เวที PLC ครู : เวทีพัฒนาศักยภาพครู facilitator กำแพงเพชร (2)


อ่านภาคหนึ่งที่นี่ก่อนค่ะ

ภาคสอง : ทดลองจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้จริง

        10 มิ.ย. 55  วันนี้มีครูสอนดีเข้ามาร่วมกิจกรรมเพิ่มรวมราว 80 คน  และตามที่กลุ่มแกนนำครูฟา ได้ช่วยกันออกแบบวงทดลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เมื่อวาน   กิจกรรมวันนี้เริ่มเก้าโมงเช้า ด้วยการกล่าวต้อนรับและเกริ่นนำอีกครั้งโดย ผศ.ดร.เรขา อรัญวงศ์ กับผู้เข้าร่วมที่มากขึ้น  ตามด้วยการจับคู่ทำความรู้จักกันและแบ่งกลุ่มอย่างง่ายผ่านเกมส์เล็กๆ (ย่นย่อเวลา)  ส่วนกระบวนการเรียนรู้หลักที่ช่วยกันออกแบบ เป็นไปดังนี้

  1. เรียนรู้ “วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในในศตวรรษที่ ๒๑”  จากคลิปวิดิโอ ซึ่งเป็นกิจกรรมเดียวกับที่กลุ่มครูแกนนำฟาได้ดู  จุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างสั้นที่สุดเรื่องทักษะในศตวรรษที่ ๒๑, PBL และบทบาทของครูยุคใหม่  โดยหลังจากดูคลิป ผู้เข้าร่วมแต่ละคนเขียน 1 ประโยคเด็ดของตัวเองในแผ่นกระดาษ  แล้วเอาออกมาวางรวมกัน ซึ่งวันนี้เราได้การตีความที่มีเยอะขึ้นจากจำนวนครูที่มากขึ้น   แต่วันนี้กลุ่มแกนนำครูฟา ช่วยเริ่มกันพูดก่อน เพื่อกระตุ้นบรรยากาศ ให้เพื่อนครูคนอื่นๆ กล้าแลกเปลี่ยนสิ่งที่เขียนมากขึ้น  ผลทำให้ครั้งนี้กลุ่มครูช่วยกันจัดหมวดหมู่ได้เร็วขึ้น และหมวดหมู่ที่จัดตามความเข้าใจของครูทั้งห้อง 3 หมวด (หมวดเป้าหมาย คือ ทักษะต่างๆ ในศตวรรษที่ ๒๑, หมวดกระบวนการ คือ ส่วนประกอบของ PBL,  หมวดผลลัพธ์ คือ เด็กนักเรียน)   
  2. ทดลองจับประเด็นทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และ  PBL  จากเรื่องราวตัวอย่าง  ใช้ไฟล์คลิปวิดิโอกระบวนการเรียนการสอนของครูสมชาย จ.พิษณุโลก  ที่พาเด็กนักเรียนไปเรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมในจังหวัดตัวเอง ผ่านการไปสัมภาษณ์ถามผู้สูงอายุในหมู่บ้านที่เคยเจอประสบการณ์น้ำท่วม   ช่วงนี้ครูแกนนำฟา  เริ่มเข้าไปทำหน้าที่อำนวยกระบวนการ ตั้งคำถาม และจดประเด็นตามกลุ่มย่อยต่างๆ  (2-3 คน ต่อหนึ่งกลุ่ม)   จุดประสงค์กิจกรรมนี้  เป็นการให้ผู้เข้าร่วมเริ่มได้ทดลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตีความจากเรื่องราวตัวอย่าง ก่อนถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเล่าของตัวเองจริงๆ
  3. วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเล่าประสบการณ์ออกแบบการเรียนรู้จริงครูสอนดี  หลังจากได้ซ้อมมือกับกิจกรรม B แล้ว  ผู้เข้าร่วมเริ่มคุ้นเคยกับวง, บรรยากาศ และครูแกนนำฟา  มาถึงรอบแลกเปลี่ยนเรียนรู้จริง ซึ่งออกแบบให้ใช้เวลามากขึ้น (~3 ชม.)   และเพิ่มการให้ครูผู้เข้าร่วมทุกคนได้เขียนเรื่องเล่าการออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองเตรียมตัวก่อนเข้าวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยกันตีความ  บรรยากาศโดยรวมดำเนินไปได้ด้วยดี  ครูทุกคนสามารถเล่าเรื่องตัวเองเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้   แม้ผลลัพธ์การช่วยกันตีความทักษะอนาคตในศตวรรษที่ ๒๑ และ PBL จากเรื่องเล่าจะออกมาไม่ชัดเจน (เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาฝึกทั้งครูฟา และครูผู้เข้าร่วม)
  4. Shopping เรื่องเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มอื่นๆ  เป็นกระบวนการที่นำมาแทนขั้นตอนนำเสนอทีละกลุ่ม  ซึ่งการนำเสนอจะทำให้ใช้เวลาค่อนข้างมากและอาจน่าเบื่อ  จึงหมุนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนเดินไปอ่านเรื่องเล่าและผลลัพธ์การตีความของกลุ่มอื่นๆ ที่เพื่อนเขียนติดไว้ที่โต๊ะ (จัดให้ครูฟา 1 คน อยู่ประจำกลุ่มเพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติม)  

  

 

จากการสังเกตบรรยากาศและการพูดสะท้อนของผู้เข้าร่วมโดยรวมมีความเห็นว่าการมีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นมีประโยชน์  ทำให้ได้รู้เทคนิคหลายอย่างกลับไปปรับใช้ในการทำหน้าที่ครูให้ดีมากขึ้น  จึงอยากให้มีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามสาระวิชา และรวมสาระวิชาอย่างสม่ำเสมอ   ซึ่งทาง ผศ.ดร.เรขา  ผู้จัดการเครือข่าย ได้ร่างปฏิทินคร่าวๆ มาให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันดู (ทั้งนี้ในแต่ละกลุ่มสาระได้มีการตั้งเป้าหมายของการพัฒนาร่วมกันมาก่อนว่าปีนี้อยากพัฒนาเรื่องใด)

  

เมื่อเสร็จสิ้นวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้การออกแบบการเรียนรู้ครูสอนดี ครั้งนี้  ที่ครูแกนนำได้ฝึกศักยภาพเป็นครูฟา     กลุ่มแกนนำครูฟา ก็กลับมารวมตัวสรุปกันอีกครั้งกับทีมวิทยากรพี่เลี้ยง และ อ.เรขา  ที่เปิดวงให้แกนนำครูฟา พูดคุยทำความเข้าใจอีกครั้ง    โดยส่วนสำคัญที่ทีมวิทยากรพี่เลี้ยง เน้นกับแกนนำครูฟา จ.กำแพงเพชร คือ การถอดประเด็นและตีความบทบาทครูยุคใหม่ และองค์ประกอบของ PBL ที่มักไม่มีในการสอนแบบปกติ คือ การสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้เด็กนักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ของตนเองออกมา (เป้าหมายท้ายสุดของการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครู คือ ครูได้ปฏิรูปตัวเองเปลี่ยนการออกแบบการเรียนรู้ยุคใหม่เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะอนาคตและสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง)

 

......คราวต่อไปเราจะไปจังหวัดยะลา กันค่ะ....

 

หมายเลขบันทึก: 492656เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2012 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท