การเจริญสติสัมปชัญญะ


 

การเจริญสติสัมปชัญญะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก...


คนเรานี้แหละที่มันยังไม่ตายก็คิดโน่นคิดนี่ อันไหนมันรัก มันชอบ มันหลงมันเกลียด มันก็ชอบคิดในสิ่งนั้น ๆ ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะเราก็ตามอารมณ์ตามความคิดไป

Large_td075


ส่วนใหญ่เราก็มีสติอยู่แต่ว่าสติของเรามันอ่อนกำลัง มันไม่มีกำลังพอ มันเลยควบคุมความคิดตัวเองไม่อยู่คุมความคิดตัวเองไม่ได้ เมื่อมันมีเหตุการณ์อย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติสัมปชัญญะ ให้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เพราะคนเราในขณะหนึ่งมันคิดได้อย่างเดียว ถ้าเราเอาความคิดมาอยู่กับกายให้มากกว่าที่เราจะตามอารมณ์ไป สติสัมปชัญญะของเราก็จะสมบูรณ์ขึ้นอีก


หรือเราจะเอาสติมาอยู่กับเวทนา ไม่ว่าเวทนาที่มันเป็นสุขเป็นทุกข์ ที่มันเกิดกับร่างกายของเรา หรือเวทนาที่เกิดกับใจของเรา สติสัมปชัญญะของเราก็จะดีขึ้น มันก็จะสมบูรณ์ขึ้น หรือเราจะเอาไปอยู่กับจิตใจของเรา...


ใจของเราก็หมายถึงตัวผู้รู้ ให้รู้ใจของเราว่ามันสงบหรือไม่สงบนะ จิตใจของเรามันไม่สงบไม่ปรุงแต่งอย่าให้มันตามอารมณ์ไป


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราเพื่อให้ใจของเราจะได้มีพลัง ใจของเราจะได้เกิดความสงบ สมาธิของเรามันน้อย สมาธิของเรามันอ่อน คนที่เก่งคนที่ฉลาดน่ะ ส่วนใหญ่จิตมันจะไม่มีกำลัง ไม่มีพลัง ทั้งที่รู้ก็รู้อยู่แต่มันหยุดตัวเองไม่ได้ “สาเหตุมาจากเราไม่มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ เนื่องมาจากจิตของเราไม่มีกำลัง มีก็ถือว่าน้อย มีชนิดที่เจือจางน่ะ”


ทุกท่านทุกคนต้องฝึกนะ ฝึกให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึกตัวเองให้มีความสุขในปัจจุบัน ฝึกตัวเองให้มีความสุขในหน้าที่การงานในปัจจุบัน

Large_tt888

 


เอาการเอางานเอาหน้าที่ในชีวิตประจำวันไว้ฝึกใจ


มีความสุขมีความพอใจ เป็นผู้ยินดีในสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ จุดมุ่งหมายก็เพื่อฝึกจิตใจให้มีกำลัง มีพลัง


ส่วนใหญ่ใจของคนเรานี่นะมันถูกโลกธรรมครอบงำอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ดี ๆ มันก็มาครอบงำใจเรา มันทำให้สติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์ เปรียบเสมือนผีกำลังเข้าเรานี่แหละ เรากำลังถูกผีเข้า


“คนที่ผีเข้าสิงน่ะ สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์มันเลยเข้าสิงได้” สิ่งที่ดีและสิ่งไม่ดี มันก็เข้าครอบงำใจเรา มันเป็นอย่างนี้แหละทั้งวัน


พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จัก ให้เราได้เจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ไม่ให้เรา ตามสิ่งเหล่านั้นไป สิ่งต่าง ๆ นั้นมันมาเกิดขึ้นกับใจเรา มันตั้งอยู่ไม่นานมันก็จากไป เราถือว่ามันเป็นสิ่งที่ดี มาให้เราได้ฝึกได้ปฏิบัติ ได้ขัดได้เกลาได้แก้ไขตัวเรา

 

Large_tt443


พระพุทธเจ้าท่านให้เราขอบใจสิ่งเหล่านี้นะ ไม่ว่าสิ่งภายนอกหรือสิ่งภายในใจที่มันเกิดขึ้น มันเป็นสาเหตุที่ให้เราได้ฝึกจิตฝึกใจของเรา ตัวอินทรีย์บารมีก็แก่กล้า สติสัมปชัญญะของเรา จะได้สมบูรณ์ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เราก็ไม่มีอะไรที่จะฝึกจะปฏิบัติ เราสมควรที่จะขอบพระคุณ ขอบใจในสิ่งเหล่านี้


ปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา อย่าได้ถือว่าเป็นปัญหาที่ยุ่งยาก ทำให้เราลำบาก อันที่จริงแล้วมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ฝึกจิตใจของเรา เป็นโอกาสที่เราจะได้ปฏิบัติธรรมของเรา


ชีวิตของเราในประจำวัน มันมีความทุกข์ทั้งทางกาย มีความทุกข์ทั้งทางใจ มีความทุกข์ ทั้งทางธุรกิจหน้าที่การงาน


นี่ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมาก เราจะได้ประพฤติปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้แหละ มันมีแต่นำคุณ นำประโยชน์มาให้เราทั้งนั้นเลย เพื่อให้เราปฏิบัติน่ะ


มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รักษาศีล ให้เราได้ทำสมาธินะ ให้เราได้เจริญสติปัญญา “ใจของเรานี่แหละ เราทำไปทุกวันเราปฏิบัติไปทุกวัน มันฉลาดขึ้นมันมีปัญญาขึ้น”


ทุกท่านทุกคนให้พากันเข้าใจในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเราไม่เข้าใจมันก็เสียเวลา


ถ้าเราไปภาวนาอยู่ที่วัดหรืออยู่ที่เงียบ ๆ เน้นแต่ทางจิตทางใจมันก็ดีน่ะ แต่คนเรา มันจะปฏิบัติอย่างนั้นตลอดไม่ได้ เพราะเรามีหน้าที่มีการมีงานที่ต้องปฏิบัติ ต้องเกี่ยวข้อง กับงานกับการ


การประพฤติปฏิบัติธรรมมันอยู่ที่เราที่อยู่ทุกหนทุกแห่งที่จะแก้จิตแก้ใจของเรา แก้การกระทำของเราที่มันไม่ถูกต้อง แก้คำพูดของเราที่มันพูดไม่ถูกต้อง


เราพออกพอใจในการประพฤติปฏิบัติ ให้เจริญสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ไว้
เวลามันอยู่ภายนอกมันคิดเก่งนะ เวลาอยู่บนเวที หรืออยู่ในสนามรบ อยู่ในภาคปฏิบัติน่ะ ต้องให้มันรวดเร็วว่องไว

 

Large_605


เราอย่าไปทำตามความเคยชิน เพราะความเคยชินที่ผ่านมามันเป็นบาปเป็นอกุศล เป็นวัฏฏะสงสารน่ะ ถ้าเราไปทำอย่างเก่า ไปคิดอย่างเก่ามันไม่ได้ ทำให้เราเสียกำลังจิตกำลังใจ ถูกอวิชชามันบทบังครอบงำไปเรื่อยไม่ได้


ความอาลัยอาวรณ์ในสิ่งต่าง ๆ ทุก ๆ คนมีมาก มันทำให้ปากสั่น มือสั่นไปเลย ต้องหยุดตัวเองให้ได้ ต้องเบรกตัวเองให้อยู่ ต้องดึงตัวเองกลับมาให้ได้


มันเปรียบเสมือนมีเด็กน้อยคนหนึ่ง และก็มีคนมาจูงแขนเด็กน้อยวิ่งน่ะ เราเป็นผู้ปกครองของเด็ก เราก็ต้องไม่ให้เขาจูงเด็กไป


ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เราถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นะ...


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเผลอ ไม่ให้เราประมาท อย่างพระเราหรือว่าแม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรมที่มันปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่เบรกตัวเอง ไม่หยุดตัวเอง มันอยากจะคิดอะไรก็ปล่อยมันคิด มันอยากจะพูดอะไรก็ปล่อยมันพูด มันอยากจะทำอะไรก็ปล่อยมันทำน่ะ


ผลกรรมมันเป็นอย่างไร...?


ผลกรรมมันทำให้จิตใจของเราไม่มีพลัง มันทำให้สติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์ กลายเป็นโมฆะบุรุษไป กลายเป็นโมฆะสตรีไป


ความคิดของเรามันหลอกเราเอง หลอกไปฆ่าตัวเองนะ...


อย่างพระรูปหนึ่งมีข้อวัตรข้อปฏิบัติที่ดีที่เข้มแข็ง วันหนึ่งมันเหนื่อยมาก มันไม่อยาก ไปบิณฑบาต ความคิดมันบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร วันนี้ขอพักผ่อนสักหน่อยก่อน พระรูปนี้น่ะแสดงถึงว่าเสียท่ากิเลสไปเสียแล้ว ตั้งอยู่ในความประมาท จิตใจก็ย่อมเสียพลัง

Large_bin01

 


เขาไม่รู้จักตัวเองว่าสมาธิกำลังจะแข็งแรงกำลังจะเกิด ว่าเราจะได้เอาชนะอารมณ์ ของตัวเอง เอาชนะจิตใจของตัวเอง นี่แสดงถึงว่าแพ้ไปแล้ว เสียทีไปแล้ว


ผู้ที่พัฒนาใจตัวเองน่ะ ต้องดูตัวเองอย่างนี้นะ ถ้าอย่างนั้นจะพ่ายแพ้อารมณ์ไปทุกวัน สติสัมปชัญญะของเรามันจะไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์


ผู้ที่จะพัฒนาตัวเองให้เข้าถึงคุณธรรม มันไม่ได้ไปเอาชนะใครที่ไหน มันเอาชนะจิตใจ ของตัวเอง ปรับตัวเองเข้าหาทางสายกลางของพระพุทธเจ้า ไม่ให้เราเอาทางสายกลาง ของตัวเอง ถ้าอย่างนั้นชีวิตมันมีปัญหาไม่จบ ฉันข้าวไป บริโภคปัจจัย ๔ ไปก็เสียเวลา มันแก่เฒ่าชรา ชีวิตของเราไม่ได้รับการพัฒนาเลย


พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรม เอาใจใส่ พอใจ “เพราะชีวิตการปฏิบัติธรรม มันประเสริฐกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง”


เราใคร่ครวญดูสิ มันมีสิ่งไหนดีมากไปกว่านี้...? มันไม่มีสิ่งไหนดีมากไปกว่านี้ เราจะมาสะเงาะสะแงะกับสิ่งไร้สาระ มันไม่เข้าท่านะ


วัน ๆ หนึ่งเรามามุ่งแต่เอาความสุขทางเนื้อทางหนัง ในปัจจัย ๔ มันคงไม่ถูกต้อง เพราะความสุขทางเนื้อทางหนังทางปัจจัย ๔ มันเป็นของใช้ชั่วคราว เรารับประทานอาหาร ไปแล้ว บริโภคไปแล้ว มันก็ย่อยสลายไป คาบต่อไปมันก็หิวอีก เราก็ต้องบริโภคไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันก็แก่เฒ่าไปเฉย ๆ นะ


เราเอาชีวิตของเราน่ะมาประพฤติปฏิบัติธรรม ไปปฏิบัติธรรม เราจะว่าไม่มีเวลาไม่ได้ ถ้าเรามีลมหายใจอยู่ขึ้นชื่อว่าเรามีเวลานะ...


ญาติโยมที่อยู่ที่บ้าน เวลาไปบ้านก็ไปปฏิบัติที่บ้าน ไปที่ทำงานก็ไปปฏิบัติที่ทำงาน “ธรรมะน่ะ มันไม่ขัดกันกับที่เราอยู่ที่บ้านที่ทำงาน” เพราะการทำทุกอย่างก็เพื่อเสียสละ เพื่อละความเห็นแก่ตัวแก่ตน มันมีแต่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งนั้น


ที่เรามีปัญหาในการประพฤติปฏิบัติ เพราะเราไม่เอาธรรมะไปปฏิบัติในบ้านของเรา ในที่ทำงานของเรา

Large_2301201110

 


เราลองคิดดูสิ ถ้าเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เสียสละ คนอื่นเขาจะรักเราไหม ถ้าเราเป็นคนไม่มีศีลน่ะ เราจะเป็นอย่างไร...? คนอื่นก็ไม่รักเคารพนับถือเรา
ศีลน่ะ ให้ทั้งโภคทรัพย์ ให้ทั้งอริยทรัพย์...


คนเรามันเห็นแก่ตัวจนมันคิดไม่ออกนะว่าถ้ารักษาศีลมันจะอดตาย มันจะยากลำบาก


ปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิด มันเกิดจากคนไม่มีศีลนะ...


ถ้าเรามีศีลดี ๆ น่ะ เสียสละดี ๆ ไม่กี่เดือนกี่ปี เรทติ้งขึ้นสูงแน่ เราปฏิบัติเพื่อละตัวละตนไม่ต้องการอะไร แต่ว่าเรทติ้งมันขึ้นเองด้วยการยอมรับของบุคคลอื่น
การปฏิบัติธรรมก็คือการเสียสละ มีความสุขในการทำงานกับรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน รุ่นน้อง ถ้าเรามีเมตตาสถานที่นั้น ๆ ก็มีความสุขมาก สถานการณ์ที่มันไม่ดี มันก็ดีได้นะ เพราะเรามีศีล มีข้อวัตรปฏิบัติ กาย วาจา ใจของเรามันดี เพราะเราได้แก้ไขตัวเอง มันเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเขา เราก็ได้บุญน่ะโลกนี้ก็มีแต่ความสงบร่มเย็น เพราะเรากลับมาแก้ไขตัวเอง


เราอยู่บ้านเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติธรรมที่บ้านของเรา


เรามีความสุขที่เราได้อยู่กับครอบครัวของเรา ดูแลปัจจัย ๔ ในครอบครัวของเรา ให้ความรักความเมตตาต่อกันและกันให้มากขึ้นกว่านี้ ครอบครัวของเราก็จะมีความสุข มีความอบอุ่นขึ้น สวรรค์มันก็จะเกิดขึ้นที่บ้านของเรา นิพพานมันก็จะเกิดขึ้นที่บ้านของเรา มันอยู่กับเราอย่างนี้นะ...


สำหรับเรื่องต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น ให้เราถือโอกาสฉวยโอกาสมาพัฒนาจิตใจของเรา เพราะชีวิตของเราเป็นของมีค่ามีราคาที่เราจะต้องปฏิบัติเพื่อสติสัมปชัญญะของเรา มันจะได้สมบูรณ์ขึ้น


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามองหาความดับทุกข์ไกลนะ ต้องหาความดับทุกข์ในใจของเรา ที่การกระทำของเรา


การรอคอยอะไรไกล ๆ โน้น มันเป็นความทุกข์ทรมาน มันเป็นความพร่องอยู่ตลอดกาล…


ถ้าเรารอคอย ลักษณะอย่างนี้แสดงว่าใจเราพร่อง ใจเราไม่เต็ม สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เราต้องกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หยุดตัวเอง หยุดความคิด ลักษณะอย่างนี้แหละ ใจของตัวเองมันเป็นเปรตนะ มันอยาก มันเผาตัวเอง มันอยากสงบ อยากบรรลุธรรม

Large_tt02


ถ้ามันอยากสงบ มันจะสงบได้อย่างไร มันอยากบรรลุธรรม มันจะบรรลุธรรมได้อย่างไร?


เพราะความอยากมันค้ำคอเรา ให้เรากลับมาหาตัวเอง เรามาละความอยาก ไม่ให้ตัวเองตกนรกทั้งเป็น ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเรามันจะยิ่งวิ่งไปไม่หยุด 

อย่างเรานั่งสมาธิก็เพื่อที่จะมาหยุดตัวเองมาวางภาระหนัก มาปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ มาหยุดตัวเอง เพื่อให้ใจตัวเองมีสติสัมปชัญญะ มีพลัง


เราอย่าไปคิดว่านั่งเพื่อเอาอันนั้นอันนี้ เพื่อบรรลุธรรม เรานั่งเพื่อเสียสละ ให้ใจมันอยู่ กับลมเข้า ให้ใจมันอยู่กับลมออก เดินจงกรมก็เหมือนกัน เราปล่อยวางทุกอย่างในหน้าที่การงาน เราจะเดินจงกรม เราไม่คิดอะไร ให้ใจของเรามันอยู่กับการเดินไปเดินมา เพื่อออกกำลังกาย ให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อเราจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์


เราอย่าไปคิดว่ามัวแต่เจริญสมถะอยู่ เดี๋ยววิปัสสนามันไม่เกิด เราอย่าให้ความอยาก มันปั่นหัวของเรา “เราให้สติสัมปชัญญะของเราอบรมบ่มปัญญานะ...”


ทำไมเราถึงทำอย่างนี้ เพราะจิตใจของเราไม่มีกำลัง ไม่มีพลัง มันเลยตัดกิเลสไม่ได้ ละกิเลสไม่ได้ ใจเรามันจะหมดสภาพ

Large_tt12


อย่างพระเราเวลาไปบิณฑบาต มันก็เป็นการเจริญสติสมาธิดีนะ เพราะมันเป็นภาคบังคับ ทั้งไปทั้งกลับอย่างน้อยก็ ๒-๓ กิโลเมตร มันทำให้เราได้เจริญสติสัมปชัญญะได้ดีมาก


พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์ ให้เราเจริญสติฝึกสติสัมปชัญญะนะ มันเหลียวซ้ายแลขวา เราก็ต้องบังคับตัวเอง ทำตามพระวินัยไว้ ดีมาก ทำทุกวัน ๆ อย่างนี้มันก็ดีนะ เพราะเวลาบิณฑบาตก็มากกว่าชั่วโมงน่ะ มันได้บุญได้กุศลมากนะไปบิณฑบาต


พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าออกไปโปรดสัตว์ นี่แหละสัตว์ที่มันสำคัญก็คือใจตัวเอง ใจของเราจะได้มีบุญมีกุศล เราจะได้โปรดใจของเราบ้าง


ตอนเช้าเราไปเดินบิณฑบาตต้องทำเหมือนที่พระพุทธเจ้าสอนนะ ไปโปรดสัตว์ ไปโปรดใจตัวเองนี่แหละ ผลที่ได้รับมันก็ได้อานิสงส์มาก ได้ทั้งญาติโยม ได้ทั้งพระ “พระเณร ทุกรูปต้องรู้นะว่าเราทำแบบนี้แหละเป็นบุญเป็นกุศล”

 

Large_tt66


ทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติธรรมหมด ไม่ว่าพระไม่ว่าโยมน่ะ ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเป็นคนยากจน ไม่มีอริยทรัพย์ มันยากจน มันผอม...


ผอมนี้ไม่ได้หมายถึงกายมันผอมนะ แต่ใจมันผอม ใจมันเป็นโรคสารพัดเลย ทั้งผอม ทั้งดำนะ


ถ้าพระพุทธเจ้ามองเรา คงมองเห็นว่าไอ้เจ้านี่หัวใจผอมโซ เหมือนกับคนป่วยทางใจ มีแต่หนัง เหมือนกับโครงกระดูก เหมือนกับเปรตเดินได้ “หัวโต พุงโล ก้นปอด...”


ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่สร้างอริยทรัพย์ในจิตใจของเรา เราก็เป็นคนผอมนะ


อ้วนก็จริง อ้วนทางกายแต่ใจผอมมาก มันขาวมันขาวแต่กาย ขาวแต่หน้า แต่ว่าใจมันดำ ใจดำปิ๊ดปี๋เลย ยิ่งกว่าถ่านไฟเสียอีก

 

คนในบ้านในสังคมชอบพากันแต่งกายนะ... แต่งกาย แต่งฟัน แต่งหน้า แต่ไม่ได้แต่งศีลแต่งปฏิปทาของตัวเอง


พูดเรื่องการรักษาศีลนี้กลัว พูดเรื่องสมาธิก็ยิ่งกลัว


มีโยมคนหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง นิมนต์พระไปแผ่เมตตาให้ที่บ้านเพราะว่าใกล้จะตายแล้ว พระก็สอนว่า “ให้รักษาศีล ๕” เขาบอกว่า เขารักษาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มันใกล้จะตายแล้ว ใกล้จะหมดลมหายใจแล้ว พระก็บอกว่า ถ้าศีล ๕ ไม่ได้ เอาศีล ๔ ศีล ๓ ศีล ๒ หรือศีล ๑ ข้อ ก็ได้ เขาบอกว่าข้อไหนก็รักษาไม่ได้ เพราะว่าเกิดมาแล้วก็ไม่เคยรักษาศีลกับเขา รักษาศีลก็กลัว


โยมคนนี้เป็นคนรวยนะ มีเงินหลายสิบล้าน


หลวงพ่อก็บอกให้ท่องพุทโธ ๆ เขาก็บอกว่าท่องไม่ได้ เขาเป็นห่วงเงินของเขาที่คนเขา ยืมไป เงินที่เขายืมไปหลายล้านน่ะ ให้พระช่วยแผ่เมตตาให้หน่อย ให้เขาเอาเงินมาคืน ถ้าเขาเอามาคืนเขาจะถวายเงินส่วนหนึ่ง พระฟังแล้วยิ่ง “งง” ไปใหญ่


คนเรานี้แหละ ความคิดเห็นผิดความเข้าใจผิดมันมาปิดมาบังไม่ให้รู้ทาง


พระก็พูดต่อไปว่า โยมน่ะ เอาเทปธรรมะมาฟัง เอา CD ธรรมะมาฟัง นอนอยู่อย่างนี้


โยมที่ป่วยว่า มีเทปอันเดียว มี CD อันเดียว ลูกสะใภ้เค้าเอาไปฟังเพลง


ฟังเพลงก็ไปซื้ออันใหม่มาก็ได้ อันหนึ่งก็ไม่เกินพันบาท เงินโยมอยู่ในธนาคาร ตั้งหลายสิบล้าน โยมจะเอาไปไหน


เค้าบอกว่า จะเอาไว้ให้ลูกเค้า ลูกนั้นก็ไม่ใช่ลูกที่เกิดกับตัวเอง เป็นเพียงลูกบุญธรรม “มันกลัวความดีอย่างนี้แหละคนเรา...”


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรากลัวในสิ่งที่ดี


ถ้าจะตายก็ให้มันตายเพราะเราทำความดี ตายเพราะเสียสละ


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิดอย่างนั้นนะ คิดอย่างนั้นมันเป็นบาป
เราแต่งกายอย่างไรมันก็ต้องแก่อยู่แล้ว มันต้องเจ็บต้องตาย

Large_2401201110

 


เราแต่งกายเพื่อเราเป็นคนเสียสละ เพื่อให้คนอื่นเขาเห็น เขาจะได้สบายใจ เป็นการปล่อยวางที่ถูกต้อง


เราบางคนปล่อยวาง บ้านก็ไม่กวาด ภาชนะก็ไม่ล้าง ตัวเองก็ไม่อาบน้ำแปรงฟัน เราปล่อยวางไม่ถูกอย่างนี้ ปล่อยวางอย่างนี้เขาเรียกว่าคนบ้า ตอนที่เรานั่งรถมาก็เห็น คนบ้านี่ผมเพร่ารุงรัง เก็บของเก็บขยะไปเรื่อยน่ะ นักปฏิบัติ ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย บ้านก็สะอาดที่อยู่อาศัยก็สะอาด


เราดูพระพุทธเจ้าท่านให้เราปล่อยวาง แต่ให้ทำอะไรให้สะอาดเรียบร้อย แต่งกาย ของเราให้ดี


ถึงจะแต่งอย่างไร ก็ไม่หนุ่ม ไม่สาวขึ้นอีก


พระพุทธเจ้าท่านให้เราประดับประดาตัวเองให้เป็นผู้มีศีล เป็นผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นผู้เจริญปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา เราต้องสร้างความดีสร้างบารมี เพื่อเจริญสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ ให้เราเข้าถึงสวรรค์นิพพานตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ อย่าได้เห็นอะไรก็ตามไปหมด เหมือนคนไม่มีเจ้าของนะ


คนที่คุมตัวเองไม่อยู่ บังคับตัวเองไม่อยู่ แสดงให้เห็นถึงมีสติสัมปชัญญะน้อยมาก


เรามาดูคนติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยา ติดอบายต่าง ๆ คนจำพวกนี้แหละ สติสัมปชัญญะ มันน้อย หรือว่ามันไม่มีเลย มันตั้งอยู่ในความประมาท


การเจริญสติสัมปชัญญะที่ให้มันสมบูรณ์มันเป็นสิ่งที่สำคัญนะ


ถึงจะยากถึงจะลำบากก็ให้เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง เพื่อให้มันพ้นให้มันข้าม
ต้องอาศัยกำลังจิตกำลังใจ ที่เขาละไม่ได้ ที่เรามองเห็นคนเขาติดยา ติดเหล้า ติดอะไรนี่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนใจอ่อน “ถ้าจะมองดูคนใจอ่อนกับคนสมาธิน้อยมันก็คนเดียวกันนะ...”

 

 


ให้ถือว่าเราต้องฝึกต้องปฏิบัติ ต้องแก้ไขตนเอง อดทนเอามาก ๆ


ถ้าไม่อดไม่ทน ไม่สู้ ไม่ตั้งใจ ละไม่ได้ เลิกไม่ได้

 


ให้เราคิดว่าเราต้องละให้ได้ เราต้องหยุดให้ได้ ถึงจะตายก็ยอม สมาธิเรากำลังจะเกิด มันกระวนกระวาย มันกำลังชักดิ้นชักงอ เราไม่อดไม่ทน เราไปใจอ่อน
เหมือนเราเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เด็กมันต้องการของ เมื่อเราไม่ให้มัน มันก็ร้องไห้ นอนลง กลิ้งเกลือกตามพื้น ชักดิ้นชักงอ ถ้าเราสงสารเด็ก เราทนไม่ไหว เราก็หาของให้เขาตามที่ เขาต้องการ เขาก็หายร้องไห้ ปัญหามันหมดไปก็จริงนะ แต่มันยังไม่จบนะ

Large_2501201103


เมื่อเด็กมันต้องการของอีก มันก็ทำอย่างเก่านั่นแหละเพราะรู้ว่าเราเป็นคนใจอ่อน ใจไม่เข้มแข็ง เป็นคนไม่มีสมาธิ เป็นคนมีจิตใจไม่หนักแน่น

ถ้าผู้มีปัญญา ผู้ที่ฉลาดเขาฝึกเด็ก เด็กมันร้องไห้ มันต้องการของ มันนอนกลิ้งไปกลิ้งมา ชักดิ้นชักงอ เขาไม่ให้มันจะร้องก็ร้องไป เมื่อเด็กมันไม่ได้มันก็หายร้องไห้เองแหละ เพราะผู้ใหญ่เขามีปัญญามากกว่าเด็ก เพราะใจมันมีสมาธิ


การนั่งสมาธิเหมือนกัน ครูบาอาจารย์เขานั่งสมาธิ ฝึกสมาธิทีละหลาย ๆ ชั่วโมง เป็นวันเป็นคืน หลายวันหลายคืน มันจะปวดขาเจ็บขาเท่าไหร่เขาก็ไม่สนใจ นั่งจนมันไม่คิดน่ะ เพราะคิดไปแล้วเขาก็ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ


วันต่อมาพอนั่งสมาธิมันก็ไม่ปวด เพราะว่ากิเลสมันรู้ว่าไปคิดไปปรุงแต่งแล้วก็ไม่ได้ผล เพราะว่าสมาธิแข็งแรง แข็งแกร่ง


การประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะทำจิตใจให้มีพลัง แข็งแรง ต้องทำสติสัมปชัญญะของตัวเอง ให้มันสมบูรณ์ เพราะความปวดก็ดี ความต้องการอะไรต่าง ๆ มันจะปวดขึ้นมาตลอด ถ้าเราจิตใจสัมผัสอะไรขึ้นก็ตามไปหมด เราก็เป็นคนไม่มี “สัมมาสมาธิ” เป็นคนไม่เข้มแข็ง เราก็เป็นคน “สมาธิไม่อบรมปัญญา...”


ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องทำให้จิตใจของเรามีพลัง หนักแน่น แข็งแรง อย่าเป็นคนใจเบาเน๊อะ...!


ที่เค้าว่าหูเบามันไม่ใช่หูเบา มันเป็นคนใจเบา ต้องเป็นคนหนักแน่น เราจะได้สร้างบารมีเรา


เราเอาตัวอย่างจากพระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญบารมีทุกภพทุกชาติ ท่านจิตใจประเสริฐมาก หนักแน่นจริง ๆ ยอมตายเพื่อความดีทุกภพทุกชาติ สัมมาสมาธิมันถึงเกิด

Large_tt65


ที่ปฏิปทาของเรามันลุ่ม ๆ ดอน ๆ แสดงว่าเราเป็นคนจิตใจเบา จิตใจไม่หนักแน่นนะ ต้องปรับปรุงแก้ไขแล้วนะ...


หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไป

ประพฤติปฏิบัติ ให้ใจของเราเย็น เกิดกำลังมีพลังที่จะหยุดตัวเองให้ได้ ตัดสังโยชน์ จะได้ไม่ก่อกรรมทำเวร อีกต่อไป...

Large_2401201105


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 488880เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 04:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท