บันทึกครูนิธิ-ก้าวแรกความเป็นครูกับความสุขเต็มหัวใจ


ความสุขเต็มหัวใจ

ก้าวแรกที่เป็นครูกับความสุขแบบเต็มหัวใจ

     คนมันถูกลิขิตไว้แล้ว อย่างไรก็ต้องเป็นครู  มีช่วงหนึ่งที่งานมีมากและต้องออกงานสังคมบ่อย  ภาษีสังคมมากขึ้น  วันหนึ่งก็มานั่งทบทวนตัวเองว่าหลงทางหรือเปล่า ? ใช่เราไหม ? มีความสุขไหมกับงานที่ทำ คำตอบก็คือ
ก็มีความสุขดี เจ้านายก็ดี เพื่อนร่วมงานก็ดี  งานก็ดี  มีความสุขดี แต่สุขแบบไม่เต็มที่  ความสุขไม่เต็มหัวใจ  หลายคนก็คงรู้สึกได้ว่าความสุขแบบไม่เต็มหัวใจเป็นอย่างไร  จนเกิดการเบื่อหน่าย อาจเป็นเพราะงานมากขึ้น และงานบางงานก็ไม่ถนัด  ก็คิดเหมือนกันว่า เอ๊ะ!เกิดอาการซึมเศร้าหรือเปล่า  พอมีวันหยุดก็จะเที่ยวต่างจังหวัดเผื่อจะดีขึ้น ก็ไม่ดีขึ้นอย่างที่คิด ประกอบกับมีปัญหาอื่น ๆ เข้ามากระทบด้วย  ยิ่งทำให้เบื่อหน่ายหนักขึ้น 

    

     จนเจอรุ่นพี่คนหนึ่งสมัยเรียนมัธยม ใจดีมาก บอกว่ามีงานสอนของสถาบันแห่งหนึ่ง จะมาทำงานลองดูไหม? แต่เงินเดือนน้อยนะ ตอนนั้นอยากเปลี่ยนงาน อยากได้งาน  ก็ตอบตกลงไปทำงานสอน ก็เป็นครูนั่นแหละ  บอกเจ้านายตรง ๆ เจ้านายก็ดีเหลือเกิน  บอกว่าถ้าไปทำงานกับบริษัทอื่นนายโกรธตายแต่ถ้าเป็นครูนายบอกเออ...ดี  ไปได้ไปเลย

    

     ได้เวลาเริ่มงานครูแล้ว  โอโห้! พระเจ้าช่วยกล้วยปิ้ง  สวัสดีประเทศไทย  งานครูไม่ได้หมูอย่างที่คิด เริ่มจากพฤติกรรมการแต่งกาย  สมัยอยู่บริษัทนุ่งสั้นได้ สวมถุงน่องสวยเช้ง  มาเป็นครูต้องเปลี่ยนทั้งหมด นุ่งห่มมิดชิด  ระมัดระวังการพูดจา  การวางตัว  ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ปรับเปลี่ยนวิธีการคิด  เมื่อก่อนคิด 1 -2 -3 พอมาทำงานครูต้อง 1 – 2 แล้วย้อนดู 1 – 2 แล้วค่อย 3 งานสอนครูต้องเริ่มต้นก้าวที่ 1 ไปพร้อมกับเด็กรุ่นใหม่ ทำความเข้าใจเด็กทุกครั้งที่เริ่มสอนภาคเรียนใหม่  แล้วค่อยก้าว 2 ถ้าก้าว 2 แล้ว 1 ยังตามไม่ทันก็ต้องย้อนกลับไปไล่กวด 1 ให้ทัน 2 และเด็กที่สอนก็มีหลายคนที่มีปัญหา  ทั้งเรื่องครอบครัว  ทั้งเรื่องเรียน  ทั้งเรื่องคดีความ  ทั้งเรื่องเงิน ทั้งเรื่องยาเสพติด  สัมผัสคนไหนได้รู้ปัญหาของคนนั้น 

 

     สมัยทำงานอยู่บริษัทปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมาเทียบกับปัญหาที่เจอเมื่อเป็นครู ต่างขั้วมากถึงมากที่สุด  จนเกิดความเครียด เพราะเราช่วยเขาไม่ได้มาก  บางครั้งปัญหาแก้ไม่จบ พันกันเป็นเส้นด้ายไร้จุดหมายปลายทาง หรือเสียเวลาที่จะสาวใหม่  เราได้แต่รับฟัง แล้วก็ต้องเก็บความลับ  ความที่เราเป็นครู ความไว้วางใจของเด็กที่มีให้กับเราบางครั้งมีมากกว่าที่เราจะคาดถึง  ความลับบางอย่างพ่อ แม่ ยังไม่เคยรู้เลย  แต่ครูนี่แหละรู้  เด็กไว้วางใจว่าเราจะไม่พูด เราจะไม่บอกความลับนี้กับใคร จนรู้สึกอึดอัด 

 

     นอกจากจะแก้ปัญหาให้เด็กไม่ได้ดังใจแล้ว ยังต้องรับฟังปัญหายิ่งกว่าศิราณีซะอีก  ได้แต่ให้กำลังใจ มีความรู้สึกอยากทำอะไรให้ได้มากกว่านี้  พยายามคิดหาทางออกและหาวิธีการ  สิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือ  เด็กเหล่านี้ต้องมีความรู้ติดตัวไป ประสบกาณ์ชีวิตเขามีกันแล้ว บางคนมากกว่าครูเสียอีก  แต่ประสบการณ์ทางวิชาการเรามีมากกว่าเขา  ในเมื่อเราไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ทั้งหมด  แต่เราสร้างโอกาสและทางเลือกให้เขาได้  จึงพยายามเตรียมงานสอนถึงตีหนึ่ง ตีสอง และถ่ายทอดความรู้ที่มีให้เด็ก ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่เด็ก ๆ จะรับได้ เชื่อไหมว่าเด็กเหล่านี้ตั้งใจที่จะเรียนรู้จากเรามากกว่าที่เราคิด

 

     แรก ๆ อาจมีบ้างที่มีเด็กบางคนต่อต้าน เพราะบางคนไม่ชอบเรียน 
ไม่ชอบคิด เพราะที่บ้านก็ถูกขีดเส้นมาแล้วและก็มีเรื่องเครียด มีเรื่องให้คิดมากพอแล้ว มาโรงเรียนยังจะมาปวดหัวกับทฤษฎีวิชาการที่ครูสอนให้อีก  เราก็แก้ปัญหาโดยใช้วิธีจำชื่อ  พูดคุยด้วย(ไม่มีการตำหนิ)  ทักทาย  ยิ่งดื้อมากเท่าไหร่ยิ่งต้องจำชื่อให้แม่น  และพูดคุยด้วยให้มากขึ้นกว่าเดิม  จนกระทั่งกลายเป็นลูกศิษย์ที่น่ารัก  ต้องคุยและทักทายทุกเช้า เที่ยง เย็น 

     ยิ่งสนิทยิ่งรู้ความลับมากขึ้น กลายเป็นที่ปรึกษาให้เด็กมากขึ้น   ความลับบางอย่างของเด็กบอกตรง ๆ ฟังแล้วช็อคยิ่งกว่าดูหนังช๊อคซีเนม่า  เด็กวัยรุ่นมีแนวโน้มอยากออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นมาก  เบื่อบ้านมาก  เบื่อพ่อ แม่ เบื่อครอบครัว  โดยเฉพาะแรงกดดันที่เขาได้รับจากคนรอบข้าง  จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจากคนรอบข้างก็ตาม  ไม่ใช่ว่าเด็กเขาจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำผ่านมาแล้วมันผิด  เขารู้ว่ามันผิด เขาสำนึก แต่จะให้เขากลับไปแก้ไขไม่ให้มันเกิดขึ้นไม่ได้  มันเกิดขึ้นแล้ว  เขาได้บทเรียนแล้ว  แต่ขอให้หยุดแค่นั้นได้ไหม  ความรู้สึกของเด็กคือ เขาคิดว่าคนรอบข้างไม่หยุดให้เขา  พอเราถามว่า

     “รู้ได้อย่างไร”  

     เด็กบอกว่า

     “หนูก็เป็นคน มันสัมผัสได้กับความรู้สึกแบบนั้น”  หรือ 

     “ ก็เขาแสดงออกกันขนาดนั้น จะไม่ให้รู้สึกได้ไง” 

     จะเป็นเพราะเด็กคิดมาก หรือเป็นเพราะองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านที่ทำให้เด็กรู้สึกแบบนั้นก็ไม่อยากหาคำตอบแล้วในตอนนั้น  เพราะเรื่องสัญชาติญาณมนุษย์พูดกันยาก 

 

     เมื่อสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจจากเด็ก ๆ มากขึ้น  ความร่วมมือในการเรียน  การทำกิจกรรมอะไรก็ง่าย ความสำเร็จก็ตามมา  บอกอะไรก็ง่ายขึ้น  ที่สำคัญต้องแสดงให้เห็นว่าเด็กมีความสำคัญ  พยายามให้เขามีส่วนร่วมในเรื่องการแสดงความคิดเห็น  ต้องอดทนและใช้เวลาหลายเดือน โชคดีที่เด็กกลุ่มนี้ได้ตามสอนด้วยทั้งปี จึงทำให้งานครูดูไม่สาหัสเหมือนก้าวแรกที่เข้ามาเป็นครู 

 

     เด็กวัยรุ่นอาจมองดูว่าเขาทำอะไรไร้สาระ แต่จริง ๆ มีสาระ เพราะเป็นความพยายามของเขาที่จะมีส่วนร่วมในกลุ่ม ในสังคมและพยายามทำตนเองให้สังคมยอมรับ  การแสดงออกบางอย่างดูไม่น่าทำ มันดูตลก  บางอย่างมันดูช่างร้ายกาจ  เช่น บิดมอเตอร์ไซด์เสียงดัง  คุยเสียงดังโชว์ชาวบ้าน  จับกลุ่มใหญ่ ๆ เที่ยวตามงาน  ชาวบ้านบางคนดูว่าน่ากลัวตั้งแก็งค์  ถ้าผู้ใหญ่มีทางเลือกและโอกาสให้วัยรุ่นเหล่านี้แสดงออกให้ถูกทาง  ช่วยชี้แนะก่อนที่จะคิดและมองตำหนิการกระทำของพวกเขาจะดีมาก 

 

     ปัจจุบันมีผู้ใหญ่ใจดีเปิดโอกาสและทางเลือกให้เด็กมากกว่าที่ผ่านมา  หลายชุมชนพยายามนำพาลูกหลานในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมชุมชน เช่น งานวัด  งานบุญต่าง ๆ การแข่งขันฟุตบอล  การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านของชุมชน  โดยใช้บ้าน โรงรียนและวัดเป็นตัวเชื่อมโยง 

     เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังประทับใจเด็กวัยรุ่นในชุมชนที่ตนเองอยู่  เค้ายังอยู่ในวัย 15 – 20 ปี เท่านั้น แต่มีจิตอาสาในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนอย่างไม่ขัดเขิน  คนในชุมชนก็ให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ อยากให้เป็นแบบนี้ทุกชุมชน  อยากให้เด็กรู้ว่าเขาก็สำคัญ เขามีความสำคัญกับชุมชนที่เขาอยู่ และชุมชนต้องการเขาเข้ามามีส่วนร่วม  เวลามีงานใด ๆ ในชุมชนอยากให้ดึงเด็ก ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรม  จงเชื่อว่าเขามีความสามารถเรียนรู้  ถ้าเราไม่สอนเขาใครจะรับสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม  ใครจะสอนเขาได้ดีไปกว่าผู้ใหญ่ในชุมชน  เรื่องภายในชุมชนใครจะรู้ดีไปกว่าผู้ใหญ่ในชุมชน  ผู้ใหญ่ก็มีแต่จะแก่ลงไปทุกปี  เริ่มหมดแรงทำกันไม่ไหว  เด็กเหล่านี้คือผู้สานต่อ 

     ไม่รู้คนอื่นจะคิดเหมือนกันหรือเปล่า  พวกเขาคือ ตัวแทนของเรา  เราส่งสิ่งดีให้เขาสานต่อ  ชุมชนก็จะดี  สังคมก็จะดี ประเทศชาติก็จะดีด้วย  เราตายก็นอนตายตาหลับเพราะมีคนสืบทอดต่อแล้ว ถูกต้องด้วย เพราะเป็นผู้ถ่ายทอดให้เองกับมือ  จริงไหม! 

     .....นอกประเด็นไปนิด  ย้อนกลับไปตอนที่เป็นครูครั้งแรก ก็เจองานช้างอย่างที่เล่ามาข้างต้น  เมื่อเด็ก ๆ มีปัญหาทางออกของเด็ก ๆ คือการหนีออกจากบ้าน ถ้าโชคดีเจอเพื่อนที่ดีก็รอดเรื่องยาเสพติดไป  ไปอยู่บ้านเพื่อน บ้านแฟน ซึ่งอาจเป็นชายแท้ หรือชายเทียม  อย่าลืมว่าสังคมเปลี่ยนไป นี่คือความจริง  เด็กบางคนหาเงินได้เก่งกว่าครูเสียอีก  อย่าถามว่าหาอย่างไร เพราะมันเป็นความลับของเด็ก  เคยถามเด็กว่า

     “ทำไม่ต้องออกจากบ้านไปอยู่กับคนอื่น”

    เด็กตอบว่า “ไม่อยากรับรู้ ”

    ก็คือ เขาไม่อยากเห็นสิ่งเก่า ปัญหาเก่า ที่สะสมมานานเท่าไหร่ไม่รู้ในใจเขา แล้วเขาเองก็ไม่สามารถแก้ไขมันให้ดีขึ้นได้ สู้หนีไปให้พ้น ๆ ดีกว่า เรียกว่าหนีปัญหาว่างั้นเถอะ  ถามว่าปัญหาหมดไปไหน เราก็จะเห็นว่าปัญหาไม่หมดถ้าเด็ก ๆ ยังคิดแบบนี้ และเป็นแบบนี้  กลับจะยิ่งเพิ่มประเด็น เพิ่มปัญหามากขึ้นอีก จะมากหรือจะน้อยก็ไม่รู้ได้    จึงต้องเตือนสติบอกเด็กอยู่เสมอว่า

     “รอก่อนนะ รอปีกแข็งแรงก่อนแล้วค่อยบินนะ ถ้าบินตอนนี้จะไม่ได้อะไรเลย เจอพายุลูกเดียวก็หล่นพื้นแล้ว   ช่วยกันนะช่วยกันสร้างปีก กอดคอประคองปีกน้อย ๆ ไปด้วยกันก่อน  เรียนให้จบ เราจะได้มีปีกที่แข็งแรง  คราวนี้เราจะกระพือปีกออกแรงบินได้เลย  ไปไกลแค่ไหนก็ได้”

     ให้เขาคิดเอง  ตัดสินใจเอง บอกแล้วไงว่าประสบการณ์ชีวิตเด็กบางคนมีมากกว่าครูเสียอีก  เขาคิดเองได้  ครูเตือนสติได้อย่างเดียว  จะทำตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็ก   ถ้าขืนบอก

     “ไม่ได้นะต้องกลับบ้านเดี๋ยวนี้”

     ระวังเถอะว่าชั่วโมงเรียนต่อไปจะเจอเด็กคนนี้  ดีไม่ดีไปยาว  เสียเด็กไปไม่พอ เราต้องเสียใจ เสียดาย ที่ไม่สามารถช่วยเขาได้ มันจะจำติดสมองไปอีกนาน แต่โชคดีเหลือเกินเด็ก ๆ ที่ตนเองดูแลอยู่เชื่อฟัง  และเขาก็ให้ความช่วยเหลือกันเอง  รักใคร่กันดี  อดีตของใครก็ของคนนั้น ไม่มีการพูดถึง พูดถึงแต่อนาคต เด็กเริ่มมีความฝัน  ซึ่งตนเองคิดว่าความฝันเป็นสิ่งที่สำคัญ  เพราะความฝันทำให้คนเรามีความหวัง  เมื่อมีความหวังก็มีพลังที่จะสู้ต่อ  มีแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  จนวันที่เด็กกลุ่มนี้เรียนจบ 

 

     จริง ๆ ก่อนหน้านี้คิดจะลาออกเพราะเจองานช้างแล้วเครียด  บอกครูที่สนิทด้วยว่าอาจลาออกนะ  เพราะได้งานสอนอีกที่  ได้เงินเดือนมากกว่า  ปรากฏว่าข่าวไวมาก  พอเข้าห้องสอนเด็ก ๆ ตั้งคำถามเลย
    

     ตัวเองคิดว่า...เฮ้ย! ชีวิตฉันนะ ฉันจะอยู่จะไปมันเรื่องส่วนตัวนี่นา...

     แต่ต้องหยุดความคิดเพราะมีเด็กคนหนึ่งอายุมากกว่าใครในกลุ่มพูดว่า 

     “อาจารย์อยู่ส่งพวกผมให้จบก่อนได้ไหม” 

     โอโฮ! ตอนนั้นขนลุกซู่เลย คิดในใจ....

     เฮ้ย!  เรากำลังทำอะไรอยู่เนี่ยะ  คิดทำบ้าอะไรอยู่ เห็นแก่ตัวมากไปไหม  สิ่งที่กำลังตัดสินใจทำมันไปกระทบความฝันและความหวังของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ 

     ตอนนั้นรับปากเด็กไปทันทีเลย ตกลงฉันอยู่ต่อ เราจะก้าวไปพร้อมกัน  ขอให้ตั้งใจเรียน  ร่วมกันทำให้สิ่งที่หวังไว้สำเร็จให้ได้  ก็อยู่สอนจนเด็กรุ่นนี้จบการศึกษา  หลายคนได้งานทันที  หลายคนสอบราชการติด  ได้งานดี ๆ กันทุกคน  ก็เลยทำให้ค้นพบ นี่ไง! ความสุขแบบเต็มหัวใจ  มันมีค่ามาก มีค่ามากกว่าจะตีเป็นมูลค่าเงิน

หมายเลขบันทึก: 487969เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ข้อแนะนำสำหรับคุณครู ;)...

ลองค่อย ๆ จัดข้อความ ประโยคบันทึกให้อ่านง่ายขึ้นนะครับ แบบเป็นท่อน ๆ ก็ได้ครับ

เนื้อหาน่าอ่านมาก ๆ แต่จะอ่านยากไปนิดครับ

ขออภัยนะครับ ;)...

"ครู คือผู้สร้างโลก ด้วยการสร้างศิษย์..."

เป็นกำลังใจให้คุณครูช่วยกันปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท