เมื่อ สปป.ลาวเข้า WTO: อาเซียนจะได้อะไร


พวกเราในฐานะสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญกับก้าวสำคัญของลาวก้าวนี้

การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของ สปป.ลาว มีความสำคัญอย่างไรต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คำถามนี้อาจฟังดูธรรมดา แต่เมื่อลองทบทวนดู จะพบว่าการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศนั้น ลาวเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก WTO ทั้งๆ ที่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และพม่า เข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1995 ตามมาด้วยกัมพูชาเมื่อปี 2004 และเวียดนามเมื่อปี 2007 เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มีปัญหาอะไร และเมื่อปัญหาหมดไป อาเซียนจะได้อะไร

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่า WTO มีเงื่อนไขอะไรในการเข้าเป็นสมาชิก ตามหลักการแล้ว WTO มีแนวคิดที่จะไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด จึงมีการกำหนดให้ภาคีสมาชิกต้องใช้มาตรการทางการค้าโดยเสมอภาคอย่างไม่เลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination) ในสองลักษณะคือ ต้องปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอย่างเท่าเทียมกัน และต้องปฏิบัติต่อสินค้าที่นำเข้าอย่างเท่าเทียมกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีภายใน VAT หรือการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ

ความเป็นจริง ลาวได้แสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1998 และเข้าเจรจาทวิภาคีกับประเทศสมาชิกเดิมของ WTO เพื่อทำความตกลงเกี่ยวกับสิทธิและข้อผูกพันเรื่องการเปิดตลาด อัตราภาษีของการค้าสินค้าและบริการที่ลาวจะให้แก่ประเทศสมาชิก WTO นั้นๆ หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการรับรองสถานะเมื่อใด

สปป.ลาวนั้นมีของดีอยู่กับตัวหลายอย่าง คือมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย มีพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุประเภท ดีบุก ยิปซั่ม ตะกั่ว ทองแดง หิน เกลือ เหล็ก ถ่าน หินลิกไนท์ สังกะสี อัญมณี หินอ่อน มีน้ำมันอยู่ในภาคกลางและภาคใต้ มีเหมืองทองคำขนาดใหญ่ ที่รู้จักในนามของเหมืองทองเซโปนที่แขวงสะหวันนะเขต และมีแหล่งน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “แบตเตอร์รี่แห่งเอเชีย”

แต่ปัญหาของลาวก็มีมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเงินกีบของลาวที่ยังขาดเสถียรภาพ ทำให้ยากต่อการวางแผนด้านการตลาด ซึ่งการแลกเปลี่ยนเงินตราในตลาดมืด มีขนาดใหญ่กว่าตลาดในระบบ และอัตราการแลกเปลี่ยนก็ไม่สามารถสะท้อนภาวะตลาดที่แท้จริงได้

ด้านการจัดเก็บภาษีก็ยังขาดประสิทธิภาพ ปล่อยให้มีการค้านอกระบบโดยไม่ผ่านด่านศุลกากร ซึ่งมีขนาดพอๆ กับการค้าในระบบ ประกอบกับระบบการจัดการภาษี และการระงับข้อพิพาทไม่คงเส้นคงวา นำไปสู่การคอรัปชั่น ทำให้ธุรกิจในระบบไม่แข็งแรง ต้องพึ่งพาการหนีภาษีมากขึ้น

ด้านการขนส่ง ถึงแม้ลาวจะมีระเบียงเศรษฐกิจผ่านประเทศอยู่หลายเส้นทาง แต่ก็ไม่สะดวกเท่าที่ควร เพราะยังมีรถบรรทุกสินค้าเกินน้ำหนักจำนวนมาก ทำให้ถนนชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดเส้นทาง ซ้ำยังไม่ได้รับการซ่อมแซมให้พร้อมใช้งาน

นอกจากนี้ ลาวยังขาดดุลการค้ามาเป็นเวลานาน อยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ประชากรที่มีฐานะมีประมาณร้อยละ 20 นอกนั้นเป็นคนยากจน อีกทั้งยังขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน จึงคาดว่าต้องใช้เวลานานในการลงทุนก่อสร้างให้พร้อมมากกว่านี้

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ระบบกฎหมายของ สปป.ลาวเป็นข้อกฎหมายในเชิงคุ้มครองมากกว่าการส่งเสริม โดยถือเอาความสะดวกของภาครัฐเป็นหลัก และขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ไม่คล่องตัวต่อการลงทุน

รัฐบาลลาวเองก็พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายต่างๆ เพื่อปรับตัวเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างต่อเนื่อง และได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อสนับสนุนการเจรจากับประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยลาวได้มีการเจรจาในระดับทวิภาคีเกี่ยวกับสิทธิและข้อผูกพันเรื่องการเปิดตลาด อัตราภาษีของการค้าและบริการที่ลาวจะให้แก่ประเทศสมาชิก WTO ตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะประเด็นกฎระเบียบด้านการค้า การนำเข้า-ส่งออก การตรวจสอบสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และสาธารณสุข ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายที่ลาวจะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

หากเปรียบเทียบกับเวียดนามที่เข้าเป็นสมาชิก WTO มาได้ 5 ปีแล้ว จะพบว่า เวียดนามมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ตลาดการส่งออกมีการขยายตัวมากขึ้น ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจเวียดนามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการขายปลีกที่มีซุปเปอร์มาเก็ตเกิดใหม่ถึงร้อยละ 20 และศูนย์การค้าอีกร้อยละ 72 รวมไปถึงร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการสร้างโฉมใหม่ให้วงการค้าปลีก และส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย เช่น คนเวียดนามหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงาม การท่องเที่ยว การทำประกันภัย และการศึกษามากขึ้น

ขณะนี้ ลาวเหลือการเจรจากับยูเครนแค่เพียงประเทศเดียวก็จะได้เป็นสมาชิก WTO อย่างสมบูรณ์ หากการเจรจาสำเร็จ ความเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นเวียดนามย่อมเกิดขึ้นแน่ การลงทุนจากต่างประเทศจะหลั่งไหลเข้ามาเพื่อพัฒนาลาว แรงงานผิดกฎหมายและของหนีภาษีจะลดน้อยลง ประชาชนจะมีรายได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตของคนลาวก็จะดีขึ้น ส่งผลให้ลาวมีกำลังในการบริโภคสินค้าและบริการจากอาเซียนได้มากขึ้น ช่องว่างของระดับการพัฒนาประเทศในอาเซียนก็จะแคบลง ฉะนั้น พวกเราในฐานะสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญกับก้าวสำคัญของลาวก้าวนี้ เพราะไม่แน่ ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ลาวอาจจะได้รับข่าวดีก็เป็นได้


พันธ์รบ ราชพงศา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

คอลัมน์ "อาเซียน Business Forum" กรุงเทพธุรกิจ ASEAN+
ปีที่ 1 ฉบับที่ 33 วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2555 หน้า 1

หมายเลขบันทึก: 487431เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ภาคเกษตรกรไทย จะเข้าสู่ประตูอ่าเซี่ยน เราจะสู้เขาได้มั้ยท่าน

จากการศึกษา "ศักยภาพการผลิตอาหาร" ของแต่ละประเทศ พบว่า บรูไน และสิงคโปร์ เป็นประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปอาหาร แต่มีรายได้ต่อหัวสูง มีเงินลงทุนสูง ซึ่งจะเป็นกลุ่มสำคัญที่เข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อป้อนอาหารกลับประเทศ และเป็นผู้ซื้อสำคัญในอาเซียน

ขณะที่ ลาว และกัมพูชา กำลังแรงงานมีน้อย พื้นที่ทำการเกษตรมีไม่มาก เทคโนโลยีการเพาะปลูกอยู่ในระดับต่ำ จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาอีกมาก

ส่วนมาเลเซียนั้นมีศักยภาพในระดับหนึ่ง แต่เนื้อที่เพาะปลูกที่จำกัดทำให้มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเพียงไม่กี่ชนิด

สำหรับพม่า และฟิลิปปินส์ มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตอาหารในระดับปานกลางถึงมาก แต่ข้อจำกัดเรื่องระบบขนส่ง ไฟฟ้า สาธารณูปโภค และภัยธรรมชาติ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งในปี 58 อาจก้าวมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยเช่นกัน

ขณะที่เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในลำดับต้นๆ เช่นเดียวกับไทย และมีความพร้อมในหลายด้านในสายตาของนักลงทุนครับ

ข้อมูลจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 3-05-2555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท