สี ความแกร่ง ลักษณะการผุพัง และสึกกร่อนในพระกรุเนื้อดินดิบและดินเผาระดับต่างๆ


การทำความเข้าใจจุลสัณฐาณของพระเนื้อดิน จะทำให้สามารถแยกแยะพระกรุออกจากพระโรงงานได้โดยง่าย

จากการพยายามทำความเข้าใจเปรียบเทียบลักษณะและเนื้อหาของพระกรุเนื้อดินกับพระโรงงาน ทำให้ผมได้ความรู้เพิ่มขึ้นในประเด็นของความพยายามของช่างทำพระโรงงาน ที่จะต้องพยายามทำให้เหมือนที่สุดให้ได้ ไม่ว่าในมิติใด ที่บอกไว้ในตำราการดูพระที่มีอยู่ทั้งหมด

นับได้ว่า ช่างทำพระโรงงานเหล่านี้ ได้มีการศึกษา ค้นคว้า หาวัสดุ และวิธีการที่จะทำพระให้ตรงกับที่เขียนไว้ในตำรา เช่น

  • พิมพ์
  • ตำหนิของแม่พิมพ์
  • ลักษณะพิเศษที่ต้องมี เช่น ลายมือ รอยขีดข่วนมาตรฐานบนผิวพระ
  • สี
  • ความละเอียดของเนื้อ
  • มวลสาร แร่ กรวด ทรายสีต่างๆ ที่ควรมี
  • ความแกร่งของเนื้อ และความยุ่ยของผิว
  • ความพรุน
  • ความเหี่ยวของผิว
  • ชั้นผุพังต่างๆบนผิว
  • คราบปูน คราบกรุที่เกิดจากดินและปัจจัยแวดล้อมของกรุ

ที่การทำพระฝีมือ ต้องมีความละเอียดละออ แนบเนียนไปทั้งหมด จึงจะถือว่าเป็นพระระดับ "เก๊เฉียบ" หรือ ระดับ "ปาดคอเซียน" ได้

ดังนั้นการท่องจำตามตำราที่เขียนไว้ ไม่ว่าจะทันสมัยขนาดไหน ก็ยากที่จะรอดพ้น "โดน" พระฝีมือ ของท่าน "เซียนโรงงาน" ไปได้โดยง่าย

หลังจากผมใช้เวลาคิดพินิจพิจารณาทั้งพระแท้ ที่พรรคพวกให้ความอนุเคราะห์รูปภาพแบบเน้นๆ พระกรุเนื้อดินที่ผมมีอยูบ้าง และพระเก๊ระดับต่างๆแล้ว จึงได้ประเด็นสำคัญในการหลีกเลี่ยงการหยิบพระเก๊เฉียบ ก็คือ หันมา

  • ทำความเข้าใจจุลสัณฐาณของพระเนื้อดิน
  • เน้นกระบวนการการสร้าง วัสดุที่ใช้ วิธีการ และผลที่น่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ
  • ไม่ว่าจะเป็นพระดินดิบ หรือพระเนื้อดินเผาแกร่งระดับต่างๆ

วิธีการนี้จะช่วยให้สามารถแยกแยะพระกรุออกจากพระโรงงานได้โดยง่าย

ประเด็นสำคัญประเด็นแรกก็คือ สีของดินพระกรุเก่าจะมีโทนสีจากลักษณะของความอัดแน่น การหดตัวของดิน และการแทรกซึมของแร่และสารละลายต่างๆเข้าไปในเนื้อในขององค์พระ แบบไล่โทนสี (Chromatogphic) ตามลำดับจากนอกเข้าใน ไม่มีแบ่งออกเป็นชั้นๆ (Layer)

ทำให้เกิดลักษณะที่สองคือ ความแกร่ง ของเนื้อใน แบบเดียวกับ แก่นของไม้เนื้อแข็ง มองเห็นความมันวาวในเนื้อ และยังคงเห็นสภาพของความเหี่ยว ที่ยังน่าจะเกินฝีมือของช่างทำพระโรงงานทั่วไป

สำหรับพระที่ได้อายุจะมีลักษณะการผุพังของผิว ที่มีความยุ่ยมาก ไปจนถึงยุ่ยน้อยลง จากนอกเข้าใน แบบไล่ลำดับ ไม่มีชั้น เช่นเดียวกันกับเนื้อแกร่ง 

และสุดท้ายก็คือ ความสึกกร่อนที่เกิดโดยธรรมชาติ (กร่อนในกรุ) และโดยการสัมผัสของคน (การใช้) ที่ทำให้เกิดการสูญหายไปของผิวส่วนที่สัมผัสบ่อยๆ ที่มีทั้งข้อดี คือการเปิดของผิว ทำให้ดูง่าย เห็นเป็นชั้นต่างๆชัดเจน แต่ก็ทำให้ความสวยงามธรรมชาติ และความสมบูรณ์ของพระลดลงไป

ในกรณีของพระกรุเนื้อดินดิบ ที่ผ่านความร้อนน้อย ด้วยเจตนาจะรักษามวลสารต่างๆเอาไว้ และใช้น้ำว่านรักษาเนื้อพระแทนการเผา ตามหลักของสมุนไพร ยา และพุทธคุณนั้น

  • เนื้อในของพระที่ได้ส่วนใหญ่จะไม่แน่นแกร่ง
  • ถ้าความร้อนที่อบพระดินดิบลงตัวพอดี
    • จะมีน้ำว่านออกมาคลุมเนื้อพระ
    • ทำให้ผิวพระไม่กร่อนเหมือนเนื้อดินเผาทั่วไป
    • ทำให้เกิดเป็นพระเนื้อดินผิวงอก แทนเนื้อดินผิวกร่อน

 

แต่จะสังเกตได้ค่อนข้างยาก สำหรับมือใหม่ เพราะ ความแกร่งทำให้แต่ละชั้นบางมาก แทบดูไม่ออกว่ามีชั้น แต่อาจใช้หลักว่ามี หรือไม่มีไปพลางก่อน โดยเฉพาะในซอกลึกที่ไม่น่าจะมีการสัมผัสจากการใช้

ดังนั้น การเริ่มศึกษาผิวยุ่ยด้านนอก ควรเริ่มที่พระเนื้อดินดิบที่ผ่านความร้อนน้อย และไม่มีสิ่งปกคลุม ไม่ว่าจะเป็นคราบกรุ หรือน้ำว่าน

วิธีการก็คือ ส่องเปรียบเทียบระหว่างส่วนที่กร่อนกับส่วนที่ไม่กร่อน ให้เห็นความหลากหลายของทั้งสองมิติ ที่พระโรงงานยังทำไม่ได้

สำหรับในกลุ่มพระดินเผา จะมีทั้งเนื้อแกร่งน้อย ปานกลาง และแกร่งมาก ที่มีสาเหตุมาจากทั้งวัสดุ วิธีการ และความสมบูรณ์ของการเผา

การศึกษาควรเริ่มจากพระที่แกร่งปานกลาง ที่จะดูได้ชัดทั้งชั้นแกร่งด้านใน และด้านนอก เช่น พระกำแพงเพชร และพระพิษณุโลก ทั้งหลาย

เพราะพระที่แกร่งน้อย เช่นพระขุนแผนวัดพระรูป เนื้อจะยุ่ยมากจนอาจทำให้มือใหม่สับสนได้

และพระที่แกร่งมาก เช่น พระรอดมหาวัน ก็จะมีชั้นต่างๆให้ดูน้อยและบางมากเกินไป ที่เหมาะกับคนที่ชำนาญแล้วเท่านั้น

 

ดังนั้น การดูพระเนื้อดิน ก็ควรต้องเลือกศึกษาจากง่ายไปหายาก ในทุกระดับเช่นกัน

เพื่อป้องกันการสับสนกับ พระโรงงาน ที่ช่างเขาพยายามทำให้เหมือน ที่สุดเท่าที่จะทำได้

และแน่นอนครับ ฝีมือและเทคนิคการทำพระเก๊ของเขาจะพัฒนามากขึ้นทุกวัน ให้ทันกับความรู้ และยุคของเทคโนโลยีครับ

จับหลักให้มั่น แล้วจะปลอดภัยมากขึ้นครับ

หมายเลขบันทึก: 489440เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท