งานวิจัยเกี่ยวกับ Fluoride Gel ในการป้องกันฟันผุ


1.23% Acidurated phosphate fluoride

ทบทวนวรรณกรรม จากงานโครงการศึกษาวิจัยฟลูออไรด์ของผมเองครับ :D เป็นความรู้ที่ละเอียด แต่ไม่ลึกจนเกินไปครับ เอามาฝากทุกๆ ท่าน ทางคณะกำลังวิจัยเพื่อนำไปสู่การผลิตเพื่อลดการสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศครับ

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กระบวนการหลักในการป้องกันฟันผุของฟลูออไรด์มาจากผลของฟลูออไรด์ต่อฟันที่ขึ้นมาในช่องปากแล้ว (post-eruptive effect) เป็นส่วนใหญ่ คือ ต้องมีฟลูออไรด์อยู่ในสารละลายรอบๆ ตัวฟัน โดยกระบวนการสำคัญ ได้แก่ ผลของฟลูออไรด์ต่อกระบวนการสูญเสียแร่ธาตุและกระบวนการคืนธาตุที่ผิวฟัน (demieralization – remineralization cycle) (Bader JD,2001 และHellwig E,2004)

การที่แร่ธาตุบนตัวฟันจะอยู่ในสภาวะสมดุลขึ้นอยู่กับค่า pH ความเข้มข้นของแคลเซียมฟอสเฟต และ ฟลูออไรด์ในสารละลายรอบตัวฟัน ในสภาวะปกติ น้ำลายจะอิ่มตัวด้วยแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของผิวเคลือบฟัน แต่จะไม่มีการตกตะกอนของแคลเซียมและฟอสเฟต เนื่องจากในน้ำลายจะมีสารบางตัวที่จะยับยั้งการตกตะกอนของสารเหล่านี้ เมื่อค่า pH ลดลง จะทำให้ apatite บนผิวเคลือบฟันละลายตัวออกมาได้มากขึ้น ในช่วง pH 4-7 การลดลงของค่า pH เพียง 1 จะทำให้มีการละลายตัวของ hydroxy apatite เพิ่มมากขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งส่งผลต่อปริมาณแคลเซียมและฟอสเฟตในน้ำลาย จากการศึกษา พบว่า ที่ค่า pH 5.2-5.5 จะเป็นภาวะที่ปริมาณแคลเซียมและฟอสเฟตในน้ำลายต่ำกว่าจุดอิ่มตัวเล็กน้อย และถ้ามีการลดลงของค่า pH ลงต่ำกว่าจุดนี้ จะทำให้มีการละลายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงเรียกว่า pH นี้ว่า "Critical pH" (Larsen MJ,2003 และ White DJ,1990)

เมื่อมีการละลายตัวของแร่ธาตุ จะมีการสะสมกลับของแร่ธาตุที่ผิวฟัน เกิดขึ้นไปพร้อมกัน  โดยหากมีฟลูออไรด์แม้เพียงปริมาณต่ำๆ อยู่ในสารละลายรอบตัวฟัน ฟลูออไรด์ก็จะจับตัวกับผลึกเคลือบฟัน (enamel apatite) เกิดเป็น fluorapatite หรือ fluoridated hydroxyapatite และจะอิ่มตัวอยู่ในสารละลายรอบตัวฟัน ทำให้ไปจับบนผิวเคลือบฟันที่มีการละลายไป ซึ่ง fluorapatite จะแข็งกว่าผลึกของ hydroxy apatite จึงทำให้บริเวณที่มีการสะสมกลับของแร่ธาตุ ได้แก่ บริเวณ white spot lesion มีความแข็งแรงกว่าเคลือบฟันปกติทั่วไป การศึกษาทางระบาดวิทยาชี้ให้เห็นว่าการได้รับฟลูออไรด์เฉพาะที่เป็นประจำทุกวันที่ระดับความเข้มข้นต่ำๆ จะมีผลดีกว่าการได้รับฟลูออไรด์เป็นช่วงๆ ที่ความเข้มข้นสูงๆ

การใช้ฟลูออไรด์เพื่อประโยชน์ในการป้องกันฟันผุมีการนำมาใช้  2 รูปแบบ ได้แก่ ฟลูออไรด์ทางระบบ (systemic fluoride) เช่น ฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม (water fluoridation), นมผสมฟลูออไรด์ (milk fluoridation), ฟลูออไรด์เสริม (fluoride supplemental), การเติมฟลูออไรด์ในเกลือ (salt fluoridation), และฟลูออไรด์เฉพาะที่ (topical fluoride) ซึ่งมีทั้งที่ใช้โดยผู้ป่วยเอง (self-applied topical fluoride) เช่น  ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์, น้ำยาบ้วนปาก, และฟลูออไรด์ที่ใช้โดยทันตแพทย์หรือทันตบุคลากร เช่น ฟลูออไรด์โฟม (fluoride foam), ฟลูออไรด์วานิช (fluoride vanish) ผงขัดฟันผสมฟลูออไรด์ (fluoride prophylaxis paste), ฟลูออไรด์เจล (fluoride gel)  จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ฟลูออไรด์เจลมีผลในการป้องกันฟันผุ ได้ร้อยละ 22-28 ฟลูออไรด์เจลที่ทันแพทย์นิยมใช้เพื่อป้องกันฟันผุนั้น จะเป็นชนิดที่มีความเป็นกรด คือ 1.23% แอซิดดูเรตฟอสเฟตฟลูออไรด์ (1.23% Acidulate phosphate fluoride) ซึ่งจะมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ประมาณ 12,300 ppm โดยกลไกที่สำคัญคือ แอซิดดูเรตฟอสเฟตฟลูออไรด์จะไปกัดผิวของเคลือบฟันทำให้เกิดแคลเซียมไอออนที่จะมารวมตัวกับฟลูออไรด์เกิดเป็นแคลเซียมฟลูออไรด์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีไฮโดรเจนไอออนซึ่งจะรวมตัวกับฟลูออไรด์กลายเป็นกรดไฮโดรฟลูออริก ที่สามารถแทรกผ่านเข้าไปในผิวเคลือบฟัน ทำให้มีปริมาณฟลูออไรด์สะสมที่ผิวเคลือบฟันมากขึ้น (Chow LC,2000) จากการศึกษาลักษณะของแคลเซียมฟอสเฟตโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนส่องกราดพบว่า ภายหลังจากการให้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ จะเกิดแคลเซียมฟลูออไรด์สะสมบนผิวเคลือบฟันที่มีลักษณะเป็นกลุ่มผลึกกลมเล็กและเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ หากใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ชนิดต่างๆ ที่มีความเข้มข้นของฟลูออไรด์สูง (มากกว่า 1,000 ppm ) จะมีการสร้างเป็นแคลเซียมฟลูออไรด์เก็บไว้บริเวณผิวฟันเป็น Fluoride reservoir เมื่อมีการสร้างกรดจน pH บริเวณดังกล่าวลดต่ำลง ก็จะมีการปลดปล่อยฟลูออไรด์ออกมาช่วยในการยับยั้งกระบวนการเกิดฟันผุได้

วิธวินท์ 

คำสำคัญ (Tags): #ฟลูออไรด์
หมายเลขบันทึก: 489155เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 01:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กดปุ่มใส่รูปแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นอ่ะครับ T^T /วิธวินท์

ใส่รูปไม่ได้ ต้องถามน้องปลาแล้วหละ

ฟลูออไรด์ เจล หาซื้อมาอมเพื่อป้องกันฟันพุเองได้มั๊ยคะ แล้วSodium Fluoride ในยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งมันดีมั๊ยคะ???

credit พ.ค.55' ทพ.วิธวินท์ อัตพุฒ คอลัมน์ สาระแนแชร์ความรู้ 1 คะแนน// HUM

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท