การปฏิบัติต่อหญิงมีครรภ์ในระหว่างการดำเนินคดีอาญา


การปฏิบัติต่อหญิงมีครรภ์ในระหว่างการดำเนินคดีอาญา*

ปิยะลักษณ์ ทัฬหิกรณ์**

บทนำ  

ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2550 (วิธีการขังหรือจำคุก และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เป็นหญิงมีครรภ์) โดยมีเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ เนื่องจากเรือนจำมีสภาพแออัดไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ต้องขังหรือจำคุก ทำให้ไม่เหมาะกับสภาพของผู้ต้องขังหรือต้องจำคุกบางลักษณะ ประกอบกับเทคโนโลยีใน        การควบคุมตัวมีความก้าวหน้ามาก สมควรปรับปรุงวิธีการขังและจำคุกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว         โดยกำหนดวิธีการหรือสถานที่ในการขังหรือจำคุกนอกเรือนจำให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ซึ่งต้องขังหรือต้องจำคุกในแต่ละลักษณะ นอกจากนี้สมควรปรับปรุงการทุเลาการบังคับโทษจำคุกและประหารชีวิตแก่หญิงมีครรภ์เพื่อให้ได้รับความสะดวกและมีโอกาสดูแลสุขภาพของตนเองก่อนคลอด รวมทั้งอยู่ใกล้ชิดกับทารกภายหลังคลอดแล้วมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น  

เมื่อศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีในระหว่างการทุเลาการบังคับนั้น ศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกก็ได้ และให้ศาลกำหนดเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง ซึ่งลักษณะของสถานที่อันควรให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง      ทั้งนี้ ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ใช้ในการขัง จำคุกหรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือ    ผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด   พ.ศ. 2552 เมื่อมีการกำหนดในกฎกระทรวงให้ใช้สถานที่อื่น แต่การกำหนดสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำต้องออกเป็นประกาศที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดประเภทของสถานที่ขัง อาณาเขต และจะต้องจัดให้มีแผนที่แสดงอาณาเขตไว้ท้ายประกาศด้วย  

การที่จะกำหนดว่าสถานที่ใดเป็นสถานที่อื่นต้องมีระเบียบประกาศในราชกิจจานุเบกษา      ซึ่งในขณะนี้กฎหมายมาตรานี้ได้ใช้บังคับมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่มีการกำหนดสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำดังกล่าวและในกรณีผู้ดูแลสถานที่ขัง ซึ่งต้องให้ศาลเป็นผู้แต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและรับผิดชอบผู้ถูกขัง โดยอาจเป็นเจ้าพนักงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชนก็ได้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดเช่นกัน ทำให้กระบวนการ       การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ไม่สามารถใช้บังคับได้จริง เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่ยอมรับเป็นผู้ดูแลผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ที่ได้รับการทุเลาการบังคับโทษจำคุกเลย เนื่องจากเกรงว่าเมื่อผู้ต้องขังหลบหนีหรือได้รับอันตรายหน่วยงานนั้นจะมีความรับผิดเกิดขึ้น  

ดังนั้นจึงต้องได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ของประเทศอังกฤษและ     ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งศึกษาเรื่องโทษ เพื่อหาสถานที่อื่นในการจำคุก เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางการปฏิบัติและกำหนดสถานที่อื่นและหน่วยงานที่กำกับดูแลพร้อมด้วยมาตรการป้องกัน    การหลบหนีและผลของการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอยู่ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำ ซึ่งจะนำมาปรับใช้บังคับในกรณีการทุเลาการบังคับโทษจำคุกของจำเลยซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ตามมาตรา 246

1 แนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์

1.1 แนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ในประเทศไทย

 การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ มีกฎหมายและระเบียบที่แตกต่างจากการปฏิบัติ         ต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วไป ซึ่งมีกฎหมายและระเบียบแตกต่างจากผู้ต้องขังชายอยู่แล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้   การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์แตกต่างจากผู้ต้องขังกลุ่มอื่น เนื่องด้วยผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ต้องขังป่วยเจ็บอนุโลม ทำให้ต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและทางจิตใจ เมื่อได้เข้ามาสู่เรือนจำหรือทัณฑสถาน จะมีการตรวจสุขภาพ ถ้าพบว่าตั้งครรภ์จะได้รับการปฏิบัติด้วยวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ ซึ่งจะจัดให้อยู่ในส่วนของการดูแลของแม่และเด็ก โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจรักษาและดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยต้องจัดให้มีการฝากครรภ์และไปคลอดที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำหรือทัณฑสถาน 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ต้องขังหญิงทั้งในทัณฑสถานหญิง ทัณฑสถานหญิงบำบัดพิเศษและในเรือนจำชาย ทำให้มาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ไม่ได้รับความ  เท่าเทียมกันในทุกเรือนจำ อีกทั้งในเรือนจำขนาดใหญ่หรือทัณฑสถานหญิงซึ่งมี “โครงการกำลังใจ” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เข้าไปดูแลผู้ต้องขังการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์จะได้รับการดูแลที่ดีและมีการจัดสถานที่ในการอยู่อาศัยที่เป็นสัดส่วนและมีบริเวณเหมาะสม ในขณะที่เรือนจำขนาดเล็กลงมาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์จะมีมาตรฐานที่ต่ำกว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและการขาดบุคลากรในการปฏิบัติงาน

1.2 แนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ในประเทศอังกฤษ

 ในประเทศอังกฤษทางกรมราชทัณฑ์จะจัดให้มี Mother and Baby Units (MBUs) ไว้เป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์และเด็ก สิ่งที่หน่วยงาน Mother and Baby Units (MBUs)   ได้คำนึงลำดับแรก คือ ประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมี พัฒนาการที่สมบูรณ์ ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีมาตรฐานเดียวกันกับเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูภายนอกเรือนจำ เรือนจำไม่ใช่สถานที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงดูบุตร แต่ผู้หญิงซึ่งได้คลอดบุตรระหว่างการรับโทษนั้น การเลี้ยงดูทารกอย่างใกล้ชิดนับเป็นสิ่งที่ปรารถนามากที่สุด Mother and Baby Units (MBUs) ถือเป็นทรัพยากรของชาติผู้ต้องขังหญิงจะได้รับการประเมินความเหมาะสมในการเข้าสู่ Mother and Baby Units (MBUs) ซึ่งข้อควรคำนึงลำดับแรก คือ ประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก           โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีการพัฒนาการที่สมบูรณ์  ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีมาตรฐานเดียวกันกับเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูภายนอกเรือนจำ  

โดยหลักการที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ Prison Service Order (PSO) 4801 on Mother and Baby units  

  1. การดูแลผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ทั้งในระยะก่อนคลอดหรือหลังคลอดควรสนับสนุนการให้นมของแม่เอง หากสามารถกระทำได้ในเรือนจำ  
  2. ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์หรือผู้ต้องขังหญิงที่ไม่แข็งแรง ควรได้รับอาหารที่เหมาะสมตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของเจ้าหน้าที่ควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมของแม่เด็กขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เพราะฉะนั้นหน่วยงานจึงควรประเมินความเสี่ยงและฟังความเห็นของผู้ต้องขังหญิงรายนั้นด้วย  

 ผู้ต้องขังมีครรภ์จะถูกควบคุมตัวไว้ในเรือนจำจนใกล้ถึงกำหนดคลอด โดยจัดให้อยู่ในสถานที่พิเศษภายในเรือนจำ  โดยจะมีการพาผู้ต้องขังไปฝากครรภ์และตรวจครรภ์ตามกำหนดที่แพทย์นัด    ในโรงพยาบาลของท้องถิ่นหรือที่คลินิกสูตินารีเวช มีการจัดเตรียมอาหารเฉพาะสำหรับผู้ต้องขัง    หญิงมีครรภ์และการนำผู้ต้องขังออกไปคลอดที่โรงพยาบาลท้องถิ่นที่เรือนจำตั้งอยู่ มีบริการดูแลหลังการคลอดโดยโรงพยาบาลของท้องถิ่น ในระหว่างการตั้งครรภ์ผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์จะถูกควบคุมตัวร่วมกับผู้ต้องขังอื่นหรือที่สถานพยาบาลในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์สามารถ                ขอความช่วยเหลือจากผู้ต้องขังอื่น แต่ในกรณีที่ผู้ต้องขังไม่ประสงค์จะพักร่วมกับผู้ต้องขังอื่นก็สามารถลงชื่อรับรองว่า ถ้าทางเรือนจำไม่สามารถช่วยเหลือได้ท่วงทีในกรณีฉุกเฉิน โดยเรือนจำจะจัดให้มีปุ่มกดเรียกในกรณีฉุกเฉินในห้องขังพิเศษของผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์และผู้ต้องขังหญิงใกล้คลอด

1.3 แนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา

 เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการปกครองแยกเป็นมลรัฐจำนวนมาก การศึกษา       การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์จะศึกษาเฉพาะของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งแม้ว่าจะมีฐานะเป็นเพียง   มลรัฐในหลายมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในด้านงานราชทัณฑ์แล้ว ถือว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งการดูแลผู้ต้องขังเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ โดยแต่ละมลรัฐก็จะมีกรมราชทัณฑ์       ของตนเองและจัดให้มีการจัดตั้ง Prisoner Mother Facilities ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดำเนินการรับผิดชอบเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้เลี้ยงดูบุตรด้วยตนเอง โดยมีโครงการนี้ได้วางรูปแบบให้มารดาได้อาศัยอยู่กับบุตร เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมารดากับบุตรและอนาคตที่ดี ซึ่งจะรักษาโดยแพทย์ประจำสถานพยาบาลเรือนจำหรือโรงพยาบาลในชุมชน    ในด้านการดูแลผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์จะมีการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์โดยเฉพาะ ตั้งแต่การรับตัวเข้ามาในเรือนจำ โดยทางเรือนจำจะทำการตรวจการตั้งครรภ์ของ    ผู้ต้องขังหญิงทุกคน ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์ผู้ต้องขังจะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการเลี้ยงดูบุตร เมื่อใกล้คลอดทางเรือนจำจะนำผู้ต้องขังออกไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลในชุมชน และผู้ต้องขังจะต้องเตรียมการนำเด็กไปเลี้ยงดูและจะมีการประสานงานของเจ้าหน้าที่ในการนำเด็กออกไปเลี้ยงดูภายนอกเรือนจำ  

ตามประมวลกฎหมายอาญาของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Penal Code) ได้มี        การกำหนดว่า เมื่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ได้เข้ามาสู่เรือนจำจะต้องมีการดูแลสุขภาพตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำและปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ดังนี้  

  1. ได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชชนาการตามคำสั่งของแพทย์  
  2. ได้รับข้อมูลในการดูแลสุขภาพทั้งก่อนการคลอดและหลังคลอด  
  3. ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคลอดและการอบรมดูแลเด็ก  
  4. ได้รับบริการทางการแพทย์ด้านทันตกรรม  

ทั้งนี้เมื่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ครบกำหนดคลอด ให้เจ้าหน้าที่นำส่งตัวผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ไปคลอดที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เพื่อวัตถุประสงค์ในการคลอดและคำนึงถึงความปลอดภัยใน  การคลอด โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในด้านการให้บริการทางการแพทย์และค่าจ่าย             ในการคลอด  

จะเห็นได้ว่ารัฐจะจัดให้มีบริการทางการแพทย์และการบริการทางสังคมแก่ผู้ต้องขัง        หญิงมีครรภ์และมีการบริการสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ทั้งนี้เรือนจำจะจัดให้มีสวัสดิการแก่ผู้ต้องขังอย่างเต็มที่ตามที่ผู้ต้องขังพึงได้รับและในระหว่างการตั้งครรภ์ของผู้ต้องขังจะได้เรียนรู้ทักษะการเลี้ยงดูบุตร เมื่อผู้ต้องขังใกล้คลอดทางเรือนจำจะผู้ต้องขังออกไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลในชุมชน มีการจัดบริการและสวัสดิการต่างๆ ในเรือนจำให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิของผู้ต้องขัง แต่ในขณะเดียวกันก็เข้มงวดในการปฏิบัติตนตามหน้าที่ของผู้ต้องขังด้วย เมื่อคลอดแล้วผู้ต้องขังจะต้องเตรียมการสำหรับการนำเด็กไปเลี้ยงดู โดยจะทำการประสานงานกับชุมชนเพื่อนำเด็กออกไปเลี้ยงดูภายนอกเรือนจำ

2 สถานที่อื่นนอกจากเรือนจำของต่างประเทศ

2.1 สถานที่อื่นนอกจากเรือนจำของประเทศอังกฤษ

 การศึกษาการใช้สถานที่จำคุกอื่นนอกจากเรือนจำ สิ่งแรกที่ต้องทำการพิจารณา คือ แนวคิดของการลงโทษและโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีกฎหมายที่ใช้ใน       การกำหนดโทษมีอยู่ 3 ฉบับ คือ The Criminal Justice Act 2003 ,The Criminal Justice Act 1991 และ The Powers of Criminal Court  (Sentencing) Act 2000 เพื่อศึกษาว่ามีการกำหนดโทษประเภทใดบ้างและในการควบคุมผู้กระทำความผิดนั้น มีการใช้สถานที่อื่นในการควบคุม   ผู้กระทำความผิดนอกจากเรือนจำคือสถานที่ใดบ้าง  ทำให้สามารถแยกประเภทโทษที่ใช้สถานที่อื่นนอกจากเรือนจำของประเทศอังกฤษ   ได้ 5 ประเภท กล่าวคือ สถานที่ที่ the Secretary of State กำหนดใน Powers of Criminal Courts (Sentencing) Act 2000 ให้ผู้กระทำความผิดที่มีอายุ     ต่ำกว่า 18 ปี ในความผิดที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมและต้องถูกกักขังภายใต้ Her Majesty’s pleasure และให้ผู้กระทำความผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ได้กระทำความผิดร้ายแรง (certain serious offences) จะต้องถูกกักขังภายในระยะเวลาที่ถูกกำหนด ,สถานที่ที่มีระบบการรักษาความปลอดภัย (secure accommodation) ได้กำหนดไว้ใน The Powers of Criminal Court  (Sentencing) Act 2000 ซึ่งในมาตรา 107 มีการกำหนดความหมายของสถานที่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ใช้กับคำสั่งกักขังและฝึกอบรม (detention and training order) ,การกักขังไว้ในบ้าน (Home Detention) การกักขังไว้ในบ้านจะปรากฏในรูปแบบของคำสั่งให้กักขังที่บ้าน Home Detention Curfew ซึ่งคำสั่งนี้จะนำมาใช้กับผู้กระทำความผิดที่ได้รับการกำหนดโทษตั้งแต่ 3 เดือน แต่           ไม่เกิน 4 ปี ,การควบคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล เป็นคำสั่งของศาล Crown court ที่กำหนดให้     ผู้กระทำความผิดที่เป็นโรคจิตต้องเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล ที่กำหนดไว้ในคำสั่งการควบคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการรักษาอาการทางจิต ,สถานที่ที่สำนักงาน         คุมประพฤติแห่งชาติกำหนดให้อาศัยอยู่ (National Probation Service Approved Premise) (Hostels) โดยสถานที่นี้เป็นสถานที่ที่เพิ่มระดับของการควบคุมดูแลผู้กระทำความผิดมากขึ้นกว่า   การกักขังไว้ในบ้าน (Home Detention) ผู้กระทำความผิดตามมาตรการนี้จะอยู่ภายใต้             การควบคุมดูแลของกรมคุมประพฤติ (Probation Service) การอนุญาตให้อยู่สถานที่ที่สำนักงานคุมประพฤติแห่งชาติกำหนดให้อาศัยอยู่ (National Probation Service Approved Premise) (Hostels)    

2.2 สถานที่อื่นนอกจากเรือนจำของประเทศสหรัฐอเมริกา    

ปัจจุบันมีการพัฒนาการลงโทษ โดยลดระดับความรุนแรงของโทษ คือ โทษจำคุกและ        อีกด้านหนึ่งคือการคุมประพฤติ ซึ่งถ้าใช้โทษจำคุกบางครั้งอาจมีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ส่วนถ้าใช้การคุมประพฤติก็อาจน้อยไปในการควบคุมผู้กระทำความผิด    โดยอาจทำให้ไม่เกรงกลัวหรือกลับไปกระทำความผิดอีก ดังนั้นจึงเกิดมาตรการลงโทษที่อยู่ตรงกลางขึ้นมาและใช้กันอย่างแพร่หลาย เรียกว่า โทษระดับกลาง (Intermediate Punishment) ได้แก่          การคุมประพฤติแบบเข้ม (Intensive Probation) การทำงานบริการสังคม (Community Service)        การใช้ค่ายทหาร (Boot Camp) การกักขังในบ้านโดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) ศูนย์เลี่ยงโทษจำคุก (Diversion Center) บ้านกึ่งวิถี (Half-way House) และ การชดเชย         ความเสียหาย (Restitution)   

จากโทษและการใช้มาตรการการลงโทษของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ทราบประเภทสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ 4 ประเภท กล่าวคือ ศูนย์แก้ไขผู้กระทำผิด   ในชุมชน (Residential Community Corrections Facilities) (RCCFs) เป็นมาตรการการลงโทษ      ในชุมชนที่ผู้กระทำความผิดจะต้องพักอาศัยอยู่ในศูนย์แก้ไขผู้กระทำความผิดที่จัดไว้ในชุมชน ,บ้านกึ่งวิถี (Halfway Houses) เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ถูกคุมประพฤติ ผู้พักการลงโทษ หรือผู้กระทำความผิด      ที่ถูกบังคับโดยมาตรการการคุมประพฤติแบบเข้ม ซึ่งเป็นบุคคลที่จะต้องได้รับการจัดตั้งแผนมากกว่าการอยู่ภายในที่อยู่อาศัยของผู้กระทำความผิด ,การใช้ค่ายทหาร (Boot Camp)  เป็นรูปแบบส่วนใหญ่ของการคุมขังทำให้ตกใจกลัว (Shock Incarceration) โดยการกำหนดให้ผู้กระทำความผิดอยู่ในสถานที่คุมขังและถูกฝึกวินัยในลักษณะของทหาร ,การคุมขังไว้ในที่อยู่อาศัยของตนเอง (House Arrest) คือ การควบคุมหรือจำกัดบริเวณผู้กระทำความผิดในความผิดที่ไม่ร้ายแรง (non-violent felony) ไว้ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งซึ่งไม่ใช่เรือนจำ  

3 วิเคราะห์การคุมขัง จำคุก จำเลยที่เป็นหญิงมีครรภ์ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำ

 3.1 สถานที่อันควรนอกจากเรือนจำ    

อาจใช้สถานที่ขนาดเล็กในการควบคุมแต่ควรมีความมั่นคง แข็งแรง และมีอุปกรณ์ใน       การควบคุมดูแลที่เหมาะสม และมีการกำหนดอาณาเขตชัดเจน ซึ่งสามารถตรวจสอบการเข้าออกของบุคคลได้ต้องมีช่องทางเข้าออกเท่าที่จำเป็นและจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม อีกทั้งควรจัดให้มีโปรแกรมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดและมีการจัดบริการทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับลักษณะผู้ต้องขังที่เป็นหญิงมีครรภ์

 3.2 เงื่อนเวลาในการให้ความคุ้มครอง

 เงื่อนเวลาในการให้ความคุ้มครองแก่หญิงมีครรภ์ ควรกำหนดว่า “เงื่อนเวลาในการให้ความคุ้มครองเริ่มเมื่อผู้ต้องขังได้ทราบการตั้งครรภ์ของตนจนกระทั่งมีการยุติการตั้งครรภ์” โดยการให้ความคุ้มครองคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ

 3.3 ผู้ควบคุมดูแลสถานที่

 เนื่องด้วยการบังคับโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานลำดับสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่หลักในการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลหรือกฎหมายอื่นใดซึ่งบัญญัติให้อำนาจไว้ และมีความพร้อมทั้งด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญในทางทัณฑวิทยา รวมทั้งมีความพร้อมทางด้านบุคลากร จึงควรให้กรมราชทัณฑ์    เป็นผู้ควบคุมดูแลสถานที่ แต่ทั้งนี้อาจต้องมีการเพิ่มเติมบุคลากรในการทำงานให้เหมาะสมและได้มาตรฐานตามที่กำหนด

 3.4 มาตรการป้องกันการหลบหนี

 ควรมีมาตรการป้องกันการหลบหนีสำหรับหญิงมีครรภ์ในการควบคุมตัวในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำ กล่าวคือ ควรมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลหรือทะเบียนประวัติอาชญากรให้มีมาตรฐาน ควรมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขการอยู่ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำ ควรให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของผู้ต้องขังและจัดทำทะเบียนและสมุดประจำตัวผู้ต้องขัง ควรให้มีการจัดเวรยามรักษาการณ์ เพื่อควบคุมดูแลโดยอาจมีการผลัดเวรยามตามความเหมาะสมระหว่างแปดชั่วถึงสิบสองชั่วโมง และกำหนดเวลาผลัดเปลี่ยนให้ชัดเจน ควรให้มีค้นตู้เก็บของของผู้ต้องขังหรือสถานที่ ซึ่งอาจมีการซุกซ่อนสิ่งของต้องห้ามควรให้มีกำหนดระยะเวลาในการเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขัง  อย่างไรก็ตาม อาจมีการเพิ่มระดับมาตรการป้องกันการหลบหนีให้สูงขึ้นหรือลดน้อยลงก็ได้ ตามพฤติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและควรกำหนดบทลงโทษในการฝ่าฝืนเงื่อนไขการอยู่ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำ

 3.5 การฝ่าฝืนเงื่อนไขการอยู่ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำ

 ควรใช้การคาดโทษก่อนถ้ายังมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอยู่ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำควรให้มีการเพิ่มโทษเหมือนเช่นในประมวลกฎหมายอาญาในฐานไม่หลาบจำ เพราะผู้ต้องขังได้เข้ามาอยู่ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำเพราะมีเหตุแห่งการขอทุเลาเท่านั้น เมื่อหมดเหตุเหล่านั้นก็จะถูกส่งตัวกลับเข้าเรือนจำหรือทัณฑสถานเช่นเดิม

ข้อเสนอแนะ

 1 กรณีมาตรา 246 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น อยู่ในภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษาและค่าธรรมเนียม หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษาก็ตาม แต่เนื่องจากมีฎีกา       ที่ 1092/2482 ได้พิพากษาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลจะทุเลาการบังคับ ก่อนหรือหลังบังคับคดีก็ได้ ดังนั้นควรแก้ไขกฎหมายให้เกิดความชัดเจน โดยนำมาตรา 246 มาใช้ในชั้นสอบสวน หรือในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง หรือในระหว่างการพิจารณาของศาลด้วย  

2 ในกรณีของผู้ควบคุมดูแลสถานที่นั้น ให้เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ในการดูแลความรับผิดในการทำให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างการคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขังไป ควรนำมาตรา 204 และ 205 ในประมวลกฎหมายอาญามาปรับใช้ กล่าวคือ อาจให้มีความผิดเพิ่มมากขึ้น โดยพิจารณาการกระทำของผู้ควบคุมประกอบกับฐานความผิดของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ และเมื่อมีการหลบหนีเกิดขึ้นความรับผิดของผู้ควบคุมคงต้องดูที่เจตนา เนื่องจากหลักการกำหนดความรับผิดทางอาญาของบุคคลต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ ซึ่งต้องใช้วินิจฉัยในความรับผิดทางอาญาของบุคคลเสมอ ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ควบคุมดูแลนั้น สามารถพิสูจน์การกระทำของตนได้ว่า ไม่ใช่การกระทำโดยเจตนาหรือได้กระทำโดยประมาท          ผู้ควบคุมดูแลก็มิต้องรับผิด เพราะขาดองค์ประกอบของความผิดฐานทำให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างการคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขัง  

3 ในกรณีการจำคุกในระยะสั้นหรือในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ได้มีพฤติกรรมเป็น     อาชญากรหรือกระทำผิดติดนิสัย อาจปฏิบัติตามหลักของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและมาตรการอื่นได้ 2 กรณี กล่าวคือ ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นหญิงมีครรภ์เป็นหลัก และอาจใช้กรณีการจำคุกวันหยุดแทน กล่าวคือ ให้ผู้กระทำความผิดมารายงานตัวเพื่อให้เจ้าพนักงานสอบถาม แนะนำ และให้ความช่วยเหลือตามที่เห็นสมควร และเพื่อให้ละเว้น    การคบหาสมาคมหรือประพฤติตนที่นำไปสู่การกระทำความผิดเช่นเดียวกันอีก  

4 ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการปฏิบัติและสิทธิต่อผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ รวมทั้งขั้นตอนการใช้สิทธิดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United Nations Rules the Treatment of Women prisoners and non-custodial Measures for Women offenders) ที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม  

5 การแก้ไขในเบื้องต้น ควรใช้สถานพยาบาลของกรมราชกรมทัณฑ์ หรือสถานกักกันคนต่างด้าว หรือบ้านกึ่งวิถี หรือสถานพินิจแทนซึ่งสถานที่ประเภทนี้จะมีมาตรการป้องกันการหลบหนีและ    มีเวรยามถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่า โดยให้มีการประกาศตามกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552     ที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ชัดเจน เพื่อให้ศาลสามารถใช้อำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกได้และทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย  

6 การกำหนดสถานที่ที่เหมาะสมต่อการทุเลาการบังคับโทษจำคุกตามมาตรา 246          ของประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา ควรดำเนินตามสำนักงานศาลยุติธรรมภาค ซึ่งมี 9 ภาค ตามเขตอำนาจ กล่าวคือ ภาค 1 กรุงเทพมหานคร ภาค 2 ชลบุรี ภาค 3 นครราชสีมา ภาค 4 ขอนแก่น ภาค 5 เชียงใหม่ ภาค 6 พิษณุโลก ภาค 7 นครปฐม ภาค 8 สุราษฎร์ธานี ภาค 9 สงขลา  

7 อาจนำแนวคิดของเรือนจำเอกชนมาใช้ในการสร้างสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำ       การดำเนินการสร้างสถานที่ดังกล่าวโดยทางรัฐบาล อาจจะต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก       ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ โดยอาจนำแนวคิดของการสร้างเรือนจำเอกชนมาใช้ได้ โดยการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการเรือนจำ  

8 ถ้าในกรณีที่ผู้ต้องขังที่ได้รับการทุเลาการบังคับโทษจำคุกแล้ว ซึ่งต้องอยู่ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำตามที่ผู้วิจัยได้เสนอไว้ กล่าวคือ ให้มีสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำประจำ          ทั้ง 9 ภาคของศาลหรือในเรือนจำเอกชน แต่ถ้าผู้ต้องขังอ้างเหตุว่าสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำนั้น ยากต่อการติดต่อกับครอบครัว ให้ศาลใช้สถานที่ที่กำหนดตามหมายจำคุกได้อีกกรณีตามมาตรา 246 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  

การที่ใช้มาตรการต่างๆ ใช้ในการแก้ไขปัญหาถือเป็นส่วนหนึ่งในการเบี่ยงเบนผู้กระทำความผิดออกจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อลดปัญหาต่างๆ รวมทั้งการกำหนดสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำสำหรับการทุเลาการบังคับโทษจำคุกสำหรับหญิงมีครรภ์ควรให้มีความสอดคล้องกับลักษณะของผู้ต้องขัง ซึ่งการควบคุมผู้ต้องขังถือเป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังวิธีหนึ่ง ทั้งนี้หญิงมีครรภ์ควรได้รับสิทธิตามหลักมนุษยชนและควรได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป เนื่องจากการคำนึงถึงตัว     หญิงมีครรภ์แล้วยังต้องมีการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กด้วย

--------------------------------------

* เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “ การปฏิบัติต่อหญิงมีครรภ์ในระหว่างการดำเนินคดีอาญา” หลักสูตร       นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ดังมีรายนามดังต่อไปนี้ อาจารย์ นัทธี จิตสว่าง ประธานกรรมการ ศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์และรองศาสตราจารย์ ดร. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ กรรมการ

** นิสิตในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ หมวดวิชากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รายการอ้างอิง

กฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตาม คำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552

กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479.               

คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังนานาชาติ กลุ่มงานพัฒนาระบบด้านทัณฑปฏิบัติ.  สารานุกรมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงนานาชาติ. นนทบุรี : กรมราชทัณฑ์, 2552.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479  

หนังสือกรมราชทัณฑ์

 

หมายเหตุ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

หมายเลขบันทึก: 490773เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท