บันทึกช่วยจำจากที่ประชุมบอร์ด


คนบางคนไม่มีข้อมูลแล้วพูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่สำหรับผมถ้าไม่มีข้อมูลผมไม่กล้าที่จะมั่วหรอกครับ -- อายเขา

 

      29 พฤษภาคม 2555  เวลา 9.00 -13.30 น.  ประชุมบอร์ดประจำหน่วยงานครับ  มีวาระการประชุมที่สำคัญ คือ

     1) การขออนุมัติผ่านร่างงบประมาณเงินรายได้ประจำปี 2556  ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีภารกิจหลายๆอย่างที่ไม่น่าพึงพอใจ โดยเฉพาะการบริการโสตทัศนูปกรณ์ที่อาคารเรียนรวม

     2) การพิจารณาอนุมัติโครงสร้างองค์กรในหน่วยงานฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา  ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปจนถึงการจ่ายค่าตอบแทนการบริหารงาน  โดยที่ประชุมพูดถึงจุดอ่อนของสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่อาคาร 19 เช่น ห้องแฝดเสียงดังไม่ทั่ว  คอมพิวเตอร์อ่าน CD ไม่ได้ จอฉายไม่ชัด  เป็นต้น   และเสนอว่าจะยุบงานนี้ให้ไปสังกัด รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา  ซึ่งผมได้ชี้แจงไปว่ากลุ่มงานนี้ปฏิบัติกันมาเป็น 5 ปี 10 ปีแล้ว  ไม่ใช่ว่ากำหนดโครงสร้างขึ้นมาเมื่อวานแล้วมาขออนุมัติโครงสร้างวันนี้เสียเมื่อไร  ต้องขอบคุณรองคณบดีจากคณะรัฐศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และเสนอว่างานนี้เขาทำกันมาตั้งนานแล้ว  ถ้าอนุมัติเงินตอบแทนการบริหารให้กลุ่มอื่นแล้วไม่อนุมัติให้กลุ่มงานบริการโสตทัศนูปกรณ์ ก็จะทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจได้ อีกทั้งเป็นเงินรายได้ของหน่วยงานเอง  และเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะต้องสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรไปให้คนทำงาน   ไม่ใช่ให้ยุบงาน  แล้วเอาภารกิจนี้ไปให้งานอื่นทำ  ถ้าโอนภารกิจไปจึงจะสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรให้ เช่นนี้ไม่ถูกต้อง  ขอบคุณรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์จริงๆ ที่มองเป็นเหตุเป็นผลและเป็นธรรม  คราวนี้เห็นสภาพเดิมๆ  เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้จนเรียกว่าปกติไปแล้ว คือ ไม่มีใครช่วยผมให้เหตุผลในทางบวกต่อที่ประชุมเลย  เป็นเช่นนี้หลายครั้งแล้วจริงๆ ครับ  น่าน้อยใจจริงๆ

       ซึ่งทั้งสองเรื่องที่สำคัญนี้มีการพูดถึงผลกระทบจากการบริการ  โดยเฉพาะที่อาคารเรียนรวม  ข้อมูลที่นำมานำเสนอในที่ประชุม  มีการพูดว่าห้องแฝด (ห้อง 19110 และ ห้อง 19111)  ลำโพงดังเฉพาะด้านหน้าห้อง  ด้านหลังไม่ได้ยิน  และมีข้อเสนอแนะว่าให้กระจายลำโพงให้ทั่วห้อง โดยเปิดเสียงให้เบาลง  เพื่อป้องกันเสียงก้องกังวานจนฟังไม่รู้เรื่อง  และกรรมการบางคนบอกว่า ห้องนี้ออกแบบไม่ถูก ทางที่ดีควรให้หน้าห้องเป็นเพดานต่ำ  หลังห้องเป็นเพดานสูง  (ในทำนอง Opera House) เพื่อให้เสียงกระจายไปถึงข้างหลัง  ซึ่งผมได้ชี้แจงไปในที่ประชุมทันทีเลยว่า ห้องนี้เดิมออกแบบไว้เช่นนั้นจริงๆ คือด้านหน้ามีเวทีบรรยายสูง 0.50 ม. อยู่ด้านเพดานต่ำ โดยเพดานสูงเพียง 3.00 ม.  ผู้บริหารสมัยนั้นเคยปรึกษาหารือเรื่องแบบก่อสร้าง  เมื่อเราเสนอแนะไปแล้วว่า  จอใหญ่กับห้องเพดานเตี้ย(3.00 ม.) ไม่เหมาสมกัน  เมื่อห้องกว้างจอฉายต้องโตขึ้นและสูงพ้นศีรษะของผู้บรรยาย    เมื่อเสนอแนะไปแล้วผู้ออกแบบเขียนแบบก่อสร้างก็ไม่ได้แก้ไข  ยังคงดำเนินการก่อสร้างไปทั้งที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นห้องบรรยายเช่นนั้น  จนอีก 2-3 ปีต่อมา  จึงได้แก้ไขให้จออยู่สูงขึ้น โดยการกลับหลังหันเอาเวทีไปอยู่ด้านที่สูง 5.00 เมตร  ให้จอใหญ่ขึ้น อยู่สูงขึ้นอีก 2.00 เมตร เพื่อให้สามารถมองเห็นจอฉายได้ทั่วห้อง   สำหรับระบบเสียงที่ให้ข้อมูลว่าเสียงดังเฉพาะด้านหน้าเสียงไม่ถึงด้านหลังนั้น  เมื่อไปดูสถานที่จริงพบว่า  สภาพนั้นเป็นสภาพก่อนปี 2545 ครับ คือ เดิมมีลำโพงอยู่ 2 ตัวซ้ายขวาหน้าห้องจริง  เกิดปํญหาด้านหลังไม่ได้ยินจริง  จนกระทั่งปี 2545 (หลักฐานจากรหัสครุภัณฑ์ที่ปรากฏ)  จึงได้มีการเพิ่มลำโพงให้กระจายอยู่บนเพดานจำนวน 18 จุด ซึ่งแสดงว่าได้มีการแก้ปัญหาดังกล่าวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว  และปัจจุบันระบบเสียงก็ได้รับการบำรุงรักษามาตลอด  พูดตรงไปตรงมาก็คือเครื่องขยายเสียงและลำโพงใช้งานได้ดีอยู่  แต่เนื่องจากห้องนี้เป็นพื้นหินขัด  จะเกิดปัญหาเสียงก้องเมื่อเปิดดังเกินไป  หากจะแก้ปัญหาเสียงก้องจึงต้องแก้ที่วัสดุปูพื้นและวัสดุผนังให้ดูดซับเสียงให้ได้มากกว่านี้  เช่น การปูพรมที่พื้น และการบุแผ่นดูดซับเสียง (Acoustic Foam) ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้งบประมาณอีกหลายสตังค์อยู่

         กรรมการหลายท่านรวมทั้งประธานบอร์ดพูดในทำนองว่าเราไม่เคยสำรวจสภาพห้องเรียน  ซึ่งผมก็ชี้แจงในที่ประชุมว่า การของบประมาณแต่ละครั้งนั้น เราจะนำเสนอข้อมูลทุกครั้ง ว่าสภาพเป็นอย่างไร  ความต้องการเป็นอย่างไร  แต่การที่เราเสนอปรับปรุงแล้วจะได้หรือไม่ได้ตามที่เสนอนั้น เป็นอำนาจการพิจารณางบประมาณของทีมบริหารวิทยาเขต ผ่านกองแผนงาน  จนกระทั่งมีข้อเสนอจากองค์ประชุมว่างานบริการโสตทัศนูปกรณ์เพื่อการเรียนการสอนนั้นควรจะอยู่ที่กองบริการการศึกษา  เพราะว่ากองบริการการศึกษามีหน้าที่จัดตารางสอนแต่ไม่มีข้อมูลเรื่องห้องเรียน   นี่ยิ่งไปกันใหญ่  แทนที่หน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานที่มีหน้าที่บริการโสตทัศนูปกรณณ์เพื่อการเรียนการสอน  แต่กลับจะเอาไปทำเสียเอง  ทั้งๆ ที่หน่วยงานนั้นไม่ใช่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ  จึงไม่แปลกใจที่บางหน่วยงาน เช่น ศูนย์คอมพิวเตอร์เอางานรักษาความปลอดภัยไปทำเอง  เอางานระบบกระจายเสียงตามสายไปทำเอง  หรือแม้แต่กองแผนงานเอางานก่อสร้างไปทำเอง เป็นต้น

        เมื่อเสนอปัญหาขึ้นมาหลายๆ ประเด็น   ผมจึงรับปากกับที่ประชุมว่าจะไปสำรวจข้อมูลจากอาคารเรียนรวมมาจากทุก ห้อง  ให้ประธานบอร์ดนำไปเสนอในทีมบริหารเพื่อแก้ไขปัญหา  วันนี้ (29 พค.55) จึงไปพบหัวหน้างานบริการโสตทัศนูปกรณ์  เพื่อติดตามงานที่แจ้งด้วยวาจาไปเมื่อวาน หลังจากออกจากห้องประชุมที่ให้เก็บข้อมูลสภาพห้องเรียนแต่ละห้อง  พบว่าข้อมูลดังกล่าวคุณสมศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงาน ทำอยู่แล้วและมีข้อมูลทุกห้อง ว่าแต่ละห้องมีโสตทัศนูปกรณ์อะไรบ้าง  สภาพเป็นอย่างไร และความต้องการเป็นเช่นไร  ซึ่งทราบว่างานทะเบียนและสถิตินักศึกษาเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้ทุกเทอม  แต่ปัญหาที่จัดห้องไม่ถูกกับโสตทัศนูปกรณ์ที่มีนั้นมันไม่รู้เพราะจัดตารางสอนตามข้อมูลที่มีหรือเปล่า  แต่ที่แน่ๆ คือเราถูกกว่าวหาแล้วว่าไม่มีข้อมูล

        โดยสรุปงานนี้ข้อมูลที่เอามาเสนอในที่ประชุมเป็นข้อมูลที่เกิดจากความรู้สึกในอดีตหรือเปล่า  ไม่ใช่ข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานที่เป็นปัจจุบัน

 

หมายเลขบันทึก: 489595เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท