ปรัชญา : ช่วยจัดการศึกษาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ (ปรับปรุง)


เข้าใจปรัชญา แนวคิดก็ชัด การทำงานก็เป็นเอกภาพ

สมัยผมเป็นผู้สอนวิชาปรัชญาการศึกษา ในปี พ.ศ.2538-2542 ระดับปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ผมได้เรียบเรียงเอกสารประกอบการเรียนวิชาทฤษฎีพื้นฐานการศึกษา (366511 Theoretical Foundation of Education) ขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาสาขาบริหารการศึกษา เข้าใจวิชาปรัชญา จิตวิทยา และสังคมวิทยาว่าเป็นพื้นฐานในการวางนโยบายทางการศึกษา และเป็นแนวทางจัดการศึกษาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ  ซึ่งผมเห็นว่ามีประโยชน์อยู่บ้าง เผื่อมีผู้สนใจ  จึงขอนำมาเผยแพร่ไว้ในที่นี้

.

๑. ความนำ

ผู้ที่เริ่มศึกษาวิชาปรัชญาครั้งแรก ส่วนมากจะมึนงงจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า เป็นวิชาอย่างไรกันแน่ เพราะดูเหมือนคนทั่วไปพูดถึงปรัชญาในแง่ต่างๆ เช่น ปรัชญาชีวิต ปรัชญาการเมือง ปรัชญาการบริหาร ปรัชญาการศึกษา ปรัชญาดูเป็นวิชาสูงส่ง  เพราะอะไร ๆ ถ้าไม่มีคำว่า “ปรัชญา” ดูจะเป็นของธรรมดาสามัญ  ไม่ลึกซึ้ง  ยิ่งเป็นความเห็นหรือคำพูดของผู้ใด  ก็แทบจะไม่มีคุณค่าน่ารับฟัง เชื่อถือแต่อย่างใด

แต่...เมื่อเริ่มศึกษาวิชาปรัชญาไปหลายปี  มักเริ่มรู้สึกว่าการเรียนวิชาปรัชญา  ก็เพียงแค่ไปศึกษาแนวคิดของคนรุ่นเก่าๆ ที่เป็นของชาวต่างชาติที่คนรุ่นต่อมารวบรวมไว้เป็นกลุ่มลัทธิ หรือหมวดหมู่ประเภทสาขาวิชาเสียมากกว่า  ส่วนเนื้อหาวิชาปรัชญา  ก็มีแต่เรื่องความคิดที่ถูกยกขึ้นมาเพื่อให้ถกเถียงกัน ในลักษณะจนมีความคิดเห็นเสริมมากมาย  แม้ว่าสิ่งที่เถียงกัน ก็ไม่รู้ว่าคำตอบนั้นจะยุติสรุปได้เมื่อไหร่  เพราะไม่ว่าวิชาใดๆ รุ่นต่อมา  ก็พอจะมีคำตอบที่แน่นอนให้ได้บ้าง  แต่วิชาปรัชญาก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนให้สักที   จนในที่สุดก็มีผู้เอาสิ่งที่เถียงกันไปพิสูจน์จนต่อมาสรุปได้ว่าเป็นอย่างไรกันเสียที   แต่นักปรัชญาก็หันไปหาเรื่องใหม่มาถกเถียงกันต่อ   ทำให้ดูเหมือนว่านักปรัชญาไม่ได้ต้องการหาคำตอบที่แน่นอน  แต่ต้องการเพียงหาสิ่งที่มาสนับสนุนอธิบายความคิดของตนเองมากกว่า  จึงมีส่วนให้คนรุ่นหลังมองว่าวิชาปรัชญาไม่น่าสนใจที่จะต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง  แถมสิ่งที่นักปรัชญารุ่นหลังๆ นำมาถกเถียงกัน  มักเป็นประเด็นนามธรรม หรือเรื่องทางด้านความคิด จิตใจ ที่ลึกซึ้งกว้างขวางหาข้อยุติยากมาก   

แล้ว…วิชาปรัชญาจะมีประโยชน์ที่จำเป็นต้องเรียนรู้  ตรงไหนกันแน่นะ  ?

 

๒. เรียนปรัชญาคุ้มค่าไหม

ในขณะที่ต่างประเทศเห็นว่ามีประโยชน์มาก  บางประเทศในยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษถึงกับกำหนดให้เป็นวิชาบังคับ ที่นักเรียนทุกคนต้องเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา  ส่วนบางประเทศ เช่น เยอรมัน สหรัฐ ก็กำหนดเป็นวิชาพื้นฐานที่บังคับนักศึกษาระดับปริญญาตรีต้องเรียน  ส่วนประเทศไทยก็มีการกำหนดให้เป็นวิชาหนึ่งระดับปริญญาตรีที่ต้องเรียน ไม่ถึงกับเป็นวิชาบังคับ  แต่กำหนดให้เป็นวิชาที่มีในหลักสูตร  

จึงน่าแปลกทำไมต่างประเทศทางยุโรปและอเมริกาบังคับให้เรียน  แสดงว่าต้องเป็นนวิชาที่มีความสำคัญสำหรับพลเมืองเขาแน่นอน   สำหรับเมืองไทยก็มีวิชานี้ในลักษณะมีที่เป็นไปตามหลักสูตรสากลจะได้มีมาตรฐานเทียบเขาได้ แค่จากที่ผมเรียนมา  และจากการพูดคุยกับนักศึกษารุ่นต่างๆ  วิชาปรัชญาเป็นวิชาที่ต้องจดจำคำพูดของนักปรัชญาที่เรียนให้ได้เอาไว้ไปสอบเท่านั้น  ดูเหมือนจะไม่มีใครเห็นวิชานี้สำคัญมากเท่าวิชาวิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์เลย แล้วเราจะเรียนวิชาปรัชญาไปทำไม เรียนก็ยาก งงงวย อาจารย์ก็สอนไม่ค่อยเข้าใจ จบมาแล้วก็ยังไม่รู้ว่าวิชาปรัชญาจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันที่ใดบ้าง  หรือมันมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพียงใด  ???

แต่เมื่อพิจารณาจากคำพูดของอริสโตเติลที่กล่าวว่า“...ไม่ว่าเราจะเรียนปรัชญาหรือไม่ ทุกคนก็คิดแบบปรัชญาอยู่แล้วทุกวัน…” ทำให้พอจะจับเค้าได้ว่า  อริสโตเติลคิดว่าปรัชญาเป็นเรื่องปกติในการดำเนินชีวิตของมนุษย์แน่เลย หรือว่าวิชาปรัชญาเป็นเรื่องความสงสัย ความแปลกใจของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ว่ามันคืออะไร เกิดได้อย่างไร มีเพื่ออะไรกันแน่   ต่อมามีคนบางคนพยายามคลายความสงสัย แปลกใจอย่างจริงจัง  เริ่มคิดค้นคว้าหาความรู้ที่หาได้มาถกเถียงกันเพื่อหาความจริง  หรือพยายามคาดคะเนเหตุผลมาเทียบเคียงตอบสิ่งที่มนุษย์สงสัย แปลกใจ  ชาวกรีกโรมันสมัยนั้น  จึงเรียกคนพวกนี้ว่า "philosopher" (มีรากศัพท์มาจากคำภาษากรีก 2 คำ คือ Philo แปลว่า ความสนใจ ความสงสัย ความอยาก และ Sophia แปลว่า ความรู้)   ภายหลังทุกคนเห็นความพยายามของคนที่ทุ่มเทค้นคว้าหาความจริงอย่างเต็มที่  และเห็นประโยชน์คุณค่าในกระบวนการหาเหตุผลที่นำมาตอบ ซึ่งแม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงไม่  แต่ก็มีเหตุผลน่าเชื่อถือ  จนกลายเป็นรากฐานที่ดีในการพัฒนาของมนุษยชาติ  ส่วนคนที่ทุ่มเทพยายามแสวงหาคำตอบ  สังคมกรีกโรมันและชาวยุโรปต่อมาจึงยกย่องเคารพให้เกียรติคนเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

คนยุโรปยุคก่อน  เริ่มเป็นนักปรัชญาด้วยการคิด ค้นคว้าหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตนเอง  แต่...คนสมัยใหม่ที่คิดว่าตัวเองเป็นนักปรัชญา ก็เพราะหวังว่าจะหาสิ่งที่ดีที่สุด หรือแนวทางที่ดีที่สุดให้กับโลก มนุษย์และสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมตนเอง

การเป็นนักปรัชญาแบบเก่าดั้งเดิมนั้น  ท่านคงจะจริงจังที่ได้สนุกกับการใช้ความคิด  การหาเหตุผล  เพราะหลังจากที่ตนเองคิดว่ามีเหตุผลสนับสนุนพอแล้ว  ก็เอามาพูดในที่ประชุม (Dialog) ทำนองให้มีการสนทนา อภิปราย แล้วให้มีคนช่วยกันวิจารณ์ หรือซักถาม  บางครั้งก็คงน่าจะโต้เถียงกันอย่างดุเดือด  และดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะกลายมาเป็นวัฒนธรรมของชาวยุโรปปัจจุบัน ที่ชอบการอภิปรายโต้เถียงกันในทุกที่  ทั้งวงการทำงานและการศึกษา พอทุกคนวิจารณ์หรือซักถามจนพอใจ ก็ยุติหาข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง (ปัจจุบันเรียกว่า parliament = รัฐสภา) เพื่อเอาไปเป็นแนวในการทำงาน  ในเมื่อการเป็นนักปรัชญายุคนั้นและยุคต่อมาได้ฟังความคิดเห็นของใคร คำพูดของใคร ก็สามารถคิดและตรวจสอบความคิดเห็นนั้น ว่ามีพื้นฐานมาจากเรื่องใด และคิดในแง่มุมใด ครอบคลุมหรือมีใจความขัดแย้งกันเองหรือไม่ ถ้านักปรัชญาทำแบบนี้จนเป็นกิจวัตรได้ก็จะเกิดเป็นนิสัยที่ดี เกิดคุณค่าชีวิตอย่างมหาศาล   ซึ่งถ้าเราเรียนวิชาปรัชญาอย่างนี้  วิชาปรัชญาก็จะไม่ใช่วิชาน่าเบื่อหน่ายแต่อย่างใด  อาจจะกลับเป็นวิชาที่น่าสนใจที่สุดวิชาหนึ่งก็เป็นได้

ถ้าศึกษาความเป็นมาของปรัชญายุคแรกๆ  น่าจะไม่ได้มีเจตนาโดยตรงที่จะนำสิ่งที่คิดไปแก้ปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ  ด้านการเมืองหรือด้านใดด้านหนึ่งโดยตรง  คงแค่ช่วยให้ผู้เรียนพยายามคิดหาคำตอบอย่างมีเหตุผลที่มีความเป็นไปได้เกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานในชีวิต  อะไรถูกอะไรผิด และความลึกลับของโลก ธรรมชาติ ว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไรบ้าง และสังคมที่ีน่าอยู่ (Uthopia) ควรเป็นเช่นไรมากกว่า   

ดังนั้น วิธีการทางปรัชญาที่ผ่านมา จึงมีประโยชน์ตรงที่ช่วยมนุษย์ยุคนั้นเกิดความเข้าใจ จากความสัมพันธ์ และประสบการณ์กับสิ่งต่างๆรอบตัวได้ชัดเจน ช่วยให้คนมีแนวทางในการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิต หรือการกระทำที่มีคุณค่าต่อชีวิต และช่วยกันตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ความคิด หรือวิชาต่างๆ ที่มีคนเสนอขึ้นมา 

 

๓. คุณค่าของวิชาปรัชญา

คนจำนวนมากไม่เชื่อถือความรู้ที่ได้มาจากนักปรัชญา  เพราะผลการพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ สามารถยืนยันความจริงได้ชัดเจนกว่า  และอีกประการหนึ่งวิธีการของนักปรัชญาทำให้ประชาชนทั่วไปเบื่อหน่าย  เพราะชอบหักล้างความคิดกันด้วยวิธีจับผิดภาษาที่ใช้จากคำพูด หรือพยายามโต้แย้งความคิดของอีกฝ่ายด้วยความเห็นที่ยิบย่อยเกินไป  หรือไม่ก็พยายามโต้แย้งด้วยสำนวนโวหาร ไม่มุ่งโต้แย้งที่สาระหลักการ กลับไปเถียงกันแต่ความรู้ที่คาดคะเนเอา ซึ่งยังไม่รู้ว่าความคิดนั้นจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้

ในที่สุดแนวทางวิธีการของวิทยาศาสตร์จึงได้รับการเชื่อถือและยอมรับอย่างกว้างขวางมากกว่าวิธีการของนักปรัชญา  เพราะได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์แก่คนมากมายทั่วโลกประจักษ์อย่างชัดเจน   ส่วนปรัชญาก็ยังพยายามเน้นหาคำตอบที่ได้จากการคาดคะเน ด้วยวิธีีการตรรกะและความน่าจะเป็น (Logic and Probability) ความรู้ที่ได้จากนักปรัชญาจึงทำให้คนทั่วไปเห็นว่าเป็นของเลื่อนลอย ไม่อยู่บนพื้นฐานความจริง ซึ่งดูได้จากสิ่งรอบตัวเราในชีวิตประจำวัน ก็ยังมีปัญหาที่ไม่สามารถให้ความจริง หรือคำตอบอย่างสมบูรณ์แท้จริงแน่นอน 

แต่เมื่อเราศึกษาการเรียนวิชาปรัชญาของประเทศทางตะวันตกในปัจจุบัน จะพบว่า เขาจะให้น้ำหนักกับวิธีคิดและวิธีการหาเหตุผลมากขึ้น  ซึ่งถ้าเรามุ่งเน้นการเรียนปรัชญาแบบนี้  ก็จะช่วยให้เรามีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง เห็นความคิดที่เป็นไปได้อีกหลายแนวทาง  ส่งผลให้จิตใจกว้างออกไปอีก  และที่สำคัญการเรียนปรัชญาแบบนี้ ถือว่ามีคุณค่ามากที่สุด คือ ธรรมดาคนเราคิดแต่ประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัวของตัวเอง จะสนใจสิ่งอื่นก็หรือผู้อื่น ก็ต่อเมื่อมีอุปสรรคหรือถูกบีบคั้น กดดันจากคนอื่น 

ซึ่งถ้าเราเรียนปรัชญาแบบนี้อย่างจริงจัง จะทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงทั้งทัศนะและพฤติกรรมไปในทางที่สูงส่ง ช่วยให้เห็นทุกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เชื่อหรือมีความคิดตามขนบธรรมเนียมประเพณี ของสังคมใดๆ ไม่มีอคติใดๆ ต่อผู้ใดหรือสิ่งใดทั้งสิ้น  มีจุดประสงค์อย่างเดียว คือ “แสวงหาความจริงบนพื้นฐานความรู้” ความรู้ที่ได้มาก็ไม่ขึ้นกับตัวบุคคล แต่เป็นความรู้ที่ได้จากการไตร่ตรอง,ใคร่ครวญ หรือการครุ่นคิดเกี่ยวกับการคิด (thinking about thinking) และเมื่อเราคิดเกี่ยวกับแนวคิดที่เกิดขึ้น สิ่งที่ได้คือ “ตัวความคิด” ในทางปรัชญาเรียกว่า Further Philosophy เป็นการคิดเกี่ยวกับความคิดของมนุษย์  ลักษณะสำคัญนี้แหละ ที่มันจะทำให้เราพัฒนาการคิดได้อย่างรอบด้านทุกมิติ  เช่น เห็นว่าชีวิตและโลกนั้นที่แท้จริงไม่มีอะไรเลย ไม่มีดีมีชั่ว มีดีมีเลว มีมิตรมีศัตรู มีคุณมีโทษ ทุกอย่างสามารถแปรผันเป็นไปได้ทุกอย่างตามความคิดของคน และสังคม 

ดังนั้น การเรียนปรัชญาที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจึงไม่ใช่เรียนไปเพื่อตอบปัญหา แต่ควรเรียนปรัชญาเพื่อรู้และตรวจสอบปัญหา หรือสิ่งที่สงสัยให้กว้างขวาง เพราะยิ่งเราคิดหาเหตุผล และความน่าจะเป็นของปัญหา (Logic and Probability) จะช่วยให้เราเห็นขอบเขตของปัญหาออกไปได้หลายแง่หลายมุมว่ามีอะไรบ้างที่เป็นไปได้ อะไรที่เป็นไปไม่ได้ เกิดจินตนาการมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำในอนาคต(วิสัยทัศน์) ได้ชัดเจนขึ้น  

อีกอย่างหนึ่ง สังคมกลัวว่าถ้าเรียนหรือใช้วิธีการทางปรัชญากันมากขึ้น สังคมจะวุ่นวาย สับสน เพราะพวกนี้ชอบตั้งคำถามหรือสงสัยไปทุกอย่าง (Skepticism) แบบนักการเมืองทั่วโลก แถมหวาดระแวงว่าจะมีทฤษฎีสมคบคิดกันในวงการต่างๆ สปิโนซา (Baruch Spinoza) เคยกล่าวว่า “ผมไม่รู้จะสอนปรัชญาอย่างไร โดยที่ไม่กลายเป็นพวกก่อกวนความสงบ” ซึ่งตัววิธีการทางปรัชญา จะทำให้ทุกคนเห็นถึงความเป็นไปได้อย่างอื่นมากขึ้นอยู่แล้ว  และผสมกับวิธีการทางปรัชญา มีการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ก็ยิ่งชวนให้เข้าใจผิดว่า เราจะไปจับผิดในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นบรรทัดฐานของสังคม หรือเป็นมาตรฐานดีอยู่แล้ว และมีคุณค่าอะไรบางอย่างต่อสังคม จนทำให้เขาหวาดกลัวภัยอันตรายของสังคมจากนักปรัชญาขึ้นมาได้   

สรุปได้ว่า ปรัชญาเป็นวิชาหนึ่งที่เกี่ยวกับการหาความรู้ ความจริง เพื่ออธิบายเหตุการณ์และสิ่งต่างๆที่มนุษย์ประสบ ตามหลักเหตุและผลอย่างกว้างๆ โดยใช้หลักการของตรรกะเป็นเครื่องมือ  ซึ่งนักปรัชญาได้ใช้เวลาหลายพันปี ในการพยายามค้นหาคำตอบต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมีชีวิตอยู่ หรือกฎเกณฑ์สังคม หรือศึกษาจิตใจของมนุษย์  หรือความจริงของธรรมชาติ โลก  ส่วนคำว่า “ปรัชญา” เป็นคำภาษาไทยที่บัญญัติขึ้นมาใช้แทนคำในภาษาอังกฤษ Philosophy ซึ่งมีความหมายว่า รักในการแสวงหาความรู้  และเชื่อกันว่าถูกเรียกใช้ครั้งแรก โดยนักคิด นักคณิตศาสตร์ ชาวกรีกโบราณที่ชื่อว่า ปีธาโกรัส (Pythagoras)    

จริงๆแล้วการศึกษาวิชาปรัชญาในระดับปริญญา ไม่ควรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้เนื้อหาปรัชญา หรือจดจำแนวคิดของนักปรัชญา หรือเรียนแบบประวัติศาสตร์ปรัชญา  แต่ควรเน้นพัฒนาความสามารถในการประมวลผลข้อมูล การคิดอย่างจำแนกแจง วิเคราะห์ เพื่อสามารถแสดงความคิดเห็นพร้อมให้เหตุผลนั้นๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือจะเกิดคุณค่าอย่างแท้จริง 

 

๔. วิธีเรียนวิชาปรัชญา  ในปัจจุบันมีหลายวิธี ดังนี้

วิธีที่ ๑ ใช้กฏของเดส์การ์ตส์ (Discourse on Method of Descartes) 

  • จะไม่ยอมรับว่าอะไรเป็นคำตอบที่แท้จริงทันที จนกว่าจะเห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน หาข้อสงสัยอีกไม่ได้           
  • จะจำแนกปัญหาที่กำลังคิดเป็นส่วนๆให้ละเอียดที่สุด คลอบคลุมปัญหานั้นๆเท่าที่จะแบ่งได้ หรือเท่าที่จำเป็น
  • จะจัดระบบความคิดเป็นขั้นตอน จากภาพรวมปัญหาหรือที่เป็นของธรรมดาหรือง่าย ๆ จนถึงส่วนย่อยและซับซ้อนมากขึ้น
  • จะตรวจสอบให้ละเอียดทุกประเด็น ทุกขั้นตอน จนไม่มีข้อบกพร่อง

.

วิธีที่ ๒ ใช้วิธีพิเศษ (Mysticism)

            ใช้วิธีการเพ่งจิตไปที่สิ่งนั้น จนจิตใจแน่วแน่สงบนิ่ง(แบบการนั่งสมาธิของพุทธศาสนา) หรือสมมติตัวเองเป็นสิ่งนั้น จนมีความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งนั้น  หรือเพ่งถึงองค์พระเจ้าจนจิตลืมตัวจะเข้าถึงความจริงได้เอง  พอจิตสงบก็จะได้คำตอบที่ผุดขึ้นในจิตใจ   บางคนก็เหมือนมีคนมากระซิบบอก  บางคนก็ฝันถึงภาพแนวคิด  บางคนก็เหมือนมีอะไรมาแว่บในสมอง   บางคนก็เหมือนมีอะไรดลบันดาลให้ได้คำตอบจากคนที่บังเอิญพบ  เดินผ่านสิ่งต่างๆ ก็ได้คำตอบ  บางทีก็ไปเจอหนังสือที่มีข้อความตรงใจพอดี  ฯลฯ   

.

วิธีที่ ๓ ใช้วิธีการเริ่มต้นทางวิทยาศาสตร์ (Method of Science)

  • มีปัญหา หรือตั้งปัญหา
  • รวบรวมและสังเกตข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยไม่ลำเอียงใด ๆ
  • เสนอคำตอบแก้ปัญหา (โดยการตั้งสมมติฐาน : Hypothesis ; หรือ การเสนอแนะ : Suggestion)
  • ตรวจสอบคำตอบที่ตัวเองคิด ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น  วิธีวิจารณญาณ ( ตรึกตรอง, ไตร่ตรอง), วิธีตรรกวิทยา (Logic), วิธีเปรียบเทียบ (analogy), วิธีประวัติศาสตร์ (History), วิธีประสบการณ์ (Experience)  ฯลฯ
  • แต่ไม่ได้ใช้กระบวนการทดลอง หรือ พิสูจน์ซ้ำไปมา

.

วิธีที่ ๔  ใช้วิธีศึกษาจากประวัตินักปรัชญา

             เนื่องจากการศึกษาเนื้อหาทางด้านปรัชญามีลักษณะเป็นนามธรรม และมีประเด็นให้น่าค้นคว้าศึกษาหาคำตอบมากมาย การเริ่มศึกษาปรัชญาจากประวัติของนักคิดรุ่นต่าง ๆ  จะช่วยพอให้เข้าใจถึงเนื้อหาปรัชญาที่คนรุ่นเก่าๆคิดไว้ได้ง่ายและสะดวก ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือปัญหาของปรัชญาจะกว้างขวางแค่ใด  เราก็สามารถเข้าถึงแนวคิดนั้นได้ เช่น การศึกษาประวัติของธาเลส, เพลโต, อริสโตเติล, เรอเน เดส์การ์ต, บารุค สปิโนซา, จอห์น ล็อก, เอ็มมานูเอล ค้านท์, รอยส์, อัม สมิธ, คาร์ล มาร์กซ์ เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านั้นในประวัติได้กล่าวถึงว่าได้เขียนอะไร  มีแนวคิดอย่างไรไว้บ้าง โดยวิธีนี้เราจะเข้าใจปรัชญาเป็นกลุ่มและขอบเขตได้ชัดเจน เพราะประวัตินักปรัชญา ก็คือ ประวัติของนักคิด  และเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนความคิดต่าง ๆ ของนักคิด

             นักปรัชญาส่วนมากเป็นนักคิดที่สำคัญของโลก มีจินตนาการกว้างไกลและเห็นการณ์ไกล เมื่อศึกษาแนวคิดจากประวัติของนักปรัชญาเหล่านั้นก็จะทำให้เรามีจินตนาการและวิสัยทัศนืกว้างไกลไปด้วย  แล้วเราจึงนำแนวคิดนั้นมาวิเคราะห์แล้วต่อเติมด้วยเหตุผลมุมมองของเราให้หลากหลายชัดเจนยิ่งขี้น ด้วยความคิดวิจารณญาณของเราเอง

.

วิธีที่ ๕ ใช้วิธีศึกษาแบบวิชาการ

           วิธีนี้เราจะเรียนรู้ปรัชญา ด้วยการศึกษาจากนิยามคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในวงปรัชญาก่อน หรือ ศึกษาหลักการ รู้กฎเกณฑ์ รู้ทฤษฎีที่ใช้ในการแก้ปัญหา รวมทั้งรู้ปัญหาที่สำคัญและแนวคิดพื้นฐานในปรัชญากลุ่มต่างๆ เสียก่อน แล้วจะพบว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างตามลัทธิต่าง ๆ นั้น  แท้จริงหลักการไม่ต่างกันเท่าใด   แต่เหตุผลที่ใช้สนับสนุนความคิดตัวเองต่างออกไปตามตัวอย่างที่ยกขึ้นมา  ทำให้สานุศิษย์ผู้ที่ชอบแนวคิดนี้  จึงยึดถือเป็นแนวทางการคิดและวิธีการให้เหตุผล  ทำให้เหมือนความคิดนั้นเหมือนอยู่คนละขั้ว คนละลัทธิ  คนละมุมมองไปเอง

            การศึกษาปรัชญาในระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างนี้  และก็คงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในปัจจุบันที่จะเรียนรู้ให้เข้าใจง่ายและเร็วแน่นอน

.

๕. เนื้อหาปรัชญา

การศึกษาปรัชญาตามที่ตกลงกันของนักวิชาการด้านปรัชญา  ได้กำหนดขอบเขตการศึกษาไว้  ดังนี้

๕.๑. อภิปรัชญา (Metaphysics)  จะศึกษาเกี่ยวกับความมีอยู่จริง (to exist) กล่าวคือ ศึกษาถึงความมีอยู่ของ “สิ่ง” ต่าง ๆ ในเอกภพว่า “มีอยู่หรือไม่” ถ้ามีอยู่แล้วสิ่งเหล่านั้น “มีอยู่จริงหรือไม่” ถ้ามีอยู่จริงสิ่งเหล่านั้นจะถูกเรียกว่า “ความเป็นจริง” (reality) และหาคำตอบกันต่อไปว่า ความเป็นจริงที่เชื่อว่ามีอยู่นั้น มีอยู่แบบสสารหรือจิต ความเป็นจริงที่อภิปรัชญาแสวงหานั้นเป็นความจริงสุดท้ายเกี่ยวกับโลก ชีวิต จิต และพระเจ้า อันเป็นพื้นฐานที่มาของความจริงอื่น ๆ เป็นความจริงสูงสุดที่เรียกว่า อันติมสัจจะ (ultimate reality) คำตอบเชิงอภิปรัชญาจะถูกแสดงออกมาในลักษณะต่าง ๆ กัน ได้แก่ เอกนิยม (monism) ทวินิยม (dualism) และพหุนิยม (pluralism) 

  • ความเป็นจริงที่แท้จริง
  • จุดเริ่มต้นและธรรมชาติของชีวิต, โลก, เอกภพ
  • จุดสุดท้ายของชีวิต, ความตาย
  • จิต วิญญาณ พระเจ้า

 

๕.๒. ญาณวิทยา (Epistemology : ทฤษฎีความรู้) จะศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอกภพเกี่ยวกับความรู้ที่เป็นตัวความจริง โดยศึกษาหาคำตอบว่า เรารู้ความจริงได้อย่างไร และความจริง (truth) ที่เรารู้นั้นตรงกับความเป็นจริง (reality) หรือไม่ และใช้เกณฑ์ใด (criterion of truth) ในการตัดสิน เป็นต้น สาขาญาณปรัชญานี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอกภพ

  • เรามีความรู้ได้อย่างไร, ความรู้เกิดได้อย่างไร 
  • วิธีการตัดสินความรู้  ความคิด
  • วิธีการตรวจสอบความคิดอย่างสมเหตุสมผล
  • ความจริงมีอะไรและเรารู้ความจริงได้เพียงใดบ้าง

ซึ่งแนวคิดในการเกิดความรู้  มีหลากหลายที่มา  เช่น  จากเชิงประจักษ์ (Rational) จากประสบการณ์ (Empirical)  จากการหยั่งรู้ (Intuitive)  จากผู้เชี่ยวชาญ (Authoritative)  จากการรับรู้ (Sensational)  จากการเปิดเผย-แสดง (Revealed) และจากการอนุมาน (Apriorive Inference)

 

๕.๓. คุณวิทยา -อรรฆวิทยา (Axiology : ontology)  จะศึกษาเกี่ยวกับคุณค่า หรือ ค่านิยม (Theory of Value) ของสรรพสิ่งทั้งหลาย  หรืออุดมคติแห่งชีวิต หรือ อุดมการณ์ที่จัดเป็นมาตรฐานของสิ่งมีชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่นในด้านความดี ความงาม ความจริง และความบริสุทธิ์แห่งดวงจิต

  • ความหมายของชีวิต  (เทววิทยา - Theology)
  • ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร 
  • ควรดำเนินชีวิตอย่างไร ด้วยวิธีการใด  (ตรรกวิทยา - Logic  >  นิรนัย  >  อุปนัย)
  • สิ่งที่น่าปรารถนาที่สุดของชีวิต  (สุนทรียะ - Aesthetic)
  • การตัดสินความดี – ความชั่ว  (จริยะ - Ethic)

 

๕.๔  ในปัจจุบัน มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง เห็นว่ายังมีปรัชญาอีกประเภทหนึ่ง ไม่สามารถจัดจำแนกเป็นกลุ่มโดยเฉพาะให้ชัดเจน แต่มีการผสมผสานระหว่างปรัชญาด้วยกันตามสาขาที่ค้นคว้า  จึงเรียกว่า  ปรัชญาประยุกต์ (applied philosophy)  คือ เป็นปรัชญาที่นำเอาผลสรุป หรือคำตอบของจาก ๓ กลุ่มหลัก เช่น เมื่อวิชาการต่างๆ ยุคนี้ แต่ละสาขาวิชาพบปัญหาที่อธิบายไม่ได้ด้วยข้อเท็จจริงที่มีอยู่  จึงนำเอาความรู้ที่ได้จากปรัชญา ๓ กลุ่มหลักไปอธิบาย ตีความปัญหานั้น ๆ จึงกลายเป็นปรัชญาประยุกต์  และกำหนดชื่อขึ้นมาตามสาขาวิชานั้น ๆ เช่น ปรัชญาศาสนา ปรัชญาสังคม ปรัชญาการเมือง ปรัชญากฎหมาย ปรัชญาวิทยาศาสตร์ ปรัชญาศิลปะ ปรัชญาคณิตศาสตร์ ปรัชญาภาษา ปรัชญาจิต ปรัชญาประวัติศาสตร์ เป็นต้น   

.

. ปรัชญากับการจัดการศึกษา

     จากการที่มีผู้นำเนื้อหาและวิธีการทางปรัชญาไปประยุกต์กับสาขาวิชาต่างๆ จนช่วยให้สาขาวิชาเหล่านั้นมีประโยชน์มากขึ้น และยังช่วยกำหนดทิศทางในการดำเนินการได้อย่างชัดเจน  จึงมีีนักวิชาการทางการศึกษากลุ่มหนึ่ง ที่พยายามหาคำตอบมาอย่างต่อเนื่องว่า การศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร สังคมควรถ่ายทอดหรือฝึกฝนอะไรให้กับคนรุ่นหลัง ด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้ สอดคล้องกับสิ่งที่นักปรัชญา ๓ กลุ่มแรกคิดและหาคำตอบไว้  นักการศึกษาจึงนำแนวคิดจากอภิปรัชญา ญาณวิทยา และคุณวิทยา  มาเป็นแนวทางหลักในการจัดการศึกษาให้กับสังคมและมนุษย์

๖.๑  การที่จะเข้าใจดีพอว่า เราควรมีแนวคิดในการจัดการศึกษาอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสมนั้น ถ้าทุกท่านฝึกตั้งคำถามต่างๆ เพื่อหาคำตอบ จะทำให้เราพอได้เห็นแนวคิดและแนวทางของเราเองได้บ้าง แล้วค่อยนำไปเทียบเคียงกับกลุ่มปรัชญาในด้านการศึกษาว่ามีส่วนไหนของเราที่ไปสอดคล้อง จะทำให้เรามั่นใจว่าเราก็คิดได้ แต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมครบถ้วนทุกด้านเหมือนกับนักปรัชญาการศึกษาที่เขาช่วยกันคิดและพัฒนามาตลอด  จนเป็นต้นแบบแนวทางการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์   

     ตัวอย่างคำถาม  เช่น

  • การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ทั้งในประเทศไทย และนานาประเทศในปัจจุบัน  มีพื้นฐานความคิดอย่างไร  และแนวคิดนั้นมาสิ่งใดบ้าง  หรือ นำแนวความคิดมาจากปรัชญากลุ่มใด
  • ในแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เคยทดลองจัดการการศึกษา โดยมีพื้นฐานแนวคิดจากสิ่งใด หรือ จากแนวคิดของปรัชญาใดบ้าง
  • การจัดการการศึกษาของประเทศไทยที่นำมาจากพื้นฐานแต่ละปรัชญา มีแนวคิดสาระสำคัญเช่นใด เมื่อนำมาปฏิบัติแล้วเกิดผลเช่นใด มีจุดเด่น จุดบกพร่องอย่างไร
  • แนวความคิดปรัชญาการศึกษาใด ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย คนไทยมากที่สุด 
  • ถ้าแนวคิดปรัชญาการจัดการศึกษาที่มีอยู่ ไม่เหมาะกับสังคมไทย  แล้วเราอยากจะมีแนวคิดในการจัดการศึกษาใหม่ ให้เหมาะสมกับคนไทย สังคมไทย  เราจะนำมาจากไหน  หรือสร้างใหม่อย่างไร  โดยวิธีใด
  • ประเทศไทยควรมีเป้าหมายการพัฒนาคนอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุดที่ทันต่อความเจริญของโลก  และถ้ามีเป้าหมายอย่างนั้น เราควรจะใช้แนวคิดปรัชญาใดเป็นแนวทางดำเนินการ จึงจะทำให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้

 

๖.๒  แนวคิดปรัชญาหลัก

        ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา หรือการเมืองการปกครองของประเทศที่เป็นต้นแบบของประเทศต่างๆ ทั่วโลก   ล้วนมีการดำเนินการที่เกิดจากแนวคิดปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งเป็นหลักเสมอ แล้วค่อยผสมผสานกับแนวปรัชญาอื่นๆ ในรายละเอียด ซึ่งปรัชญาหลักๆ มีดังนี้

  • ปรัชญาแนวอุดมคตินิยม (Idealism)
  • ปรัชญาแนวสัจจนิยม (Realism)
  • ปรัชญาแนวปฏิบัตินิยม (Pragmatism)
  • ปรัชญาแนวภววาทนิยม (Existentialism)
  • ปรัชญาแนววิเคราะห์ (Analysis)

        ๓ แนวคิดแรกเป็นที่ยอมรับและดำเนินการเผยแพร่มานาน  ส่วน ๒ แนวคิดหลังเพิ่งได้รับการยอมรับให้เป็นแนวทางในการดำเนินการหลายด้าน  เพราะสามารถตอบสนองความต้องการ และจุดมุ่งหมายของสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ได้ดี   

 

๖.๓ แนวคิดปรัชญาการศึกษา 

      การที่จะเป็นนักการจัดการศึกษาที่ดีนั้น ต้องรับรู้อยู่เสมอว่า เราไม่สามารถนำแนวคิดจากกลุ่มปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งมาเป็นแนวทางดำเนินการในการจัดการศึกษาตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะในแต่ละสังคมมีความซับซ้อนทั้งทางความคิด  ค่านิยม หรือวัฒนธรรมประเพณี หรือบรรทัดฐานทางสังคม รวมทั้งวิถีชีวิตจากบริบทสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ต่างกัน  ดังนั้น การจัดการศึกษาที่ดี ควรนำหลักการหรือแนวคิดที่ได้จากปรัชญากลุ่มอื่นๆ มาประกอบการดำเนินการไปด้วย

        การที่ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษา จะนำปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งมาเป็นแนวทางหลักในการจัดการศึกษานั้น แสดงว่าเขาเห็นว่าแนวคิดปรัชญานั้น สามารถสนองตอบต่อจุดมุ่งหมายของสังคมตนเองได้ หรือ สนองตอบต่อความคาดหวังที่อยากให้เกิดสังคมอุดมคติในประเทศตนเอง   ดังนั้น ถ้าผู้ใดมีแนวความคิดที่จะพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์มีทักษะในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข โดยที่ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่คิดจะดีจริงหรือๆไม่  แต่เราก็สามารถเรียกผู้นั้นว่าเป็น “นักปรัชญาด้านการศึกษา”ได้

        แต่...ถ้าผู้ใดนำแนวทางการจัดการศึกษาของประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่ทำตามแนวทางปรัชญาการศึกษาหนึ่ง จนเกิดกระบวนการทำงานที่มีระบบขั้นตอนในการปฏิบัติ  ย่อมถือได้ว่าเขา “ไม่ใช่นักปรัชญาการศึกษา” แต่เป็น “นักวิชาการการศึกษา” เพราะเขาแค่ไปศึกษาแนวทางในการจัดการศึกษาที่มีผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอย่างนั้น เราไม่ได้จัดการศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาโดยตรง แต่เราจัดการศึกษาตามแนวการจัดการศึกษาที่เราคิดว่าได้ผลดีของประเทศหนึ่งๆมากกว่า ซึ่งจะเรียกว่า “ทฤษฎีการศึกษา” ก็ได้ 

การจัดการศึกษาของประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน ยังเป็นแค่ “ทฤษฎีหรือวิชาการ”(Logy) ยังไม่ถึงขั้นเป็น“ศาสตร์”(Science) เพราะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า  แนวทางการจัดการศึกษาใดที่จะสามารถพัฒนาคน หรือสังคมได้สมบูรณ์ ครอบคลุมทุกด้าน หรือ แนวทางการศึกษาของประเทศใดที่จะพัฒนา หรือแก้ปัญหาได้หมดสิ้นได้อย่างแน่นอน   

ปรัชญาการศึกษา ที่ปรากฏทั่วโลกในปัจจุบัน มีดังนี้

  • 1. ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)
  • 2. ปรัชญานิรันตรวาทนิยม (Perennialism)
  • 3. ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism)
  • 4. ปรัชญาบูรณาการนิยม (Reconstructionism)
  • 5. ปรัชญาอัตถภาวนิยม (Existentialism)
  • 6. ปรัชญาการศึกษาแบบเสรีนิยม
  • 7. ปรัชญาการศึกษาแบบพฤติกรรมนิยม
  • 8. ปรัชญาการศึกษาแบบมนุษยนิยม
  • 9. ปรัชญาการศึกษาแบบมนุษยนิยมแนวใหม่

                  ฯลฯ

ในแง่ปรัชญาแล้ว  แนวคิดอุดมคตินิยมเกิดก่อน > จึงเกิดแนวคิดแบบสัจจนิยมตามมา > แล้วตามด้วยแนวคิดปฏิบัตินิยม > แนวคิดภววาทนิยม > และแนวคิดวิเคราะห์ในที่สุด

ในแง่การศึกษาที่จัดกันขึ้นทั่วโลกนั้น การจัดการศึกษาตามแนวคิดแบบนิรันตรวาทนิยมเกิดก่อน > แล้วตามมาด้วยแนวคิดแบบพิพัฒนาการนิยม > แนวคิดแบบสารัตถนิยม > แนวคิดแบบบูรณาการนิยม > และแนวคิดแบบอัตถิภาวนิยม > และอาจจะยังมีแนวคิดแบบใหม่ตามมาอีกก็ได้ฯลฯ

แต่…เพื่อความเข้าใจ และเป็นการเปรียบเทียบได้ชัดเจนขึ้น จะสรุปแนวคิดลัทธิปรัชญาพิพัฒนาการนิยมก่อน เพราะในปัจจุบันการศึกษาประเทศไทย และการศึกษาในประเทศเกือบทั่วโลกนิยมใช้แนวความคิดของปรัชญานี้เป็นหลักในการจัดการศึกษา

.

1. แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)

1.  การศึกษาควรเป็น “สิ่ง” และ “การช่วยให้” เกิดความกระตือรือร้น คล่องแคล่วว่องไว และสอดคล้องกับความถนัด ความสนใจของเด็ก

2.  การเรียนรู้จากการแก้ปัญหา ดีกว่า การพร่ำสอนเนื้อหาทางวิชาการ เพราะความจริงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของมนุษย์และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์และวัยไม่ตายตัว

3.  การศึกษาควรจะเป็นการศึกษาชีวิต หรือ เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต มากกว่าจะเป็น การเตรียมตัวเพื่อการดำรงชีวิต

4.  ครูไม่ควรมีบทบาทหลักใน การสั่งสอน หรือชี้นำ แต่ควร ชี้แนะ หรือแนะนำ

5.  โรงเรียนไม่ควรให้มีการประกวด หรือการแข่งขันกัน แต่ ควรฝึกการร่วมมือ ร่วมใจประสานกันทำกิจกรรมต่างๆ เพราะโรงเรียนเป็นสังคมน้อยๆ ที่จำลองแบบมาจากสังคมใหญ่ โรงเรียนจึงควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ชีวิตอย่างต่อเนื่อง

6.  การปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะช่วยให้เกิดการกระตุ้นทางความคิด ความมีอิสระเสรีในการดำรงตน การพัฒนาบุคลิกภาพที่ดี และการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการพัฒนาความเจริญงอกงามชีวิต

7.  โรงเรียนควรยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการศึกษา ควรใช้วิธีการแก้ปัญหาและการทดลองค้นคว้าเป็นหลักในการทำกิจกรรม

สรุปย่อปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)

การศึกษา คือ การศึกษาชีวิต, ประสบการณ์ชีวิตที่ควรรู้
ครู คือ ผู้จัดประสบการณ์, ผู้กระตุ้น, ผู้ชี้แนะ, oydcนะแนว
นักเรียน คือ ผู้แสวงหาประสบการณ์, ผู้เรียนรู้ประสบการณ์
โรงเรียน คือ แหล่งประสบการณ์, สังคมประชาธิปไตย, สังคมร่วมมือ
หลักสูตร คือ มวลประสบการณ์ หรือ แนวทางการจัดประสบการณ์
การเรียนการสอน คือ เน้นการปฏิบัติจริงจากปัญหา, การทดลองค้นคว้า
การวัดผลประเมินผล คือ วัดตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ต้องการ    

.

2. แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญานิรันตรวาทนิยม (Perennialism)

1.มนุษย์ทุกแห่งในโลกล้วนมีพื้นฐานเหมือนกัน การศึกษาพื้นฐานจึงควรเหมือนกันทุกแห่ง กับคนทุกคน

2.ความมีเหตุผลเป็นสิ่งสูงสุดของมนุษย์ มนุษย์ควรจะใช้เหตุผลเป็นตัวนำหรือกระตุ้นธรรมชาติทางสัญชาตญาณ เพื่อให้ สอดคล้องกับความมุ่งหมายปลายทางที่เลือกไว้อย่างรอบคอบ

3.การศึกษา คือการปรับมนุษย์ให้เข้าหาความจริงซึ่งเป็นโลกแห่งความเป็นนิรันดร์ ไม่ใช่โลกปัจจุบันซึ่งปราศจากความจริง

4.การศึกษา มิใช่ เป็นการเลียนแบบชีวิต แต่ เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิตที่ดี

5.เด็กควรจะได้รับการอบรมสั่งสอนและรู้วิชาการเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงที่คงทนถาวรไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นอย่างนั้นนิรันดร

6.การศึกษาควรจะเป็นสิ่งที่แนะนำนักเรียนให้ได้เรียนรู้ภาวะ ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสิ่งสากล ทั้งนี้โดยการศึกษาจากสิ่งดีงามหรืองานสำคัญๆ เช่น วรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

7.การศึกษา คือ การฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ดีตลอดชีวิต

 

สรุปย่อแนวคิดปรัชญานิรันตรวาตนิยม (Perennialism)

การศึกษา  คือ การฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีเหตุผล, มีศีลธรรม, เป็นผู้ดี, เตรียมตัวเพื่อชีวิตที่ดีงาม-สงบสุข
ครู  คือ ผู้รอบรู้, ผู้มีคุณธรรม,ผู้ทรงศีล,ผู้อบรมสั่งสอน  
นักเรียน คือ ผู้ที่ต้องรับการฝึกอบรม ขัดเกลากิริยา และจิตใจให้ดีงาม
โรงเรียน  คือ ที่ฝึกฝนคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม, ที่พัฒนานิสัยจิตใจ
หลักสูตร คือ คัมภีร์-ตำราที่เน้นการฝึกจิตใจ ยกระดับจิตใจ ความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น
การเรียนการสอน คือ เน้นการฝึกฝนจิตใจ, มารยาท, การเคารพเชื่อฟัง
การวัดผลประเมินผล คือ การจดจำความรู้ตามคำสอนได้มากเพียงใด

 

       แนวคิดของสองปรัชญาข้างต้น จะเห็นว่าทั้งแนวคิดและการปฏิบัติตรงกันข้ามกัน แต่ทั้งสองปรัชญาต่างก็ได้รับการนิยมนำมาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา โดยแนวคิดแบบนิรันตรวาทนิยม มีมากในประเทศแถบยุโรป และโรงเรียนที่อยู่ในเครือคริสตจักรทั่วโลก  ส่วนแนวคิดแบบพิพัฒนาการนิยมมีมากในสหรัฐและทั่วโลก โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ แต่ในอนาคตประเทศส่วนใหญ่จะใช้แนวคิดการจัดการศึกษาแบบบูรณาการนิยม หรือปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) มากขึ้นตามลำดับ

.

3. แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism)

1. การเรียนรู้ที่แท้จริง โดยตัวธรรมชาติต้องอาศัยการเอาจริง ทำงานหนัก และการนำเอาไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ต้องไม่ขึ้นกับการจูงใจใดๆ ทั้งสิ้น

2. การริเริ่มใดๆในทางการศึกษา เป็นหน้าที่ของครู มิใช่นักเรียน

3. หัวใจของกระบวนการศึกษา คือการที่สามารถซึมซาบในเนื้อหาวิชาที่ได้สังคมกำหนดไว้

4. โรงเรียนควรจะคงวิธีการฝึกฝนความมีวินัยทางสมองแบบโบราณ

 

สรุปย่อแนวคิดปรัชญาสารัตถนิยม(Essentialism)

การศึกษา  คือ การถ่ายทอดความรู้, วัฒนธรรม, สิ่งที่ดีงามของสังคม
ครู  คือ ผู้เป็นตัวอย่าง, แม่พิมพ์, ผู้สาธิต, ผู้ถ่ายทอด
นักเรียน คือ ผู้ตั้งใจเรียน, หนักเรียน
โรงเรียน  คือ แหล่งความรู้, ที่ถ่ายทอดความรู้ แนวคิด วิธีการของคนรุ่นก่อนๆ
หลักสูตร คือ ความรู้, มวลความรู้ของสังคม
การเรียนการสอน คือ การท่องจำความรู้, การปฏิบัติตาม
การวัดผลประเมินผล คือ การจดจำความรู้ที่ถ่ายทอดได้มากเพียงใด

.

 

4. แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญาบูรณาการนิยม หรือ ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)

1. การศึกษาจะต้องเป็นวิธีการสำคัญที่สร้างโครงการทางปฏิบัติที่เข้าใจได้อย่างชัดเจน และถูกต้องแน่นอน

2. การศึกษาจะต้องเป็นผู้นำและสร้างโครงสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสังคม การดำเนินชีวิตและสร้างวัฒนธรรมใหม่ และสามารถประสานกลมกลืนไปกับแรงผลักดันทางสังคม และเศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่ได้อย่างดี

3. สังคมใหม่จะต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทุกอย่างประชาชนจะควบคุมและรับรู้การดำเนินกิจกรรมทั้งหมด

4. ครูจะเป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้มีการพัฒนาบูรณาการสังคม โดยทำให้นักเรียนมั่นใจในความเที่ยงตรง และความเร่งเร้าในตัวเอง

5. วิธีการและจุดหมายปลายทางการศึกษา ควรสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองกับวิกฤตการณ์ด้านวัฒนธรรมปัจจุบัน และต้องสอดคล้องกับการค้นพบใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรม

6. นักเรียน โรงเรียน และระบบการศึกษา จะถูกกำหนดจัดรูปแบบให้เป็นไปตามแนวทางที่พลังทางสังคม และวัฒนธรรมใหม่ ๆ ได้ผลักดันมา

 

สรุปย่อแนวคิดปรัชญาบูรณาการนิยม,ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)

การศึกษา  คือ การพัฒนา และ การปฎิรูปสังคมและตนเอง
ครู  คือ ผู้ชักจูง ผู้โน้มน้าว  ผู้นำสถานการณ์, นักสร้างกรณีศึกษา 
นักเรียน คือ ผู้ฝึกฝนเป็นนักคิดวิเคราะห์, นักปฏิบัติ, นักวิจัย, นักปฏิรูป,นักพัฒนานวัตกรรม 
โรงเรียน  คือ เป็นที่จำลองสังคมอนาคต, สถานการณ์ในการเรียน 
หลักสูตร คือ ใช้กรณีศึกษา, ไม่มีตายตัว แล้วแต่สถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อสร้างสังคมในอนาคต
การเรียนการสอน คือ ฝึกทดลอง-วิจัย-ประชุมวางแผนเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาเปลี่ยนแปลง, ทำโครงงาน 
การวัดผลประเมินผล คือ ประเมินจากผลงานแก้ปัญหา, ผลการปฏิบัติ, ผลการปฏิรูป, นวัตกรรม

 

5. แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism)

1. ความเป็นจริง ย่อมมาก่อน ความเป็นอยู่ หรือวิถีชีวิต หมายความว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วแต่สิ่งเหล่านั้นไม่มีความหมาย หรือวัตถุประสงค์ใด ๆ มนุษย์แปลความหมาย สร้างความหมาย ตีความหมาย ยอมรับมันอย่างใดอย่างหนึ่งเอาเอง ความจริงจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เลือกและกำหนดขึ้นมา

2. มนุษย์มีเสรีภาพเต็มที่ เพราะมนุษย์เกิดมาพร้อมความว่างเปล่าไม่ได้เกิดจากสิ่งใด ๆ ในจักรวาลนี้ จึงต้องเลือกสร้างลักษณะของตนเองขึ้นมาตามที่ตัวเองอยากเป็นและมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งนั้น ๆ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเองด้วย

3. มนุษย์ควรรู้จักตัวเอง ธรรมชาติของตัวเองว่ามีปัญหาอย่างไร เราเป็นอย่างไร ด้วยการเรียนรู้ค้นพบด้วยตัวเอง ด้วยประสบการณ์ของตัวเองหรือผู้อื่น เพราะจิตใจสำคัญกว่าร่างกาย จิตอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือสะสมประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อมุ่งตรงไปสู่จุดมุ่งหมายเท่านั้น

4. คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ความดี ความงามที่ตนเองพอใจเลือกทางเดินของตนเอง มิใช่อยู่ที่จารีตประเพณี ร่างกาย โลก สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่กำหนดความเป็นอยู่ของบุคคล แต่บุคคลก็มีเสรีภาพที่จะเลือกเป้าหมายที่มีคุณค่าของตนเอง เพราะถ้าถูกบังคับให้เลือก เท่ากับถูกบังคับไม่ให้เป็นมนุษย์(เสรีภาพคือแก่นแท้ความเป็นมนุษย์)

5. การศึกษาจึงควรช่วยให้แต่ละคนศึกษาและเข้าใจตนเอง รู้ปัญหาตนเอง และแก้ปัญหาด้วยตนเองที่แตกต่างกันไป เพราะไม่มีสูตรสำเร็จใด ๆ ที่จะเหมาะกับทุกคน ต้องสร้างแรงผลักดัน และพยายามต่อสู้เอาชนะความทุกข์ ความหมดหวัง ไม่ปล่อยตัวเองไปตามยถากรรมเอาเอง

6. การศึกษาต้องมีความมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ แบบ หรือวิชาการหลาย ๆ แบบ เพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามเสรีภาพและรับผิดชอบในการตัดสินใจของตัวเอง

7. การศึกษาไม่มีหลักสูตรตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดความเหมาะสมเอาเอง

8. ครูจะไม่สั่งสอน ชี้แนะ หรือแนะแนว แต่จะเป็นเพียงผู้กระตุ้น ให้นักเรียนค้นพบตัวเอง ศักยภาพของตัวเอง

 

สรุปย่อแนวคิดปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism)

การศึกษา  คือ การเรียนรู้, การค้นพบตัวเอง, การเข้าใจตนเอง 
ครู  คือ ผู้กระตุ้น, ผู้จัดการเรียนรู้, ผู้แนะแนว
นักเรียน คือ ผู้ใฝ่รู้, รักการเรียนรู้
โรงเรียน  คือ แหล่งเรียนรู้, ที่เตรียมสถานการณ์ หรือจำลองสภาพปัญหาให้ฝึกเรียนรู้
หลักสูตร คือ ใช้วิธีถาม–ตอบ คำถามบางครั้งไม่มีคำตอบ มีเสรีภาพในการตอบ
การเรียนการสอน คือ สาระการเรียนรู้, เรียนจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ประสบการณ์รอบตัว
การวัดผลประเมินผล คือ สะท้อนความเป็นตัวเอง หรือแนวคิดออกมาทางกระบวนการสื่อสาร,การปฏิบัติ

 

แนวความคิดแต่ละปรัชญาต่างก็มีแนวคิดพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน  แต่ทุกปรัชญาล้วนมีจุดยืนอันเดียวกันในเรื่องชีวิต การดำรงชีวิตให้ดี และพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์มากขึ้น

ดังนั้น การได้ศึกษาทำความเข้าใจปรัชญาก่อน จะช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นไปอยู่ในสังคมและจะได้ให้ผู้ศึกษาสามารถสร้างแนวทางปรัชญาของตนเองได้ในที่สุด

 

๖.๔ ความหมายของ “การจัดการศึกษา”

การศึกษานั้นมีผู้ให้ความหมายมากมาย แต่ถ้าโดยสรุปแล้วจะมี 2 ความหมายใหญ่ๆ คือ

๑. ความหมายอย่างกว้าง การศึกษา หมายถึง การกระทำหรือประสบการณ์ใดๆ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิต ทั้งด้านการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้านจิตใจ คุณลักษณะ การดำรงชีวิต หรือความสามารถทางร่างกายของบุคคล เป็นการหล่อหลอมร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ความคิด ฝีมือ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีวันสิ้นสุด

๒. ความหมายอย่างแคบ การศึกษา หมายถึง กระบวนการที่สังคมจัดทำขึ้นเพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้ ฝีมือความชำนาญ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยผ่านสถาบันสังคมต่าง ๆ เช่นโรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น

การศึกษาในปัจจุบันที่สังคมส่วนมากจัดทำขึ้น  มักทำในรูปแบบสถาบัน  มีสถานที่จัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ทางสังคมโดยเฉพาะ เพื่อหล่อหลอมคนรุ่นต่อไปให้เป็นไปตามที่นักการศึกษาคิดว่าถูกต้อง ดีงาม การศึกษาจึงแยกไม่ออกจากสังคม และสิ่งที่สังคมถือว่ามีคุณค่า หรือสิ่งที่ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองต้องการให้เป็นไป  ผู้มีการศึกษาจึงหมายถึง ผู้ที่สังคมยอมรับว่าประสบความสำเร็จที่สังคมกำหนดไว้

.

๖.๕  ปรัชญาการศึกษาของไทย

ในต่างประเทศการจัดการศึกษามักจะอิงอยู่กับปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งเสมอ  เพราะความคิดพื้นฐานทุกคนคิดว่าต้องจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานคุณภาพให้ได้ และสามารถประเมินผลออกมาให้เห็นเป็นสถิติหรือรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ซึ่งปรัชญาการศึกษาในแต่ละสำนักที่แต่ละประเทศนำไปใช้  ก็จะมีทฤษฎีและปรัชญาแม่บทรองรับเป็นเบื้องต้น เช่น

  • ประสบการณ์นิยม หรือปฏิรูปนิยมของดิวอี้ (Dewey) อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาแพร็กมาติสม์ (Pragmatism)
  • สารัตถนิยมของฮัทซิน (Huntchin) อยู่บนพื้นฐานจิตนิยม (Idealism) แบบมาร์กซ์ เพลโต
  • ระบบการศึกษาของประเทศจีน และรัสเซีย อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาคาร์ลมาร์ก
  • ระบบการศึกษาแบบเสรี หรือซัมเมอร์ฮิลล์ อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาเอ็กซิสเต็นเชียลิสม์ (Existentialism)
  • ระบบการศึกษาแบบโรงเรียนอีตัน หรือออกฟอร์ด หรือยุโรปในสมัยศตวรรษที่ 19 อยู่บนพื้นฐานปรัชญาของนิรันตรวาทนิยม (Perennialism)

         ส่วนในประเทศไทยค่อนข้างจะยุ่งยากในการบอกว่า เรามีปรัชญาการศึกษาของเราเองหรือไม่ เพราะนักวิชาการที่มีส่วนในการจัดทำนโยบาย หรือแผนแม่บทในการจัดการศึกษาของไทยต่างไม่ยอมรับว่าตัวเองไปลอกเลียนแบบมาจากบางประเทศ   ต่างก็คิดว่าการศึกษาของประเทศที่ตัวเองนำมาเป็นต้นแบบต้องมีพื้นฐานจากปรัชญาการศึกษาใดปรัชญาหนึ่งแน่นอน จึงพูดกันว่าเราก็มีปรัชญาการศึกษาเป็นของตัวเองเหมือนกัน ทั้งที่ความจริงเรายังมีแนวคิดพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่เกิดจากการถกเถียง วิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาเป็นแนวทางของเรา โดยพวกเราอย่างชัดเจน  จึงยังหาข้อยุติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไม่ได้ มีผลทำให้ยังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนว่า “สังคมไทยมีปรัชญาการศึกษาเป็นของตัวเอง” หรือไม่ 

แต่...ถ้าพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาของไทยที่มีอยู่ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา หรือกฎหมายการศึกษา หรือหลักสูตรการศึกษา  สรุปได้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีปรัชญาการศึกษาใดเป็นของตัวเอง  และดูเหมือนว่าพยายามจะเลียนแบบการจัดการศึกษาทางประเทศตะวันตกมากกว่า  เช่น แผนการจัดการศึกษาฉบับที่ 4 เราก็ใช้แนวทางการจัดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ โดยใช้แนวคิดของปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) มาเป็นหลัก  

พอถึงหลักสูตร ปี พ.ศ. 2533 เรายังใช้แนวการจัดการของสหรัฐอเมริกาอยู่ ซึ่งมีแนวคิดของปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) เป็นหลัก  ผสมผสานแนวทางปรัชญาบูรณาการนิยม หรือ ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)  ส่วนหลักสูตรปี 2550 และปรับปรุง 2561 เราใช้แนวทางปรัชญาบูรณาการนิยม หรือ ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เต็มตัว  แต่ก็ยังนำผลการวิจัยจากทฤษฎีทางจิตวิทยามาสร้างเป็นหลักสูตร หรือวิธีการจัดการเรียนรู้มากขึ้น

ถึงแม้ว่าการจัดการศึกษาของไทยจะไม่มีปรัชญาเป็นของตัวเอง  แต่...สังคมไทยในอดีตเราก็พยายามนำวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีไทย  โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 5 เราได้นำความเป็นไทยเข้ามาผสมผสานดัดแปลงให้เหมาะสมกับการจัดการศึกษาของไทยได้ทันต่อนานาประเทศ    แต่...เป็นที่น่าเสียดาย  ในยุคปัจจุบัน นักวิชาการหรือผู้รับผิดชอบพัฒนาการศึกษาไทย กลับไปคว้าเอามาทั้งหมดโดยไม่ได้ดัดแปลง จึงเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขจากคนรุ่นหลังที่มีสติปัญญา และมีบทบาทหน้าที่ต่อไป

มีนักวิชาการหลายท่านของเมืองไทย เช่น ศ.ดร.สาโรช บัวศรี, ท่านพุทธทาส ภิกขุ, ท่านเจ้าประคุณพระธรรมปิฎก (ประยุต ปยุตโต), ศ.ดร.ระวี ภาวิไล ฯลฯ) ได้พยายามคิดหาแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับคนไทย และเกิดจากแนวคิดพื้นฐานของคนไทยจริงๆ  ซึ่งทุกท่านต่างเล็งไปที่หลักการหรือวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาว่า สามารถนำมาเป็นรากฐานในการจัดการศึกษาของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.gotoknow.org/dashboard/posts/492342) อาจเรียกว่า “การจัดการศึกษาตามแนวทางพุทธศาสนา” หรือ “ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธศาสนา”ได้  แต่ไม่อาจตั้งชื่อให้เรียกว่า “ปรัชญาพุทธศาสนา” ตามที่ผู้คนหลายคนต้องการให้เป็นไป  สาเหตุที่ไม่สามารถเรียกว่า “ปรัชญาพุทธศาสนา” ได้  เพราะพระพุทธศาสนาไม่ใช่ “ปรัชญา” เนื่องจากพุทธศาสนา มีลักษณะเป็น “ศาสตร์” เนื่องจากพุทธศาสนามีคำสอนและแนวปฏิบัติที่สามารถทำตามแล้วย่อมเห็นผลตามนั้น  ทุกอย่างมีคำตอบเป็นความจริงที่แน่นอนแล้ว สามารถพิสูจน์ได้  ไม่ใช่ปรัชญาที่ยังใช้การคิดหาคำตอบอยู่  (ถ้านักปรัชญาคนใดสนใจ หรือถกเถียงคำถามที่มีคำตอบยุติแน่นอนแล้ว เขาจะหมดสภาพเป็นนักปรัชญาทันที  กลายเป็นนักวิชาการ หรือนักวิทยาศาสตร์แทน )

สาเหตุที่คนไทย  ไม่ได้นำปรัชญามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต หรือใช้ในการจัดการศึกษานั้น  มี ๒ สาเหตุใหญ่ๆ คือ 

๑. คนไทยได้คำตอบการใช้ชีวิตที่ดีตามแนวทางพุทธศาสนาอยู่แล้ว  จึงไม่อยากสงสัย หรือเสาะแสวงหาความรู้ และคำตอบอะไรๆอีก  (เป็นผลทำให้คนไทยเคยชินไม่ค่อยมีนิสัยใฝ่รู้ แสวงหาความรู้อย่างจริงจัง) 

๒. ตัววิชาปรัชญาเอง  คนไทยก็ได้รับรู้จากการที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาปรัชญา ในปี 2510 ขึ้น และได้กำหนดให้เป็นวิชาหนึ่งที่นักศึกษาระดับปริญญาต้องเรียน  จึงแพร่หลายกันมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้  แต่ความเข้าใจในปรัชญากลับผิดไปจากเดิม เนื่องจากคำว่า “ปรัชญา” เป็นภาษาไทยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ บัญญัติแทนคำภาษาอังกฤษว่า “Philosophy”ซึ่งเดิมคำนี้มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Philos(The Lover) กับ Sophia (Wisdom) แปลรวมกันว่า ผู้รักในความรู้ หรือผู้แสวงหาความรู้   ส่วนคำว่า “ปรัชญา” มีที่มาจากรากศัพท์ของภาษาสันสกฤต 2 คำ คือ ปฺร กับ ชฺญา = ปฺร แปลว่า ประเสริฐ ชฺญา แปลว่า ความรู้ รวมกันแปลว่า ความรู้อันประเสริฐ  เมื่อความหมายดีอย่างนี้ คนทั่วไปจึงคิดว่า “ปรัชญา” คือ สิ่งที่สูงส่ง หรือ ความรู้ที่สูงส่ง  หลังจากนั้นก็มีรการนำคำว่าปรัชญาไปประสมกับอื่นๆ เช่น ปรัชญาการเมือง ปรัชญาชีวิต ปรัชญาสังคม ปรัชญาการศึกษา ปรัชญาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น  พลอยทำให้รู้สึกว่า “ปรัชญา” กลายเป็นเรื่อง “แน่นอน–แท้จริง”  ไม่ใช่แค่ “การคิด” เหมือนของประเทศทางตะวันตก  

ทั้ง ๒ สาเหตุ จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่วิชาปรัชญา ไม่เกิดประโยชน์แก่การศึกษาของนักศึกษาและคนทั่วไปของสังคมไทยนัก

.

๗. แนวทางการนำปรัชญาการศึกษามาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาของไทย

      ถึงแม้ว่า “ปรัชญา” ในประเทศไทย  จะไม่เห็นความสำคัญของวิชาปรัชญาในแง่ของการคิด ทักษะการคิด  และนำมาใช้ผิดตามแนวทางเดิมก็ตาม   แต่เราก็ยังใช้ประโยชน์จากวิธีการทางปรัชญาที่เน้น “การฝึกคิด” มาใช้ในการจัดการศึกษาได้ เช่น การนิยามความหมายทางการศึกษา การสร้างวิสัยทัศน์หรือจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา  การตรวจสอบความคิดจุดยืนของครูและผู้บริหารในสถานศึกษาต่างๆ ได้  หรือการนำแนวคิดทางปรัชญาการศึกษาต่างๆ มาประยุกต์ใช้เป็นเทคนิควิธีการในการบริหารสถานศึกษา หรือ นำมาสร้างหลักสูตรท้องถิ่นที่เป็นส่วนรับผิดชอบของสถานศึกษาก็ได้  หรือ นำมาเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ของครู  หรือนำมาเป็นแนวทางในการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียนตามหลักสูตรปัจจุบันก็ได้  

       สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาที่ดี และสอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศไทย  ควรนำมาจากผลการวิจัย หรือการวิเคราะห์จากปัญหาที่คน หรือสังคมนั้นเผชิญอยู่ (Problem - Centered) มากกว่าที่จะเอาแนวการจัดการศึกษาของประเทศอื่นๆ มาใช้ทั้งหมด   เมื่อสรุปผลการวิจัยหรือวิเคราะห์แล้ว จึงควรนำผลนั้นมาสังเคราะห์กำหนดขึ้นเป็นวิสัยทัศน์ หลักการ จุดมุ่งหมาย สมรรถภาพ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนไทย  บนพื้นฐานว่าเราควรจัดการศึกษาให้เยาวชนไทยเพื่ออะไร อย่างไร  ต่อจากนั้นค่อยสร้างหลักสูตรกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่า เขาจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เขาจะต้องมีความรู้ถึงระดับใด  เขาจะต้องทำอะไรได้บ้าง  โดยที่ต้องไม่ลืมนำสิ่งต่างๆที่สังคมไทย ถือว่ามีคุณค่า เช่น ทัศนคติ ค่านิยม  ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี มาสอดแทรกไว้เพื่อรักษาสิ่งที่ดีนั้นต่อไป  แล้วจึงกำหนดเกณฑ์การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ และการจัดการศึกษาที่คาดหวังนั้นให้บรรลุผลตามเป้าหมายต่อไป

หมายเลขบันทึก: 492338เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2024 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
วา นักศึกษา ครุศาสตร์

ขอคุณมาก สำหรับ ข้อมูล สรุปแนวคิดปรัชญาการศึกษาต่าง ๆ ทำให้เข้าได้มากขึ้นเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท