เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (หนึ่งอำเภอหนึ่งผลิตภัณฑ์)


เป็นวันที่ผมชื่นสุขเป็นยิ่งนัก เพราะเหมือนกับ “คนบ้านเดียวกันได้คุยกัน” เหมือน “คนบ้านเดียวกันกำลังจะพัฒนาบ้านร่วมกัน” เหมือนสิ่งยืนยันได้ว่า “มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” และ “ชุมชนก็เป็นห้องเรียนอันยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัย”

วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 เป็นอีกวันที่ผมมี “ความสุข” กับการได้ใช้ชีวิตในเวทีการเรียนรู้ที่มีชีวิต

วันนั้น-มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เปิดเวที “โสเหล่” ร่วมกับผู้บริหารในส่วนงาน “พัฒนาชุมชน”  และเหล่าบรรดาประธานเครือข่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก 13 อำเภอของจังหวัดมหาสารคาม


การงานครั้งนี้ ผศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต (อธิการบดี) ออกโรงนำทัพด้วยตัวท่านเอง แถมพ่วงทีมงานไปอีกหลายคน อาทิ ผศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ) นายสุนทร เดชชัย (ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ) โดยประเด็นหลักของการโสเหล่ในวันนี้ก็คือการหารือเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนเรื่อง “หนึ่งอำเภอหนึ่งผลิตภัณฑ์”

 

 

 

ครับ-ฟังดูเหมือนนโยบายอันเป็น “กระแสหลัก” อยู่มาก แต่ในเนื้อแท้นั้นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ปักธงทำเรื่องทำนองนี้มายาวนานพอสมควร  ดังจะเห็นได้จากสองถึงสามปีให้หลังมีกระบวนการขับเคลื่อนเชิงรุกการบริการวิชาการแก่สังคมอย่างจริงจังและหลากหลาย เช่น 

  • ปี 2553 สนับสนุนให้นิสิตได้จัดกิจกรรมในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยด้วยชื่อ “1 คณะ 1 หมู่บ้าน”  จำนวน 36 โครงการๆ ละ 30,000 บาท
  • ปี 2554 สนับสนุนให้แต่ละคณะได้บริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ “1 คณะ 1 ชุมชน” จำนวนมากกว่า  40 โครงการๆ ละ 100,000 บาท
  • ล่าสุดในปีงบประมาณ 2555  ได้ขับเคลื่อนในชื่อ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” จำนวนไม่น้อยกว่า 70 หลักสูตรๆ ละ 80,000-100,000 บาท 
  • และนั่นยังไม่รวมถึงกิจกรรมของนิสิตในชื่อ “1 ชมรม 1 ชุมชน” จำนวน 40 ชมรมๆ ละ 30,000 บาท

 

โดยส่วนตัวนั้น ผมชื่นชอบบรรยากาศของการพบปะกันเป็นอย่างมาก ถึงแม้ภายในห้องจะจัดวางด้วยระบบของ “ห้องประชุม” ที่เป็นทางการก็ตาม แต่อธิการบดี ก็สามารถสร้างสรรค์บรรยากาศของการพูดคุยกันได้อย่างเป็นกันเอง ด้วยการใช้กระบวนการ “โสเหล่”  เป็นเครื่องนำพา  ชักชวนให้ผู้แทนหน่วยงานและผู้แทนชุมชนได้ “เล่าเรื่อง” ที่เกี่ยวกับชุมชนและผลิตภัณฑ์ของชุมชน ตลอดจนการเชื้อเชิญให้บอกเล่าถึง “จุดเด่น-จุดด้อย” ที่กำลังขับเคลื่อน  รวมถึงสิ่งที่ “ชาวบ้าน” หรือ “ชุมชน” อยากให้มหาวิทยาลัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับการขับเคลื่อนร่วมกัน  เสมือนการ “SWOT”  ไปในตัวแบบเนียนๆ

 

 

 

ในเบื้องต้นอธิการบดี บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยประมาณว่า “...กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในทิศทางของการมุ่งให้มหาวิทยาลัยได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยการนำทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมูลค่า  เป็นเอกลักษณ์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน  รวมถึงการจัดรวบรวมเป็น “ของดีเมืองมหาสารคาม” อย่างเป็นระบบ โดยมีศูนย์จำหน่ายที่เป็นของชุมชนอย่างแท้จริง  และมหาวิทยาลัยจะเป็นกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง...”

 

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ผมเองก็เห็นด้วยค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันในยามที่มีคนมาเยี่ยมเยียนเมืองมหาสารคามดินแดนที่ถูกเรียกขนานว่าเป็น “เมืองแห่งการศึกษา” (ตักสิลานคร) นั้น หากจะพาไปเยี่ยมชมจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น  ดูจะยากยิ่งไม่ใช่น้อย ทั้งเพราะไม่มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่มีแหล่งจำหน่ายเป็นหลักแหล่ง บางชนิดอยู่ลึกเร้นในท้องถิ่น หรือชุมชนมากจนเกินไป ลำบากต่อการเดินทาง  ซึ่งประเด็นนี้เท่าที่ผมรับรู้มาก็คือมหาวิทยาลัยมีนโยบายในการจัดสร้างศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน  สร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และภายในศูนย์นั้นก็จะมีเกร็ดความรู้ในเรื่อง “ภูมิปัญญา” ให้ศึกษาควบคู่กันไป  เรียกได้ว่าเดินเข้าไปในศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นๆ  ได้ “ความรู้และปัญญา” กลับออกไปด้วยนั่นเอง

 

ครับ-อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังเบิ่งมองและปรารถนาเข้าไปเรียนรู้ หรือร่วมขับเคลื่อนกับชุมชนนั้น เป็นการคิดบนรากฐานสำคัญ 3 ประการ คือ 1) ภูมิปัญญาสู่สากล (Local Yet Global)  2) พึ่งตนเองและคิดสร้างสรรค์ (Self-Reliance-Creativity) 3) การสร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)

ผ่านกลไกของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และใช้ท้องถิ่น หรือชุมชนเป็น “ฐานราก” ของกระบวนการทั้งปวง

 

 

 

อย่างไรก็ดี ในเวทีดังกล่าวนั้น  ผมชื่นชมการบอกเล่า หรือการเล่าเรื่องของชาวบ้านเป็นพิเศษ  เพราะแต่ละคนถึงแม้จะดูตื่นเต้นอยู่บ้าง  แต่ที่สุดแล้วก็สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างผ่อนคลาย  เห็นภาพ “ชีวิต” ที่แจ่มชัด เห็นเรื่องราวต่างๆ ฉายชัดในแววตา เสมือนกำลังบ่งบอกให้มหาวิทยาลัยได้รับรู้ว่าคนที่มาในวันนั้นล้วนเป็น “ตัวจริง-เสียงจริง-ปลูกเอง-เก็บเอง-ทอเอง-ขายเอง” รวมถึง “สุขเอง-เจ็บเอง” อย่างไม่ต้องสงสัย

 

ครับ-การบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ นั้น เป็นการบอกเล่าจากทุกๆ อำเภอในจังหวัดมหาสารคาม สิ่งที่เราค้นพบร่วมกันก็คือผลิตภัณฑ์อันเป็น “จุดเด่น”  ของชาวมหาสารคามล้วนเกี่ยวโยงกับ “ผ้าไหม (สร้อยดอกหมาก) ผ้าฝ้าย และเสื่อกก” แทบทั้งสิ้น  ส่วนจุดอ่อนที่พบร่วมกันก็คือเรื่อง “อาหาร” เพราะยังไม่มีการแปรรูปได้อย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็ตรงกับบทวิเคราะห์ของภาครัฐและเอกชนที่ผมเคยได้รับรู้มา

 

นอกจากนั้นยังพบสภาพปัญหาหลายอย่างปะปนอยู่ในกระบวนการทั้งปวง  เช่น  การออกแบบผลิตภัณฑ์  การออกแบบบรรจุภัณฑ์  วัตถุดิบในท้องถิ่น  การจัดการตลาด...ซึ่งทั้งปวงนั้นก็เป็นสภาพปัญหาที่พบในหลายๆ จังหวัด  และชาวบ้านก็บอกเล่าอย่างใสซื่อประมาณว่า “ผลิตภัณฑ์ของชาวมหาสารคามยังไม่มีนายทุนใหญ่ใดๆ มาสนับสนุน เมื่อนำไปแสดงในเวทีต่างๆ ร่วมกับจังหวัดอื่นๆ จึงดูพื้นๆ ไม่โดดเด่น ทั้งรูปแบบของสินค้าและร้านรวงที่จัดแสดง...”

 

ครับ-เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผมมองว่าเป็นโอกาสอันดีว่าเป็น “จุดแข็ง” ของชาวมหาสารคามเลยแหละ เพราะนี่คือ “จุดขาย” โดยตรงที่ต้องหยิบจับมาสร้างสรรค์ให้กลายเป็น “พลัง”  จาก “ชาวบ้าน” เพื่อ “ชาวบ้าน”  โดยมีกระบวนการทางการศึกษาเข้าไปหนุนเสริมร่วมกัน

 

 

ในห้วงท้ายของการเปิดวงโสเหล่กัน  อธิการบดีฝากให้ชุมชนได้ค้นหา “ครัวเรือน” ที่มีความเข้มแข็งในเรื่องเหล่านี้  เพราะนั่นคือ “ต้นแบบ” ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้เจริญรอยตาม รวมถึงการเป็นต้นแบบของการที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งนั่นก็รวมถึงการหนุนเสริมแรงใจให้กับครัวเรือนนั้นๆ ไปในตัว


ครับ-ถึงตรงนี้  ผมยังยืนยันว่าวันนั้น (14 พฤษภาคม 2555) เป็นวันที่ผมชื่นสุขเป็นยิ่งนัก เพราะเหมือนกับ “คนบ้านเดียวกันได้คุยกัน”  เหมือน “คนบ้านเดียวกันกำลังจะพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนร่วมกัน”  กอปรกับเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า “มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”  และ “ชุมชนก็เป็นห้องเรียนอันยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัย”

 

มิหนำซ้ำในวันนั้น  ผมยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ กับผู้คนในวงโสเหล่  รวมถึงการพบเห็นความฝันของตนเองแจ่มชัดขึ้น  นั่นก็คือ การได้รับมอบหมายให้ “...ถอดบทเรียนจากแม่ภูมิปัญญาต่างๆ ในจังหวัดมหาสารคาม  จัดทำเป็นหนังสือ รวมถึงการสร้างหลักสูตร หรือชุดความรู้ในเรื่องเหล่านี้...”

  

นี่คือเรื่องราวเล็กๆ ของสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังขับเคลื่อน  และยืนยันได้ว่า ไม่ใช่การวิ่งตามกระแสหลักเสียทั้งหมด หากแต่สิ่งที่คิดและกำลังจะทำนั้น เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยรู้และตระหนักว่ามันสำคัญมากๆ ...มันคือส่วนหนึ่งของปรัชญา “ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” หรือ (เอกลักษณ์)  “มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน” หรือแม้แต่ (อัตลักษณ์) “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน”

ครับ-งานนี้ มหาวิทยาลัยปักธงอำเภอละ 100,000 บาท แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่กำลังจะมีขึ้น ทั้งในมิติของชาวบ้านกับชาวบ้าน, ชาวบ้านกับนิสิต, ชาวบ้านกับอาจารย์, อาจารย์กับนิสิต  หรือพูดง่ายๆ ก็คือ "ชุมชนกับมหาวิทยาลัย" นั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 488644เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีๆนี้ ==> เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 

สวัสดีครับ พี่ดร. สมศรี 

ในวันที่พบปะพูดคุยกันนั้น  สิ่งที่เราได้รับรู้เบื้องต้นก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับ "ทุนทางสังคม" ของแต่ละท้องถิ่น/ชุมชน ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงวัฒนธรรม  รวมถึงภูมิปัญญาที่กำลังสูญสลาย หรือแม้แต่สูญสลายไปตามกาลเวลา...

การพูดคุยกันในวั้นนั้น ในอีกมิติหนึ่งคือการหนุนเสริมพลังใจให้กับท้องถิ่น มหาวิทยาลัยจะเข้าไปร่วมเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับชาวบ้าน โดยการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากร ซึ่งรวมถึงการลงสู่ชุมชนของอาจารย์และนิสิต  เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ผสมผสานระหว่างวิทยาการใหม่ๆ และภูมิปัญญาของชาวบ้าน

...

 

สวัสดีค่ะ

ทึ่งที่มหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทสนับสนุนกิจกรรมนี้นะคะ เป็นกิจกรรมที่แหวกแนวมากๆ ค่ะ ชื่นชมความตั้งใจจริงและความพยายามในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนค่ะ

มหาวิทยาลัยจะสมบูรณืแบบที่สุดเมื่อชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัย

มาร่วมชื่นชมกับแบบอย่างดีๆเช่นนี้ค่ะ..มหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่พี่ใหญ่สัมผัส เห็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนจุดเด่น..จุดแข็ง ลงสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง..

  • เนียนค่ะเนียน  ระดับนโยบายลงมือเอง  กลมกลืนกับพื้นถิ่น.....ไปโลดเห็น ๆ
  • รออ่านถอดบทเรียนนะคะ   แฮ่ะ ๆ เผื่อหยิบยืมไปปรับใช้ได้บ้าง  ใน Scale ที่เล็กลง  ระยะนี้ก็ทำงานกับชุมชนระดับหมู่บ้านน่ะค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะอาจารย์

ดีครับพี่นัส

 กิจกรรมก้าวไปไกลมาก หลากหลายรูปแบบและรับใช้สังคมอย่างจริงจัง ขอชื่นชมครับ แต่ผมมีความสนใจอย่างยิ่งในกิจกรรมเหล่านี้ และยากเพิ่มการ "วิจัย" เข้าไปด้วย โดยชุมชน นักศึกษา มีส่วนในการวิจัย แต่ก็ได้แค่คิดครับ เพราะมองหาทางเดินไม่พบ หากไม่รบกวนมาก ฝากรบกวนพี่ช่วยชี้ทางสว่างเรื่องของการบูรณาการวิจัยกับกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยนะครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาสังคมที่อาศัยอยู่ร่วมกัน 
  • ขอบคุณความรู้และวิธีการดีๆนี้ครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท