หมออนามัย ปฏิทินชุมชน


หมออนามัย ปฏิทินชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ ปฏิทินชุมชน คือ การเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านว่า ในแต่ละปี แต่ละเดือน หรือในแต่ละวัน ชุมชนมิกิจกรรมอะไรบ้าง อะไรที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างไร อะไรที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างไร ทั้งการประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งในแต่ละชุมชนก็จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป หากชุมชนประกอบอาชีพทำนา วิถีชีวิตหลักก็จะผูกพันอยู่กับการทำนา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ฤดูฝน จนสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว พอหมดช่วงทำนาชาวบ้านก็จะมีกิจกรรมต่างๆ ทำต่อ ซึ่งเราจะต้องศึกษาให้ทราบว่าเขาทำอะไรบ้างในช่วงนั้น เช่นบางส่วนของคนในหมู่บ้านอาจเดินทางไปรับจ้างที่ต่างจังหวด เช่น ไปรับจ้างเป็นลูกจ้างสวนยางทางใต้ พอถึงช่วงสงกรานต์ก็จะกลับมารวมญาติกันอีกครั้ง งานบุญงานประเพณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นในวันเวลาใดบ้าง ต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้มาให้หมด เพื่อจะนำมาช่วยวางแผนในการดำเนินงานต่อไป แนวทางการศึกษาปฏิทินชุมชน ในการศึกษาปฏิทินชุมชน สามารถศึกษาชุมชนได้ 2 ลักษณะคือ 1.ปฏิทินทางเศรษฐกิจ เมื่อเราเข้าไปในหมู่บ้าน สามารถใช้วิธการสังเกตและพูดคุยกับชาวบ้านบ่อยๆแล้วเขียนรายละเอียดแจกแจงออกมาได้ว่า อาชีพในหมู่บ้านมีกี่แบบ เดือนไหน ชาวบ้านลงนา ถึงเวลาเดือนไหนที่เก็บเกี่ยว เดือนไหนเดินทางไปทำงานต่างถิ่น หรือพวกที่ไปลงเรือประมงที่ภาคใต้ ไปเมื่อไหร่ จะกลับช่วงไหน จากการศึกษาและเก็บข้อมูลในลักษณะนี้จะทำให้เราเห็นชีวิตชุมชนว่ามีหลายแบบหลายลักษณะ หลังจากได้ข้อมูลนี้มาจะวิเคราะห์เรื่องอะไรก็จะง่ายขึ้นมาก เพราะเรารู้เวลา จังหวะชีวิตของเขาเป็นภาพรวม เช่น มองเห็นแง่มุมทางระบาดวิทยาของปัญหาสุขภาพเพราะรู้ว่าตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับเวลา สถานที่ คนแสดงเป็นแบบแผนออกมาให้เห็น จะเห็นได้ว่าการแจกแจงปฏิทินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน ดังตัวอย่างข้างต้นช่วยให้เราเข้าใจระบบเศรษฐกิจ ของชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งก็เป็นอีกวิถีหนึ่งที่น่าสนใจ และแตกจ่างออกไปจากวิถีชีวิตชุมชนอื่นในหลายๆด้านด้วยกัน เพราะปัจจัยหลายด้าน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา ให้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากระบบการผลิตผูกอยู่กับระบบทุนนิยม คือ การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวป้อนตลาด ต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีและเกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าวชาวพม่าหรือชาวกระเหรี่ยง การพยายามทำความเข้าใจ ระบบหรือวิถีชีวิตในลักษณะนี้จะช่วยให้การวางแผนงานสาธารณสุขได้สอดคล้องกับจังหวะวันเวลาของชุมชน เช่น วางแผนติดตามเรื่องโรคระบาดที่มาจากแรงงานต่างด้าว ด้วยการหาวิธีการเฝ้าระวังและหาทางรับมือได้ทันเหตุการณ์ หรืออาจวางแผนให้ความรู้ในการระมัดระวังเรื่องการใช้สารเคมี เนื่องจากในพื้นที่มี การใช้สารเคมีใช้ยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก เป็นต้น ตัวอย่าง ในรอบปีชาวเขาเผ่าม้งทำมากากินอะไร (ข้อมูลจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก) ชาวเขาเผ่าม้งส่วนใหญ่ทำอาชีพการเกษตรเป็นหลัก โดยนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจในแต่ละฤดู ดังนี้ ช่วงฤดูฝน พฤษภาคม-มิถุนายน ปลูกมันละอู (มันฝรั่ง) ไว้ขาย ปลูกข้าวไว้กิน แล้วยังมีอาชีพหาของป่า ขายของป่าที่เป็นสินค้าหลักของชุมชน คือ หน่อไม้ กลุ่มที่ไปหาหน่อไม้จะเป็นกลุ่มม้ง ที่ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน หรือที่ดินไมเพียงพอต่อการทำกิน หรือกลุ่มแรงงานรับจ้างชาวกระเหรี่ยง คนกลุ่มนี้จะไปขุดหน่อไม้จากภูเขาสูง คนหนึ่งๆ จะหาหน่อไม้ได้ประมาณ 50-100 กิโลกรัมต่อวัน แล้วนำไปขายให้กับคนในหมู่บ้านที่รับชื้อในราคา กิโลกรัมละ 1.75 บาท เพื่อไปขายส่งที่โรงงานหน่อไม้อัดกระป๋องในอำเภอแม่สอด ช่วงฤดูหนาว กันยายน-ตุลาคม ปลูกกะหล่ำปลี และมะเขือเทศ ช่วงหน้าแล้ง มีนาคม-เมษายน จะนิยมปลูกข้าวโพด การทำการเกษตรในแต่ละฤดูมีแรงงานรับจ้างส่วนใหญ่เป็นชาวกระเหรี่ยงและพม่านอกจากนี้ยังมีพวกที่มีอาชีพขับรถไถรับจ้างปรับไร่นา คนมีรถยนต์ก็จะรับจ้างขนส่งเล็กๆน้อยๆ หรือรับ-ส่งคนงานไปในไร่ และรับจ้างขนส่งน้ำมันสำหรับพ่นยาในไร่ผัก หลังฤดูเก็บเกี่ยว หรือเสร็จ จากงานบ้านและไร่นา รับจ้างปักผ้าในหมู่บ้าน จากคนมีฐานะในหมู่บ้าน โดยผู้ว่าจ้างจะซื้อวัสดุมาเองและกำหนดลายที่ต้องการ อาชีพที่ทำหมุนเวียนตลอดปี 1. ค้าขายรายย่อย สินค้ามากน้อยปรับไปตามกำลังซื้อ ซึ่งมีลูกค้าหลักของร้านคือ คนงานพม่าและกระเหรี่ยง เพราะช่วงฤดูกาลเพาะปลูกแรงงานต่างด้าวเข้ามาอาศัยในชุมชนมาก ร้านค้าก็จะสั่งของเข้ามาขายมาก ภายในชุมชนมีร้านค้าขายของชำทั้งสิ้น 6 ร้าน มีสินค้าขายทุกอย่าง รวมทั้งอาหาสด-แห้ง ยารักษาโรค 2. ส่วนอาชีพเสริมอื่นๆ ได้แก่ 2.1 เลี้ยงหมูสำหรับขาย และใช้ไหว้ผีในวันปีใหม่ ชาวเผ่าเม้ง ช่วงประมาณเดือนสาม 2.2 เลี้ยงวัวเนื้อเป็นฝูงตามภูเขา ฝูงละประมาณ 5-10 ตัว 2.3 รับจ้างเลี้ยงวัวชนสำหรับไปชนพนันแข่ง ประมาณ 7-10 ครอบครัว 2.4 รับจ้างตีมีด ราคาประมาณ 50-250 บาท รายได้ไม่แน่นอนแล้วแต่ความต้องการของตลาด 2.5 ประกอบกิจการรถโดยสาร วิ่งระหว่างหมู่บ้านและตลาดแม่สอด ไป-กลับวันละหลายเที่ยว 2.ปฏิทินทางวัฒนธรรม/สังคม เป็นการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือพิธีกรรมสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในชุมชนนั้นๆและมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบัน เช่น ชาวบ้านทางอิสานมีสิ่งที่เป็นจารีต 12 เดือน ซึ่งเราต้องไปดูว่าเกิดขึ้นช่วงไหนบ้าง เช่นวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา งานบุญเผวส แห่บั้งไฟ กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเราสามารถสังเกตการณ์ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนอย่างเข้าใจ และชัดเจนยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการทำปฏิทินโดยการใช้วงจรของปีแล้ว เรายังสามารถทำโดยใช้ วงจรชีวิต ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราได้รายละเอียดและเข้าใจชีวิตของชาวบ้านมากขึ้น ดังนั้นปฏิทินชีวิตของครอบครัวลุงมา ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ตัวอย่าง ปฏิทินชีวิตลุงบุญมา เดือนอ้าย ลุงบุญมาเกี่ยวข้าวนวดข้าวเสร็จ ขนข้าวขึ้นยุ้ง ลูกหลานเตรียมตัวไปรับจ้าง ทำงานในเมืองลุงบุญมาก็อยู่บ้าน เลี้ยงวัว ป้ามนภรรยาคนขยันเริ่มเตรียมซื้อด้ายมาไว้ทอผ้า ทำเครื่องนอน แล้วก็ปลูกสมุนไพรเป็นอาชีพเสริม นอกจากนั้นในหน้านี้ก็เป็นช่วงเก็บกระเจี๊ยบ เสลดพังพอนมาตากแห้งเอาไปส่งขายได้อีก เดือนยี่ เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากเดือนอ้าย ป้ามนเริ่มทอผ้า เมื่อทอเสร็จก็เอามาตัดเย็บ เป็นที่นอนหมอน ปลอกนวม เตรียมไว้ยัดนุ่น (บ้านอื่นที่ตัดกกไว้ ก็จะเอามาเตรียมทอเป็นเสื่อ คนที่มีฝีมือจักสานก็จักตอก สานตะกร้า กระบุง กล่องข้าว ไว้ใช้ในครอบครัว ผลิตเพื่อเป็นของใช้ในครอบครัวเท่านั้น ยังไม่มีใครผลิตไปจำหน่าย) เดือนสาม กิจกรรมต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว เมื่อลุงบุญมาทำงานฝีมือเหล่านั้นเสร็จแล้ว ลุงบุญมาก็จะเริ่มปลูกถั่วลิสง ข้าวโพด โดยไถดินกลบต่อซังข้าวแห้งในนาหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อเพาะปลูกพืชเหล่านั้น ป้ามนจัดแจงทำเครื่องนอนโดยการยัดนุ่น ยัดหมอน (นุ่นเก็บไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว) มีงานบุญเดือนสามเรียกว่า งานบุญข้าวจี่ เป็นงานบุญเปิดบ้าน ทำบุญกลางบ้านประจำปี ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นกลับมาเยี่ยมบ้านซื้อของฝาก ซื้อเสื้อผ้าใหม่มาให้พ่อแม่ เดือนสี่ ลุงบุญมาและคนอื่นๆ ที่ปลูกถั่วปลูกข้าวโพดจะต้องคอยดูแลพืชผลอย่างสม่ำเสมอ เพราะอากาศร้อนแห้งแล้ง เดือนนี้ทุกคนในชุมชนทั้งลุงบุญมาออกไปร่วมงานบุญเดือนสี่ที่เรียกว่าบุญเผวส ทุคนร่วมกันทำบุญ ฟังเทศที่วัด มีเทศมหาชาติด้วย เดือนห้า อากาศจะร้อนมาก ไม่มีกิจกรรมพิเศษไปจากงานที่ปฏิบัติประจำวัน มีงานบุญสงกรานต์ ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นจะจัดกองผ้าป่ามาถวายวัด สรงน้ำพระ สรงน้ำคนแก่ มีมหรสพการเล่น ชาวบ้านจะกินเหล้าเมา เล่นการพนัน ส่วนถั่วลิสงและข้าวโพดที่ปลูกไว้เริ่มเก็บเกี่ยวได้ เดือนหก วัดต่างๆในภาคอีสาน จะจัดบุญบั้งไฟ แต่วัดที่ไมได้จัด เพราะเป็นเพียงชุมชนเล็กเพียงแต่จัดขบวนไปสมทบหมู่บ้านอื่น ฝนแรกตก ไถนา เตรียมหว่านกล้า ซึ่งจะมีอายุ 30 กว่าวัน จึงนำไปปักดำได้ลูกหลานจะกลับมาจากต่างจังหวัดมาช่วยกันทำนา เดือนเจ็ด ไถดะ กลบฟาง ปรับที่นา เพื่อเตรียมปักดำ บางส่วนก็ปักดำตั้งแต่ช่วงนี้ เดือนแปด-เก้า ปักดำนาตลอดช่วงนี้ เสร็จของตัวเองไปช่วยนาคนอื่น หรือไปรับจ้างคนอื่นๆ เดือนสิบ ข้าวตั้งท้อง เตรียมวางแผนเก็บเกี่ยว ซ่อมแซมอุปกรณ์ที่จะใช้ในการเกี่ยว เวลาว่างก็จะลงหนองหาปลาทำปลาร้า จับกบ จับเขียดกิน เดือนสิบเอ็ด เริ่มเก็บเกี่ยวทำข้าวเม่า เดือนสิบสอง-เดือนอ้าย กิจกรรมเก็บเกี่ยวผลผลิต เกี่ยวข้าว นวดข้าว ฟาดข้าว สีข้าว ปัญหาที่พบในการทำงานชุมชน ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการทำงานชุมชน เกิดจากการเจาหน้าที่ ยึดเอาเวลาการทำงานของระบบราชการเป็นตัวตั้ง ทำให้หลายครั้งการกำหนดเวลาของกิจกรรมต่างๆจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน บางครั้งไปถึงชุมชนแล้วเจอแต่คนแก่และเด็ก อยู่บ้าน หรือเจอชาวบ้าน แต่ไม่ว่างคุยด้วยเพราะง่วงอยู่ กลับมาจากการทำงาน การลงไปเก็บข้อมูลในชุมชน จึงไม่ได้อะไรคืบหน้า หรือไม่สามารถดำเนินงานตามแผนการทำงานที่วางเอาไว้ การเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน จะช่วยให้เรารู้จักจังหวะและวงจรของการทำงานของชาวบ้านและช่วยให้เราจัดทำแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เครื่องมือสำคัญในหารเรียนรู้จังหวะของชีวิตและวิถีชุมชน คือ การทำปฏิทินชุมชน เป้าหมายสำคัญของเครื่องมือ 1. สร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวบ้าน เครื่องมือนี้จะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละรอบ ปี รอบเดือน หรือในแต่ละวัน ชาวบ้านทำอะไร อย่างไร เมื่อไรบ้าง การเรียนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้จังหวะชีวิต 2. เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน เพราะการรู้จังหวะและวิถีชุมชน คือ การรู้จักกาลเทศะในชีวิตชาวบ้าน เราเข้าหาชาวบ้านได้ถูกจังหวะ เมื่อเราเข้าหารชาวได้ถูกจังหวะ ชาวบ้านจะเกิดความรู้สึกที่ดี และมีความไว้วางใจต่อกันมากขึ้น 3. ช่วยให้การวางแผนงานชุมชนดีขึ้น เพราะจะช่วยให้เราสามารถจัดตารางการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ และเมื่อเข้าไปหมู่บ้านก็สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและถูกจังหวะเวลา ซึ่งจะช่วยส่งผลระยะยาวให้การทำงานในระบบบริการสาธารณสุข มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนเพิ่มยิ่งขึ้นด้วย ประโยชน์ในการนำไปใช้ ประโยชน์สูงสุดของการศึกษาปฏิทินชุมชน คือ ทำงานสุขภาพเชิงรุก แม้ว่าการทำงานสุขภาพเชิงรุกจะถูกระบุว่าเป็นภารกิจสำคัญของการิการสุขภาพระดับปฐมภูมิ แต่การทำงานเชิงรุกจะเกิดไม่ได้เลย หากเราไม่รู้ปฏิทินชุมชน ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า เรารู้จักจังหวะชีวิตของชาวบ้าน ทำให้เรารู้ว่าจะทำงานเชิงรุกอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น กรณีลุงบุญมาพ่อของเด็กอายุ 4 ขวบ ชื่อบุญชู ลุงบุญมาเป็นชาวนาที่ต้องอพยพไปทำงานตัดอ้อยที่เมืองกาญจนบุรี เมื่อเรารู้ว่าลุงบุญมาจะไปตัดอ้อยในฤดูแล้งโดยจะไปกับภรรยา ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนและจะกลับมาก็ต่อเมื่อในฤดูทำนาเดือนกรกฎาคม เราก็รู้ทันที่ว่างานสุขภาพเชิงรุกเป็นอย่างไร เพราะเรารู้จังหวะชีวิตของลุงบุญมาที่เราจะต้องรุก เช่น เดือนกรกฎาคม ลุงบุญมากับภรรยากลับมาจากกาญจนบุรี เราต้องไปดูทันที่ว่าทั้งคู่กลับมาจากรับจ้างตัดอ้อยติดเชื้อมาลาเรียหรือเปล่า ไม่เพียงแต่เท่านั้น เรายังรู้อีกว่า บุญชูลูกลุงบุญมาจะต้องอยู่กับยายที่อายุมาก ในช่วงที่ลุงบุญมาและภรรยาไม่รับจ้างตัดอ้อย บุญชูจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภาวะขาดสารอาหารเพราะยายอายุมากแล้ว มักจะดูแลไม่ทั่วถึง เดือนมีนาคม-กรกฎาคม จึงเป็นช่วงที่เราต้องเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ ของบุญชูด้วย นี่เป็นรูปแบบของการทำงานสุขภาพเชิงรุกจากการรู้ปฏิทินชีวิตของชุมชน การมีความเชื่อมโยงระหว่าระบาดวิทยากับปฏิทินชุมชนจะช่วยให้เราเข้าใจมิติของเวลาในเรื่องสุขภาพได้ดีและทำงานเชิงรุกได้ง่ายขึ้น
คำสำคัญ (Tags): #ปฏิทิน
หมายเลขบันทึก: 487437เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท