“เครื่องมืออะไร ก็นำมาใช้พัฒนาคนไม่ได้ หากไม่เข้าถึงจิตถึงใจ และเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเอง”
ผู้เขียนมักเจอคำถามที่ท้าทายอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่จัดอบรมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Human KM by Enneagram โดยเฉพาะคำถามของผู้ร่วมกระบวนการที่ผ่านการอบรมมาแล้วหลายหลักสูตรอย่างโชกโชน โดยแต่ละหลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรที่ "นำเข้า" แนวคิดมาจากต่างประเทศ หรือไม่ผู้เป็นวิทยากรให้การอบรมเป็น "กูรู" ชาวต่างชาติ หรือไม่ก็หลักสูตรนั้นจัดโดยสถาบันที่ได้รับการรับรองเป็นที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น เมื่อเข้ามาร่วมกระบวนการอบรมในหลักสูตรที่ผู้เขียนและท่านอาจารย์ ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์ เป็นทั้งวิทยากร/กระบวนกร พวกเขา "จะได้อะไร" "แตกต่างอย่างไร" กับหลักสูตรเช่นว่านั้น และ "สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมกระบวนการได้หรือไม่"
ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์
ภิรัชญา วีระสุโข (ศิลา ภูชยา)
การอบรมกระบวนการ Human KM by Enneagram for ICT Managers
จัดโดย NSTDA (สวทช.) ที่ธารามันตรารีสอร์ท ชะอำ
นั่นเพราะบางคนเข้าใจไปว่าเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จากการได้รับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเชื่อว่า "เครื่องมือ" ใด ๆ จะมาเปลี่ยนแปลงตัวเราเองได้ ความคิดเช่นนี้ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด จริงอยู่ว่าเราอาจจะ "ฉุกคิด" ได้จากเครื่องมือใหม่ ๆ หรือเครื่องมือเหล่านั้นอาจจะมา "จุดประกาย" ให้เราเกิดการตระหนักรู้และอยากเปลี่ยนแปลง แต่ก็แค่เพียงแว่บเดียวที่เพิ่งผ่านการอบรมมาหมาด ๆ จากนั้น ก็ลืมเลือนเกลื่อนกลืนไปกับกาลเวลา เพราะเราไม่ได้ "เห็น" ตัวตนของเรามากพอที่จะยอมรับความจริงว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ผู้เขียนเป็นเพียงแค่กระจกบานหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งของกาลเวลาที่โชคชะตานำพาให้เราได้มีโอกาสโคจรมาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประการณ์ระหว่างกันเท่านั้น เมื่อมีส่วนทำให้หลายท่านเกิดการตระหนักรู้ในตนเองและเห็นความแตกต่างระหว่างตนเองและคนอื่นแล้ว ที่เหลือคือความเชื่อ ความเพียรที่ท่านจะ "เห็นจริง" ในสิ่งที่อยู่ภายในตนเองและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนภายในให้เกิดความสงบร่มเย็นเป็นสุขได้หรือไม่ มาถึงตรงนี้จึงเป็นที่มาของการใช้คำในหลักสูตรที่แจกให้หน่วยงานต่าง ๆ ทุกครั้งที่ไปอบรมกระบวนการ ตามคำกล่าวที่ว่า
“เครื่องมืออะไร ก็นำมาใช้พัฒนาคนไม่ได้ หากไม่เข้าถึงจิตถึงใจ และเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเอง”
ดังนั้น หากจะถามว่าหลักสูตรนี้แตกต่างจากหลักสูตรอื่นอย่างไร ผู้ร่วมกระบวนการที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปจะพึงรู้ได้ด้วยตนเอง ที่สำคัญที่สุดผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสและมีความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกและจักรวาลได้หลากหลาย แต่อะไรที่เรียนรู้ทำให้เกิดปัญญา "เห็นจริง" เกิดความ "สว่าง" "สงบ" "สะอาด" (บริสุทธิ์) สิ่งนั้นย่อม "ดี" ต่อตัวท่านอย่างแน่นอน หากรู้อะไรแล้วเพิ่มอัตตา รู้สึกว่าเหนือกว่าผู้อื่น รู้แล้วไม่ได้ละวางบางอย่างลงได้ ยังคงถือมั่นเอาไว้ ฟุ้งไป ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ย้อนกลับมาดูตนเอง สิ่งนั้นจะเรียกว่า "ดี" ที่สร้างเสริมปัญญาให้ท่านได้อยางไร
การจัดอบรม Human KM by Enneagram มุ่งเน้นการจัดการความรู้ภายในของเรา ทำให้เราตระหนักรู้ความจริงบางอย่างเกี่ยวกับตนเองและเห็นความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ อันนำไปสู่การสร้างสมดุลย์ของชีวิต

รุ่นนี้เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่แม้มีความอาวุโสแต่ก็มีไฟในการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด
รูปแบบกิจกรรมปรับเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดกลุ่ม โดยเฉพาะการตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของการจัด ดังน้ัน ความลึกของเนื้อหา หรือความผิวเผินของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อยู่ที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการเป็นหลัก เพราะการจัดกระบวนการในลักษณะนี้เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กันสองฝ่ายที่ต่างให้และรับ จึงเป็นการแบ่งปันปัญญาร่วมกัน ก่อเกิด "collective wisdom"
การสร้างบรรยากาศให้ผู้บริหาร ICT ได้มาร่วมกัน "สร้างงาน" ชิ้นเล็ก ๆ ทำให้เราต่างมองเห็น "ความเป็นเด็ก" ที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากนัก


เราจะเรียนรู้ตัวเองได้ดีที่สุดเมื่อเรากลับมาอยู่กับ "ความสามัญ" ไม่ต้องมีชีวิตหรือใช้ชีวิตโลดแล่นไปตามบทบาทหน้าที่ หมวก หัวโขนที่เราสวมอยู่ ดังนั้น การเตรียมตัว เตรียมใจสำหรับผู้เข้าร่วมกระบวนการที่สำคัญที่สุดคือการถอดหมวกทุกใบที่สวมอยู่และเปลือยความรู้สึกนึกคิดออกมาเพื่อทำความเข้าใจตัวเองและมองผู้อื่นด้วยใจที่เป็นกลาง

ทุกวันนี้ ปัญหาเรื่อง "ความต่าง" เป็นเรื่องที่สร้างความบาดหมางร้าวลึกในใจของผู้คนในสังคม อย่างยากที่จะปฏิเสธได้ นั่นเป็นเพราะ เรามองไม่เห็นวิธีคิดหรือโลกทัศน์ของผู้ที่เราคิดว่าแตกต่างจากเราอย่างแท้จริง สิ่งที่เราเห็นเป็นแค่ความเชื่อที่ว่าเขาคิดไม่เหมือนเรา ก็ไม่ใช่พวกของเรา เขาประหลาด โดยปราศจากการไตร่ตรองให้เห็นจริงในความเป็นเราเป็นเขา
หากใช้เหตุผลมากเกินไป ในขณะที่บางเรื่องอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้
หากใช้ความรู้สึกมากเกินไป ในขณะที่บางเรื่องต้องใช้ความอุเบกขา
หากใช้สัญชาตญาณมากไป ในขณะที่เรื่องนั้นต้องอาศัยปัญญา
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเรา เราจะรู้สึกเสมือนว่าชีวิตเราถูกกำหนดอยู่ตลอดเวลา เพราะเราไม่ปล่อยให้ช่วงชีวิตใดช่วงชีวิตหนึ่งของเราที่จะมีเวลาระลึกรู้ภายในตนเองและยอมรับที่จะละ ลด เลิกในบางเรื่อง แล้วเติมสิ่งดี ๆ ที่ขาดหายไป

เสียงสะท้อนภายนอกก็ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ลึกซึ้งเท่ากับการย้อนกลับมาทบทวนตนเองด้วยความใส่ใจและเข้าใจ





ผลงานของผู้คนสะท้อนโลกทัศน์ที่ออกมา คุณมองโลกอย่างไร ก็จะสื่อสารออกมาเช่นนั้น สิ่งที่ทำให้เราค้นพบตัวเองได้ดีคือสังเกตสิ่งที่ปรากฎให้เห็นเชิงประจักษ์แล้วย้อนกลับเข้าไปสำรวจโลกภายในตนเอง
ยิ่งว่าง ยิ่งสงบ แต่อย่าหลงติดกับแม้กระทั่งความว่าง

เคยมีคนถามมุมมองคนดีของผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่า
"คนดี คือคนที่เห็นความชั่วของตัวเอง"