การจัดการความรู้ในมิติของปรัชญาทั่วไป


               ปัญหาว่า การจัดการความรู้ควรอยู่ในมิติแบบใดในทัศนะทางปรัชญา ความรู้และการจัดการมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และหลักการ วิธีการ และเป้าหมายของการจัดการความรู้คืออะไร

                การพิจารณาเกี่ยวกับความรู้ในปรัชญาทั่วไป มีทัศนะที่ถกเถียงกัน ๒ ทัศนะคือ ทัศนะแบบเหตุผลนิยมและทัศนะแบบประสบการณ์นิยม โดยทัศนะแบบเหตุผลนิยมเห็นว่า เหตุผลคือเครื่องมือในการไขความลับเกี่ยวกับความรู้ กลุ่มนี้เชื่อว่า มนุษย์มีความรู้ติดตัว ซึ่งสิ่งที่จะเป็นความรู้แท้จริงคือความรู้ระดับพุทธิปัญญา คือตัวรู้ที่เกิดจากการเข้าไปรับรู้มโนคติ การรู้แบบนี้ไม่ต้องผ่านสัญลักษณ์ จิตจึงเป็นอิสระจากสิ่งที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัส ทัศนะแบบนี้เห็นว่า ความสงสัยเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะคิดหาเหตุผลเพื่อเข้าถึงความจริง ดังนั้น เหตุผลจึงกำจัดความสงสัยเพื่อเข้าถึงความจริงได้ ภาพรวมของทัศนะแบบเหตุผลนิยมคือ การเชื่อในความรู้ก่อนประสบการณ์ เหตุผล (แบบนิรนัย) คือเครื่องมือเข้าถึงความรู้ และประสบการณ์จากประสาทสัมผัสคือสิ่งเร้าของความรู้

                ส่วนทัศนะแบบประสบการณ์นิยมเห็นว่า ประสบการณ์เท่านั้นที่ทำให้เกิดความรู้ ทัศนะนี้ไม่เชื่อว่ามีความรู้ก่อนประสบการณ์ และความคิดที่ประกอบด้วยเหตุผลเป็นผลสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสภายนอกเกิดเป็นความรู้สึกเรียกว่า เพทนาการ กับการรับรู้ภายในซึ่งมีประสบการณ์เดิมอยู่กลายเป็นความรู้เรียกว่า “มโนภาพ” ดังนั้น ความรู้ที่มีอยู่จึงเป็นความรู้จากประสบการณ์ล้วนๆไม่ใช่ความรู้ติดต่อมาแต่กำเนิด

                ในการพิจารณาลักษณะของความรู้ ทัศนะที่นำมาพิจารณา ๓ ทัศนะคือ ทัศนะแบบจิตนิยม ทัศนะแบบสัจจะนิยม และทัศนะแบบปฏิบัตินิยม โดยทัศนะแรกเห็นว่า ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่อิสระจากจิต การที่เราจะรู้ว่าวัตถุมีคุณสมบัติแบบใด ล้วนขึ้นอยู่กับจิต ดังนั้น ความรู้จึงไม่อาจแยกขาดออกจากจิตได้ แต่ทัศนะที่สองเห็นว่า วัตถุอย่างหนึ่ง จิตอย่างหนึ่ง โดยคุณสมบัติของวัตถุไม่ได้ขึ้นอยู่กับจิต หากคุณสมบัติของวัตถุคือความรู้ ความรู้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยไม่ต้องอาศัยจิต และการที่จิตจะรับรู้คุณสมบัติของวัตถุต้องอาศัยประสาทสัมผัสเป็นคลองส่ง ประสาทสัมผัสมีข้อจำกัดบางประการ กรณีที่วัตถุมีคุณสมบัติละเอียด จิตไม่อาจจะรับรู้คุณสมบัติที่ละเอียดนั้นได้สมบูรณ์ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือบางชนิดเท่านั้นจึงจะเข้าถึงคุณสมบัตินั้นได้ ทัศนะแบบนี้เห็นว่า สิ่งที่เป็นจริงคือสิ่งที่ปรากฏจริง ไม่ใช่เกิดจากการคาดเดาของจิตที่ผ่านกระบวนการทางประสาทสัมผัสซึ่งมีข้อจำกัดนั้น ส่วนทัศนะแบบปฏิบัตินิยมเห็นว่า ความรู้ที่จิตนิยมและสัจจะนิยมระบุนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ตราบเท่าที่ความรู้ดังกล่าวไม่อาจตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในการใช้ประโยชน์จากความรู้จากการปฏิบัติได้จริง ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นความรู้คือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและปฏิบัติแล้วเห็นผลดีจริงเท่านั้น

                ส่วนความรู้ในทฤษฎีการจัดการความรู้ทั่วไป อาจจัดเข้ากันกับทัศนะแบบเหตุผลนิยม ในกรณีคือมนุษย์มีความรู้ติดตัว แต่ไม่เชื่อว่าเหตุผลคือเครื่องมือทำให้เกิดความรู้ ซึ่งจะจัดเข้าได้กับทัศนะแบบประสบการณ์นิยม ในกรณีที่ประสบการณ์คือเครื่องมือเข้าถึงความรู้ ในด้านลักษณะของความรู้ ทฤษฎีการจัดการความรู้ทั่วไปเห็นด้วยกับทัศนะแบบจิตนิยม ในกรณีที่ความรู้นั้นเป็นความรู้ฝังลึกคือความรู้ในจิต เห็นด้วยกับทัศนะแบบสัจจะนิยม ในกรณีที่ความรู้จำนวนหนึ่งอยู่นอกตัวบุคคล เป็นความรู้ชนิดชัดแจ้ง เช่น ในรูปของการบันทึก แต่ความรู้ทั้งหมดนั้นจะเป็นความรู้ที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติและได้ผลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต จึงค่อนข้างสอดคล้องกับมิติของปฏิบัตินิยมเป็นอย่างยิ่ง

                ในการพิจารณาคุณค่าของความรู้ในปรัชญาทั่วไป เราอาจพิจารณาได้ใน ๒ ส่วนคือ คุณค่าภายในตัวความรู้ซึ่งซ่อนความดี ความงาม ความถูกต้อง และความมีเหตุผลอยู่ด้วย อีกประการหนึ่งคือคุณค่าภายนอก ซึ่งเป็นการแสดงตัวของความรู้ อาจแสดงออกมาในลักษณะการรับรู้ด้วยจิต สาระของความรู้และประโยชน์ ซึ่งทฤษฎีการจัดการความรู้ทั่วไปจะให้ความสำคัญกับอย่างสุดท้ายมากกว่า นั่นหมายถึง ความรู้จะมีค่าก็ต่อเมื่อมีประโยชน์ แต่ไม่ได้ละทิ้งคุณค่าเชิงจิตวิสัยและวัตถุวิสัย หมายถึง หากจะเป็นจิตวิสัยก็คือประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตวิญญาณให้ดีขึ้น หากเป็นวัตถุวิสัยก็คือประโยชน์ของการพัฒนากายให้ดีขึ้น

                ในทฤษฎีการจัดการความรู้ ความรู้ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการจัดการ เมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดทางปรัชญาทั่วไป จะมีความรู้อยู่ ๓ ชุด คือชุดแรกเป็นความรู้ในการจัดการ ชุดที่สองคือความรู้ที่ถูกจัดการ และชุดที่สามคือความรู้ซึ่งเป็นเป้าหมายของการจัดการหรือผลิตผลของการจัดการ ความรู้สามชุดนี้มีความสัมพันธ์กันในฐานะที่ความรู้ชุดแรกเป็นตัวส่งความรู้ชุดที่สองให้กลายเป็นความรู้ชุดที่สาม ซึ่งความรู้ชุดที่สามคือผลิตผลหรือองค์ความรู้ที่ซ่อนเงาของความรู้ชุดที่หนึ่งและชุดที่สองอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และการจัดการนั้น เราอาจพบผลของการจัดการความรู้ใน ๒ ลักษณะคือ ผลที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ และผลที่เกิดขึ้นเหนือเป้าหมายที่วางไว้ ในทฤษฎีการจัดการความรู้จะยอมรับผลทั้งสองอย่างหากผลดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต

                อย่างไรก็ตาม ความรู้ในแง่มุมของปรัชญาทั่วไปกับการจัดการความรู้นี้ Jeremy Aarons ตั้งข้อสังเกตว่า อยู่ต่างมิติกัน โดยความรู้ในปรัชญาแบบเดิมตั้งอยู่ในกรอบของปัญหาว่า ความรู้คืออะไร หรือ อะไรคือความรู้ แต่ความรู้ในแง่มุมของการจัดการความรู้กลับให้ความสำคัญกับการนำความรู้ไปใช้มากกว่าการใส่ใจว่าความรู้คืออะไร อย่างไรก็ตาม ทัศนะทางปรัชญาแบบใหม่ที่ค่อนข้างชัดเจนหรือตอบรับแนวคิดการจัดการความรู้ได้ดีคือทัศนะแบบปฏิบัตินิยม ซึ่งทัศนะนี้จะให้ความสำคัญกับประโยชน์ของความรู้ การปฏิบัติต่อความรู้หรือการนำความรู้ไปใช้อย่างไร และเห็นว่าความรู้ไม่ตายตัว ซึ่งความรู้ที่แท้จริงคือความรู้ที่ปฏิบัติได้ซึ่งจะเกิดคุณค่าคือส่งผลดีต่อคน งาน และชุมชน

                ในการพิจารณาหลักการ วิธีการและเป้าหมายของการจัดการความรู้ เราจะเห็นว่า แนวคิดการจัดการความรู้จะมีความเชื่อพื้นฐานว่า ความรู้คือสิ่งสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยความรู้จะมีลักษณะไม่ตายตัว ในการจัดการความรู้จึงไม่มีลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้มีหลักฐานสำคัญรองรับนั้นคือผลผลิตของความรู้ที่ใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาให้เป้าหมายสมบูรณ์กว่าที่เป็นนั่นเอง โดยเริ่มจากการกำหนดวิสัยทัศน์ การแสวงหาความรู้ การสร้างองค์ความรู้ การจัดเก็บความรู้ และการพัฒนาต่อยอดความรู้อย่างไม่รู้จบ ในกระบวนการเหล่านี้สิ่งที่ควรจะมีต่อกันคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายหลักของความรู้หนึ่งเดียวคือการพัฒนาคุณภาพคนส่งผลต่องานคุณภาพและความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

..................................................

หมายเหตุ : ข้อความข้างต้นทั้งหมดนั้น หากมีส่วนใดที่ผิดเพี้ยนจากเนื้อหาที่ถูกต้อง ผู้อ่านได้โปรดเมตตาชี้แนะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดเพี้ยนกับความถูกต้อง

หมายเลขบันทึก: 489069เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท