หนึ่งชมรมหนึ่งชุมชน : พานิสิต (วงแคน) ลงพื้นที่หารือกับชาวบ้าน...


ผมกำลังสื่อสารให้นิสิตได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน (Participation) โดยการยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่อยู่กับปัญหา (Problems People) เป็นที่ตั้ง เพื่อชวนให้ชุมชนได้ทบทวน หรือสืบค้นกระบวนการ “พัฒนา” ที่ต้องส่องกล่องหา “ปัญหาและศักยภาพ” ของตนเองไปพร้อมๆ กัน

เย็นวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ เป็นอีกวันที่ผมยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน

โดยครั้งนี้ นิสิตจากชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน)  ได้ชวนผมลงพื้นที่ด้วย เป็นการไปพบปะหารือกับแกนนำชุมชนบ้าน "ดอนหน่อง" เกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้าตามนโยบาย "หนึ่งชมรม..หนึ่งชุมชน"

การไปครั้งนี้เป็นการไปนั่งพูดคุยกันครั้งที่ ๒-

ครั้งแรกเป็นการพูดคุยร่วมกับผู้ประสานงานและผู้แทนครูจากโรงเรียนบ้านดอนหน่อง  ซึ่งครั้งนั้น ทางโรงเรียนแจ้งความประสงค์ว่าต้องการให้นิสิตมาช่วยสอนทักษะเกี่ยวกับการ "รำบายศรี" ให้กับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๓-๔

ในเวทีทั้งสองเวที   ผมพยายามหนุนนำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing)  ร่วมกันให้มากที่สุด  เพราะรู้ว่านิสิตกลุ่มนี้ยัง “ใหม่” ต่อการลงสู่ชุมชน  โดยก่อนหน้านั้นผมได้ฝากเตือนให้เขาระมัดระวังเรื่องของการกำหนดกฎเกณฑ์ว่า “จะมาทำโน่น ทำนี่”  แต่ให้พยายาม “รับฟังในสิ่งที่ชุมชนต้องการ และพยายามสืบค้นให้เห็นศักยภาพของชุมชน”  ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

 

 


วิธีคิดเช่นนั้น ผมกำลังสื่อสารให้นิสิตได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน (Participation) โดยการยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง  โดยเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่อยู่กับปัญหา (Problems People) เป็นที่ตั้ง เพื่อชวนให้ชุมชนได้ทบทวน หรือสืบค้นกระบวนการ “พัฒนา” ที่ต้องส่องกล้องหา “ปัญหาและศักยภาพ” ของตนเองไปพร้อมๆ กัน

กรณีดังกล่าว  ชุมชนสะท้อนแบบเป็นกันเองว่า  ในเดือนตุลาคมนี้จะมีครูนาฏศิลป์คนเดียวของโรงเรียนจะเกษียณอายุราชการพอดี จึงอยากให้นักเรียนได้รำบายศรีสู่ขวัญให้กับครูของตนเอง

ประเด็นดังกล่าว  ผมพยายามกระตุ้นให้มีการพูดคุยในเชิงลึกมากขึ้น จนตกผลึกเป็นมิติโดยสังเขป  ประมาณว่า

  • ควรสอนทักษะการรำบายศรีสู่ขวัญ ควบคู่ไปกับการเย็บปักพานบายศรีไปพร้อมๆ กัน  ให้นิสิตรับผิดชอบหลักเรื่องการสอนก็จริง แต่อาจค้นหาปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมสอนลูกหลานไปพร้อมๆ กัน
  • แทนที่จะสอนการรำบายศรีอย่างเดียว  ก็อาจออกแบบกิจกรรมร่วมกันในหลายรูปแบบ เช่น การสำรวจ “มรดกวัฒนธรรม” ในชุมชน เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูล ทั้งในมิติ ของดนตรี ขับร้อง นาฏศิลป์  วรรณกรรม ประเพณีพิธีกรรม
  • แทนที่จะสอนทักษะการรำบายศรีอย่างเดียว อาจสำรวจการฟ้อนรำที่เคยมีอยู่ในชุมชน เพื่อนำมาปัดฝุ่นใหม่ หรือแม้แต่การรำอื่นๆ ที่นักเรียน หรือชาวบ้านมีความสนใจ
  • แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาสอนการฟ้อนรำอย่างเดียว ก็ควรต้องสอนเรื่องการขับร้องไปในตัว  สอนเนื้อหาที่มาที่ไปของการฟ้อนรำ รวมถึงการเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไปในพร้อมๆ กัน
  • ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันให้หลากหลายกระบวนการ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน  ไม่เบื่อหน่าย เช่นบางวันเรียนที่โรงเรียน บางวันเรียนในหมู่บ้าน บางวันเรียนในวัด บางวันมาเรียน หรือมาท่องเล่นในมหาวิทยาลัย

 

 

 

ก่อนล่ำลากันในค่ำคืนแรก  ผมฝากให้นิสิตเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ “โรงเรียน” และ “หมู่บ้าน”  กลับไปด้วย  เพราะนั่นคือ “บริบทชุมชน” ที่พวกเขาต้องนำกลับไปบอกเล่าให้สมาชิกได้ร่วมรับรู้ เพื่อวิเคราะห์  “จุดเด่น-จุดด้อย” รวมถึงการนำไปประกอบเป็นโจทย์ของการเขียนโครงการเสนอต่อมหาวิทยาลัย  พร้อมๆ กับการไปออกแบบกิจกรรมเพื่อนำกลับมาหารือกับชุมชนอีกรอบ


สำหรับครั้งที่สองนั้น  ผมพยายามซักถามถึงประเด็นการนัดหมายกับแกนนำชาวบ้านว่าชัดเจนแค่ไหน  เช่น  นัดหมายแบบเร่งด่วนหรือไม่  นัดหมายชัดเจนหรือเปล่าว่าจะมาคุยเรื่องอะไร เพราะเรื่องที่จะนำมาคุยนั้น  เป็นตัวกำหนดเป้าหมายกลุ่มคนในชุมชนที่จะมาพบปะพูดคุยกัน

ซึ่งก็ได้ข้อมูลแจ่มชัดขึ้นว่าการนัดหมายครั้งนี้ด่วนดิบอยู่มาก  แกนนำชาวบ้านจึงแทบประสานกันไม่ทัน  แต่ด้วยสัมพันธภาพต่างๆ ผมจึงช่วยประสานผ่านเครือข่ายชุมชน เพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว ด้วยการนำพาผู้ใหญ่บ้านและแกนนำที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันถึงรายละเอียดที่ต้อง ”ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือทำ”

 

 

ครับ-ผมเป็นคนให้ความสำคัญกับกระบวนการลงชุมชนเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะการเตรียมชุมชนในระยะ “ต้นน้ำ” ที่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด  กระบวนการเข้าพบผู้นำ และขยายผลไปสู่แกนนำต่างๆ แล้วขยายไปในภาพกว้างต่อกลุ่ม “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”  นั้นสำคัญอย่างยิ่ง  หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมช่วยให้กิจกรรม หรือกระบวนการ (Process) ที่ต้องปฏิบัติการ (Action) เป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ
 

ในทางกระบวนการปฏิบัติการจริงนั้น  ผมไม่ห่วง หรือวิตกมากนัก เพราะนิสิตชาววงแคนมีความรู้และทักษะในด้านดนตรีและนาฏศิลป์ และการเย็บพานบายศรีอยู่มากเหมือนกัน  เพราะพวกเขาเป็นนิสิตโควตาในโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม 

 

ขณะที่ชาวบ้านก็มีความรู้เหล่านี้อยู่มากโข  จึงเรียกได้ว่าทั้งนิสิตและชาวบ้านนั้น  ต่างฝ่ายต่างมีความรู้ฝังลึกอยู่ในตัว (Tacit Knowledge)  ขึ้นอยู่กับว่าจะค้นหากลวิธีในการผนึกเป็นกำลังถ่ายทอดไปยังลูกๆ หลานๆ อย่างไรเท่านั้นเอง  เพราะหากสามารถหาสูตรที่ลงตัวได้  ย่อมเกิดเป็นปัญญาร่วมกัน (collective wisdom)  และถือเป็น “ปัญญา” ที่เกิดจากการเปิดใจเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรม หรือการปฏิบัติ (interactive learning through action)  ที่ทรงคุณค่า เสมือนการจัดการความรักควบคู่ไปกับการจัดการความรู้

 

 

ครับ-ก่อนจากกันในวันนั้น  ผมเสนอแนะให้นัดหมายการประชุมในครั้งถัดไปล่วงหน้าไว้เลย  เพื่อมิให้ประสบปัญหาเหมือนคราวนี้  พร้อมๆ กับการฝากให้นิสิตทำการบ้านมาล่วงหน้าอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะมาพูดคุย หรือหารือเรื่องใดบ้าง และกลุ่มคนจากชุมชนจะเป็นใครบ้าง –

เช่นเดียวกันนั้น  ผมได้ฝากให้แกนนำชาววงแคนได้บันทึกข้อสรุปจากการหารือร่วมกับชาวบ้านในแต่ละครั้งว่าได้ข้อสรุปอย่างไร เพื่อสื่อสารให้กับสมาชิกได้รับรู้  รวมถึงการจดบันทึกปัญหาการประสานงานในแต่ละครั้งว่าเกิดจากอะไร เพื่อมิให้ปัญหาเหล่านั้นวนเวียนกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

  • รวมถึงวิเคราะห์ถึงศักยภาพชุมชนอีกรอบ
  • รวมถึงการวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่เลือกชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่การเรียนรู้คู่การบริการ 

หรือแม้แต่การฝากย้ำให้มาก่อนเวลา  และส่วนหนึ่งก็ขอให้มาช่วย "เข้าครัว" ร่วมกับชาวบ้าน  ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านทำอาหารเลี้ยงแต่เพียงฝ่ายเดียว...

เพราะทั้งปวงนี้  คือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในการเตรียมชุมชน ที่จะช่วยให้การทำงานภาคสนามมีระบบและประสิทธิภาพมากขึ้น

และผมเองก็ไม่ปรารถนาให้นิสิตมองข้ามในเรื่องเหล่านี้ เลยจำต้องพูดเช่นนั้น  เพื่อให้พวกเขาเก็บเอาไปคิดและพัฒนากระบวนทัศน์ของตนเอง และพร้อมที่จะเรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างหนักแน่น

 

๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๕
๑๘.oo-๒๐.oo น.
บ้านดอนหน่อง

 

หมายเลขบันทึก: 491505เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เอาดอกไม้มาให้ ๑ ดอกครับ ;)...

เรียนท่านอาจารย์แผ่นดิน. "..หรือแม้แต่การฝากย้ำให้มาก่อนเวลา และส่วนหนึ่งก็ขอให้มาช่วย "เข้าครัว" ร่วมกับชาวบ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านทำอาหารเลี้ยงแต่เพียงฝ่ายเดียว.."

นับเป็นการลงชุมชนที่ฝึกการเรียนรู้ วิถีชาวบ้าน เป็นการพันผูกที่สามารถไปหาหาสู่อย่างตลอดไป เพราะเขาเกิดความยอมรับ....รับเป็นลูกเป็นหลาน ในการฝึกเรียนรู้

ความมีคุณค่า อยู่ที่การสร้างคุณค่า ไม่ใช่เอาแต่วิชากลับไปมหาวิทยาลัย.

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

รับไว้ด้วยใจครับดอกไม้ และจะรดน้ำพรวนดินกันต่อไป
ปลูกไว้ที่ใจ..เบ่งบานที่ใจนะขอรับ

สวัสดีครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei

 

ประเด็นที่ผมพูดถึงนั้น จริงๆ มาจากปัญหาด้วยเหมือนกัน เรื่องการสื่อสาร เรื่องกาลเวลาที่เหมาะสมของการไปพบปะกับชาวบ้าน

และที่สำคัญก็คือกระบวนการฝากตัวเป็น "ลูกฮัก" ถือเป็นเครื่องมือหลักที่เราปักธงไว้

ครับการเข้าครัว- จะทำให้นิสิตได้เข้าไปใช้ชีวิต สัมผัสชีวิต สัมผัสเรื่องราวต่างๆ ได้สนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น

ขอบคุณครับ

อาจารย์คะ,

มิทราบว่าน้องๆ นิสิตเรียนสาขาวิชาอะไรคะจึงได้มีกิจกรรมดีดีเช่นนี้ เป็นตัวบังคับหรือตัวเลือกหรือเปล่าคะ พอดีที่เคยเรียนมาเป็นสายวิทย์ค่ะ อยู่แต่ในห้องแลปเล็กๆ ไม่เคยได้ทำกิจกรรมหรือเรียนในทำนองนี้ เห็นหลายๆบันทึกของอาจารย์เป็นการทำงานกับชุมชนทั้งนั้นเลย คิดว่าน่าสนใจน่าตื่นเต้นมากค่ะ ขออภัยที่ชอบเอาไม้บรรทัดวัดความรู้สึกตัวเอง ;)

ขอบคุณค่ะ

ครับ ...ปริม pirimarj

นิสิตกลุ่มนี้เป็นนิสิตในโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม ครับ ...เรียนหลากคณะ มีทั้งเภสัช-พยาบาล-มนุษย์-วิทย์-บัญชี-สถาปัตย์-วิทยาลัยการเมือง -ศึกษาศาสตร์ ฯลฯ แต่จะมีความสามารถในด้านดนตรี นาฏศิลป์ ทัศนศิลป์ ขับร้อง หัตถกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นเด็กๆ ในภาคอีสานครับ

นิสิตกลุ่มนี้เป็นชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) หลักคือ วงโปงลางนั่นเอง..


กิจกรรมดังกล่าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้ชุมชน  เรียนรู้ความเป็นวัฒนธรรม ภูมิปัญญา หรือมรดกทางวัฒนธรรม  เพียงแต่มีกิจกรรมเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนกับชุมชน...

 

เป็นการค้นหาสิ่งดีๆที่อยู่ในชุมชน

และสนับสนุนให้ชุมชนเป็นคนคิดเองว่าอยากจะก้าวไปในทิศทางใด โดนตนเอง

สวัสดีครับ พี่เขี้ยว มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากการสอนทักษะเรื่องการฟ้อนรำบยศรีแล้ว  สิ่งสำคัญก็คือการสำรวจค้นหาปราชญ์ชาวบ้านแขนงต่างๆ และการสอนที่กล่าวถึงนั้น ก็จะนำปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนมาร่วมเป็นผู้สอนลูกสอนหลานไปพร้อมๆ กัน

กระบวนการเช่นนั้น ผมเชื่ออยู่อย่างว่าจะเป็นการค้นหาคลังความรู้ในชุมชนและเป็นการเสริมพลังชีวิตให้กับบุคคลสำคัญในท้องถิ่น ที่นับวันก็ถูกกระแสบริโภคนิยมกลืนกินไปทีละนิดๆ...

 

ชอบ ๆ ๆ ๆ กระบวนการเรียนรู้จากการศึกษาเอง ทำเอง...โดยครูพี่เลี้ยงชี้แนะ

เห็นด้วยยิ่งกับการพลิกฟื้นศรัทธาต่อคนสำคัญของท้องถิ่น ก่อนที่จะสายเกินไป

ให้ต้นไม้ทั้งต้นเลยนะคะ .... เลียนแบบครู Wasawat Deemarn

ชอบแนวคิด "ลูกฮัก" ค่ะ

สวัสดีครับ พี่ธิรัมภา

ในช่วงที่นั่งประชุมกันนั้น เห็นแววตาสุกใส มีประกายของชาวบ้านอยู่มาก  โดยเฉพาะประเด็นของการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับ "ผู้รู้" ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นเอกสารให้เรียนรู้ รวมถึงการนำพามาร่วมกิจกรรมเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดต่อนิสิต และลูกหลานในชุมชน

ผมเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นการหนุนเสริมพลังชีวิตได้เป็นอย่างดียิ่ง  เพราะมันคือการค้นหาศักยภาพ ค้นหาความดี และเชิดชูความดี.ร่วมกัน

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ ครูนก noktalay

ขอบคุณที่แวะมาเติมกำลังใจนะครับ

ตอนนี้กิจกรรมของนิสิตอยู่ในระยะเก็บข้อมูลชุมชน และร่วมวิเคราะห์โครงสร้าง -บริบทชุมชน รวมถึงร่วมค้นหาจุดเด่น จุดอ่อน (SWOT) ร่วมกับชาวบ้าน เพื่อนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่จะมีขึ้นร่วมกัน

ครับ-เหมือน ร่วมคิด-ร่วมตัดสินใจ-ร่วมดำเนินการ-นั่นเอง

ขอบคุณครับ

ครับ คุณ ...ปริม pirimarj

ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่นเรียนรู้ร่วมกันนะครับ

ก่อนที่จะทำอะไรแน่นอนว่าเราต้องทราบถึงบริบทของแต่ละที่เพื่อจะได้นำข้อมูลมาจัดทำโครงการที่เป้นประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องที่มีความตั้งใจจริงที่จะทำประโยชน์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท