"ความเงียบในความไม่เงียบ" ... (เรื่องเล่าด้วยความหมายที่เกิดขึ้นภายใน ๒ วัน)


วันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕

 

การเป็น "อาจารย์ประจำหอพักจำเป็น" ของวันศุกร์ทุก ๆ สัปดาห์ คือ

การดูแลเด็กในช่วงเช้าตรู่จนถึงหลังอาหารกลางวัน หลังจากนั้นจะอาบน้ำ เก็บของ เพื่อเดินทางกลับมายังมหาวิทยาลัย วิทยาเขตหลักในเมืองเสมอ รถเครื่องคันเดียว หอบของพะลุงพะลังสม่ำเสมอจนชินสายตาของคนพบเห็น

วันศุกร์นี้แตกต่างจากวันศุกร์อื่น ๆ มากมาย มีหลายเรื่องที่ต้องการจัดการแก้ไขปัญหา

 

วันเสาร์ นักศึกษาครูเป็นเลิศจะ "รับน้องขึ้นดอย" จึงต้องมีการเตรียมการมาล่วงหน้า ๒ สัปดาห์แล้ว และยิ่งเมื่อคืนนี้ก็ประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้าย ใครป่วย ใครเจ็บ ใครไม่ไหว ของที่จะเอาไปด้วย การนอนเร็วขึ้น การตื่น รถที่เหมาจะเข้ามารับกี่โมง ฯลฯ มากมายที่เป็นห่วง และเป็นความรับผิดชอบโดยตรง ผมโทรแ้จ้งเพื่อนที่จะมานอนในวันศุกร์ - เสาร์ ถึงรายละเอียดทั้งหมดหลายครั้ง

 

อีกเรื่อง วันเสาร์จะเป็นวันที่ "พ่อ" จะพา "แม่" กลับเมืองหลวงแล้ว อยากจะรีบกลับไปอยู่กับพ่อแม่บ้าง ทำแต่งาน ครอบครัวให้ความสำคัญน้อยเกินไป รู้สึกผิดหลายครั้ง

 

และก็อีก วันเสาร์นี้ ผมจะต้องเข้าสอนแทน "ครูเรือง" นักศึกษา ป.โท รัฐศาสตร์ ณ มมร.วิทยาเขตล้านนา ทั้งเช้า ทั้งบ่าย หัวเรื่องก็เพิ่งจะทราบเมื่อวันนี้เอง ร้อนใจมากพอสมควรถึงความไม่พร้อมของตัวเอง

 

กลับถึงบ้านเร็วกว่าปกตินิดเดียว พ่อแม่กำลังเตรียมเก็บของ เดินทางเช้าวันเสาร์ ผมเก็บของ ซักผ้า ทานข้าว ตั้งใจว่าจะเตรียมสอนก่อนเป็นอันดับแรก

 

แต่ ... เรื่องก็ยังไม่เป็นเช่นนั้น

 

ประธานนักศึกษาครูเป็นเลิศ โทรมาแจ้งว่า กำลังขอให้ "อ้ายตี๋" พาเพื่อน ๒ คนไปโรงพยาบาลสยามราษฎร์ (ระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร) คนหนึ่งปวดท้อง เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อีกคนหนึ่งเป็นไข้ มึนหัว ไปฉีดยามาแล้วก็ยังไม่หาย

ผมบอกว่า เมื่อถึงแล้วให้โทรแจ้งผมด้วยว่าเป็นอย่างไร

 

แล้วเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นมาอีกบอกว่า เขาไม่ยอมให้การรักษา เนื่องจากไม่มีสิทธิ์ มหาวิทยาลัยไม่ได้มีใบส่งตัวมา สารพัดจะอ้าง

"อ้ายตี๋" โทรแจ้งรองอธิการฯ แต่ไม่ติด โทรหาอาจารย์อาวุโส อาจารย์จะมาจัดการให้

ผมโทรหารองฯ ซึ่งไปราชการเชียงราย รองฯ โทรบอกเจ้าหน้าที่ให้ไปจัดการช่วยเหลือด่วน

สรุปว่า ประสานไป ประสานมา ทีมที่โน้นตัดสินใจไปโรงพยาบาลช้างเผือก แล้วคุณหมอทางโรงพยาบาลช้างเผือกรับการรักษา คนปวดท้องได้ยารักษากลับมา ส่วนคนเป็นไข้ ต้องเจาะเลือด และให้มาเจาะอีกสองวัน คุณหมอกำลังสันนิษฐานว่า อาจจะเป็น "ไข้เลือดออก"

 

กว่าจะรู้เรื่องรู้ราวกัน ก็เกือบ ๕ ทุ่ม ผมไม่ได้เตรียมเนื้อหาสอนเลย ...

 

พ่อกับแม่ก็ไม่ได้พูดคุยกับท่านเท่าไหร่ เบื่อตัวเองมาก

 

ผมใช้เวลาเตรียมเนื้อหา ทำ PPT จนถึงตี ๒ กว่า ๆ พรุ่งนี้สอน ๘ โมงเช้า

 

พ่อแม่จะออกเดินทางแต่เช้าตรู่ ผมจะต้องตื่นมาส่งท่านก่อนไปสอน

 

 

 

วันเสาร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕

 

ตื่นประมาณ ๖ โมงเช้า พ่อกับแม่กำลังขนของขึ้นรถ ของที่เอากลับบ้าน ของที่เอาไปฝากเพื่อนบ้าน ต้นไม้ที่จะเอาไปเพาะต่อ

ราว ๗ โมงเช้า ผมเตรียมทุกอย่างเสร็จ พ่อกับแม่ก็เตรียมออกจากบ้านเพื่อเดินทางกลับบ้านที่เมืองหลวง

ผมออกจากบ้านพร้อมท่าน ผมกอดพ่อกับแม่ก่อน

 

แม่ยังแซวว่า "เหงา ล่ะสิ เหงา เหงาเป็นหมาแน่ ๆ" แม่แหย่ให้ผมยิ้ม

ผมก็รู้ว่า แม่ไม่ชอบการจากกันสักเท่าไหร่ ... ซึ่งผมก็เหมือนกัน

 

ผมขี่รถนำรถท่านไปลิ่ว ๆ เพราะต้องเข้าไปเอา Netbook และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อไปสอนที่ มมร.วิทยาเขตล้านนา ถึงที่สอนเวลา ๘ โมงเช้าตรงเป๊ะ

กว่าจะเตรียมเซ็ตอุปกรณ์เสร็จ เริ่มสอน ก็เสร็จสิ้น ๑๑ โมงเช้าพอดี

ผมเก็บอุปกรณ์และย้ายไปอีกห้องหนึ่ง ฝากนักศึกษาไว้ โดยผมไม่ได้ทานข้าว ผมรีบกลับไปที่มหาวิทยาลัย เพราะเพื่อนบอกว่า จะเอานักศึกษาที่ต้องเข้ามาตรวจเลือดนอนที่ห้องพยาบาลของมหาวิทยาลัย ผมจะเข้าไปดูอาการก่อน

 

เพื่อนโทรมาแจ้งผมพอดีว่า เมื่อเช้านักศึกษาที่ึขึ้นดอย รถที่เหมามารับ ตี ๓ ๑๐ นาที ส่วนคนป่วย เขาเอากลับไปนอนที่บ้านก่อน เพราะที่หอไม่มีใครอยู่เลย เขาทิ้งเด็กไม่ได้ ทำกับข้าวเช้าให้ทาน และพาไปตรวจเลือดตอน ๙ โมงตามเวลานัดของหมอ ปรากฎว่า เด็กเป็น "ไข้เลือดออก" จริง ๆ หมอให้นอนแอดมิดดูอาการก่อน

เพื่อนผมบอกว่า ยังไม่ได้นอนตั้งแต่ตี ๒ ครึ่งที่เด็กตื่นมา จนโทรมาหาผมก็จะเที่ยงวันอยู่แล้ว เขารอเพื่อนเด็ก ๆ มาเปลี่ยน หลังจากที่ลงดอยเสร็จแล้ว ก็บ่ายกว่า ๆ โน้น

เขาให้ผมบอกรองฯ ว่า เมื่อเด็กลงมาถึง ให้รองฯ ขับรถไปรับเด็กที่จะมาเฝ้า พร้อมเตรียมเครื่องนอนมาด้วยที่หอพัก วิทยาเขตใหม่

ผมประสานเรียบร้อย ส่วนผมต้องรีบไปสอนต่อช่วงบ่าย ตั้งแต่เที่ยงจนถึงบ่ายสามโมงเย็น

 

ผมจอดรถหน้าคณะฯ เพื่อเดินเอาของไปเก็บที่ห้องพัก ผ่านห้องคณบดี ได้มีโอกาสพูดคุยกับคณบดีในเรื่อง หลักการดูแลความเจ็บป่วยของเด็ก ๆ ในอนาคต พร้อมไ้ด้ทราบรายละเอียดของมหาวิทยาลัยมากขึ้นในเรื่องการดูแลสุขภาพ

มหาวิทยาลัยประกันชีวิตให้กับนักศึกษาทุกคน แต่ไม่มีการประกันสุขภาพ เพราะการประกันสุขภาพเป็นเรื่องของบุคคล

ดังนั้น รายละเอียดเรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยและตกลงกันต่อไปว่า หากเกิดกรณีนี้มาอีก เราควรต้องปฏิบัิติกันอย่างไรบ้าง ซึ่งผมเห็นว่า คณบดีพูดได้ถูกต้องแล้ว ตรงใจผมที่กำลังคิดอยู่

 

ผมกลับห้องพักที่ทำงาน ...

 

ผมโทรหาประธานฯ ซึ่งกลับถึงหอพักถึงการขึ้นดอยว่า เป็นอย่างไรบ้าง มี SPIRIT เกิดขึ้นกับเพื่อนบ้า่งไหม

 

เรื่องเล่าจากประธานฯ มีคำพูดที่แสดงถึง SPIRIT หลายเรื่อง เอาเรื่องที่ผมฟังแล้วรู้สึกประทับใจ


* ทางโค้งสุดท้ายก่อนขึ้นดอยสุเทพฯ เพื่อนผู้ชายซึ่งมีอยู่ ๕ คนช่วยกันดันหลังเพื่อนผู้หญิงขึ้นให้ถึง

* มีหลายคนจะไม่ไหว ๆ แต่ในที่สุดเขาก็ทำมันสำเร็จได้ จนเมื่อนั่งรถลงมาแล้ว เฝ้าแต่ถามตัวเองว่า เราเดินขึ้นกันได้อย่างไร

 

รายละเอียดอื่น ๆ ผมคงต้องไปฟังจากปากของแต่ละคนในวันพุธหน้า และอ่านบันทึกของพวกเขา

SPIRIT คือสิ่งที่ผมต้องการมากที่สุดในตอนนี้ สำหรับครูเป็นเลิศ

 

ผมถามประธานถึงคนที่ไปเฝ้าคนป่วย หลังจากนั้นผมเดินทางไปเยี่ยมเวลาประมาณ ๖ โมงเย็น โทรให้เด็กที่เฝ้ามารับขึ้นไปที่ห้อง

ห้องคนไข้เป็นห้องรวม ๔ เตียง คนเฝ้ามี ๒ คน ผมเห็นสายน้ำเกลือระโยงระยาง คนป่วยลุกนั่งคุยกับเพื่่อนได้ และคงรู้สึกเบื่อ

ผมได้ข่าวว่า เมื่อเช้ามืดตอนที่เพื่อนกำลังออกเดินทาง เขาร้องไห้เพราะเขาอยากไปกับเพื่อน แล้วก็พาเพื่อนทั้ง ๔๑ คน ร้องไห้กันหมด เด็กที่เฝ้าบอกว่า ผู้ชายยังร้องเลยอาจารย์

ผมถือว่า นี่แหละคือ SPIRIT ที่ต้องการ

 

ผมจึงปลอบใจว่า ไม่เป็นไร ไม่ได้ขึ้นไม่เป็นไร ปีหน้าเราก็ต้องพารุ่นน้องขึ้นอยู่ดี เดี๋ยวเราก็ไปพูดคุยกับเพื่อนถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ดูสิ

เพื่อนที่มาเฝ้าอึดพอสมควร และ SPIRIT ดีมาก ลงดอยมาเหนื่อยล้าสุดแรง ยังอาสามาเฝ้าเพื่อนต่ออีก เพื่อนคนอื่นที่ไม่ได้มาสลบกันไปหมดแล้ว ผมจะจำ SPIRIT ของพวกเขาไ้ว้แน่นอน

ผมถามว่า ทานข้าวเย็นหรือยัง ครูพาไปซื้อกับข้าวไหม เขาตกลงจะลงไปพร้อมกัน ๒ คน ผมจึงบอกทาง พร้อมกับออกไปพร้อมกัน

 

ผมกลับมาซื้อของที่ TOPs แล้วกลับบ้านด้วยความเงียบเหงา

พ่อโทรมาบอกว่า ถึงบ้านแล้ว ๕ โมงเย็นกว่า ๆ ถึงเร็วกว่าที่คาดไว้ แม่กำลังเก็บของ

บ้านที่ไม่มีพ่อกับแม่อยู่ ... เหงาน่าดู เหมือนลืมไปว่า ตอนตัวเองอยู่คนเดียว ตัวเองใช้ชีวิตอย่างไรกันแน่ ตลกดี

 

เพียงแค่ ๒ วัน มีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย

มีทั้งความตื่นกลัว คุมสติ ระงับอารมณ์ ความห่วงใย ความเงียบเหงา การคาดการณ์ มันหลากหลายอารมณ์เกินจะกล่าวออกมาทั้งหมดได้

แน่นอนว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ สิ่งที่เราสามารถควบคุมให้ได้ดีที่สุด คือ "ใจ" ของเราเอง

 

ใครควบคุม "ใจ" ให้นิ่งมากที่สุด ผู้นั้นย่อมสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องและทันท่วงที

ใครควบคุม "ใจ" ให้นิ่งไ่ม่ได้ เรื่องราวก็อาจจะบานปลาย เป็นเรื่องใหญ่มากขึ้น หากทางแก้ไขปัญหาไม่ถูกต้อง อีกทั้งตัวเองก็ยังเป็นทุกข์หนักมากขึ้น

 

หากเหตุการณ์ที่ผ่านมานี้ สามารถเป็น "ความเงียบในความไม่เงียบ" ได้ แสดงว่า ผมคงสอบผ่านสักครึ่งหนึ่ง แต่ยังดีกว่าสอบตกเป็นไหน ๆ นะครับ

 

ผมชื่นชม ...

เพื่อนผมที่ยังเหลือ SPIRIT ในการทำหน้าที่ครูของตัวเองอย่างดีที่สุด คำว่า "จะให้ชั้นทิ้งเด็กไปได้อย่างไร ชั้นทำไม่ได้" เป็นคำตอบหลังจากที่ผมบอกเพื่อนไปว่า แกไม่ไหวแล้ว แกกลับไม่นอนได้นะ เด็กมีคนดูแลแล้ว

 

ผมชื่นชม ...

ความรักของเด็กที่มีต่อเพื่อนที่ป่วย และเพื่อนที่กำลังจะเดินไม่ไหว

 

และเหตุการณ์ที่ประดังประเด ทำให้ผมประเิมินการสอน ป.โท ของตัวเองในครั้งนี้ว่า ผมได้ ๗๐ เปอร์เซ็นต์จาก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่า ตัวเองสอนไม่ดีเลย มีความบกพร่องอยู่มาก ต้องพัฒนาตัวเองต่อไปให้ดีกว่านี้

 

คิดแล้วเขียน เขียนแล้วคิด

เพราะชีวิตมนุษย์ก็มีเพียงเท่านี้เสมอ

หาเรื่องเขียนเพื่อตั้งคำถามกับตัวเอง

เผื่อจะมีเสียงคำตอบดังมาจาก "ใจ" ของตัวเองบ้างก็ได้

 

ขอให้ทุกท่านมี "ความเงียบในความไม่เงียบ" เสมอ

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

หมายเลขบันทึก: 495663เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2012 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)
  • ชอบความนิ่งเช่นกัน เป็นกลยุทธ์ "ความสงบสยบความเคลื่อนไหว"
  • คนอื่นก็ไม่ทราบว่าข้างในมีอะไร เหมือนประตูที่ปิดตาย
  • แต่ทว่างานเยอะขนาดนี้ พักผ่อนเยอะ ๆ นะคะ 

อ.was ได้อ่าน mail ที่ชลัญส่งผ่านไปทาง GTK หริอเปล่า ชลัญส่งรายละเอียดกรแก้ไขปัญหา อีกทั้งเบอร์โทร.บุคคลสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาในยามฉุกเฉินได้ 24 ชม. ถ้าโทรติด อิ อิ หากมีเหตุฉุกเฉินก็ลองโทร.หาบุคคลท่านนี้ดูรับรองปัญหาคลี่คลาย ชลัญแจกครูที่เป็นเพื่อนๆแล้วต้องทำหน้าที่เหมือน อ.was นี่ ใช้แล้วได้ผลทุกคน ถ้ามีปัญหาคิดอะไรไม่ออกรับรองเบอร์โทร.ฉุกเฉินนี่ใช้ได้แน่ ให้กำลังใจจ้า

ผมกอดพ่อกับแม่ก่อน - น่ารักมากค่ะอาจารย์

หลายๆอย่างที่เรากังวลก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นนะคะ บางอย่างที่เราคิดไม่ถึงก็อาจเกิดขึ้น

พักผ่อนให้เพียงพอ นอนกอดเจ้าหมาจิ้มนะคะ ;)

บ้านที่ไม่มีพ่อกับแม่อยู่ ... เหงาน่าดู เหมือนลืมไปว่า ตอนตัวเองอยู่คนเดียว ตัวเองใช้ชีวิตอย่างไรกันแน่ ตลกดี

... เหงา คือความรู้สึกแบบไหนหนอ ลืมไปแล้วตอนที่ไม่ได้อยู่คนเดียว

ขอบคุณ "ความนิ่ง" ของอาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya ด้วยครับ ;)...

คุณ Blank ชลัญธร  ส่งเมล์มาที่ไหนหรือครับ ผมยังไม่พบครับ

แต่ขอบคุณมาก ๆ ครับ ;)...

ใช่ครับ อาจารย์ Blank ...ปริม pirimarj... ... เรามักกังวลก่อนเสมอ ;)...

ขอบคุณมากครับ

แหม คุณหมอบางเวลา ป. ไม่เหงาแน่นอนครับ ;)...

  • ผมโดนแม่เย้าแหย่แบบอาจารย์เลย
  • "เหงา ล่ะสิ เหงา เหงาเป็นหมาแน่ ๆ" 
  • วัยรุ่นเซ็ง
  • มาให้กำลังใจคนทำงานครับ
  • เย้ๆๆๆ

เงียบ  ฟัง เสียงหัวใจ ตัวเองอยู่หลายวันเหมือนกันค่ะอาจารย์เทวดา^^

 

ขอบคุณมากครับ อาจารย์ Blank ขจิต ฝอยทอง ที่แอบเหงาเป็นเพื่อนผม ;)...

ได้ยินคำตอบบ้างไหมครับ นางฟ้า ชาดา ;)...

ขอบคุณนะครับ ;)...

หลากเรื่องราวปานนี้.....ไม่เหงาหรอก

บางอย่างหาคนช่วยแบ่งเบาภาระได้นะคะ เช่น ซักผ้า เก็บบ้าน ถูเรือน อยู่เป็นเพื่อนแม่ - พ่อ ฯ

ขอให้ลูกศิษย์แข็งแรง ฟื้นตัวไว ๆ นะคะ

Spirit ครูเข้ม ลูกศิษย์คงตามมาติด ๆ ล่ะค่ะ

....ในความเงียบของอาจารย์ มีเรื่องราวมาบอกเล่า หายเหงาหมดห่วง มีเพียงความทรงจำดีๆมาบันทึกให้ข้าน้อยให้รู้เห็นเป็นไป...

  • ระยะทางไกลกันยังมีเทคโนโลยีที่ติดต่อสื่อสารได้หลายช่องทาง
  • น้องเลือกที่จะโทรหาแม่กับพ่อ...ทุกวันค่ะ
  • แม้จะไม่ได้เห็นตัวเป็นเป็น แบบ face to face
  • ไม่ได้กอดรัดสัมผัสกับท่าน อย่างน้อยก็คลายเหงาได้บ้างค่ะ...
  • สนุกกับการทำงานวันอังคารค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะครับ คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา ;)...

ขอบพระคุณเช่นกันครับ ท่าน พ.แจ่มจำรัส ;)...

หลากเรื่องจริง ๆ ครับ

วันนี้พี่มีสอนเที่ยงตรงพอดีครับ น้องอาจารย์ พิชชา ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

สถานการณ์พิสูจน์คนค่ะ :) เป็นกำลังใจค่ะ

ขอบคุณบันทึกสิ่งที่ได้จากในบันทึก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท