การใช้จุลินทรีย์ป้องกันและกำจัดโรค แมลง ไร ศัตรูเห็ด (๑)


โรค แมลงศัตรูเห็ด ประกอบด้วยราต่างๆ ที่นึ่งฆ่าเชื้อไม่หมด และถูกนำโดยแมลง ไร ที่เข้าสู่ถุงเห็ด แมลงที่มากัดกินเส้นใย

สำหรับวันนี้ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านอีกครั้งในการนำเสนอผลงานของท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ อีกมุมมองหนึ่งที่เกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์ที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร เพื่อลด ละ เลี่ยง เลิก การใช้สารเคมีที่เป็นพิษ  จุลินทรีย์เหล่านี้นั้นมีประโยชน์ค่อนข้างมาก เพียงแต่เกษตรกรบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึง และยังไม่เคยได้สัมผัส จึงมีความคิดบางเสี้ยวบางส่วนว่าไม่สามารถที่จะทดแทนยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ ลองค่อยศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มขึ้นทีละนิดครับแล้วท่านจะเห็นลางๆ ว่าแนวโน้มการใช้สารเคมีที่เป็นพิษนั้นจะค่อยๆ หมดไปอย่างแน่นอนครับ .......

 

โดย อาจารย์ดีพร้อม  ไชยวงศ์เกียรติ   

นายกสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย

ข้าราชการบำนาญภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                   

                   โรค แมลงศัตรูเห็ด ประกอบด้วยราต่างๆ ที่นึ่งฆ่าเชื้อไม่หมด และถูกนำโดยแมลง ไร ที่เข้าสู่ถุงเห็ด แมลงที่มากัดกินเส้นใย เช่น แมลงหวี่เห็ด หนอนผีเสื้อกินดอกเห็ด หนอนด้วงปีกแข็งกัดกินดอกเห็ด ไรต่างๆ เช่น ไรไข่ปลา ไรขาวใหญ่ ไรดีด ศัตรูเห็ดเหล่านี้ทำลายเห็ดจนไม่มีผลผลิตเห็ดจำหน่าย หรือทำให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณ และคุณภาพ

                   การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบเดิม มีการใช้เคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งสารเคมีกำจัดแมลง รา ไร ฉีดพ่นที่โรงเรือน ชั้นวางถุง และวัสดุที่ถุงเห็ด กองวัสดุ ที่ดอกเห็ดตามที่ผู้ปลูกเห็ดว่าจำเป็น

                   ผลต่อผู้ปลูกเห็ด กำจัดศัตรูเห็ดขณะนั้นได้ แต่อาจมีผลเสียหายทำให้เส้นใยยุบ ได้ดอกเห็ดน้อยลง ผู้ปลูกเห็ดไม่กล้ากินเห็ดของตนเอง ฉีดพ่นสารแล้วแพ้ยา โรงเพาะเห็ดเหมือนเป็นห้องรมยาชั่วคราว เหม็นยา เข้าไปแล้วรู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก ไม่กล้าฉีดพ่นเอง ต้องจ้างเขาฉีด และมีมากแม้พ่นยาแล้วก็ควบคุมศัตรูเห็ดไม่ได้ เพราะมีการระบาดใหม่ มาจากพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ได้ปรับค่ากรด-ด่าง (พีเอช) ของน้ำก่อนผสมสารกับน้ำ เกิดอัลคาไลฮัยโดรลัยสีส เมื่อน้ำผสมกับยาหรือยาปลอดเปอร์เซ็นต์ไม่ถึงตามฉลาก หรือสารเสื่อมคุณภาพ สุขภาพเกษตรกรเสื่อมลง ขาดทุน เลิกกิจการ

                   แนวทางการควบคุมโดยชีววิธี ศัตรูเห็ดแต่ละอย่างมีจุลินทรีย์ในธรรมชาติที่คอยควบคุมอยู่บางอย่างมีการขายเป็นสินค้าสำเร็จรูปอยู่แล้ว เช่น บีที (บาซิลลัส ธูรินจิเอนสิท) ซึ่งควบคุมตัวอ่อนของแมลง แต่ราคาและวิธีการใช้ทำให้สิ้นเปลืองมาก ถ้าพัฒนาวิธีการขยายเชื้อบีทีด้วยน้ำมะพร้าวอ่อนอย่างที่แนะนำในประเทศเปรู (ไทยรัฐ, ๘ ก.ค. ๒๕๔๔ หน้า ๑๑) ก็จะสามารถสร้างวิธีการควบคุมศัตรูเห็ด (และศัตรูพืชผัก) ด้วยวิธีง่ายๆ ใช้วัตถุดิบในประเทศได้ผลดี ประหยัดและปลอดภัย

                   แนวทางการคัดเลือกเชื้อบีทีมาใช้งาน วิธีการขยายเชื้อแบบง่ายๆ อย่างที่ทำในเปรูนั้น โดยนำน้ำมะพร้าวนั้นมาเป็นอาหารให้กับเชื้อบาซิลลัส เชื้อบาซิลลัสที่จะนำมาทดสอบนี้ได้จากหนอนผักที่ตายในแปลงผักอำเภอดำเนินสะดวก แยกเชื้อจากหนอน นำมาทำเชื้อบริสุทธิ์ เลี้ยงจนเกิดสปอร์มากมายในอาหารเหลว นำไปทำเป็นผงแห้งมีซีโอไลท์ผงเป็นตัวพา แล้วนำมาทดสอบ เมื่อได้ผลดีเป็นที่พอใจก็ผลผลิตเผยแพร่ไปถึงเกษตรกรต่อไป นับได้ว่าเป็นเชื้อบีทีสายพันธุ์หนึ่ง

                   การคัดเลือกบาซิลลัสกำจัดเชื้อรา พบว่ามีหลายสถาบันต่างทำการคัดเลือกหาบาซิลลัส ซับธิลิส สายพันธุ์ที่ตนต้องการก็จะตั้งชื่อและหมายเลขกำกับเชื้อไว้ ปัจจุบันมีมากมาย ของชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรก็มีสายพันธุ์พลายแก้ว ที่พบโดยนายพลายแก้ว  เพชรบ่อแก อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น จากการทดสอบหลายร้อยครั้ง ได้ผลดีกว่าบาซิลลัสจากแหล่งอื่นๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งการยับยั้งเชื้อราและบักเตรีโรคพืช ช่วยกระตุ้นการเกิดดอกเห็ดได้ด้วย ปัจจุบันเป็นที่นิยมของเกษตรกร และเรียกกันสั้นๆ ว่าเชื้อพลายแก้ว

                   การคัดเลือกเชื้อบาซิลลัสกำจัดไร เป็นการคัดเลือกเชื้อที่มีคุณสมบัติในการสร้างสารไคติเนส ซึ่งสามารถย่อยไคติน เนื่องจากไรวัยอ่อนผนังตัวบาง การถูกน้ำย่อยไคติเนสสัมผัสทำให้อ่อนแอและตายได้ง่าย เมื่อใช้กลุ่มบาซิลลัสที่สร้างไคติเนสได้เก่งหลายชนิดรวมกัน พบว่ามีผลช่วยกันทางบวก เมื่อหมักบาซิลลัสกลุ่มนี้ด้วยมะพร้าว  พบว่ากำจัดไรไข่ปลาได้ดีมาก การทดสอบในฟาร์มเห็ดหลายสิบฟาร์มได้ผลดีทุกฟาร์ม ขณะนี้ตั้งชื่อบาซิลลัสกลุ่มที่กำจัดไรไข่ปลาว่า บาซิลลัส ไมโตฟากัส ชื่อนี้ตั้งเอง ไม่เป็นทางการใช้ไปพลางก่อน ต่อไปอาจใช้ชื่อว่า ไมโตฟากัส บาซิลลัส

                   การหมักเชื้อด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน เดิมของประเทศเปรูค้นพบคือ นำมาปราบยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย นักวิทยาศาสตร์ได้นำมะพร้าวทั้งผลมาเพาะเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ บีทีไอ ซึ่งทำโดยนำเชื้อบีทีไอ ฉีดลงผลมะพร้าว น้ำมะพร้าวจะทำหน้าที่เป็นอาหารเพาะเชื้อ เพิ่มปริมาณเป็นทวีคูณภายใน ๓ วัน หลังจากนั้น นำไปฆ่าลูกน้ำยุงก้นปล่อง ซึ่งเชื้อบีทีไอนี้สามารถฆ่าลูกน้ำได้เฉพาะเจาะจง โดยลูกน้ำจะกินเข้าไปและเชื้อแบคทีเรียนี้ จะเข้าไปทำลายเยื่อบุทางเดินอาหารของลูกน้ำได้เฉพาะเจาะจง โดยลูกน้ำจะกินเข้าไปและเชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าไปทำลายเยื่อบุทางเดินอาหารของลูกน้ำ ทำให้ลูกน้ำตายลงก่อนจะเจริญเป็นยุงอย่างเต็มตัว โดยจากการทดสอบพบว่า สามารถฆ่าลูกน้ำในบ่อตายหมด และสามารถควบคุมยุงได้ ๔๕ วัน แต่เชื้อแบคทีเรียบีทีไอนี้ไม่มีพิษต่อปศุสัตว์และคน เชื้อแบคทีเรียบีทีไอเป็นเชื้อที่รู้จักกันมานานกว่า ๒๐ ปี สามารถเพาะได้จากเครื่องมือวิทยาศาสตร์ แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนี้น การที่นักวิทยาศาสตร์นำมะพร้าวมาทดแทนเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เป็นการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหานะรดับพื้นบ้านได้อย่างดี (ที่มาของข้อมูล : ไทยรัฐวันที่ ๘ ก.ค. ๒๕๔๔, หน้า ๑๑)

                   ในประเทศไทยทำง่ายๆ คือ เฉาะมะพร้าวอ่อน แง้มฝาขึ้น ใส่เชื้อผงสปอร์บาซิลลัส ๑-๒ ช้อนชา (๕-๑๐ กรัม) ปิดฝาลงพอให้อากาศเข้าได้ เก็บไว่ในที่ร่ม ๔๘ ชั่วโมง นำมาผสมน้ำเปล่า ๑ ปิ๊ปตามปริมาตรที่จะใช้ (จะผสมน้ำเปล่ามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และการแพร่ระบาดของโรค แมลง)

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 489066เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท