ชื่นชมคนกันเองที่ไม่เคยหยุดหาวิธีทำให้งานที่ตัวเองรับผิดชอบดีขึ้น


ต้องบอกอีกครั้งว่าตัวเองเป็นคนโชคดีที่ได้อยู่ในที่ทำงานที่น่าอยู่ มีคนทำงานรอบๆตัวที่น่าชื่นชม ทำให้รู้สึกเสมอว่าไม่อยากทิ้งไปไหน ไม่ว่าใครจะมาเสนออะไรให้ก็ไม่เลือกที่จะเปลี่ยนใจ ตัวอย่างมีเสมอๆค่ะ เพียงแต่เราเอามาเล่าได้ไม่หมด มาวันนี้ขอเล่าสักเรื่อง เป็นเรื่องของคุณไปรวิน ซึ่งเป็นพนักงานห้องปฏิบัติการของเรานี่เอง

วันนี้เห็นไปรวินอากระดาษมันๆซึ่งเป็นกระดาษที่ห่อกระดาษขนาด A4 ที่เราใช้สำหรับพิมพ์ใบสั่งตรวจมายืนตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเยอะแยะไปหมด ในระหว่างที่รอสิ่งส่งตรวจจากด้านนอก ก็เลยถามว่า เอาไปทำอะไรเหรอ ไปรวินตอบว่า กระดาษนี้ดีติดขวดแล้วล้างง่ายกว่ากระดาษหน้าเดียวที่ใช้สำหรับปะขวดใส่ปัสสาวะที่เคยใช้ ใจก็คิดชื่นชมว่า นี่ไงเอาอีกแล้วที่คนทำงานของเรา ช่างมองสิ่งรอบๆตัวแล้วเอามาปรับปรุงสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ให้ดีขึ้น ก็เลยถือโอกาสถามรายละเอียดว่าทำยังไงบ้าง คิดว่าเรื่องนี้น่าจะเล่าได้ง่ายเพราะสามารถถ่ายรูปได้ด้วยเลย เพราะหลายๆงานที่ผ่านหูผ่านตาเรามักจะปรับปรุงกันมาจนย้อนเล่าของเก่าไม่ถูกแล้ว 

เลยได้ชื่นชมความใส่ใจของพนักงานของเรา เพราะขวดที่เราใช้ใส่ปัสสาวะ 24 ชั่วโมงจากคนไข้นั้น เป็นขวดน้ำยาที่ทางหน่วยพัสดุนำมาให้ห้องล้างเอามาล้างไว้ใช้ (นี่ก็เป็นการประหยัดให้องค์กร และช่วยรีไซเคิลด้วย) คนห้องล้างอย่างไปรวินเห็นขวดมีฉลากเก่าๆติดขวดที่ยังล้างไม่ออกดูไม่สวยงาม ก็อุตส่าห์หากระดาษหน้าเดียว (นี่ก็รีไซเคิลจากกระดาษเอกสารต่างๆในหน่วย) มาทากาวแปะก่อนนำไปใช้ พอล้างไปหลายๆรอบฉลากเหนียวๆเขละๆมันค่อยหลุดไปเอง แต่ทุกครั้งที่ล้างกระดาษที่แปะอยู่ก็จะลอกออกแบบกะรุ่งกะริ่งเพราะเป็นกระดาษธรรมดา ต้องเสียเวลาแกะบ้าง พอไปรวินเห็นกระดาษห่อซึ่งเป็นกระดาษมัน ก็เลยลองเอาไปใช้แทน ปรากฎว่าติดก็ง่ายเวลาล้างก็หลุดออกง่าย ไม่ต้องเสียเวลาลอกกระดาษที่กะรุ่งกะริ่งอีก จึงเป็นที่มาของการยืนตัดกระดาษห่อพวกนี้เอาไปไว้ใช้ในระหว่างรองาน เรียกว่าใช้เวลาอย่างคุ้มค่าจริงๆ เล่าต่อด้วยภาพของขวด และการแปะกระดาษแบบเดิมกับกระดาษใหม่นะคะ

Large_urinebottle
Large_urinebottle3

Large_urinebottle2

นี่คือตัวอย่างเล็กๆที่ทำให้เห็นว่าคนทำงานของเรา ทำงานไปก็คิดไปกันอยู่เสมอ คำพูดเปรียบเทียบที่ว่า "เช้าชาม เย็นชาม"ใช้ไม่ได้กับคนหน่วยเคมีคลินิกของเราเลยค่ะ ต้องเป็นเช้ากะละมัง เย็นกระทะ คงจะได้ เพราะแทบทุกงานที่ทำๆกันอยู่ มีที่มา มีการปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งแบบเป็นทางการ (ถ้าเป็นงานหลักๆ) และแบบไม่เป็นทางการ (อย่างที่ไปรวินทำในครั้งนี้) 

เชื่อมั่นเต็มที่เลยว่า ในบ้านเมืองของเรานี้ มีคนทำงานแบบนี้อีกมากมาย ทำโดยไม่ต้องร้องขอความดีความชอบ ทำงานด้วยใจ ด้วยสมองอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ คนเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบๆตัวทำงานเต็มที่เช่นเดียวกัน หากเราเห็นและช่วยกันชื่นชม เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฟันเฟืองเล็กๆเหล่านี้มีแรงพลัง ขับเคลื่อนงานในองค์กรให้เดินไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง มาช่วยกันมองหาคนดีๆ เรื่องดีๆในที่ทำงานมาบอกเล่าเป็นกำลังใจให้กันนะคะ 

หมายเลขบันทึก: 492660เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2012 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มาชื่นชมด้วยค่ะพี่โอ๋

เรียนอาจารย์ โอ๋ ชื่นชมคนทำดี ไปรวิน หากทุกหน่วยขององค์กร คิดทำใช้อย่างประหยัด อย่างมีคุณภาพด้วย ช่วยองค์กรลดต้นทุนได้มาก

แวะมาส่งกำลังใจค่ะ ทำดีต่อไป...ค่ะ

"คนเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบๆตัวทำงานเต็มที่เช่นเดียวกัน"

เห็นด้วยกับประโยคนี้ของพี่โอ๋มากๆ ค่ะ

เรื่องราวความใส่ใจในงาน ใส่ใจในผู้อื่น ของพี่ไปรวิน สะท้อนถึงสิ่งแวดล้อม การมีหัวหน้างานที่เอาใจใส่ผู้อื่นอย่างมาก แบบพี่โอ๋นั่นเอง

ความสุขอยู่รอบตัวจริงๆเลยค่ะ มีความสุขที่จะคิดสร้างสรรค์ผลงาน จากงานประจำ

 

พี่โอ๋คะ คุณไปรวิน เป็น everyday hero เลยนะคะ ขอชื่นชมค่ะทั้งลูกน้องและหัวหน้าค่ะ คงเป็นเพราะ the shadow of the leader ด้วยน่ะคะ :)

สวัสดีค่ะคุณโอ๋มาร่วมยินดีและชื่นชมคนทำงานด้วยใจและมีความขยัน ขันแข็งน่าเอาเป็นแบบอย่างค่ะ

ทำด้วยรักทำด้วยใจอยู่ที่ไหนก็มีความสุขค่ะน้องโอ๋...

  • คนที่ "ทำโดยไม่ร้องขอความดีความชอบ ทำงานด้วยใจ ด้วยสมองอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ให้กับองค์กร" อย่าง "คุณไปรวิน" (ที่สงสัยจะขี้อาย หรือไม่ก็ต้องการปิดทองหลังพระ จึงไม่ยอมหันหน้ามาทางกล้องให้เห็นชัดๆ) นี่แหลค่ะ ที่สมควรได้รับการเชิดชูให้เป็นบุคคลตัวอย่างการประหยัดการใช้ทรัพยากรให้กับองค์กร ให้กับประเทศชาติ ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เป็นจิตสำนึกที่สำคัญยิ่ง
  • ที่มหาวิทยาลัยของอ.วิ มี รศ.ดร.ที่ทำวิจัยปัจจัยทางจิตสังคมที่สัมพันธ์กับการประหยัดทรัพยากรของบุคลากรในมหาวิทยาลัย แต่อ.วิต้องคอยเดินปิดไฟปิดพัดลม/แอร์ในห้องที่เดินผ่าน เพราะพบประจำที่อาจารย์สอนและออกจากห้องไปแล้ว ไม่ดูแลให้นักศึกษาปิดไฟ ปิดพัดลม/แอร์ ปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้น แล้วมหาวิทยาลัยก็เต้องชำระค่าไฟฟ้าเดือนละหลายแสนจนบางครั้งต้องเป็นหนี้การไฟฟ้า สำหรับอ.วิจะออกจากห้องเป็นคนสุดท้ายทุกครั้ง และตรวจสอบความเรียบร้อยทุกอย่างก่อนออกจากห้อง ที่ออกจากห้องช้าเพราะอุปกรณ์เยอะ และไม่ได้ให้นักศึกษาช่วยเก็บ ยกเว้นเป็นตารางเวลาเรียนสุดท้ายของวัน เพราะนักศึกษาต้องรีบไปเรียน

เรื่องเล่าเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลัง :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท