พิธีกรรม : ส่งเคราะห์ สร้างขวัญ สร้างกำลังใจ


การส่งเคราะห์ เกิดจากความเชื่อของบุคคลที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นกับตนเองหรือผู้ใกล้ชิด ต่างก็เชื่อกันว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้ใกล้ชิดนั้น เกิดจากเคราะห์ได้เข้ามาสู่ผู้นั้น จึงได้หาวิธีการที่จะขจัดปัดเป่าเคราะห์นั้นให้หมดสิ้นไป

                      พิธีกรรม : ส่งเคราะห์ สร้างขวัญ  สร้างกำลังใจ

บ้านมหาโพธิ์ ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

 การส่งเคราะห์ เกิดจากความเชื่อของบุคคลที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นกับตนเองหรือผู้ใกล้ชิด ต่างก็เชื่อกันว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้ใกล้ชิดนั้น เกิดจากเคราะห์ได้เข้ามาสู่ผู้นั้น จึงได้หาวิธีการที่จะขจัดปัดเป่าเคราะห์นั้นให้หมดสิ้นไป ซึ่งเป็นการขจัดความวิตกกังวลที่เกิดในจิตใจให้หมดสิ้นไป เคราะห์ที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อว่าเกิดจากภูติผีปีศาจหรือรุกขเทวดาที่โน่นที่นี่ทำเอา จึงต้องทำการส่งเครื่องเซ่นไปว่าย เพื่อให้เคราะห์นั้นหมดสิ้นหรือเบาลงไป   ผู้ที่ทำพิธีส่งเคราะห์คือ อาจารย์ การประกอบพิธีกรรม จะมีบรรดาญาติของผู้เจ็บป่วยและผู้ป่วยเข้าร่วมในพิธีกรรม เครื่องบูชา ประกอบด้วยตุง (สาม หก เก้า หรือสิบสองตัว ก็แล้วแต่ข้อกำหนดของปู่อาจารย์) รูปปั้นดินเหนียวรูปคน รูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง วัว  เสือ งู ไก่ นอกจากนี้ก็มีกล้วย อ้อย หมาก พริก บุหรี่ ข้าวสุก อาหารคาว (แกงดิบและแกงสุก) อาหารหวาน เครื่องบูชาเหล่านี้จะบรรจุไว้ใน สะโตง  ซึ่งทำด้วยกาบกล้วยทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปู่อาจารย์ก็จะนำสะโตงนั้นไปยังทางสามแพร่ง หรือทิศทางที่ไม่ถูกกับลักขณา ของผู้ป่วย และจุดธูปเทียนบูชาภูติผีปีศาจ ยกสะโตงขึ้นจบเหนือศีรษะ และกล่าวอัญเชิญ ภูติผีปีศาจเทวดาอารักษ์ให้มารับเครื่องเซ่น แล้วจึงวางสะโตงไว้ โดยปล่อยให้นกกามากินของในสะโตงนั้นเป็นอันเสร็จพิธี   อนึ่งในขณะทำเครื่องบูชานั้น ปู่อาจารย์จะประกอบพิธียกครูให้ผู้เป็นอาจารย์ การยกครูหรือเรียกว่า การตั้งขันตั้ง เครื่องขันตั้งส่วนมากจะมีหมาก พลู ผ้าขาว เงินค่าครู (ไม่ได้กำหนดไว้ว่าเท่าใดแล้วแต่ปู่อาจารย์จะเป็นผู้กำหนด) และเหล้า ๑ ขวด

พิธีกรรมส่งเคราะห์ของชาวอำเภอเมืองแพร่นั้นได้ปรากฏมานานและได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านเกี่ยวกับการนับถือผีสางเทวดา สำหรับใช้เป็นที่พึ่งทางใจแก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนซึ่งเชื่อว่าตนเองกำลังมีเคราะห์ร้ายอันเกิดจากปัจจัยหลายประการ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทำให้เกิดขวัญกำลังใจในการดำรงชีวิตในสังคมต่อไป ในการศึกษาพิธีกรรมและความเชื่อที่ปรากฏในพิธีกรรมการส่งเคราะห์ ในบ้านมหาโพธิ์  ตำบลป่าแมต อำเภอเมือง จังหวัดแพร่นั้นได้แบ่งการศึกษาออกดังนี้

 องค์ประกอบของพิธีกรรมส่งเคราะห์
          องค์ประกอบในการประกอบพิธีกรรมนั้นถือว่ามีส่วนสำคัญในการประกอบพิธีกรรมการส่งเคราะห์ของชาวบ้านในบ้านมหาโพธิ์  ตำบลป่าแมต  เพราะเป็นสิ่งเบื้องต้นที่ทำให้พิธีกรรมเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ องค์ประกอบของพิธีกรรมที่ใช้ในการส่งเคราะห์ของชาวบ้านบ้านมหาโพธิ์  ตำบลป่าแมตอำเภอเมือง จังหวัดแพร่  การประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์นั้น  มีองค์ประกอบของพิธีกรรมดังนี้

๑.๑  ผู้ประกอบพิธีกรรม  ผู้ที่ประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ได้นั้นจะต้องเป็นผู้สูงอายุที่น่านับถือผ่านการบวชเรียนและถือศีลมาแล้วซึ่งจะเรียกว่า “หนาน” เป็นผู้ที่นิยมเคร่งครัดในทางไสยศาสตร์จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน ซึ่งเชื่อกันว่าคนที่ไม่ได้ผ่านการบวชเรียนมาจะเป็นอาจารย์ไม่ได้เพราะ ชาวบ้านเชื่อว่าผู้ประกอบพิธีกรรมต้องเป็นผู้ที่สื่อความหมายกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ และต้องเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องการประกอบพิธีกรรมและมีคาคาอาคมที่เก่งนอกจากนั้นจะร้องรอบรู้อักษรล้านนาหรือตัวหนังสือเมือง ทุกหมู่บ้านมักจะมีอาจารย์ประจำหมู่บ้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้เข้าร่วมพิธีว่าจะศรัทธาอาจารย์ท่านใด ก็สามารถเชิญมาประกอบพิธีส่งเคราะห์  ในบ้านมหาโพธิ์มีผู้ประกอบพิธีกรรมจำนวน ๓ ท่าน ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้  กลุ่มของผู้จัดทำได้รับความร่วมมือจากพ่อทองคำ  ยศแสน  อายุ  ๗๖ ปี ซึ่งเป็นมัคทายกของวัดมหาโพธิ์  และได้บวชเรียนตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี

๑.๒ ผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ แบ่งกลุ่มได้ดังนี้

       กลุ่มที่ ๑ คือ ผู้ที่เกิดวันที่มีเคราะห์ประจำปี โดยในวันที่ ๑๕ เมษายน  ที่เรียกว่าวันพญาวัน ตอนเย็นจะมีการรดน้ำพระเจ้า(พระพุทธรูป) พระที่เป็นเจ้าอาวาสจะดูตำราว่าปีนี้คนเกิดวันใดมีเคราะห์

ซึ่งในปีนี้ คนที่มีเคราะห์  คือคนที่เกิดวันศุกร์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกิดวันศุกร์ก็จะมาทำพิธีส่งเคราะห์ที่วัดในวันที่

๑๖ เมษายน  ซึ่งเป็นวันปากปี โดยทำพิธีส่งเคราะห์ส่วนตัวหลังจากทำพิธีส่งเคราะห์บ้านแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่สะดวกก็จะทำพิธีที่บ้านในวันถัดไป เมื่อสะดวก แต่ต้องไปให้อาจารย์วัดดูด้วยว่าวันดีที่จะ

ทำพิธีคือวันใด

กลุ่มที่ ๒  คือ ผู้ที่ได้รับเคราะห์ร้ายจากการฝันไม่ดี  หรือเจ็บป่วยสามวันดีสี่วันไข้ หรือ ผู้ที่อายุถึงวัยเบญจเพส ต้องการปัดเป่าเคราะห์ร้ายออกจากตัว จึงเข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ส่วนตัวเพื่อป้องกันเคราะห์ร้ายและสิ่งอัปมงคลที่จะเกิดขึ้น นอกจากผู้ที่เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์แล้ว ยังมีพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเข้าไปร่วมในพิธีกรรมด้วย เมื่อเข้าพิธีส่งเคราะห์แล้วจะทำให้สบายใจ มีความมั่นใจว่า สิ่งร้ายที่เกิดกับตนเองและคนรอบข้างนั้นจะกลายเป็นดีได้  โดยมีความเชื่อว่า ถ้าเกิดรางร้ายดังกล่าวแล้วไม่ประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ จะทำให้ไม่มั่นใจในการดำเนินชีวิต และการเดินทางเพื่อไปติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น แต่ถ้าเข้ารับการประกอบพิธีกรรมดังกล่าวแล้ว เชื่อว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันและถ้าจะเดินทางเพื่อไปติดต่อกับบุคคลอื่นที่อยู่ไกลบ้านนั้นจะประสบผลสำเร็จ และไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นขณะเดินทาง

๑.๓  วัสดุสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม หมายถึงวัตถุสิ่งของที่นำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ เครื่องบูชา เครื่องเซ่นไหว้ และภาชนะที่ใส่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

      ๑) เครื่องบูชา ซึ่งเรียกว่า ขันตั้ง เชื่อว่าเครื่องบูชาเป็นสิ่งที่สามารถใช้เป็นสื่อในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับเทวดา เพื่อให้การประกอบพิธีเป็นไปอย่างราบรื่น ประกอบด้วย

          - ขัน

- หมาก ๑ หัว

- พลู ๑ มัด

- ธูป ๘ คู่  

- ดอกไม้

- ผ้าขาวผ้าแดงตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสความกว้าง 2 นิ้ว

- ข้าวสาร

-เงินค่ายกครูจำนวน ๓๖ บาท

         ๒) เครื่องเช่นไหว้ ประกอบด้วย แกงส้มแกงหวาน ข้าวเปลือก ข้าวสาร มะพร้าว กล้วยลูกตาล ถ้าไม่มีให้ใช้น้ำตาลแทน อ้อย หมาก พลู เมี่ยง บุหรี่ ข้าวต้ม ขนม ดอกไม้ เทียน  อาหารบางที่อาจเป็นเนื้อดิบ ปลาแห้ง รูปปั้นคนสัตว์   ผู้ประกอบพิธีกรรมเป็นผู้กำหนดว่าจะให้ปั้นเป็นรูปสัตว์อะไรบ้าง โดยเอาวัน เดือน ปีเกิดของผู้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมไปให้อาจารย์วัดดูว่าจะใช้เครื่องเซ่นไหว้อะไรบ้าง  ในตำราที่กลุ่มของผู้ศึกษาไปสัมภาษณ์มาใช้ตำราจากปั๊บสา ดังนี้

 

 

วัว

ฮุ้ง(เหยี่ยว)

 

แมว

 

 

 

 

ช้าง

 

 

ราชสีห์

 

 

 

หนู

นาค

 

เสือ

 

 

 

            การนับหาเป็นชาย จะนับตามจำนวนอายุเวียนไปทางขวามือ โดยเริ่มนับตั้งแต่เสือ, นาค, หนู, ช้าง....ไปเรื่อย  ถ้าตกที่ช่องใดแสดงว่าเปิ้งตัวนั้น

            หากเป็นหญิง จะนับตามอายุเช่นเดียวกัน แต่จะเริ่มจากวัว,  ไปหาฮุ้ง(เหยี่ยว),  แมว,  ราชสีห์,......

และจำนวนของเซ่นไหว้ก็เป็นไปตามตัวเปิ้ง ดังนี้

-          เปิ้งเสือ เครื่อง ๑๐

-          เปิ้งนาก เครื่อง ๘

-          เปิ้งงัว(วัว) เครื่อง ๘

-          เปิ้งหนู  เครื่อง ๑๒

-          เปิ้งฮุ้ง  เครื่อง ๑๕

-          เปิ้งแมว เครื่อง ๘

-          เปิ้งราชสีห์ เครื่อง ๑๗

ดังนั้น ของเซ่นไหว้แต่ละคนจะไม่เท่ากันซึ่งก็แล้วแต่อายุ และเพศ  สิ่งของทีจัดเตรียมไว้

เพื่อเซ่นไหว้ แบ่งออกได้ดังนี้

-          แกงส้มแกงหวาน หมายถึง ผักต่าง ๆ ที่มีรสหวานและรสเปรี้ยวมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ

 -          หมากพลู บุหรี่ หมายถึง สิ่งประกอบที่ใช้สำหรับกินหมาก และสูบบุหรี่ถือเป็นเครื่อง

แสดงความให้เกียรติภูตผีเทวดาและเป็นสิ่งที่ใช้ต้อนรับแขกในสมัยก่อน

  -          อ้อย กล้วย โดยมาตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ ๓ – ๔ นิ้ว  แล้วหั่นเป็นแท่งให้เท่า ๆ กันตามจำนวน

 -          อาหารคาว หมายถึงข้าว  คือข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว และกับข้าวที่มีถ้าไม่มีอาจเป็นเนื้อทอดหรือปลาปิ้ง หรืออาจเป็นปลาร้า เนื้อดับ ก็ได้

 -          ธง หรือเรียกอีกอย่างว่า จ้อ เป็นธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก เสาธงใช้ไม่ไผ่เหลากลมแหลม ผืนธงจะใช้ผ้าหรือกระดาษก็ได้ ถือเป็นสัญลักษณ์ในการอันเชิญเทวดาให้มารับรู้ในการประกอบพิธีกรรม จ้อของแต่ละคนที่เข้าร่วมพิธีกรรมจะมีสีแตกต่างกันออกไป ดังนี้

-             เปิ้งเสือ   จ้อดำ

-             เปิ้งนาก  จ้อขาวลาย

-             เปิ้งงัว(วัว)  จ้อแดง

-             เปิ้งหนู   จ้อขาวดำ

-             เปิ้งฮุ้ง   จ้อขาวเหลือง

-             เปิ้งแมว  จ้อแดง

-             เปิ้งราชสีห์  จ้อขาวลาย

และแต่ละสะโตงจะมีร่มกระดาษ จำนวน ๑ คัน

  -          พริกแห้ง เกลือ หอม กระเทียม เกลือที่ใส่จะต้องเป็นเกลือเม็ดใหญ่เท่านั้น เพื่อส่งให้เป็นเสบียงกรังให้แก่เทวดา

 -          รูปปั้นเป็นรูปสัตว์ หรือคนในสมัยก่อนจะใช้ดินเหนียวปั้นแต่ในปัจจุบันใช้ดินน้ำมันแทนดินเหนียว เพื่อส่งไปเป็นทาสรับใช้เทวดา  และแต่ละคนจะใช้รูปปั้นแตกต่างกันดังนี้

-    เปิ้งเสือ  ปั้นรูปคน

-    เปิ้งนาก ปั้นรูปเทวดา

-    เปิ้งงัว(วัว) ปั้นรูปคน

-    เปิ้งหนู  ปั้นรูปเทวดา

-    เปิ้งฮุ้ง  ปั้นรูปคน

-    เปิ้งแมว ปั้นรูปคน

-    เปิ้งราชสีห์ ปั้นรูป

-    เปิ้งช้าง ปั้นรูป เทวดา

  -          ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นสิ่งแสดงความยกย่องแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่ออันเชิญเทวดาให้มารับรู้ในการประกอบพิธีกรรม

 -          น้ำส้มป่อย พร้อมใบหนาด เชื่อว่าช่วยขจัดปัดเป่าเคราะห์ร้ายออกจากตนเองหรือบริเวณที่ประพรม

 -          ภาชนะที่ใส่เครื่องเซ่นไหว้ ในพิธีกรรมส่งเคราะห์ใช้สะโตงหรือกระทง คือกาบกล้วยพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วใช้ไม้ไผ่เล็กเสียบเป็นพื้นใช้ใบตองหรือกระทงมารอง จะใช้ประกอบพิธีกรรมส่งตั๋วเปิ้งตั๋วจน ส่งแม่เกิด ส่งปู่แถนย่าแถน ส่งเคราะห์เรือน ส่งเคราะห์ส่วนตัว

 ๑.๔  วันเวลาในการประกอบพิธีกรรม

กลุ่มที่ ๑ จะมาทำพิธีส่งเคราะห์ที่วัดในวันที่ ๑๖ เมษายน  ซึ่งเป็นวันปากปี  โดยทำพิธีส่งเคราะห์ส่วนตัวหลังจากทำพิธีส่งเคราะห์บ้านแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่สะดวกก็จะทำพิธีที่บ้านในวันถัดไป เมื่อสะดวก แต่ต้องไปให้อาจารย์วัดดูด้วยว่าวันดีที่จะทำพิธีคือวันใด

 กลุ่มที่ ๒  คือ จะประกอบพิธีกรรมในวันเวลาใดก็ได้แล้วแต่สะดวกโดยทำพิธีส่งเคราะห์ส่วนตัวหลังจากทำพิธีส่งเคราะห์บ้านแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่สะดวกก็จะทำพิธีที่บ้านในวันถัดไป เมื่อสะดวก แต่ต้องไปให้อาจารย์วัดดูด้วยว่าวันดีที่จะทำพิธีคือวันใด  แต่ไม่นิยมประกอบพิธีในวันพระ

 ๑.๕ สถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม

สถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์จะแตกต่างกันออกไปดังนี้

๑)    บ้าน จะนิยมใช้บ้านของผู้เข้ารับการส่งเคราะห์เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมการส่งตั๋วเปิ้งตั๋วจน การส่งแม่เกิด ส่งปู่แถนย่าแถน ส่งหาบส่งหาม ส่งเคราะห์ส่วนตัว หรือบางทีถ้าผู้ที่เข้ารับการประกอบพิธีกรรมสามารถเดินทางได้ ก็จะใช้บ้านของผู้ประกอบพิธีส่งก็ได้เพื่อความสะดวกของผู้รับการส่งเคราะห์ ส่วนการส่งเคราะห์เรือนั้นจะต้องประกอบพิธีที่บ้านของผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์  โดยจะให้ผู้เข้าร่วมพิธี และผู้ทำพิธี นั่งหันหน้าออกจากตัวบ้าน

 ๒)    วัด ในกรณีที่ประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ส่วนตัว ในวันเดียวกับส่งเคราะห์บ้านโดยชาวบ้านเชื่อว่าวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

 ๑.๖  ขั้นตอนการส่งเคราะห์   แบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนดังนี้

๑.๖.๑  ขั้นเตรียมการ ผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์จะต้องจัดเตรียมวัตถุสิ่งของอันได้แก่ เครื่องบูชา เครื่องเซ่นไหว้ และภาชนะที่ใช้เครื่องเซ่นไหว้ให้ครบถ้วนพร้อมเพรียงก่อนถึงเวลาที่จะประกอบพิธีกรรม ดังนี้

              ๑)  เตรียมเครื่องบูชา ประกอบด้วย – ขัน, หมาก ๑ หัว, พลู ๑ มัด, ธูป ๘ คู่,ดอกไม้ , ผ้าขาวผ้าแดงตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสความกว้าง 2 นิ้ว , ข้าวสาร,เงินค่ายกครูจำนวน ๓๖ บาท  แล้วนำเครื่องบูชาทั้งหมดใส่จานหรือจะเป็นพานก็ได้

 ๒)    เตรียมเครื่องสังเวย โดยการนำกาบกล้วยเพื่อทำกระทงหรือสะโตงเป็นภาชนะใส่เครี่องสังเวย

            นอกจากจะเตรียมเครื่องสังเวยแล้ว ยังจะต้องเตรียมน้ำส้มป่อยและใบหนาดมัดรวมกันแล้วนำมาใส่ขันเตรียมรอผู้ประกอบพิธีกรรม

๑.๖.๒  ขั้นดำเนินการ จะกระทำก็ต่อเมื่อได้เตรียมวัตถุในการส่งเคราะห์เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อผู้ประกอบพิธีกรรมมาถึงจะเริ่มดำเนินการดังนี้

๑)     ผู้ประกอบพิธีกรรมยกขันตั้งขึ้นโดยการระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ของผู้ประกอบพิธีกรรม

 ๒)    นำกระทงมาวางตรงหน้าผู้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรม โดยให้นั่งหันหลังให้ผู้ประกอบพิธี ผู้ประกอบพิธีกรรมจะทำการร่ายคาถาปัดเคราะห์ให้ออกจากร่างกาย จะร่ายคาถาไปด้วยประพรมน้ำมนต์ไปด้วยเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากร่างกายของผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์

 ๓)    ผู้ประกอบพิธีจะเอาสะโตงหรือกระทงออกไปไว้นอกรั้วทางทิศตะวันตกแล้วผู้ประกอบพิธีกล่าวคำส่งกระทง(สะโตง) เป็นเสร็จพิธี

 ๔)    หลังจากเสร็จพิธี ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมจะนำน้ำส้มปล่อยที่ใช้ในการประกอบพิธีลูบที่ศีรษะของตนเอง ที่เหลือก็นำไปอาบเพื่อเป็นศิริมงคล

 ความเชื่อที่ปรากฏในพิธีกรรมการส่งเคราะห์

          ความเชื่อในพิธีกรรมส่งเคราะห์ เป็นความเชื่อที่มีมานาน เกิดจากพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งไม่ต้องการเหตุผลอธิบายว่าสิ่งนั้นสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ และเป็นสิ่งมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวเหนือ ชาวบ้านมหาโพธิ์  ตำบลป่าแมต อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ มีความเชื่อเรื่องการทำดี การทำบุญ โชค ถ้ามีเคราะห์ต้องแก้ไขไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไป จะต้องรีบไปปรึกษา ผู้ที่มีความรู้เรื่องการทำนายหรือโหราศาสตร์ หรือบางคนที่ครบรอบวันเกิดของตนเองก็จะไปตรวจโชคชะตาว่าในปีนี้ชะตาตนเองและญาติพี่น้อง ไปตกตรงที่ไหนมีตั๋วเปิ้ง(พึ่ง) เป็นสัตว์อะไรถ้าโชคไม่ดีก็จะรีบหาทางแก้ไข บุคคลที่มีความประสงค์จะเช้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์นั้น เป็นผู้ป่วยไข้เจ็บออด ๆ แอด ๆ สามวันดีสี่วันไข้ หรือฝันไม่ดีเช่นฝันไฟไหม้บ้าน การนึ่งข้าวเหนียวแล้วข้าวมีสีแดง ชาวบ้านมีความเชื่อว่าการที่ข้าวแดงนั้นเป็นสิ่งที่ผิดปกติจะเอาข้าวที่แดงทิ้งไปแล้วนึ่งใหม่ ถ้าแดงอีกจะเริ่มวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายกับบุคคลในครอบครัวเชื่อว่าเป็นเหตุร้ายที่จะทำให้สุญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป จึงต้องทำพิธีแก้ไขให้เหตุร้ายกลายเป็นดี หรือแก้ไขเหตุร้ายให้มันเบาบางลงไป อีกกรณีหนึ่งเมื่อครบวันเกิดของตนเองจะไปหาผู้มีความรู้เรื่องโหราศาสตร์ ให้ทำนายดูว่าตนเองนั้นจะประสบเคราะห์กรรมอะไรบ้าง เมื่อพบจะรีบหาทางแก้ไขทันที

            ในการประกอบพิธีส่งเคราะห์นั้นจะเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรม โดยผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์พร้อมที่จะให้ผู้ประกอบพิธีทำพิธีต่าง ๆ ให้ตนเองและบุคคลในครอบครัวพ้นจากเคราะห์กรรม โดยพิธีกรรมนี้ทำขึ้นเพื่อให้ผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมเกิดความมั่นใจ มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยนั้นเมื่อเข้าพิธีกรรมส่งเคราะห์แล้วจะทำให้จิตใจสบาย ร่างกายแข็งแรงขึ้น เกิดมากจากความเชื่อมั่นว่าตนเองจะไม่ถูกทอดทิ้ง ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ

  บทสวดที่ใช้ในพิธีส่งเคราะห์ส่วนตัว

............สาตุ๊ สาตุ๊ อัจจัยโย วันนี้กะเป๋นวันดี  เป๋นวันสลี ศุภจัยยะ อันประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าวันและยามทั้งหลาย   วันนี้กะหมดใส  วันในกะหมดปอด  เป๋นวันยอดแห่งวันพญาวัน บัดนี้นายดิเรกฤทธิ์  แสงแก้ว กะได้มาส่ง   เคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์ไฟลามมอดไหม้ฮื้อได้ใกล้มอดเนื้อแลตน ไปไล่ออกไปวันนี้ยามนี้  เคราะห์เมื่อหลับเมื่อตื่นเมื่อยืน เมื่อเตียว เมื่อเกี้ยว เมื่อกิ๋น กะฮื้อตกไปวันนี้ยามนี้เคราะห์มะคืนบ่หัน  เคราะห์เมื่อวันบ่ฮู้ เคราะห์เมื่ออู้เมื่อจ๋า เคราะห์นานาต่างๆขอฮื้อตกไปวันนี้ยามนี้ เคราะห์สิบสามนามสิบห้า เคราะห์ต่ำจ้าตกหยา เคราะห์เหนือ เคราะห์ใต้ เคราะห์วันตกวันออกแดนใด ฮื้อตกไปวันนี้ยามนี้  เคราะห์จ๋นหน้าจ๋นหลัง เคราะห์ร้อยแปดอย่าได้ได้มาเคิ้นค้างในยามตั๋วนายดิเรกฤทธิ์  สักอย่างสักประการ ข้าจะปัดไปไล่ออกไปวันนี้ยามนี้ สัปปัตต๊ะ สับปั๊ดตาสุขโลกา  วินาศสับป๊ะอุบาทย์ กังวลอนตราย เคราะห์ปาเป็น เคราะห์ปาต๋าย เคราะห์ปาวาย  เคราะห์เจ็บ เคราะห์เป๋น เคราะห์เย็น เคราะห์ไข้ เคราะห์ขี้ไร้ยังมี เคราะห์หัวปี๋ก๋างปี๋มาต้อง เคราะห์ปี่น้องมาเวียน เคราะห์ในเรือน ต้องต้าย

เคราะห์ย่างย้ายเดินตาง เคราะห์สล้างมาดิ้น เคราะห์เป๋นลิ้มหลังไหลมา ขอฮื้อตกไปวันนี้ยามนี้ เคราะห์ยามหน้าปลูกข้าว เคราะห์ปู่เฒ่าเอาครัวมาฝาก กะฮื้อตกไปวันนี้ยามนี้ เคราะห์งัวควายตั๋วกล้า เคราะห์จ้างม้ามาแหล่งถ้ารอจน  ฮื้อตกไปวันนี้ยามนี้ เคราะห์กังวลคอยถ้า เคราะห์ใหญ่น้อยเป๋นความขอฮื้อตกไปวันนี้ยามนี้ เคราะห์ยามบ่ดีกะฮื้อตกไปวันนี้ยามนี้  ฮื้อตกไปตี่พะติ๊บต้องไต้ ประตู๋แสนขอบ  ฮื้อตกไปตี่ขอบฟ้าจักรวาล  ฮื้อตกไปตี่ฟ้าเสี้ยงแผ่นดินสุด ฮื้อตกไปตี่พะปุดตี่คงสังคะ  ฮื้อตกไปตี่พระพัศดีดวงมืดเส้าขอนหู ฮื้อตกไปตามพะลาหู ตั่งเต่าสิบปีอย่าได้มาเข้า  เก้าปี๋อย่าได้มาใจ  สับปะสะเหนียดจังไรฮื้อตกไปตวยป๋ายก้อยฮื้อย้อยไปตวยป๋ายตี๋นป๋ายมือ ปุ้นเต๊อะเคราะห์เห๋ย .........

                                   ผู้ประกอบพิธีกรรม

 พ่อทองคำ  ยศแสน

อายุ ๗๖ ปี

บ้านเลขที่ ๒๐๙ หมู่ที่ ๙ บ้านมหาโพธิ์  ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่  จังหวัดแพร่

มัคทายกวัดมหาโพธิ์

 สะโตง หรือสะตวง ในทางเหนือ (ชาวบ้านมหาโพธิ์ใช้คำว่า สะโตง)  ก็คือ กาบกล้วย มาต่อกันเป็นสี่เหลี่ยม ผูกด้วยเชือกกล้วยสะโตง คือกระบะสำหรับใส่เครื่องเซ่นไหว้หรือเครื่องบัตรพลี ปกติจะทำด้วยกาบกล้วยเป็นกรอบสี่เหลี่ยม กว้างตั้งแต่ประมาณ 1 คืน ถึง 1 ศอก การทำนั้นใช้กาบกล้วยกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวตามลักษณะการใช้งานมาหักมุมเป็นเหลี่ยม ซึ่งโดยมากจะเป็นสี่เหลี่ยม ขนาดตามความต้องการ ตรงกลางเสียบด้วยตอกไม้ไผ่ชนิดแข็งให้พอวางของได้ เอาไว้ทำพิธีกรรมต่างๆ ทางเหนือ เช่น ส่งเคราะห์      ข้างในสะโตงจะประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก ข้าวสาร น้ำส้มป่อย ขันเงินอาหารคาวหวาน เป็นต้น

วันปากปี๋ วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะกินแกงขนุนกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ช่วงสายๆชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่ใจบ้าน เพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขมาคารวะ ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว

หมายเลขบันทึก: 495657เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท