เครือข่ายนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา


การพัฒนาเครือข่ายนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

วานนี้(8 ก.ย.49) ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม"การสัมมนาทางวิชาการเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา : เครือข่ายนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เขตภาคเหนือตอนล่าง"จัดขึ้นโดยภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างพันธมิตรการทำงานด้านเทคโนโลยีฯ สอบถามความต้องการ ความคาดหวัง ประโยชน์ร่วมกัน และแลกเปลี่ยน ถ่ายเทข้อมูล ประสบการณ์ระหว่างนักเทคโนโลยีฯเขตภาคเหนือตอนล่าง
ได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายจากปรมาจารย์ทางเทคโนโลยีฯ คือท่านศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ในหัวข้อ"ความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา" และการประชุมกลุ่มย่อยเครือข่ายนักเทคโนโลยีฯแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้บริหารหน่วยงาน กลุ่มอาจารย์ผู้สอน และกลุ่มนักเทคโน/ผู้ดูแลงานเทคโนโลยีฯ มีเรื่องราวที่เป็นสาระและน่าสนใจหลายเรื่องที่อยากจะถ่ายทอดให้ท่านที่เล่าเรียนมาด้านนี้หรือปฏิบัติงานด้านนี้ได้รับรู้ถึงข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างๆในกลุ่มของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่กำลังริเริ่มมารวมตัวเป็นเครือข่ายและทำกิจกรรมที่จะเป็นคุณูปการต่อการศึกษาของชาติในอนาคต

ตัวผมเข้าเรียนหลักสูตร กศ.ม.(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) จาก ม.นเรศวร เมื่อปี 2545 ซึ่งมี ผศ.ดร.สุภาณี เส็งศรี เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ และได้มีโอกาสใช้วิชาที่เล่าเรียนกับภารกิจงานที่ได้รับมอบหมายใน สพท.พิษณุโลกเขต 1 คือ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนการบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพภายในสำนักงานฯและสถานศึกษา

ผมตื่นเต้นและดีใจมากที่มีการริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมของสถาบันที่เป็นหลักในการผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีฯมายาวนาน ซึ่งผลผลิตเหล่านั้นปัจจุบันได้เข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่สำคัญหลายแห่ง การที่จะมีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยน พัฒนาค่อนข้างจะมีน้อยมาก แต่ถ้าทุกคนได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อวิชาชีพนี้อย่างมาก

ในช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มย่อยสนทนา ผมไปอยู่ในกลุ่มของผู้บริหารหน่วยงาน มีการสนทนากันในหลายประเด็น ได้แก่ ชื่อเครือข่าย แนวทางสร้าง ประสาน ถักทอ และบริหารเครือข่ายฯ รูปแบบเครือข่ายฯ บทบาทของสมาชิกเครือข่ายฯ และแนวปฏิบัติเครือข่ายฯ จากนั้นแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอแนวทางให้ที่ประชุมได้รับทราบและอภิปราย ในกลุ่มของผู้บริหาร ที่ผมเข้าร่วมมีการสนทนากันอย่างกว้างขวางในแต่ละประเด็น เช่น ชื่อเครือข่ายใช้ชื่อว่า "เครือข่ายเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ภาคเหนือ" เหตุผลคือบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านนี้ในหน่วยงานทางการศึกษาทั้งในและนอกสถานศึกษาที่ไม่จบการศึกษาด้านนี้โดยตรง แต่ปฏิบัติภารกิจด้านนี้ตามที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงาน ก็ควรที่จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายได้ด้วย และควรขยายเครือข่ายออกไปทั้งภาคเหนือ สรุปประเด็นการสนทนา ของแต่ละกลุ่มออกมาค่อนข้างสอดคล้องกัน การสัมมนาจบลงเกือบบ่ายสี่โมงด้วยความหวังของผู้เกี่ยวข้อง ของบรรดา"นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา" และของบรรดาผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยี ที่จะมีเครือข่ายฯอย่างเป็นรูปธรรม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ผมคิดว่าถ้ากระบวนการต่างๆของเครือข่ายฯรุดหน้าไปตามเป้าหมายที่สนทนากันในครั้งนี้ เชื่อเหลือเกินว่า"เครือข่ายนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา"จะขยายออกไปอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาด้านเทคโนโลยีฯในที่สุด

ท้ายสุดของวัน : มีการร่วมกันของชาวเทคโนโลยีฯแสดงมุทิตาจิตต่อคณาจารย์ของภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ที่เกษียณอายุราชการในปี 2549 สองท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ประหยัด จิระวรพงศ์ และ รองศาสตราจารย์ถาวร สายสืบ

หมายเลขบันทึก: 49147เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2006 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยินดีด้ยครับที่องค์กร มีการพัฒนาการจัดการองค์กรแบบเครือข่ายที่ดีครับ.......

ขอบคุณค่ะ

   ผลพวงจากการทำวิจัยในโครงการของเราจะทำให้ดิฉันกลายเป็นนักชวนชิมไปแล้ว

     - ผลิตภัณฑ์จากกล้วยของพิษณุโลกอร่อยทุกอย่าง

      - เผือกที่อำเภอท่าตะโก หอม นำไปทำอาหารและขนมได้อร่อยที่สุดในประเทศไทย

 

ชาวสุวรรณประดิษฐ์

เขียนเรื่องเล่าบ่อยๆๆนะครับ  เพราะว่า..ชอบอ่านเกี่ยวกับประสบการณ์จริงๆ (มากกว่าตำราค้นคว้าวิจัย..)  ในบางครั้ง  " ประสบการณ์ก็แฝงความรู้  ข้อคิดดีๆ " ให้กับเราใช่ไหมเอ่ย..ไม่เบื่อด้วยนะ555+++ T T

ชาว สป.ของเราจะติดตามผลงานเรื่องเล่าประสบการณ์เด็ดๆสนุกๆๆอย่างเป็นธรรมชาติของพี่ชายน้อยอย่างต่อเนื่องครับ..เป็นกำลังใจในผลงานเสมอๆๆ

 

 

อาจารย์ชายน้อยยังอยู่หรือเปล่าคะ

     วันจันทร์ คณะนักวิจัย นำโดย ดร.สุวัฒน์ มาเยี่ยมเยียนนะคะ   ตอนนี้เราสร้าง planet ที่สองค่ะ และขอตัวแทน ผู้สื่อข่าว 1 คนจากเขตมาช่วย

    ลองดูตัวอย่าง ที่ www.gotoknow.org/planet/erkm

   ทั้งหมดจะมี 95 blog ค่ะ เป็นที่รวบรวมเก็บบันทึกของกิจกรรมโครงการวิจัยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท