สมาธิเป็นที่อยู่ของใจ…


 

ให้ทุกท่านทุกคนนั่งให้สบาย หายใจเข้าก็ให้มันสบายหายใจออกก็ให้มันสบาย


การทำสมาธิก็คือการนั่งให้กายมันสบายให้ใจมันสบาย ปล่อยวางธุระหน้าที่การงาน ตลอดจนสิ่งภายนอกที่อยู่รอบข้าง ให้เรากลับมาหาความสงบ มาอยู่กับการงานของเรา คือการทำสมาธิ

Large_job007


ส่วนใหญ่เราอยู่กับการงานภายนอกกับเรื่องราวต่าง ๆ


งานทำสมาธิคือการทำใจให้สงบ สงบอยู่กับการหายใจเข้าสงบอยู่กับการหายใจออก สงบกับการรู้ลมเข้าสบายรู้ลมออกสบาย


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามีความอยาก ถ้าเราอยากให้มันสงบมันจะไม่สงบ เพราะว่าสมาธิต้องปราศจากนิวรณ์ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านให้เราทำงาน กับการหายใจเข้าก็รู้หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็สบายหายใจออกก็สบาย ปล่อยวางทุกอย่าง จนจิตของเราเป็นหนึ่ง อยู่กับการไม่คิดอะไร อยู่กับการหายใจเข้าหายใจออกอย่างเดียว


การฝึกสมาธินี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเรานะ เพราะว่าคนเรานี้มีบ้านมีที่อยู่อาศัย เป็นที่พักของกาย จิตใจของเราก็เช่นเดียวกันต้องมีที่พักของใจ


ที่พักของใจของเราทุก ๆ คน พระพุทธเจ้าให้เราพักความสงบ สิ่งที่ง่ายที่สุดพระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้พักกับลมหายใจ

 


พระพุทธเจ้าถ้าท่านจะพักผ่อนท่านก็เข้านิโรธสมาบัติ ก็เริ่มต้นจากหายใจเข้าสบาย ออกสบาย จนจิตใจของท่านเข้านิโรธสมาบัติ


ถ้าเราเจริญแต่ปัญญาอย่างเดียว จิตใจของเราไม่ได้ฝึกสมาธิ ใจของเรามันไม่สงบ มันไม่เย็น เพราะคนเรานี้มันชอบคิดมาก มันชอบฟุ้งซ่าน จิตใจมันหยุดไม่เป็นพักผ่อนไม่เป็น แม้คนเราพักผ่อนนอนหลับมันก็ฝันไปเรื่อย ถ้าใจเรามีสมาธิใจของเรามันจะเย็นลง ความเครียดต่าง ๆ มันจะลดลง


พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาสอนพระ เวลาฉันภัตตาหารเสร็จแล้วมันมีทุกขเวทนามาก ร่างกายมันต้องการพักผ่อน พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนพระให้นั่งสมาธิ ทำสมาธิ


ทำไมถึงให้นั่งสมาธิตอนนั้น...?


สมาธิเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ไม่ตามอารมณ์ทางกายไป ไม่ให้ตามอารมณ์ภายนอกไป ฝึกจิตใจให้มันแยกออกจากกาย ถ้าเราไปทำตามความง่วงเหงาหาวนอน แสดงว่าเราไม่ได้ฝึกแยกใจออกจากกาย


ท่านให้ถือโอกาสให้มาฝึกจิตใจของเรา เพราะความสุขความสงบที่แท้จริงคือทำใจ ให้ปราศจากนิวรณ์ จิตใจที่ถูกนิวรณ์ครอบงำแล้วทำอะไรตามนิวรณ์เป็นจิตใจมีความทุกข์มาก


พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ นิวรณ์ต่าง ๆ จะครอบงำจิตใจของท่านไม่ได้


ไม่ว่าความง่วงเหงาหาวนอน ความเจ็บไข้ไม่สบาย สิ่งเหล่านี้มันจะครอบงำจิตใจ ของท่านไม่ได้ เพราะว่ากายก็เป็นส่วนของกาย ใจก็เป็นส่วนของใจ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้า ท่านถึงให้เราฝึกสมาธิเป็นที่อยู่ของใจ


ส่วนใหญ่คนทุกคนเก่งในเรื่องอื่นนะ แต่ไม่เก่งในเรื่องทำจิตทำใจให้สงบ


พระพุทธเจ้าท่านทำสมาธิเป็นตั้งแต่น้อย ๆ ตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ อายุ ๗ ขวบ ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พุทธประวัติสมัยไปแรกนาขวัญกับพระบิดา ท่านนั่งคอย พระบิดาทำพิธี ท่านนั่งสมาธิจนเกิดแสงรุ้งแสงรัศมี จนเกิดอัศจรรย์ จนพระบิดาเข้ามากราบ


ประวัติศาสตร์ในครั้งสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพาน ท่านบรรทมสีหไสยาสน์ ท่านก็เข้าสมาธิเหมือนกัน เข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จนเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยกลับไปกลับมา แล้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน


พระอนุรุทธะตามเข้าสมาธิดูว่าพระพุทธเจ้าท่านเข้าปรินิพพานอย่างไร พระอนุรุทธะ ท่านเป็นผู้เลิศทางหูทิพย์ตาทิพย์

 

การฝึกสมาธินี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทุกท่านทุกคนต้องฝึก ไม่ว่าฝ่ายบรรพชิตหรือฆราวาสญาติโยม ถ้าเราไม่ฝึกมันจะไม่มีสมาธิ ไม่เป็นสมาธิ ต้องอาศัยการฝึก ฝึกเข้าสมาธิให้มันได้ นาน ๆ ฝึกจิตใจอยู่กับลมเข้าลมออกให้มันได้นาน ๆ ฝึกปล่อยวางกายให้มันได้นาน ๆ ฝึกปล่อยวางสิ่งภายนอกให้มันได้นาน ๆ

 


สมาธิคือความสุข ความดับทุกข์ของทุกท่านทุกคน


คนเรานี้ถ้าไม่มีสมาธิ ในชีวิตประจำวันของเรามันจะไม่สงบ


ปกติแล้วจิตใจของเรามันอยู่เฉย ๆ ไม่เป็น อยู่นิ่งไม่เป็น ต้องหาที่อยู่ให้เขา สิ่งที่ง่ายที่สุด ก็คือลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าไม่อย่างนั้นก็คิดเรื่อยเปื่อย พเนจรไปเรื่อย คิดไม่หยุด คิดจนเป็นโรคประสาท


ถ้าเราฝึกบ่อย ๆ เรื่อย ๆ มันจะค่อยชำนิชำนาญ


ชีวิตของเราในชีวิตประจำวันมันมีโลกธรรมมากระทบกับใจของเราตลอดเวลา

เดี๋ยวก็มีสุขเดี๋ยวก็มีทุกข์ มียศเดี๋ยวมันก็เสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ มีสรรเสริญมีนินทา มันมีอย่างนี้อยู่ในใจของเราตลอด ๒๔ ชั่วโมง


ถ้าจิตใจของเราไม่มีสมาธิ จิตใจของเรามันจะวิ่งตามโลกธรรมทั้งวันทั้งคืน
เราจำเป็นต้องมีสมาธิ มีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวนะ จิตใจของเราถึงต้องได้รับ การพัฒนา จิตใจของเรามันต้องอาศัยสมาธิเป็นเครื่องอบรมปัญญา


อบรมปัญญาอย่างไร...?


เมื่ออารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเราก็ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์นั้น ๆ นั่นแหละคือการอบรมปัญญา


เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้นกับใจของเราเราก็ตามไป แสดงว่าเราเปรียบเสมือนรถคันหนึ่ง ที่ไม่มีเบรก มีแต่คันเร่ง

 

 


ที่หลวงตามหาบัวท่านว่า “สมาธิอบรมปัญญา” ท่านว่าอย่างนี้...


คือเราอย่าตามอารมณ์ไป อย่างเรานั่งสมาธินี้ เราก็รู้ลมเข้าให้สบายรู้ลมออกให้สบาย บางทีเราก็ลืมไปนะ ตามวิตกวิจารณ์ไป ตามปิติสุข เอกัคตาจนลืมเนื้อลืมตัว ไปปรุงแต่ง โดยไม่รู้ตัว เขาเรียกว่าตามนิมิตตามอารมณ์ไป


เรานั่งอยู่อย่างนี้แหละ เดี๋ยวโลกธรรมก็มาหาเราแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักก็ตามมันไป
โลกธรรมนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นเหตุเราได้ฝึกใจทำใจของเราให้สงบ เกิดสมาธิเกิดปัญญา


ปัญญาของเราจะเกิดได้เกิดจากการปฏิบัติระดับผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดความชำนิชำนาญในเรื่องจิตเรื่องใจ


สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดกับเรานี้ที่มันเป็นโลกธรรมเราต้องขอบคุณเขาที่ได้เปิดโอกาสให้เรา ได้ปฏิบัติใจ ฝึกใจ


การปฏิบัติของเรา อิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่าการเดินการนั่งการนอน การทำงาน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาอิริยาบถนั้น ๆ มาฝึกใจของเรา


ฝึกอย่างไรล่ะ...?


“ฝึกให้ใจของเราอยู่ในอิริยาบถนั้น ๆ” คนเรานะ ถ้าใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจของเรามันสงบ “มันเป็นวิธีที่ง่าย ๆ นะ ถ้าเรารู้จัก...”


ฐานทั้งสี่ของเราทุกคนมันได้แก่ อิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ให้ใจมันอยู่กับอิริยาบถนั้น ๆ เพราะใจของเรามันพุ่งแรงนะ มันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อเรามาอยู่กับเนื้อกับตัวใจของเรา มันจะสงบขึ้น เย็นขึ้น


สำหรับคนที่เป็นโรคประสาทเป็นโรคกระเพาะ มีจิตใจฟุ้งซ่าน ครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้า ท่านยังไม่ให้เรานั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้ฝึกสมาธิด้วยการเป็นคนที่เสียสละ มีความสุข ในการเสียสละ ฝึกเสียสละมาทำงานภายนอก เช่นงานทำความสะอาด ดูแลต้นไม้ ดายหญ้า รดน้ำต้นไม้ กวาดถนนหนทาง กวาดบ้าน กวาดกุฏิ ทำความสะอาดห้องน้ำห้องสุขา เพื่อให้ใจมันมีบุญมีกุศล


เพราะคนเรานะเมื่อทำดี จิตใจมันสงบ ถ้าเราเดินจงกรมก็เดินให้ร่างกายมันแข็งแรง อย่าไปต้องการความสงบ ถ้าเรานั่งสมาธิเราก็นั่งสมาธิเพื่อเสียสละเพื่อปล่อยวาง เราอย่าไปเอาความสงบ เราทำวัตรสวดมนต์ก็ตั้งใจสวด สวดให้มันดีให้มันเพราะ อัครพยัญชนะให้ชัดเจน เพราะการสวดดี ๆ กราบดี ๆ ไหว้พระดี ๆ มันเกิดความสงบ


ถ้าใครจิตใจมันยังไม่สงบ ก็ทำฐานภายนอกให้มันดี อย่างเช่นผู้หญิงนี้ก็ช่วยเขาทำอาหาร ล้างภาชนะ ทำความสะอาด มันมีงานทำเยอะแยะ

 

นักปฏิบัติธรรมอย่าได้เข้าใจผิดนะว่าทำงานภายนอกไม่ได้ปฏิบัติธรรม...!


“งานภายนอกนั่นแหละคืองานปฏิบัติธรรม” เป็นงานที่เสียสละละความเห็นแก่ตัว เป็นงานที่เจริญสติ เจริญสมาธิ เป็นงาน “สมาธิอบรมปัญญา” ถ้าเราไปเอาแต่เรื่องจิต เรื่องใจหมด มันอาจจะเครียดได้ เพราะว่าฐานจิตใจเราไม่มี


อีกประการหนึ่ง เรายังมีความเข้าใจผิดกันมากอยู่ พากันไปโทษสิ่งภายนอกอยู่ ว่าสิ่งภายนอกมันมีปัญหา ว่าปัญหามันมาจากสิ่งภายนอก ความเป็นจริงสิ่งภายนอกไม่มีปัญหา ปัญหาต่าง ๆ มันเกิดกับใจของเราที่มันไม่ฉลาด มันเอาปัญหาต่าง ๆ ภายนอกมาเป็นปัญหาที่ใจของเรา


ที่จริงแล้วสิ่งภายนอกมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ใจของเราไม่มีปัญหา ให้อินทรีย์บารมี ของเราแก่กล้า


การแสวงหาสัปปายะทั้ง ๔ ต้องเข้าใจดี ๆ มันอยู่ที่ใจของเราที่จะแก้ไขทุกอย่าง ให้มันสัปปายะ เราจะได้หมดปัญหาชีวิต


ถ้าเราแก้ที่จิตที่ใจของเราได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีแต่คุณแต่ประโยชน์ หมายถึงว่า เราอยู่ที่ไหนเราจะสบายหมด เราจะไม่มีปัญหา


ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจ เราจะได้ไม่ไปโทษสิ่งภายนอก เพราะว่าปัญหาทุกอย่างนั้น อยู่ที่ตัวเรานี้เอง ถ้าใจของเราไม่มีปัญหาทุกอย่างมันก็ไม่มีปัญหา


พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามาเดินตามอริยมรรค อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด อันไหนไม่ดี ก็อย่าไปพูด อันไหนไม่ดีก็อย่าไปทำ ปรับตัวเองเข้าหาศีลหาธรรมคือทางสายกลาง อย่าเอาตนเป็นใหญ่


พระพุทธเจ้าท่านให้เอาธรรมเป็นที่ตั้งเอาพระวินัยเป็นที่ตั้ง ชีวิตของทุกคนก็เจริญงอกงามด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...

 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันพุธที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 488879เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 04:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท