ธรรมเนียม มาตรฐาน กับวงการศึกษา


“มาตรฐาน” การประเมินที่กำหนดกันขึ้นมา มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนา “ให้ตรงตามมาตรฐาน” หรือพัฒนาเพื่อ “ให้บริการที่ดีขึ้น” กันแน่?

     สองสัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาฯมีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนหลายแห่ง มีทั้งระดับประถม ขยายโอกาส มัธยม รวมทั้ง กศน. ด้วย นับเป็นโอกาสดีที่ได้ไปสังเกตและรับทราบสภาพปัจจุบัน หลังจากที่ว่างเว้นการไปเยี่ยมหลายโรงเรียนในช่วงใกล้กันอย่างนี้มานาน

     สมัยก่อนอาจารย์ที่มาคุยมาให้ข้อมูลมักเป็นอาจารย์ค่อนข้างอาวุโส แต่สมัยนี้อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงหลายท่านเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ นำเสนอและถามตอบอย่างคล่องแคล่ว บางแห่งผู้บริหารอยู่ในวัยสี่สิบต้นๆ เป็นผู้หญิงก็มี น่าดีใจนะคะที่เดี๋ยวนี้เรื่องเพศและวัยไม่เป็นข้อจำกัดในการทำงาน

     ไม่ว่าไปที่ไหนถ้าเวลาเยี่ยมติดกับมื้ออาหาร เจ้าของพื้นที่เป็นต้องขอเลี้ยงข้าวทุกครั้งตามธรรมเนียมไทย “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” เรื่องนี้เป็นมานานมากแล้วค่ะ สมัยก่อนต้องอธิบายกันยืดยาวเพราะธรรมเนียมของมูลนิธิจะไม่รับเลี้ยง ขัดกับ “น้ำใจคนไทย”  ถ้าไปกินด้วยกันมูลนิธิก็ขอจ่าย แต่ต้องฟุตเวิร์คดีชิงไปจ่ายก่อนที่คนอื่นจะรู้ตัว ไม่อย่างนั้นก็จะผิดธรรมเนียมอย่างร้ายแรง ที่จริงถ้าเลี้ยงกันแค่ก๋วยเตี๋ยวสักชามสองชามก็อยากรับน้ำใจอยู่นะคะ แต่ไม่ว่าที่ไหนก็อยากให้แขกได้ชิมของอร่อยของท้องถิ่น พาไปร้านอาหารอย่างที่เป็นเรื่องเป็นราวทุกที ทำให้เลขาฯ ต้องฝึกวิชาฟุตเวิร์คอยู่เสมอ คราวนี้ที่ดีใจมาก คือแทบทุกโรงเรียนเข้าใจและยอมรับการ “ไม่รับเลี้ยง” ของทางมูลนิธิ ผู้อำนวยการท่านหนึ่งเล่าว่า เดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาหรือทางกระทรวงมาตรวจเยี่ยม ท่านก็ไม่รับเลี้ยงเหมือนกัน ไปทานข้าวด้วยกันท่านก็จ่ายเอง ผิดกับสมัยก่อนที่ทางโรงเรียนต้องเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี ที่เลขาฯเคยเห็นมากับตา นอกจากกับข้าวกับปลาแล้ว ยังต้องมีแอลกอฮอล์ไว้บริการท่านๆ เสียอีกด้วย ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในเรื่องนี้ทำให้สะดวกใจขึ้นเยอะเลยค่ะ

          ในบางช่วงของการเดินทาง รถโดยสารมีน้อยและคณะต้องทำเวลาเพื่อเดินทางต่อไปจังหวัดอื่น บางครั้งอาจารย์ก็กรุณาขับรถพาไปส่งให้ต่อรถได้ทันเวลา น้ำใจเช่นนี้มีค่ามากจริงๆ แน่นอนว่ามูลนิธิมีค่าน้ำมันรถไปกลับให้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อไม่เป็นการรบกวนกันมากเกินไป

          ระหว่างนั่งรถไปด้วยกันก็เป็นโอกาสที่จะได้ตักตวงความรู้รอบตัวในแวดวงการศึกษา เรื่องหนึ่งที่เคยคุยกันขำๆ บ่อยๆ คือชาวญี่ปุ่นที่ร่วมทำงานด้วยกันหลายคนชมว่า อาจารย์ไทยแต่งตัวสวยมาก ยิ่งอาจารย์ผู้หญิง แต่งชุดผ้าไหม กระโปรงสอบเหนือเข่า ดูราวกับจะไปเดินแฟชั่นมากกว่าจะวิ่งไล่ตามเด็กประถม เล่าเรื่องนี้ให้คุณครูท่านหนึ่งฟัง ท่านก็หัวเราะ บอกว่า ที่โรงเรียนปัจจุบันของท่านก็เป็นแนวนั้น มีเสื้อประจำโรงเรียนของครูดูเป็นงานเป็นการมาก วันไหนที่ต้องใส่ชุดเป็นทางการก็ต้องใส่กางเกงแสลค รองเท้าหนัง ร้อนก็ร้อน ใครจะไปวิ่งตามเด็กทัน ต่างจากโรงเรียนเดิมที่ท่านเคยอยู่ในจังหวัดห่างไกลความเจริญ ใส่กางเกงวอร์มสอนกันทุกวัน พอมีชุดเป็นทางการขึ้นมา วันไหนประชุมก็ต้องใส่ชุดทางการ ร้อนมาก เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ติดแอร์ในห้องประชุม ต้องมีอะไรต่อมิอะไรตามมาอีกมากมาย

          มีอีกเรื่องหนึ่งที่เลขาฯ ฟังแล้วรู้สึกแปลกๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับห้องสมุด ผู้อำนวยการท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนของท่านทำกิจกรรมห้องสมุดจนมีชื่อเสียง ทางเขตพื้นที่ก็เข้ามาประเมินห้องสมุด กิจกรรมที่ทำได้คะแนนดีมาก มาเสียคะแนนตรงที่ “ไม่มีห้องสมุดเป็นเอกเทศ” อืม ... เพิ่งรู้เหมือนกันค่ะว่าห้องสมุดที่ไม่ได้เป็น “อาคารห้องสมุด” โดยเฉพาะจะถูกตัดคะแนนในการประเมิน ก็แปลกนะคะที่ห้องสมุดของอีกโรงเรียนหนึ่งในอีกจังหวัดหนึ่ง สร้างด้วยการทอดผ้าป่ามาปิดใต้ถุนอาคารเรียนให้กลายเป็นห้องโล่ง สามารถจัดมุมหนังสือ มุมสื่อ มุมสืบค้น มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่แม้จำนวนจะไม่มากแต่ก็ใช้งานได้ดี ด้วยความที่อยู่ใต้อาคารเรียนและอยู่ติดกับที่นั่งพักผ่อนของนักเรียน จึงมีนักเรียนเข้ามาอ่านหนังสือ ดูหนังฟังเพลงกันตามอัธยาศัย ยามคิดจะขยายห้องสมุด “เพื่อพัฒนาการให้บริการ” ก็ไม่คิดสร้างอาคารใหม่ แค่จะต่อเติมห้องสมุดเดิมออกไปด้านหลังเพื่อกั้นห้องดูหนังฟังเพลง ห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้นข้อมูลให้เป็นที่เป็นทาง ไม่รบกวนความสงบในการอ่านหนังสือ ไม่เห็นพูดถึง “ห้องสมุดเป็นเอกเทศ” สักคำเดียว

     ความแตกต่างในแนวทางของสองโรงเรียนนี้ พาให้สงสัยว่า “มาตรฐาน” การประเมินที่กำหนดกันขึ้นมา มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนา “ให้ตรงตามมาตรฐาน” หรือพัฒนาเพื่อ “ให้บริการที่ดีขึ้น” กันแน่?

     และผู้ปฏิบัติต้องสนใจ “มาตรฐาน” จากเบื้องบนเหล่านี้กันแค่ไหน? หรือถ้ามุ่งไปที่แก่นแท้ของการพัฒนาการศึกษาโดยก้าวข้ามมาตรฐานพวกนี้ จะกลายเป็นการ "ผิดธรรมเนียมไทย" ไป?

หมายเลขบันทึก: 491510เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • "เพิ่งรู้เหมือนกันค่ะว่าห้องสมุดที่ไม่ได้เป็น “อาคารห้องสมุด” โดยเฉพาะจะถูกตัดคะแนนในการประเมิน ก็แปลกนะคะที่ห้องสมุดของอีกโรงเรียนหนึ่งในอีกจังหวัดหนึ่ง สร้างด้วยการทอดผ้าป่ามาปิดใต้ถุนอาคารเรียนให้กลายเป็นห้องโล่ง สามารถจัดมุมหนังสือ มุมสื่อ มุมสืบค้น มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่แม้จำนวนจะไม่มากแต่ก็ใช้งานได้ดี ด้วยความที่อยู่ใต้อาคารเรียนและอยู่ติดกับที่นั่งพักผ่อนของนักเรียน จึงมีนักเรียนเข้ามาอ่านหนังสือ ดูหนังฟังเพลงกันตามอัธยาศัย ยามคิดจะขยายห้องสมุด “เพื่อพัฒนาการให้บริการ” ก็ไม่คิดสร้างอาคารใหม่ แค่จะต่อเติมห้องสมุดเดิมออกไปด้านหลังเพื่อกั้นห้องดูหนังฟังเพลง ห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้นข้อมูลให้เป็นที่เป็นทาง ไม่รบกวนความสงบในการอ่านหนังสือ ไม่เห็นพูดถึง “ห้องสมุดเป็นเอกเทศ” สักคำเดียว"
  • ...ชอบข้อความข้างบนครับ ขอบคุณครับ
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

เรื่องเลี้ยงอาหารนี่เป็นเรื่องน่าคิดครับ เพราะเป็นธรรมเนียมไทย ถ้าใครมาเยี่ยมผมแล้วไม่ให้ผมพาไปเลี้ยงผมก็จะรู้สึกว่าเขา "ห่างเหิน" กับผมครับ และเวลาผมไปไหนถ้าเขาชวนไปกินข้าวด้วยกันแล้วผมต้องปฎิเสธผมสังเกตว่าคนชวนจะหน้าเสียครับ

แต่เดี๋ยวนี้เวลาไปกินกันผมสังเกตุว่าเวลาจ่ายก็มักจะผลัดกันจ่าย คือส่วนใหญ่ก็จะไปสองที่ (อาหารและขนม) ครับ ต่างจังหวัดทำอย่างนี้ได้สะดวกครับ

เรายังมีวัฒนธรรมผู้อาวุโสเลี้ยงผู้อายุน้อยกว่าซ้อนอีกชั้นหนึ่งอีก

เรื่องนี้พูดยากเหมือนกัน ที่จริงแล้วมองในด้านบวกวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีแต่ก็มีมุมให้ไปใช้ในด้านลบ เราน่าจะลองพัฒนาวัฒนธรรมไทยที่ไม่ดูห่างเหินแต่ก็ไม่ดูเอาเปรียบนะครับ

  • คุณ ปณิธิ ภูศรีเทศ ขอบคุณค่ะ

  • ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ ถ้าเป็นการไปเยี่ยมเยียนเฉยๆ แล้วเจ้าบ้านเลี้ยงก็ไม่เป็นไรหรอกค่ะ แต่ถ้าเป็นการเยี่ยมเก็บข้อมูลเพื่อพิจารณาตัดสินอะไรสักอย่าง การรับเลี้ยงจะค่อนข้างอันตรายมาก หลายแห่งตั้งใจเลี้ยงเต็มที่ไม่มีอั้น เพื่อป้องกันข้อครหาจึงต้องขอจ่ายก่อน โอกาสหน้า (ถ้ามี) ค่อยยอมให้เลี้ยง หลายหน่วยงานที่พบกันบ่อยๆ ใช้วิธีผลัดกันเลี้ยงก็มีเหมือนกันค่ะ

วัฒนธรรมที่ไม่ห่างเหินและไม่เสี่ยงต่อการถูกครหาก็มีเยอะนะคะ อย่างเช่นเวลาไปตามโรงเรียนแล้วได้รับของที่ระลึกฝีมือนักเรียนทำ คนรับยินดีมากและจะจำได้ดีกว่าการเลี้ยงข้าวอีกค่ะ

ผมลืมไปว่าการไปเยี่ยมของคุณมุทิตาเป็นการไปพิจารณาทุนด้วย ถ้าอย่างนั้นการไปเลี้ยงกันก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท