เทคนิคการผลิตก้อนเห็ดคุณภาพสูง โดย อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ


การสร้างโรงเรือนเปิดดอก ไม่ควรสร้างหลังใหญ่หลังเดียว แต่ควรสร้างหลังย่อม ๆ หลายๆ หลัง เป็นการป้องกันการระบาดของโรคศัตรูเห็ด

ไหนๆ ก็เอาผลงานเก่าๆของอาจารย์มาเล่าให้ท่านผู้อ่านที่เป็นนักเพาะเห็ดมืออาชีพได้ทบทวนและเป็นการเพิ่มเติมเสริมความรู้ให้แก่ผู้เพาะเห็ดรุ่นใหม่ๆไว้เป็นทางเลือกในการบริหารจัดการฟาร์มเห็ดของตนเอง สำหรับวันนี้จะขออนุญาตนำเรื่อง “การทำก้อนเชื้อเห็ดคุณภาพสูง” ที่ท่านอาจารย์ได้เผยแพร่ไว้ในหนังสือ “เห็ดไทย ๒๕๕๑” มาเพิ่มเติม... ส่วนในโอกาศต่อไปจะนำเรื่องอะไรมาเล่าต่อให้ฟังนั้น ก็ขออุบให้ท่านผู้อ่านค่อยๆติดตามในโอกาสต่อๆไปแล้วกันนะครับ….

 

เทคนิคการผลิตก้อนเชื้อคุณภาพสูง

โดย อาจารย์ดีพร้อม  ไชยวงศ์เกียรติ  นายกสมาคมนักวิจัยและผู้เพาะเห็ดแห่งประเทศไทย

 

สูตรอาหารเห็ดในน้ำหนัก 100 กิโลกรัม มีสูตรดังนี้

          - ขี้เลื่อย                                                                                                  ๗๐ กิโลกรัม

          - ปุ๋ยหมัก (หากไม่มีปุ๋ยอาหารหมักให้ใช้ขี้เลื่อยเป็น ๙๐ กิโลกรัม)         ๒๐  กิโลกรัม

          - แร่ม้อนท์                                                                                                 ๓  กิโลกรัม

          - รำ                                                                                                            ๗ กิโลกรัม

          - น้ำมะพร้าวอ่อนหมักเชื้อพลายแก้ว ๑ ผล

          - น้ำมะพร้าวอ่อนหมักเชื้อไมโตฟากัส ๑ ผล

          - น้ำเปล่า

 

หมายเหตุ    : เชื้อพลายแก้ว ป้องกันกำจัดเชื้อรา

                   :  เชื้อไมโตฟากัส  ป้องกันกำจัดไร

                    : แร่ม้อนท์ ทำให้เส้นใยดอกเห็ดมีคุณภาพ

 

                   ๑.  นำวัสดุต่างๆ มาคลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างทั่วถึง (เชื้อพลายแก้ว และเชื้อไมโตฟากัสที่หมักแล้วนำมาผสมน้ำเปล่า ๑๐ – ๒๐ ลิตรก่อน แล้วโชยให้ทั่ว จากนั้นเติมน้ำเปล่าให้ความชื้น ๕๐-๖๐ % คลุกเคล้า)

                   ๒.  นำวัสดุอาหารเห็ดที่คลุกเคล้า และได้ความชื้นพอเหมาะแล้ว มากรอกใส่ถุงพลาสติกให้ได้น้ำหนักประมาณ ๘ ขีดถึง ๑ กิโลกรัม

                   ๓. อัดให้แน่นพอประมาณ ระวังอย่าให้ถุงปริแตก หรือเสี้ยนตำถุง เพราะจะทำให้เมื่อนึ่งแล้วภายหลังอาจมีเชื้อปนเปื้อนได้จากรอยรั่ว ควรมีแผ่นยางรองเพื่อลดแรงกระแทก ป้องกันถุงปริแตกหรือเสี้ยนตำ

                   ๔. ใส่คอขวด ดึงปากพลาสติกให้ถุงก้อนอาหารตึง

                   ๕. ปั่นใยฝ้ายเป็นก้อนเป็นจุกปิด และปิดฝาครอบพลาสติกอีกชั้น

                   ๖. นำเข้าเตานึ่ง เรียงอย่าให้เบียดแน่น ต้องให้ไอน้ำผ่านได้ทั่วถึง นึ่งด้วยไอน้ำร้อน เป็นเวลา ๓-๕ ชั่วโมง (นึ่งนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดของเตานึ่งด้วย) โดยเริ่มจับเวลาที่อุณหภูมิประมาณ ๑๐๐ องศาเซลเซียสหรือไอน้ำเดือด

                   ๗. นึ่งครบเวลา นำมาตั้งให้เย็นรอใส่หัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง

                   ๘. หัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง ก่อนเทใส่ในก้อนอาหารเห็ดที่นึ่งสุกแล้ว ต้องเขย่าให้ร่วนก่อน

                   ๙. ก่อนใส่เชื้อเห็ด ต้องเช็ดหรือฆ่าเชื้อืที่มือ ด้วยแอลกอฮอล์ ๗๐ %

                   ๑๐. ฉีดแอลกอฮอล์ ๗๐ % ฆ่าเชื้อที่บริเวณปากถุงด้วย

                   ๑๑. ลนไฟปากขวด จนถึงคอขวดหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง เพื่อฆ่าเชื้อโรคหรือแมลงไร รา ที่เกาะติดอยู่

                   ๑๒. ดึงจุกใยฝ้ายออก เทหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างลงในก้อนอาหารเห็ด การเทหัวเชื้อเห็ดต้องเทในที่ไม่มีลมพัดผ่าน หรือในห้องที่ลมสงบนั่นเอง ต้องเทด้วยความชำนาญ และรวดเร็ว เพือ่ไม่ให้เชื้ออื่นปลิวตกลงไปปนเปื้อน เทเสร็จแล้วรีบอุดจุกใยฝ้ายกลับตามเดิม โดยช่วงเทจะอยู่ในมือตลอดเวลา ห้ามวางกับพื้นเด็ดขาด

                   ๑๓. อุดจุก ปิดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ รัดด้วยยางรัดอีกครั้ง หัวเชื้อข้าวฟ่าง ๑ ขวด เทใส่ก้อนอาหารเห็ดที่นึ่งแล้วได้ประมาณ ๒๕-๓๐ ก้อน

                   ๑๔. นำก้อนอาหารเห็ดที่ใส่เชื้อแล้วขึ้นชั้นวาง ตั้งบ่มให้เส้นใยเจริญเต็มก้อน พร้อมที่จะนำไปเปิดดอกในโรงเปิดต่อไป ระยะเวลาเส้นใยเดินเต็มก้อนอาหารขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดนั้นๆ

                   ๑๕. เมื่อเส้นใยเดินเต็มก้อน เห็ดมีความพร้อมที่จะเปิดดอก นำก้อนเห็ดเข้าโรงเปิดดอก การวางก้อนง่ายสุดคือ วางซ้อนกันเป็นชั้นเป็นแถวแต่วางได้ไม่สูงนัก หรือวางแบบทรงเอ หรือแบบแขวนก้อน ฯลฯ

                  

                   การวางในลักษณะซ้อนกันเป็นชั้นเป็นแถวไม่ควรวางซ้อนกันเกิดว่า ๖-๗ ก้อน เพราะหากวางซ้อนมากๆ ก้อนล่างๆ เห็ดจะออกน้อยหรือไม่ออกเลย เนื่องจากน้ำหนักที่กดลงมาทำให้เส้นใยเห็ดมีความเครียด

                   การสร้างโรงเรือนเปิดดอก ไม่ควรสร้างหลังใหญ่หลังเดียว แต่ควรสร้างหลังย่อม ๆ หลายๆ หลัง เป็นการป้องกันการระบาดของโรคศัตรูเห็ด

                   โรงเรือน ควรมีการระบายถ่ายเทอากาศดี แต่สามารถเก็บรักษาความชื้นได้ด้วย หากดอกเห็ดแห้ง แสดงว่าลมโกรก ความชื้นน้อย หากดอกแฉะเน่า แสดงว่าความชื้นมากเกินไป หากดอกเห็ดผิดรูป หงิกงอ เป็นได้ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงเรือนมีมาก หรือถูกไรรบกวน

 

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 488641เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 07:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

 

- ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีๆนี้ ค่ะ เทคนิคการผลิตก้อนเห็ดคุณภาพสูง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท