๑๒๙. สื่อและสุขศึกษาเรื่องบุหรี่ที่ทำงานกับพลังด้านในมนุษย์


จากริมซ้ายไปขวา : ๑) พันเอกพิเศษศักดา ประจุศิลป์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ทหารบก อดีตนายกสมาคม คนที่ ๓  ๒) รองศาสตราจารย์นายแพทย์สภา ลิมพาณิชยการ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเวชนิทัศน์ และอดีตนายกสมาคม คนที่ ๒ ๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตเลขาธิการและอุปนายกสมาคม ๓ สมัย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ผมได้ไปยังโรงเรียนเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมงานแสดงกตัญญูกตเวทิตาจิตต่อรองศาสตราจารย์นายแพทย์สภา ลิมพาณิชยการ ครูอาจารย์เก่าแก่ท่านหนึ่งของผมและชาวเวชนิทัศน์ รวมทั้งของหมอและคนที่ได้เรียนคณะต่างๆที่ศิริราชหลายรุ่น นอกจากนี้ ท่านเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเวชนิทัศน์และอดีตนายกสมาคม เวชนิทัศน์สมาคม(ประเทศไทย) คนที่ ๒ หรือที่สังคมทั่วไปรู้จักในนาม 'หมอ ๕ บาท' ที่รักษาชาวบ้าน ทั้งคนยากจนและคนทั่วไปด้วยการคิดค่ายาเพียง ๕-๑๐ บาท กระทั่งไม่คิดเงินเลย

หลังจากเสร็จแล้ว อดีตนายกสมาคม ผมกับพี่ๆน้องๆชาวเวชนิทัศน์ ก็ถือโอกาสไปเยี่ยมชมการทำงานและการดำเนินงานต่างๆของโรงเรียนตามห้องและแผนกต่างๆ รวมทั้งได้ไปดูการทำสื่อต้นแบบเพื่อใช้ในโครงการให้สุขศึกษาและโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันและควบคุมการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผลงานต่อเนื่องจากการทำเวิร์คช็อปเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมาของนักเวชนิทัศน์กับเครือข่ายนักวิชาชีพสุขภาพเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพสาขาต่างๆ ทั้งจากสาขาแพทย์ สาธารณสุข เภสัช และนักจิตวิทยาสังคม (อ่านเพิ่มเติมที่บันทึก : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/342341)

การประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์กับการสร้างเสริมสุขภาพและการรณรงค์ด้านบุหรี่กับการสร้างเสริมสุขภาวะสังคม โดยเวชนิทัศน์สมาคม(ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อพัฒนาสถาบันวิชาการสู่องค์กรสร้างเสริมสุขภาพ

เวทีเวิร์คช็อปดังกล่าวนั้น ผมเองก็ได้ไปร่วมเป็นวิทยากรจัดการระดมความคิด ทำงาน Creative และถอดบทเรียนเวที ทั้งในฐานะนักวิจัย ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของเวชนิทัศน์สมาคม และเครือข่ายศิษย์เก่าในสาขาวิชาชีพเวชนิทัศน์ ความที่เกี่ยวข้องกับเวทีในหลายฐานะอย่างนี้ ก็เลยทั้งสามารถสอน บรรยาย ถ่ายทอดความเคลื่อนไหวสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องจากประสบการณ์ที่ตนเองมีให้เป็นข้อมูลทำงานความคิดของเวที รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยง ร่วมวิพากษ์ เสนอแนะ เมื่อเสร็จแล้วก็ยังนำมาเขียนสื่อสาร ช่วยเผยแพร่และทำให้สังคมมีแหล่งได้เรียนรู้เพิ่มพูนพลังปัญญาปฏิบัติสั่งสมไว้ให้กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น ได้ทำหน้าที่เหมือนแสดงความเคารพและสืบทอดวิชาความรู้ของครูอาจารย์ไปด้วยในตัว

ท่านศาสตราจารย์แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ และ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการที่เป็นเนื้อหาการทำสื่อ ทุนอุดหนุน และการเป็นผู้ใช้สื่อที่จะร่วมกันผลิตขั้น หลังจากการเวิร์คช็อปแล้ว ตูน รุ่นน้องของผมและเป็นมือดีจากหน่วยผลิตหุ่นจำลองทางการแพทย์ของโรงเรียนเวชนิทัศน์ ได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมให้เป็นผู้นำเอาการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์จากเวที ไปทำสื่อขึ้นชิ้นหนึ่ง สื่อที่ทำขึ้นได้เสร็จแล้ว

ราตรี ปั้นพินิจ นายกสมาคมคนที่ ๑๓ อนงค์วรรณ ไพโรจน์ นายกสมาคมคนปัจจุบัน (คนที่ ๑๔) และตูน (ขออภัยขอใช้ชื่อเล่นไปก่อน เมื่อทราบชื่อจริงแล้วจะนำมาเปลี่ยนทีหลังครับ) หน่วยผลิตหุ่นจำลองทางการแพทย์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล นำชมผลงานผลิตสื่อให้สุขศึกษาและรณรงค์แก้ปัญหาการบริโภคยาสูบ

เมื่อเห็นแล้วก็ต้องยอมรับว่าแรงและมีพลังที่จะสื่อสาร สอดคล้องกับข้อมูลเชิงสภาวการณ์ของสังคมที่นำมาสร้างแนวคิดและออกแบบสร้างสรรค์ที่พบว่า กลุ่มผู้สูบบุหรี่รายใหม่และกลุ่มที่ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงมากขึ้นต่อการสูบบุหรี่ในปัจจุบันคือกลุ่มสตรี เด็กและยาวชน โดยเฉพาะสตรีที่กำลังมีครรภ์

นอกจากนี้ ก็พบว่า การรณรงค์ทางด้านบุหรี่ในระดับต่างๆที่ได้ผลมากก็คือ การใช้มาตรการทางกฏหมาย แรงกดดันทางสังคม การสร้างพลังปฏิบัติของปัจเจกและชุมชน อีกทั้งพบว่า การลงทุนทำงานเชิงป้องกัน ส่งเสริม ฟื้นฟู และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัตินั้น คุ้มค่าและให้ผลดีอย่างบูรณาการมากกว่าการเน้นการรักษาและตั้งรับ

ข้อมูลดังกล่าว ทำให้ในกลุ่มย่อยของเวิร์คช็อป มุ่งพิจารณาไปยังสื่อและกระบวนการที่ดำเนินการผสมผสานอย่างเป็นระบบ ในหน่วยบริการสุขภาพแลละตามแหล่งสาธารณะ สร้างพลังการปฏิบัติและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับต่างๆทางการปฏิบัติตามความพร้อมที่ออกมาจากด้านในของกลุ่มเป้าหมาย จากนั้น จึงจัดแหล่งข้อมูล สื่อ และระบบการปรึกษา ตลอดจนกระบวนการต่างๆที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้ความเข้าใจในแบบแผนที่แตกต่างกัน แนวคิดเบื้องต้นในการผลิตและนำไปใช้ จึงประกอบด้วยหลักคิด ดังนี้

  • เป็นสื่อที่สะดุดความสนใจ สร้างมุมมองอย่างมีความหมาย ทำให้เกิดหัวข้อขึ้นเองในใจ และสร้างวาระความสนใจ ที่จะนำไปสู่การแสวงหาข้อมูล สื่อ และการให้คำปรึกษา ตามความสนใจที่หลากหลาย มีทรัพยากรและมีการดำเนินการอยู่แล้ว
  • ติดตั้งในแหล่งที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเจาะจง เช่น ตามหน่วยบริการสุขภาพ คลินิกบุหรี่ ห้างสรรพสินค้า และแหล่งชุมชนต่างๆ
  • สามารถผลิตซ้ำและเผยแพร่ได้ทั่วประเทศ

จากแนวคิดดังกล่าว จึงนำมาสู่การออกแบบสร้างสรรค์ และแปรไปสู่การผลิตสื่อต้นแบบ

สื่อที่ทำขึ้นชิ้นนี้ ไม่มีข้อมูลสารสนเทศใดๆที่ได้นำเสนออยู่ที่ตัวสื่อด้านนอกตัวคนสำหรับถ่ายทอดไปสู่กลุ่มเป้าหมาย มีแต่รูปประติมากรรมเด็กทารกที่ดิ้นทุกข์ทรมานอยู่ในมวนบุหรี่ขนาดยักษ์ทรงคล้ายครรภ์มารดา ที่ให้ความสะเทือนใจและสั่นคลอนอารมณ์ ซึ่งจะทำงานกับกระบวนการภายในของผู้คน ดังนั้น เทคนิคและวิธีการให้สุขศึกษาชุมชน ที่จะสามารถนำเอาสื่อแบบนี้ไปใช้ได้อย่างเหมาะสมนั้น จึงต้องอยู่ในรูปการสะดุดความสนใจและเกิดวาระที่ประชาชนจะคุยกับตนเองด้วยเสียงภายใน ได้อยู่กับตนเอง หากเกิดความคิดในแง่มุมใด ก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ นำเอาประสบการณ์และความคิดที่ลึกซึ้งอยู่ด้านในออกมาคิดใคร่ครวญกับตนเอง

วิธีนำไปใช้ จึงเหมาะสำหรับจัดวางกับองค์ประกอบอื่นในพื้นที่เปิด ขณะเดียวกันก็จัดแหล่งเผยแพร่สื่อ ป้ายแสดงนิทรรศการ ให้ข้อมูล และมุมให้การปรึกษา เพื่อให้กลุ่มประชาชนที่เกิดแรงกระทบใจและน้อมความสนใจแสวงหาความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองแล้ว ได้มีโอกาสเลือกเข้าถึงกระบวนการสุขศึกษาด้วยตนเองตามความถนัด

ในทางสื่อและการทำสื่อสำหรับงานสุขศึกษานั้น รูปแบบการให้สุขศึกษาเป็นกลุ่มด้วยการใช้สื่อและการจัดสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้ จะต้องใช้แนวคิดและกลวิธีที่แตกต่างจากการให้สุขศึกษาด้วยการสอน (Teaching) และการถ่ายทอดของคนทำงานในรูปแบบต่างๆ (Health Knowledge and InformationTransfer) โดยผู้ให้สุขศึกษาและคนทำงาน จะต้องเปลี่ยนบทบาทไปสู่นักออกแบบกระบวนการ พัฒนาปัจจัยแวดล้อม ผลิตและจัดหาสื่อ แล้วนำมาจัดระบบดำเนินการผสมผสานหลายอย่างไปด้วยกัน ซึ่งก็จะก่อให้เกิดความหลากหลาย ยืดหยุ่นและครอบคลุมความเป็นจริงต่างๆในสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น

แนวคิดสำหรับใช้สื่อสุขศึกษาตามแนวทางดังกล่าวนี้ มีแง่มุมที่สำคัญหลายประการที่คาดหวังได้ว่าจะเกิดขึ้นและมีความน่าสนใจมาก โดยสรุป คือ  ........

  • Agenda Setting : การสร้างวาระที่เชื่อมโยงกับกระบวนการให้สุขศึกษา ที่มีความหมายและมีนัยทางการสื่อสาร สนับสนุนประเด็นเชิงวัตถุประสงค์การทำงาน ซึ่งสื่อจะทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดวาระที่จะคิดและรู้สึกต่อเรื่องต่างๆขึ้นเอง
  • Readiness and Voluntary Action : การสร้างความพร้อม ส่งเสริมพลังปฏิบัติไปตามความพร้อม ตามความสนใจ ตามความสมัครใจ และมีโอกาสแสวงหาข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างพลังการตัดสินใจด้วยตนเองได้ดีขึ้น
  • Gaining of Information Accessability Skills : การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเกิดวาระความสนใจต่อการเรียนรู้ทางสุขภาพด้วยตนเอง
  • Empower Decision Making : การเสริมสร้างพลังในการตัดสินใจด้วยความรู้ ความเข้าใจ และการมีข้อมูลข่าวสาร อันจะเกิดจากการได้รับผ่านสื่อและเกิดการสื่อสารภายในของตนเองมากกว่าเดิม ทำให้ประชาชนและชุมชนสุขภาพได้ยกระดับอย่างต่อเนื่องในการใช้วิจารณญาณต่อการมีส่วนร่วมใทางสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของตน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการสร้างสื่อและให้สุขศึกษา
  • Two Steps Flow Communication และ Social Learning : การเกิดเครือข่ายสื่อสาร ถ่ายทอด และเผยแพร่สื่อด้วยตนเองของประชาชนสู่ครอบครัวและคนใกล้ชิด ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีมิติสังคมเข้ามากำกับ สร้างกระบวนการสื่อสารในจังหวะที่สองหลังการเข้าถึงสื่อในครั้งแรกของกลุ่มประชาชน

เราสามารถจินตนาการได้ว่า หากเรานำเอาสื่อชิ้นนี้ ไปวางในห้างสรรพสินค้า หรือตามสถานที่เปิดในโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสุขภาพ และคลินิกบุหรี่ ซึ่งจะแวดล้อมด้วยผู้ป่วย ครอบครัว เพื่อนฝูงและญาติ เมื่อประชาชนได้พบเห็น ก็จะสะดุดคิด พื้นฐานที่สุดก็จะทำให้ช่วงความสนใจช่วงหนึ่งเข้ามาสู่วาระการคิดและใส่ใจต่อเรื่องบุหรี่ แต่ที่มากกว่านั้น ก็จะทำให้เกิดหัวข้อการคุยกัน รวมทั้งการเดินใช้เวลาระหว่างรอการใช้บริการทางสุขภาพ อยู่กับแหล่งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีสื่อและเอกสารแจกฟรีรอให้หยิบด้วยตนเอง เหล่านี้ ก็จะทำให้โอกาสที่ประชาชนจะเกิดพลังการตัดสินใจและริเริ่มการปฏิบัติที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพที่เกี่ยวกับบุหรี่ ทั้งต่อตนเองและชุมชนของตน เพิ่มมากยิ่งๆขึ้น

ที่สำคัญคือ เกิดทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองที่จะสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นนอกเหนือจากเรื่องบุหรี่ อีกด้วย.

หมายเลขบันทึก: 490326เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

กราบนมัสการขอพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)
และขอขอบพระคุณอาจารย์ณัฐพัชร์
ที่แวะมาเยือน อ่าน และทักทายเป็นกำลังใจกันครับ

ขอบคุณแสงแห่งความดี
นักสาธารณสุขมือดีของท้องถิ่นด้วยครับ

ภาพเด็กดิ้นในก้นกรองบุหรี่สร้างอารมณ์สะเทือนใจ ให้คน "หยุด" คิด เรียนถามอาจารย์ค่ะว่า การตั้งรูปแบบนี้จะสร้างความแตกต่างจากภาพน่ากลัวบนซองบุหรี่อย่างไร ส่วนตัว คิดว่า ภาพบนซอง เป็นรูปอวัยวะ (เช่น ปอด ปาก ที่เป็นมะเร็ง) คนอาจคิดว่า ถึงเรื่องนี้เกิดกับตัวเองก็ชีวิตฉันเอง แต่พอเป็นรูปเด็กทารก ความรู้สึกผิดคงมากกว่า

สื่อชุดนี่ OK มากค่ะ

 

แปลกๆจริงๆ ทั้งๆที่รู้ว่าบุหรี่ คือตัวอันตรายของภัยสุขภาพ

โรงงานยาสูบยังผลิตกันอยู่ได้

สื่อต่างๆก็ออกมารณรงค์ ชี้โทษภัยให้เห็น แต่ดูเหมือนสื่อสร้าวสรรค์ ตามไม่ทันสื่อส่งเสริม

สวัสดีครับอาจารย์หมอป.ครับ

หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวสื่อเองจำเพาะรายชิ้น ของสื่อตัวนี้กับการออกมาตรการทางกฏหมายบังคับผู้ผลิตให้แสดงภาพที่น่าเกลียดน่ากลัวบนซองบุหรี่พร้อมกับคำเตือนพิษภัยของบุหรี่ต่อสุขภาพ พอจะได้ประเด็นสำหรับใช้พิจารณาโดยสรุปดังนี้ครับ

                         ภาพบนซองบุหรี่         ประติมากรรมทารกในครรภ์มวนบุหรี่

๑.สารที่ต้องการสื่อ   ผลต่อสุขภาพ                ความร้ายแรงและโทษภัยบุหรี่
                           ความร้ายแรงแรง            ต่อคุณภาพคนและคุณภาพครรภ์     
                           และโทษภัยของบุหรี่ 

๒.เทคนิคสื่อ           การขู่ให้กลัว                  การสะดุดคิดและสร้างประเด็นความสนใจ       
                           Fear Arousal                ให้แสวงหาความรู้การปฏิบัติด้วยตนเอง
                                                             Voice Attention
๓.การนำเสนอ         ภาพเดี่ยว                      ประติมากรรม จัดวางสื่อผสม
                           Single Media                 Multi-Media
๔.จุดแข็ง               ความสมจริง                   ความสะเทือนใจ พลังดลใจ
                           ความน่าเชื่อถือ               ยืดหยุ่นต่อความพร้อมและความสมัครใจ
                           เข้าถึงตรงผู้สูบ
๕.จุดอ่อน              การหมดความหมาย         มีข้อจำกัดในการนำเสนอ
                           การตีตราผู้สูบและ           ต้องจัดพื้นที่และจัดระบบสื่อเสริม
                           ให้ความหมายเชิงลบ
                           บิดเบือนออกจากโทษภัย
                           บุหรี่ ไปสู่การสร้าง
                           ภาพลบต่อคนสูบ

ในทางทฤษฎีนั้น ผลการศึกษาวิจัยสื่อกับผลต่อการใช้ในสถานการณ์ต่างๆในระยะหลังๆนั้ ต่างเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ไม่สามารถกำกับและควบคุมให้ตายตัวไปทุกสถานการณ์ได้ ดังนั้น จึงสรุปผลให้แน่นอนไม่ได้ มีงานวิจัยและการให้ทรรศนะวิพากษ์ของนักวิชาการด้านสื่อกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้บทสรุปไว้มากเหมือนกันที่กล่าวว่า ไม่สามารถยืนยันและรับประกันได้ว่าสื่อตัวหนึ่งที่ได้ผลดีกว่าสื่ออีกตัวหนึ่ง เมื่อสถานการณ์และกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไป จะยังใช้ได้ผลดีกว่าอยู่เสมอ ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า การมีสื่อที่หลากหลาย และการใช้สื่ออย่างผสมผสาน จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนครอบคลุมความจำเป็นต่างๆได้ดีที่สุด สื่อต่างกัน และการทำหลายๆอย่าง จึงสามารถนำไปใช้ด้วยกันและเป็นการเพิ่มโอกาสในการบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆที่ต้องการร่วมกัน โดยไม่ต้องเลือกว่าจะมีสื่อที่ดีที่สุดเพื่อนำไปแทนสื่ออย่างอื่น

ภาพบนซองบุหรี่นั้น อาจจะไม่ได้ผลและก่อให้เกิดผลลบอีกด้วย ซึ่งในทางทฤษฎีสื่อการเรียนรู้ ก็อธิบายได้เหมือนกันครับว่า อิทธิพลของสื่อและการนำเสนอนั้น มีบทบาทเพียงกาารสะดุดความสนใจและเปิดการรับรู้ให้กระบวนการปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ของผู้เรียนหรือผู้รับสื่อ กับประสบการณ์และสารที่บรรจุลงสื่อ ซึ่งความมีอิทธิพลในลักษณะดังกล่าวนี้ จะมีขีดสูงสุดและต่ำสุดของการให้ผลอย่างที่ต้องการ หากพ้นไปจากขีดสูงสุดและต่ำสุดดังกล่าวนี้แล้ว ก็จะหมดความหมาย เช่น การปรากฏภาพบนซองบุหรี่อย่างแน่นอนตายตัวและซ้ำบ่อยๆ ด้วยปริมาณของความมีประสบการณ์ ณ ระดับหนึ่ง ก็จะหมดความหมาย อีกทั้งทำให้กลุ่มเป้าหมายชาชิน ซึ่งก็เป็นที่สงสัยและเป็นหัวข้อที่ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์ที่แตกต่างหลากหลายกันมากเหมือนกันว่าจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีหรือเปล่า

นอกจากนี้ ในอีกทางหนึ่ง การใช้วิธีสื่อแบบขู่ให้น่าเกลียดน่ากลัวนั้น ด้านที่ได้ผลก็มี แต่อีกด้านหนึ่ง การกลัวโทษภัยของบุหรี่กับการเชื่อมโยงบุหรี่ไปสู่การเกลียดกลัวคนสูบนั้น ในทางทฤษฎีจิตวิทยาแบบ Conditioning Stimuli ก็แสดงกระบวนการให้เห็นได้ว่าเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ดังนั้น การตีตราและให้ความหมาย 'เลว' แก่คนสูบ แทนการมุ่งลดผลกระทบและลดโทษภัยจากบุหรี่ จึงเกิดขึ้นมาแทนได้อยู่เสมอเหมือนกัน

ผลสืบเนื่องก็คือ คนสูบบุหรี่ที่เป็นกลุ่มที่ค้อยตามสังคมและขึ้นต่อพลังสังคมมากกว่าการพึ่งพลังอำนาจในตน ก็จะเกิดการยอมรับการตีตรา ถูกกีดกันและแปลกแยกตนเองออกจากมาตรฐานสังคม เกิดแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่สิ่งเสพติดอย่างอื่นต่อไป  ดังข้อค้นพบจำนวนมากยืนยันว่าผู้เสพสารเสพติดที่ร้ายแรงจำนวนมากมีจุดเริ่มต้นที่การสูบบุหรี่ ดังนั้น การขู่ให้เกลียดกลัวและตีตราคนสูบบุหรี่แทนการแก้ปัญหาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ โดยต้อนรับและให้โอกาสคนอยู่้เสมอ จึงนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ก็กลับเป็นแรงสะท้อนเชิงลบ ผลักผู้สูบบุหรี่ให้หลุดไปสู่วงจรความเสี่ยงต่อการเสพสารเสพติดมากกว่าแต่เดิมที่สูบบุหรี่เสียอีก

แง่มุมนี้และหลักคิดตรงนี้ หากถือเป็นหลักทำงานสื่อกับการให้สุขศึกษาไปด้วยก็เชื่อว่าจะทำให้กระบวนการต่างๆมีความแยบคาย ทำงานได้ผล และก่อเกิดกระบวนการที่ดีอย่างอื่นไปด้วยครับ

สวัสดีครับคุณ kunrapee ครับ
ดูแล้วสะดุดความสนใจได้มากเลยนะครับ นอกจากภาพที่เห็นนี้แล้ว ในชิ้นงานเขาเจาะใส่เครื่องเสียง เมื่อติดตั้ง ก็จะมีเสียงอีกด้วยครับ

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
พลังการลงทุนด้านสื่อและพลังสื่อโฆษณาบุหรี่ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กับกำลังการลงทุนด้านสื่อสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพที่สังคมต่างๆคิดทำขึ้นมาต่อกรนั้น เทียบกันแล้วก็คงจะเหมือนกับช้างกับมดแดงเลยกระมังนะครับ แต่ก็จำเป็นต้องทำเท่าที่จะทำกันได้

เป็นสื่อที่เห็นแล้วสะเทือนใจ

ดีคะ...สำหรับคนสูบน่าจะรู้สึก

แย่ได้ไม่น้อย ไม่ต้องมีเนื้อหาสาระหรือข้อมูล

ในการสื่อเรื่องพิษภัยบุหรี่..แค่เห็นก็เข้าใจได้ดี

เลยที่เดียวคะ อยากให้มีคนที่คิด สร้างสื่ออะไรแบบนี้

ออกมาเยอะๆ ... จะได้มีให้เห็นอยู่ทั่วไปคะ

 

สวัสดีครับคุณ kitty b ครับ
Medical Artist ที่ตีโจทย์และทำสื่อชิ้นนี้ขึ้น เป็นลูกศิษย์มือหนึ่งของอาจารย์โชติ แสงสมพร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงศักดิ์ ศิลากร ของหน่วยผลิตหุ่นจำลองทางการแพทย์ ศิริราชน่ะครับ ที่สวมเสื้อสีฟ้าน่ะครับ งานดีมากครับ 

สวัสดีค่ะท่านอาจาารย์ วิรัตน์ คำศรีจันทร์

สื่อแบบนี้อาจช่วยให้ผู้คนตระหนักได้ขึ้นบ้างนะคะ คนบางคนยอมรับไม้อ่อนง่ายกว่าไม้แข็ง คิดถึงคนอื่น เด็ก/ลูก มากกว่าตัวเอง น่าจะใช้ได้ดีกกับคนกลุ่มนี้ค่ะ

ประทับใจกับการนำศิลปะมาช่วยพัฒนาสังคมค่ะท่านอาจารย์ skillful จริงๆ

สวัสดีครับ ดร.ปริมครับ

ข้อสังเกตของดร.ปริมน่าสนใจและชอบมากครับ เพราะได้ผลไกลกว่านึกถึงตัวเอง แต่นึกถึงเด็กและตระหนักถึงผลกระทบของควันบุหรี่มือสองที่จะมีผลต่อคนที่ไม่ได้สูบ ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่สตรีและมารดา เกิด Connect ตนเองต่อจุดหมายของการสื่อในลักษณะนี้ไปด้วยได้

                      

งานศิลปะเพื่อสังคมที่สิงคโปร์ก็เฟื่องฟูและน่าประทับใจมากเลยนะครับ เลยเอารูปถ่ายงานประติมากรรมบนทางเดินเท้าบอกเล่าพัฒนาการของบรรพชนสิงคโปร์ ไม่ให้อนุชนคนรุ่นหลังลืมความยากลำบากและการต่อสู้ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ตั้งรกรากมาจากการเป็นกุลีท่าเรือ ที่ทำเป็นสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางสังคมและทำเป็นสิ่งตบแต่งสร้างรสนิยมในชีวิตไปด้วยของสิงคโปร์มาฝากครับ เผื่อว่าดร.ปริมมีโอกาสผ่านไป จะได้ไม่ลืมที่จะถ่ายภาพและนำเรื่องราวต่างๆมาเล่าสู่กันน่ะสิครับ

ผมมีโอกาสพานักศึกษาไปดูงาน เมื่อมีเวลาก็ปลีกตัวไปเดินคนเดียว ไปเดินถนนบริเวณที่คนท้องถิ่นเรียกว่า Cultural Belt เพื่อไปดูวัด หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ จากนั้นก็ตะรอนๆไปตามหอศิลป์และงานจัดแสดงทางศิลปะทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ ทั้งของสิงคโปร์และศิลปินต่างประเทศที่ไปแสดงงานที่สิงคโปร์ แต่เกือบทั้งหมดได้เห็นแต่เพียงภายนอกเพราะเวลาที่พอจะไปเดินได้นั้น เป็นช่วงเวลาหลังจากพานักศึกษาไปดูงานตามที่ต่างๆ จนหมดเวลาทำการของแหล่งที่ผมจะไปเสียแล้ว กระนั้นก็ตาม แม้ได้เห็นเพียงงานที่ติดตั้งภายนอกและดูสภาพแวดล้อมภายนอก ก็รู้สึกได้ว่าเขามีความมั่งคั่งของงานและให้ความสำคัญต่อพื้นที่สำหรับการกล่อมเกลาสุนทรียภาพและรสนิยมชีวิตทางด้านนี้ของประชาชนรุ่งเรืองมาก

ขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาตอบอย่างละเอียดและให้ข้อคิดนำไปอ้างอิงต่อได้เลยค่ะ :)

เป็นโอกาสได้บันทึกถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆเผยแพร่ไปด้วย
แล้วก็เป็นโอกาสได้เขียนแบ่งปัน แทนแสดงความขอบคุณคุณหมอไปด้วยน่ะสิครับ
เพราะผมอ่านงานเขียน งานความคิด และหลายอย่างในบันทึกของคุณหมอ
ที่ทำให้ได้หลายอย่างเสมอๆเลยละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท