนำไปสู่ประเด็นคำถามของคุณหมอ ป. กัลยาณมิตรที่เป็นที่รักของพวกเราชาว gotoknow ทุกท่าน

 

Large_41drpor ป.

  • หนังสือ ที่อาจารย์แนะนำ "วิถึมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑"โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี น่าหามาอ่านบ้างค่ะ

  • ขอเรียนถามอาจารย์ เนื่องจากเริ่มมีแพทย์ประจำบ้านสนใจในศาสตร์นพลักษณ์ ในด้านช่วยให้เข้าใจเพื่อนร่วมงาน แต่ยังนึกกันไม่ออกว่าจะเชื่อมโยงกับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง

  • ใจตรงกันโดยแท้ค่ะ ว่าว้นนี้กำลังจะเขียนมุมมอง Palliative careที่ไม่ต้องแยกส่วน เป็น  "Bio-psycho-social-spiritual" (ได้ไหม)  เพราะแนวทางปฎิบัติ ทั้งมวลล้วนต้องการตอบสนองต่อแก่นกลาง"ความหมายในชีวิต - why I have life" ของผู้ป่วย..ณ วาระสุดท้าย เทคโนโลยีการแพทย์สูงสุดใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเผชิญความตายอย่างสงบ ถ้า"ขาดต้นทุนทางจิตวิญญาณ"

ขอยกคำกล่าวของท่านอาจารย์สันติกโรมากล่าวในที่นี้ค่ะ

"ในบรรดาแนวทางหรือศาสตร์ทั้งหลายเพื่อใช้ศึกษาตนเอง ศาสนาเป็นหลักการหนึ่งที่ดำรงอยู่ยาวนานที่สุด แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะศตวรรษที่ผ่านมา มนุษย์ได้พัฒนาศาสตร์ใหม่ ๆ ที่เรียกว่า จิตวิทยา โดยสมัยแรก ๆ จิตวิทยาก็เน้นผู้ที่มีปัญหาทางจิต แต้ในระยะหลังนักจิตวิทยาหันมาสนใจจิตของคนปกติด้วย ต่อจากนั้นก็เริ่มสนใจจิตของผู้ที่สามารถยกระดับชีวิตให้สูง ในที่สุด จิตวิทยาก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่ศาสนาสนใจมายาวนานคือ spirituality  หรือเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องธรรมะ ในบรรดาจิตวิทยาและแนวทางจิตวิญญาณที่มีอยู่ในโลกนี้ นพลักษณ์เป็นแนวทางหนึ่งที่ประกอบด้วยทฤษฎีที่ประมวลความรู้ที่เกี่ยวกับชีวิตภายใน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น (ซึ่งเป็นส่วนของจิตวิทยา) และพร้อมกันนั้นยังลึกไปในส่วนที่เป็นจิตวิญญาณด้วย มองทางหนึ่งเป็นจิตวิทยา มองอีกทางหนึ่งเป็นทางด้านศาสนา..."

                               จากหนังสือนพลักษณ์เล่มเล็ก คู่มือเข้าถึงตน

 

Enneagram (นพลักษณ์) มีผู้นำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย โดยส่วนใหญ่เน้นในเรื่องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคลิกภาพและการปรับตัวเข้าหากัน จนมีบางคนตีความผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีหลายลักษณ์ได้ไหม  ยังไม่ค้นพบลักษณ์ตัวเองเลย แล้วจะใช่ลักษณ์นี้ ลักษณ์นั้นหรือเปล่า หรือไม่ก็มองว่าการตัดสินใครว่าเป็นลักษณ์อะไรเป็นการจับคนใส่กล่อง เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนจะมีลักษณ์เดียว มันอาจจะเกิดจากการปรับตัวในสถานการณ์ที่ต่างกันไปก็ได้ คนมีหลายบุคลิกเป็นเรื่องปกติ

 

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้ผู้ที่เคยศึกษามาก่อนเกิดการชะลอในการศึกษานพลักษณ์ต่อไป หรือบางท่านที่ได้ยินได้ฟังมาจากกูรูในเรื่องอื่นที่ไม่เข้าใจนพลักษณ์โดยแท้จริงกล่าวหานพลักษณ์ในแง่มุมต่าง ๆ ทำให้พลอยไม่สนใจศึกษาและยังบอกต่อ ๆ กันอย่างคลาดเคลื่อนอีก จึงอยากเรียนให้ทราบในเบื้องต้นก่อนค่ะว่าคำถามต่าง ๆ จะตามมาอีกมากมาย หากเราเรียนรู้จากการอ่านและการฟัง โดยไม่ได้เน้นที่ "การสังเกตโลกภายใน" ของตัวเราเองเป็นสำคัญ

 

 

Enneagram (นพลักษณ์) ไม่ได้พิจารณาบุคลิกภายนอกเป็นสำคัญ  บุคลิกภาพภายนอกเป็นเพียงสะพานที่เชื่อมต่อไปสู่การค้นหาโลกภายในเท่านั้น หากเราค้นพบ "ลักษณ์" ที่แท้จริงจากโลกภายในเราได้ เราจะอธิบายตัวตนของเราที่เป็นบุคลิกภายนอกได้ตลอดสาย

 

ลูกศรที่ชี้โยงไปมาคือความเป็นพลวัตภายในตัวตนของเรา ยามสบายใจ และยามเครียด ลูกศรจะวิ่งไปอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นมากกว่าหนึ่งลักษณ์  ยังไม่รวมถึงอิทธิพลของปีกที่อยู่ข้าง ๆ เรา ซึ่งทำให้เราดูเหมือนมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน  นอกจากนี้ ในลักษณ์ของเรายังมีลักษณ์ย่อยที่เรียกว่า subtype อันได้แก่ "sextual" "social" "self-perservation" อีกด้วย หมายความว่าแม้กระทั่งลักษณ์เดียวกัน ก็มีการแสดงออกไม่เหมือนกัน บางคนชอบเก็บตัว บางคนชอบเข้าสังคม บางคนชอบความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง (sexual หรือ one to one relationship)

 

 

ที่กล่าวมานั้นคือบริบทแวดล้อมที่ทำให้ผู้ที่ผ่านการอบรมหลายท่านยังคงสับสนอยู่ว่าเราเป็นลักษณ์ไหนกันแน่  บางทีเลือกแล้วก็อยากจะเปลี่ยนภายหลัง ทั้งที่จริง ๆ แล้วความเป็นลักษณ์มีอยู่แล้ว แต่เราค้นหาไม่เจอต่างหาก ซึ่งกรณีเช่นว่านี้ กระบวนกรจะทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นโดยไม่สามารถตัดสินให้ได้ว่าเป็นลักษณ์ใด ตราบใดที่เจ้าตัวไม่ยอมรับ "ตัวตน" ของตนเอง  บางลักษณ์โดยตัวของเขาเองค้นหาตัวเองได้ไม่ยาก เพราะเป็นลักษณ์ที่มีความชัดเจน แต่บางลักษณ์ที่ "คิดมาก" และวิเคราะห์เป็นงานหลัก จะค้นหาตัวเองไม่ค่อยเจอ เพราะ "คิด" กับ "ปัญญา" ไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไปค่ะ ในขณะที่บางลักษณ์ ไม่รู้ความรู้สึก ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง โดยส่งจิตออกนอกอยู่เป็นนิจ ก็จะไม่ค้นพบตัวเองได้โดยง่าย

 

 

การศึกษานพลักษณ์อาศัยการสังเกตและพัฒนาจิตตนเป็นงานหลัก หากยังไม่เข้าใจตัวเอง มองเห็นการเคลื่อนไหวของจิตตน จะไม่สามารถไปช่วยเหลือใครได้อย่างถูกต้องตรงตามจริตของลักษณ์นั้น ๆ เพราะตอนที่เราเข้าไปช่วยเหลือเขา เราต้องเข้าใจหลักการมองเห็นตัวเองให้แม่น เมื่อต้องเข้าไปทำความเข้าใจโลกทัศน์ของผู้อื่น "วิธีการมองเห็นตัวเอง" จะนำไปเป็น "เครื่องมือในการมองเห็นผู้อื่น" ทำให้เกิดความเมตตาปราณีและมองเห็นทุกข์ของเขาที่ไม่เหมือนของเรา  ที่สำคัญแต่ละลักษณ์ก็ล้วนแล้วแต่มีกลไกทางจิตไม่เหมือนกัน การเข้าใจกลไกทางจิตของเราก่อน จะทำให้เรามองเห็นกลไกทางจิตของเขา "กลไกทางจิต" เปรียบเหมือนกำแพงที่ป้องกันตัวเองจากผู้อื่น ต่างคนต่างมีกำแพง หากเราไม่ทะลายกำแพงตัวเองก่อน แล้วเราจะเข้าหาเขาได้อย่างไร

 

หากเริ่มจากการ "ค้นพบตัวเอง" (self discovery) มองเห็นกำแพงของตัวเอง เข้าใจและยอมรับความเป็นตัวเอง  มองเห็นต้นทางการพัฒนาตัวเอง (self development) ก็จะสามารถเกื้อกูลผู้อื่นได้โดยสามารถเข้าไปช่วยเหลือคนรอบข้างได้เองค่ะ กรณีการช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นทุกข์ โดยทำความเข้าใจและยอมรับทุกข์ที่กำลังประสบอยู่ ในที่สุด ทุกข์จะกลายเป็นสุข "เพียงแค่รู้ที่สาเหตุแห่งทุกข์นั้น"

 

จากการไปเป็นกระบวนกรการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยศาสตร์นพลักษณ์ สิ่งหนึ่งที่จะศึกษากลุ่มแลกเปลี่ยนก่อนคือผ่านการปฏิบัติธรรมกันมาแล้วโดยส่วนใหญ่หรือไม่ หรือลักษณะการทำงานเป็นแบบไหน หากทำงานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากหน่อย ก็จะเข้าใจผู้คนได้ง่าย ซึ่งการวิเคราะห์กลุ่มจะนำไปสู่การเปิดเข้าสู่โลกนพลักษณ์ด้วยเรื่อง "ความสุข" หรือ "ความทุกข์" เพราะการใช้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นแก่น จะทำให้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างลักษณ์ได้ อย่างไรก็ตาม บางกลุ่มไม่สามารถเปิดใจพูดเรื่องความทุกข์ได้ ก็จะต้องใช้เรื่องความสุขเพื่อการแลกเปลี่ยน  หากกลุ่มที่สามารถเปิดให้เข้าสู่โลกภายในจากความทุกข์ จะสามารถเข้าถึงลักษณ์แท้จริงของตัวเองได้อย่างรวดเร็วค่ะ

 

ตัวอย่างความเห็นของ ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์ จากบันทึก

"ศิลปะแห่งการมองโลกภายใน: ปัญญาวิถีสู่ความดี ความงาม ความสุข"

ตาม link ที่เกี่ยวข้องจะทำให้เห็นประโยชน์จากนพลักษณ์ในการจัดการความรู้ ความรู้สึกได้ค่ะ

 

"เมื่อไม่นานมานี้ทำตัวเป็นสะพานบุญ เชื่อมคนงามด้วยภูมิธรรมและความรู้ คือ คุณศิลา กับทีมงานของคุณหมอและพยาบาลกลุ่มเล็กๆแห่ง โรงพยาบาลปากช่องนานา นำโดย พญ.รัตนา ยอดอานนท์ หรือ คุณหมอรัตน์ (เจ้าบ้าน)และ อีกคณะนำโดย พญ.รุจิรา มังคละศิริ หรือ คุณหมอตุ๊ (เจ้าภาพอาหาร และ ของว่าง)จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้ทุกท่านได้มาพบกันด้วยจิตอันเป็นกุศล มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันเพื่อการพัฒนาตนจากภายในให้ทำงานอย่างมีความสุขยิ่งขึ้นด้วยศาสตร์แห่งนพลักษณ์ ธรรมะ และ การจัดการความรู้"

 

บทเรียนที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คือการบูรณาการศาสตร์นพลักษณ์กับการจัดการความไม่รู้ในโลกภายใน"โดยใช้ธรรมะมาอธิบายอย่างเข้าใจง่าย ละมุนละม่อม แต่ละลักษณ์มองเห็นตนเอง มองเห็นจุดที่ต้องพัฒนา จุดที่ต้องก้าวข้ามให้พ้น มองเห็นการนำจุดแข็งของลักษณ์อื่นมาเสริมจุดอ่อนของลักษณ์ตนเพื่อนำไปสู่การสร้างสมดุลย์ของชีวิตให้มีความสุขจากการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์"

 

"เห็นกระบวนการ และวิธีการใช้นพลักษณ์ กับ ธรรมะ อย่างผู้เข้าใจจากการปฏิบัติ ทำให้เรื่องของ การฟังด้วยหัวใจที่ใคร่ครวญ – Deep listening หรือ ฟังอย่างลึกซึ้ง การมีสุนทรียสนทนา – Dialogue การแบ่งปันเรื่องราวของตน – Sharingการซักถามอย่างรับรู้ซึมรับรู้คุณค่าเรื่องราวที่ได้ฟัง –Appreciative Inquiry เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติในบรรยากาศเช่นนี้"

 

"สิ่งที่เห็นในกระบวนการนี้น่าสนใจมากเพราะผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ เห็นคนทำงานด้านการจัดการความรู้ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบางที่ ที่ไปหากรอบมาจำกัดตนเอง ทำงานด้วยความกลัวผิดตำรา หรือ ผิดไปจากกรอบของตน ทำด้วยความคาดหวังว่าจะเอา "How to" เร็วๆ จึงมักจะเร่งร้อนให้ผู้เข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าเรื่องเร็วๆ คาดหวังให้ทุกคน "เล่าเรื่องเป็น" ลืมไปว่าคนเราแตกต่างกันในความเป็นตัวเขา จึงมีวิธีแตกต่างกันในการเล่าเรื่อง กระบวนกร หรือ Facilitator จึงต้องเข้าใจและใจเย็น ให้เรื่องราวเปิดเผยออกมาตามจังหวะที่สมควร อีกทั้งยังต้องใส่ใจกับอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เล่าอีกด้วย"

คำถามหนึ่งที่เคยถามท่านอาจารย์สันติกโรเมื่อครั้งไปอบรมการปฏิบัติธรรมกับนพลักษณ์

 

คำถาม "หลัง ๆ มานี่ไม่ค่อยอ่านหนังสือลงรายละเอียดว่าลักษณ์ใครเป็นอย่างไร เวลาอาจารย์ไปถ่ายทอดนพลักษณ์ในที่ต่าง ๆ ต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวไปก่อนไหมคะ"

 

คำตอบ "ไม่ได้อ่านตำรามาหลายปีแล้ว สังเกต ปฏิบัติเอาอย่างเดียว พอเรารู้ เราเห็นตัวเราเอง เราก็นำวิธีการเดียวกันไปทำความเข้าใจผู้อื่นได้ นาน ๆ ทีนึกไม่ออก ก็เปิดตำราสักครั้ง"

 

ข้อสังเกต ตำราที่กล่าวถึงนั้นก็นำมาจากการรวบรวมข้อสังเกต การฝึกฝน ปฏิบัติของผู้ศึกษาและผู้ร่วมศึกษานั่นเอง

 

                              "สงสัย ก็รู้ก่อนว่าสงสัย

                          แล้วจะเกิดปัญญามองเห็นคำตอบ"

ปัญหาบางอย่างแก้ไข หาคำตอบเองได้จากการค้นคว้า ถามหาจากผู้รู้ แต่บางปัญหา ต้องปฏิบัติ ต้องเห็นเอง จึงจะเกิดปัญญา แก้ไขปัญหาได้เอง นั่นคือสิ่งที่เรียนรู้จากครูค่ะ

 

    

ทุกวันนี้ ก็ยังเดินตามรอยครูอยู่ค่ะ แม้จะรู้ว่าห่างไกล แต่สิ่งที่ทำได้คือดูครูเป็นแบบอย่าง

 

 ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับคำถามนำมาซึ่งคำตอบที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้สนใจไม่มากก็น้อย

              

                                       ศรัทธา เมตตา สันติ

คำสำคัญ (Tags): #self development#Human KM by Enneagram
หมายเลขบันทึก: 496404เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

หลักการปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ ที่ผู้ฝึก ได้รับจากการปฏิบัติ นะคะ

ขอบคุณมาก กับบทความดีดีนี้นะคะ

รู้สึกรักบทความนี้จังค่ะ ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความคุณภาพค่ะ

  • ขอบคุณบทความดี ๆ มีข้อคิดจ้ะ

...

เพียงสูงสุดคืนสู่สามัญชน
การหลุดพ้นทำได้จากใจนั้น
ใช้ความเพียรเรียนรู้สู่ใจกัน
สัจธรรมมิแปรผันคือความจริง

การเวียนว่ายตายเกิดเป็นวัฎจักร
ความทุกข์หนักของมนุษย์ผุดเข้าสิง
อันความว่างคือปล่อยวางนำทางจริง
สัมภาระทุกสิ่ง จงทิ้งวาง

...

(เรื่องจิตวิญญาณ ยากยิ่งจะเขียนกลอน เพราะเข้าไม่ถึง จึงได้เพียงแค่นี้ครับ)

For those who wish to explore the Buddhists' way.

In the Tipitaka, there are discourses on Khandhas, Citta and Cetasikas (the making of our -human- reality), together with Ariya-sacca (the way of Ariyan -for problem analysis-) and Magga (the Middle Path or the course of action to solve the problem).

There are enough webpages in Thai and other languages (I have some in Gotoknow, too). Please search with ขันธ์ ๕, จิตต, เจตสิก,... and learn what many buddhists have learned ;-)

ผมกำลังเรียนรู้-ศึกษาเรื่องนพลักษณ์  ด้วยมองว่าจะบูรณาการเข้าสู่วิชาพัฒนานิสิตในแบบพื้นฐานๆ รวมถึงเชื่อมโยงเข้าสู่อาจารย์และนิสิต หรือบุคลากรที่กำลังขับเคลื่อนเรื่อง "1 หลักสูตร 1 ชุมชน" เพราะมองว่า เป็นประโยชน์อย่ายิ่งใหญ่ในการพัฒนาคน ฯ

...

ขอบคุณครับ

  • ขอบคุณคุณ Somsri  Blank   มากค่ะ เขียนบันทึกนี้เสร็จ ไม่คิดว่าจะมีท่านใดสนใจมาอ่าน เพราะรู้สึกว่าเนื้อหาเครียด ๆ หนัก ๆ มองเห็นเป็นรูปธรรมได้ยาก เขียนนามธรรม เขียนทีไร ใช้เวลานานมากค่ะ
  • อุตส่าห์แวะมาอ่าน รู้สึกซาบซึ้งมากค่ะ

ยากที่จะหามาคนรักบทความทำนองนี้ รู้สึกประทับใจมากค่ะ คุณBright Lily Blank ต่อไปจะเขียนแนวนี้ให้น้อยลงค่ะ ถ้าจะเขียน ก็เขียนสั้น ๆ หรือไม่ก็เรื่องเบา ๆ เกี่ยวกับนก หนู แมลง ดอกไม้ เมฆ จริง ๆ ชอบแบบเบา ๆ มากค่ะ แต่ช่วงนี้ยังเขียนไม่ออก มีเรื่องชักนำให้ต้องออกมาเขียนแนวนี้อยู่เรื่อย ขอสร้างอารมณ์หน่อยค่ะ แล้วจะเริ่มเขียนแบบสบาย ๆ   ขอบคุณจากใจค่ะ

  • คุณมะเดื่อ Blank ส่งภาพปริศนาธรรมมาให้ขบคิด ช้วยกรุณาเฉลยด้วยค่ะ อิอิ
  • อีกครั้งค่ะ คุณBright Lily Blank  ดอกไม้เห็นแล้วสดชื่นมากค่ะ
  • อาจารย์นพลักษณ์ ๑๐  Blank มิธรรมดา เขียนแบบธรรมดา เรียบง่าย เข้าใจง่ายดีที่สุดแล้วค่ะ ไม่มีอะไรต้องเข้าถึง
  • ชอบนะคะ ขอยกไปไว้ในอนุทินนะคะ ขอบคุณค่ะ

ะตอนที่เราเข้าไปช่วยเหลือเขา เราต้องเข้าใจหลักการมองเห็นตัวเองให้แม่น เมื่อต้องเข้าไปทำความเข้าใจโลกทัศน์ของผู้อื่น "วิธีการมองเห็นตัวเอง" จะนำไปเป็น "เครื่องมือในการมองเห็นผู้อื่น" ทำให้เกิดความเมตตาปราณีและมองเห็นทุกข์ของเขาที่ไม่เหมือนของเรา
.. ขอบคุณที่ช่วยทำให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ ขณะนี้เข้าใจว่า ศาสตร์นพลักษณ์ เป็นการฝึกทักษะ โดยฝึกจากตนเอง ก่อนไปใช้กับผู้อื่น นึกถึงตอนฝึกใช้สเต็ทโตสโคปฟังเสียงหัวใจ (heart sound) ให้แยกได้ว่าอะไรเป็นเสียงหนึ่ง เสียงสอง ก็ฝึกฟังเสียงหัวใจตัวเองก่อน แล้วจึงไปฟังเสียงหัวใจผู้ป่วย ประมาณนี้ได้ไหมค่ะ

ขอบคุณค่ะ..อีกหนึ่งศาสตร์ของการฝึกจิตตนอย่างมีพลัง..

  • Dear Khun srBlank
  • I appreciate your suggestion of useful sources.

สวัสดีค่ะ อาจารย์แผ่นดิน Blank เราคงได้ร่วมสร้างพื้นที่ความสุขด้วยกันเร็ว ๆ นี้นะคะ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์หมอ ป. Blank รู้สึกดีใจและประทับใจที่คุณหมอสนใจในหลายเรื่องเพื่อการพัฒนาตนเองและคนรอบข้างด้วยจิตใจที่มีเมตตากรุณาอยากช่วยเหลือ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนโยนและเปิดกว้างยอมรับสิ่งที่เราอาจยังไม่ทราบไม่คุ้นเคยมาก่อน แม้สิ่งนั้นจะไม่อยู่ในศาสตร์ที่เราได้ร่ำเรียนหรือถนัดมาก่อน
  • เพียงแค่การไม่ปิดกั้นวิธีคิดของตนเองก็เป็นสะพานเชื่อมไปยังเรื่องราวต่าง ๆ มากมายในจักรวาล
  • สำหรับความสงสัยของคุณหมอโดยยกอุปมาอุปไมยมากล่าวนั้น ด้วยความที่ไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์อาจจะไม่ค่อยเข้าใจนัก จึงขออนุญาตกล่าวเพิ่มเติมอย่างนี้ว่าการที่เราปฏิบัติจากตัวเราก่อน เราจะเห็น "กระบวนการ" การทำงานของจิตที่มีการเคลื่อนไหวฉายภาพตามโลกทัศน์ของเรา การเห็นเช่นนี้ จะสามารถนำกระบวนการเช่นว่านั้นไปทำความเข้าใจผู้อื่นได้ โดยที่สีของเลนส์ที่มองโลกไม่เหมือนกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กระบวนการ เหมือนกัน แต่เนื้อหาไม่เหมือนกัน สิ่งที่เขามองไม่เหมือนกับสิ่งที่เรามอง ทั้งนี้ ด้วยความที่เราปฏิบัติแล้ว และมองเห็นกระบวนการแล้ว  จะเป็นต้นทางของการพัฒนาจิตตน และก็นำไปทำความเข้าใจผู้อื่นและช่วยเหลือเขาได้
  • เรียนรู้ใบไม้กำมือเดียว

อ่านแล้วนึกถึงตัวเอง

ตอนเป็นนักศึกษาพยาบาล

ก่อนจะไปฉีดคนไข้ อาจารย์ฝึกให้ฉีดกันเองก่อน

จะได้รู้ว่า  ถ้าจะฉีดไม่ให้เขาเจ็บเราควรฉีดกันเองอย่างไร

  • พี่ใหญ่ Blank ใช้คำว่าฝึกจิตอย่างมีพลัง รู้สึกว่าเป็นเรื่องของพลังจิตยังไงไม่ทราบค่ะ กำลังนึกตามว่าถึงขนาดนั้นหรือเปล่า ... (ยิ้มไปอ่านไป) ก็อาจจะใช่นะคะ การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมย่อมต้องเกิดพลังแน่นอน จริง ๆ แล้วธรรมะทำให้เกิด นพลักษณ์แค่เสริมให้ดูถูกตัวเท่านั้นค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ ทบทวนศาสตร๋นี้ไปด้วยก็เห็นว่าเป็นการเกื้อกูลกันให้รู้ตัวทั่วพร้อมได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
  • ตัวอย่างพี่เขี้ยว Blank ทำให้เห็นภาพชัดเจนเลยค่ะ
  • ใช้เครื่องมืออะไรให้ใช้กับตัวเองก่อน เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติโดยแท้ ขอบคุณมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท